ThaiPublica > คนในข่าว > “น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์” จิตแพทย์เด็ก-เลขาธิการมสส. การปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคน

“น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์” จิตแพทย์เด็ก-เลขาธิการมสส. การปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคน

24 ตุลาคม 2014


เกิดอะไรกับการศึกษาไทย

เด็กไทยขาดโอกาส…โอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลาย

ปัจจุบันเด็กไทยถูกกำหนดให้เรียนเหมือนกันหมด ทั้งๆ ที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เขียนไว้ชัดเจนถึงสิทธิของคนไทยในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปแบบการศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย โดยจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนสำหรับผู้ซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ ทั้งนี้เพื่อให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และตอบสนองวัตถุประสงค์ของศูนย์การเรียนนั้น

ตามข้อมูลของธนาคารโลกเคยระบุว่า มีเด็กไทยจำนวนกว่า 5 ล้านคน ที่อยู่นอกระบบการศึกษาหรือไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการ เด็กพิเศษที่ต้องการในแต่ละด้านที่ไม่เหมือนกัน ต้องการการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน หรือเด็กด้อยโอกาสในแต่ละพื้นที่ แต่ละวัฒนธรรม แต่ละสิ่งแวดล้อม ต่างมีบริบทที่แตกต่างกัน เหล่านี้ล้วนต้องการการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่สามารถรองรับได้ และที่สำคัญไม่เปิดโอกาสให้มีการศึกษาทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถรองรับความหลากหลายของมนุษย์ จึงเป็นที่มาของขบวนการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่ว่าจะต้อง “ทำทันที”

ขณะที่บุคลากรทางการศึกษามีอยู่ทุกที่ มิใช่มีเพียงคุณครูเท่านั้นที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ แต่บุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ เช่น ปราชญ์ชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ตามสาขาวิชาชีพ หรือผู้รู้อื่นๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน เป็นห้องเรียนชีวิตที่ผู้เรียนสามารถออกแบบตามความสนใจได้ เพื่อเสริมทักษะและพัฒนาศักยภาพความเป็นตัวตนของเขาให้โดดเด่นออกมา

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ได้มีหลายสถาบัน หลายผู้สนใจ หลายผู้รู้ ที่เห็นต้นเหตุของความด้อยคุณภาพระบบการศึกษาไทย ได้ลุกขึ้นมาจัดการกับเหตุแห่งปัญหา ต่างทำโมเดลนำร่องหรือโครงการทดลองกับหลายๆ โรงเรียน เพื่อหาคำตอบที่ถูกสำหรับห้องเรียนอนาคตของเด็กไทย มูลนิธิสดศรี-สวัสดิ์วงศ์ เป็นหนึ่งในนั้นที่เริ่มโครงการไปแล้ว

น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นจิตแพทย์เด็ก คลุกคลีศึกษาเรื่อง “เด็ก” และเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ เป็นผู้ริเริ่มโครงการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยร่วมกับกลุ่มโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกลุ่มโรงเรียนทางเลือกจำนวนหนึ่ง ที่ได้จัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า “สอนน้อยได้มาก” หรือ “teach less learn more” ลดชั่วโมงการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมและการจัดการเรียนรู้แบบ “Problem-Based Learning-PBL” โดยได้เชิญชวนผู้ที่ตระหนักถึงปัญหานี้มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มก่อตั้ง “สถาบันการจัดการการเรียนรู้” (Learning Management Institute-LMI)

คำถามที่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทยในวันนี้ เด็กไทยจะรับมือศตวรรษใหม่ได้อย่างไร เมื่อโลกโดนไอทีโจมตี คุณหมอกล่าวว่า ก่อนอื่นเราต้องยอมรับข่าวร้ายก่อนว่าสมองเด็กไทย คือตัวเนื้อสมองนั้น ไร้ศักยภาพทั้งอ่านและเขียน

น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สวัสดิ์วงศ์(มสส.)
น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สวัสดิ์วงศ์(มสส.)

ไทยพับลิก้า : เกิดจากอะไร

เกิดจากการอ่านน้อย ตอบแบบตรงไปตรงมา มันต้องเริ่มต้นด้วยการอ่าน คือมนุษย์ต้องอ่านก่อน เพื่อพัฒนาสมองบางส่วน 3-4 ส่วนในบริเวณ Frontal lobe หลังจากนั้นมนุษย์เขียน เพื่อต้องพัฒนาสมองอีก 3-4 ส่วนของ Parietal lobe กับ Temporal lobe ทั้งหมดนี่มันต้องทำในช่วงประถมวัย ช้ากว่านั้นไม่ได้ ช้ากว่านั้นมันเป็นสมองที่ตายแล้ว มันพัฒนาไม่ขึ้น ทั้งหมดนี้มันมีงานวิจัยสมัยใหม่รองรับ

ประเทศไทยปล่อยปะละเลยเรื่องนี้นานเกินไป เกิน 1 ชั่วอายุคนแน่ๆ ดังนั้นเราได้สมองที่ใช้การไม่ได้ พอโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งดิจิทัลมา นิยามของการอ่านและเขียนจะไม่เหมือนเดิม อ่านไม่ได้แปลว่าแบบนี้เสมอไป เราต้องมาคุยเรื่องนี้กันใหม่ อ่านมันคือ receptive การรับข้อมูล แปลว่าอะไร เด็กจะรับข้อมูลแบบไหนที่จะกระตุ้นสมองส่วนที่การอ่านเคยกระตุ้นมาก่อน

