ThaiPublica > คอลัมน์ > “ชีวิตใต้เผด็จการไม่ยาก…ถ้าไม่คิดมาก” Dangerous Acts Starring The Unstable Elements Of Belarus

“ชีวิตใต้เผด็จการไม่ยาก…ถ้าไม่คิดมาก” Dangerous Acts Starring The Unstable Elements Of Belarus

29 พฤศจิกายน 2014


1721955

2

“ใช้ชีวิตใต้อำนาจเผด็จการไม่ยาก…แค่ไม่ต้องคิดมาก ที่เบลารุส พวกเราไม่ต้องตัดสินใจอะไร เพราะมีคนเลือกให้เบ็ดเสร็จ พวกเราไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย” นี่คือประโยคเปิดเรื่องจากคำให้การของหนึ่งในนักแสดงคณะละครใต้ดิน Belarus Free Theater ในหนังสารคดีเรื่อง Dangerous Acts Starring The Unstable Elements Of Belarus

“ปี 2011 คือจุดหักเหค่ะ” “ในปีนั้นผมได้กลายมาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง” “รัฐบาลแยกพวกเราออกจากกัน ทำให้พวกเราต้องพเนจรไปอีกยาวนาน” “ไม่มีใครในหมู่พวกเราเลยสักคนที่คาดเดาได้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น” เสียงสัมภาษณ์ทีมคณะละคร 4-5 คน ตัดสลับภาพการเตรียมงานและซักซ้อม ก่อนที่ละครฉากหนึ่งจะปรากฏขึ้น

3

ชายหญิงหลายคนนั่งบนเก้าอี้เรียงหน้ากระดาน หลังตรง เป็นระเบียบ ทุกคนคาบลูกโป่งสีขาวไว้ในปาก ก่อนจะเป่าลมจนมันพองขึ้น / เสียงอันทรงพลังประกาศก้อง: “ท่านประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเบลารุส!” / นักแสดงทุกคนหันหน้าไปทางเดียวกัน ตบลูกโป่งให้เกิดเสียงเหมือนเดินสวนสนาม / สลับคลิปวิดีโอทหารเดินสวนสนาม / นักแสดงทุกคนยืนตรงแสดงความเคารพ ก่อนจะนั่งลงช้าๆ อย่างมีมารยาทและหวาดกลัว / สลับคลิปวิดีโอ ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูกาเช็นโก (ปกครองตั้งแต่ปี 1994-ปัจจุบัน) ท่านหยิบเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งขึ้นมา กล่าวทักทายผู้ชมอย่างเป็นกันเอง ก่อนจะลงท้ายว่า “ใช่มั้ยครับ!” / นักแสดงทุกคนกุลีกุจอพยักหน้าด้วยสีหน้าเรียบเฉย แววตาหวาดกลัว ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะยกมือท้วงติง / แล้วท่านประธานฯ ก็เริ่มบรรเลงดนตรี / ทุกคนขยับเต้นไปทางเดียวกันตามจังหวะเพลง สีหน้ายังคงเรียบเฉย / ท่านประธานฯ ร้องเพลงขึ้นว่า “โอ ผมช่างแสนจะมีความสุข” / ลูกโป่งในปากของนักแสดงแตกดัง “ปัง!” คล้ายเสียงปืน แล้วก็เริ่มล้มลงทีละคนๆ / ก่อนที่ภาพในหนังจะตัดไปให้เห็นเหตุการณ์ประท้วงในปี 2010 ณ เมืองมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส

นี่คือฉากเปิดเรื่องอันชวนกดดันของ Dangerous Acts Starring The Unstable Elements Of Belarus ที่แทบจะไม่ต้องขยายความให้เยิ่นเย้อก็เห็นชัดถึงบรรยากาศอันตึงเครียด ภายใต้ระบอบของผู้นำเผด็จการรายสุดท้ายแห่งยุโรป ผ่านการแสดงจากนักแสดงละครใต้ดินกลุ่มนี้ เบลารุส ฟรี เธียเตอร์ อันเป็นการแสดงที่ทั้งคนแสดงและคนดูต้องผ่านความยากลำบากขวนขวายกว่าจะได้ดู เพราะเผลอๆ อาจต้องติดคุกเป็นของแถม หากวันใดดวงซวยเกิดมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามากวาดล้าง

