ThaiPublica > เกาะกระแส > 6 ข้อเสนอของเครือข่ายภาคตะวันออก แก้ปัญหาวิกฤติขยะอุตสาหกรรมไทย

6 ข้อเสนอของเครือข่ายภาคตะวันออก แก้ปัญหาวิกฤติขยะอุตสาหกรรมไทย

1 พฤศจิกายน 2014


เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 คณะทำงานโครงการศึกษากระบวนการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตกของประเทศไทย เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ จัดงานเวทีสาธารณะ วิกฤติขยะอุตสาหกรรม: ปัญหาและทางออกอย่างยั่งยืน

จากปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเรื่องการขาดจิตสำนึกและขาดความรับผิดชอบในการกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย การทิ้งขยะทุกประเภทรวมกัน การมีอิทธิพลท้องถิ่น การคอร์รัปชัน การตัดราคาค่ากำจัดขยะเนื่องจากการกำจัดขยะอันตรายมีราคาสูงกว่าขยะชุมชน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่กำกับดูแลเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

วงจรอุบาทว์ขยะอุตสาหกรรม

ทางคณะผู้จัดงาน ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม มีความเห็นร่วมกันและเสนอทางออกของวิกฤติขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

1. ปลุกจิตสำนึกการจัดการขยะในสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน เช่น คัดแยกขยะก่อนทิ้ง

2. เพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการลักลอบทิ้งขยะพิษอุตสาหกรรม

3. หยุดพัฒนาอุตสาหกรรมไว้ก่อน แล้วแก้ปัญหาเรื่องขยะที่มีอยู่เดิมให้เรียบร้อย โดยกำจัดขยะเก่าในพื้นที่ บำบัดและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

4. ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำโรดแมปการจัดการขยะของประเทศไทย โดยการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกให้ประชาชนทราบ ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกโครงการ และมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอและจริงจัง

5. พัฒนาโมเดลการอยู่ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม ภาคชุมชน เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมสีเขียว

6. กำหนดให้ทุกโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต้องมีบ่อกำจัดกากอุตสาหกรรมเป็นของตนเอง เพื่อลดการผลักภาระไปให้พื้นที่อื่นๆ และป้องกันขยะอันตรายแพร่กระจาย ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลหรือเอกชน

ทั้งนี้จากการศึกษาปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก รวม 15 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สระบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี ของคณะทำงานโครงการศึกษากระบวนการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตกของประเทศไทย และเครือข่าย พบว่า ขยะในที่พบในพื้นที่ศึกษาแบ่งเป็น 3 แบบ คือ ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม และขยะติดเชื้อ ซึ่งขยะทั้ง 3 ประเภทพบการลักลอบทิ้งอยู่ในบ่อขยะเดียวกัน ทั้งๆ ที่มีวิธีการกำจัดอย่างถูกต้องที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ยังพบว่า มีพื้นที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในทุกจังหวัด ยกเว้นจันทบุรี รวมเป็นทั้งหมด 63 จุด โดยพบที่ชลบุรีมากที่สุดรวม 21 จุด ฉะเชิงเทรา 17 จุด สมุทรปราการและสมุทรสาครจังหวัดละ 4 จุด ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว จังหวัดละ 3 จุด ส่วนนครนายก กรุงเทพฯ สระบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี และที่ประจวบคีรีขันธ์ (นอกพื้นที่ศึกษา) จังหวัดละ 1 จุด โดยสามารถแบ่งลักษณะการลักลอบทิ้งได้ทั้งหมด 4 ประเภท คือ

1. มีใบอนุญาตประกอบกิจการตรงกับกิจการที่ทำบ่อขยะถูกหลักวิชาการ แต่ไม่นำขยะมาทิ้งในบ่อตนเอง เช่น ซื้อหรือเช่าบ่อของผู้อื่นแล้วทิ้ง, แอบปล่อยน้ำเสียที่ต้องบำบัดออกมาสู่แหล่งน้ำสาธารณะ, นำกากของเสียอันตรายที่ยังบำบัดไม่เรียบร้อยไปแปรรูปเป็นสินค้ารีไซเคิล เช่น สแลคถมถนน/ถมที่ แท่งเชื้อเพลิงขยะRDF

2. มีใบอนุญาตกิจการตรงกับกิจการที่ทำ แต่บ่อขยะทำผิดหลักวิชาการ จึงทำให้กากของเสียอันตรายซึมและปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ

3. มีใบอนุญาตประกอบกิจการไม่ตรงกับกิจการที่ทำ แต่บ่อขยะถูกหลักวิชาการ

4. ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมถึงบ่อขยะผิดหลักวิชาการด้วย นั่นก็คือกรณีลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม

สำหรับชนิดของกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ลักลอบทิ้งในพื้นที่ศึกษามีด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ กลุ่มกากสารเคมีแบบแห้ง เช่น กากตะกอนเคมี เถ้าลอย เถ้าหนัก เศษแม่พิมพ์ ล้ออัลลอยด์ เศษใยแก้ว เศษใยหิน ฯลฯ กลุ่มกากสารเคมีแบบน้ำ ซึ่งมีทั้งแบบเข้มข้น แบบที่ผสมมากับน้ำมัน และแบบผสมมากับน้ำ

1

กลุ่มสารเคมี เช่น ปรอท สารหนู แคดเมียม ทองแดง แมงกานีส ตะกั่ว เบนซีน ฟีนอล และสารอโรมาติกอื่นๆ กลุ่มพลาสติก โฟม หนังสังเคราะห์ และเศษยางชนิดต่างๆ เศษหนังที่ใช้ผลิตเบาะรถยนต์ คอนโซล โฟมตู้เย็น ฟิล์มถ่ายรูป/ฟิล์มภาพยนตร์ กลุ่มภาชนะปนเปื้อน เช่น กระป๋องสี ผ้าเช็ดสารเคมี กลุ่มกากโลหะ และกลุ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์

รวมถึงของเสียจากการล้างถัง เช่น ถังสารเคมีอันตราย น้ำถังมันหล่อลื่น ขยะจากเรือพาณิชย์และแท่นขุดเจาะน้ำมัน น้ำอับเฉาหรือน้ำผสมน้ำมันที่มาจากเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศ และกากหางแร่ต่างๆ

การล้างถังสารเคมีและปล่อยน้ำทิ้งลงพื้นของโรงงานแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก
การล้างถังสารเคมีและปล่อยน้ำทิ้งลงพื้นของโรงงานแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก

จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกหลายแห่งกลายเป็นที่ลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นบ่อจากการตักหน้าดินขายและการเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเส้นทางขนส่ง เช่น ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา

ด้วยอุตสาหกรรมในประเทศไทยขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ที่ต้องการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม สำหรับในภาคตะวันออกของไทยนิคมอุตสาหกรรมได้ขยายตัวทับพื้นที่เกษตรกรรม บุกรุกป่า รวมถึงก่อมลพิษให้กับแหล่งต้นน้ำ ทำลายแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศ อีกทั้งยังก่อให้เกิดขยะอุตสาหกรรมมากมาย

ข้อมูลปี 2555 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ในภาคตะวันออกมีโรงงานทั้งหมด 10,587 แห่ง แบ่งเป็น จันทบุรี 704 แห่ง ฉะเชิงเทรา 1.797 แห่ง ชลบุรี 3,948 แห่ง ตราด 378 แห่ง ปราจีนบุรี 766 แห่ง ระยอง 2,212 แห่ง สระแก้ว 470 แห่ง และนครนายก 312 แห่ง

การขยายตัวของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีอัตราสูงมาก เฉพาะชลบุรีเพียง 1 ปีจาก 2555-2556 พบว่ามีนิคมอุตสาหกรรมสร้างใหม่ 5 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 4 และ 5 นิคมอุตสาหกรรมเหมราชโครงการ 2 นิคมอุตสาหกรรมซีพี นิคมอุตสาหกรรมชัยโย และขยายนิคมอีก 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3

ในปี 2557 มีนิคมอุตสาหกรรมใหม่ที่ชลบุรี-ระยองอีก 5 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่รวมเกือบ 30,000 ไร่ คือ นิคมอุตสาหกรรมยามาโต๊ะ อินดัสทรีส์ ที่ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ที่ระยอง นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดระยอง นิคมอุตสาหกรรมเหมราชระยอง 36 และนิคมอุตสาหกรรมเอเชียที่ระยอง

บ่อขยะแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกที่มีขยะทุกประเภททิ้งปนกัน
บ่อขยะแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกที่มีขยะทุกประเภททิ้งปนกัน

จากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจำนวนมากอย่างไม่สมดุลในภาคตะวันออก ทำให้เกิดของเสียในปริมาณสูงและเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ของเสียอันตรายทั้งหมดของไทยมีปริมาณ 1.8 ล้านตันในปี 2546 และเพิ่มเป็น 4.7 ล้านตันในปี 2555 โดยเป็นของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมปริมาณ 1.4 ล้านตันในปี 2546 และ 4 ล้านตันในปี 2555

นอกจากนี้ยังพบว่า ปี 2556 จากโรงงานที่มีของเสียอุตสาหกรรมอันตรายประมาณ 16,000 แห่ง มีใบแจ้งขนของเสียอุตสาหกรรมอันตรายออกจากโรงงานจำนวน 2.75 ล้านตัน แต่นำไปบำบัดจริงเพียง 9 แสนตัน นั่นคือ มีของเสียอุตสาหกรรมอันตรายหายไประหว่างการขนส่งถึง 1.85 ล้านตัน

ส่วนของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายมีโรงงานอยู่ประมาณ 12,000 แห่ง มีใบแจ้งขนย้าย 41.5 ล้านตัน แต่ขนจริงเพียง 12 ล้านตัน นั่นคือหายไปจากระบบถึง 29.5 ล้านตัน

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมจึงมีข่าวการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมในที่สาธารณะและที่เอกชนให้เห็นอยู่เสมอ นั่นเป็นเพราะว่าของเสียอันตรายมีต้นทุนกำจัดต่ำสุดตันละ 3,000 บาท ซึ่งหากคำนวณจากของเสียอุตสาหกรรมที่หายไปกว่า 31 ล้านตัน ผู้ประกอบการจะลดต้นทุนได้กว่า 5,000 ล้านบาท

สถานการณ์ขยะโดยรวม

ขณะเดียวกันยังมีขยะที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยใช้วาทกรรมที่ว่า “รีไซเคิล” ซึ่งจากสถิติปริมาณนำเข้าของเสียเคมีของประเทศไทยจากกรมศุลกากรพบว่า ของเสียนำเข้าเกือบทั้งหมดมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยปี 2554 อยู่ที่เกือบ 7 แสนตัน ซึ่งนำเข้าภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น (JTEPA) ทำให้ญี่ปุ่นส่ง “สินค้า” ของเสียทั้งที่อันตรายและไม่อันตรายมายังประเทศไทยได้ง่ายขึ้นทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และได้รับการส่งเสริมทางการค้าโดยการลดภาษีนำเข้าในอัตราต่างๆ

ตัวอย่างรายการของเสียอันตรายที่ปรากฏใน JTEPA โดยมีอัตราภาษีร้อยละ 0 ตั้งแต่ปีแรก เช่น

– ขี้แร่ ขี้ตะกอนจากการผลิตเหล็ก
– เถ้าและกากที่มีสารหนู โลหะ หรือสารประกอบดังกล่าว
– ขี้แร่และเถ้าอื่นๆ รวมถึงที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล
– แท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
– ของเสียที่เป็นตัวทำละลายอินทรีย์ ชนิดฮาโลเจเนเต็ด
– ของเสียที่เป็นตัวทำละลายอินทรีย์ชนิดอื่นๆ
– ของเสียที่เป็นของเหลวกัดล้างโลหะ น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเบรก และของเหลวกันการเยือกแข็ง
– ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมี หรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์
– ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังมีขยะเทศบาล ตะกอนจากน้ำเสีย และของเสียจากสถานพยาบาล ที่คิดภาษีร้อยละ 3.75 ในปีแรก และร้อยละ 0 ในปีที่ 4 ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วคิดภาษีร้อยละ 11.25 ในปีแรกและร้อยละ 0 ในปีที่ 4

จากรายการของเสียจากญี่ปุ่น ทางกรมควบคุมมลพิษเสนอให้ถอดออกรวม 30 รายการ เช่น ของเสียทางเภสัชกรรม แร่ใยหิน ยางรถยนต์ใช้แล้ว เถ้าและกากที่มีโลหะหนักปนเปื้อน ฯลฯ

ทั้งนี้ ที่ญี่ปุ่นก็มีปัญหาเรื่องขยะอุตสาหกรรม เช่น การลักลอบทิ้ง เช่นเดียวกับประเทศไทย รวมถึงไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการกำจัดขยะแล้ว จึงเป็นแรงผลักให้ต้องส่งออกขยะไปยังประเทศอื่นๆ