เขียนไม่ได้แปลว่าแบบนี้เสมอไป เขียนมันคือ expression เด็กจะ express อะไรในสมองออกไปสู่มนุษย์ผู้อื่น ด้วยวิธีไหน ซึ่งพวกนี้ (สมาร์ทโฟน) มันเริ่มแทรกเข้ามา มันเข้ามาแทนที่ดินสอ ปากกา เพื่อกระตุ้นสมองส่วนของ Parietal lobe กับ Temporal lobe ที่เคยทำ อะไรแบบนี้ แต่ผมไม่เห็นการศึกษาคุยเรื่องแบบนี้กัน

แต่ผมเห็น และเราพยายามทำเรื่องการอ่านให้กระจ่าง ว่าอ่านแปลว่าอะไร การอ่านทำให้เกิดสัญญาณประสาทดิ่งเข้าสู่ส่วนไหนของสมอง

แน่นอนคำถามสำคัญก็คือ อ่านแท็บเล็ตได้ไหม อ่านข่าวสั้นๆ ของเฟซบุ๊กวันละ 10 ข่าว ได้ไหม นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องลงลึก ยิ่งการเขียนยิ่งสาหัส เด็กต้องแสดงออก แน่นอนเราแสดงออกด้วยการเขียนมาหลายพันปี แต่ตอนนี้เราก็เห็นว่า เราไม่ได้มีความจำเป็นต้องเขียน แต่ต้องแสดงสิ่งที่อยู่ในสมองและใจออกมาให้มนุษย์ผู้อื่นรู้เรื่อง แต่ทำยังไงล่ะ นี่คือสิ่งที่เราเถียงกัน

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว วัยรุ่นเขียนไม่เอาไหน ภาษาวัยรุ่นไม่เอาไหน เราได้ยินทุกเวที ก็เครื่องมือมันเป็นแบบนี้ (สมาร์ทโฟน) “ถึง” คุณกดเร็วๆ ยังไงก็เป็น “ถุง” เราจะเขียน “เดี๋ยวนี้” เขียน “เด๋วนี้” ก็รู้เรื่อง พวกนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเผชิญกับการศึกษาไทย

ไทยพับลิก้า : ภาษาที่ใช้มันไปไกลเกินกว่าที่เราจะเห็น ซึ่งนักวิชาการมักพูดว่า เขียนแบบนี้ภาษาไทยวิบัติ

เราไม่ได้อยากให้เป็นแบบนี้ แต่มันมาแล้ว… เครื่องมือพวกนี้ (สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต) เข้าสู่มือเด็กๆ เข้าสู่มือเด็กทั่วโลกแล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่มือเด็กไทยในแง่สร้างสรรค์ ไม่เข้าสู่เด็กประถมวัยในแง่สร้างสรรค์ แต่เครื่องมือพวกนี้อยู่ในมือของเด็กประถมวัย ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศแล้ว ถ้าเราไม่ทำในช่วงชั้นของการพัฒนามันจะต่างกันอีกไกลมาก

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า learning curve และ IT curve จำเป็นอย่างยิ่ง ใช้ IT เป็นตัวตั้ง เพื่อสร้างเรื่องทักษะการใช้ชีวิต (life skill) แต่อย่ามั่วกับ life skill ควรมีความชัดเจนว่ามันแปลว่าอะไร เด็กคนหนึ่งเดินไปในถนนชีวิต เจออะไรที่เรียกว่าต้องมี life skill ที่ดี ต้องมีความชัดเจน

และเรื่องกระบวนการ reflection, After Action Review (AAR), Professional Learning Community (PLC) การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ อันนี้เป็น 3 วิชาพื้นฐานที่จะพัฒนาสมองเด็กไทยในช่วงประถมวัย แต่ว่าเราต้องให้นิยามการอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์กันใหม่หมด เพราะสมาร์ทโฟนบังคับเราให้ต้องเปลี่ยน

ไทยพับลิก้า : โครงการที่มูลนิธิได้ทำไปมีอะไรบ้าง

เรามีหลายโครงการ แต่ว่าโครงการใหญ่ที่เราทำ 2 โครงการ ณ ปัจจุบัน โครงการแรกคือโครงการโรงเรียนต้นแบบ ก็คือเราเอาโรงเรียนในกระทรวงศึกษาธิการ 5 โรง ในชนบท ที่เขาทำ PBL อยู่แล้วไม่มากก็น้อย โดยมีผู้อำนวยการสนับสนุน เอาเขามาทำเวิร์กชอปด้วยกันหลายครั้ง เพื่อทำให้เขาจัดเจนว่า PBL มันแปลว่าอะไร แล้วคุณสมบัติของ PBL หรือองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่า PBL มีอะไรบ้าง คือเราก็ตกตะกอนมาได้ 12 ข้อ แบบไหนถึงจะเรียกว่า PBL เช่น เข้าห้องสมุดค้นคว้าไม่ใช่ PBL ทัศนศึกษาแต่มานั่งเรียนรายงานส่งครูไม่ใช่ PBL ไปบำเพ็ญประโยชน์และมาเขียนรายงานส่งครูก็ไม่ใช่ PBL ทำกิจกรรมตามคู่มือครู่สมัยใหม่ ก็ไม่ใช่ PBL เป็นต้น

