ThaiPublica > เกาะกระแส > 14 ปีห้วยคลิตี้ปนเปื้อน แผนฟื้นฟูยังไม่มีข้อสรุป จะย้ายตะกั่วหรือย้ายชาวบ้าน

14 ปีห้วยคลิตี้ปนเปื้อน แผนฟื้นฟูยังไม่มีข้อสรุป จะย้ายตะกั่วหรือย้ายชาวบ้าน

3 พฤศจิกายน 2014


ลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่าน้ำนำไปใช้ดื่ม แต่สัตว์น้ำยังห้ามนำไปรับประทาน
ลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่าน้ำนำไปใช้ดื่ม แต่สัตว์น้ำยังห้ามนำไปรับประทาน

หลังจากต่อสู้คดีมา 14 ปี ในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษา ให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจ และวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน ทราบอย่างเปิดเผย โดยปิดประกาศในที่สาธารณะของชุมชน และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน รายละ 177,199.55 บาท ภายใน 90 วันนับแต่คดีสิ้นสุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จึงดำเนินการตามคำสั่งศาลโดยในปีแรกได้จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านทั้ง 22 ราย และลงพื้นที่สำรวจการปนเปื้อนของตะกั่วที่คลิตี้ ทั้งในลำห้วย ดิน และพืชผัก ทุก 3 เดือน และแจ้งให้ชาวบ้านทราบ และว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เคลื่อนย้ายบ่อฝังกลบตะกอนดินเดิมที่เคยตักขึ้นมาจากท้องลำห้วยเมื่อปี 2542-2543 นำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ 4 หลุม จากที่มีอยู่ 8 หลุม ด้วยงบประมาณ 7 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556

นอกจากนี้ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาศึกษา สำรวจ และเก็บตัวอย่างในลำห้วยคลิตี้ แล้วนำตะกอนไปวิเคราะห์หาตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ หลังจากนั้นสรุปเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อหาวิธีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่เหมาะสมที่สุด โดยลงนามสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 ระยะเวลาว่าจ้าง 120 วัน รวมถึงว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด หมั่นตั้งธรรม ด้วยงบประมาณ 5,495,500 บาท เพื่อสร้างฝายดักตะกอนใหม่ที่จุด KC4 และ KC4/1 เนื่องจากฝายหินเรียงเดิมทรุดตัวลงและพังทลายไปมากแล้ว โดยในสัญญาว่าจ้างระบุเวลาก่อสร้าง 10 พฤษภาคม 2555 – 5 มกราคม 2556 แต่การสร้างฝายทั้ง 2 แห่งล่าช้าจากกำหนดการและมาเสร็จสิ้นเมื่อต้นปี 2557

ในปี 2557 มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำผลการศึกษาที่ได้มาประชุมรับฟังความเห็นจากนักวิชาการ นักประชาสังคม และชาวบ้านคลิตี้ เพื่อเสนอแนวทางการฟื้นฟูการปนเปื้อนสารตะกั่วที่คลิตี้ ซึ่งประชุมรับฟังความคิดเห็นกับชาวบ้านคลิตี้ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2557

ล่าสุดจากการประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ วันที่ 28 ตุลาคม 2557 ในโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ณ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ณ หมู่บ้านคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

ทีมมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ. ดร.เนตรนภิส ตันเต็มทรัพย์ และ รศ. ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ จากศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อม ศึกษาปัญหาและเสนอแนวทางการฟื้นฟูดังกล่าว ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นรายงานการศึกษาในพื้นที่คลิตี้ว่า พบการปนเปื้อนสารตะกั่ว 3 ส่วนคือ พื้นที่โรงแต่งแร่ ตะกอนปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ และตะกอนท้องน้ำลำคลองงู

สำหรับบ่อตะกอนหางแร่พบ 2 จุด คือ พื้นที่ได้รับอนุญาตที่โรงแต่งแร่ และพื้นที่ห่างจากโรงแต่งแร่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 500 เมตร ส่วนหลุมหลุมฝังกลบตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วยังเหลืออีก 4 หลุม และกองกากแร่ที่กระจายบนผิวดินรอบพื้นที่พบทั้งหมด 3 กอง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่กองแร่เดิม กากแร่ที่นำไปถมที่ใกล้โรงแต่ง และกากแร่ที่ขุดลอกกองไว้ริมลำห้วย

