ThaiPublica > คอลัมน์ > วิเคราะห์แนวโน้มการศึกษาออนไลน์

วิเคราะห์แนวโน้มการศึกษาออนไลน์

25 ตุลาคม 2014


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : http://theproscons.com/wp-content/uploads/2014/06/onlineeducation2.jpg
ที่มาภาพ: http://theproscons.com/wp-content/uploads/2014/06/onlineeducation2.jpg

ไม่น่าเชื่อว่าขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนแล้ว หลายคนเห็นว่าการเรียนออนไลน์คืออนาคตของการศึกษาเนื่องจากเป็นการเผยแพร่ความรู้โดยผู้สอนที่มีประสิทธิภาพที่สุดในรูปแบบที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่ำที่สุด มหาวิทยาลัยต่างๆ ถึงกับผวาเมื่อนึกถึงบทบาทของตัวเองในโลกแห่งดิจิทัลในอนาคต ถึงกระนั้นก็ตาม ในพักหลังนี้เริ่มมีการถกเถียงถึงข้อเสียของ Online Education ว่าไม่สามารถทดแทนสิ่งที่มหาวิทยาลัยมอบให้กับนักเรียนได้ มิหนำซ้ำยังอาจเป็นการทำลายความมั่นคงของอาชีพศาสตราจารย์และโมเดลธุรกิจดั้งเดิมของสถาบันการศึกษาอันเก่าแก่อีกด้วย คลื่นลูกใหม่ลูกนี้จะมาเปลี่ยนอนาคตของการศึกษา มหาวิทยาลัย คณาจารย์ และเหล่านักเรียน

รุ่นลูกหลานของเราอย่างไร เป็นคำถามที่น่าคิดยิ่งนัก

ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพของการเรียนการสอน

สิ่งที่เป็นจุดเด่นที่สุดของ Online Education คือโอกาสในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพของการเรียนการสอนในบางสาขาและการลดค่าใช้จ่าย

เป็นเรื่องปกติที่สถาบันที่จะสามารถทำ Online Education ได้ดีนั้นจะต้องเจอกับ Fixed Cost (ต้นทุนคงที่) ที่สูงมาก เพราะว่ามีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในระบบ การออกแบบชั้นเรียน และการถ่ายทำการเรียนการสอนทั้งหมด แต่ทว่า Online Education นั้นได้เปรียบโมเดลการศึกษาแบบเก่าตรงที่ว่าโมเดลนี้มีค่าใช้จ่ายต่อหัวนักเรียนที่ต่ำกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับในกรณีของ MOOCs (Massive Open Online Courses) ที่มีจำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียนได้เป็นแสนๆ คน

ข้อได้เปรียบข้อนี้ได้มีผลกระทบทำให้ค่าเล่าเรียนออนไลน์ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของโปรแกรมปริญญาโทสาขา computer science ที่สถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (ติด Top 10 ด้านคอมพิวเตอร์) ซึ่งเรียกค่าเล่าเรียนเพียงแค่ 1/6 ของค่าเล่าเรียนหลักสูตรปกติที่ต้องเข้าไปเรียนด้วยตัวเป็นๆ

ในขณะเดียวกัน ค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้นสูงมากว่า 28% ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ค่าเล่าเรียนออนไลน์นั้นมีแนวโน้มที่จะมาตัดราคาแถมยังมีโอกาสที่จะเพิ่มคุณภาพของการเรียนรู้ได้มากกว่าในบางสายวิชาอีกด้วย

สาเหตุสำคัญที่คุณภาพของการเรียนรู้จะสูงขึ้นคือแรงจูงใจในการผลิตผลงานคุณภาพที่อาจจะไม่มีตัวตนอยู่ในโครงสร้างของสถาบันการศึกษาออฟไลน์

เนื่องจากขนาดของตลาดนักเรียนที่กว้างกว่าตลาดปกติที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้เล่นดั้งเดิมอยู่ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่สถาบันออนไลน์เหล่านี้จะต้องเลือก “ผู้สอน” ที่เก่งที่สุดเท่าที่เขาจะหาได้ ถ่ายทำทีเดียวจะได้คุ้มที่สุด ไอเดียนี้ไม่ได้ต่างจากการไปเรียนพิเศษกับทีวีแถวสยามในบ้านเรานัก ถือเป็นการเค้นเอา “หัวกะทิ” ในหมู่ครูบาอาจารย์มาเป็นผู้กระจายความรู้ออนไลน์นั่นเอง

อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของ Online Education คือความเร็วและความมีประสิทธิภาพในการตรวจการบ้านและข้อสอบซึ่งโดยปกติแล้วเป็นงานที่ใช้เวลาและน่าเบื่อหน่ายสำหรับคุณครู แต่สมองกลไม่เคยเบื่อ จะให้ตรวจข้อสอบข้อเดิมเป็นล้านๆ รอบก็ยังยิ้มได้ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัท Coursera (หนึ่งในผู้นำสถาบันการศึกษาออนไลน์) ได้เริ่มทดลองให้นักเรียนตรวจผลงานของนักเรียนด้วยกันในบางครั้งที่สมองกลไม่สามารถตรวจได้ เช่น วิชาที่ต้องประเมินงานเขียน ถือเป็นการ crowd-source ที่น่าสนใจมาก

นอกจากนี้ Online Education ก็ยังเป็น platform (พื้นที่ปฏิบัติการ) ที่เราสามารถทำการทดลองปรับเปลี่ยนบางส่วนของการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาชั้นเรียนให้ดีขึ้นอีกในอนาคตได้ดีกว่าอีกด้วย การทำให้การเรียนการสอนมาอยู่ในโลกดิจิทัลจะทำให้เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียนได้สะดวกและละเอียดขึ้น

ในกรณีของ Online Education นั้น ทุกอย่างที่นักเรียนทำบนเว็บไซต์จะถูกบันทึกลงไปเป็นข้อมูลที่มีค่าอันมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการคลิ๊ก ความตรงต่อเวลา ความขยันและการวัดความเข้าใจในแต่ละช่วงของวิชานั้นๆ ข้อมูลเหล่านี้สามารถที่จะนำมาวิเคราะห์เพื่อทำการพัฒนาชั้นเรียนนั้นต่อไปในอนาคตได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกออนไลน ์เราสามารถควบคุมตัวแปรดิจิทัลได้มากมาย ในขณะที่การเรียนการสอนแบบ “สด” นั้นทำได้ยากเหลือเกิน

ในหลายประเทศที่การศึกษาระดับอุดมศึกษายังไปไม่ทั่วถึง การจะยกระดับให้ประชากรมีปริญญาตรีมากขึ้นนั้นจะต้องใช้เงินและแรงงานอันมหาศาล ลองนึกดูว่าประเทศอินเดียที่มีประชากรเป็นพันล้านคนจะต้องผลิตครูออกมาเพิ่มกี่คนและจะต้องสร้างมหาวิทยาลัยเพิ่มอีกกี่แห่งถึงจะมีอัตราส่วนประชากรที่มีวุฒิการศึกษาอย่างที่ตัวเองตั้งโจทย์เอาไว้ได้

ถามจริงๆ ว่า โลกอันไม่เท่าเทียมกันใบนี้ของเราไม่ต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า แถมยังสามารถกระจายความรู้ไปได้ไกลกว่าหรือ

วิวัฒนาการของอาชีพครู

ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยมีประสบการณ์สมัยเรียนอันไม่ค่อยน่าจดจำกับอาจารย์บางท่านทั้งในระดับมัธยมหรือในระดับมหาวิทยาลัยที่อาจจะมีตำแหน่งอาวุโส มีชื่อเสียงโด่งดัง มีผลงานวิจัยดีเลิศ แต่กลับไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคุณได้ดีเท่าหรือไม่มีเวลาว่างให้กับคุณเท่ากับอาจารย์สอนพิเศษที่ไม่ได้สังกัดกับสถาบันการศึกษา หรือไม่สามารถทำให้คุณเข้าใจเท่ากับการหาดูวิดีโออธิบายบน YouTube

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าการเรียนรู้มีมากมายหลายสไตล์ บางคนเป็น visual learner บางคนชอบเรียนเป็นกลุ่ม บางคนชอบเรียนคนเดียวกับคอมพิวเตอร์ ความร้อนแรงของตลาดเรียนพิเศษในบ้านเรานั้นก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ฟ้องว่ามันมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลในห้องเรียนปกติของพวกเรา

ปัญหาคุณภาพการสอนในระดับอุดมศึกษาของหลายประเทศ ผมคิดว่าเป็นเพราะ 1) โปรแกรมการเรียนปริญญาเอกทั่วไปไม่ได้ถูกออกแบบให้เหล่าดอกเตอร์จบออกมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ที่ดีที่สุด แต่เป็นการฝึกให้คุณออกมาเป็นนักวิจัยต่อเติมความรู้เฉพาะด้านได้ดีที่สุดต่างหาก

