ThaiPublica > คนในข่าว > “เอ็นริเก เปญา นิเอโต” ประธานาธิบดี-นายกฯ เล็กกับวังวนการคอร์รัปชันในเม็กซิโก

“เอ็นริเก เปญา นิเอโต” ประธานาธิบดี-นายกฯ เล็กกับวังวนการคอร์รัปชันในเม็กซิโก

27 พฤศจิกายน 2014


รายงานโดย อิสรนันท์

ที่มาภาพ : http://www.theguardian.com/world/2014/nov/20/mexico-protests-anti-government-anger-violence-students-president
ที่มาภาพ : http://www.theguardian.com/world/2014/nov/20/mexico-protests-anti-government-anger-violence-students-president

วิญญาณของนักศึกษาครูกว่าครึ่งร้อยในแดนจังโกเม็กซิโกกำลังสำแดงฤทธาเพื่อทวงความยุติธรรมจากการถูกสังหารโหดแล้วยังทำลายศพจนแทบไม่เหลือซาก จนในที่สุดก็สามารถกระชากลากตัวจอมบงการใหญ่มาลงโทษได้ ตามด้วยการคิดดอกเบี้ยกับผู้นำประเทศที่ปล่อยให้มารครองเมือง จนกลายเป็นรัฐล้มเหลวในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้อันธพาลในเครื่องแบบ มาเฟีย และแก๊งค้ายาเสพติด อยู่เหนือกฎหมาย ขณะที่ประชาชนแทบจะหลั่งน้ำตาเป็นสายเลือดจากสารพัดความทุกข์ยากที่ถมทับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ความโหดเหี้ยมไร้เทียมทาน ที่ทำให้โลกถึงกับตะลึงงันด้วยความสะเทือนใจก็คือกรณีตำรวจอุ้ม-ฆ่าหมู่นักศึกษาวิทยาลัยครูในรัฐเกอร์เรโร ทางตอนใต้ของแดนจังโกกว่าครึ่งร้อย เนื่องจากเป็นการสั่งการและการสมคบคิดกันระหว่างข้าราชการท้องถิ่น ตำรวจและแก๊งค้ายาเสพติด โดยตำรวจเป็นคนลงมือสังหารเหยื่อส่วนหนึ่งแล้วนำศพไปฝังหมู่ ขณะนี้พบศพแล้วอย่างน้อย 43 ศพ ขณะที่เหยื่อที่เหลือก็มอบให้แก๊งยาเสพติดกลุ่มเกอร์รารอส ยูนิโดส ที่ทรงอิทธิพลในท้องถิ่นจัดการแทน และยังได้ทำลายหลักฐานด้วยการนำศพนักศึกษาไปเผาจนไหม้เกรียม จากนั้นนำไปบดรวมกันใส่ถุงเอาไปทิ้งแม่น้ำ

แต่โชคดีที่สวรรค์ยังมีตา จึงดลบันดาลให้ประชาชนที่มีใจรักความเป็นธรรมพร้อมใจกันเดินขบวนครั้งใหญ่กดดันให้รัฐบาลเร่งนำตัวคนผิดมาลงโทษ ท้ายสุดทางการก็สามารถรวบตัวผู้ต้องสงสัยได้แล้วอย่างน้อย 74 คน รวมไปการจับปลาตัวโตที่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจและรองผู้บัญชาการตำรวจในเมืองนั้น รวมทั้งเจ้าพ่อยาเสพติด ที่สำคัญก็คือ สามารถจับกุมโฮเซ ลิวอิส อาบาร์คา นายกเทศมนตรีเมืองอิกัวลา พร้อมนางมาเรีย เดอ ลอส แองเจเลส ปิเนดา วิลญา ภริยา ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่ตัวจริงและเป็นคนสั่งการให้อุ้มฆ่านักศึกษาครูกลุ่มนั้น หลังจากทั้ง 2 คนได้หลบหนีไปกบดานที่บ้านเช่าหลังหนึ่งกรุงเม็กซิโกซิตี้นานร่วมเดือน กระทั่งถูกตำรวจรวบตัวได้ จากนั้นก็ถูกอัยการส่งฟ้องใน 6 ข้อหาฉกรรจ์ ตั้งแต่ข้อหาทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนา 6 กระทง และพยายามทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนา 1 กระทง

