ThaiPublica > เกาะกระแส > ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แจง 1 ปี “เศรษฐกิจไทยจะพุ่งหรือยุ่ง” ต้องทำและไม่ทำอะไร

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แจง 1 ปี “เศรษฐกิจไทยจะพุ่งหรือยุ่ง” ต้องทำและไม่ทำอะไร

16 ตุลาคม 2014


มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมจัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางประเทศไทย” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี (กลาง) และศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (ขวา)อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินรายการโดย วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี เมื่อวันพุธ ที่15 ตุลาคม 2557
มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมจัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางประเทศไทย” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี (กลาง) และ ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (ขวา) อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินรายการโดย วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี
เมื่อวันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557

มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมจัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางประเทศไทย” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยจะไปรุ่งหรือไปยุ่ง” และ ศ. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในหัวข้อ “ประชาธิปไตยไทย ประชาธิปไตยโลก” ดำเนินรายการโดย วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี เมื่อวันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557

อธิปไตยที่ตั้งอยู่บนรากฐานของคุณธรรม

ในฐานะที่ท่านเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป อยากจะขอเสนอความคิดฝากไว้ ถ้าพูดถึงประชาธิปไตย 3 แบบในโลกตะวันตกที่เป็นระบบรัฐสภา ระบบประนาธิบดี หรือระบบกึ่งรัฐสภาก็ตาม แต่มีลักษณะอยู่อย่างหนึ่งที่ประชาธิปไตยพวกนี้ จุดจบของเขาคือประชานิยม เพียงแต่ว่าประเทศไหนกันนิยมได้ก่อน กันไม่ให้เสีย ประเทศนั้นก็ไปได้ ในยุโรปนี่ชัดเจน คือถ้าใครไปยุโรปจะเห็นว่าสวัสดิการนี่เหลือเชื่อ สวัสดิการไม่ใช่ของไม่ดี ของดี แต่ถ้ามากไป มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ประเทศไม่มีประสิทธิภาพในการทำมาหารายได้ทางเศรษฐกิจและกลายเป็นหนี้ภาครัฐ ฝรั่งเศส กรีซ สเปน โปรตุเกส ที่มีปัญหาจนกลายเป็นหนี้ภาครัฐ หนี้สาธารณะจนกว่า 100% หรือ 150% ของ GDP ก็เกิดจากประชานิยมนั่นเอง และมันแปลก พอพรรคหนึ่งเสนอประชานิยมแบบหนึ่งก็จะใช้เงิน อีกพรรคหนึ่งก็คิดได้เหมือนกัน เลือกตั้งคราวหน้าก็เสนอมากกว่า มันมากทับถมจนกลายเป็นหนี้ จุดจบประชาธิปไตยก็คือประชานิยมนี่เอง ก็ฝากท่านไว้ว่าทำอย่างไรไม่ให้มันมาทำลายประชาธิปไตย

เยอรมันมีกฎหมายในรัฐธรรมนูญเขียนไว้คล้ายๆ กับว่า ถ้ารัฐจะกู้หนี้ ก็ต้องมาเพื่อการลงทุนเท่านั้น ไม่ได้กู้หนี้มาเพื่อแจกเงิน ไม่ใช่กู้มาเพื่อเอาไปให้คนใช้ไม่ว่าจะในชื่ออะไรก็ตาม และมีกฎหมายอื่นๆ ก็อยากฝากไว้ว่า ถ้าท่านจะให้ประชาธิปไตยรอด ต้องทำยังไงก็ตาม อย่าให้มีการนำเงินไปปู้ยี่ปู้ยำในเรื่องประชานิยมจนเอาไม่อยู่ พรรคหนึ่งคิดได้อีกพรรคก็คิดได้

อันที่ 2 ที่อยากจะฝากไว้คือว่า เข้าใจว่าสภาปฏิรูปคงคิดถึงระบบการเมือง การเลือกตั้ง อะไรก็ตาม ที่กันคนไม่ดีมาบริหารบ้านเมือง ก็ต้องเรียนตามตรงว่าในระบอบทุกอย่างในโลก พยายามกันคนไม่ดีทั้งนั้นแหละ แต่มันไม่เคยกันได้สำเร็จ ยังไงก็มีคนไม่ดีแทรกเข้ามามากน้อย ก็อยู่ที่การอบรมของบิดาของคนเหล่านั้น อยู่ที่วัฒนธรรมในตอนนั้น ซึ่งเริ่มเปลี่ยนไปเยอะ จุดของผมคือว่าท่านจะทำอะไรก็ตาม อย่าลืมให้มีกฎเกณฑ์ในการเอาคนไม่ดีออกให้เร็วขึ้น ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์ให้ออกเร็วขึ้น มันก็ยังอยู่ แต่ถ้ามีคนให้ออกเร็วขึ้น คนไม่ดีที่เหลือในระบบการเมืองจะไม่มากพอที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตย

