ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธุรกิจออนไลน์ ผู้บริโภคเตรียมรับมือโฆษณาบน Youtube ไม่อยากดูอาจต้องเสียเงินตัดรำคาญ

ธุรกิจออนไลน์ ผู้บริโภคเตรียมรับมือโฆษณาบน Youtube ไม่อยากดูอาจต้องเสียเงินตัดรำคาญ

25 พฤศจิกายน 2014


โลกยุคใหม่ทำการค้าออนไลน์เป็นเรื่องปกติ การโฆษณาบนโซเชีบลเน็ตเวิร์กจึงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งโฆษณาเหล่านี้มักผุดแทรกขึ้นมาแม้ขณะรับชมเนื้อหา จนกลายเป็นที่ขัดอกขัดใจของผู้บริโภค เมื่อกลางปีที่ผ่านมา PwC (ประเทศไทย) เผยผลสำรวจกระแสช็อปปิ้งออนไลน์ทั่วโลก พบว่าผู้บริโภค 59% ติดตามแบรนด์สินค้าผ่านสังคมออนไลน์ 43% ซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน และ 41% ซื้อสินค้าผ่านแท็บเล็ต โดยจีนเป็นชาติที่นิยมช็อปออนไลน์มากที่สุด พร้อมกันนี้ยังประเมินว่าตลาดช็อปปิ้งออนไลน์ของไทยโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2014 นี้มูลค่าตลาดทะลุ 100,000 ล้านบาท

maxresdefault

PwC ได้สำรวจผู้บริโภคสินค้าออนไลน์มากกว่า 15,000 คน จาก 15 ประเทศ พบว่า นักช็อปทั่วโลกมีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือและแท็บเล็ตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้บริโภค 41% ซื้อสินค้าผ่านแท็บเล็ต เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่ 28% และ 43% ซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่ 30% โดยผู้บริโภคสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตเกินครึ่งระบุว่า สาเหตุที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าการซื้อสินค้าภายในร้านค้า

เหตุผลข้างต้นสอดคล้องกับวิธีการที่แบรนด์สินค้าใช้ดึงดูดลูกค้าให้ติดตามสินค้าผ่านสังคมออนไลน์ คือ การส่งโปรโมชั่นสินค้าผ่านทางอีเมลและข้อความให้แก่ผู้บริโภค โดยผลสำรวจระบุว่า 21% ของผู้ที่เข้าร่วมเป็นแฟนเพจแบรนด์สินค้าผ่านสังคมออนไลน์ เพราะได้รับโปรโมชั่นผ่านทางอีเมลหรือข้อความ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่ 9%

จากตัวเลขผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น ผู้ให้บริการหลายเจ้ามีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการค้าที่รวดเร็วอย่างต่อเนื่องให้ทันท่วงที เฟซบุ๊กเองประกาศจะเริ่มการคัดกรองของเนื้อหา หรือ “Post” ให้มากขึ้น โดยคัดโพสต์ที่ไม่มีอะไรใหม่ เน้นขาย และซ้ำซากออกไป ซึ่งได้เขียนไปแล้ว ใน Facebook กับการค้าออนไลน์ โพสต์ซ้ำซาก ถูกคัดออก ผลักผู้ใช้ซื้อพื้นที่โฆษณา

นอกจากเฟซบุ๊กแล้ว เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง “Youtube” ก็แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนสมัยนี้เช่นกัน โดย “YouTube Thailand” เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ในแง่ของผู้ชมนั้น เมื่อมีการเปิดตัวในประเทศไทย นับว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก

แต่สิ่งสำคัญของ YouTube Thailand คือ การโฆษณา ซึ่งก่อนหน้านี้คนไทยสามารถอัปโหลดคลิปวิดีโอขึ้นไปเผยแพร่บน YouTube ได้ แต่ไม่สามารถหารายได้จากการโฆษณาผ่านระบบของกูเกิลได้ เนื่องจาก YouTube ยังไม่ให้บริการอย่างเป็นทางการในเชิงกฎหมาย การมาถึงของ YouTube Thailand จึงมีความสำคัญมาก เพราะการโฆษณาออนไลน์จะกลายเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงให้ผู้ผลิตคลิปรายการหน้าใหม่ๆ สามารถอยู่ได้ในเชิงธุรกิจต่อไป

