ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 10 ปีเงินเดือนข้าราชการไทย ปรับ 6 ครั้ง อัตราปี 2558 ได้ขึ้นมากสุด 8%

10 ปีเงินเดือนข้าราชการไทย ปรับ 6 ครั้ง อัตราปี 2558 ได้ขึ้นมากสุด 8%

31 ตุลาคม 2014


ไม่ว่าการรัฐประหารครั้งล่าสุดจะส่งผลดีหรือร้าย แต่ในมิติของนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการล่าสุดดูเหมือนจะส่งผลดีต่อข้าราชการชั้นผู้น้อยเป็นพิเศษ ตามคำสั่งของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ให้พิจารณาปรับค่าตอบแทนต่างๆ ทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำการ และค่าตอบแทนอื่นๆ ทั้งระบบอีกครั้ง

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการปรับฐานเงินเดือนและมีการเปลี่ยนแปลงระบบการคิดเงินเดือนครั้งสำคัญอยู่หลายครั้งด้วยกัน ซึ่งเงินเดือนพื้นฐาน (base salary) คือค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับข้าราชการพลเรือนสามัญทุกคนตามประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง เพื่อสะท้อนถึงขนาดของงาน (job size) ผลงาน (performance) และสมรรถนะ (competency) โดยปัจจุบันได้แบ่งบัญชีเงินเดือนออกเป็น 4 บัญชีตามประเภทตำแหน่ง ได้แก่ ประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป ซึ่งแต่ละประเภทได้มีการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของแต่ละระดับไว้

ข้าราชการบางตำแหน่ง นอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการที่จะได้แล้ว ยังได้เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน (compensation) อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสิ่งจูงใจอื่นๆ อีกซึ่งอาจจะเป็นตัวเงินหรือไม่เป็นตัวเงินก็ได้ เช่น สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูล เงินรางวัลประจำปีสําหรับผู้บริหารและสําหรับหน่วยงานเพื่อจ่ายให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจํา และพนักงานของรัฐ

โครงสร้างเงินเดือนข้าราชการไทย

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ให้รายละเอียดของการปรับเงินเดือนในรอบ 10 ปีตั้งแต่ปี 2547-2554 โดยในปี 2547 ซึ่งเป็นยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีพระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งเป็นการปรับจากพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เป็นการปรับเงินเดือนของข้าราชการเข้าสู่โครงสร้างบัญชีเงินเดือนใหม่จากของเดิมปี 2538 โดยปรับเพิ่มในอัตราร้อยละ 3 เท่ากันทุกอัตราสําหรับข้าราชการทุกประเภท ทำให้เงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,230 บาท สูงสุดที่ 61,850 บาท และเงินเดือนนายกรัฐมนตรี 65,920 บาท

ในบัญชีเงินเดือนปี 2547 นั้น มีการแบ่งเป็น 5 บัญชี คือ บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนแบบเก่ากำหนดระดับไว้ 12 อันดับด้วยกัน ได้แก่ อันดับ ท.1-ท.11 และ บ.11 ประกอบด้วยบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม 14 ระดับ ตั้งแต่ พ.1-พ.2 ป.1-ป.3 น.1-น.9 บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ 14 ระดับเช่นกัน นั่นคือ พ.1-พ.2 ป.1-ป.3 ส.1-ส.9 บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง เช่น ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา ฯลฯ บัญชีอัตราตำแหน่งและเงินเดือนข้าราชการการเมือง เช่น นายกฯ รองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการฯ

ต่อมาเป็นการปรับบัญชีเดือนฯ ครั้งที่ 2 เป็นการเป็นการปรับเพิ่มเงินของระดับตําแหน่งในแต่ละประเภท ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2548 เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ อีกเช่นกัน โดยให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนฯปี 2547 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โดยปรับเพิ่มในอัตราร้อยละ 5 เท่ากันทุกอัตราสำหรับข้าราชการทุกประเภท โดยเงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,450 บาท สูงสุดที่ 64,950 บาท และเงินเดือนนายกรัฐมนตรี 69,220 บาท

การปรับบัญชีเดือนฯ ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2550 เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในปี 2549 นับเป็นการก่อรัฐประหารเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี

พระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยปรับเพิ่มในอัตราร้อยละ 4 เท่ากันทุกอัตราจาก พ.ร.ก. ฉบับก่อนสําหรับข้าราชการทุกประเภท โดยเงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,630 บาท สูงสุดที่ 67,550 บาท และเงินเดือนนายกรัฐมนตรี 71,990 บาท(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