เราจะมีคุณสมบัติของ PBL 12 ข้อ อันนี้เป็นการสร้างร่วมกันกับโรงเรียนต้นแบบ 5 โรง และเราก็ทำ workshop ด้วยการ AAR โดยการสร้าง PLC พูดง่ายๆ เราทำให้คำว่าทักษะในศตวรรษที่ 21 คือทักษะการเรียนรู้ (learning skill) กับ ทักษะการใช้ชีวิต (life skill) ชัด

learning แปลว่าอะไร ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน จำเป็นต้องผ่านแต่ละขั้นตอนอย่างไร คือทำให้คุณครูประเทศไทย โรงเรียนต้นแบบ เชื่อเสียทีว่าการเรียนรู้สร้างได้ เด็กที่จะมี creativity กับ innovation เป็นของสร้างได้ ไม่ใช่ไปรอให้มีเด็กโอลิมปิก นานๆ เกิดคนหนึ่ง ไม่ใช่ คุณสร้างได้ เป็นขั้นเป็นตอน ของมันสร้างได้ ไม่ต้องไปรอ ไอสไตน์ มาเกิด

และทักษะการใช้ชีวิตแปลว่าอะไร มันไม่ได้แปลว่าคำดีๆ หรูๆ ก็เป็น life skill ไปหมด ทักษะการใช้ชีวิตแปลว่ามนุษย์ใช้ชีวิตอย่างไร เจออุปสรรคแล้วทำอย่างไร อันนี้ก็จะมีคีย์เวิร์ดออกมา โรงเรียนต้นแบบก็จะชัดเจนในเรื่องนี้

จุดอ่อนที่เรายอมรับสารภาพก็คือทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT skill) เพราะครูแต่ละคน ผู้อำนวยการแต่ละคนที่ทำงานกับเราก็ blank เรื่องนี้กันหมด ไม่รู้จะทำยังไงกับแท็บเล็ตหรือเฟซบุ๊ก

ที่ผมเจอแย่ที่สุดคือนักเรียนเปิดสวิชต์แท็บเล็ตพร้อมกัน ห้ามใครเปิดก่อน แล้วดูทีละหน้า อ่านทีละหน้าพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสถานการณ์น่ากลัวมาก

อีกโครงการหนึ่งคือโครงการพัฒนาและประเมินคุณภาพโรงเรียน อันนี้ก็เป็นความท้าทาย คือเราต้องใช้คำว่าโรงเรียนเกือบทั้งหมดก็มีทุกข์กับการประเมินคุณภาพของ สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) มูลนิธิฯ ไปชวน 10 กว่าโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนและโรงเรียนทางเลือกที่มีชื่อเสียง เป็นต้นแบบ 10 กว่าโรงเรียน มาช่วยกันสร้างวิธีประเมินคุณภาพโรงเรียนที่เป็นจริง ไม่ต้อง make และไม่สร้างทุกข์แล้วก็ based on 21st century skill พูดง่ายๆ ว่าประเมิน skill ไม่ประเมิน knowledge ไม่ประเมินโน่น-นั่น-นี่ มากมายจนครูต้อง make ข้อมูล แต่ประเมินตามที่เป็นจริงๆ นี่ก็เป็นภาพใหญ่ๆ ของ 2 โครงการที่มูลนิธิทำอยู่

เราได้องค์ความรู้จาก 2 โครงการนี้เยอะมาก และก็ค่อยๆ ทยอยพิมพ์หนังสือที่ละเล่มออก และพยายามเผยแพร่อยู่ ก็ยอมรับว่าจุดอ่อนของโรงเรียนที่เราชวนมาทำงานแต่ละโรงก็คือไอที เพราะผู้บริหารโรงเรียน เด็ก ยังไม่เข้าใจเครื่องมือนี้เลย นอกจากใช้เล่นเฟซบุ๊กกับส่งไลน์เขาไม่เข้าใจอย่างอื่นกันเลย นี่คือทักษะการเรียนรู้มันอยู่ในนี้ แต่เด็กไทยใช้สมาร์ทโฟนเป็นแค่นี้ ไม่สามารถใช้เป็น learning tool ได้

ไทยพับลิก้า : การให้ไอทีเด็ก เหมือนอำนาจไปอยู่ในมือเด็กจริงๆ เพราะครูไม่ค่อยรู้เรื่อง และคนที่เป็นคนดูแลจัดการ คือเด็ก

ควรเป็นเช่นนั้น ซึ่งตอนนี้เราต้องเปิดใจ ว่าสมองเขากำลังพัฒนา แน่นอนถ้าเอาเครื่องมือนี้ไปให้เด็กทุกคน คนจะกลัวไว้ก่อน และก็กล่าวโทษว่า เด็กเล่นเกม ผมก็เป็นคนหนึ่งที่กล่าวโทษว่าเล่นเกม แต่ขณะเดียวกันผมปฏิเสธไม่ได้ว่า เครื่องมือจะเข้าถึงมือมนุษย์สมัยใหม่เร็วมาก เราต้องรับมือกับมัน ไม่ได้ก็ต้องได้ และเราก็ต้องเปิดใจ การอ่านแปลว่าอะไร การเขียนแปลว่าอะไร คณิตศาสตร์แปลว่าอะไร

