ThaiPublica > เกาะกระแส > ครัวไทยครัวโลก ซีพีกับตลาดข้าว ใช้โครงการ GAP Plus ปั้น smart farmer

ครัวไทยครัวโลก ซีพีกับตลาดข้าว ใช้โครงการ GAP Plus ปั้น smart farmer

18 พฤศจิกายน 2014


เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด จัดงาน “วันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก ปีที่ 2” ณ โรงสีสหกรณ์การเกษตร ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ โดยการจัดงานในครั้งนี้ ทางบริษัทได้เชิญเอกอัครราชทูตบรูไนประจำประเทศไทย ในนามของตัวแทนประเทศคู่ค้า และประเทศคู่ค้าอื่นๆ อาทิ สิงค์โปร์, มาเลเซีย, จีน, ฝรั่งเศส ชาวนาทั้งที่เข้าร่วมโครงการและยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงนักวิชาการ และสื่อมวลชน ทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ ร่วมดูงานในครั้งนี้

ซีพีกับเป้าหมาย แชมป์โลกส่งออกข้าว

นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (ธุรกิจข้าว และอาหาร) เครือเจริญโภคภัณฑ์
นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (ธุรกิจข้าวและอาหาร) เครือเจริญโภคภัณฑ์

นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (ธุรกิจข้าวและอาหาร) เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะให้พื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ ตามหลักการผลิตด้วยมาตรฐาน GAP Plus (Good Agriculture Practices Plus) เป็นแหล่งวัตถุดิบข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยอย่างยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและระดับโลก

การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกไร่นาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงขึ้น โดยปกติชาวนาจะได้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งผลผลิตน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% ต่อไร่ขึ้นไป โดยต้องปรับปรุงระบบการเพาะปลูกใหม่ นำวิธีการปลูกแบบ GAP ของกระทรวงการเกษตรมาใช้

“เมื่อสามารถเพิ่มผลผลิตได้แล้ว ปัญหาส่วนใหญ่ของเกษตรกรคือด้านการตลาดกับราคา ในโครงการของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา อาทิ โครงการรับจำนำข้าว ก็มุ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านการตลาดกับราคาให้แก่ชาวนา ในโครงการจึงมีการเติมคำว่าพลัสลงไป โดยการที่จะสร้างเครื่องหมายการค้าให้กับข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งวันนี้เข้าไปในตลาดโลกแล้วร้อยกว่าประเทศ ให้มีระดับที่ดียิ่งขึ้น เป็นพรีเมียมขึ้นไป” นายสุเมธกล่าว

ทั้งนี้ การจะทำสินค้าชุมชนให้ได้คุณภาพระดับพรีเมียมนั้นต้องเริ่มต้นที่การเพาะปลูก ทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์ การจัดการในไร่นา โดยสามารถที่จะตรวจสอบย้อนกลับจากข้าวไปถึงแหล่งไร่นาได้

นายสุเมธกล่าวต่อไปว่า การจัดงานวันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก ปีที่2 ครั้งนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์และขยายผลโครงการ และมีขึ้นเพื่อที่จะให้สังคมรู้ว่า แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิไทย “ทุ่งกุลาร้องไห้” เป็นอย่างไร ชาวนาที่ปลูกข้าวปลูกอย่างไร เป็นการเปิดตัวข้าวหอมมะลิไทยอย่างหนึ่ง เพื่อให้ตลาดต่างประเทศ สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นักวิชาการต่างๆ ทราบว่าข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี

เช่นเดียวกับประเทศในยุโรปหรืออเมริกา เมื่อมีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร จะเริ่มผลักดันด้วยการจัดงานเพาะปลูก จัดงานเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ เช่นกันกับงานเก็บเกี่ยวฯ ในวันนี้ และเป็นการสร้างการยอมรับให้สังคมรับรู้ว่าชาวนาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้คือโรดแมปที่เราวางไว้