ตั้งแต่แรก อาบาร์คายืนยันเป็นกระต่ายขาเดียวว่าไม่รู้เรื่อง พร้อมกับอ้างพยานหลักฐานว่าในช่วงเกิดเหตุตัวเองกำลังร่วมงานสัมมนา ต่อด้วยการไปงานเลี้ยงพร้อมครอบครัวที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง และเพิ่งมารู้เรื่องเมื่อเลขานุการโทรศัพท์มารายงานให้ทราบ ส่วนภรรยา ในวันเกิดเหตุก็กำลังพบปะกับผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างไรก็ดี พยานหลายคนให้ปากคำว่าระหว่างที่นางปิเนดา วิลญา พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่นั้น เธอมีสีหน้าวิตกกังวลและมีอาการกระสับกระส่ายตลอดเวลา และเมื่อการสอบสวนสาวลึกมาใกล้ตัวมากขึ้นทุกขณะ ประกอบกับถูกพรรคประชาธิปไตยปฏิวัติกดดันให้ลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวน สองสามีภรรยาจึงหลบหนีแต่ก็หนีไม่พ้น

ในเมื่อตกเป็นข่าวใหญ่ในคดีสะเทือนขวัญที่สุดคดีหนึ่ง สื่อท้องถิ่นของแดนจังโกจึงพยายามสืบสาวประวัติของสองสามีภรรยาคู่นี้ แล้วก็พบเรื่องแปลกโดยไม่คาดฝัน นั่นก็คือ ไม่สามารถเสาะหาประวัติความเป็นมาของทั้งสองคนได้ ทุกอย่างดูคลุมเครือไม่กระจ่างชัด เหมือนกับจงใจปิดบังหรือทำลายประวัติแท้จริงไม่ให้สาวลึกได้ เช่นเดียวกับทรัพย์สินเงินทองที่จู่ๆ ก็งอกขึ้นมาเองราวกับมีภูเขาเงินภูเขาทองผุดอยู่กลางบ้าน อาทิ ก่อนที่อาบาร์คาจะกระโจนสู่การเมืองในปี 2551 ก็แถลงข่าวใหญ่ว่าจะสร้างชอปปิ้งพลาซ่าแห่งหนึ่งบนเนื้อที่ 70,000 ตารางเมตร โดยในพลาซ่าแห่งนี้มีโรงภาพยนตร์ 7 แห่ง และร้านค้า 50 แห่ง แต่จนป่านนี้ก็ไม่มีใครทราบว่าแหล่งทุนใหญ่มาจากไหนหรือจากใคร

โฮเซ ลิวอิส อาบาร์คา  นายกเทศมนตรีเมืองอิกัวลา พร้อมนางมาเรีย เดอ ลอส แองเจเลส ปิเนดา วิลญา ภริยา  ที่่มาภาพ : http://media.themalaymailonline.com/images/sized/ez/Abarca0511_840_702_100.JPG
โฮเซ ลิวอิส อาบาร์คา นายกเทศมนตรีเมืองอิกัวลา พร้อมนางมาเรีย เดอ ลอส แองเจเลส ปิเนดา วิลญา ภริยา
ที่่มาภาพ : http://media.themalaymailonline.com/images/sized/ez/Abarca0511_840_702_100.JPG

นอกจากนี้ อาบาร์คายังเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในจังหวัดเกอร์เรโรและจังหวัดอื่นๆ ชาวเมืองจังโกหลายคนให้ข้อสังเกตว่าภาพลักษณ์ภายนอกของอาบาร์คานั้นไม่บ่งบอกว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่แม้แต่น้อย แต่เหมือนกับพ่อค้าหาบเร่สวมหมวกฟางตระเวนไปตามถนนสายต่างๆ มากกว่า หรือไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับขอทานถูกหวย จึงชอบอวดรวยด้วยการอวดความหรูหรา กระหายในอำนาจ มุ่งแสวงหาความสำเร็จไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดและถนัดในการเจรจาต่อรอง แต่ก็พร้อมกำจัดศัตรูที่ขวางหน้าทันทีอย่างไร้ความปรานีใดๆ

ก่อนหน้าจะลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรี อาบาร์คาได้ทำตัวเป็นเจ้าบุญทุ่ม เหวี่ยงแหหว่านเงินให้กับพรรคปฏิวัติสถาบัน (พีอาร์ไอ) และพรรคปฏิวัติประชาธิปไตย (พีอาร์ดี) เป็นประจำ หวังจะให้พรรคใดพรรคหนึ่งส่งตัวเองสมัครชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีประสบการณ์การเมืองแม้แต่น้อย ท้ายสุดพรรคพีอาร์ดีก็ติดเบ็ดยอมเสนอชื่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองอิกัวลาเมื่อปี 2555 ปรากฏว่าตอนที่ชนะเลือกตั้ง ได้มีบัตรสนเท่ห์ปรากฏในบล็อกบล็อกหนึ่งกล่าวหาเขาว่า “มีความสัมพันธ์ที่น่าสงสัย” แต่ก็ไม่บอกว่าความสัมพันธ์กับใครหรือน่าสงสัยตรงไหน ต่อกรณีนี้ แหล่งข่าวในกรมอัยการของแดนจังโก (พีจีอาร์) ยืนยันว่าข้อกล่าวหานี้มีมูลความจริง