2) การเลื่อนขั้นในระบบมหาวิทยาลัยในหลายประเทศนั้นให้น้ำหนักต่อผลงานวิจัยมากกว่าผลงานในด้านการสอนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Major Research Universities จากประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ของเพื่อนๆ ผมพบว่านี่เป็นเรื่องจริงในประเทศสหรัฐอเมริกา ยิ่งเป็นวิชาที่นามธรรมมากๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ขั้นสูง ยิ่งหาอาจารย์ที่มีความสามารถในถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ยาก สุดท้ายบางทีต้องไปลงท้ายกับการหาวิดีโอช่วยสอนใน Youtube ทั้งๆ ที่เราก็จ่ายค่าเล่าเรียนและค่าอยู่อาศัยให้อยู่ใกล้กับตัวมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนไม่น้อย

เมื่อ Online Education สามารถเค้นเอาผู้ที่เผยแพร่ความรู้ได้เก่งที่สุดออกมาและเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ได้ดีกว่ามนุษย์ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับเหล่าอาจารย์ให้เริ่มกระบวนการเตรียมการสอนใหม่ทั้งหมดเพื่อไปยืนหน้าห้องอีกรอบเหมือนปีก่อนๆ หากไม่จำเป็นจริงๆ

ลองนึกดูว่าเราสามารถประหยัดเวลาของศาสตราจารย์และครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่เสียไปในการเตรียมการสอนและการยืนเล็คเชอร์ต่อปีได้ปีละกี่ชั่วโมง กี่วัน หรือแม้กระทั่งเป็นเดือนๆ!

ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าหากมีครูสอนเลขวิชาแคลคูลัส 100,000 คนในโลก แล้วเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถคัดวิธีการสอนแคลคูลัสที่เด็ดที่สุดมาได้ 5 แบบ (สำหรับเด็ก 5 ประเภท เป็นต้น) และถ้าสมมุติว่าชั้นเรียนออนไลน์ 5 ชั้นเรียนเหล่านี้สามารถผลิตเด็กๆ ที่ทำแคลคูลัสได้แม่นยำและไวกว่าเด็กๆ ที่เรียนชั้นเรียนแคลคูลัสปกติ

คำถามคือ เราจะยังจะมีครูสอนแคลคูลัสไปเพื่ออะไรกัน สู้ให้ครูแคลคูลัสที่เหลือไปหาอาชีพอื่นหรือเปลี่ยนตำแหน่งภายในโรงเรียนไม่ดีกว่าหรือ จะมา “reinvent the wheel” กันทำไม

ส่วนเวลาของเหล่าศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีมากขึ้นนั้น ก็สามารถที่จะเอามาลงทุนกับการทำวิจัยได้อย่างเต็มตัว เพื่อทำให้เกิดผลวิจัยอันมีค่าต่อสาขาวิชาและต่อสังคมได้ในเวลาที่สั้นลง

ความคิดที่ต้องการปกป้องความมั่นคงของอาชีพบางอาชีพในมรสุมของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นความคิดที่อ่อนโยนและมีเมตตา แต่เป็นความคิดที่ไม่ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า

ในอนาคตที่ Online Education จะเข้ามามีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น บทบาทของเหล่าอาจารย์อาจจะต้องถูกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ว่า ครูจะมีหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาในด้านการศึกษาหาความรู้ และเป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียนมากกว่าเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ก็เป็นได้

นักเรียนประเภท 2, 3, 4 , …, n

ที่มาภาพ : https://farm8.staticflickr.com/7319/9602545478_048121b4aa_z_d.jpg
ที่มาภาพ: https://farm8.staticflickr.com/7319/9602545478_048121b4aa_z_d.jpg

จากการเป็นนักเรียนมาค่อนชีวิต มีหลายคำถามที่ข้องใจผมจริงๆ …
1. ทำไมนักเรียนถึงต้องไปนั่งในห้องใหญ่ๆ ที่มองกระดานแทบไม่เห็นเพื่อฟังเล็คเชอร์ตอน 9 โมงเช้าถึงจะสามารถ “เรียน” ได้ แล้วถ้านักเรียนบ้านไกลหรือต้องทำงานกะเช้าล่ะ