4

ที่เบลารุสจะจัดการเลือกตั้งทุกๆ 5 ปี แล้วจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่ลูกาเช็นโกขึ้นสู่อำนาจก็ครองตำแหน่งประธานาธิบดีมาอย่างยาวนานถึง 20 ปีเต็ม ความรุนแรงระอุขึ้นในการเลือกตั้งปี 2010 ซึ่งเขาก็ยังคงชนะเลือกตั้งอีกหน ทั้งๆ ที่ชาวเมืองต่างเชื่อกันว่าน้อยคนนักที่จะเทคะแนนเสียงให้เขา ปีนั้นเองชาวเบลารุสกว่า 50,000 คน จึงออกมาชุมนุมประท้วงการทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้มีผู้ถูกจับกุม ซ้อมทรมาน และจำคุกอย่างมากมาย ซึ่งในบรรดานั้นรวมถึงชาวคณะละครใต้ดินนี้ด้วย

เหตุนี้เองทำให้การจะเข้าไปชมละครของกลุ่มนี้ ผู้ชมต้องเสาะหาเบอร์โทรหรืออีเมลลับแล้วฝากข้อความไว้ จากนั้นทีมละครจะติดต่อกลับเพื่อแจ้งรายละเอียดวันเวลาแสดง แล้วไม่กี่ชั่วโมงก่อนการแสดงจะเริ่ม ทีมงานจะโทรกลับไปนัดหมายสถานที่นัดพบ ก่อนจะขับรถไปรับเพื่อพาไปยังสถานที่แสดง ซึ่งอาจจะเป็นอพาร์ตเมนต์ของคนรู้จัก หรือตึกร้างห่างหูห่างตาเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะละครคณะนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้ชมจึงควรต้องพกบัตรประชาชนติดตัวไปด้วย เผื่อสำหรับกรณีที่ถูกจับกุมจะได้ถูกปล่อยตัวเร็วขึ้น

5

เหตุปะทะเดือดเกิดขึ้นอีกระลอกในปี 2011 เมื่อรถใต้ดินในเมืองมินสก์เกิดระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 200 ราย จากนั้นเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลก็ประกาศว่าจับคนร้ายได้แล้ว เป็นชาย 2 พี่น้องวัย 25 ปี โดยรัฐอ้างว่าพวกเขาสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือ ทำให้ถูกตัดสินประหารชีวิตในทันที อันเป็นชนวนคัดค้านจากประชาชนกลุ่มใหญ่ที่เชื่อว่าชายสองคนนี้เป็นแพะ และสหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสินดังกล่าว รวมถึงแม่ของผู้ต้องหาเองยังได้แสดงความเห็นว่าทั้งคู่ถูกซ้อมทรมานอย่างโหดเหี้ยมและถูกบังคับให้สารภาพทั้งๆ ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่มีการไต่สวนอย่างเป็นธรรม รวมถึงเชื่อว่าการลงโทษขั้นรุนแรงและรวดเร็วนี้อาจเป็นเพียงการจัดฉากเพื่อเบี่ยงประเด็นความไร้ประสิทธิภาพอื่นๆ ของรัฐบาลนี้ เช่น การออกกฎหมายภาษีคนตกงาน, การให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ว่าบริษัทหรือส่วนบุคคลต้องผ่านเครือข่ายการตรวจสอบของรัฐก่อน ฯลฯ