จากรายงานของหน่วยข่าวกรองเม็กซิโกระบุว่า ทันทีที่ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรี อาบาร์คาก็เปิดเผยตัวตนแท้จริง ด้วยการไฟเขียวให้สร้างเครือข่ายอาชญากรในหลายๆ พื้นที่ในจังหวัดนั้น บล็อกนิรนามที่ใช้ชื่อว่าอิกัวลา ไลเบร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาบาร์คา พร้อมด้วยตำรวจท้องที่และแก๊งยาเสพติดเบลทรัน เลย์วา ได้บรรลุข้อตกลงอาชญากรรมร่วมกันในหลายๆ ประเด็น รวมไปถึงการร่วมมือกันกวาดล้างอาชญากรกลุ่มอื่นๆ เพื่อเปิดทางสะดวกสำหรับการลักลอบขนยาเสพติดและของเถื่อนอื่นๆ ขณะเดียวกัน แก๊งเกอร์รารอส ยูนิโดส ซึ่งช่วงหลังรายได้จากการขายกัญชาลดฮวบฮาบ เนื่องจากบางรัฐในสหรัฐฯ ได้แก้กฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จนจำเป็นต้องหารายได้จากทางอื่น นั่นก็คือการขยายพื้นที่ปลูกฝิ่นก่อนจะส่งฝิ่นดิบไปสกัดเป็นเฮโรอินส่งไปยังตลาดใหญ่ที่สหรัฐฯ ปรากฏว่ามีรายได้เพิ่มมากกว่าเก่ามาก

และกลุ่มเกอร์เรรอส ยูนิโดส นี้เองได้จ่ายสินบนให้อาบาร์คาเป็นประจำทุกเดือนเดือนละ 2-3 ล้านเปโซ (ราว 4,500,000-6,750,000 บาท) โดยอาบาร์คาได้เจียดเงินส่วนนี้ ราว 1,350,000 บาท ให้กับตำรวจท้องที่ทุกเดือน ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดเมื่อนางมาเรียซึ่งชอบสวมชุดคอกว้าง แขนกุด เพื่อส่งเครื่องประดับให้โดดเด่นมากขึ้น เปรยว่าอยากจะสั่งสอนนักศึกษากลุ่มนี้ ตำรวจจึงรีบกระวีกระวาดจัดให้ทันที ขณะที่แก๊งเกอร์เรรอส ยูนิโดส ก็รับช่วงจัดการกับเหยื่อที่เหลือต่อจากตำรวจ

ขณะเดียวกัน จากคำสารภาพของอาชญากรหลายคนที่ให้การต่อพีจีอาร์เผยว่านับตั้งแต่อาบาร์คาได้สวมหัวโขนนายกเทศมนตรีเมืองอิกัวลา ก็เริ่มมีสายสัมพันธ์กับแก๊งมาเฟียและยาเสพติดผ่านนางมาเรีย ภรรยา ที่มาจากตระกูลปิเนดา ซึ่งรู้กันดีตระกูลนี้ได้ควบคุมการค้ายาเสพติดในจังหวัดเกอร์เรโรและบางส่วนในจังหวัดโมเรลอส และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแก๊งยาเสพติดทั้งกลุ่มซินาลัวและเบลทรัน เลย์วา มาหลายปี โดยแม่และพี่ชายทั้ง 3 คนของเธอได้แยกกำลังฝังตัวอยู่ใน 2 แก๊งนี้

อัลเบอร์โตและมาริโอ ปิเนดา พี่ชายแท้ๆ ของเธอไปอยู่กับกลุ่มเบลทรัน เลย์วา ก่อนจะถูกลอบสังหารใกล้กรุงเม็กซิโกซิตี้เมื่อปี 2552 เชื่อว่ามาจากความขัดแย้งภายในกลุ่มนี้ ส่วนซาลามอนหรือชื่อจัดตั้งว่าเล โมรอน พี่ชายอีกคนหนึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเกอร์รารอส ยูนิโดส ภายใต้การนำของมาริโอ ซิโดรนิโอ คาซาร์รูบิอัส ได้ตั้งสำนักงานใหญ่เย้ยเงื้อมมือกฎหมายในอิกัวลามานาน 4 ปี ขนโคเคนจากโคลอมเบียและเวเนซุเอลาผ่านเม็กซิโก ต่อไปยังเมืองแอตแลนตาในรัฐจอร์เจีย สหรัฐฯ