เมื่อโลกมีเครื่องมือนี้ สมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต วางอยู่บนฝ่ามือเด็ก จะกลายเป็นนาฬิกาข้อมือหรือกลายเป็นแว่นตาวันไหนก็ยังไม่รู้ แต่ตอนนี้มันอยู่บนฝ่ามือแน่ๆ ล่ะ พวกนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเผชิญหน้ากัน ถ้าเรามัวแต่ conservative ว่าอ่านก็คืออ่านหนังสือ เขียนก็คือคัดลายมือ คณิตศาสตร์ก็คือแค่แก้สมการ …ไปแน่

ประเด็นคือ ปัญหาของเด็กไทยก็คือว่าค้นหา (search) ไม่เป็น อันนี้ไม่ได้พูด IT นะ พูดเรื่องห้องสมุดห้องหนึ่ง ต่อให้วางห้องสมุดข้างหน้าให้ห้องหนึ่ง คุณก็ค้นหาไม่เป็น คุณค้นหาสิ่งที่อยากได้ไม่เป็น และแย่กว่านั้นก็คือว่า คุณไม่อยากจะค้นหา บางทีมีความสงสัยในหัว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอยากจะค้นหา ไม่มี inspiration motivation ที่จะเดินเข้าห้องสมุดและค้นหา ต่อให้วางห้องสมุดตรงหน้าก็ยังไม่ทำ

คราวนี้ประเด็นก็คือว่า ห้องสมุดอยู่ในนี้สมาร์ทโฟน แต่เรายังไม่ได้แก้ปัญหา 2 ข้อ แรก 1) ค้นหาไม่เป็นต่อให้มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ มี wifi ความเร็วสูงก็ยังค้นหาไม่เป็น 2) เมื่อคุณสงสัย คุณก็ยังไม่อยากจะค้นหา แตะนิดเดียวคุณก็ได้สิ่งที่อยากรู้แล้ว รู้แล้วเชื่อไม่เชื่อ ก็เป็นทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและทักษะการเรียนรู้ แต่คุณไม่อยากจะทำ

“สมมุติฐานของมูลนิธิฯ ที่เราตั้งไว้และเราก็กำลังพิสูจน์ก็เหมือนเดิมครับว่า เด็กไทยไม่มีสมองส่วนที่อยากจะค้นหา คือ inspiration กับ motivation มันเสียหายหมดแล้วมันอยากอยู่เฉยๆ ถูกป้อนจนอยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากจะลุกขึ้นค้นหา เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองสักเท่าไหร่ ทีนี้ถ้ามัวแต่มานั่งอ่านหนังสือ เพื่อให้สมองส่วนนี้กลับมาเป็นวิธีที่ถูกต้องแน่ๆ แต่ตั้งข้อสงสัยว่ามันจะไม่ทันกิน มีไอทีที่ดีอาจจะดึงสมองส่วนนี้กลับมาได้เร็วกว่า ทำให้เด็กรู้สึกอยากรู้ และมันทนไม่ได้แล้ว แทนที่จะกดไลน์คุยกับเพื่อน อันนี้เริ่มเข้าสู่โหมดการค้นหาแน่นอน โผล่มา 20 ข้อมูล รู้ว่า 2 ข้อมูลเชื่อได้อีก 18 ข้อมูลเชื่อไม่ได้ อย่างนี้ เป็นต้น”

“แต่ประเด็นคือไม่ได้เอาแค่เด็กไทยกลับมา ผมกำลังพูดเรื่องเอาสมองเด็กไทยทุกคนกลับมา แน่นอนการนั่งอานหนังสือวันละ 50 หน้า 5 ปี สมองส่วนนี้ก็กลับมา แต่ผมเดาว่าไม่ทัน ผมก็อยู่ในโครงการรักการอ่าน ผมก็รู้ว่ามันก็ใช่ อ่านหนังสือสมองก็จะกลับมา แต่มันไม่ทันกิน มันช้าไปแล้ว 8 บรรทัดจะเพิ่มเป็น 18 ก็ไม่ทัน มันช้าเกินไป”

เราต้องการเครื่องมือกระตุ้นสมองตัวใหม่ เครื่องมือนั้นยังไงก็อยู่บนฝ่ามือ แต่เราต้องไม่กลัวมัน ตอนนี้เรายังกล้าๆ กลัวๆ จะให้แท็บเล็ตก็กลัว จะไม่ให้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาก็ให้ทั้งนั้น หรือต่อให้ไม่ให้ มันก็มี มีอยู่บนฝ่ามืออยู่ดี

ถ้าเราจริงใจกับงานนี้ ไปได้แน่ๆ และก็น่าจะทันเวลา เวลาทำงานผมจะคิดแบบนี้ ถ้าเราจะไล่ตามประเทศอื่น เราต้องวิ่งเข้าซอยไปดักข้างหน้า เราอย่าไปทำงานวิจัยซ้ำสิ่งที่คนอื่นทำ เราวิ่งเข้าซอยไปดัก 4 แยกหน้า

น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ
น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ

ไทยพับลิก้า : วิธีการเอาสมองกลับมาด้วยเครื่องมือไอที ที่ผ่านมาเคยทำวิจัยไหม

ทำง่ายๆ ก่อนด้วยการทบทวนวรรณกรรมก่อน เพราะว่าเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับสมองก้าวหน้าเร็วมาก จริงๆ ผมอยากทบทวนมากกว่านี้ว่าการศึกษาเรื่องสมองก้าวหน้าขนาดไหน พูดง่ายๆ คือเราจะได้รู้ว่าเราจะโจมตีสมองส่วนไหนของเด็กไทยให้มันเร็วที่สุด

