ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แกะงบ “พล.อ. ประยุทธ์” ช่วยชาวนา 5 เดือน 284,494 ล้านบาท – สถานะสต็อกข้าว ความเสียหายยังไม่มีคำตอบ

แกะงบ “พล.อ. ประยุทธ์” ช่วยชาวนา 5 เดือน 284,494 ล้านบาท – สถานะสต็อกข้าว ความเสียหายยังไม่มีคำตอบ

27 ตุลาคม 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ณ ตึกสันติไมตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ณ ตึกสันติไมตรี
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

คำสั่งลำดับต้นๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่เข้าปฏิบัติหน้าที่วันแรก 22 พฤษภาคม 2557 และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ คือการช่วยเหลือชาวนา ด้วยการเคลียร์ยอดค้างจ่ายจากโครงการรับจำนำข้าว 94,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ มีมติ คสช. ให้จ่ายเงินให้ชาวนาพื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 89,000 ล้านบาท และ ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ได้อนุมัติค่าใช่จ่ายต้นทุนการผลิตอีก 40,000 ล้านบาท

ไม่รับจำนำแต่จ่ายเงินสินเชื่อชะลอการขาย และให้ชาวนาจำนำยุ้งฉางของตัวเอง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มีการอนุมัติเปลี่ยนวิธีการบริหารข้าวทั้งระบบ จากจำนำทุกเมล็ดเป็นมาตรการ “สินเชื่อชะลอการขาย” และ “จำนำยุ้งฉาง” จ่ายค่าเก็บเกี่ยวรวม 41,494 ล้านบาท และกระจายช่วยชาวนาทุกครัวเรือน รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อีก 20,000 ล้านบาท รวมเป็น 61,494 ล้านบาท

ก่อนที่ นบข. โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีมติอนุมัติให้เปลี่ยนนโยบาย “รับจำนำ” เป็น “สินเชื่อชะลอการขาย” ในอัตรา 90 % ของราคาตลาดและให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้ชาวนาเพื่อเป็นค่าเช่าการเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางตัวเอง ตันละ 1,000 บาท หรือเรียกว่า “จำนำยุ้งฉาง” และช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 2,000 บาท เรื่องนี้ได้ผ่านการประชุมมาแล้ว ถึง 2 ครั้ง ภายในช่วง 24 วัน

ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 อนุกรรมการ นบข. รายงานว่า ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวในฤดูการผลิต 2557/2558 และนำเสนอให้ คสช. เห็นชอบ พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับติดตามแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิต 2557/2558 โดยมีอธิบดีกรมการข้าวเป็นประธาน มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม การดำเนินแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มี “ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการดำเนินงานตามแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว”

ตัวเลขตรวจสต็อกข้าวไม่คืบหน้า

ผ่านไป 18 วัน ในวันที่ 24 ตุลาคม 2557 มีการประชุมคณะกรรมการ นบข. อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็น “วาระเร่งด่วนพิเศษ” เพราะโดยปกติ การประชุม นบข. จะจัดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง โดยในครั้งนี้มีวาระเพื่อพิจารณาแต่ไม่คืบหน้า เช่น รับทราบความคืบหน้าการจัดทำบัญชี “ข้าวคงเหลือของรัฐ” หรือสต็อกข้าวของรัฐบาล ซึ่งยังคงมีตัวเลข ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ที่ระบุว่า มีคลังสินค้า 1,651 คลัง 136 ไซโล รวมข้าวทั้งหมด 18,631,655 ตัน

ขณะที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ รายงานว่า แม้การตรวจปริมาณข้าวคงเหลือเสร็จสิ้นแล้ว แต่ปรากฏว่ายังติดเรื่องการตรวจดีเอ็นเอข้าว ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กำลังเร่งตรวจสอบอยู่ ที่ประชุม นบข. จึงเห็นว่าไม่ควรแถลงผลตรวจสอบข้าวอย่างเป็นทางการ และผลตรวจด้านปริมาณคงไม่เพียงพอ หากได้ผลชัดเจนแล้วกระทรวงพาณิชย์จะได้ระบายข้าวได้อย่างสบายใจ

ทำให้วาระในการประชุมวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ทำได้เพียงรับทราบความก้าวหน้าของ “อนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมา” ที่รายงานว่า ได้ดำเนินการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ 30 กันยายน 2556 และ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยการให้ ธ.ก.ส. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ปิดบัญชีภายในวันที่ 15 กันยายน 2557 มีรูปแบบการรายงานทางการเงินของสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งผู้แทนจากสภาวิชาชีพบัญชีได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับข้าวเปลือกและข้าวสารใหม่ โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร อ.ต.ก. จัดทำรายงานส่งให้ ธ.ก.ส. ภายในวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ซึ่งต้องทำงบการเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จากนั้นจึงนำส่งกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบ

แต่ในวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม นบข. ยังไม่มีรายงานเพื่อพิจารณา ฝ่ายเลขานุการของที่ประชุมรายงานว่า “ขณะนี้การปิดบัญชีโครงการยังไม่เสร็จสิ้นตามกำหนด” เนื่องจากสาเหตุ 2 ประเด็น คือ 1. อคส. และ อ.ต.ก. จัดส่งข้อมูลให้ฝ่ายเลขานุการไม่ได้ตามกำหนดเวลา และจนถึงปัจจุบันข้อมูลก็ยังไม่ครบถ้วน 2. ข้อมูลที่ อคส. และ อ.ต.ก. จัดส่งให้ฝ่ายเลขานุการยังไม่ถูกต้อง ยังต้องแก้ไขข้อมูลใหม่หลายโครงการ จึงเร่งรัดให้ อคส. และ อ.ต.ก. เร่งส่งข้อมูลให้ครบถ้วน ถูกต้อง ต่อไป

นี่จึงเป็นสาเหตุให้ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า สถานะของสต็อกข้าวรัฐบาลที่ผ่านมามีจำนวนเท่าไร เสียหายเท่าไร ตัวเลขที่รัฐบาลขาดทุน-เสียหาย มีเท่าไร

ดังนั้น ในเวลา 3 ชั่วโมงของการประชุม วันที่ 24 ตุลาคม 2557 จึงให้ความสำคัญในการพิจารณา เพื่ออนุมัติวาระ “สินเชื่อเพื่อชะลอการขาย” ข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58 ของ ธ.ก.ส. แทนโครงการ “รับจำนำ” แบบรัฐบาลที่ผ่านมา และวาระ “การขยายกรอบความช่วยเหลือเกษตรกร ตามโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร”

แพ็กเกจ5เดือน ของ"ประยุทธ์"ช่วยเหลือชาวนา

เปิดข้อเสนอเป้าหมายสินเชื่อพุ่งจาก 1.5 ล้านตันเป็น 3 ล้านตัน

ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์เพื่อจัดการ “สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนานปี 2557/58” นั้น เคยเสนอเมื่อครั้งการประชุม กบข. ในวันที่ 6 ตุลาคม 2557 มีมติไป 8 เรื่อง ประกอบด้วย 1. เป้าหมายการจ่ายสินเชื่อ สำหรับข้าว 1.5 ล้านตัน 2. ธ.ก.ส. จะให้สินเชื่อเกษตรกรในอัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาด (ข้าวเปลือกหอมมะลิราคา 16,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 13,000 บาท/ตัน) 3. โครงการนี้เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ 4. วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 300,000 บาท 5. ระยะเวลาการจ่ายเงิน ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน – 28 กุมภาพันธ์ 2558 และ 6. ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ เสร็จสิ้นภายใน 4 เดือน ถัดจากเดือนรับกู้ 7. ระยะเวลาในการดำเนินโครงการนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 – 30 กันยายน 2558

มติข้อที่ 8. วงเงินดำเนินการ 1,211 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินชดเชยดอกเบี้ยเกษตรกร 432 ล้านบาท ค่าบริหารสินเชื่อ ธ.ก.ส. ร้อยละ 2.25 จำนวน 389 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการส่งมอบข้าวเปลือกจากยุ้งฉาง 300 ล้านบาท

ในการประชุมวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ที่ประชุม นบข. ได้รับข้อเสนอใหม่จากกระทรวงพาณิชย์ที่ขออนุมัติ “ปรับปรุงสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2557/58 ของ ธ.ก.ส. เพื่อสนับสนุนให้มีการเก็บข้าวเหลือกในยุ้งฉางเกษตรกรมากขึ้น”

ประเด็นที่ขออนุมัติ เปลี่ยนแปลงจากการขอมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ดังนี้ มติที่ขอเปลี่ยนข้อที่ 1 ขอปรับเพิ่มเป้าหมายข้าวจากเดิม 1.5 ล้านตัน เป็น 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้เกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้จาก 1.5 ล้านตัน เป็น 2.5 ล้านตัน ส่วนอีก 500,000 ตัน ให้สหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพเป็นผู้จัดเก็บ

ขอเพิ่มเกณฑ์สินเชื่อ 90% และค่าเช่ายุ้งฉาง 52,454 ล้านบาท

มติที่ขอเปลี่ยนข้อที่ 2 ขอปรับเพิ่มหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน จากเดิม 80% ของราคาตลาด เป็น 90% ของราคาตลาด โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ จาก 12,800 บาท/ตัน เป็น 14,400 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียว จาก 10,400 บาท/ตัน เป็น 11,700 บาท/ตัน

