ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังเก็บภาษีปีงบประมาณ 2557 หลุดเป้ากว่า 2 แสนล้านบาท ต่ำสุดรอบ 10 ปี

คลังเก็บภาษีปีงบประมาณ 2557 หลุดเป้ากว่า 2 แสนล้านบาท ต่ำสุดรอบ 10 ปี

17 ตุลาคม 2014


การเติบโตที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปี 2557 (วันที่ 30 กันยายน 2557) รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 2 แสนล้านบาท หากเปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2552 รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายแค่ 61,732.9 ล้านบาท ครั้งนี้ถือว่าเก็บได้ต่ำกว่าเป้ามากที่สุดในรอบ 10 ปี(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

จีดีพีย้อนหลัง

Web

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลปี 2557 (ตุลาคม 2556 – กันยายน 2557) จัดเก็บได้ 2,073,912 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 201,088 ล้านบาท หรือ 8.8% เนื่องจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย

นอกจากนี้ ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศหดตัว และการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ทำให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลต่ำกว่าประมาณการ 28,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นยังคงสูงกว่าประมาณการ

“ผลการจัดเก็บรายได้ปี 2557 ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2558” นายกฤษฎากล่าว

หากพิจารณาเฉพาะกรมจัดเก็บภาษีในสังกัดกระทรวงการคลัง ปีนี้เก็บภาษีได้ 2,221,391 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 264,659 ล้านบาท หรือ 10.6% ขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 136,690 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 20,690 หรือ 17.8% และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น 135,954 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,704 ล้านบาท หรือ 16.9% ทำให้รัฐบาลมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 2,073,912 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 201,088 ล้านบาท หรือ 8.8% (ต่ำกว่าปีก่อน 4.1%)คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย

การจัดเก็บรายได้ปี 2557

ส่วนผลการจัดเก็บรายได้แยกตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ดังนี้

1. กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีได้ 1,729,819 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 160,731 ล้านบาท หรือ 8.5% (ต่ำกว่าปีก่อน 2.0% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่

ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 74,882 ล้านบาท หรือ 11.6% (ต่ำกว่าปีก่อน 3.8%) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีจากกำไรสุทธิของผลประกอบการรอบปีบัญชี 2556 (ภ.ง.ด. 50) และจากประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด. 51) ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 70,944 ล้านบาท หรือ 9.1% (แต่สูงกว่าปีก่อน 1.9%) เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 67,675 ล้านบาท หรือ 17.9% (ต่ำกว่าปีก่อน 3.5%) ประกอบกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,270 ล้านบาท หรือ 0.8% แต่สูงกว่าปีก่อน 6.6% ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคในประเทศที่ยังคงมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 13,055 ล้านบาท หรือ 4.4% (ต่ำกว่าปีก่อน 6%) เนื่องจาก “การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ที่มีผลกระทบมากกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ดี ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,234 ล้านบาท หรือ 6.5% (สูงกว่าปีก่อน 8.7%) เป็นผลจากธุรกรรมภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงขยายตัวดี

2. กรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีได้ 382,731 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 80,969 ล้านบาท หรือ 17.5% (ต่ำกว่าปีก่อน 11.6% ) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่

ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 45,127 ล้านบาท หรือ 32.6% (ต่ำกว่าปีก่อน 39.3%) สาเหตุมาจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการส่งมอบรถยนต์โครงการรถยนต์คันแรกเกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณก่อนหน้า

ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 28,597 ล้านบาท หรือ 31.1% (ต่ำกว่าปีก่อน 0.2%) เป็นผลจากการขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และการเปลี่ยนไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำและก๊าซ NGV ซึ่งไม่เสียภาษี ทดแทนการใช้น้ำมันเบนซิน

ภาษียาสูบ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 11,799 ล้านบาท หรือ 16.2% (ต่ำกว่าปีก่อน 10.2%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคหันมาบริโภคบุหรี่ที่มีราคาถูกลง ประกอบกับปริมาณการบริโภคบุหรี่ที่หดตัวลง

อย่างไรก็ดี ภาษีเบียร์และภาษีสุราจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,559 และ 1,954 ล้านบาท หรือ 6.3% และ 3.1% ตามลำดับ (สูงกว่าปีก่อน 10.8% และ 22.8% ตามลำดับ) เป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสุราเมื่อเดือนกันยายน 2556

3. กรมศุลกากร จัดเก็บภาษีได้ 108,841 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 22,959 ล้านบาท หรือ 17.4% (ต่ำกว่าปีก่อน 4%) สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 23,739 ล้านบาท หรือ 18.3% เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – สิงหาคม 2557) หดตัว 11.3% และ 5.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก

4. รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 136,690 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 20,690 ล้านบาท หรือ 17.8% (สูงกว่าปีก่อน 34.7%) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้านครหลวง

5. หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 135,954 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,704 ล้านบาท หรือ 16.9% (ต่ำกว่าปีก่อน 14.5%) สาเหตุสำคัญมาจากรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมที่สูงกว่าประมาณการ 9,107 ล้านบาท การส่งคืนรายได้ที่กันไว้เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าที่สูงกว่าประมาณการ 5,929 ล้านบาท เงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืนที่สูงกว่าประมาณการ 2,956 ล้านบาท และค่าขายทรัพย์สินและบริการอื่นๆ ที่สูงกว่าประมาณการ 1,352 ล้านบาท สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้ 5,427 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 727 ล้านบาท หรือ 15.5% (ต่ำกว่าปีก่อน 15.8%) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุที่สูงกว่าเป้าหมาย

6. การคืนภาษีของกรมสรรพากร 292,597 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,903 ล้านบาท หรือ 2% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 227,078 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,522 ล้านบาท หรือ 6.8% และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) 65,519 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,619 ล้านบาท หรือ 19.3%

7. เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 15,779 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,821 ล้านบาท หรือ 15.2%

8. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
8.1) การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด 15,360 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,840 ล้านบาท หรือ 10.7%
8.2) การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ 96,387 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,613 ล้านบาท หรือ 11.6 %