งานวิจัยประเภทที่สองคือการทำ research on project อย่าทำโครงการเปล่าๆ ทำวิจัยคู่ไป พิสูจน์ให้คนภายนอกเห็น พิสูจน์ให้คนอื่นเห็น ว่าเด็กที่อยู่กับไอที “ดี” เพราะคนกลัวเรื่องนี้กลัวเล่นเกม กลัวนั่นนี่ ซึ่งคือมันก็จริง เราไปตามร้านอาหารจะพบภาพพ่อแม่ก้มหน้าเขี่ย และเด็กมีแท็บเล็ตก็ก้มหน้าเขี่ย เราพบเด็กนิ่งๆ เพราะแท็บเล็ต เต็มไปหมด มันก็ไม่ดีหรอก ฝรั่งก็เป็น เมืองนอกก็เป็น มันก็ไม่ดี

ผมว่าเรามีสิทธิ์แซงโลกได้ เพราะคนก็โดนไอทีโจมตีเหมือนกันหมด เด็กทุกบ้านทั่วโลก แต่เราจะทำให้เห็นว่าเครื่องมือนี้ใช้กระตุ้นสมองได้ ผมใช้คำนี้ ถามว่ากระตุ้นทำไม เพื่อให้มีทักษะการเรียนรู้และทักษะการใช้ชีวิตที่ดี วันนี้ก็ชัดแล้วว่าทักษะการเรียนรู้แปลว่าอะไร สร้างได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่สักแต่พาเด็กไปทำกิจกรรมแล้วบอกเด็ก learning แล้ว หรือไม่ใช่ว่าเข้าวัดแล้วทักษะการใช้ชีวิตดี ไม่ได้แปลว่าทำอะไรดีๆ แล้ว life skill ดี ดังนั้น “life” แปลว่าอะไรก็ต้องทำให้ชัด

ไทยพับลิก้า : ผลที่ได้จากโครงการ

ทางมูลนิธิได้พิมพ์เขียวในการสร้างโรงเรียนต้นแบบที่ค่อนข้างครบถ้วน ถ้าโรงเรียน X ของประเทศไทยอยากเป็นโรงเรียน 21st century skill ก็กรุณาทำตามพิมพ์เขียวต่อไปนี้ เริ่มตั้งแต่โครงสร้างโรงเรียน กระบวนการเรียนการสอน วิธีประเมินผล… นี่คือ output

ส่วน outcome ที่สำคัญก็คือบุคลากรของโรงเรียนที่ร่วมโครงการ รวมทั้งผู้บริหาร จากที่สังเกตเปลี่ยนไปมาก แต่ถามว่าพิสูจน์ได้อย่างไร by story ซึ่งตรงนี้ ผมก็ยอมรับว่าเป็นจุดอ่อน เพราะ by story พิสูจน์ให้คนภายนอกฟังยาก แต่เราก็ยังไม่พร้อมที่จะพิสูจน์ด้วยวิธีอื่น แต่เราพบว่าโลกทัศน์ของครูและผู้บริหารเปลี่ยน ว่าการศึกษาที่แท้คือแบบนี้ไม่ใช่แบบนั้น อันนี้คือ output outcome สำคัญมากของโรงเรียนต้นแบบ

ด้าน outcome นักเรียน ชัดเจนมาก เด็กเลวทุกคนในโรงเรียนเหล่านี้กลายเป็นเด็กดีหมด เพราะเขาถูกปลดปล่อย เขาไม่ต้องนั่งท่องหนังสือ เพราะ PBL ที่ดี ทำให้เด็กทุกคนชื่นใจโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้ self & self esteem มันกลับมา เราก็ได้องค์ความรู้ที่ได้ self esteem มากขึ้นด้วยว่ามันแปลว่าอะไร self & self esteem ของเด็กแย่ๆ ทั้งพฤติกรรมหนีเรียน ยาเสพติด และแย่ทั้งผลการเรียน ติด 0 ตลอด พวกนี้ดีขึ้นหมด ส่วนพวกเด็กเก่ง จากโครงการที่ทำ มุมเก่งเราอาจจะไม่เห็นเชิงนี้ แต่เราเห็นเชิงทักษะการใช้ชีวิตดีขึ้น การที่ไม่ได้มุ่งแต่ท่องหนังสือ ปรับเวลาได้ มีเพื่อน ทำงานเป็นทีม

ทักษะการใช้ชีวิตเหล่านี้มันสามารถบูรณาการลงไปในการเรียนรู้ประจำวันได้ ใน diary life learning by IT นี้ได้ มันเป็นอย่างที่เราชอบบ่นกัน ว่าเด็กไทยแยกวิชากับชีวิตออกจากกัน แต่ด้วยไอทีที่ดีเราจะรวมวิชากับชีวิตรวมให้ดูและไม่ใช่แค่ชีวิตเดียว แต่ได้ civil society ด้วย การเคารพซึ่งกันและการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การยอมรับความแตกต่างทางความคิด ชาติพันธุ์ ฐานะ ศาสนา มันถูกบูรณาการในการเรียนรู้ ใน diary life ของการเรียนการสอน