บริษัทสื่อรายใหญ่ๆ เองก็น่าจะมีแรงจูงใจในการอัปโหลดคลิปรายการมาให้ดูย้อนหลังบน YouTube มากขึ้นด้วย ก่อนหน้านี้ผู้ชมสามารถดูรายการทีวีดังย้อนหลังได้บน YouTube แต่ผู้อัปโหลดส่วนใหญ่เป็นแฟนๆ หรือคนนอกบริษัทที่อัปให้ดูกันแบบไม่หวังผลกำไร ปัจจุบันบริษัททีวีจำนวนมากหันมาเปิด YouTube Channel ของตัวเอง และโปรโมตรายการให้ดูย้อนหลังทาง YouTube กันมากขึ้น เพราะต้นทุนค่าผลิตรายการเท่าเดิม แต่ยิ่งคนดูมากขึ้น รายได้จากค่าโฆษณาก็เพิ่มมากขึ้นตาม

เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ “พรทิพย์ กองชุน” หัวหน้าฝ่ายการตลาดกูเกิล ประจำประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการตลาดของ YouTube ประเทศไทย ระบุ YouTube Thailand มีการนำเสนอวิดิโอภาษาไทย และนอกเหนือจากการนำเสนอวิดีโอภาษาไทยแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการตั้ง YouTube ฉบับภาษาไทยคือการเปิดโอกาสให้กับผู้สร้างวิดีโอในประเทศไทยรับส่วนแบ่งรายได้จากเว็บไซต์ YouTube ทั้งที่เป็นผู้ใช้งานทั่วไปและกลุ่มบริษัทต่างๆ

สำหรับ YouTube ประเทศไทยมีโปรแกรมพาร์ทเนอร์เหมือนในต่างประเทศ ซึ่ง YouTube เริ่มนำระบบนี้มาใช้เมื่อปี 2550 โดย YouTube มอบโอกาสให้เจ้าของวิดีโอได้ขยายฐานผู้ชมและสร้างรายได้จากวิดีโอที่โพสต์ลงเว็บไซต์ด้วย ถือเป็นการแบ่งปันรายได้จากการโฆษณาให้ผู้สร้างวิดีโอ ที่ผ่านมามีช่องรายการมากกว่า 1 ล้านช่อง ที่สร้างรายได้ผ่านโปรแกรมพาร์ทเนอร์ของ YouTube โดยการร่วมเป็นพาร์ทเนอร์

เมื่อเป็นพาร์ทเนอร์แล้วระบบจะคำนวณยอดผู้ชมคลิปในช่องกับยอดส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาของ YouTube ว่าเป็นส่วนแบ่งเท่าใดบ้าง รายละเอียดตัวเลขของส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ใช้จะได้รับนั้นตัวเลขจะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากการโฆษณาใน YouTube ใช้ระบบประมูลซื้อโฆษณา เมื่อมีการประมูล ตัวเลขของค่าโฆษณาจะไม่แน่นอนจึงไม่สามารถระบุหรือการันตีชัดเจนว่าจะได้ส่วนแบ่งจำนวนเท่าใด แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของช่องสามารถคำนวณได้จากประสบการณ์ที่เห็นโฆษณาที่มาลงและยอดวิวของวิดีโอในช่องตัวเอง

ส่วนเรื่องเนื้อหากับการโฆษณาใน YouTube เนื้อหาแต่ละประเภทก็มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เนื้อหาดนตรีจะแตกต่างจากเนื้อหาบันเทิงโดยทั่วไป กล่าวคือ การทำเพลงจะมีเรื่องลิขสิทธิ์มาเกี่ยวข้องโดยเรื่องลิขสิทธิ์ก็มีความซับซ้อนแตกต่างกันออกไป จำนวนส่วนแบ่งรายได้ของวิดีโอที่ผู้ใช้เล่นเพลงแต่งเองกับเล่นเพลงของคนอื่นก็จะมีอัตราการแบ่งรายได้ไม่เท่ากัน เนื่องจากการนำเพลงของคนอื่นมาทำใหม่จะต้องมีการแบ่งส่วนรายได้อีก

