ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ยกร่าง พ.ร.บ.หวย รื้อโครงสร้าง ”กองสลาก” ยุติบทบาทหารายได้ส่งคลัง-โยกเงิน 13,000 ล้าน ตั้งกองทุนสาธารณกุศล-รับซื้อคืนสลาก-หนุนหวยออนไลน์

ยกร่าง พ.ร.บ.หวย รื้อโครงสร้าง ”กองสลาก” ยุติบทบาทหารายได้ส่งคลัง-โยกเงิน 13,000 ล้าน ตั้งกองทุนสาธารณกุศล-รับซื้อคืนสลาก-หนุนหวยออนไลน์

2 พฤศจิกายน 2014


สำนักงานสลาก2

“คนขายหวยตัวจริง ไม่ได้รับโควตาหวย คนได้โควตาหวย ไม่ใช่คนขายหวยตัวจริง” โดยสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ออกจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคู่ละ 74.40 บาท ผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และถึงมือผู้บริโภคคู่ละ 100-120 บาท สลากเกินราคาเป็นปัญหานานกว่า 2 ทศวรรษ รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามหามาตรการมาจัดการกับปัญหานี้ แต่ไม่มีรัฐบาลใดจัดการได้ รวมทั้งรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากที่ได้เข้ามาบริหารประเทศ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการคืนความสุขวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ขอความร่วมมือผู้ค้าสลาก ตั้งราคาขายปลายทางไม่เกิน 92 บาท

4 เดือนที่ผ่านมา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา 2 มาตรการ คือ 1. เพิ่มปริมาณสลาก 2 ล้านฉบับต่องวด โดยนำโควตาไปจัดสรรให้คนพิการ 2. “ประทับตราสลากด้วยหมึกสีน้ำเงิน” เป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ด้านขวาของสลากจำนวน 45 ล้านฉบับ ซึ่งเป็นโควตาของตัวแทนจำหน่ายรายย่อย ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งสลากขององค์กร มูลนิธิ และสมาคมคนพิการ 95 แห่ง หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการนำสลากที่ประทับตราด้วยหมึกสีน้ำเงินมารวมชุดขายปะปนกับสลากปกติมีโทษหนักถึงขั้นยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่าย

ปรากฏว่า ทั้ง 2 มาตรการใช้ไม่ได้ผล หลังจากที่มาตรการประทับตราด้วยหมึกสีน้ำเงินมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 พล.ต. ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานสลากฯ ได้จัดชุดปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าทำการจับกุมผู้ค้าสลากเกินราคา 150 ราย นำสลากปั๊มหมึกสีน้ำเงินรวมชุดกับสลากปกติ ทางเจ้าหน้าที่นำหมายเลขสลากมาตรวจสอบรหัสโควตา พบว่าสลากของกลางที่จับกุมเป็นโควตาของตัวแทนจำหน่าย 22 ราย จึงเรียกมาสอบปากคำเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยเจ้าของโควตาสลากอ้างเหตุผลว่าตนไม่สามารถควบคุมราคาสลากที่หน้าแผงได้ เพราะหลังจากที่ไปรับสลากมาขาย ก็มีประชาชนมาซื้อสลากเป็นจำนวนมาก ไม่ได้ตรวจสอบว่าขายให้ใคร และไม่ทราบว่าสลากของตนถูกนำไปรวมชุดขาย หากสำนักงานสลากฯ ยึดโควตาคืน ก็จะนำประเด็นนี้ร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง

วันที่ 30 ตุลาคม 2557 สำนักงานสลากฯ จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การปรับปรุงพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517” นายสมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ยอมรับว่ามาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ สำนักงานสลากฯ จำเป็นต้องออกมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาขั้นที่ 2 ซึ่งตนได้สั่งการให้สำนักงานสลากฯ เร่งยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาภายในเดือนมกราคม 2558 เพื่อเปิดทางให้มีการนำเครื่องจำหน่ายสลากแบบอัตโนมัติ (หวยออนไลน์) มาใช้ควบคู่กับการจัดจำหน่ายสลากผ่านตัวแทน (สลากใบหรือลอตเตอรี่)

“ร่าง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ…. ต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนธันวาคม 2557 เพื่อส่งให้กระทรวงการคลังอนุมัติต้นเดือนมกราคม 2558 ผมจะพยายามผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากสิ้นสุดวันที่ 1 มิถุนายน 2558 เพื่อที่จะนำโควตาสลาก 74 ล้านฉบับ มาจัดสรรให้กับผู้ค้าสลากรายย่อย และอาจจะนำบางส่วนไปขายผ่านเครื่องออนไลน์” นายสมชัยกล่าว

ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาสลากเกินราคาเกิดจาก พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล 2517 ที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน กำหนดให้สำนักงานสลากฯ ต้องกันเงินรายได้จากการจำหน่ายสลาก 60% เตรียมไว้จ่ายเป็นเงินรางวัล, 28% ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และ 12% เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากฯ (3%) และตัวแทนจำหน่าย (9%) และเนื่องจากกฎหมายกำหนดโครงสร้างค่าใช้จ่ายซึ่งมีลักษณะคงที่ ทำให้ระบบการจัดจำหน่ายสลาก ต้องเป็น “ระบบขายขาด” เท่านั้น ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการจัดโควตาต้องซื้อสลากแบบเหมายกเล่ม เลือกเลขไม่ได้ ขายไม่หมด สำนักงานสลากฯ ไม่รับซื้อคืน ขณะที่ข้อเท็จจริง กลุ่มคนเล่นหวยนิยมซื้อเลขสวย เลขดัง ส่วนเลขที่เคยถูกรางวัลไปแล้ว เลขเบิ้ล ไม่ซื้อ เลขกลุ่มนี้มีประมาณ 10-15% สลากเหลือขายไม่หมด ไม่ถูกรางวัล ขาดทุน ตัวแทนจำหน่ายจึงต้องผลักภาระในส่วนนี้ไปให้นักเสี่ยงโชค(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

กฏหมายพ.ร.บ.หวย

และจากการที่ พ.ร.บ.สลากฯ กำหนดสัดส่วนโครงสร้างค่าใช้จ่ายให้มีลักษณะคงที่ ทำให้สำนักงานสลากฯ ขาดความคล่องตัว การแก้ปัญหาสลากเกินราคา ทำได้แค่ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุมผู้ค้าสลากรายย่อยมาจ่ายค่าปรับ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ รัฐบาลชุดที่ผ่านมาจึงมีความพยายามนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.สลาก 2517 ซึ่งมีถึง 4 ฉบับ กฎหมายฉบับนี้เปรียบเสมือนกฎหมายอาถรรพ์ ทั้ง 4 ฉบับ ยังไม่ทันผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาลที่นำเสนอร่างกฎหมาย ต้องมามีอันเป็นไปเสียก่อน

ข้อสังเกตร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ มีหลักการตรงกัน คือ มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขสัดส่วนโครงสร้างค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากฯ โดยเฉพาะการปรับลดสัดส่วนเงินรายได้ที่ต้องนำส่งคลัง ขยายนิยามคำว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้สำนักงานสลากฯ ออกผลิตภัณฑ์หวยรูปแบบใหม่ และนำเงินรายได้ส่วนใหญ่ไปช่วยเหลือสังคม คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส พัฒนาระบบการศึกษา อย่างในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทาง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีการกระทรวงการคลังขณะนั้น นำเสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.สลากฯ ต่อที่ประชุม สนช. เมื่อปี 2549 โดยขยายนิยามคำว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ครอบคลุมไปถึง “สลากกินรวบ” และมีการแก้ไขสัดส่วนโครงสร้างค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากใหม่ กำหนดให้นำรายได้จากการขายสลากกินรวบ 20% เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากและตัวแทนจำหน่ายสลากกินรวบ ส่วนที่เหลือ 80% เป็นกองทุนเงินรางวัลสะสม

ร่างกฎหมายฉบับที่ 2 นำเสนอโดยกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญที่มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นแกนนำ เพิ่มคำว่า “สลากพิเศษแบบรางวัลเลขท้าย” เข้าไปในร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.สลาก ปี 2550 ขณะนั้นได้กำหนดสัดส่วนชัดเจน แต่นำเสนอหลักการให้มีการโอนเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายสลากพิเศษแบบรางวัลเลขท้ายมาใช้ในกองทุนเพื่อสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล นอกเหนือจากส่งรายได้เข้ารัฐ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

รายได้กองสลากนำส่งรัฐ

ร่างกฎหมายฉบับที่ 3 เป็นของกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายไชยา พรหมา เป็นประธาน นำเสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.สลากฯ เดือนมีนาคม 2556 ขยายนิยามคำว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ครอบคลุมสลากรูปแบบอื่น เช่น สลากตัวเลข สลากลอตโต้ และสลากรู้ผลทันที เป็นต้น พร้อมกับปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากฯ ใหม่ โดย 70% ของรายได้จากการจำหน่ายสลากรูปแบบอื่น จัดสรรเป็นกองทุนสะสมเงินรางวัล,10% นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และ 20% เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากฯ และตัวแทนจำหน่ายสลาก

สำหรับกองทุนสะสมเงินรางวัล เมื่อเกิน 10,000 ล้านบาท เงินส่วนเกินให้นำไปสนับสนุนการศึกษา 30%, สาธารณสุข 30%, กีฬา 10% ที่เหลือให้สนับสนุนสังคมสงเคราะห์และอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการสลากฯ เห็นสมควร

ร่างกฎหมายฉบับที่ 4 นำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาเดือนมีนาคม 2556 เช่นกัน แต่ฉบับนี้เป็นของ กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางในการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย วุฒิสภา แก้ไขนิยามให้ครอบคลุมถึงสลากการกุศลและสลากรูปแบบอื่น โดยจัดสรรเงินรายได้ 60% เป็นเงินรางวัล, 15% เป็นค่าใช้จ่ายสำนักงานสลากฯ และตัวแทนจำหน่าย, 10% นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และ 15% นำเข้ากองทุนสลากเพื่อสังคม ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการสลากเพื่อสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ

สรุป ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับมีหลักการและเหตุผลเหมือนกัน คือ 1. ต้องแก้นิยาม 2. ปรับลดสัดส่วนการนำเงินรายได้ส่งคลัง 13,000 ล้านบาท 3. จัดตั้งกองทุนเพื่อสังคม โอนเงินรายได้ที่ต้องนำส่งคลังมาเป็นรายได้ของกองทุน นำเงินไปใช้ในกิจการสาธาณกุศล

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สนช. เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เข้าร่วมงานสัมมนา สรุปได้ว่า หากจะแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาให้ได้ผล 100% ต้องแก้ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 โดยเฉพาะโครงสร้างการจัดสรรเงินรายได้จากการจำหน่ายสลาก (60+28+12) ข้อเสนอของตนคือต้องยกเลิกการนำเงินรายได้จากขายสลากส่งคลัง จาก 28% ต้องเหลือ 0% จากนั้นให้โยกเงินรายได้ส่วนนี้มาจัดตั้งกองทุน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. รับซื้อคืนสลากจากตัวแทนจำหน่ายก่อนถึงวันออกรางวัล (กรณีขายไม่หมด) เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้าสลาก
2. เพิ่มเงินและจำนวนรางวัล เพื่อแข่งขันกับหวยใต้ดินและหวยประเทศเพื่อนบ้าน
3. จัดตั้งกองทุนเพื่อสังคม โยกเงินรายได้ที่ต้องนำส่งคลังมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนของกองทุน และใช้เป็นกลไกประกันความเสี่ยง สนับสนุนการจำหน่ายสลากรูปแบบใหม่ๆ เช่น สลากออนไลน์
4. จัดสรรเงินกองทุนเพื่อสังคม ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล, พัฒนาระบบการศึกษาไทย, ช่วยเหลือคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และคนชรา

“การระดมความคิดเห็นในเวทีสัมมนาวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกัน คือ หากจะแก้ปัญหาสลากเกินราคาให้ได้ผล ต้องแก้กฎหมายสลาก ปรับลดสัดส่วนเงินรายได้ส่งคลัง วันนี้ผมขอเสนอให้ยกเลิกไปเลย ตรงนี้เท่ากับว่าเป็นการปรับบทบาทภารกิจสำนักสลากฯ กันใหม่ จากหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาล อนาคตจะกลายเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่หารายได้มาใช้ในกิจการสาธารกุศลได้โดยตรง ไม่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล” นายสังศิตกล่าว

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดงานสัมมนา ระดมความคิดเห็น “การปรับปรุงพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517” วันที่ 30 ตุลาคม 2557 ณ ห้องเมจิก โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดงานสัมมนาระดมความคิดเห็น “การปรับปรุงพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517” วันที่ 30 ตุลาคม 2557 ณ ห้องเมจิก โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

นายสังศิตกล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน กฎหมายฉบับใหม่ต้องกำหนดคุณสมบัติกรรมการไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ กรรมการต้องไม่เป็นคู่สัญญาหรือตัวแทนของหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญา และไม่เป็นบุคคลที่มีรายได้จากการจำหน่ายสลากทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ การตัดสินใจของคณะกรรมการสลากฯ ในบางเรื่อง ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ทั้งหมดเป็นหลักการสำคัญในการปัญหาสลากเกินราคา

ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยในแก้ปัญหาสลากเกินราคามีดังนี้

1. เพิ่มปริมาณสลากให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด บางช่วงความต้องการมีมาก เช่น ช่วงเทศกาลตรุษจีน ปีใหม่ แต่บางช่วงก็ขายไม่ดี เช่น ช่วงวันหยุดยาว ช่วงก่อนเปิดเทอม มาตรการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย โดยการนำสลากขายผ่านเครื่องออนไลน์สามารถแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้

2. นำโควตาสลาก 74 ล้านฉบับที่กำลังจะครบอายุสัญญาวันที่ 1 มิถุนายน 2558 มาจัดสรรให้กับตัวแทนจำหน่ายรายย่อยอย่างโปร่งใส ที่เหลือนำไปขายผ่านเครื่องจำหน่ายสลากแบบออนไลน์ ส่วนการจัดสรรเครื่องจำหน่ายสลากแบบออนไลน์ให้เน้นไปที่กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส โดยให้สลาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน

3. ตัดสลากกินแบ่งรัฐบาลออกเป็น 2 ใบ ขายใบละ 40 บาท พร้อมกับเพิ่มเงินและจำนวนรางวัล โดยเน้นไปที่รายย่อยๆ เพื่อกระจายโอกาสในการถูกรางวัล แข่งขันกับหวยใต้ดิน