คาซารูบิอัส หัวหน้าใหญ่ของแก๊งนี้ที่ถูกจับได้ให้การซัดทอดว่า นางมาเรีย ซึ่งเบื้องหน้าเป็นเจ้าของโครงการดีๆ ให้กับเมืองนั้น อาทิ องค์การสวัสดิการครอบครัวชาวเมืองอิกัวลา แท้ที่จริงเป็นเจ้าแม่ตัวจริงของเครือข่ายอาชญากรรมในเมืองอิกัวลา และเป็นคนสั่งการอุ้มฆ่าหมู่นักศึกษาตัวจริง โดยได้สั่งการผ่านรหัส “เอ-5” อันเป็นรหัสส่วนตัวสำหรับนายกเทศมนตรีและภรรยาให้ตำรวจท้องที่ช่วย “สั่งสอนนักศึกษากลุ่มนี้” เพราะเกรงว่าจะมาป่วนงานประจำปีของสำนักคุ้มครองเด็กและเยาวชนแห่งอิกัวลา และเธอในฐานะผู้อำนวยการก็มีกำหนดการจะกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญ กรุยทางสู่การลงสมัครรับเลือกตั้งตำแห่งสำคัญในเมืองนั้น

ประธานาธิบดีเอ็นริเก เปญา นิเอโต  (Enrique Pena Nieto) และนางแองเจลิกา ริเวรา(Angelica Rivera) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ที่มาภาพ : http://www.theguardian.com/world/2014/nov/10/mexico-president-enrique-pena-nieto-mansion-explain
ประธานาธิบดีเอ็นริเก เปญา นิเอโต (Enrique Pena Nieto) และนางแองเจลิกา ริเวรา(Angelica Rivera) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ที่มาภาพ : http://www.theguardian.com/world/2014/nov/10/mexico-president-enrique-pena-nieto-mansion-explain

“ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” ยังไม่ทันที่ทางการจะคลี่คลายคดีสะเทือนขวัญฆ่าหมู่นักศึกษาอย่างน้อย 43 คน พลันเกิดคดีใหญ่กว่าเข้ามาแทรก คราวนี้ตัวละครใหญ่ก็คือนางแองเจลิกา ริเวรา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง คู่เรียงเคียงหมอนของประธานาธิบดีเอ็นริเก เปญา นิเอโต ผู้มีดีกรีค้ำประกันความงามจากการเคยเป็นอดีตนางเอกละครโทรทัศน์ชื่อดังมานาน โดยเว็บไซต์ของคาร์เมน อาริสเทกี นักข่าวจอมแฉ รายงานว่า นางริเวราได้ซื้อคฤหาสน์แสนหรูหลังหนึ่งบนพื้นที่ 1,400 ตารางเมตร ในย่านผู้ดีมีฐานะ บริเวณชานกรุงเม็กซิโกซิตี้ ภายในตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามราวทำเนียบขาว ทั้งพื้นและผนังบ้านปูด้วยหินอ่อน ภายในมีห้องสมุดขนาดใหญ่ ลิฟต์ สปา สระว่ายน้ำ รวมทั้งยังติดตั้งระบบไฟที่สามารถเปลี่ยนสีห้องต่างๆ ให้เป็นสีส้มหรือสีม่วงตามใจชอบ

แต่จุดที่เว็บไซต์นี้ตั้งคำถามก็คือ คฤหาสน์หลังนี้ตั้งราคาขายไว้ 7 ล้านดอลลาร์ (ราว 224 ล้านบาท) แต่นางริเวรา เจ้าของฉายา “นางนวล” จากละครชื่อดังเรื่องหนึ่งที่เธอนำแสดงกลับซื้อได้ในราคาแค่ 4 ล้านดอลลาร์ (ราว 128 ล้านบาท) เท่านั้น ถูกกว่าคนอื่นถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่น่าสงสัยยิ่งกว่านั้นก็คือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์อิงเคเนรินยา อิงโมบิเลียริยา เดล เซ็นโทร ที่ก่อสร้างคฤหาสน์หรูหลังนี้ เป็นบริษัทลูกของบริษัทกรูโป ฮิกา ของฮวน อาร์มันโด คานตู เพื่อนสนิทคนหนึ่งของประธานาธิบดีเปญา นิเอโต ที่ชนะประมูลอภิมหาโครงการหลายโครงการ รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงที่เปญา นิเอโต เป็นผู้ว่ามหานครเม็กซิโกซิตี้ระหว่างปี 2549-2555