เงินเดือนประเภทตำแหน่ง

หลังจากปรับเงินเดือนข้าราชการ 3 ครั้ง ต่อมาปี 2551 ถือเป็นการปรับบัญชีเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ครั้งที่ 4 โดยมีการกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (ไม่เกี่ยวกับของข้าราชการทหาร ตำรวจ ฯลฯ) จากแต่เดิมระบบการกำหนดตำแหน่งงานใช้ “ซี” เป็นตัวแบ่ง (common level) ในทุกระดับเป็นมาตรฐานกลางเดียวกันทั้งระบบข้าราชการ ตั้งแต่ระดับ 1–11

ในการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในระบบใหม่ (ระบบแท่ง) เป็นการกำหนดเงินเดือน “ขั้นต่ำ” และเงินเดือน “ขั้นสูง” โดยหลักการของการขึ้นเงินเดือนในระบบแท่งนี้ ให้มีการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือน โดยให้พิจารณาตามผลการปฏิบัติราชการ และยึดหลักการจ่ายค่าตอบแทนตามค่างานและผลของงาน และให้เลื่อนเงินเดือนเป็นอัตรา “ร้อยละ” จากการพิจารณาในองค์กรเอง ถือเป็นการให้เงินเดือนแบบยืดหยุ่นกว่าระบบซี โดยมีการปรับขึ้นร้อยละ 5 เท่ากันทุกประเภท เงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,870 บาท สูงสุดที่ 69,810 บาท และเงินเดือนนายกรัฐมนตรี 75,590 บาท

บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงและอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ แบ่งออกเป็น 4 บัญชี คือ ประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ (แบ่งเป็นระดับปฏิบัติการ ชํานาญการ ชํานาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ) และประเภทประเภททั่วไป (แบ่งเป็นระดับปฏิบัติงาน ชํานาญงาน อาวุโส และทักษะพิเศษ) ซึ่งเป็นการแบ่งประเภทอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน

จากนั้น มีการปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการครั้งที่ 5 ตามมาในปี พ.ศ. 2554 เป็นการกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญอีกครั้ง ขณะนั้นเป็นสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2554 โดยเงินเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 4,870 บาท สูงสุดที่ 69,810 บาท เช่นเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวการปรับเงินเดือนข้าราชการล่าสุด 8%

ความเคลื่อนไหวของแนวคิดการปรับเงินเดือนล่าสุดถือเป็นการปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการครั้งที่ 6 ในยุคของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารในประเทศไทย ปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อันมี พล.อ. ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

โดยมีข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ให้ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนในปีงบประมาณ 2558 ในอัตรา 8% โดยเทียบเคียงจากดัชนีราคาผู้บริโภคปีปัจจุบันที่อยู่ระดับ 7.2%

คาดว่าการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งใหม่นี้ที่จะมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2558 จะมีกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้าง และข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน ได้รับประโยชน์รวม 2.7 ล้านคน ประกอบด้วย ข้าราชการ 1.7 ล้านคน ลูกจ้างประจำ 1.61 แสนคน พนักงานราชการ 2.19 แสนคน ข้าราชการเกษียณที่รับเบี้ยหวัดบำนาญอีก 6.12 แสนคน

ตัวเลขของกรมบัญชีกลางประเมินว่า ในปัจจุบันค่าใช้จ่ายเงินเดือนอยู่ที่เดือนละ 58,500 ล้านบาท ใช้งบทั้งปี 7.02 แสนล้านบาท หากปรับเงินเดือนกลุ่มดังกล่าวทั้งหมดในอัตรา 7% ต้องใช้งบประมาณเดือนละประมาณ 4,000 ล้านบาท และหากปรับขึ้น 8% จะใช้งบเดือนละ 4,700 ล้าน หากมีการเริ่มจ่ายในงวดวันที่ 30 เมษายน 2558 อัตรา 7% จะใช้งบประมาณปีแรก 24,000 ล้านบาท หากปรับขึ้น 8% ใช้เงินปีละ 56,400 ล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมา คสช. ได้อนุมัติเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ชคบ.) สำหรับผู้ที่ได้รับต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท โดยให้ปรับเพิ่มให้ครบ 9,000 บาท มีข้าราชการได้รับเงินจำนวนนี้ 70,000 คน โดยใช้งบประมาณเพิ่มปีละ 151 ล้านบาท มีผลตั้งแต่ 10 กรกฎาคม 2557

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวคิดการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมาว่า คงยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมองว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม และเชื่อว่าข้าราชการน่าจะทนรอได้ เนื่องจากขณะนี้ต้องโฟกัสไปที่การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาพืชผลตกต่ำเป็นหลัก แต่ยืนยันว่ายังไม่ล้มเลิกแนวคิดดังกล่าวแน่นอน

ความหวังของข้าราชการ ที่มีโอกาสจะได้ปรับเงินเดือนเป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 1 ทศวรรษ จึงต้องรอลุ้นต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ และคาดกันว่า 30 เมษายน 2558 คือวันที่ข้าราชการจะได้รับเงินเดือนอัตราใหม่อีกครั้ง