ขั้นตอนในการรับรายได้ ระบบจะให้ข้อมูลยอดวิวและอัตราตัวเลขส่วนแบ่งรายได้อยู่ทุกวัน เมื่อแตะระดับยอดที่ตั้งไว้ (แต่ละประเทศมีกำหนดระดับแตกต่างกัน) ผู้ใช้ก็จะได้รับเงิน ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะโอนเงินเข้าบัญชีหรือจะรับเป็นเช็ค

กล่าวโดยสรุปคือ ถ้าเจ้าของคลิปเป็นเจ้าของเนื้อหาเองทั้งหมด ส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่าง “YouTube” กับ “เจ้าของคลิป” แต่เมื่อผู้ใช้นำเนื้อหาที่ผู้อื่นอนุญาตให้ใช้ต่อได้ไปใช้ ส่วนแบ่งจะแยกออกเป็น 3 ฝ่าย ระหว่าง “เจ้าของเนื้อหาตัวจริง” – “YouTube” – “ผู้นำเนื้อหามาใช้งานต่อ” สำหรับผู้ใช้งาน YouTube มาก่อนแล้วคงเคยเจอสถานการณ์ที่ถูกบล็อกการอัปโหลดเนื่องจากเทคโนโลยีตรวจจับของ YouTube พบการใช้งานเนื้อหาของคนอื่นซึ่งไม่อนุญาตให้มีการนำไปใช้ต่อ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีนี้จะเป็นการปกป้องเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย

ในขณะเดียวกัน เว็บไซต์ Google analytics Thailand พบว่า คนไทยดู YouTube ใช้เวลารวมกันโดยประมาณ 1 ล้านชั่วโมงต่อวัน จำนวนวิวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณ 1,000 ล้านวิวต่อเดือน หนึ่งในสามคนดูผ่านแอปพลิเคชัน YouTube บนมือถือหรือแท็บเล็ต และคนไทยใช้เวลาดู YouTube เฉลี่ย 50% เมื่อเทียบกับการดู TV หรือประมาณ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

และเช่นเดียวกันกับเฟซบุ๊ก เมื่อมีผู้ใช้มาก การขายสินค้าและการโฆษณาก็จะตามมา ผู้ใช้จำนวนมากไม่พอใจกับการโฆษณาบน YouTube ที่แทรกขึ้นมาก่อนหรือระหว่างการดูคลิป ซึ่งนับว่าเป็นการโฆษณาที่ออกจะน่ารำคาญมากกว่าเฟซบุ๊ก เนื่องจากกว่าจะดูคลิปหนึ่งๆ ได้ ต้องเสียเวลาดูโฆษณาไปหลายด่าน โดยการโฆษณาของ YouTube จะพบได้หลายส่วนด้วยกัน

Screen Shot 2557-11-24 at 10.01.20 PM
รูปแบบการโฆษณาบน YouTube https://support.google.com/youtube/answer/2467968?rd=1

ส่วนแรก หน้าโฮมเพจ (Homepage) เป็นการใช้แบนเนอร์ขนาดใหญ่ ขนาด 970×250 pixel ซึ่งจะเป็นแบบ Standard Size หรือจะเป็น Expandable Size ก็ได้

Screen Shot 2557-11-24 at 11.25.41 PM

ถัดมาส่วนที่ 2 TrueView in-stream ad ส่วนนี้น่าจะเป็นที่ต้องการของหลายๆ แบรนด์​ (แต่ไม่เป็นมิตรกับคนดูเท่าใดนัก) เป็นการฉายคลิปโฆษณาก่อน คั่นกลาง และหลัง ตัวคลิปนั่นเอง โดยคนดูสามารถกดข้ามได้หลังจากดูคลิปโฆษณาดังกล่าวไปแล้ว 5 วินาที ข้อดีอย่างหนึ่งของ TrueView in-stream ad นี้ จะคิดเงินผู้ลงโฆษณาต่อเมื่อคนดูโฆษณาดังกล่าวเกิน 30 วินาทีไปแล้ว หรือจบวิดีโอแล้วเท่านั้น (ในกรณีที่ต่ำกว่า 30 วินาที)