และคำถามสุดท้ายซึ่งเหมือนกับโยนระเบิดลูกใหญ่ใส่รัฐบาลก็คือ กรณีบริษัทกรูโป ฮิกา ซึ่งได้ร่วมทุนกับบริษัทไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชัน คอร์ป ของจีนชนะประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์ เชื่อมระหว่างกรุงเม็กซิโกซิตี้กับเมืองเกอเรทาโร เมืองศูนย์กลางการผลิต โดยปราศจากคู่แข่ง เนื่องจากอีก 16 บริษัทรวมไปถึงบริษัทก่อสร้างชื่อดังก้องโลกหลายบริษัทไม่ได้ยื่นซองประกวดราคา โดยโวยว่ามีการฮั้วการประมูล เพราะรัฐบาลให้เวลาแค่ 2 เดือนในการศึกษาโครงการและยื่นเสนอประมูลราคาก่อสร้าง ซึ่งถือว่ากระชั้นชิดเกินไป

“ถ้าไม่มีมูล หมาคงไม่ขี้” นี่คือสัจธรรมซึ่งยิ่งได้รับการตอกย้ำว่าเป็นจริงอย่างไม่ต้องสงสัย หลังจากสื่อพยายามโยงเรื่องความไม่ชอบมาพากลของการซื้อคฤหาสน์หรูในราคาถูกของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเข้ากับการชนะประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของบริษัทกรูโป ฮิกา โดยอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการรับสินบนที่นิยมทำกันในหลายๆ ประเทศ จู่ๆ โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ประธานาธิบดีเปญา นิเอโต ก็สั่งยกเลิกการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงทั้งๆ ที่เพิ่งลงนามกับบริษัทร่วมทุนจีน-เม็กซิโกที่ชนะการประมูลก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน และเพียงวันเดียวก่อนหน้าจะบินไปจีนเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตของฝ่ายค้านถึงความโปร่งใสของการประมูลนี้เนื่องจากมีผู้ยื่นประมูลเพียงรายเดียว

เมื่อสื่อเกาะติดข่าวนี้ นางริเวราก็พยายามกลบกระแสข่าวนี้ ด้วยการเผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 7 นาที ยืนยันว่าเธอควักเงินส่วนตัวที่ได้จากงานแสดงซื้อคฤหาสน์หลังนี้เองเมื่อต้นปี 2555 หรือก่อนหน้าที่เปญา นิเอโต จะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีราว 7 เดือน โดยวาดหวังว่าบ้านคาซา ลา ปัลมา จะเป็นบ้านแท้จริงที่เธอและสามีพร้อมลูกติดของ 2 ฝ่าย รวม 6 คน จะอยู่ด้วยกันหลังจากเปญา นิเอโต พ้นวาระ 6 ปี ของการสวมหัวโขนประธานาธิบดีในปี 2561 แล้ว

และเพื่อจะปิดช่องครหาว่าเธอมีเงินมากพอจะซื้อคฤหาสน์หรูเองจริงหรือ อดีตดาราดังจึงเปิดเผยว่าเธอมีรายได้จากการแสดงละครกับสถานีโทรทัศน์เทเลวิซามากถึง 10 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่หมดสัญญากับเทเลวิซา หลังจากนั้น 2 ปี เธอได้นำเงินก้อนนี้มาซื้อบ้านหลังนี้ โดยทำสัญญาซื้อบ้านในราคา 4 ล้านดอลลาร์ พร้อมดอกเบี้่ย 9 เปอร์เซ็นต์ และจะผ่อนหมดภายใน 8 ปีหลังจากวางเงินดาวน์ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าผ่อนหมดแล้ว ก็จะโอนบ้านเป็นชื่อของเธอเอง เนื่องจากเธอและสามีได้ตกลงกันตั้งแต่ช่วงแต่งงานกันเมื่อปี 2553 ว่าทั้งสองคนจะไม่ยุ่งเรื่องเงินๆ ทองๆ ของอีกคนหนึ่ง ต่างคนต่างมีอิสระในการใช้จ่ายเงินของตัวเอง

อย่างไรก็ดี เธอไม่ยอมแจกแจงรายละเอียดว่าทำไมถึงซื้อบ้านได้ในราคาต่ำว่าราคาตลาดมาก แต่ประกาศว่าเพื่อจะตัดปัญหาทั้งปวง เธอตัดสินใจจะขายคฤหาสน์หลังนี้ทิ้งเพราะไม่ต้องการให้บ้านหลังนี้กลายเป็นข้อครหาในเรื่องของศีลธรรมจรรยาของเธอและครอบครัว

