ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปลัดคลังสอบวินัยข้าราชการธนารักษ์ จัดที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่าให้บ.เอเชียนมารีนฯเช่า รัฐเสียหายกว่า 100 ล้าน

ปลัดคลังสอบวินัยข้าราชการธนารักษ์ จัดที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่าให้บ.เอเชียนมารีนฯเช่า รัฐเสียหายกว่า 100 ล้าน

15 ตุลาคม 2014


ต่อกรณีที่มีกลุ่มข้าราชการภายในกรมธนารักษ์ที่ใช้ชื่อว่า “ปปช.กรมธนารักษ์” ทำหนังสือร้องเรียน พร้อมกับเอกสารหลักฐานร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุจริตหลางแห่ง อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คณะกรรมการที่ราชพัสดุ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวหาผู้บริหารระดับสูงกรมธนารักษ์ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดยนำที่ดินราชพัสดุจำนวน 20-3-55 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง บริเวณตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ไปทำสัญญาเช่ากับบริษัทเอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ (มหาชน) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจอู่ต่อเรือ เป็นเวลา 30 ปี โดยที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุยังไม่มีมติอนุมัติ

อู่ต่อเรือบริษัทเอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ (มหาชน) จำกัด ที่มา : www.marinerthai.net/
อู่ต่อเรือบริษัทเอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ (มหาชน) จำกัด
ที่มา : www.marinerthai.net/

สรุปผลสอบ”มีมูล” ชงปลัดคลังตั้งสอบวินัย

หลังจากที่กระทรวงการคลังรับเรื่องร้องเรียนพร้อมหลักฐาน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกคำสั่งแต่งตั้งนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีกรมธนารักษ์ทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุบริเวณแหลมฟ้าผ่ากับบริษัทเอเชียนมารีนฯ โดยไม่มีการเปิดประมูล ล่าสุดนายกุลิศ สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า “มีมูลความผิด”

นอกจากนี้นายกุลิศยังขยายผลการตรวจสอบในเชิงลึก พบว่าการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าเช่า ไม่เป็นไปตามคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 296/2553 ทำให้ราชการเสียหายกว่า 100 ล้านบาท นายกุลิศ จึงสรุปผลสอบเสนอนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งตามระเบียบของทางราชการ หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปว่ามีมูลความผิดจริง ปลัดกระทรวงการคลังจะพิจารณาเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

Web

ชุมนุมสหกรณ์ฯคู่สัญญาธนารักษ์-นำที่ดินปล่อยเช่าต่อบริษัทในเครือเอเชียนมารีนฯ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความเป็นมาของที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า เดิมอยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ต่อมากระทรวงการคลังมอบอำนาจให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ไปให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยเช่าที่ดินแปลงนี้ 30 ปี (ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2525 -22 เมษายน 2555) จากนั้นชุมนุมสหกรณ์ฯได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ ให้นำที่ดินแปลงนี้ไปให้บริษัท เจนเนอรัล คลังสินค้า จำกัด (ในเครือบริษัทเอเชียนมารีนฯ) เช่าช่วงต่อเป็นเวลา 24 ปี (ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2531-วันที่ 26 มกราคม 2555) แต่เนื่องจากที่ดินแปลงนี้จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อปรับปรุงพื้นที่ ขณะที่ชุมนุมสหกรณ์ฯมีนโยบายลดรายจ่าย หารายได้เพิ่ม เพื่อนำเงินไปใช้ในกิจการอื่น จึงให้บริษัทเจนเนอรัลฯจ่ายค่าเช่าแค่ 50% ของค่าเช่าที่เรียกเก็บ

ปี 2548 ชุมนุมสหกรณ์ ขอต่อสัญญาเช่าอีก 25 ปี โดยได้รับความยินยอมจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และจังหวัดสมุทรปราการ ก็เห็นชอบในหลักการ ไม่ขัดข้องที่จะให้ชุมนุมสหกรณ์ต่ออายุสัญญาเช่า พร้อมกับอนุญาตให้นำสิทธิการเช่าไปให้บริษัทเจนเนอรัล คลังสินค้า จำกัด ลงทุนปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่บริษัทเจนเนอรัล ชุมนุมสหกรณ์ฯจึงจัดทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าช่วงให้กับบริษัทเจนเนอรัลฯ โดยให้คำมั่นว่าจะต่ออายุสัญญาเช่าช่วงให้อีก 25 ปี นับแต่วันที่สัญญาเช่าช่วงสิ้นสุดลง

