ThaiPublica > เกาะกระแส > การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย ความเสี่ยงและภาระของใครบ้าง

การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย ความเสี่ยงและภาระของใครบ้าง

28 ตุลาคม 2014


การลดลงของอัตราการตายและอัตราการเจริญพันธุ์อย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษที่ผ่านมามีผลทำให้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยประชากรวัยสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23.5 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ภายในปี 2573 สังคมผู้สูงอายุจะมีผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจมหภาคหลายประการ เช่น ประชากรวัยแรงงานลดลง การออมลดลง และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง

ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุมิได้มีผลกระทบเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกคนผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ สังคมผู้สูงอายุอาจสร้างภาระที่ทุกคนในประเทศต้องแบกรับร่วมกัน เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นและมีอายุยืนยาวมากขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบสวัสดิการด้านสุขภาพต่างๆ ซึ่งการเพิ่มความมั่นคงของระบบดังกล่าวล้วนเป็นภาระด้านการเงินที่ต้องมีผู้แบกรับทั้งสิ้น ไม่ว่าจะผู้เสียภาษี นายจ้าง ลูกจ้าง หรือรัฐบาลก็ตาม รวมทั้งจะเป็นภาระผูกพันต่อไปถึงลูกหลานในอนาคตที่ต้องมีส่วนในการร่วมสมทบในรูปแบบต่างๆ ให้กับระบบสวัสดิการ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องของทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยสูงอายุ วัยทำงาน วัยเรียน และวัยเด็กซึ่งจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของสังคมผู้สูงอายุคือการลดลงของจำนวนประชากรวัยแรงงาน ซึ่งหากไม่สามารถนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศมาทดแทน หรือไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้พึ่งพาแรงงานน้อยลงได้ ก็อาจทำให้การดำเนินการของภาคธุรกิจสะดุดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก และหากภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะส่งผลต่อเนื่องถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ภาคเอกชนต้องพยายามคิดหาวิธีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการขาดแคลนแรงงานที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เช่น ทำอย่างไรแรงงานจึงสามารถทำงานต่อเนื่องได้อย่างยาวนานขึ้น (การขยายช่วงอายุการทำงานของแรงงาน) ทำอย่างไรแรงงานถึงจะมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีและสามารถทำงานได้ยาวนานขึ้น ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาผลิตภาพของแรงงานให้สูงขึ้น ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้พึ่งพาแรงงานลดลง ในส่วนของภาคครัวเรือน แม้ในปัจจุบันจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือนหรือได้ความคุ้มครองจากระบบประกันสังคม แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวอาจยังไม่สามารถเป็นหลักประกันที่พึ่งพาได้ยามเกษียณ ภาคครัวเรือนจำเป็นต้องพึ่งตนเองโดยออมให้มากขึ้น และยกระดับรายได้ในช่วงวัยทำงานให้สูงขึ้น โดยการเพิ่มผลิตภาพการทำงานและแสวงหาทักษะความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพตามสมควรเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ

ดร.จิระวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในช่วงหลังเกษียณได้อย่างมีความสุขตามสมควร กลุ่มดังกล่าวมักจะมีการใช้แรงงานเต็มที่ในช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ทำให้สภาพร่างกายเสื่อมโทรมก่อนวัยและมีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งมักเป็นเหตุให้ต้องออกจากตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร รวมทั้งแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักทำงานตามสายการผลิตซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะจนทำให้ขาดการพัฒนาทักษะในการทำงานด้านอื่นๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อแรงงานต้องการเปลี่ยนงาน หากกลุ่มดังกล่าวออกจากกำลังแรงงานจะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่เงินที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานจะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายตลอดระยะเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยเนื่องจากยังไม่มีระบบสนับสนุนการออมที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ขาดความมั่นคงด้านรายได้ยามสูงวัย

ภาพประกอบ-จัดการสังคมสูงวัย

หลักในการเตรียมความพร้อมคือการเพิ่มรายได้และการออม โดยวิธีการหนึ่งที่อาจพิจารณานำมาใช้คือ การสนับสนุนการขยายช่วงอายุการทำงานของแรงงาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง รวมทั้งอาจต้องมีการปรับกฎหมายการจ้างงานและกฎหมายประกันสังคมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานทำงานต่อให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ดี การขยายช่วงอายุการทำงานจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้และโอกาสในการออมในระดับปัจเจกบุคคล แต่อาจไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคมากนักโดยเฉพาะในระยะสั้น ทั้งนี้ การศึกษาของ ดร.จิระวัฒน์ร่วมกับ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร พบว่าการขยายช่วงอายุการทำงานของแรงงานอายุ 50-59 ปี จะไม่มีผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนักในระยะสั้น (1-10 ปี) แต่จะส่งผลดีมากขึ้นในระยะยาว โดยสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมได้ถึงร้อยละ 5 ในปี 2593

เพื่อให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างยั่งยืนนั้น นอกเหนือจากการขยายช่วงอายุการทำงานแล้ว เราจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพของแรงงานทุกช่วงวัย การพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่มีคุณภาพสูงในอนาคต และการพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อย่างไรก็ดี นโยบายเหล่านี้มักใช้เวลานานกว่าจะสัมฤทธิ์ผล เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้างสะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอื่นๆ ไปในขณะเดียวกันด้วย

ดร.จิระวัฒน์เสนอว่า ในระยะสั้นนั้น แนวนโยบายที่ควรนำมาใช้คือ การส่งเสริมการออม การจูงใจทำให้แรงงานทำงานต่อเนื่องยาวนานขึ้น และการสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพทางเลือกแก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะอาชีพในภาคการบริการ อย่างไรก็ดี การทำงานและการจ้างงานเกิดจากความสมัครใจของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งหลายครั้งที่ทั้งสองฝ่ายมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แต่หากทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นก็น่าจะสามารถผสานประโยชน์ร่วมกัน และจะสามารถผลักดันนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติจริงได้ ดังนั้นภาครัฐและประชาสังคมจึงมีบทบาทสำคัญในการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกฝ่ายต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