ด้านลำห้วยคลิตี้ ได้มีการศึกษาและแบ่งลำห้วยตลอด 28 กิโลเมตร เป็น 14 ส่วน โดยพิจารณาจากลักษณะพื้นที่ อัตราการไหลของน้ำ และปริมาณตะกอนตะกั่ว พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงสูง 4 จุด คือ บริเวณโรงแต่งแร่ซึ่งมีชุมชน บริเวณน้ำตกธิดาดอยช่วงกิโลเมตรที่ 13.8-16.8 ซึ่งเป็นชุมชนและโรงเรียนคลิตี้ล่างไปถึงบริเวณน้ำตกท้ายหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จุดที่มีความเสี่ยงปานกลาง 6 ส่วน ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 3.4-13.8 ซึ่งมีประชาชนบางเบาและเป็นป่า และมีความเสี่ยงต่ำ 4 จุด คือเหนือโรงแต่งแร่ และตั้งแต่ลำห้วยกิโลเมตรที่ 16.8 เป็นต้นไป (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่มาภาพ: มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากปัญหาที่พบ จึงเสนอฟื้นฟูบ่อเก็บตะกอนหางแร่ หลุมฝังกลบตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วและกองกากแร่ที่กระจายบนผิวดินรอบพื้นที่ 3 ทางเลือก คือ 1. การเฝ้าระวังการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ 2. การปิดหรือการสร้างกำแพงกั้น หรือการป้องกันการซึมด้านล่าง 3. การขุด/ตักดินไปฟื้นฟู

ด้านการฟื้นฟูตะกอนลำห้วยคลิตี้ 1. การเฝ้าระวังการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ 2. ปิดคลุม 3. การขุดลอก โดยเสนอให้ขุดลอก 7 ส่วนในพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่หนาแน่นซึ่งประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง และบริเวณฝายทั้ง 2 แห่ง และเสนอฟื้นฟูตามธรรมชาติ 6 ส่วนในพื้นที่ป่าและไม่มีชุมชนซึ่งประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงในระดับต่ำถึงปานกลาง สำหรับลำห้วยส่วนแรกอยู่เหนือโรงแต่งแร่จึงไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงไม่ได้ศึกษาการปนเปื้อนสารตะกั่วและไม่ได้เสนอทางเลือกการฟื้นฟูไว้”

สำหรับเกณฑ์พิจารณาแนวทางการฟื้นฟูที่เหมาะสมมี 11 ข้อ คือ
1. ธรณีวิทยา ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศดิน หิน ทราย
2. อุทกวิทยา ได้แก่ น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน น้ำฝน
3. การฟุ้งกระจายของมลพิษขณะทำการฟื้นฟู
4. ปริมาณสารปนเปื้อน
5. ระดับความเข้มข้น
6. ความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน เช่น การเข้าถึงพื้นที่ สภาพพื้นที่ที่จะทำการฟื้นฟู
7. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
8. ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูให้ได้ตามค่าเป้าหมาย
9. ผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนในพื้นที่
10. การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร
11. การยอมรับของภาคส่วนต่างๆ

นักวิชาการเสนอให้ชาวคลิตี้ย้ายออก และปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟู

จากแนวทางการฟื้นฟูดังกล่าว นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าการย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่เป็นวิธีการที่ดีที่สุด เนื่องจากบริเวณคลิตี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่อยู่แล้ว โดยเฉพาะตะกั่ว ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต้องไม่อาศัยอยู่บนพื้นที่ที่มีสารพิษ

ส่วนเรื่องกองตะกอนบนพื้นดินนั้น นักวิชาการกลุ่มหนึ่งเห็นว่า การย้ายไปไว้ที่อื่นเท่ากับการแพร่พิษไปยังที่อื่นด้วย ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด การย้ายคนเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่เมื่อมีคำสั่งศาลปกครองแล้วก็อาจจะทำไม่ได้ ดังนั้น เมื่อฝังกลบตะกอนแล้วพื้นที่ดังกล่าวต้องปลูกไม้ยืนต้น อย่าปล่อยให้หญ้าขึ้นรกเพราะอาจมีประชาชนพาสัตว์ไปกินหญ้าซึ่งจะทำให้ตะกั่วปนเปื้อนสู่สัตว์และอาจมาปนเปื้อนสู่คนได้อีก รวมถึงอย่าให้มีสารอินทรีย์ผสมอยู่ในบ่อฝังกลบเพราะจะไปช่วยเร่งการแพร่พิษของตะกั่วออกมาสู่ดิน