Web

เอเชียนมารีนฯขอเช่าที่ดินโดยตรง

ปี 2554 บริษัทเอเชียนมารีนฯ แจ้งความประสงค์ขอเช่าที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์โดยตรง เนื่องจากบริษัทเจนเนอรัลฯ (บริษัทลูก) สละสิทธิการเช่าช่วง แต่เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการ เคยให้คำมั่นว่าจะต่อสัญญาเช่าช่วงให้กับบริษัทเจนเนอรัลอีก 25 ปี และมีการทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าช่วง หากนำที่ราชพัสดุไปให้บริษัทเอเชียนมารีนฯ โดยตรงอาจจะมีปัญหาฟ้องร้อง จังหวัดสมุทรปราการ จึงทำเรื่องไปหารือกรมธนารักษ์

หลังจากกรมธนารักษ์พิจารณาประเด็นที่จังหวัดสมุทรปราการนำเสนอ มีความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการอนุมัติในหลักการเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ถือเป็นการต่ออายุสัญญาเช่า และไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย การต่ออายุสัญญาเช่าต้องมีการเจรจาในรายละเอียดต่างๆอีกมาก นอกจากนี้การพิจารณาต่ออายุสัญญาเช่าเป็นอำนาจหน้าที่ของธนารักษ์พื้นที่ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้กับชุมนุมสหกรณ์ฯ (ผู้เช่าโดยตรง) เป็นอันดับแรก หากการจัดให้บริษัทเอเชียนมารีนฯเช่าที่ราชพัสดุโดยตรงแล้ว ทำให้ทางราชการได้รับประโยชน์มากกว่า ขอให้จังหวัดสมุทรปราการรวบรวมข้อเท็จจริง พร้อมเหตุผล นำเสนอให้กรมธนารักษ์พิจารณาต่อไป

Web

เอเชียนมารีนฯควักเงินลงทุนไปแล้ว 175 ล้าน

นอกจากนี้ธนารักษ์สมุทรปราการ ทำหนังสือแจ้งกรมธนารักษ์ยังได้รับแจ้งว่า บริษัทเอเชียนมารีนฯได้ลงทุนพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวเพิ่มเติมไปแล้วเป็นเงิน 175.30 ล้านบาท ประกอบกับการขออนุญาตก่อสร้างต่างๆต้องผ่านหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน จึงเห็นควรให้บริษัทเอเชียนมารีนฯเช่าที่ราชพัสดุโดยตรงกับกรมธนารักษ์ โดยไม่ต้องประมูล เนื่องจากโดยสภาพไม่เหมาะสมที่จะทำการประมูล

กรมธนารักษ์ จึงมีความเห็นว่า หลังจากที่สัญญาเช่าช่วงที่ดินแปลงนี้สิ้นสุด(วันที่ 26 มกราคม 2555) การพิจารณาต่ออายุสัญญาเป็นอำนาจของกรมธนารักษ์ ที่ผ่านมาชุมนุมสหกรณ์ฯผู้เช่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวเลย ขณะที่บริษัทเอเชียนมารีนฯเป็นผู้ใช้ประโยชน์มาโดยตลอด และยังลงทุนพัฒนาพื้นที่ โดยใช้ทุนทรัพย์ของบริษัทเป็นจำนวนมาก ประกอบกับกระทรวงการคลังไม่มีนโยบายที่จะให้บุคคลที่ 3 หรือ คนกลางเข้ามาหาประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ จึงเห็นควรให้บริษัทเอเชียนมารีนฯ เช่าที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่ต้องประมูล

วันที่ 5 กันยายน 2555 กรมธนารักษ์ รวบรวมประเด็นข้อคิดเห็นต่างๆเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ครั้งที่ 1/2555 ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการ โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า “กรณีนี้ควรพิจารณาบนพื้นฐานความเข้าใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ ดังนั้น เพื่อป้องกันข้อพิพาทระหว่างกรมธนารักษ์กับชุมนุมสหกรณ์ฯ และชุมนุมสหกรณ์ฯกับบริษัทเอกชน อีกทั้งไม่เป็นการข้ามขั้นตอน กรมธนารักษ์ ควรจะต้องพิจารณาศักยภาพของที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว และกำหนดอัตราค่าเช่า อัตราค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขประกอบอื่นๆที่จำเป็นและเหมาะสม แจ้งให้ชุมนุมสหกรณ์ฯทราบ หากชุมนุมสหกรณ์ฯไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่ธนารักษ์กำหนดได้ภายในระยะเวลาอันสมควร กรมธนารักษ์จึงไปทำข้อตกลงและเงื่อนไขกับบริษัทเอกชนต่อไป หากบริษัทไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่กรมธนารักษ์กำหนด ก็ให้นำที่ราชพัสดุแปลงนี้มาเปิดประมูล เพื่อให้เกิดการแข่งขัน”