ทางด้านประธานาธิบดีเปญา นีเอโต ก็รีบแสดงความความบริสุทธิ์ใจต่อประชาชนด้วยการแจกแจงรายการทรัพย์สินของตัวเองต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากในบัญชีและเงินลงทุนอีกราว 1 ล้านดอลลาร์ เครื่องเพชร งานศิลปะ และนาฬิกา ซึ่งเป็นของขวัญจากพ่อหรือมรดกของภรรยาผู้ล่วงลับ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วยบ้านพัก 4 หลัง ในจำนวนนี้ 2 หลังเป็นมรดกจากพ่อ อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องที่เมืองท่องเที่ยวชื่อดังอะคาพูลโก ซึ่งเป็นมรดกจากอดีตภรรยา มูลค่ารวม 400,000 ดอลลาร์ และที่ดินอีก 4 แปลงที่เป็นมรดกจากพ่อแม่เช่นกัน มูลค่ารวม 500,000 ดอลลาร์ เป็นที่น่าสังเกตว่าในบัญชีทรัพย์สินที่นำมาแจกแจงนี้ ไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าของคฤหาสน์หรูหลังนี้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กฎหมายของเม็กซิโกไม่ได้บังคับให้ต้องเปิดเผยทรัพย์สินของคู่สมรส ระบุเพียงแค่ว่าแล้วแต่ความสมัครใจว่าต้องการเปิดเผยทรัพย์สินหรือไม่ ก่อนหน้านี้ เฟลิปเป คาลเดรอน ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ก็ยินดีเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของภรรยา แต่เปญา นีเอโต ไม่สมัครใจที่จะเดินตามรอยนี้ ยืนยันแต่เพียงว่าการที่ภรรยาซื้อคฤหาสน์หรูนั้นไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนแต่ประการใด เนื่องจากบริษัทที่สร้างคฤหาสน์นั้นเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่มีกิจการทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์เทเลวิซาที่อดีตนางเอกละคร “นางนวล” เคยสังกัดยอมรับกับซีเอ็นเอ็นว่าได้มอบบ้าน 2 หลัง ซึ่งอยู่ติดกับคฤหาสน์หรูที่เป็นข่าวใหญ่ให้กับนางริเวราเป็นค่าตอบแทนที่เธอเป็นนักแสดงให้กับเทเลวิซามานาน ซึ่งถือเป็นปรกติที่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้จะมอบบ้านให้กับนักแสดงและผู้กำกับหลายคน อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้ย้ายสังกัดไปอยู่กับคู่แข่ง สำหรับบ้านหลังแรกที่มอบให้กับ “นางนวล” มีขึ้นเมื่อปี 2547 ส่วนหลังที่ 2 ซึ่งมีราคาประมาณ 2.2 ล้านดอลลาร์ มอบให้เมื่อปี 2553 หรือ 17 วันหลังจากเธอแต่งงานกับเปญา นีเอโต ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่ามหานครเม็กซิโกซิตี้

ทั้งเปญา นีเอโต และแองเจลิกา ริเวรา พบกันเมื่อปี 2551 ช่วงที่เขาจ้างเธอเป็นพรีเซนเตอร์งานของตัวเองในฐานะผู้ว่ามหานคร กรุยทางสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อเคมีเกิดตรงกัน ทั้ง 2 คนก็จูงมือวิวาห์เมื่อปี 2553 ท่ามกลางเสียงร่ำลือว่าสมกันยิ่งกว่ากิ่งทองใบหยก อันเนื่องจากความหล่อเหลาสง่างามของเขา ส่วนเธอก็มีประกาศนียบัตรรับรองความงามในฐานะนางเอกละครชื่อดัง ยิ่งได้แรงหนุนทางอ้อมจากโทรทัศน์เทเลวิซา ซึ่งครองสัดส่วนตลาด 70 เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือจากเป็นเจ้าของโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี คะแนนนิยมของเปญา นีเอโต จึงพุ่งสูงในหมู่คนยากจน กระทั่งชนะเลือกตั้งในอีก 2 ปีต่อมา

แม้ว่าจะพยายามช่วยกันฟอกตัวเองให้ขาวสะอาด แต่นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนเชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชันที่ระบาดไปทั่วในยุครัฐบาลเปญา นิเอโต เจ้าของโครงการอภิมหาโปรเจกต์หลายโครงการ รวมไปถึงการเปิดตลาดพลังงานให้กับบริษัทเอกชนซึ่งเป็นนโยบายที่อ่อนไหวมาก นอกเหนือจากส่งเสริมการแข่งขันในตลาดสื่อสาร แต่ขณะเดียวกันกลับพยายามทำให้สหภาพแรงงานต่างๆ อาทิ สหภาพแรงงานครูที่ทรงอิทธิพลให้มีแต่อ่อนแอลง