ผมตัวอย่างง่ายๆ ฝาก ดร.อเนกไว้เลย ปัจจุบันถ้านักการเมืองทำอะไรผิดและถูกฟ้องคดีการเมืองหรือคอร์รัปชันอะไรก็ตาม ถ้า 3 ศาล ตัดสินไม่ถึงที่สุด ก็ยังเป็นตำแหน่งการเมืองอยู่ได้ มันถึงคาราคาซังเต็มไปหมด แต่ถ้ามีกฎง่ายๆ ที่บอกว่าต่อไปถ้านักการเมืองทำอะไรที่ถูกฟ้องได้ แค่ศาลรับฟ้องอย่างมีเหตุมีผล ต้องหลุดจากตำแหน่งการเมืองเลย นอกจากตัวเองแล้วยังรวมถึงลูกเมียที่ใกล้ชิด ถ้าท่านทำตรงนี้ออกมาได้ ผมคิดว่าหมดไปครึ่งสภา อันนี้จะล้าง เข้ามาได้ก็ล้างออกได้เร็ว ก็ฝากสภาปฏิรูปที่คิดอะไรที่ใช้การได้ในทางปฏิบัติแบบนี้ อย่าไปคิดอะไรที่เป็นยูโทเปีย เดี๋ยวมันไม่ออก หรือออกมาเป็นประเทศอื่นไปอีก

อันที่ 3 ผมสังเกตเห็นที่ท่านพูดมา ประชาธิปไตยอะไรก็ตาม มันมีระบอบเยอะ ประชาธิปไตยที่สั่งได้ก็มี และกลายเป็นประชาธิปไตยที่ดีด้วยก็มี ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ ถามว่าประชาธิปไตยหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ เป็นระบอบที่วางรากสั่งมาได้ เขาดีได้ ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ไม่ได้ดีได้จากประชาธิปไตย แต่เขาดีได้ด้วยคุณธรรม เป็นระบอบการเมืองที่ตั้งอยู่บนฐานคุณธรรม ลี กวนยู (อดีตประธานธิปดี) เน้นคุณธรรมมาก

ผมดูหลายแห่งในโลก ประชาธิปไตยบางประเทศดูบริหารดี บางประเทศไม่ดี ดูให้ลึกๆ เพราะประเทศที่ดีมันตั้งอยู่บนรากฐานคุณธรรม ซึ่งสร้างยังไงไม่รู้เหมือนกัน ผมจำได้ตอนผมบวช วัดป่าบ้านตาด ได้อ่านหนังสือเยอะ ได้อ่านที่ท่านพุทธทาสเขียนไว้ ท่านบอกว่าระบอบการปกครอบที่ดีที่สุดคือระบอบธรรมาธิปไตย คืออธิปไตยที่ตั้งอยู่บนรากฐานของคุณธรรม ซึ่งหมายความว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม จะประชานิยมหรือไม่ก็ตาม จะเผด็จการหรือไม่ก็ตาม ถ้าอยู่บนรากฐานของคุณธรรม ประเทศนั้นเจริญและสงบ มีเสถียรภาพ ก็เลยฝาก สปช. ด้วย จะทำอะไรก็ตาม ถ้ามีรากฐานของคุณธรรมได้ ระบอบนั้นก็จะมีเสถียรภาพ

เศรษฐกิจจะยุ่งหรือจะพุ่ง

ส่วนหัวข้อที่ผมจะพูดในวันนี้ ที่ตั้งหัวข้อว่า “เศรษฐกิจจะยุ่งหรือจะพุ่ง” ถ้าหัวข้อนี้ตอบได้ง่ายๆ ปีหน้าถ้าเทียบกับปีนี้ยังไงก็รุ่ง ไม่ได้เก่งอะไรหรอก ปีนี้จากการประท้วงต่อเนื่องจากปีที่แล้วจนถึงพฤษภาคม และจากการที่ระหว่างเตรียมตัวจะเปลี่ยนรัฐบาล เกิดความความล่าช้าทางเศรษฐกิจหลายเรื่อง มันเดินไม่ได้ และไม่อยู่ในสภาพที่ผลักดันไม่ออก สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อการเติบโตในปัจจุบัน

