ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “พล.อ. ประยุทธ์” เปลี่ยนนโยบายข้าว จาก “จำนำ” เป็น “สินเชื่อชะลอการขาย” 2 ล้านตัน

“พล.อ. ประยุทธ์” เปลี่ยนนโยบายข้าว จาก “จำนำ” เป็น “สินเชื่อชะลอการขาย” 2 ล้านตัน

24 ตุลาคม 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ณ ตึกสันติไมตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ณ ตึกสันติไมตรี
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยพิจารณาปรับปรุงโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการชายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และขยายกรอบความช่วยเหลือเกษตรกร ตามโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

โดยเห็นชอบการปรับปรุง “สินเชื่อชะลอการขาย” ข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558 แทนมาตรการการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และยังคงใช้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. วงเงินรวม 41,494 ล้านบาท

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558 ในส่วนของข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวของ ธ.ก.ส. จากเดิม ธ.ก.ส. จะจ่ายเงินสินเชื่อชะลอการขายให้ชาวนาคิดเป็น 80% ของราคาตลาด ขยับขึ้นเป็น 90% ของราคาตลาด ส่งผลให้ในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่ราคาเป้าหมายอยู่ที่ตันละ 16,000 บาท ชาวนาจะได้รับเงินสินเชื่อเพื่อชะลอการขายตันละ 14,400 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียวราคาเป้าหมายอยู่ที่ตันละ 13,000 บาท ชาวนาจึงจะได้รับสินเชื่อเพื่อชะลอการขายที่ตันละ 11,700 บาท รายละไม่เกินวงเงิน 300,000 บาท เป้าหมาย 2 ล้านตัน

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม นบข. ยังได้อนุมัติให้จ่ายค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกกับชาวนาหรือสหกรณ์ในราคาตันละ 1,000 บาท โดยมีเงื่อนไขให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางไม่น้อยกว่า 30 วัน และเก็บรักษาโดยวิธีบรรจุกระสอบป่าน ดังนั้น จะส่งผลให้ชาวนาได้รับเงินค่าข้าวเพิ่มอีกตันละ 1,000 บาท รวมเป็นข้าวหอมมะลิตันละ 15,400 บาท และข้าวเหนียวตันละ 12,700 บาท ระยะเวลาเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2557 – 28 ก.พ. 2558

อย่างไรก็ตาม พบว่าในการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร ส่วนใหญ่จะใช้รถเกี่ยวข้าวซึ่งมีต้นทุนประมาณ 700-800 บาท แต่กรณีใช้แรงงานเกี่ยวต้นทุนไร่ละ 1,800-2,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เก็บเกี่ยวข้าวเพื่อมาเก็บในยุ้งฉางโดยใช้แรงงาน ที่ประชุม นบข. จึงเห็นชอบให้เกษตรกรกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อใช้เป็นเงินทุนค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวไร่ละ 2,000 บาท เป้าหมาย 6.787 ล้านไร่ เป็นระยะเวลา 2 เดือน คิดดอกเบี้ย 0% วงเงินสินเชื่อเฉพาะส่วนนี้รวม 13,574 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงเงินที่ ธ.ก.ส. จะใช้สำหรับเป็นสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีทั้งข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิเป้าหมาย 2 ล้านตัน คิดเป็นวงเงิน 25,920 ล้านบาท รวมกับสินเชื่อเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวหรือเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางของเกษตรกรอีกวงเงิน 13,574 ล้านบาท และเงินจ่ายขาดในส่วนของค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,000 บาท เป็นเงิน 2,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 41,494 ล้านบาท ส่วนนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องชดเชย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า ให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนให้มีการเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางของเกษตรกรมากขึ้น โดยมี 3 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพเก็บข้าวไว้ 500,000 ตัน

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในที่ประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือเรื่องการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล เนื่องจากยังต้องรอผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ตรวจสอบไปได้ 95% ส่วนอีก 5% ไม่น่าจะเกินกลางเดือนพฤศจิกายน 2557 จะทราบจำนวนสต็อกทั้งหมดได้

ทั้งนี้ อนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ รายงานว่า ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการตรวจข้าวแล้ว 1,668 คลัง 138 ไซโล มีคลังข้าวเหลือทั้งสิ้น 18,862,510 ตัน

อ่านเพิ่มเติม มาตรการรัฐบาล “ประยุทธ์ ” แพ็คเกจช่วย “ชาวนา- เกษตรกร” ผ่านธกส. 4 เดือนเกือบ 2 แสนล้าน