เอ็นริเก เปญา นิเอโต วัย 48 ปี ประธานาธิบดีคนที่ 57 ของเม็กซิโก  ที่มาภาพ : http://aztecasonora.com/archivos/2014/11/pe%C3%B1aembajadores.jpg
เอ็นริเก เปญา นิเอโต วัย 48 ปี ประธานาธิบดีคนที่ 57 ของเม็กซิโก ที่มาภาพ : http://aztecasonora.com/archivos/2014/11/pe%C3%B1aembajadores.jpg

เอ็นริเก เปญา นิเอโต หนุ่มใหญ่มาดเท่และสุดหล่อเหลาวัย 48 ปี ประธานาธิบดีคนที่ 57 ของเม็กซิโก ซึ่งติดอันดับที่ 37 ของผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ เกิดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2509 ที่เมืองอัตลาโคมุลโก ในรัฐเม็กซิโก อันเป็นที่ตั้งของกรุงเม็กซิโกซิตี้ เป็นพี่ชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คนในครอบครัวที่คลุกคลีกับการเมืองมาหลายชั่วรุ่น โดยพ่อเป็นวิศวกรไฟฟ้า แม่เป็นครู พออายุ 11 ครอบครัวก็ย้ายไปที่เมืองโตลูกา ซึ่งมีญาติสนิทเป็นนายกเทศมนตรีเมืองนี้ติดต่อกันถึง 4 คน ตั้งแต่เด็กเปญา นิเอโต ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีเลิศ จนชอบแต่งตัวโก้หรู ขับรถหรูโฉบไปทั่วเมือง เป็นแฟนบอลตัวฉกาจ กับการชอบเล่นหมากรุก แต่ปรกติแล้วมักจะตามพ่อไปร่วมชุมนุมการเมือง กระทั่งเริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการช่วยแจกโปสเตอร์หาเสียงให้ แถมยังชอบอุยอวดกับครูว่าโตขึ้นต้องการเป็นผู้ว่าการเม็กซิโกซิตี้

ช่วงวัยรุ่น ได้เดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในรัฐเมน สหรัฐฯ เป็นวลา 1 ปี และเมื่อกลับบ้าน เปญา นิเอโต ซึ่งขณะนั้นมีอายุแค่ 18 ปี ก็สมัครเป็นสมาชิกพรรคปฏิวัติสถาบัน (พีอาร์ไอ) ที่ผูกขาดการบริหารประเทศมานานกว่า 70 ปี ท่ามกลางการโจมตีว่าเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมกับไปเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปานาเมริกานา กระทั่งสำเร็จการศึกษา ตามด้วยการเรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอินสติตูโน เทคโนโลจืโก เดอ เอสดูดิออส เดอ มอนเตอร์เรย์ จากนั้นก็ไปทำงานการเมืองและไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองอาคัมเบย์ ตามด้วยการได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการมหานครเม็กซิโกซิตี้เมื่อปี 2548-2554 นับเป็นสมาชิกคนที่ 5 ของตระกูลที่เป็นผู้ว่าการมหานครเม็กซิโกซิตี้ ระหว่างนั้น

นอกจากจะมีข่าวฉาวว่าเป็นเพลย์บอยหนุ่มที่ควงสาวไม่ซ้ำหน้าแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นจอมโปรเจกต์ เพียงแค่ปีแรกได้เสนอโครงการต่างๆ ถึง 141 โครงการจากทั้งหมด 608 โครงการตลอดช่วงที่เป็นผู้ว่าการฯ โดยเฉพาะโครงการสร้างถนนไฮเวย์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โครงการรถไฟชานเมืองที่เชื่อมกรุงเม็กซิโกซิตี้กับปริมณฑล โครงการสร้างโรงพยาบาลเพิ่มอีก 196 แห่ง โครงการขยายระบบการประปาครอบคลุมทั่วเมืองหลวง ฯลฯ

แม้จะคุยอวดว่าโครงการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ทำให้ชาวเม็กซิกันกว่า 300,000 คน สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้นผ่านการใช้บริการรถไฟชานเมืองที่เชื่อมกรุงเม็กซิโกซิตี้กับปริมณฑล หรือมีผู้เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บลดลงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ จากการสร้างโรงพยาบาลและสถานีอนามัยเพิ่มทุกจุด นอกเหนือจากช่วยลดอาชญากรรมลงครึ่งหนึ่ง แต่เปญา นิเอโต ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกรณีมีชาวนาเดินขบวนประท้วงแผนเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ใกล้เมืองหลวง และตำรวจได้ใช้ไม้แข็งปราบปรามผู้ประท้วง รวมไปถึงจับกุมแกนนำกว่า 200 คน หรือกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดบรรดาเพื่อนๆ ของเขาที่เป็นนักธุรกิจจึงชนะประมูลโครงการยักษ์เหล่านั้น