ประกอบกันตอนนี้ โลกทั้งโลกไม่ได้อยู่ในสิ่งที่ว่า recession เศรษฐกิจไม่ได้ถดถอย แต่อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวทั้งโลก 2 อย่างมันซ้อนกัน จึงไม่แปลกใจที่ทำไมอัตราการเติบโตจึงไม่เกิน 2% คือ ถ้าเราไม่มีการประท้วงมาเลย และรัฐบาลเดินตามปกติ แม้เศรษฐกิจของโลกชะลอตัวเราก็อยู่ได้ไปถึง 3-4 % ได้สบายๆ แต่เราโดน 2 อย่าง โลกชะลอตัวและเราชะลอตัวเราเอง คือหยุดทำงานมาตลอดหรือทำงานช่วงนั้นก็ไม่เต็มที่ เพิ่งมาเต็มที่ตอนเป็นรัฐบาล

ฉะนั้น แน่นอน ปีนี้ไม่เกิน 2% แต่ว่าการที่ปีนี้ฐานต่ำปีหน้ายังไงก็ขึ้น เพราะปีหน้าเป็นปีที่งบประมาณที่ออกจะทำงานเต็มที่ ยอดส่งออกถึงจะไม่พุ่งแรง แต่เนื่องจากปีนี้ตกมาฐานต่ำ ปีหน้าก็พุ่งขึ้นบ้างแน่นอน การลงทุนภาคเอกชนก็จะมาเพราะหลังจากที่บ้านเมืองสงบ

การส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งไม่ได้ทำงานตลอดช่วงประท้วง 7 เดือน หลังเดือนมิถุนายนก็เริ่มทำงานมา โครงการ BOI ก็เริ่มรับอนุมัติไปเรื่อยๆ ฉะนั้น การลงทุนภาคเอกชนก็ฟื้นตัวดีกว่าปีนี้ การใช้จ่ายภาครัฐ งบประมาณปี 2558 ก็จะลงมาแบบเต็มที่ เพราะมันรอมานาน การส่งออกมันก็จะขึ้นมาบ้าง มากน้อยต่างกันเท่านั้นเอง

“สิ่งเหล่านี้ทำให้ปีหน้า 4% แน่ๆ ไม่ต้องไปชมใคร เพียงแต่ว่าช่วงนี้ที่มันชะลอตัวผมจำเป็นต้องกระตุ้นหน่อย เครื่องมันเย็นมานาน ต้องกระตุ้นให้เครื่องมันร้อน มันก็จะไปได้ และสิ่งที่กระตุ้นไปก็ใช้สามัญสำนึกธรรมดานั่นแหละ งานอะไรที่มันค้างอยู่ อยากได้ก็สร้างงานมัน การก่อสร้างค้างอยู่ อยากซ่อมโรงเรียน 8,000 โรงเรียนก็ซ่อมมัน เพราะการซ่อมอาคาร สถานีอนามัย ก็ทำไป เพราะพวกนี้มันเป็นประโยชน์ถึงลูกถึงหลานแน่นอน มันไม่มีสูญเปล่า เพราะการซ่อมสร้างเหล่านี้ เวลาเซ็นสัญญาพร้อมกันทั้งประเทศงานมันขยับพร้อมกันทั้งประเทศ พองานขยับการใช้จ่ายก็ขยับ”

และแถมให้ชาวนาที่ด้อยโอกาส ที่มีที่ดินไม่ถึง 15 ไร่ เขาไม่เคยได้อะไรจากการจำนำข้าวเลย การจำนำข้าวแปลก ใน 3 ล้าน 4 แสนครอบครัว ที่เงินเข้าบัญชี 1.6 ล้านครอบครัว เพราะพวกนั้นเป็นพวกที่ทำงาน 20 ไร่ขึ้นไป แต่พวก 15 ไร่ลงมาไม่เคยได้เงินเข้าบัญชีเลย เพราะเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ จริงๆ ด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ไปเดาเอาเอง ว่าทำไมว่าชาวนาขนาดเล็ก ไปดูบัญชีไม่เคยมีเงินเข้าเลย

“จุดอ่อนเหล่านี้ พอเรากระตุ้นขึ้น จะทำให้ทุกอย่างขยับตัวแล้ว เมื่อทุกอย่างมันจะเดินด้วยตัวเอง งบประมาณจะเดินเต็มที่ การลงทุนที่อนุมัติไปก็มีการลงทุน ไม่มีอะไรที่ไปบอกว่าดีเพราะรัฐบาลนี้เก่ง ไม่ใช่ มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน เพียงแต่กระตุ้นนิดหน่อยให้มันเกิดขึ้น”