นายสุเมธ เปิดเผยว่า ในปีแรกของการส่งเสริม ซึ่งเป็นฤดูทำนาปี 2556/57 มีเกษตรกรจาก 2 พื้นที่เข้าร่วมโครงการรวม 191 ราย พื้นที่ทำนา 3,574 ไร่ แต่ในปีที่ 2 (2557/58) จำนวนสมาชิกโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 444 ราย พื้นที่ทำนาเพิ่มเป็น 8,696 ไร่ สูงกว่าเดิมกว่าเท่าตัว ซึ่งได้รับใบรับรองการปลูกข้าวด้วยระบบ GAP

โดยคาดว่าจะได้ผลผลิตเป็นข้าวเปลือกประมาณ 3,913 ตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 2,000 ตันข้าวสาร เพิ่มจากที่ผลิตได้เมื่อปี 2556/57 ประมาณ 2,387 ตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 1,525 ตันข้าวสาร

ข้าวหอมมะลิ ศรีสะเกษ

ในปี 2556/57 ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 132 ราย พื้นที่ทำนามี 2,455 ไร่ ในปี 2557/58 มีสมาชิกเพิ่มอีก 181 ราย ได้พื้นที่ทำนาเพิ่ม 2,950 ไร่ ทำให้มีสมาชิกรวมเป็น 313 ราย พื้นที่ทั้งหมด 5,405 ไร่ ส่วนที่ตำบลสามัคคี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เดิมมีอยู่ 59 ราย พื้นที่ทำนา 1,119 ไร่ ปีนี้มีสมาชิกเพิ่ม 72 ราย พื้นที่ทำนาเพิ่มอีก 2,172 ไร่ ทำให้มีสมาชิกรวมเป็น 131 ราย พื้นที่ทั้งหมด 3,291 ไร่

พื้นที่เริ่มต้น 8,696 ไร่ ที่ได้เริ่มดำเนินการ หากเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอย่างเดียวมี 16 ล้านไร่ จึงถือว่าค่อนข้างน้อย และต้องใช้เวลาอีกนานในการดำเนินการ ต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อมเพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่ในอนาคต

ทางบริษัทยังมีโครงการที่เกี่ยวกับข้าวอีกหลายโครงการ อาทิ การส่งเสริมการปลูกข้าวญี่ปุ่น ที่สามารถเพาะปลูกได้ดีในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพียงแต่มีโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นโครงการหลัก และยังไม่ได้มองไปถึงตลาดข้าวอินทรีย์ หรือตลาดข้าวพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ เนื่องจากยังเป็นตลาดขนาดเล็ก

“ข้าวตราฉัตรส่งออกเป็นเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ประมาณ 65% หรือประมาณ 6.6 แสนตัน ขายในประเทศประมาณ 35% หรือประมาณ 3.5 แสนตัน” นายสุเมธกล่าว

ใครได้อะไรจากโครงการนี้

อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว นายสุเมธกล่าวว่าโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ GAP Plus นี้ เป็นการร่วมกัน 6 ฝ่าย คือ

– มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินงานตามรอยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
– เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะมีความมั่นคงในอาชีพของตน
– ภาครัฐ ในแง่เศรษฐกิจของประเทศ มีข้าวคุณภาพสำหรับส่งออก ลดภาระรัฐในการช่วยเหลือชาวนา
– ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการให้วงเงินสำหรับซื้อเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยโดยไม่มีดอกเบี้ยตามโครงการของธ.ก.ส.
– บริษัท ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงข้าวตราฉัตร จะมีความมั่นใจในคุณภาพวัตถุดิบที่ได้รับ คุณภาพผลผลิตดีขึ้น อาทิ มีกลิ่นหอม, มีเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดที่สมบูรณ์
– ประชาชนผู้บริโภค จะมีความมั่นใจคุณภาพข้าวที่ซื้อไปบริโภค เนื่องจากสามารถทำการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแปลงนาที่ผลิตได้ ได้บริโภคข้าวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการดำเนินงานมีการตรวจปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปริมาณการใช้น้ำ

การปลูกข้าวด้วยระบบ GAP

"วันเก็บเกี่ยว ข้าวหอมมะลิโลก ปีที่ 2”
“วันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก ปีที่ 2”