“โรงเรียนต้นแบบไม่ได้มีเฉพาะโรงเรียน แต่มีผู้ปกครอง ศึกษานิเทศก์ เข้ามาด้วย มีคำพูดของหลายคนบอก ถ้าลูกเขาเรียนแบบนี้ลูกเขาเรียนจบ หรือคำพูดของคุณครูคนหนึ่งที่ใกล้เกษียณ บอกว่าเขาเพิ่งรู้ว่าเป็นครูแท้ๆ ปีนี้เอง แรงมากเลย เราเปลี่ยนโลกทัศน์โรงเรียนนำร่องนี้ใหม่หมด สำเร็จ และก็ต้องใช้คำนั้น เราก็อยากเปลี่ยนอีก 9,000 โรงเรียนที่เหลือ นี่ก็เป็นความตั้งใจ ซึ่งเราก็เน้นที่โรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก ซึ่งคุมเด็กไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่เรามีโรงเรียนทางเลือกมาเป็นภาคีด้วย”

นี่ก็เป็น output outcome ที่สำคัญของโรงเรียนต้นแบบ

ส่วนการประเมินคุณภาพ ซึ่งการประเมินโรงเรียนมีข้อหนึ่งที่ผมก็ยอมรับว่าได้แต่ฝัน แต่ยังนึกภาพไม่ออก เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที คือประเด็นปัญหาก็ชัดเจน การประเมินเป็นภาระ ครูต้องเสียเวลานั่งเขียนเอกสารเพื่อรอผู้ประเมินมาตรวจ แต่คราวนี้ผมเชื่อว่าทฤษฎีของไอที คนเราเวลาทำงานหลักฐานควรปรากฏ ผมคิดว่าควรเป็นเช่นนั้น ผมอยู่กระทรวงสาธารณสุขผมก็มีปัญหา ทำงานเหนื่อยจะตาย ตอนเย็นจะต้องเขียนผลงานเพื่อรอคนมาตรวจ ผมก็สงสัยว่าไอทีมันมีไว้ทำไม แต่ความจริงผมก็จะเดาว่า ถ้าระบบไอทีมันดีจริง พอผมทำงานเสร็จ หลักฐานก็ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานเชิงปริมาณหรือคุณภาพก็ปรากฏ เราไม่ควรมานั่งสร้างหลักฐานซ้ำซ้อน เพื่อรอผู้ตรวจ ผมเลยคิดว่าถ้าเรามีผู้เชียวชาญไอที ตัวจริงมาช่วยวางระบบพวกนี้ตั้งแต่แรกๆ คือผมว่ามันต้องวางไปพร้อมกันตอนเริ่มปฏิรูปการศึกษาเพื่อทำให้เห็นว่า ครูก็ทำหน้าที่ อย่าทิ้งเด็ก ขอให้ทำเถอะหลักฐานมันจะปรากฏ ปรากฏขึ้นในระบบไอทีเอง

ดังนั้นผมคิดว่าถ้าเราปลดปล่อยครูกับนักเรียนสำเร็จเขาก็เรียนรู้แล้วล่ะ แต่แน่นอนเราต้องยอมรับ มันมีการแข่งขันในโลกสมัยใหม่ ถ้าเราปล่อยให้เรียนรู้ตามธรรมชาติ อาจจะไม่ทันกิน มันต้องมี intervention ที่ทำให้ learning curve มันไปเร็วกว่าปกติ

ไทยพับลิก้า : วัฒนธรรมโรงเรียน มันน่ากลัวมาก

ใช่ ผมอยู่บ้านนอกมา 30 ปี น่ากลัวมาก

ไทยพับลิก้า : เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ มันเหมือนกับวัฒนธรรมองค์กร ต่อให้เราพยายาม เดี๋ยวมันก็โดนเตะกลับมาจุดเดิมก็ต้องไปลากกันมาใหม่

ผมเข้าใจ ผมเป็นข้าราชการ ผมก็จะรู้อยู่ว่าน่ากลัวมาก ระบบที่เป็นอยู่ เขาสกัดคุณได้ทุกวิถีทางอย่างแนบเนียน และเขาก็หลอกตัวเองด้วยว่าทำสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ผมเข้าใจ แต่ต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ว่า “เด็กเป็นเดิมพัน” มันจะไม่มีปัญหา ถ้าไม่มีเครื่องมือไอทีพวกนี้มนุษย์ไม่มีวันหยุด ไม่ยอมหยุดและจะไม่มีวันหยุดแน่ๆ เราทำนายโลก 50 ปีข้างหน้า ผมว่ายากมากนะ

ขณะนี้มูลนิธิฯ ชัดว่า ทักษะในศตวรรษที่ 21 แปลว่าอะไร และหน้าตามันเป็นอย่างไร แล้วทักษะ 3 ข้อของทักษะศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเรียนรู้ (learning skill) ทักษะการใช้ชีวิต (life skill) ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT skill) หน้าตาเป็นอย่างไร แปลว่าอะไร มี step by step อย่างไรในการสร้าง ซึ่งเรารู้ว่าตัวแปรใหม่ก็คือเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่เพิกเฉยตัวแปรใหม่

น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ
น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ

ไทยพับลิก้า : คุณหมอมองว่าเป็นคำตอบไหมกับสิ่งที่กำลังผลักกันอยู่

เป็นคำตอบครับ เราไม่มอบ knowledge เราชัดเจนว่าการศึกษาไทยอย่ากลัว เลิกมอบ knowledge ได้แล้ว เลิกเลย ให้ทักษะการเรียนรู้อย่างเดียว และก็ผนวกทักษะการใช้ชีวิตและทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเท่านี้เอง เด็กไทยพัฒนาได้