สำหรับกรณีพืช ผัก ในพื้นที่คลิตี้ที่ปนเปื้อนสารพิษนั้น ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องศึกษาให้ชัดเจนกว่านี้และบอกให้ชาวบ้านรู้ถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะการศึกษาตรวจแบบสุ่มเท่านั้น แต่ชาวบ้านบริโภคทั้งหมด อีกทั้งตามธรรมชาติของพืชจะไม่ดูดซึมสารพิษหากมีธาตุอาหารอื่นเพียงพอ แต่เมื่อขาดแคลนอาหารก็จะดูดซึมสารพิษเข้าไปทดแทน ดังนั้นจึงทำให้เราตรวจเจอการปนเปื้อนในพืชบางชนิด บางพื้นที่

ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ระดับการปนเปื้อนสารตะกั่วในพื้นที่คลิตี้
ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ด้านลำห้วยคลิตี้ การสร้างฝายอาจช่วยในการฟื้นฟูได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือคือให้ธรรมชาติฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาอื่นๆ โดยดูจากธรณีวิทยา ไม่ใช่ราคาการดำเนินการ ที่สำคัญคือการป้องกันเด็กและควบคุมฝุ่นดินบนบก เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีสารตะกั่วในเลือดสูง

นายสมใจ เย็นสบาย ตัวแทนจากกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า จากลักษณะทางธรณี บริเวณคลิตี้มีศักยภาพแร่ตะกั่วตามธรรมชาติ ซึ่งชุมชนบางส่วนตั้งอยู่บนพื้นที่ที่อันตราย ดังนั้นจึงเสนอให้ย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่เดิมไปอีก 2-3 กิโลเมตร มาอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ชั้นดินปลอดภัยจากสารตะกั่ว เหมือนกับว่าตอนนี้ชาวบ้านอาศัยอยู่บนกองขยะ ดังนั้นต้องย้ายเขาลงมาจากกองขยะนั้น

ด้านกองตะกอนดิน เห็นด้วยที่จะขนย้ายไปทิ้งคืนที่เหมืองบ่องามซึ่งเป็นพื้นที่ต้นทางของตะกั่ว จะได้ไม่ก่อผลกระทบในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป อีกทั้งยังไม่เห็นด้วยที่จะขุดลอกลำห้วยเพราะจะทำให้สูญเสียต้นไม้และทำให้น้ำไหลเร็วขึ้น เป็นเหตุให้ตลิ่งพังและตะกอนตะกั่วจะไหลมาอีกไม่จบสิ้น ฉะนั้นจึงเสนอให้ธรรมชาติฟื้นฟู เพราะต้นไม้ริมห้วยจะกรองตะกอนตะกั่วไว้และทับทมไว้ใต้ดินเอง

ในขณะที่ตัวแทนจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มองว่า เกณฑ์ในการพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูนี้ยังไม่มีความชัดเจน และไม่มีผลการประเมินทางเลือก จึงไม่เห็นด้วยกับบางหลักเกณฑ์ เพราะอาจไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง และเสนอให้ศึกษาด้านสังคมและลักษณะทางกายภาพของพื้นที่แล้วมาชั่งน้ำหนักกันโดยแสดงคะแนนให้ชัดเจน ทั้งนี้ยังมองว่าการนำเสนอในครั้งที่ 2 นี้ไม่ได้นำความคิดเห็นจากการประชุมครั้งที่ 1 มาพิจารณาร่วมด้วย

ด้านนายธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า แนวทางการฟื้นฟูดังกล่าวยังมีข้อกังขาเรื่องการประเมินความเสี่ยง และไม่มีเกณฑ์กำหนดการฟื้นฟูเป็นตัวเลข ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินการฟื้นฟูว่าสำเร็จหรือไม่ อีกทั้งการประเมินความเสี่ยงที่ระบุเพียงสูง ปานกลาง ต่ำ นั้นไม่มีการอธิบายหลักเกณฑ์การกำหนด ส่วนในเรื่องของราคาการฟื้นฟูก่อนจะสรุปว่าคุ้มค่าหรือไม่ต้องคำนึงให้รอบด้านทั้งทางสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม นอกจากเรื่องเศรษฐกิจด้วย

ภาคประชาสังคมยืนยันต้องฟื้นฟู

การย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่เป็นประเด็นที่พูดถึงมากในการประชุมจนดูเหมือนว่าเป็นทางเลือกที่นักวิชาการและมหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องการเสนอให้ปฏิบัติในพื้นที่คลิตี้ แต่ภาคประชาสังคมก็ยังคงยืนยันว่าพื้นที่คลิตี้ต้องฟื้นฟูตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อีกทั้งชาวบ้านคลิตี้ยืนยันไม่ย้ายออกจากพื้นที่มาตั้งแต่ต้น

หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิชาการบางส่วน และนักประชาสังคม ถกเถียงกันว่า การย้ายชาวบ้านจะเป็นไปได้หรือไม่ จะย้ายไปตรงไหน รวมถึงมีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดในการอพยพอย่างไร นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้แย้งขึ้นว่า ยังคงยืนยันว่าที่คลิตี้ต้องมีการฟื้นฟูตามคำสั่งศาล และขอให้ถกเถียงกันเรื่องแนวทางการฟื้นฟูไม่ใช่การย้าย ทั้งนี้ข้อเสนอให้ชาวบ้านย้ายที่อยู่และปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูมีมานานแล้ว แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยอีกทั้งไม่เป็นการแก้ปัญหาให้ผู้ได้รับผลกระทบ

ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ตำแหน่งบ่อตะกอนหางแร่ และกองแร่ในพื้นที่คลิตี้
ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นายสุรชัย ตรงงาม กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากแนวทางการฟื้นฟูที่นำเสนอ ยังไม่แน่ชัดว่ามีคำสั่งศาลปกครองอยู่ในหลักเกณฑ์พิจารณาหรือไม่ เพราะในทางกฎหมายมีหลักสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ 1. ต้องบรรลุวัตถุประสงค์ นั่นคือ แก้ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนในพื้นที่ได้ 2. การใช้อำนาจได้สัดส่วน คือ รัฐต้องไม่ใช้อำนาจมากเกินไป และประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการ และ 3. ไม่กระทบสิทธิของประชาชนเกินสมควร ซึ่งกรณีปัญหาที่คลิตี้นี้ประชาชนได้รับผลกระทบมานานกว่า 14 ปีแล้ว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า วันนี้ยังไม่เห็นค่าเป้าหมายในการฟื้นฟู ทั้งๆ ที่หัวข้อการนำเสนอระบุว่ามีค่าเป้าหมายการฟื้นฟูด้วย รวมถึงขอให้ คพ. รวบรวมข้อมูลแนวทางการฟื้นฟูทั้งหมดแล้วส่งให้ชาวบ้านคลิตี้ด้วย เพื่อให้ชาวบ้านนำข้อมูลไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการฟื้นฟูชุมชนของตนเองด้วย

“การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ผ่านขั้นตอนมากเกินไป คือ หลังจากได้แผนฟื้นฟูแล้วก็ต้องเข้าคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุผลทางด้านงบประมาณ แต่ในเมื่อมีคำสั่งศาลแล้วและยังต้องผ่านระบบราชการหลายขั้นตอนแบบนี้ก็เสมือนการกลับไปสู่จุดเริ่มต้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วอีก ที่สำคัญคือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอาจไม่เห็นด้วยกับแผนการฟื้นฟูที่ คพ. เสนอได้ ซึ่งเมื่อปี 2547 ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ เคยเสนอให้ปล่อยลำห้วยคลิตี้ฟื้นฟูเองตามธรรมชาติ” นายสุรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นชี้แจงว่า ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการฟื้นฟูเป็นตัวเลขแต่เสนอการฟื้นฟูแบบเชิงพื้นที่แทน ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษชี้แจงเรื่องการจัดส่งข้อมูลให้ชาวบ้านคลิตี้ว่า จากรายงานแนวทางการฟื้นฟูที่ได้รับมานั้น ยังมีบางประเด็นที่ คพ. ไม่เห็นด้วยและให้ทางมหาวิทยาลัยปรับแก้ไขหลายจุด ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข จึงยังไม่ได้จัดส่งข้อมูลให้

ด้านนางสาวสมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยสมทบสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวทางการฟื้นฟูควรเสนอเป็นชุดทางเลือกเปรียบเทียบให้ชาวบ้านเห็นมากกว่าหยิบทางเลือกบางประเด็นไปเสนอให้ชาวบ้านตัดสินใจ เพราะนักวิชาการตัดสินใจแทนชุมชนไม่ได้ ชุมชนจะต้องรู้ทางเลือกทั้งหมดแล้วตัดสินใจเอง เพราะนี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาและเขาต้องอาศัยอยู่ต่อไปในพื้นที่ ฉะนั้น ชาวบ้านจะรับได้หากเกิดอะไรขึ้นกับการตัดสินใจของพวกเขาเอง