ปรีดิยาธร เทวกุล เสวนาทิศทางประเทศไทย

2 ทิศทางที่ต้องเดินต่อไป

ส่วนทิศทาง รัฐบาลนี้เข้ามาเพื่อจะเตรียมอะไร เพื่อหาทางเตรียมทิศทางที่ถูก ให้เดินได้ต่อไป เศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นไปได้ด้วยตัวเอง เราอย่าไปปลื้มกับเศรษฐกิจ 4% แล้วจะอยู่เฉย ไม่ใช่ เราจะใช้ 1 ปีที่เหลือเตรียมทางให้ประเทศเดินต่อไปให้ถูกต้องให้ได้ เท่าที่จะมีเวลาและความสามารถที่จะทำได้ ซึ่งคงทำได้ไม่หมดหรอก

ถามว่าทิศทางอะไรที่จะทำให้ผลักดันเดินต่อไปได้ มี 2 เรื่อง คือ 1. สิ่งที่ทำมาแล้วแล้วถือว่าดี แล้วควรจะผลักดันต่อ 2. สิ่งที่ขาดอยู่ ควรจะเติมให้เต็ม

สิ่งที่ทำมาแล้วแล้วถือว่าดี แล้วควรจะผลักดันต่อ ประเทศไทยเศรษฐกิจเราวันนี้ เกษตรก็ถือว่าดี ยางเป็นอันดับหนึ่งของโลกราคาจะตกหน่อย แต่เมื่อ 2-3 วัน ข่าวดีจะออก โดย 2-3 ปีที่ผ่านมา supply ของยางมากกว่า demand แต่ปีนี้ตัวเลขมันชัดแล้ว ฤดูกาลนี้ supply จะลดลงและ demand จะเพิ่มขึ้น จะออกมาสมดุลพอดี ช่วยให้ราคาพอดีได้ แต่ต้องใช้เวลานิดหนึ่งและจะมีข่าวดีที่พยายามกระตุ้นให้

ด้านข้าว แค่เลิกจำนำและปล่อยให้เป็นเกษตรกรค้าขายเอง ตอนนี้เราขายไปได้ 8 ล้านตัน และเชื่อว่าสิ้นปี 10 ล้านตัน กลับไปเป็นที่ 1 ของโลกในปีเดียวไม่ต้องรอ 2 ปี แต่ปีนี้ราคาต่ำไปหน่อย คิดว่าถ้าปีหน้าถ้าสต็อกที่มีขายออก ราคาจะขึ้นด้วย ปีหน้าจะสูงกว่านี้อีก

หรือสับปะรดกระป๋อง ที่ 1 มา 40 ปีแล้ว และผลไม้อื่นเริ่มขยับขึ้นมา น้ำตาลที่ 2 ของโลก นี่คือสิ่งประเทศไทยมีชื่อด้านเกษตร

ทางด้านอุตสาหกรรม มักมีคนพูดว่าอุตสาหกรรมเราสู้ไม่ได้ จริงอยู่บางอย่างสู้เขาไม่ได้ อิเล็กทรอนิกส์เราแพ้มาเลเซีย แต่เป็นอันเดียวที่แพ้ ที่เหลือในอาเซียน สินค้าเราที่หนึ่งหมด สินค้าอุปโภค บริโภค หัวจรดเท้า เช้าจรดเย็น ที่คุณใช้อยู่ ไม่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ถ้วยชาม เป็นต้น นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าใจ ไม่มีประเทศไหนในอาเซียนสู้เมืองไทยได้

ที่สำคัญคือว่าเราไม่ได้หยุดแค่อาเซียน เดี๋ยวนี้สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวเราเริ่มเป็นที่เรียกว่าอันดับนำของโลก อย่างกระเบื้องเซรามิกของ SGC ผลิตและส่งออกที่ 1 ของโลก ไม่ใช่ของเอเชียนะ ปลาทูน่ากระป๋องผลิตและขายที่ 1 ของโลก หรือชามเมลามีน ผลิตและขายที่ 1 ในโลกเช่นกัน ยังมีอีกเยอะที่เราไม่ได้ยกตัวอย่างมา เราเป็นผู้เล่นระดับโลกในสินค้าหลายตัว ทั้งผลิตและขายไปแล้ว

ถามว่าพวกนี้ทำได้ยังไง ก็ต้องดูประวัติว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมในอดีตมี 2 จังหวะ คือ 1. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังปฏิวัติแล้วก็ตั้ง BOI ก็รับต่างประเทศมาลงทุน สร้างฐานอุตสาหกรรมง่ายๆ ตอนแรก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งที่เราเรียกว่า labor intensive แล้วก็เป็นสินค้าบริโภคอุปโภคง่ายๆ แค่นั้นเองประเทศก็เจริญมาเยอะ

