ThaiPublica > เกาะกระแส > 19 ปีคดีที่หายไปของ “ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย” มีใครบ้าง และ 180 วัน คิดถึง”บิลลี่”

19 ปีคดีที่หายไปของ “ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย” มีใครบ้าง และ 180 วัน คิดถึง”บิลลี่”

22 ตุลาคม 2014


180 วัน คิดถึงบิลลี่

นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ขณะนี้เวลาล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 180 ของการหายตัวไปของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ แกนนำชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน กรณีการถูกผลักดันโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานให้ออกจากพื้นที่ป่า ด้วยการเผาไล่ที่

จากกรณีข้อพิพาทดังกล่าวทำให้กรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของบุคคลที่ “ถูกบังคับให้สูญหาย” (Enforced Disappearance) เนื่องจากในวันที่นายบิลลี่หายตัวไปนั้น นายบิลลี่ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คุมตัวเนื่องจากกรณีมีน้ำผึ้งซึ่งเป็นของป่าไว้ในครอบครอง 6 ขวด

แม้เวลาจะล่วงเลยเข้าสู่เดือนที่ 6 แต่ก็ยังไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ เช่นเดียวกับกรณีผู้ถูกบังคับให้หายตัวรายอื่นๆ ซึ่งในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นการถูกลอบสังหาร การลักพาตัว ไปแล้วกว่า 30 ราย

และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2557 กลุ่มดินสอสี และองค์กรภาคี ได้ร่วมจัดงาน “180 วันคิดถึงบิลลี่” เพื่อรำลึกถึงนายบิลลี่ และกระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นว่าคดีนี้จะไม่ถูกทำให้หายไปเช่นเดียวกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนรายอื่นๆ

โดยในงานได้มีการเสวนา “กองทุนเราทุกคนคือบิลลี่ เพื่อสิทธิคนชายขอบ” ซึ่งนางอังคณา นีละไพจิต ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิต ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกบังคับให้หายตัวไป เมื่อปี 2547 หลังจากได้ยื่นมือเข้าไปช่วยคดีความของชาวมุสลิม ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาขโมยปืน และเกิดกรณีทำร้ายให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ได้มาร่วมวงเสวนานี้ด้วย

“เราจะมีวิธีการใดบ้างที่จะให้ความคุ้มครองแก่คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อคนอื่น โดยที่คนเหล่านี้บางครั้งไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จัก พวกเขาเป็นเพียงคนเล็กคนน้อยที่อยู่ตามป่าเขา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการที่ไม่เป็นที่รู้จักจะเป็นสาเหตุให้พวกเขาสามารถถูกทำให้หายตัวไปได้โดยไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ” นางอังคณากล่าว

ช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มีนักสิทธิมนุษยชน หายสาบสูญหรือถูกฆ่าโดยที่คดีไม่มีความคืบหน้า และแทบจะไม่มีสักคดีเลยที่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการบังคับให้สูญหาย อาจเท้าความไปตั้งแต่สมัยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การหายตัวไปของนายทนง โพธิอ่าน ผู้นำแรงงาน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้หายตัวไปในปี 2534 จากการที่เขาคัดค้านการทำรัฐประหารในปีเดียวกัน กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่หายตัวไปเมื่อปี 2547 กรณีของนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ ผู้ร้องเรียนปัญหาคอร์รัปชัน หายตัวไปจากสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ในปี 2551 และกรณีล่าสุดของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

คดีที่หายไปของนักสิทธิมนุษยชน

นางอังคณากล่าวว่า ผู้คนต่างพูดไปต่างๆ นานา ว่าพวกเขาเสียชีวิตแล้วบ้าง ถูกเผาทำลายไปแล้วบ้าง แต่ว่ารัฐเองยังไม่ได้มองเห็นความสำคัญของการถูกทำให้หายไปของนักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ ซึ่งรัฐควรจะเข้ามาดูและให้คนในครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มีมาตรการที่ชัดเจนในการที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ หรือให้การดูแล เยียวยาครอบครัวของเหยื่อ เป็นต้น

“คนที่ถูกทำให้สูญหายในช่วงที่ผ่านมา มักจะถูกทำให้สังคมมองว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนไม่ดี เช่น เป็นทนายโจร เป็นคนบ้า เป็นคนทำลายป่า ทำลายทรัพยากร อันเป็นการสร้างความคลุมเครือ ทำให้เกิดความหวาดระแวง นำไปสู่การที่สังคมมองคนเหล่านั้นแบบไม่เป็นมิตร ไม่คิดว่าบุคคลอย่างพวกเขามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ จนทำให้ครอบครัวของผู้คนเหล่านี้ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว”

นางอังคณา นีละไพจิต ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิต ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกบังคับให้หายตัวไป เมื่อปี 2547
นางอังคณา นีละไพจิต ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิต ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกบังคับให้หายตัวไป เมื่อปี 2547

