ThaiPublica > คอลัมน์ > ชีวิตเต็มไปด้วยการ “ส่งสัญญาณ”

ชีวิตเต็มไปด้วยการ “ส่งสัญญาณ”

28 ตุลาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ถ้าไม่มีสาเหตุทางชีววิทยาที่บังคับให้ทุกคนในโลกนี้พูดความจริงตลอดเวลาแล้ว ความเท็จปนความจริงก็จะมีอยู่ทั่วไป และสถานการณ์เช่นนี้ก็จะทำให้มนุษย์จำเป็นต้อง “ส่งสัญญาณ” ถึงคนอื่นเพื่อเข้าใจว่าตนเองพูดความจริง หรือเพื่อให้เข้าใจอย่างที่ตนเองต้องการ โลกเช่นนี้จะบังคับให้ภาครัฐต้อง “ส่งสัญญาณ” ในเรื่องการปฏิรูปสังคมและนโยบายเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

เนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง The Invention of Lying (2009) ก็คือไม่มีการโกหกในโลก ทุกคนพูดความจริงในทุกโอกาส ดังนั้น ความไม่แน่นอนในเรื่องว่าเป็นความจริงหรือเท็จ จึงไม่มี ความเข้าใจผิดไม่เกิดขึ้น ต่างคนต่างรู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิดอย่างไรกับตน การ “ส่งสัญญาณ” (signaling หรือ signalling คำแรกเป็นการสะกดแบบอเมริกัน) ซึ่งเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งจึงไม่ใช่เรื่องปวดหัวอีกต่อไป

อย่างไรก็ดีโลกแห่งความแน่นอนในการเข้าใจซึ่งกันและกันนั้นไม่มี ประเด็นการ”ส่งสัญญาณ” จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงาน ความรัก การหาคู่ การทูต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ การปฏิรูปประเทศ ฯลฯ

ในบทความสำคัญในปี 1973 ที่มีส่วนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 2001 ร่วมกับ George Akerlof และ Joseph Stiglitz นั้น Michael Spencer (ปัจจุบันอายุ 70 ปี) เสนอแนวคิดในเรื่อง signaling (การส่งสัญญาณ) ซึ่งมีรากมาจากสิ่งที่เรียกว่า “ข้อมูลอสมรูป” (asymmetric information)

ธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ดำเนินกันได้เป็นอย่างดีนั้นมาจากการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย กล่าวคือทั้งสองฝ่ายเข้าใจในเรื่องเนื้อหาและคุณภาพของสิ่งที่ซื้อขายอย่างเท่าเทียมกัน (ในการซื้อไอศครีม ผู้ซื้อมีข้อมูลสินค้าที่ซื้ออย่างทัดเทียมกับผู้ขาย เช่น มีป้ายสินค้าระบุส่วนผสมของวัตถุดิบ การซื้อขายจึงเป็นไปอย่างปกติ) อย่างไรก็ดี ในหลายโอกาสทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันเนื่องจากลักษณะของสินค้าหรือบริการ

ตัวอย่างเช่น การซื้อขายประกันสุขภาพ ผู้ซื้อประกันเป็นผู้ที่รู้สถานะสุขภาพของตนเองดีกว่าบริษัทรับประกัน หากได้ประกันสุขภาพถึงแม้ตนเองจะใกล้ตายก็จะได้ประโยชน์มาก คนรับกรรมก็คือผู้ประกันคนอื่นๆ ดังนั้นในเวลาต่อไปเบี้ยประกันจะสูงขึ้น หากปล่อยไว้เช่นนี้ธุรกรรมซื้อขายประกันสุขภาพไม่อาจดำเนินไปได้อย่างดี จำเป็นต้องมีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์จากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยให้การประกันสุขภาพเกิดขึ้นได้ (เช่น กำหนดเงื่อนไขของการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ การบังคับให้ผู้ซื้อตรวจสุขภาพก่อนซื้อประกัน ฯลฯ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือการ “ส่งสัญญาณ” ในรูปแบบหนึ่งของภาครัฐ ในด้านผู้ซื้อประกัน การ “ส่งสัญญาณ” ก็เกิดขึ้นเช่นกันเพื่อให้ตนได้เบี้ยประกันที่เหมาะสม

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่เรื่องการจ้างงาน ผู้สมัครทำงานมีความรู้ดีว่าตนเองมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ในขณะที่ผู้จะจ้างมีความรู้เกี่ยวกับผู้สมัครน้อยกว่า ดังนั้นการมีใบรับรองความสามารถ ใบปริญญา จึงเป็นสิ่งช่วยให้ผู้จะจ้างทราบข้อมูลมากขึ้นอีกในระดับหนึ่ง

ความเชื่อมั่นในคุณภาพของหลักสูตรที่เรียนจบโดยมีภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล จดหมายรับรองการทำงาน resume หรือ CV ของผู้เรียนจบ ทรานสคริปต์ของการทำกิจกรรมระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย เรียงความที่แต่งประกอบใบสมัครทำงาน ความสามารถในการสอบสัมภาษณ์ ฯลฯ ล้วนเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ทั้งสิ้นให้แก่ผู้จะจ้างซึ่งจะตีความสัญญาณที่ส่งมาเหล่านั้นเพื่อการตัดสินใจว่าจะจ้างหรือไม่ต่อไป