Screen Shot 2557-11-24 at 10.35.28 PM

ส่วนที่ 3 ส่วนนี้อาจจะคล้ายกับ TrueView in-stream ad แต่มีข้อจำกัดเข้ม คือ คนดูต้องดูโฆษณาให้จบก่อนแล้วถึงจะดูเนื้อหาหลักได้ โดยข้อกำหนดของคลิปที่จะใช้ในโฆษณาประเภทนี้จะให้มีความยาว 15-20 วินาที และจะมีการขายโฆษณาแบบ CPM (คิดต่อการเห็น 1,000 ครั้ง) ซึ่งทาง YouTube ระบุว่าค่า CPM ของโฆษณาตัวนี้จะสูงกว่า CPM ปรกติของ Google Ads ประเภทอื่นๆ

Screen Shot 2557-11-24 at 10.34.18 PM

ส่วนที่ 4 แบบโฆษณาข้างๆ คลิปหลัก ซึ่งสามารถเลือกแสดงโฆษณากับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เห็นตัวโฆษณานี้ได้ เช่น จากคีย์เวิร์ดค้นหา นอกจากนี้แล้ว โฆษณาดังกล่าวจะคิดเงินกับคนลงโฆษณาต่อเมื่อมีการคลิกเข้าไปดูวิดีโอนั้นๆ แล้ว

Screen Shot 2557-11-24 at 10.34.29 PM

ส่วนที่ 5 ทำงานเหมือนการโฆษณาบนผลการค้นหาของ Google นั่นคือ การทำให้คลิปโฆษณาอยู่บน Top Rank ของการค้นหาของผู้ใช้งาน YouTube ซึ่งโฆษณาประเภทนี้ก็จะคล้ายกับ TrueView อื่นๆ ที่จะเก็บเงินผู้ลงโฆษณาต่อเมื่อมีการคลิกดูคลิปแล้ว

จากพื้นที่โฆษณาที่ค่อนข้างมากของ YouTube ทำให้เกิดปัญหาต่อผู้ชม ทำให้เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวออกมาว่า YouTube เตรียมออกบริการใหม่สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเห็นโฆษณาก่อนหรือขณะชมคลิป ด้วยการออกแพ็กเกจบอกรับสมาชิกเพื่อลบโฆษณา

imgs0264-20141027_20-55-15_25
Susan Wojcicki ที่มาภาพ: http://recode.net/2014/10/27/susan-wojcicki-code-mobile-2014/

ซูซาน วอชชิกกี (Susan Diane Wojcicki) ซีอีโอของ YouTube กล่าวในงานประชุมเทคโนโลยีอุปกรณ์เคลื่อนที่ Code/Mobile ของเว็บไซต์ recode.netในแคลิฟอร์เนีย ว่า YouTube ได้กลายเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้มีการโฆษณาแล้ว ซึ่งรายได้จากโฆษณาทำให้ทีมงานสามารถให้บริการเว็บไซต์คนจำนวนพันล้านคนที่ใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งเดียวกันนี้ทำให้กวนใจใครหลายคนเช่นกัน ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องเลือกระหว่างยอมดูโฆษณากับการจ่ายเงินบอกรับสมาชิกเพื่อเอาสิ่งเหล่านี้ออกไป และวิธีนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก

เธอบอกอีกว่า แผนการบอกรับสมาชิกดังกล่าว จะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเว็บไซต์แห่งนี้อย่างมหาศาล เพราะเชื่อว่าคนจำนวนมากพร้อมที่จะจ่ายเพื่ออรรถรสในการชม แต่ยังไม่เปิดเผยคาดการณ์รายได้และรายละเอียดกำหนดวันให้บริการออกมาในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ YouTube เคยใช้วิธีคล้ายกันนี้เพื่อหาเงินจากค่ายเพลงจำนวนมาก โดยค่ายเพลงจะต้องจ่ายเงินเพื่อไม่ให้โฆษณาปรากฏบนวีดิโอ จนทำให้เกิดข่าวว่า YouTube จะลบวีดิโอของค่ายเพลงขนาดเล็กและค่ายเพลงอิสระ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือค่ายเพลงของนักร้องสาวชื่อดัง อะเดล (Adele) เนื่องจากไม่ยอมจ่ายเงินให้กับเว็บไซต์