ThaiPublica > คอลัมน์ > Crowd Sourced Parking ปล่อยเช่าที่จอดรถคอนโดฯ ผ่าน App

Crowd Sourced Parking ปล่อยเช่าที่จอดรถคอนโดฯ ผ่าน App

30 พฤศจิกายน 2014


ยรรยง บุญ-หลง
[email protected]

ที่จอดรถคอนโดผ่านapp

ใครบอกว่าที่จอดรถในตามสถานี BTS หรือ MRT มีน้อยละครับ แท้จริงแล้วหากเราหาจังหวะเวลาดีๆ (ด้วยความช่วยเหลือจากระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก) เราจะสามารถค้นพบที่จอดรถในเมืองจำนวนหลายล้านตารางเมตรที่ยังไม่ได้ถูกใช้งาน โดยเฉพาะในเวลากลางวัน

คอนโดฯ จำนวนมากมักจะตั้งอยู่ติดกับรถไฟฟ้า ซึ่งจะมีศักยภาพที่จะสามารถปล่อยเช่าที่จอดรถให้คนที่ทำงานในเมืองได้ โดยเฉพาะคนที่ต้องขับรถจากชานเมืองมาจอด แล้วต่อรถไฟฟ้าเข้าไปในเมือง (park and Ride)

เจ้าของที่จอดรถมักจะขับรถออกไปทำงานในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ที่จอดรถเหล่านี้ว่างเปล่า ปราศจากการใช้งาน

1

การออกแบบประตูทางเข้าของคอนโดฯ ให้แยกออกจากที่จอดรถ หรือการใช้ key card เข้าประตูทุกชั้นที่มีที่จอดรถ ก็จะสามารถแยกความเป็นสาธารณะกับความเป็นส่วนตัวออกจากกันได้

ในปัจจุบัน การบริหาร (และเก็บสตางค์) ค่าที่จอดรถของคอนโดฯ กำลังจะกลายเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้นิติบุคคลของคอนโดฯ จำนวนมาก

บางครั้งรายได้จากการปล่อยเช่าที่จอดรถ อาจมากพอที่จะตัดค่าส่วนกลางก้อนใหญ่ (ของนิติบุคคล) ออกไปได้เลยก็ได้

สมมุติว่านิติบุคคลของคอนโดฯ ที่อยู่ติดกับ BTS ปล่อยเช่าที่จอดรถ 1 ช่อง ในอัตรา 30 บาท/ชั่วโมง x 10 ชั่วโมง/วัน x 20 วันทำงาน/เดือน = 6,000 บาท/เดือน

ถ้าคอนโดฯ แห่งนี้มีที่จอดรถ 300 คัน ทางนิติบุคคลจะมีโอกาสที่จะทำเงินได้ถึง 1.8 ล้านบาท/เดือน

แต่ถ้าเจ้าของคอนโดฯ ไม่นำรถออกไปใช้ในตอนกลางวัน ทางนิติฯ ก็จะมีรายได้ไม่มากเท่าที่ควร เพราะจะมีที่ว่างจอดน้อยลง

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ ถ้าหากว่า “ลูกค้า” เข้ามาหาที่จอดรถครั้งแรกแล้วพบว่าเต็ม ไม่มีที่จอด เขาก็อาจจะไม่แวะมาอีก ทำให้ครั้งต่อไปที่จอดรถจะว่างโล่งไม่มีลูกค้าเลย

เราสามารถแก้ปรากฏการณ์นี้ได้ด้วยการสร้างระบบแอปพลิเคชันที่จอดรถ ซึ่งสามารถจองได้ผ่านทางมือถือ โดยระบบนี้จะถูกเชื่อมต่อกับที่จอดรถแบบ smart parking ที่มีระบบ sensor ว่ามีช่องจอดรถเหลืออยู่กี่คัน

“ลูกค้า” จะรู้ตั้งแต่ยังขับรถอยู่บางนา ว่าที่จอดในคอนโดฯ ณ BTS แบริ่ง นั้นมีเหลืออยู่อีกกี่คัน และเขาจะสามารถจองล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตได้ 1 ชั่วโมง

เป็นระบบที่คล้ายๆ กับ Uber ซึ่งไม่ต้องใช้เงินสด และสามารถรู้ได้ว่าผู้มาจอดรถนั้นเป็นใคร ชื่ออะไร สามารถตามตัวได้ หากมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น

วิธีการนี้จะสามารถสร้างความแน่นอนให้กับผู้มาใช้บริการ และจะสามารถทำให้ที่จอดรถถูกเช่าอย่างต่อเนื่องได้ทั้งวัน ตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 17.00 น. (10 ชั่วโมง)

หลังจาก 17.00 น. ที่จอดรถจะปิดบริการ และถูกปรับกลับมาใช้เป็นที่จอดรถสำหรับคนในคอนโดฯ

2

ในช่วงปี ค.ศ. 2013 ที่ผ่านมา มีจำนวนคอนโดฯ ทั้งหมด 170,200 ยูนิต วางขายอยู่ในตลาด ซึ่งหากคำนวณว่าทั้งหมดนี้ต้องมีที่จอดรถอย่างน้อย 50% ของจำนวนยูนิต เราจะพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมานั้น เรามีจำนวนที่จอดรถ 85,100 คัน ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ 10 ล้านตารางเมตร (ทั้งนี้ยังไม่รวมจำนวนคอนโดฯ ที่ขายหมดไปแล้วก่อนช่วงปี ค.ศ. 2013) คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย

3

ในปัจจุบัน การปล่อยเช่าที่จอดรถในคอนโดฯ ก็เป็นเรื่องที่ทำกันแพร่หลายอยู่แล้ว แต่เป็นการกระทำที่ไร้ระบบจัดการที่ทันสมัย และยังไม่มีการวิจัยออกแบบเพื่อแยก “ความเป็นส่วนตัว” ของอาคารจาก “ความเป็นสาธารณะ” ของที่จอดรถ (ลอง Google “เช่าที่จอดดรถ คอนโด”)

ที่มาภาพ :  Flickr Creative Common, Keng Susumpow
ที่มาภาพ: Flickr Creative Common, Keng Susumpow

คนกรุงจำนวนมากต้องติดแน่นอยู่บนถนนวันละ 3 หรือ 4 ชั่วโมง …

หากคนทั่วไปสามารถขับรถมาจอดตามคอนโดฯ ได้แล้วต่อรถไฟฟ้า พวกเขาจะมีเวลามากขึ้นถึงครึ่งวันทำงานทีเดียว (แม้แต่เวลาที่โหนรถไฟฟ้านั้น ก็สามารถใช้ตอบอีเมลหรือเขียนข้อความในไลน์ได้)

เราคงต้องรอดูต่อไปว่าถ้าคนเมืองได้เวลาคิดฝันเพิ่มขึ้นมาถึงครึ่งวันนั้น พวกเขาจะสร้างปรากฏการณ์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้บ้าง

อย่าลืมนะครับว่าประวัติศาสตร์ของการคิดค้นนวัตกรรม breakthrough ใหม่ๆ ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ การเมือง หรือสถาปัตยกรรม มักจะเกิดขึ้นจากงานอดิเรกที่ไม่ใช่อาชีพหลัก

…หรือเกิดขึ้นจากการที่คนมีเวลาว่าง