ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > แกรนท์ ธอร์นตัน ชี้ 10 ปีเศรษฐกิจไทย- ขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอยกว่าที่ควรจะเป็น

แกรนท์ ธอร์นตัน ชี้ 10 ปีเศรษฐกิจไทย- ขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอยกว่าที่ควรจะเป็น

19 พฤศจิกายน 2014


Grant Thorntion 3
นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน (ซ้าย) และนายแอนดรูว์ แม็คบีน หุ้นส่วนและผู้เชี่ยวชาญทางด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ขวา)

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารของแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย หนึ่งในผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า 10 ปีผ่านมา (2546-2556) ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัว เศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยแนวโน้มของการเติบโตหรือจีดีพีของเศรษฐกิจโลกหดตัว 34% ขณะที่ประเทศกลุ่มอาเซียนหดตัวเพียง 8% แต่ประเทศไทยหดตัวสูงถึง 66%

นายเอียนกล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนการลงทุน เป็นปัจจัยสำคัญของแนวโน้มหดตัวดังกล่าว โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าส่งออกที่เคยมีศักยภาพให้มีศักยภาพสูงขึ้น เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเคยผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ แต่ปัจจุบันแนวโน้มของโลกมีการใช้ลดลงและหันไปหาสมาร์ทโฟนมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม และไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ด้วยต้นทุนที่สูง ส่งผลให้ภาคส่งออกมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ ขณะเดียวกันปัจจัยของโลกยังเผชิญความเสี่ยงเรื่องการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษ เช่น การพิมพ์ธนบัตรอัดฉีดเข้าสู่ระบบ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ ทำให้สินค้าของประเทศไทยแพงขึ้น กระทบต่อการส่งออกอีกทางหนึ่ง

1234
อัตราเติบโตของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านผลิตภาพการผลิต (Productivity) หรือความสามารถในการสร้างรายได้ของประชากร ที่ยังไม่สอดคล้องกับการปรับขึ้นของราคาค่าจ้าง โดยในรอบ 10 ปี ค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้น 50% แต่ผลิตภาพเพิ่มขึ้นเพียง 2% นอกจากนี้ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในอนาคตอันใกล้ของประเทศไทย จะเป็นแรงกดดันและความท้าทายต่อผลิตภาพอีกด้วย โดยคาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภาพเติบโตลดลงเหลือ 1.6% เช่นเดียวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 80% ของจีดีพี จะร่วมเป็นแรงกดดันการบริโภคภายในประเทศโดยรวม ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไป ได้แก่ การลงทุนและใช้จ่ายของรัฐในปีหน้า ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้นในด้านจำนวน แต่ด้านคุณภาพมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวระดับพรีเมียมที่มีการใช้จ่ายสูงจะมีจำนวนลดลง สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวตั้งแต่เกิดวิกฤติ

“การขาดเสถียรภาพทางการเมืองตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้ทิ้งรอยตำหนิไว้กับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย อีกทั้งการลงทุนนั้นขาดความต่อเนื่อง ปราศจากการดำเนินงานและแผนงานในระยะยาวที่ประสานสอดคล้องกัน นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโตยังเป็นแรงกดดันต่อประเทศไทย ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ หรือประมาณร้อยละ 1 จึงผลักดันให้ระดับค่าแรงได้ปรับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 50 ในรอบกว่าทศวรรษ และมีแนวโน้มสูงยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่ความสามารถในการผลิตยังไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทยจึงลดลง ในขณะที่ภาคธุรกิจก็มีภาระต้นทุนสูงยิ่งขึ้น” นายเอียนกล่าว

12345
จำนวนนักธุรกิจที่มองว่าจะมีการลงทุนในโรงงานและเครื่องจักรเพิ่มในปี 2558 (%)

จากรายงาน Grant Thornton’s International Business Report (IBR) ซึ่งเป็นผลสำรวจทัศนคติและความคาดหวังของนักธุรกิจกว่า 10,000 ธุรกิจ ใน 34 ประเทศ ระบุว่าไตรมาส 3 ของปี 2557 มีนักธุรกิจไทย 71% จากนักธุรกิจทั้งหมด มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย สืบเนื่องจากปัญหาการเมืองที่สงบลง และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่มีเพียง 13% ขณะที่ไตรมาส 1 ของปี 2557, ไตรมาส 4 และ 3 ของปี 2556 ซึ่งมีปัญหาการเมือง มีนักธุรกิจมีความเชื่อมั่นติดลบ 10%, 20% และ 28% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุข้อจำกัดอื่นๆ ในสายตาของนักธุรกิจไทย ซึ่งสูงกว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ, ปัญหาต้นทุนราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น, ขาดแคลนแรงงานทักษะ, ขาดแคลนคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ, การกำกับดูแลที่เข้มงวดมากเกินไปจนทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจ, ขาดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และขาดโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งและโทรคมนาคม

123456
ข้อจำกัดที่นักธุรกิจไทยระบุจากการสำรวจ (% ของจำนวนนักธุรกิจ) (สีชมพู: ไทย สีม่วง: อาเซียน)

ทั้งนี้ ภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมหรือจีดีพี แกรนท์ ธอร์นตัน มองว่าปี 2557จะเติบโตได้ 1% ,ปี 2558 เติบโต 3.5% และ 4% ในปี 2559 ตามลำดับ

“ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาจีดีพีในอัตรา 4% เพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่าง ‘ไม่เป็นบวกหรือลบ’ โดยจีดีพีเมื่อปี 2556 อยู่ที่ 1.8% ในขณะที่การคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับปี 2557 โดยสภาพัฒน์ ปรับลดลงเหลือ 1% เมื่อพิจารณาจากการที่ตัวเลขเหล่านี้ได้รับการปรับลดลงหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญไทย และการขาดแคลนการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การเติบโตของประเทศไทยจึงน่าจะคงตัวตลอดระยะเวลา 24 เดือนข้างหน้า ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด” นายเอียนกล่าว

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัว 0.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ 0.4% ขณะที่การส่งออกยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ไตรมาส 3 ยังหดตัว -1.7% เทียบกับครึ่งปีแรกที่หดตัวไปแล้ว -0.1%

นอกจากนี้ สศช. ปรับตัวเลขคาดการณ์จีดีพีลงจากกรอบเดิม 1.5-2% เมื่อ 18 สิงหาคม 2557 เหลือเพียง 1% การปรับลดประมาณการครั้งนี้มีปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจโลกไตรมาส 3 ที่ขยายตัวต่ำลง โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ, การเบิกจ่ายไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณต่ำกว่าเป้า 5%, การท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า โดย สศช. ประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวลงอีก 7 แสนคน เหลือ 25 ล้านคน และประมาณการจำนวนรถยนต์ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง 41.9% และมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าจากการแถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 3 โดย สศช. นั้น ธปท. มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ในการประชุม กนง. รอบล่าสุด