มติบอร์ด”ให้ธนารักษ์ ยึดคำแนะนำที่ประชุมเป็นแนวปฏิบัติ”

สุดท้ายที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ จึงมีมติ “ให้กรมธนารักษ์พิจารณาข้อมูลให้รอบคอบอีกครั้ง โดยนำการพิจารณาของที่ประชุมไปเป็นแนวทางในการดำเนินการ และหากมีข้อมูลที่มีนับสำคัญที่สมควรดำเนินการเป็นอย่างอื่น ที่ประชุมมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์) เป็นผู้พิจารณา”

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์

ทางกรมธนารักษ์ ตีความมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุว่า หากกรมธนารักษ์นำการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ ถือว่าคณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติอนุมัติแล้ว ต้นปี 2556 กรมธนารักษ์ ทำหนังสือถึงชุมนุมสหกรณ์ฯ แจ้งเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเช่า 30 ปี ตามมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ และกำหนดทำหนังสือตอบกลับมาภายใน 30 วัน ทางชุมนุมสหกรณ์ฯได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการวันที่ 28 มกราคม 2556

วันที่ 13 มีนาคม 2556 ชุมนุมสหกรณ์ฯทำหนังสือถึงสำนักงานธนารักษ์สมุทรปราการ ขอผ่อนผันเงื่อนไขค่าเช่าและค่าธรรมเนียมมา ซึ่งเกินเวลาที่กำหนดไป 44 วัน กรมธนารักษ์ พิจารณาตามมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ครั้งที่ 1/2555 ถือว่าชุมนุมสหกรณ์ฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมธนารักษ์กำหนดภายในระยะเวลาอันสมควร

วันที่ 9 เมษายน 2556 นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ทำหนังสือที่ กค 0304/5099สั่งการให้ธนารักษ์สมุทรปราการ ทำหนังสือถึงบริษัทเอเชียนมารีนฯ แจ้งให้ทราบถึงเงื่อนไขการเช่าที่ราชพัสดุแปลงนี้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกับชุมนุมสหกรณ์ฯ โดยบริษัทเอเชียนมารีนฯต้องทำหนังสือตอบกลับมาที่ธนารักษ์สมุทรปราการภายใน 30 วัน

ธนารักษ์ส่งจม.เรียกเอเชียนมารีนฯเจรจาเงื่อนไขการเช่า

วันที่ 10 เมษายน 2556 นางชุติมา กลิ่นรัตน์ ธนารักษ์พื้นที่สมุทรปราการ ทำหนังสือเลขที่ กค 0307.09/583 แจ้งกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอเชียน มารีนฯ ถึงรายละเอียดเงื่อนไขการเช่าที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า 30 ปี (ตั้งแต่ 22 เมษายน 2555-วันที่ 21 เมษายน 2585) ซึ่งบริษัทเอเชียนมารีนฯต้องชำระค่าธรรมเนียมการเช่า 31,331,250 บาท,จ่ายค่าเช่าปีแรก 1,467,139 บาท และวางหลักประกันความเสียหายเท่ากับค่าเช่า 1 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 34,265,528 บาท ให้กับสำนักงานธนารักษ์สมุทรปราการภายใน 30 วัน

วันที่ 24 เมษายน 2556 นางชุติมา กลิ่นรัตน์ ธนารักษ์พื้นที่สมุทรปราการ ในฐานะผู้ให้เช่าตามคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 441/2555 และนายอวยชัย ติวิรัช ในฐานะผู้เช่า ซึ่งรับมอบอำนาจจากบริษัทเอเชียนมารีนฯ ลงนามในสัญญาเช่าที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า โดยมีนางธมลวรรณ รัตติรุจิเศวต และน.ส.กุลวรางค์ เรืองแก้ว ลงนามในฐานะพยาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีกรมธนารักษ์นำที่ดินราชพัสดุแหลมฟ้าผ่ามาจัดให้เอกชนเช่า โดยไม่เปิดประมูล ซึ่งหลักการพิจารณาคำขอเช่าที่ดินนั้น คณะกรรมการที่ราชพัสดุต้องมีมติชัดเจนว่า “อนุมัติ หรือ ไม่อนุมัติ” หากที่ประชุมมีมติอนุมัติ ก็ต้องระบุด้วยว่าอนุมัติให้บริษัทใดเช่าที่ดิน โดยใช้วิธีพิเศษไม่เปิดประมูล ซึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุวันที่ 5 กันยายน 2555 แล้ว ไม่พบคำว่า “อนุมัติ” แต่อย่างใด กรณีนี้จึงถือเป็นการกระทำการโดยพลการ นอกเหนือมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ

รัฐเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

นอกจากประเด็นข้อกล่าวหาผู้บริหารระดับสูงกรมธนารักษ์ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นำที่ดินราชพัสดุแหลมฟ้าผ่าไปจัดให้เอกชนเช่าไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มีนายกุลิศเป็นประธาน ยังตรวจพบว่า การกำหนดค่าเช่าและค่าธรรมเนียมการที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ ไม่เป็นไปตามคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 296/2553 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าเช่า และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าที่ดินราชพัสดุ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป ทำให้รัฐเสียประโยชน์กว่า 100 ล้านบาท

การคำนวณอัตราค่าเช่า และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าที่ดินราชพัสดุ ตามคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 296/2553 มี 2 สูตร ดังนี้
สูตรที่ 1 ใช้กับกรณีผู้เช่าทั่วไป ไม่มีแผนการลงทุนก่อสร้างอาคารบนที่ราชพัสดุ เพื่อยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดมีวิธีการคำนวณดังนี้

สูตรที่ 1

สูตรที่ 2ใช้กับกรณีผู้เช่าที่มีแผนการลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุ โดยปลูกสร้างอาคารบนที่ดินราชพัสดุที่มีเนื้อที่เกิน 2 ไร่ขึ้นไป หรือมีราคาที่ดินเกิน 10 ล้านบาท เมื่อครบอายุสัญญาเช่า ต้องยกกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างให้กระทรวงการคลัง กำหนดให้ผู้เช่าต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยรวมค่าเช่า ค่าธรรมเนียม และค่าชดเชย(ถ้ามี) เป็นมูลค่าปัจจุบัน โดยคิดอัตราส่วนลด เท่ากับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลแล้วจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของราคาที่ดิน

สัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า หน้าที่ 6 ข้อ 22
สัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า หน้าที่ 6 ข้อ 22

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีกรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุไปให้บริษัทเอเชียนมารีนฯเช่า ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 296/2553 ต้องถือว่าเป็นกรณีการเช่าทั่วไป เนื่องจากสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เช่า (บริษัทเอเชียนมารีนฯ) ต้องลงทุนก่อสร้างอาคารบนที่ราชพัสดุแปลงนี้ เพื่อยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง ดังนั้นกรมธนารักษ์ต้องเรียกเก็บค่าจัดให้เช่าตามสภาพ และประเภทของการครอบครองการใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน โดยใช้สูตรที่ 1 เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช่าอาคารและที่ดินดังนี้

ข้อมูลพื้นฐาน ที่ดินราชพัสดุตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 20-3-55 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 8,355 ตารางวา ราคาประเมินที่ดินตารางวาละ 25,000 บาท มีอาคารที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วก่อนวันทำสัญญาเช่า 13 หลัง พื้นที่ใช้สอย 13,507 ตารางเมตร พื้นที่ปลูกสร้าง 12,656 ตารางเมตร (3,164 ตารางวา) ราคาค่าก่อสร้าง 78,674,630 บาท ค่าเสื่อราคา 28,429,140 บาท คิดเป็นมูลค่าอาคารคงเหลือ 50,245,490 บาท ยังไม่คิดพื้นที่ภายนอกอาคารที่ตั้งตัวอาคารอีก 5,191 ตารางวา หากนำข้อมูลพื้นฐานมาคำนวณตามสูตรที่ 1 บริษัทเอเชียนมารีนฯ ต้องชำระค่าธรรมเนียมการเช่าอาคาร 132.13 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมเช่าที่ดินอีก 77 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 209.99 ล้านบาท

รวมค่าธรรมเนียมการเช่าอาคารและที่ดิน

แต่กรมธนารักษ์กลับใช้สูตรที่ 2 ซึ่งใช้ในกรณีผู้เช่าเข้ามาลงทุนพัฒนาที่ราชพัสดุโดยปลูกสร้างอาคารแล้วยกกรรมสิทธิ์ให้กับกระทรวงการคลังมาคำนวณ โดยคิดค่าเช่าตลอด 30 ปี (นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2556-21 เมษายน 2585) บริษัทเอเชียนมารีนฯจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กรมธนารักษ์ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 64.21 ล้านบาท (มีมูลค่าปัจจุบัน(Present value) 31.33 ล้านบาท) หากนำวิธีการคำนวณค่าธรรมเนียมจากสูตรที่ 1 เปรียบเทียบสูตรที่ 2 อาจจะทำให้ทางราชการเสียผลประโยชน์กว่า 100 ล้านบาท

Web