นอกจากนี้ ยังขอมติข้อที่ 3 ให้จ่ายค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกของเกษตรกรและสหกรณ์ ตันละ 1,000 บาท โดยเกษตรกร/สหกรณ์ต้องเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางไม่น้อยกว่า 30 วัน และเก็บรักษาโดยกระสอบป่าน และสหกรณ์ต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกในอัตราร้อยละ 90 ของราคาตลาดที่กำหนด โดยให้มีผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 3 คน

และเพื่อจัดเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการ “สินเชื่อชะลอการขาย” และ “จ่ายค่ายุ้งฉาง” ปลัดกระทรวงพาณิยช์, อธิบดีกรมการค้าภายใน, อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า, ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนโยบายรัฐของ ธ.ก.ส. ได้ตรวจเยี่ยมยุ้งฉางเกษตรกรเพื่อเตรียมความพร้อม 210 ครัวเรือนในจังหวัดเชียงราย

ข้อค้นพบของคณะทำงานสรุปว่า ปัญหาของเกษตรกรชาวนาคือส่วนใหญ่เกี่ยวข้าวโดยใช้รถเกี่ยว มีต้นทุนประมาณ 700-800 บาท/ไร่ กรณีใช้แรงงานต้นทุนสูงถึง 1,800-2,000 บาท/ไร่ เพราะค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อผลผลิตข้าวออกพร้อมกัน แรงงานและลานตากจึงไม่เพียงพอ

กระทรวงพาณิชย์จึงเสนอให้ นบข. พิจารณาอนุมัติให้มีการแก้ปัญหาเพื่อ “จูงใจให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวนำมาเก็บรักษาในยุ้งฉางโดยใช้แรงงาน” ด้วยการขออนุมัติสินเชื่อ วงเงิน 13,574 ล้านบาท ให้เกษตรกรกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยว ไร่ละ 2,000 บาท เป้าหมาย 6.787 ล้านตัน ระยะเวลา 2 เดือน ดอกเบี้ย 0% โดยรัฐชดเชยให้ ในส่วนวงเงินสินเชื่อ 13,574 ล้านบาทนี้ คำนวณอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 รวมวงเงินชดเชย 158.36 ล้านบาท

ตัวเลขวงเงินที่กระทรวงพาณิยช์ทำโมเดลนำเสนอ ถูกเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใหม่จากวันที่ 6 ตุลาคม 2557 นอกจากเพิ่มเป้าหมาย จาก 1.5 ล้านตัน เป็น 3 ล้านตัน แล้วยังมีค่า “สินเชื่อยุ้งฉาง” และค่าเก็บเกี่ยว เข้ามาด้วย

โดยกรณีจ่ายสินเชื่อชะลอการขาย หากเป้าหมายข้าว 1.5 ล้านตัน ธ.ก.ส. ต้องใช้เงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท แต่ข้อเสนอใหม่ต้องการข้าวเป้าหมาย 3 ล้านตัน ธ.ก.ส. ต้องจ่ายสินเชื่อเพื่อชะลอการขาย เพิ่มเป็น 38,880 ล้านบาท และมีการจ่ายสินเชื่อยุ้งฉางด้วย 13,574 ล้านบาท รวมแล้ว ธ.ก.ส. ต้องจ่ายสินเชื่อถึง 52,454 ล้านบาท คือเพิ่มขึ้นถึง 35,174 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาให้สินเชื่อ 4 เดือน เมื่อเกษตรกรต้องนำเงินมาชำระคืน กรณีราคาตลาดข้าวเปลือกไม่สูงกว่าราคาตลาดที่ให้สินเชื่อ รัฐบาลจะต้องรับภาระการระบายข้าวและชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้นให้กับ ธ.ก.ส. ด้วย โดยจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบกลางรายการสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นอีก 4,859.36 ล้านบาท

“พล.อ. ประยุทธ์” ให้จ่ายแค่ 2 ล้านตัน 41,494 ล้านบาท

แต่เมื่อคณะกรรมการ นบข. พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว มติในวันที่ 24 ตุลาคม 2557 จึงมีเพียง เห็นชอบการปรับปรุง “สินเชื่อชะลอการขาย” ข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558 เป้าหมายเพียง 2 ล้านตัน ใช้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. วงเงินรวม 41,494 ล้านบาท (ใส่ลิงค์มติ 24 ตุลา) เพื่อดูดซับปริมาณผลผลิตส่วนเกินไม่ให้ออกสู่ตลาดมากเกินไปจนส่งผลให้ราคาตลาดลดลงมาก