2. สมัยป๋าเปรม (พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี) เราเจอแก๊สธรรมชาติ แยกแก๊สออกได้ เอทิลีน โพลีเอทิลีน โพรเพน กลายเป็นฐานสำหรับปิโตรเคมี จากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตามมาอีกยาวเลย

จนถึงวันนี้ เรากินบุญเก่า ตอนนั้นเจริญเติบโตอย่างเร็ว ประเทศไทยช่วง 2529-2539 อัตราเจริญเติบโตเฉลี่ย 9.25% ตอนนั้นยิ่งใหญ่จริงๆ แต่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม

แต่อีกอันที่ไม่มีใครนึกคือผู้ประกอบการ เรามีกองทัพผู้ประกอบการที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และผู้ประกอบการนี้สะสมทุนไว้ขณะนี้เป็นผู้ประกอบการที่มี private capital ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ขณะนี้คนที่มี private capital คือคนที่ได้เปรียบที่ไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นับดูใครลงทุนบ้าง

มีคนพูดว่าเปิด AEC ไทยจะแพ้เขา เขาจะบุกเรา แต่พอไปอยู่ประเทศอื่น นี่ของไทยทั้งนั้นเลย เข้าไปยุ่งเขาหมด เขาต้อนรับเงินทุนของเรา เพราะเรากำลังขยายฐานกำลังการผลิต หรือ SGC ตั้งโรงงานทั่วอาเซียน มีโรงปูนซีเมนต์ที่เขมร มีโรงผลิตกระเบื้องอยู่ที่เวียดนาม มีอีกหลายอย่างที่อินโดนีเซีย ศรีไทยมีโรงงานผลิตเมลามีนที่จีน เวียดนาม พวกนี้เขาขยายฐานกำลังผลิต และมีอีกเยอะที่ขยายฐานกำลังผลิตไปเป็นหลายสิบบริษัท

ถามว่าไปขยายฐานการผลิตแล้วได้อะไร ตอบง่ายๆ เขาขยายการผลิตเพื่อจะไปขายตลาดนั้น นั่นคือก้าวแรก ปัจจัยที่ 2 เขาขยายการผลิตเพื่อจะเพิ่มการผลิตสินค้าให้มีหลายคุณภาพ อย่าง SCG ผลิตกระเบื้องอย่างดีที่นี่ขายคนไทย เพราะคนไทยฐานะดีแล้ว ขายยุโรป อเมริกา กระเบื้อง SCG ผลิตที่เวียดนาม ราคาถูกกว่า ต้นทุนถูกกว่า แต่ว่าราคานั้นเป็นราคาที่ตลาดล่างซื้อได้ เขาขายในประเทศกัมพูชา พม่า เวียดนาม ลาว หมดเลย ขายข้าม พวกนี้เวลาเขาขยายการผลิตเพื่อยึดตลาดโลก หรือน้ำตาลมิตรผล ไปมีโรงงานอยู่ในจีน 6 โรง ออสเตรเลีย 1 โรง ขณะนี้เขาขายแข่งกับในโลก เขาบริษัทเดียวเป็นอันดับ 4 ของโลกแล้ว

ขณะนี้นักอุตสาหกรรมไทยซึ่งมีกองทัพผู้ประกอบการเยอะกำลังเดินแนวนี้ จุดก็คือที่เราเดินมาถูกทางไหม นี่ผมยังไม่พูดถึงอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งมีอีกเยอะ นี่คือความแข็งแรงของไทยในเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม บริการ แข็งแรงมาก สิ่งที่แข็งแรงเหล่านี้ กำลังขยายฐานของเขาเพื่อเขาต้องการที่จะเป็นผู้เล่นสำคัญของระบบการค้าของโลก และทุกคนเห็นคนนี้ทำสำเร็จก็กำลังทำตาม และที่ทำตามได้เพราะประเทศไทยเงินทุนเยอะมาก

ดังนั้น ฐานะเรามันมีจุดที่กำลังเดินไปดี แนวโน้มที่เขาออกไปขยายฐานการผลิต ถามว่าดีไหม ดี เพราะมันเปิดโอกาสการค้าและมันก็มีลูกโซ่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งหมดเลย

“ฐานการเกษตรก็ต้องผลักดัน อย่าไปทิ้ง แต่เราผลักดันแบบให้ดูเข้าจังหวะโลก อย่างตอนยางพารา เราพุ่งแรงเกินไปจนเลยโลกมันก็เลยมีปัญหา ถ้าเราดูให้มันพอดีเข้ากับความต้องการของโลก เราจะไม่มีปัญหา เราจะไปได้ยิ่งกว่านี้เรื่อยๆ ”