เบลารุส ฟรี เธียเตอร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2005 โดย นิโคไล คาเลซิน, นาตาเลีย โคเลียดา และวลาดิเมียร์ เชอร์บาน หนังสารคดีเรื่องนี้เป็นการรวบรวมคลิปแอบถ่ายและบทสัมภาษณ์ที่ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ เสมือนพาผู้ชมไปนั่งแถวหน้าของละครฉากใหญ่ “ในละคร เรารู้ว่าฉากต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น เรารู้ว่าอุปกรณ์ประกอบฉาก หรือเสื้อผ้าจะวางอยู่ตรงไหน แต่ในชีวิตจริง เราไม่รู้อะไรเลย เราต่างตกอยู่ในความหวาดกลัว” นี่คือคำให้การของนิโคไล ที่บัดนี้ผู้ก่อตั้งทั้งสามก็ได้กลายสถานภาพไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในอเมริกาและอังกฤษไปเรียบร้อยแล้ว แต่พวกเขาไม่จบเห่ แม้จะต้องเร่ร่อนแยกกันไปอยู่คนละประเทศ แต่นิโคไลและนาตาเลียสองสามีภรรยาที่ต้องกระเตงลูกสาวหนีไปอังกฤษก็เปิดการแสดงในลอนดอนและพวกเขาประชุมหารืองานกับทีมที่เบลารุสผ่านทางสไกปต์ รวมถึงตระเวนจัดแสดงตามประเทศต่างๆ กว่า 42 ประเทศ พ่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ความรู้เรื่องความอยุติธรรมและการกดขี่ในเบลารุส รวมถึงเข้าไปศึกษาปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนตามประเทศต่างๆ ด้วย (หนึ่งในนั้นคือประเด็นโทษประหารและคดี 112 ในประเทศไทย) ดูคลิปเสวนาได้ที่ http://youtu.be/R3u9Nf-Ty4Y (คลิกคำบรรยายภาษาไทยตรงเครื่องหมาย cc ที่ขอบจอ)

แมดเดอลีน แซ็คเลอร์ ผู้กำกับเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่เธอทำหนังเรื่องนี้ว่า “ฉันรู้จักละครคณะนี้จากเพื่อนที่นิวยอร์ก ตอนนั้นฉันแทบจะไม่เชื่อหูตัวเองเลยว่าการกดขี่แบบนี้ยังคงมีอยู่ในยุโรป ตอนแรกฉันเดาว่าอาจเพราะพวกเขาจวกด่ารัฐบาล แต่กลายเป็นว่าการแสดงของพวกเขาไม่ได้เจาะจงที่ประเด็นการเมืองเท่านั้น แต่มีเนื้อหาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพื่อนๆ หรือของครอบครัวพวกเขา ชีวิตประจำวัน การฆ่าตัวตาย คนรักเพศเดียวกัน คนติดเหล้า มันคือเรื่องพื้นๆ ที่ประเทศเจริญแล้วต่างคุยกันได้อย่างมีเสรีภาพและเปิดเผย แต่กลายเป็นประเด็นให้ฝ่ายรัฐใช้อ้างความชอบธรรมในการกีดกันพวกเขาให้ไม่มีที่ทางในการแสดงละคร กลายเป็นพวกนอกกฎหมาย และปราศจากรายได้จากการขายตั๋ว”

6 (1)

อ่านถึงตรงนี้อาจพานให้คิดไปว่า หรือเพราะบรรดาผู้ประท้วงจะใช้ความรุนแรง จึงถูกกวาดล้าง แต่เปล่าเลย การจับกุมคุมขังหลายต่อหลายครั้งเป็นเพียงแค่ฝ่ายต่อต้านแสดงออกด้วยการสวมเสื้อยืด (ที่เขียนว่า “เบลารุสปราศจากลูกาเช็นโก”) หรือปรบมือ (ที่น่าเย้ยหยันคือหนึ่งในนั้นมีแขนข้างเดียว) หรือแม้แต่โพสต์ภาพแสนจะธรรมดาลงในเน็ต (ภาพตุ๊กตาหมี)

“เราเพียงแค่ทำในสิ่งที่พวกเรารัก นั่นก็คือละคร เราไม่ได้ต้องการจะสั่งสอนใครด้วยซ้ำ เราเพียงแต่แสดงความคิดเห็น เพราะเรารักในศิลปะ และเราเห็นความสำคัญของการท้าทายทั้งทางสติปัญญากับทางอารมณ์ เราแค่อยากจะแสดงออกมาให้ดีที่สุด ทำให้ผู้ชมได้ฉุกคิด เราเพียงต้องการนำเสนอมุมมองที่ต่างออกไปจากสิ่งที่รัฐคอยป้อนความคิดให้กับเรา” นาตาเลียทิ้งท้าย

ตัวอย่างหนัง http://youtu.be/LGALySJ3O24

สามารถสนับสนุนหนังเรื่องนี้และละครคณะนี้ได้ที่ http://www.dangerousactsfilm.com/

7