โดย นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า เสนอตัวเลขเป้าหมายสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปีการผลิต 2557/2558 ในส่วนของข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ไว้ที่ 3 ล้านตัน แต่ ธ.ก.ส. เห็นว่าควรมีเป้าหมายเพียง 2 ล้านตัน และเพิ่มวงเงินจ่ายสินเชื่อให้ชาวนาจาก 80% เป็น 90% ของราคาตลาด ส่งผลให้ในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่ราคาเป้าหมายอยู่ที่ตันละ 16,000 บาท ชาวนาจะได้รับเงินสินเชื่อเพื่อชะลอการขายตันละ 14,400 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียวราคาเป้าหมายอยู่ที่ตันละ 13,000 บาท ชาวนาจึงจะได้รับสินเชื่อเพื่อชะลอการขายที่ตันละ 11,700 บาท รายละไม่เกินวงเงิน 300,000 บาท

และยังได้อนุมัติให้จ่ายค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกกับชาวนาหรือสหกรณ์ในราคาตันละ 1,000 บาท ส่งผลให้ชาวนาได้รับเงินค่าข้าวเพิ่มอีกตันละ 1,000 บาท รวมเป็นข้าวหอมมะลิตันละ 15,400 บาท และข้าวเหนียวตันละ 12,700 บาท

วงเงินที่ ธ.ก.ส. จะใช้สำหรับเป็นสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีทั้งข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิเป้าหมาย 2 ล้านตัน คิดเป็นวงเงิน 25,920 ล้านบาท รวมกับสินเชื่อเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวหรือเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางของเกษตรกรอีกวงเงิน 13,574 ล้านบาท และเงินจ่ายขาดในส่วนของค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,000 บาท เป็นเงิน 2,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 41,494 ล้านบาท

ให้สินเชื่อสหกรณ์-ชุมชน เก็บข้าวอีก 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ วาระเพื่อการพิจารณาของคณะกรรมการ นบข. ยังได้ขอให้ขยายกรอบความช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรด้วย

ในวาระนี้ ต่อเนื่องจากมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ที่เคยเห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ซึ่งสถาบันเกษตรกรที่จะได้รับการสนับสนุน ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรที่รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการแปรรูป รวมวงเงิน 20,000 ล้านบาท

ในวงเงิน 20,000 ล้านบาทนี้ แบ่งเป็น เงินสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวเพื่อจำหน่าย 3-4 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงิน 18,000 ล้านบาท และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเก็บไว้แปรรูป 400,000 ตันข้าวเปลือก วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 – 30 มิถุนายน 2558 มีระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน แต่ต้องไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2558

โครงการนี้ มีการประชุมระดับคณะทำงานมาแล้ว 3 ครั้ง ในรอบ 7 วัน คือในวันที่ 16 ตุลาคม 2557 มีการประชุมหารือระหว่างผู้แทนเกษตรกร สมาคม ประธานศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อขอเข้าโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จากนั้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ได้มีการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากศูนย์ข้าวชุมชนมีการดำเนินการเก็บรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และยังได้รวบรวมข้าวเปลือกอีกส่วนหนึ่งสำหรับจำหน่ายและสำหรับแปรรูปเป็นข้าวสาร

หลักการและเหตุผลของการขออนุมัติ คือ ขณะนี้มีศูนย์ข้าวชุมชนที่จดทะเบียนวิสาหกิจแล้ว 442 แห่ง จากทั้งหมด 2,000 แห่ง โดยศูนย์ข้าวที่จดทะเบียนแล้ว มีการรวบรวมข้าวไว้ทั้งเพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารรวมทิ้งสิ้น 100,000 ตัน

จากนั้น ในวันที่ 22 ตุลาคม 2557 คณะทำงานกระทรวงพาณิชย์ จึงเห็นว่าองค์กรวิสาหกิจชุมชน มีความประสงค์ขอร่วมโครงการสินเชื่อของ ธ.ก.ส. เช่นกัน ซึ่งการดำเนินการของวิสาหกิจก็เพื่อเป็นการ “ชะลอปริมาณข้าวเปลือกออกสู่ตลาดในช่วงที่ข้าวจะออกมามาก” จึงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ

ดังนั้น ทั้ง ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงเห็นสมควรร่วมกันว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้การบริหารข้าวครอบคลุมชาวนาทุกกลุ่ม จึงเห็นควรให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรไปยังสหกรณ์ทุกประเภทที่ดำเนินธุรกิจเรื่องข้าว วิสาหกิจชุมชน และองค์กรวิสาหกิจอื่น ศูนย์ข้าวชุมชน ที่ดำเนินกิจการรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อเก็บไว้แปรรูป ตามวงเงินที่ คสช. เคยอนุมัติไว้ ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท

อนึ่ง ขณะนี้องค์กรที่บริหารจัดการระบายข้าวของประเทศอยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะทำงาน 4 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานดำเนินการระบายข้าว 2. คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย 3. คณะทำงานรวบรวมและจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือในคลังกลางเพื่อการระบาย และ 4. คณะทำงานย่อยการระบายข้าวระดับจังหวัด