ในส่วนรายละเอียดของการดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ 57/58” นายสุวิทย์ แซ่ย่อง ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการเพาะปลูก บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด กล่าวถึงการดำเนินงานว่า ทางบริษัทเริ่มด้วยการเข้ามาพูดคุยกับชาวบ้าน และทำการขึ้นทะเบียนสมาชิกเกษตรกรที่สนใจจะปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัท และจัดทำบัตรสมาชิก โดยมีเงื่อนไขว่า เกษตรกรเป็นผู้ลงทุนค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตทั้งหมด โดยบริษัทจัดหาเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยให้ก่อน เกษตรกรชำระคืนในวันนำผลผลิตมาจำหน่ายให้บริษัท โดยไม่มีข้อบังคับให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์และปุ๋ยของทางบริษัทแต่อย่างใด

“จากนั้น จึงจัดอบรมสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ เรื่องการปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ตามหลัก GAP (ระบบการปลูกจากกรมการข้าว) รวมไปถึงการสร้างกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีการให้คำแนะนำในการปลูกข้าวกับเกษตรกรผู้ร่วมโครงการฯ ตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพจากกรมการข้าว การใช้ปุ๋ย สูตรไหน ใช้อย่างไร ใช้เวลาไหน ถึงจะส่งผลดีที่สุด”

ในส่วนของการจัดการพื้นที่นา หรือการควบรวมที่ดิน คือการรวมแปลงนาแต่ละแปลงเข้าด้วยกันให้เป็นที่ผืนใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำนา และสะดวกต่อการจัดการอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าน้ำมันของเครื่องจักรทางการเกษตร อีกทั้งทำให้คุณภาพข้าวที่ได้ดีขึ้น ในส่วนของการควบคุมวัชพืช การควบคุมน้ำในแปลงนา ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ก็ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของข้าว

นอกจากนี้ นายสุวิทย์กล่าวว่า บริษัทยังมีกิจกรรมสนับสนุน เพื่อส่งเสริมความรู้ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ การศึกษาดูงานเกี่ยวกับการผลิตข้าวเปลือกให้มีคุณภาพดี เพื่อให้ได้ศึกษาและนำความรู้มาประยุกต์ใช้

อีกทั้งยังมีกระบวนการเพิ่มเติมคือ ให้เกษตรกรจดบันทึกกระบวนการการทำนาว่าตลอดการทำนาจนได้ข้าวสารมีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ไปเท่าใด เพื่อนำมาคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ ซึ่งค่าเหล่านี้จะถูกแสดงไว้บนผลิตภัณฑ์เมื่อบรรจุถุงออกมาวางจำหน่ายแล้ว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับค่าดังกล่าวมาก เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสภาพแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าฟุตพริ้นท์ดังกล่าวแสดงบนบรรจุภัณฑ์ได้รับการยอมรับ และมีมูลค่าสูงขึ้น

สำหรับการดำเนินงานขั้นสุดท้าย ในส่วนของตลาดบริษัทฯ จะรับซื้อผลผลิตข้าวของเกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งปีการผลิต 2557/58 จะรับซื้อสูงกว่าราคาตลาดตันละ 400 บาท โดยจะต้องเป็นข้าวที่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด และมีการรับซื้อข้าวเปียก ทำให้เกษตรกรไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาตากข้าว และทางบริษัทจะเข้าไปรับซื้อถึงที่ ทำให้เกษตรประหยัดต้นทุนในการขนส่ง

นายสุวิทย์กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวต้องอาศัยชาวนาในการดูแลแปลงนามากขึ้น และเมื่อได้ข้าวที่มีคุณภาพดีออกมาบริษัทจึงยินดีจ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด โดยในอนาคตราคารับซื้ออาจปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากถือเป็นค่าเหนื่อยที่เกษตรกรดูแลเอาใจใส่แปลงนาของตนอย่างเต็มที่ และบริษัทได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีสำหรับใช้ในการผลิตข้าวตราฉัตร