เพราะฉะนั้นถามว่า paradigm ที่ชัดเจนคือการศึกษาไทยไม่ให้ knowledge แต่สร้างทักษะ ซึ่งการขับเคลื่อนในเรื่องนี้คือมูลนิธิฯ เลิกพูด เลิกเถียง เลิกอบรม มูลนิธิฯ ไม่เคยอบรมใคร แต่เราชวนมาทำการพูดคุยที่เรียกว่า AAR โดยมีหลักสูตรเป็นเป้าหมาย ถ้าเราดูแลกระบวนการ AAR ดีๆ ครูถูกปลดปล่อยเลย ครูจะถูกปลดปล่อยคนแรกๆ เขาจะรู้สึกเลยว่า PBL ที่เข้าท่ามันเป็นแบบนี้นี่เอง ปลดปล่อยสมองครูให้ได้ก่อน เพราะเขาโดนครอบ 1 ชั่วอายุคน ดังนั้นไม่ง่ายที่ต้องปลดปล่อยเขาให้สำเร็จก่อน การปลดปล่อยที่ง่ายที่สุดคือการทำ AAR ที่ดี ให้เขาได้มีโอกาสเป็น story teller ที่ดี แล้วเป็น listener ที่ดี พวกนี้ต้องการการฝึกในช่วงแรกๆ

“ครูด้วยกันเองควรจับกลุ่มกันเพื่อสนทนาเรื่องนักเรียนทุกวัน หลักสูตรต้องการให้นักเรียนเรียนรู้อะไร เราจะออกแบบการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร ที่ออกแบบและทดลองทำไปแล้ว นักเรียนได้รู้สิ่งที่ต้องจริงหรือเปล่า และนักเรียนได้เพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตจริงหรือไม่ ถามตนเองว่าครูยังสามารถทำอะไรให้ดีกว่าเดิมได้อีก นี่คือการพูดคุยแบบ AAR”

“เรามีประสบการณ์ในการทำงานทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน ในเรือนจำ ในบริษัทเอกชน ว่าทำอย่างไรให้คนคนหนึ่งซึ่งถูกครอบงานด้วยงานประจำ จนโงหัวไม่ขึ้นกลายเป็น story teller ที่ดี แล้วส่วนคนอื่นก็เป็น listener ที่ดี ขอเพียงทำ 2 อย่างนี้ได้เขาก็ถูกปลดปล่อยระดับหนึ่งแล้ว ที่จริงที่ทำมันมีความหมายเช่นนี้เองจากงานที่งานประจำแสนน่าเบื่อ”

“ของเราก็คือว่าครูไทยจำนวนมากรวมทั้งบุคลากรในราชการ ไม่เห็นคุณค่าของงานที่ตนเองทำ เพราะฉะนั้นการที่เขาได้มีโอกาสเป็น story teller ที่ดีและเป็น listener ที่ดีและผ่านกระบวนการ reflection ที่เหมาะสม สิ่งที่เกิดทันทีคือเขาจะเห็นคุณค่าของงานที่ทำ เห็นคุณค่าของตนเองก่อนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ยกตัวอย่าง โรงพยาบาล เขาค้นพบคำตอบเองว่า การดูแลคนไข้ที่ดีไม่ได้แปลว่าทำให้คนไข้หายป่วย เพราะความจริงแล้วโรคตั้งหลายชนิดคุณไม่มีวันจะหายป่วยหรอกชาตินี้ แต่การดูแลผู้ป่วยที่ดีคือการทำให้ผู้ป่วยมีความสุขกับโรคที่มีอยู่ ซึ่งวิธีเปลี่ยน มันเปลี่ยนจากการที่เขาได้เป็น story teller ที่ดีกับ listener ที่ดี มันไม่ได้เกิดจากการมานั่งบอก นั่งสอน นั่ง training มันทำไม่ได้”

เพราะฉะนั้นครูก็เหมือนกัน ครูต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ครูตื่นเช้ามามีหน้าที่อะไรมันต้องถูกเปลี่ยนประบวนทัศน์แล้ว ซึ่งมันเปลี่ยนด้วยการนั่งบอกก็ไม่ได้ มันต้องการกระบวนการ AAR ที่ดี ทำ PBL มาก่อน ทำดี-ไม่ดี อย่ากลัว ทำไปเถอะเดี๋ยวเรามา AAR กันมาฝึกเป็น story teller และ listener กันฝึก reflection กัน เขาก็จะกลับไปปรับปรุงตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องบอก

ไทยพับลิก้า : หลักสูตรต้องปรับด้วยไหม

ผมก็ตอบเร็วๆ ว่าไม่จำเป็น การเปลี่ยนหลักสูตรโดยไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ค่าเท่าเดิม หลักสูตรมันคืออะไรที่ผมเข้าใจว่ามันคือ knowledge มันอยู่ในหมวด knowledge จะดีเลิศยังไง ก็แล้วไง เพราะ IT & learning skill ที่สำคัญก็คือว่า เด็กเสพแล้วไม่เชื่อ เด็กตั้งคำถาม ต่อให้ตอบได้ ก็ไม่มีความจำเป็นว่าคำตอบนั้น “ถูก” อาจจะตั้งคำถามซ้ำ learning curve ก็จะไป

ไทยพับลิก้า : กระบวนทัศน์สำคัญที่มองว่าต้องเปลี่ยน/ปลดปล่อย ครู เด็ก มันอยู่ตรงไหน