แต่เราเริ่มถึงจุดที่มีปัญหานิดๆ แล้ว คือเราขยายฐานการผลิตเรื่อยๆ แต่สังเกตไหมว่า บริษัทผู้ค้ารายใหญ่ไม่อยู่ในเมืองไทยเลย บริษัทหลายบริษัทเขาย้ายการผลิตแล้ว แต่เขาไปตั้งสำนักงานใหญ่หรือศูนย์กลางสำหรับค้าขาย ไปตั้งที่สิงคโปร์แทนที่จะตั้งเมืองไทย ทั้งที่ฐานการผลิตใหญ่อยู่เมืองไทย เราก็ดูไม่มีใครมาตั้งศูนย์ค้าในเมืองไทยเลย พอไปดูระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ เราต่างจากที่อื่นๆ

เอากฎเกณฑ์ของเรา ถ้าเทียบกับฮ่องกง สิงคโปร์ ไม่มีใครมาเมืองไทย ทั้งกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับภาษี เหล่านี้ต้องแก้ให้ได้ ผมคิดว่าภายใน 1 เดือนผมแก้เสร็จ เพื่อจะเปิดอีก 1 โอกาสของเมืองไทย เพื่อให้เมืองไทยเป็นศูนย์การค้าของภูมิภาค คือบวกกับอาเซียนบวก ต้องทำให้ได้เพราะเรามีฐานสินค้าอยู่แล้ว เพียงแต่กฎหมายและกฎเกณฑ์มีทั้งไม่เกี่ยวกับภาษีด้วย ใบอนุญาตการทำงาน ฝรั่งทำงาน 2 ปี แต่อยู่ 90 วันต้องบินออกนอกประเทศและบินกลับมาเพื่อต่อ VISA มันผิดไปหมด พวกนี้เราแก้ได้ เราเทียบกฎกับสิงคโปร์กับฮ่องกงแล้วแค่แก้ตามก็พอแล้ว ประเทศเรามีเสน่ห์ ถ้าเหมือนๆ กันฝรั่งเลือกเมืองไทย มันสนุกกว่าเยอะ มันไม่เบื่อ

อันต่อไป ที่ขยายฐานการผลิต ภาคเอกชนไปด้วยตัวเอง ยังไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐไปช่วยเลย เอสเอ็มอีเล็กๆ เริ่มต้องการไปประเทศใกล้เคียง เขาไปช้า ก็ต้องแก้ โดยให้ BOI หันมาทำหน้าที่เพิ่มเติมในการส่งเสริมการลงทุนของคนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ อันนี้เขาเริ่มตั้งหน่วยงานนี้ใน BOI และจะทำให้มันแข็งแรงกว่านี้ ทำเพื่อการสร้างฐานการผลิตเป็นไปอย่างแน่นหนา มั่นคงมากขึ้น และเร็วมากขึ้น

ผมคิดว่าเราไม่ต้องเป็น trading nation ของโลก แต่เราน่าจะเป็นในภูมิภาคได้ ถ้าเราทำได้ดี เราต้องเตรียม ส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ ทำเรื่องโลจิสติกส์ ทำการขนส่งทางรางเพื่อขนส่งให้มาก ไทยอยู่ตรงกลาง ถึงแม้ระบบรางเราไม่ดีแต่ระบบถนนเราดีที่สุดใน 6 ประเทศ และสามารถเชื่อมต่อได้หมด นี่คือสาเหตุที่สินค้าจากเวียดนามข้ามไทยไปพม่าได้ไม่ยากเลย จุดก็คือต้องทำระบบรางให้ดีแล้วสินค้าจะวิ่งผ่านมากขึ้น ประเทศไหนสินค้าวิ่งผ่านไม่รวยก็แย่แล้ว เป็นเส้นทางที่ควรจะผลักดันต่อไป

แต่แน่นอน ในความแข็งแรงก็มีความอ่อนแอ มีจุดที่ต้องแก้ เช่น ต้นทุนเราแพงมาก คือ 1. เชื้อเพลิง ประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงมูลค่าทั้งหมด 19% ของ GDP ประเทศอื่นใช้ประมาณ 9% ของ GDP ต้นทุนเราแพงขึ้นเยอะ แต่เรายังสู้เขาได้ แต่อีกหน่อยมาร์จินการจะสู้มันแคบลง มันต้องลดตัวนี้ลงให้ได้ แต่ที่มันสูงเพราะว่าโครงสร้างราคาเรามันผิด ขอไม่อธิบายยาวเดี๋ยวมีคนมาประท้วงผมอีก โครงสร้างมันผิดจริงๆ ไปเอาใจคนใช้ให้ไปใช้บางอย่างมากเสียจนผิดความสมดุล ต้นทุนเราเลยสูง