ด้วยความที่หน้าตาดีรวมทั้งเป็นขวัญใจของชาวเมืองหลวง ทำให้พรรคพีอาร์ไอ ซึ่งสูญเสียอำนาจการบริหารให้กับพรรคกิจแห่งชาติ (แพน) มานาน 12 ปี ตัดสินใจส่งเปญา นิเอโต มาช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีของพรรคกลับคืนมา ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ทำให้ผิดหวังแม้ว่าตลอดช่วงการหาเสียงจะถูกโจมตีสารพัดเรื่อง ตั้งแต่เรื่องที่นอกใจภรรยาคนแรกตั้งแต่ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต จนกระทั่งมีลูกนอกกฎหมาย 2 คนจากหญิงสาว 2 คนที่ตัวเองมีความสัมพันธ์ด้วย จนสื่อบางสื่อให้สมญาว่าจอห์น เอ็ดเวิร์ด ตามชื่อนักการเมืองชื่อฉาวชาวอเมริกัน หรือเรื่องที่ชอบทำตัวสำรวยเน้นหล่อมากกว่าเน้นปัญญา จนถูกวิจารณ์ว่าเหมือนหุ่นยนต์มากกว่า หนำซ้ำยังได้ขยายขี้เท่อหลายครั้ง อาทิ บอกว่าเป็นแฟนตัวยงของหนังสือชื่อดัง “ดิ อีเกิล’ส โธรน” แต่บอกไม่ได้ว่าใครเป็นคนเขียน ทั้งๆ ที่นวนิยายเล่มนี้ประพันธ์โดยคาร์ลอส ฟูเอนเตส นักเขียนชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของเม็กซิโก

หรือระหว่างเปิดตัวหนังสือ “เม็กซิโก ความหวังอันยิ่งใหญ่” ที่อ้างว่าเขียนเองเพื่อขายฝันนโยบายกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการจ้างงานเพิ่ม พร้อมกับเสนอให้บริษัทน้ำมันซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจ้างงานเพิ่ม พร้อมไปกับการต้องแข่งขันกับบริษัทน้ำมันของเอกชนที่ตัวเองจะไฟเขียวให้กระโจนสู่อุตสาหกรรมนี้เป็นครั้งแรกหากชนะการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีคนถามมากมายถึงความโปร่งใส ในเมื่อพรรคพีอาร์ไอมีกิติศัพท์ว่าคอร์รัปชัน เปญา นิเอโต กลับตอบไม่ได้ และหลายคนได้ฟันธงกลับว่าเจ้าตัวคงพัวพันกับการทุจริตเชิงนโยบายหลายโครงการ

แต่กระแสโจมตีนี้ก็ไม่อาจขวางเส้นทางก้าวสู่ทำเนียบประธานาธิบดีของเขาได้ จากการให้สัญญาว่ารัฐบาลจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น และเปิดกว้างให้มีการวิพากษวิจารณ์มากขึ้น รวมทั้งจะปราบปรามแก๊งมาเฟียและขบวนการค้ายาเสพติด ตลอดจนจะเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเสนอโครงการยักษ์ใหญ่อีกกว่า 100 โครงการ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าเปญา นิเอโต ชนะขาดการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 63 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางการกล่าวหาว่าโกงเลือกตั้งและการนำเสนอข่าวอย่างมีอคติและไม่เป็นกลางของสื่อ

ในส่วนของชีวิตครอบครัว แต่งงานครั้งแรกกับโมริกา เปรเทลินี ซานเอนซ์ มีทายาทด้วยกัน 3 คน ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตกระทันหันในปี 2550 ด้วยโรคลมชัก เปญา นิเอโต ซึ่งถูกกระแสกดดันให้ยอมรับสารภาพระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่าเป็นพ่อของลูกนอกสมรส 2 คน ได้แต่งงานใหม่กับแองเจลินา ริเวรา นางเอกละครโทรทัศน์ชื่อดังเมื่อปี 2553 และเธอผู้นี้เองก็ทำให้เขาตกที่นั่งลำบากจากกรณีซื้อคฤหาสน์หรูในราคาถูกจากบริษัทที่ชนะการประมูลโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง

แล้วก็กลายเป็นบ่วงรัดคอครอบครัวหมายเลขหนึ่งจนดิ้นแทบไม่หลุด จนแทบไม่มีเวลาใส่ใจกับการเร่งติดตามคดีสังหารหมู่นักศึกษาซึ่งยังคงคารังคาซังแม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้วก็ตาม