2. ทำไมนักเรียนทุกคนในห้องถึงต้องเรียน concept ก. ก่อน concept ข. แล้วถ้าเกิดบางคนเขาถนัดเรียน concept ข. ก่อนถึงจะเข้าใจ concept ก. ล่ะ

3. ทำไมนักเรียนทุกคนในห้องถึงต้องการ 1 คาบเท่ากันในการเรียนรู้ concept ก. แล้วถ้าบางคนต้องการ 3 คาบหรือแค่ครึ่งคาบล่ะ

4. ทำไมนักเรียนทุกคนต้องสอบตอนกลางภาค ทำไมสอบมันทุกครั้งที่เรียนรู้ concept ใหม่เลยไม่ได้ เป็นเพราะว่าไม่มีแรงงานคุณภาพมาตรวจทุกวันหรือ

คำถามพวกนี้คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจเวลาผมมองโมเดลการศึกษาแบบปัจจุบัน มันเป็นระบบที่อยู่กับมนุษย์มานาน เพราะจริงๆ แล้วการให้ครูหนึ่งคนยืนหน้ากระดานแล้วสอนคนอีกเป็นร้อยคนนั้นเคยถือว่า “คุ้ม” กับเวลาและทรัพยากรมนุษย์

แต่มันไม่ได้หมายความว่ามันเป็นระบบที่ดีที่สุดในศตวรรษนี้…ที่มีทั้งอินเทอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ มีมือถือ และมี “ผู้สอน” ที่มีคุณภาพให้เลือกอย่างล้นหลาม

Online Education สามารถที่จะเข้ามาเติมช่องโหว่เหล่านี้ได้ในบางโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปจนสามารถทำให้นักเรียนเรียนได้ตาม pace ของตัวเอง และสามารถให้สมองกลให้ feedback กับนักเรียนได้รวดเร็วทันใจกว่าระบบปัจจุบัน

อุปสรรค์ของ Online Education

ที่มาภาพ : https://farm2.staticflickr.com/1373/804190044_c6624295f6_z_d.jpg
ที่มาภาพ: https://farm2.staticflickr.com/1373/804190044_c6624295f6_z_d.jpg

Online Education ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากเมื่อเทียบกับระบบการยืนเล็คเชอร์หน้ากระดานดำซึ่งอยู่กับมนุษย์เรามานานกว่าห้าร้อยปีมาแล้ว แน่นอนว่า Online Education จะต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย เช่น

1. บางสิ่งไม่สามารถสอนกันผ่านจอได้ – ผมเชื่อว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ Online Education ไม่น่าจะสอนนักเรียนได้ดีเท่ากับการ “ไปโรงเรียน” และไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนเป็นๆ เช่น การโต้วาที การทำงานกันเป็นกลุ่ม และการ present ตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น soft skills เหล่านี้แม้จะไม่มีวิชาเป็นตัวเป็นตนสอน แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าในชีวิตการงานและการเข้าสังคมเมื่อนักเรียนเหล่านี้เข้าสู่วัยทำงาน

2. ความมุมานะเพื่อเรียนให้จบ – Online Education มีอุปสรรคสำคัญในการทำให้นักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนนั้นอยู่เรียนจนจบหลักสูตร งานวิจัยของ Perna et al. 2013พบว่ามีเพียง 5% ของผู้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ที่จัดโดย University of Pennsylvania เท่านั้นที่เรียนจนจบชั้นเรียน แต่จริงๆ แล้วข้อนี้เป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่คนเรายังไม่คุ้น ในมหาวิทยาลัยที่ประเทศอเมริกา การลงทะเบียนไปเล่นๆ ในช่วง “Course Shopping” แล้วค่อยดรอปนั้นถือว่าเป็นอะไรที่ธรรมดามาก

3. การโกง – ในอนาคตคงมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ป้องกันการโกงข้อสอบออนไลน์ได้ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถป้องกันการให้ผู้อื่นทำข้อสอบให้ได้จริงๆ หรือไม่คงต้องรอดูกันต่อไป

4. ความน่าเชื่อถือของสถาบัน vs. ความสามารถที่แท้จริง – นี่คือปัญหาโลกแตกที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการวิเคราะห์ว่าคุณค่าของการศึกษาที่แท้จริงแล้วคือความสามารถหรือแค่สัญญาณที่นักเรียนต้องการส่งให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น Online Education จะเข้ามามีบทบางอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อคลื่นลูกใหม่ลูกนี้สามารถซัดเข้าถึงตลาดแรงงานได้จริงๆ และทำให้ผู้จ้างงานยอมรับใน “ตราประทับ” บนใบสมัครงานของนักเรียนออนไลน์