หากยืนยันว่าชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอยู่แล้วเนื่องจากเป็นพื้นที่ศักยภาพแร่ ดังนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องศึกษาและเปรียบให้ได้ว่าตะกั่วตามธรรมชาติและจากโรงแต่งแร่ มีลักษณะทางกายภาพและความเป็นพิษต่างกันหรือไม่อย่างไร ส่วนแผนการขุดลอกลำห้วยที่ระบุว่าขุดลอกเพียงบางจุดนั้น ต้องศึกษาความเสี่ยงและเปรียบเทียบให้ชัดเจนว่า ระหว่างขุดลอกทั้งหมดกับขุดลอกบางจุด มีความคุ้มค่าในระยะยาวเป็นอย่างไร

“วิถีเดิมของชาวคลิตี้นั้นต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ซึ่งข้อเสนอที่บอกว่าให้ชาวบ้านหลีกเลี่ยงบริโภคนั้นสามารถทำได้ในทางวิชาการ แต่สุดท้ายแล้วชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือกมากนักและต้องมาบริโภคพืชผัก สัตว์น้ำ และใช้น้ำจากลำห้วยตามเดิม ซึ่งเมื่อชาวบ้านป่วยขึ้นมา ภาระก็ตกไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นวงจรไปเรื่อยๆ ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหา” นางสาวสมพรกล่าวและว่า หลักเกณฑ์ทั้ง 11 ข้อที่เสนอมานั้น เกิดจากการประชุมร่วมกันของนักวิชาการ ซึ่งหากเป็นไปได้ควรให้ชุมชนและประชาชนเข้าร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ด้วย

ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่มาภาพ: มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ม.ขอนแก่นอ้ำอึ้งเสนอย้ายชาวบ้าน

การลงพื้นที่คลิตี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวทางการฟื้นฟูการปนเปื้อนสารตะกั่วในพื้นที่ในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ณ หมู่บ้านคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี สังเกตได้ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีเวทีแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางเลือกที่แตกต่างกันระหว่างพื้นที่คลิตี้บนกับคลิตี้ล่าง

สำหรับพื้นที่คลิตี้บน เป็นการพูดคุยกันระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและผู้ใหญ่บ้านร่วมกันบนโต๊ะ เนื่องจากไม่มีชาวบ้านคนอื่นๆ มาร่วมประชุมโดยอ้างว่าติดงานกัน ดังนั้นจึงมีแต่ความคิดเห็นของผู้ใหญ่บ้านเพียงคนเดียว โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นพูดชัดเจนว่ามีข้อเสนอให้ย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่เสี่ยง

ในขณะที่หมู่บ้านคลิตี้ล่างมีการประชุมอย่างเป็นระบบ ชาวบ้านหลายครัวเรือนมาประชุมร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับของชาวบ้านหลายคน อีกทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังไม่กล่าวถึงข้อเสนอ “การย้ายพื้นที่” ให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างทราบด้วย คาดว่าอาจเพราะทราบดีว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วย ส่วนเรื่องการขุดลอกลำห้วย ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเสนอว่า ไม่สามารถขุดลอกได้ตลอดลำห้วย เพราะจะทำให้น้ำไหลเร็วและเกิดตะกอนพัดพาตะกั่วมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูไม่เสร็จสิ้น โดยให้นักวิชาการมาพูดเสริมถึงข้อจำกัดดังกล่าว

ด้านชาวบ้านคลิตี้ล่างรับฟังและเสนอให้สร้างฝายเพิ่มอีกหนึ่งจุด ก่อนที่น้ำจะไหลเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อเพิ่มจุดดักตะกอน ส่วนการขุดลอกลำห้วย หากต้องทำลายต้นไม้ใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน เพราะชาวกะเหรี่ยงก็รักต้นไม้ แต่ยังยืนยันให้นำตะกั่วออกจากลำห้วย แต่จะเป็นแนวทางไหนนั้นขอให้เปรียบเทียบทางเลือกมาให้ชัดเจนก่อน

ทั้งนี้ การนำเสนอที่แตกต่างของมหาวิทยาลัยขอนแก่นระหว่างหมู่บ้านคลิตี้บนและล่างทำให้ได้ข้อสรุปการประชุมที่แตกต่างกัน ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะเกิดปัญหาว่าชาวบ้านสองกลุ่มมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน เช่น กรณีย้ายที่อยู่ชาวบ้านคลิตี้บนเห็นด้วย แต่ชาวบ้านคลิตี้ล่างไม่เห็นด้วย แล้ว คพ. จะเลือกแนวทางการฟื้นฟูทางไหน

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องประชุมรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้งในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม เพื่อสรุปแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้