ThaiPublica > คอลัมน์ > ท้องถนนกับประชาชนผู้ด้อยโอกาส : แง่คิดจาก Ekta Parishad

ท้องถนนกับประชาชนผู้ด้อยโอกาส : แง่คิดจาก Ekta Parishad

10 พฤศจิกายน 2014


สฤณี อาชวานันทกุล

ไม่ถึงห้าเดือนหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สังคมไทยก็ได้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รอบใหม่ คราวนี้สถาปนาภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานกับกระบวนการปฏิรูปกันมาหลายปี

คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าเราจะได้เห็นข้อเสนอของ สปช. รวมไปถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหลายคนก็กำลังรอดูว่า จะแตกต่างจากฉบับปี 2550 หลังเกิดรัฐประหารครั้งที่แล้วอย่างไร ประชาธิปไตยที่ผู้ยึดอำนาจอ้างว่า “เหมาะสมกับสังคมไทย” นั้นมีหน้าตาอย่างไรกันแน่

ในเวลาเดียวกัน กฎอัยการศึกก็ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป การเดินขบวนหรือชุมนุมเรียกร้องรัฐ ไม่ว่าจะวาระอะไรก็ตาม ถูกมองว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง ฉะนั้นจึงละเมิดกฎอัยการศึก ไม่อนุญาตให้ทำ ประชาชนที่ร้องเรียนหรือเสนออะไรถูกบอกให้ไปศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร

การกีดกันประชาชนออกจากท้องถนน ขีดวงอภิปรายเรื่องการปฏิรูปประเทศให้อยู่ภายในการวิ่งล็อบบี้และการทำหน้าที่ของ สปช. ทำให้ผู้เขียนนึกถึงแง่คิดที่ได้รับจากการไปดูงานของ เอ็กต้า ปาริฉัตร (Ekta Parishad ชื่อในภาษาฮินดีแปลว่า “สมัชชาสามัคคี”) องค์กรเคลื่อนไหวภาคประชาชนของอินเดียที่ทำงานมานานกว่า 25 ปี

เดือนตุลาคม 2557 ผู้เขียนได้ไปศึกษาดูงานที่สำนักงานใหญ่ของเอ็กต้าในเมืองโภปาล โดยได้รับเกียรติให้ร่วมเดินทางไปกับกลุ่มนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรงในโครงการผู้นำแห่งอนาคต ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องขอขอบคุณโครงการฯ มา ณ โอกาสนี้

จุดมุ่งหมายสูงสุดของ เอ็กต้า ปาริฉัตร คือ การช่วยเหลือให้คนจนที่จนที่สุดในอินเดียสามารถดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อันได้แก่ ที่ดิน แหล่งน้ำ และป่าไม้ เนื่องจากมองว่าทรัพยากรเหล่านี้โดยเฉพาะที่ดินไม่ใช่แหล่งรายได้อย่างเดียว แต่ยังเป็นบ่อเกิดของศักดิ์ศรี ความมั่นคง และอัตลักษณ์ แต่ปัจจุบันคนอินเดียหลายล้านคนยังคงไม่มีที่ดินทำกิน

ราช โกพาล (Raj Gopal) ผู้ก่อคั้ง เอ็กต้า ปาริฉัตร ที่มาภาพ: http://asenseofbelonging.files.wordpress.com/2012/10/rajagopal.jpg
ราช โกพาล (Raj Gopal) ผู้ก่อคั้ง เอ็กต้า ปาริฉัตร ที่มาภาพ: http://asenseofbelonging.files.wordpress.com/2012/10/rajagopal.jpg

เอ็กต้าทำงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายกว่าหมื่นองค์กรทั่วประเทศและสมาชิกหลายพันคน กระจายตัวกันอยู่ในพื้นที่ 10 แคว้นทั่วอินเดีย เน้นการทำงานระดับรากหญ้า เริ่มต้นจากการส่งคนไปลงแรงปรับปรุงสาธารณูปโภคในหมู่บ้าน เช่น สร้างส้วม ขุดลอกคูคลอง ฯลฯ เพื่อชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่า มีหลายสิ่งที่พวกเขาสามารถทำเองได้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตัวเอง

เนื่องจากคนจนและคนที่ถูกกดขี่เชิงโครงสร้างหรือสังคมไม่ยอมรับ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ ดาลิตหรือจัณฑาล มักจะรู้สึกสิ้นหวังท้อแท้ในชีวิตเพราะถูกสังคมรังเกียจ นักการเมืองก็ไม่เหลียวแล การทำให้พวกเขาตระหนักใน “ศักยภาพ” ของตนเอง เริ่มเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่ง

กระบวนการหลังจากนั้นคือให้ชาวบ้านร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาในชุมชน เชื่อมโยงปัญหาเข้ากับปัญหาระดับโครงสร้าง พัฒนาแกนนำจากการจัดค่ายเยาวชน จัดกิจกรรมการศึกษาต่างๆ และชี้ให้เห็นความสำคัญของการเรียกร้องสิทธิอันพึงมีของตน โดยยึดมั่นในหลักอหิงสาของมหาตมะคานธี

กิจกรรมสำคัญของเอ็กต้าในรอบสิบปีที่ผ่านมา คือการจัดการเดินขบวนขนาดใหญ่ไปยังกรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงกับการจัดสรรที่ดินให้กับคนจน

ในการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิครั้งแรก ภายใต้ชื่อ “จานาเดจ” (Janadesh ภาษาฮินดีแปลว่า “คำตัดสินของปวงชน”) ปี 2007 มีชาวบ้านไร้ที่ดินกว่า 25,000 คน ร่วมเดินเท้ากว่า 350 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 28 วัน ไปยังกรุงเดลี จำนวนคนที่มากขนาดนั้นทำให้สื่อมวลชนทำข่าวอย่างกว้างขวาง และเมื่อเป็นข่าว แน่นอนว่านักการเมืองก็ต้องออกมารับเรื่อง

บรรยากาศการเดินขบวนจานาเดจ 2007 ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a9/Janadesh_2007%2C_walking_to_Delhi.jpg
บรรยากาศการเดินขบวนจานาเดจ 2007 ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a9/Janadesh_2007%2C_walking_to_Delhi.jpg

แกนนำของเอ็กต้าเล่าให้พวกเราฟังว่า ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่งจากการเดินขบวนครั้งนั้นคือ รัฐบาลอินเดียยอมบังคับใช้กฎหมายสิทธิในป่าไม้ ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2006 แต่ไม่เคยถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง ทำให้คนจนทั่วประเทศกว่า 3.6 ล้านคน ได้มีสิทธิเข้าไปทำกินในเขตป่าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จานาเดจครั้งต่อมาในปี 2012 นำบทเรียนจากครั้งแรกมาปรับปรุงต่อยอด คราวนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 100,000 คน จาก 26 แคว้นทั่วประเทศ ทวงถามความคืบหน้าของนโยบายการปฏิรูปที่ดินซึ่งรัฐบาลสัญญาตั้งแต่ปี 2007 และส่งเสียงให้รัฐรับทราบความรุนแรงของปัญหาที่ดินซึ่งยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง


คลิปวีดีโอสรุปจานาเดจปี 2012 ภายใต้ชื่อ “แจน สัตยาเคราะห์ 2012”

ตัวแทนองค์กรอธิบายว่า การเดินขบวนครั้งนี้สะท้อนเสาหลักของการเปลี่ยนแปลงสังคมครบทั้งสี่ต้น อันได้แก่ พลังของเยาวชน (แกนนำชุมชนรุ่นเยาว์จับมือกับแกนนำรุ่นอาวุโส) พลังของคนจน (เครือข่ายชาวบ้านที่ยากไร้เรี่ยไรทุนรอนและปัจจัยที่ต้องใช้ด้วยตัวเอง ด้วยการเก็บออมข้าว 1 กำมือ หรือเงิน 1 รูปี ต่อหนึ่งครอบครัวต่อหนึ่งวัน ทุกวันก่อนถึงกำหนดการเดิน) พลังของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ระหว่างเดินชาวบ้านได้รับกำลังใจและการสนับสนุนมากมาย ตั้งแต่เงิน อาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ รวมถึงสารสนับสนุนจากองค์กรและประชาชนในต่างประเทศ) และพลังของอหิงสา (ชาวบ้านเดินอย่างสงบ สันติ ย้ำว่าอหิงสาไม่ใช่เพียง “ยุทธวิธี” เท่านั้น หากเป็น “วิถีชีวิต” ที่พึงปรารถนา)

วันนี้ เอ็กต้า ปาริฉัตร กำลังวางแผนเดินขบวนครั้งใหญ่ในปี 2020 คราวนี้จะจัดในระดับนานาชาติ โดยในอินเดียจะเดินเท้าจากกรุงเดลีไปยังสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อส่งเสียงเรียกร้องให้คนและรัฐทั่วโลกมองเห็นปัญหาที่คนจนทั่วโลกประสบร่วมกัน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดความมั่นคงทางอาหาร การไร้ซึ่งสิทธิในที่ดินทำกิน และการถูกเบียดบังทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งนำเสนอแนวคิด “เศรษฐกิจอหิงสา” (nonviolent economy) ซึ่งเน้นการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

ตัวแทนของเอ็กต้าอธิบายว่า งานของพวกเขาเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ด้วย เพราะชาวบ้านที่โกรธแค้นกับการตกเป็นเหยื่อมานานจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับแนวทางอหิงสา และอินเดียก็มีองค์กรเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยที่ชูแนวทางแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ถามว่าแนวทางอหิงสาดีกว่าอย่างไร เขาตอบว่าอหิงสาคล้ายกับยาแผนโบราณ อาจใช้เวลานานกว่ายาแผนปัจจุบันกว่าจะเห็นผล แต่ไม่มีผลข้างเคียง

ถามว่าแล้วถ้าหากการเดินขบวนไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ล่ะ เขาตอบว่าไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการชี้ให้ชาวบ้านหลายหมื่นหลายแสนคนมองเห็นความสำคัญและพลังของการไม่ใช้ความรุนแรง และการเดินขบวนครั้งนี้ก็เป็นการเดินขบวนทางจิตวิญญาณ (spiritual march) ด้วย ได้สวดมนต์และขัดเกลาจิตใจตนเองระหว่างทาง

ประสบการณ์จาก เอ็กต้า ปาริฉัตร หนึ่งในองค์กรที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสันติภาพ ปี 2014 บอกเราว่า ตราบใดที่สังคมยังมีการเอารัดเอาเปรียบ ผู้เสียเปรียบบางกลุ่มไม่ถูกได้ยินและถูกกันออกจากห้องประชุม ตราบนั้นประชาธิปไตยท้องถนนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

การกีดกันคนออกจากท้องถนนจึงไม่อาจช่วยให้สังคมเป็นประชาธิปไตยกว่าเดิมได้เลย.