มองไปข้างหน้า

ในเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วถึงขนาดที่ว่า low skill labor นั้นอาจจะสูญพันธุ์ไปจากหลายประเทศ เราจะเห็นความต้องการในการเพิ่มความรู้ความสามารถของแรงงานในทุกๆ มุมของโลกใบนี้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มนักเรียนจากประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสการศึกษาระดับสูงหรือในกลุ่ม professionals ที่ต้องการเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

คำถามคือ “ลูกค้า” กลุ่มใหม่ของตลาดการศึกษาจะเลือกลงทุนทุ่มเงินให้กับ 1. ระบบเดิมๆ 2. จะเรียนออนไลน์เพื่อชีวิตที่มีความยืดหยุ่นกว่า หรือจะ 3. mix and match ระหว่างสองระบบนี้

คำตอบจะขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ จะโต้กลับด้วยวิธีใด โมเดลธุรกิจของสถาบัน Online Education จะสามารถทำเงินได้จริงหรือไม่ และสถาบัน Online จะสามารถจีบบริษัทยักษ์ใหญ่ให้รับผู้จบหลักสูตรออนไลน์ได้แค่ไหน

ในขณะนี้เราเห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยระดับทอปๆ เริ่มมีการปรับเข็มทิศ เริ่มทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ด้วยตัวเองแล้ว เนื่องจากสถาบันเหล่านี้มีทั้งทรัพยากรและแบรนด์ที่เอื้อต่อความสำเร็จในการทำ Online Education นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังมองเห็นถึงข้อดีของการเรียนออนไลน์

แต่ในขณะเดียวกัน เรายังไม่เห็นทีท่าว่าสถาบันออนไลน์จะสามารถทำเงินได้อย่างจริงๆ จังๆ เมื่อเทียบกับโมเดลธุรกิจดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย การหา partner บริษัทชื่อดังมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในโลกออนไลน์เพื่อเป็นการหล่อลื่นการเชื่อมต่อระหว่าง “ความรู้” กับ “รายได้” ก็จะเป็นอีกก้าวสำคัญต่อไปของสถาบันออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Udacity เริ่มเปลี่ยนเข็มเบนไปหาบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Facebook และบริษัท Big Data ทั้งหลายเพื่อเป็นหุ้นส่วนในการผลิตและการถ่ายทำชั้นเรียนของเขาแล้ว จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญเพราะว่ายิ่งสถาบันออนไลน์ทำให้นักเรียนเห็นประโยชน์ทางการเงินได้เท่าไร นักเรียนก็จะยิ่งเห็นคุณค่าของการเรียนออนไลน์มากขึ้น และจะยอมจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นในที่สุด

ในอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า เราคงจะได้เห็นนโยบายเมกะโปรเจกต์ด้านการศึกษาในหลายๆ ประเทศที่การศึกษาในระดับอุดมศึกษายังไปไม่ทั่วถึงทุกท้องที่ ตลาดแรงงานโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อเนื่องจากว่าแรงงานสามารถทำงานไปด้วยและหาความรู้กับผู้สอนระดับทอปไปด้วยในเวลาเดียวกันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก

ส่วนในเรื่องของการอยู่รอดนั้น มหาวิทยาลัยระดับทอปกับระดับกลางเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ ส่วนสถาบันระดับล่างหรือสถาบันที่ปิดหูปิดตาตัวเองและไม่ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็จะค่อยๆ สูญพันธุ์ไปเอง

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศเห็นชอบและจะสนับสนุนการเรียนรู้ออนไลน์แค่ไหนด้วย จุดเสี่ยงสำคัญที่ต้องระวังคือการที่นักการเมืองมักจะมองว่าการเรียนออนไลน์เป็นนโยบาย “สุดคุ้ม” แต่อย่างเดียว ทั้งๆ ที่จุดหมายที่แท้จริงของการศึกษาคือการพัฒนาความรู้และความสามารถของมนุษย์

แน่นอนว่าการแพร่กระจายความรู้ไปได้ทั่วราชอาณาจักรด้วยราคาที่ต่ำนั้นสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมเรื่องคุณภาพและเป้าหมายของการศึกษาครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com วันที่ 21 กันยายน 2557