ดังนั้นแล้ว กรณีของนายบิลลี่ ที่สังคมมองว่าพวกเขาเป็นคนชายขอบ ซ้ำยังเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย จึงตกอยู่ในภาวะลำบากที่สุด การต่อสู้ต่างๆ ของคนในชุมชนเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากหวั่นเกรงอิทธิพลของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 และปี 2550 ได้มีการบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนไว้อย่างชัดเจน โดยในรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 66 http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf มีหลักการถึงสิทธิชุมชน ว่าชุมชนตามวิถีดั้งเดิม หรือชุมชนท้องถิ่น มีสิทธิในพื้นที่ตั้งแต่การอาศัยอยู่ การใช้ทรัพยากร พร้อมๆ กับที่มีหน้าที่ในการบำรุงรักษาทรัพยาการด้วยเช่นกัน

และเมื่อมีรัฐบาลกำลังดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นางอังคณากล่าวว่า ตนก็หวังว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะมีบทบัญญัติในการให้ความคุ้มครองสิทธิชุมชน ที่ถือว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรม

“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร เขาควรได้รับความคุ้มครอง ซึ่งในรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ในมาตรา 31 ได้พูดถึงเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และการปฏิบัติตามความเชื่อ ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีความเชื่ออะไร มาจากไหน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ดังนั้นคนท้องถิ่นดั้งเดิมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยงปะกาเกอญอ หรือเด็กๆ มุสลิมในภาคใต้ พวกเขาเหล่านี้ก็ควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน และรัฐธรรมนูญก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความคุ้มครองแก่พวกเขา”

นางอังคณาได้ตั้งคำถามต่อไปว่า ทำอย่างไรจึงจะมีกฎหมายที่สามารถให้ความคุ้มครองคนได้ทุกคน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายกรณีความผิดต่อเสรีภาพ กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานฆาตกรรม ความผิดต่อชีวิต แต่หากเป็นการนำตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งไป หรือการบังคับให้สูญหาย กรณีที่ไม่พบศพ กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้เลยว่าจะดำเนินการต่อผู้กระทำผิดได้อย่างไร

“มีคนเห็นบิลลี่ครั้งสุดท้ายว่าอยู่กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แต่กรณีที่ไม่พบศพ สิ่งที่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้จึงมีเพียงแต่ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ตามมาตรา 39 แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการอื่นใด เช่น ความผิดฐานลักพาตัวผู้เสียหาย เป็นต้น”

โดยนางอังคณากล่าวต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้มีกลุ่มคนที่พยายามผลักดันให้เกิดกลไกคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน ได้เข้ามาคุยกัน และพยายามหามาตรการรณรงค์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ คือ

1. ให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักปกป้องสิทธิชุมชน โดยเฉพาะกรณีคนเล็กคนน้อยที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบ
2. ให้กำลังใจแก่ครอบครัวของเหยื่อ
3. เพื่อที่จะสื่อสารงานของบุคคลเหล่านี้ให้แก่สังคม โดยจะไม่ปล่อยให้คนที่ทำงานปกป้องสิทธิคนอื่น ต้องถูกทำให้กลายเป็นบุคคลที่ถูกทำให้หายไปจากสังคมเฉยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
4. ต้องการให้ประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นแบบอย่างแก่สังคม ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิในประเทศไทย มีความเคารพกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนทั่วไป

"พิณนภา พฤกษาพรรณ" (มื่อนอ) ภรรยาของนายบิลลี่
“พิณนภา พฤกษาพรรณ” (มื่อนอ) ภรรยาของนายบิลลี่

ด้าน”พิณนภา พฤกษาพรรณ” (มื่อนอ) ภรรยาของนายบิลลี่ ได้กล่าวว่า การที่ตนและชาวบ้านอยู่อาศัยในผืนป่านั้น เป็นวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย พึ่งพิง และเกื้อกูลธรรมชาติ ไม่เคยทำลายป่า การที่ชาวกะเหรี่ยงถูกผลักดันให้ลงมาอยู่ในเมือง เกิดปัญหามากมาย ผู้ที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินก็ไม่สามารถอยู่ได้ อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้น มีความลำบากมากกว่าในช่วงที่เคยอยู่ในป่า

และปัจจุบัน หลังจากที่นายบิลลี่หายตัวไปการดำเนินชีวิตของมื่อนอมีความยากลำบากยิ่งขึ้นเนื่องจากเมื่อต้องเข้ามาทำธุระในเมือง เพื่อนบ้านหลายคนปฎิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือเนื่องจากเกรงว่าจะถูกทำร้าย แม้จะมีการให้ความช่วยเหลือในการคุ้มครองพยานจากกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแล้วก็ตาม เหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบที่ตกค้างกับครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งเป็นคำถามต่อไปว่ารัฐควรจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร เมื่อผู้บังคับใช้กฎหมายคือรัฐ และผู้ที่ละเมิดสิทธิก็คือรัฐเช่นเดียวกัน

ทำความเข้าใจเรื่อง “ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เพิ่มเติม