2. มาตรการประหยัดไฟเราก็ยังไม่ดี แม้จะดีกว่าเมื่อก่อนก็ประหยัด แต่ยังไม่ประหยัดเท่าเมื่อก่อน ยังทำได้มากกว่านี้อีกเยอะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ตู้เย็นเบอร์ 5 ของไทยใช้ไฟน้อยมาก แต่ไปดูเบอร์ 5 ของเรา EER Rating ปีนี้ 11.6 แต่เบอร์ 5 สิงคโปร์มัน 16 ซึ่ง 11.6 ของเราเท่ากับเบอร์ 2 สิงคโปร์ ของแบบนี้เราปรับไม่ทัน เราช้ากว่าคนอื่นเยอะ เขมรเบอร์ 5 ดีกว่าไทย เมื่อก่อนไม่ต่างเท่าไหร่ แต่พอเขาขยับแล้วเราไม่ขยับ

“ข้อดีของรัฐบาลนี้ที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย มันดีอยู่อย่างคือไม่ต้องกลัวไม่ปอปปูลาร์ แต่บางคนกลัว ผมว่าต้องไม่กลัว แล้วแก้ไปเลย ”

3. ภาษีเรา เราเก็บภาษี 19% ของ GDP ซึ่งถือว่าน้อย ที่อื่นเขา 24, 29, 30 หมด และเราใช้งบประจำส่วนใหญ่คือเงินค่าใช้จ่าย ที่เหลือ 2 .5 ล้านล้านบาท เหลือเป็นงบลงทุน 4 แสนล้าน มันก็ไม่มีงบไปลงทุนขยายพื้นฐานดีๆ ของประเทศ มันไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องเพิ่มภาษี แต่เพิ่มยังไงให้ยุติธรรม

วิธีเพิ่มก็คืออย่าไปกระทบผู้มีรายได้น้อย ให้กระทบน้อยที่สุด กระทบผู้มีรายได้มากผมก็โดนด่าเละ คนที่ชอบกันก็เริ่มไม่ชอบแต่เราเก็บให้ยุติธรรมที่สุด เดิมสิ่งที่เราเก็บคือภาษีการค้าและภาษีรายได้ แต่เรายังไม่เก็บภาษีจากทรัพย์สินที่มีกันเยอะแยะมหาศาล แต่ว่าเก็บเพื่อให้มันดีขึ้น เก็บให้ยุติธรรม แต่ทำยังไงไม่ให้รู้สึกไม่ให้กระเทือน ไม่ให้มันวุ่นวาย อัตราที่ออกมาจะต่ำเพื่อให้เริ่มได้ก่อน แค่ต่ำก็จะได้เยอะ เพราะไม่เคยเก็บมาเลย จะต่ำจนทุกคนไม่รู้สึก อย่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้าน เก็บจนไม่รู้สึกว่ามันเพิ่มขึ้น แต่มันเพิ่มคนละนิด ทั้งประเทศก็จะเยอะ

4. โครงสร้างอื่น สิ่งที่แพ้ประเทศอื่น ที่ต้องปรับคือดิจิทัล ผมไม่เรียกคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต เขาเรียกดิจิทัลกัน เพราะเดี๋ยวนี้รอบตัวคุณเป็นดิจิทัลหมดแล้ว จะโอนเงินก็ดิจิทัล ทำอะไรมันก็ดิจิทัล เปิดดูหนังก็จะมาจากระบบดิจิทัล มันแทรกอยู่ในทุกอณูของเรา แม้แต่ช็อปปิ้ง และมันกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ

“แต่ว่าระบบดิจิทัลของเรา ที่ผ่านมาเขาก็พยายามทำกัน แต่มันไปจบที่ว่า มันใช้เฉพาะคนที่สามารถใช้ได้บางกลุ่ม พวกไอทีใช้ได้ แต่มันไม่เป็นดิจิทัลสำหรับคนทุกคนทั่วประเทศที่ใช้ได้ ประเทศอื่นเขาทำเป็นจุดดิจิทัลที่ทุกคนเข้าได้หมด”