กระบวนทัศน์สำคัญที่ 1 ครูและนักเรียนเรียนรู้ด้วยกัน เพราะกระบวนทัศน์ที่มีอยู่ทุกวันนี้คือครูรู้มากกว่านักเรียน ดังนั้นนำไปสู่การที่ต้องมีหลักสูตรมีคู่มือครู เพราะว่าหลักสูตรและคู่มือครูมันอยู่กระบวนทัศน์ประเภทที่ว่าครูต้องรู้มากกว่านักเรียน แต่กระบวนทัศน์ใหม่ที่เราจะทำงานงานนี้ ครูไม่จำเป็นต้องรู้มากกว่านักเรียน ที่จริงแล้วครูนักเรียนเรียนรู้ไปด้วยกัน

ครูมีหน้าที่อื่น แต่ไม่ได้มีหน้าที่ให้ knowledge ครูมีหน้าที่เป็นผู้นำกระบวนการ (facilitator) ให้ skill ของเด็กเดินหน้า หน้าที่ครูเปลี่ยนจากการโค้ช ครูไม่จำเป็นต้องรู้มากกว่านักเรียน

กระบวนทัศน์ที่ 2 การศึกษาไม่มอบ knowledge การศึกษามุ่งพัฒนา skill

กระบวนทัศน์ที่ 3 กระบวนการหาคำตอบ สำคัญกว่าคำตอบ โลกนี้มันไม่มีอะไรเป็นคำตอบเดียวอีกแล้ว 200 ปีก่อนมันอาจเคยมี โลกนี้มีคำตอบเดียว แต่โลกนี้ที่มีไอทีเข้ามาไม่มีอะไรเป็นคำตอบเดียวอีกแล้ว แต่ว่ากระบวนการหาคำตอบต่างหากที่สำคัญกว่า เด็กไทยจะต้องถูกฝึกให้มีทักษะในการหาคำตอบ หาเสร็จก็ยังไม่เชื่ออีกต่างหาก ตั้งคำถามและหาใหม่ นี่คือ spiral เป็นการหมุนวนของการเรียนรู้ กระบวนทัศน์นี้ใหญ่มาก ที่สำคัญครูไทย การศึกษาไทย ติดอยู่ตรงมันต้องมีคำตอบ แม้ประทั่งครูที่ใช้ PBL จำนวนมาก ก็ยังคิดว่า PBL นั้นมีคำตอบ แต่เราก็พยายามทำให้เห็นว่า PBL ใดๆ มันก็ไม่มีคำตอบอยู่ดี เช่น แก้ปัญหารถติดหน้าโรงเรียนตัวเอง ก็ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง แก้ปัญหาร้านเกมรอบโรงเรียน ก็ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง วิธีรักษาความสะอาดของชายหาดก็ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง

หลักๆ ก็ 3 อันนี้ ใหญ่สุด ครูและนักเรียนเท่ากัน เพราะเท่ากันมันถึงจะเรียนรู้ด้วยกัน คำว่าเท่ากัน equality กระบวนทัศน์ที่ 1 เป็นความเท่ากันในเชิงอะไร คือยังไงสังคมไทยนักเรียนก็ต้องเคารพครู แต่มันเท่ากันในเชิงความเป็นมนุษย์ นี่คือกระบวนทัศน์ที่ระหว่างเราทำงานเราก็เรียนรู้ด้วยกันกับภาคีที่เราทำ เมื่อครูกับนักเรียนเท่ากัน ในแง่ความเป็นมนุษย์เขาจึงสามารถถูกปลดปล่อยพร้อมๆ กัน

กระบวนทัศน์ที่ 2 น่าจะเข้าใจง่าย คือไม่มอบ knowledge

กระบวนทัศน์ที่ 3 ยังยากอยู่ คนไทยชอบคิดว่าอะไรมันมีคำตอบเสมอ แต่ความจริงมันไม่มี แต่อยู่ที่กระบวนการหาคำตอบ มีวลีที่ผมใช้กับพวกครูเสมอว่าเราต้องพาลูกๆ เราเรียนรู้ปีศาจ มันห้ามไม่ได้แล้ว 100 ปีก่อนอาจจะห้ามไม่ให้ปีศาจโผล่ได้ แต่ตอนนี้มันห้ามไม่ได้

น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ
น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ

ไทยพับลิก้า : คนพูดถึงปฏิรูปการศึกษา คุณหมอนิยามตรงนี้ว่าอะไรดี

พูดสั้นๆ ของเราก็คือเด็กไทยต้องเรียนรู้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลา แต่อย่างว่า พูดประโยคนี้ไปก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ความหมายของประโยคนี้มันถูกไง เด็กไทยควรเรียนรู้ด้วยตนเองทุกที่ทุก เรียนรู้ไม่ได้แปลว่ารู้เยอะ แปลว่าเรียนรู้ คำสั้นก็คือ เด็กไทยต้องเรียนรู้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลา

ให้ผมพูดว่าปฏิรูปการศึกษาไทยความหมายคืออะไรก็ไม่ได้ แต่มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบใช้ เราต้องถอนรากถอนโคนการศึกษาที่เป็นอยู่ คือการปฏิรูปมิใช่การเปลี่ยนอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น เปลี่ยนหลักสูตร เปลี่ยนคู่มือครู แต่ต้องใช้คำนี้ ถอนรากถอนโคน เปลี่ยนอะไรทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เกิด new paradigm กระบวนทัศน์ใหม่