Spencer วิเคราะห์เรื่อง “ข้อมูลอสมรูป” กับการศึกษาและการจ้างงานอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ผู้เขียนขอเสนอความเห็นบางประการซึ่งเกี่ยวพันดังต่อไปนี้

(1) การเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปีเต็มอาจเป็นการ “ส่งสัญญาน” ให้ผู้จะจ้างบางรายเห็นว่าผู้สมัครมีความอดทนจนได้รับความรู้ในระดับสูง อีกทั้งมีความบากบั่นในการเรียนจนถึงกับได้รับปริญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์คุณภาพในระยะยาวได้ดีกว่าผู้ที่ไม่จบปริญญา ถึงแม้ทั้งสองน่าจะมีความสามารถทัดเทียมกันก็ตาม

(2) การทำกิจกรรมนักศึกษาในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างบุคลิกภาพ เช่น เรื่องจิตอาสา จิตสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ การเล่นกีฬา ฯลฯ น่าจะเป็น “สัญญาณ” ที่เป็นคุณในการสมัครงาน

(3) การเรียนรู้เพิ่มเติมนอกหลักสูตรโดยเกิดจากความสมัครใจของตนเอง เช่น เรียนภาษาอาเซียน การฝึกอบรมการฝึกพูด การฝึกบุคลิกภาพ ฯลฯ เป็น “สัญญาณ” ซึ่งแสดงให้ผู้จะจ้างเห็นว่าเป็นผู้ที่ความพยายามในการฝึกฝนพัฒนาตนเองซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ผู้จะจ้างพึงปรารถนา

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องความรัก ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการ “ส่งสัญญาณ” อย่างสำคัญ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องความรัก กล่าวคือได้คนที่ตนรักมาเป็นคู่ครอง จะบอกได้ว่าในระหว่างที่กำลังจะชอบพอกันนั้นการ “ส่งสัญญาณ” คือทุกสิ่งทุกอย่าง ในสมัยโบราณไทยการให้ชานหมากจากปากของหญิง การให้สไบที่เธอใช้แล้ว การให้ดอกจำปีที่เคยซุกไว้กลางอก (โอ้! แม่เจ้า) ฯลฯ ล้วนเป็นการ”ส่งสัญญาณ” ทั้งสิ้น

ถ้าชายใดให้มาม่าห่อใหญ่แก่หญิงที่ตนเองกำลัง “คั่ว” อยู่แทนที่จะให้ดอกกุหลาบสีแดงในวันวาเลนไทน์ก็สมควรกลับไปเรียนเศรษฐศาสตร์ 101 ที่สอนเรื่องการ “ส่งสัญญาณ” อีกสักหน เพราะโดยแท้จริงแล้วมันเป็นวันแห่งโอกาสที่ดียิ่งของการ “ส่งสัญญาณ” ความรัก (บางคนอาจบอกว่าเป็นโอกาสแห่งธุรกิจการค้ามากกว่า)

กล่าวโดยสรุปก็คือ การ “ส่งสัญญาณ” ให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจหรือรู้สิ่งที่ตนต้องการให้เข้าใจหรือรู้นั้นเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากการตัดสินใจของอีกฝ่ายขึ้นอยู่กับการตีความสัญญาณที่ได้ส่งไปให้

ถ้าข้อมูลที่ต้องการจะสื่อถือว่าเป็น “น้ำยา” (substance) ส่วนวิธีการ “ส่งสัญญาณ”ถือว่าเป็น “ท่วงท่า” (style) ทั้งสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกันอย่างดีจึงจะสามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการ “ส่งสัญญาณ” เช่น ถ้าภาครัฐมีนโยบายรัดเข็มขัดบนกระดาษที่น่าเชื่อถือ แต่ข้าราชการชั้นสูงใช้เงินหลวงอย่างสุรุ่ยสุร่าย การ “ส่งสัญญาณ” นั้นก็จะล้มเหลว

งานสำคัญที่นักการทูตต้องกระทำอยู่ทุกวันก็คือการทำให้คนต่างประเทศเข้าใจสถานการณ์และสภาวการณ์ของประเทศตนดังที่ต้องการให้เข้าใจ นอกเหนือจากการมี “น้ำยา” จะให้แล้ว ก็จำเป็นต้องใช้ “ท่วงท่า” อันได้แก่กลวิธีและลักษณะของการ “ส่งสัญญาณ” อันแยบยลประกอบไปด้วย

ในการทำให้ประชาชนและคนต่างประเทศเข้าใจเรื่องการปฏิรูปประเทศ การแก้ไขปัญหาสังคมไทย ตลอดจนนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ นอกจากการให้ข้อมูลแล้ว การ “ส่งสัญญาณ” ที่แสดงถึงความจริงใจและความตั้งใจจริงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าสัญญาณชัดและแรงเหมือน “เน็ต” (นักศึกษาหอพักบอกว่าน้ำไหลไม่แรงไม่ว่า ตราบที่ “เน็ต” แรงเป็นใช้ได้) ก็จะบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีคลื่นอื่นๆ อันเกิดจากความร้อนวิชา การปรารถนาแสดงความคิดเห็นก่อนเวลาอันควรและในวาระที่ไม่เหมาะสมมาแทรกรบกวนมากเกินไป

การ “ส่งสัญญาณ” เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องการความต่อเนื่องและการโยงใยถักทอกันโดยมียุทธศาสตร์เป็นตัวกำกับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 28 ต.ค. 2557