ถ้าเราไม่ขยับทุกอย่างจะโดนประเทศอื่นจะมาแย่งเราไป ดิจิทัลจะแทรกอยู่ในอุตสาหกรรมบริการ อย่างแบงก์ ที่จะมีดิจิทัลบรานซ์ จะเข้าไปแทรกในอุตสาหกรรม อีกหน่อยจะเข้าถึงเกษตร การศึกษา แอนิเมชัน เดี่ยวนี้ดูเด็กที่เรียนหนังสือเขามีแลปทอป ครูสั่งงานตามแลปทอป ผมเห็นครูสั่งงานเด็ก 6 โมงเย็นสั่งที่บ้านเลย พรุ่งนี้ส่ง เด็กก็รีบทำเดี๋ยวนั้นเลย

ทุกอย่างมันเป็นโลกดิจิทัลไปหมดแล้ว แต่พื้นฐานเราให้เกิดความกว้างไกล ให้คนมาใช้ง่ายๆ มันไม่พอ ที่สำคัญเด็กเราเก่งๆ เยอะ ชนะเลิศเขียนโปรแกรม บางคนเป็นตัวเขียนที่ดสนีย์แลนด์แล้ว เด็กเราชนะแอนิเมชันของดิสนีย์ เขาสร้างแอนิเมชันไม่มีใครชนะเลย เด็กเราชนะได้ ฝรั่งซื้อตัวหมดเพราะเราเองไม่ได้เตรียมที่จะให้เด็กพวกนี้ยืน มีที่ทำงาน มีทุนให้ ขณะที่สิงคโปร์มันมีแล้ว มันต้องทำหมดทุกอณู แม้กระทั่งการศึกษา ก็ต้องคุยกันว่าต้องสร้างเด็กแบบนี้ ไม่งั้นอุตสาหกรรมแบงก์เราสู้เขาไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เราช้า

เมื่อช้าอยู่แบบนี้จึงต้องทำให้ทัน ช้ามาหลายก้าว นี่คือสาเหตุที่เราต้องทำให้ได้ 1 ปี ไม่มีทางทำเสร็จ แต่ 1 ปีถ้าตั้งใจดีๆ มันวางรากฐานให้เหมือนกับบังคับให้รัฐบาลต่อไปยังไงต้องทำตาม ต้องทำแบบนั้น จุดก็คือต้องมีคณะกรรมการระดับชาติ นึกถึงตอนที่เราตั้งอีสเทิร์นซีบอร์ดเราทำได้เร็วมาก คนอื่นสร้างเป็น 10 ปี เราเสร็จใน 4 ปี เพราะนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ พอนายกฯ นั่งหัวโต๊ะทุกกระทรวงขยับ ทุกกระทรวงต้องขยับ มันถึงจะไปได้ เศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นไปได้ ประมาณ 10 กระทรวงต้องขยับ มันถึงจะไปได้ แต่วันนี้ยังอธิบายมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่ผ่านสภา การจะมีคณะกรรมการระดับชาติ ถ้าไม่มีกฎหมายที่รองรับก็ไม่มีอำนาจไปสั่งใครเขา ต้องทำให้มีอำนาจในการสั่งการ มันถึงองค์กรเอกชนด้วย

เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นการเรียกร้องมาจากสภาหอการค้า เราล้าหลังก็บอกล้าหลัง ยอมรับมันแล้วผลักดันให้เต็มที่ แต่ผมดีใจ คนที่ผมรู้จักพร้อมจะช่วยจริงๆ ไม่ได้หวังเอาหน้าเอาตา ช่วยอยู่ข้างหลังก็ช่วย ทุกคนรู้ว่ากำลังเราไม่พอหรอก ความรู้เราไม่พอ ประสบการณ์เราไม่พอ ทุกคนเอาประสบการณ์มาเติมให้ตลอดเวลา หวังว่าให้เอาไปทำให้มันครบ ซึ่งอันนี้ จุดที่หนักคือทำยังไงให้มันครบ

“ผมคิดว่าคนไทยไม่แตก คนไทยรักชาติ รักในหลวงทุกคน แค่ความเห็นบางเรื่องต่างกัน เราไปตีให้มันต่างกันมาก ก็เลยไปตียุ่งกันหมด ผมกับลูกยังต่างกันเลย ความเห็นบางอย่างมันต่างกันได้ เราอย่าทำให้ความแตกต่างนี้ขยายใหญ่โตจนมันบานปลาย อยู่ด้วยกันไม่ได้ ผมคิดว่าต้องคิดแบบนี้ ถ้ามีทัศนคติว่า ไม่แบ่งแยก เขาจะต่างกันเล็กน้อยก็เป็นบางโอกาส บางอารมณ์ คิดแค่นั้น มันก็จะอยู่กันได้