ThaiPublica > เกาะกระแส > เสียงจากชุมชนทวาย กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนของนักธุรกิจ-รัฐบาลไทย

เสียงจากชุมชนทวาย กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนของนักธุรกิจ-รัฐบาลไทย

22 ตุลาคม 2014


เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ณ สำนักงานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการ (แจ้งวัฒนะ) สมาคมพัฒนาทวา ย(Dawei Development Association-DDA) พร้อมกับชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone – DSEZ) และกลุ่มประชาสังคมจากทวาย นำเสนองานวิจัยท้องถิ่น เรื่อง “เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง” ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเนื่องจากรัฐบาลไทยมีบทบาทร่วมผลักดันและเป็นหุ้นส่วนในโครงการ โดยวิจัยดังกล่าวเป็นการรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ 20 หมู่บ้านในทวายเนื่องจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

หลังจากที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับการท่าเรือสหภาพพม่าภายใต้กระทรวงคมนาคมแห่งสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการท่าเรือน้ำลึกและโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวาย และลงนามเพื่อรับสิทธิ์ในการดำเนินโครงการฯ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 และเริ่มดำเนินโครงการเรื่อยมา

จนกระทั่ง วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการประสานงานร่วมไทย-พม่า จัดการประชุมในกรุงเทพฯ และเห็นชอบข้อตกลงกรอบการทำงานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายฉบับใหม่ พร้อมทั้งลงนามในบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ คือ 1. สัญญาระหว่างองค์การเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone Authority) และ บริษัท ดีเอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนต์ (DSEZ Development) ซึ่งถูกตั้งขึ้นเป็นบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle – SPV) โดยถือหุ้นร่วมกันระหว่างไทยและพม่า 50 ต่อ 50 โดยบริษัทจะทำหน้าที่หานักลงทุนสำหรับโครงการ 2. ข้อตกลงสามฝ่ายระหว่าง บมจ.อิตาเลียนไทยฯ, องค์การเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และบริษัท ดีเอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนต์ เพื่อรับทราบและยืนยันสิทธิในการดำเนินโครงการที่เหลืออยู่ของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ก่อนการถ่ายโอนสิทธิทั้งหมดไปยังบริษัทย่อยเฉพาะกิจ และ 3. ข้อตกลงยุติสัญญาสัมปทานของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ในการก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการทวาย และโอนสิทธิสัมปทานให้ SPV รับผิดชอบในการประมูลงานต่อไป

ปัจจุบัน สำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. ของไทยและ Foreign Economic Relation Department ของประเทศพม่า ร่วมทุนกันจัดตั้งบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด ขึ้นมาดำเนินโครงการฯ แทนอิตาเลียนไทยฯ โดยอยู่ระหว่างร่างข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Terms of Reference: TOR) แต่การทำงานที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบมากมายให้กับชาวทวายทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ณ สำนักงานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการ (แจ้งวัฒนะ) สมาคมพัฒนาทวา ย(Dawei Development Association-DDA) พร้อมกับชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone - DSEZ) และกลุ่มประชาสังคมจากทวาย นำเสนองานวิจัยท้องถิ่น เรื่อง“เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง”ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ณ สำนักงานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการ (แจ้งวัฒนะ) สมาคมพัฒนาทวา ย(Dawei Development Association-DDA) พร้อมกับชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone – DSEZ) และกลุ่มประชาสังคมจากทวาย นำเสนองานวิจัยท้องถิ่น เรื่อง“เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง”ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้ลงพื้นที่ทวายเพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นในทวายจากโครงการฯ โดยเริ่มต้นจากกระบวนการที่ไร้ประสิทธิภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เช่น การนำเครื่องจักรเข้ามาดำเนินการทันทีในที่ดินทำกินของชาวบ้านโดยไม่มีการแจ้งให้ล่วงหน้าหรือให้ข้อมูลใดๆ ไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่และสั่งไม่ให้สร้างบ้านหรือเพาะปลูกใหม่ ด้านการจ่ายค่าชดเชยก็ไม่เป็นธรรม เช่น ที่ดินลักษณะเดียวกันแต่จ่ายค่าชดเชยต่างกันเป็นเท่าตัวซึ่งสร้างความแตกแยกภายในชุมชน จ่ายค่าชดเชยโดยคิดเฉพาะค่าต้นไม้แต่ไม่คิดมูลค่าที่ดิน และมีชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ

นอกจากนี้ยังต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เดิมไปอยู่ในหมู่บ้านอพยพที่รัฐสร้างให้ใหม่ซึ่งมีแต่บ้านเรียงกันเหมือนบ้านจัดสรรแต่ขาดที่ดินทำกิน ขาดอาชีพและสาธารณูปโภคพื้นฐานทำให้กลายเป็นหมู่บ้านร้างเพราะชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้ รวมทั้งผลกระทบจากการสร้างถนนยังทำให้ดินตกลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ตื้นเขิน น้ำขุ่น จนชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้

จากปัญหาดังกล่าว สมาคมพัฒนาทวายและชาวทวายจึงร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งหลังจากทางคณะกรรมการสิทธิฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบในเดือนมิถุนายน 2556 จึงเสนอให้ชาวทวายศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่บริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯ เข้าไปดำเนินการในปี 2553

นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทวายซึ่งนำเสนอเป็นรายงาน “เสียงจากชุมชน ข้อกังวลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง” นั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน นั่นคือ นักธุรกิจหรือรัฐบาลไทยเข้าไปลงทุนประกอบกิจการหรือโครงการต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีหลายกรณีมากที่ประเทศเพื่อนบ้านร้องเรียนเข้ามายังประเทศไทย เช่น การให้สัมปทานที่ดินที่เกาะกง กัมพูชา, เขื่อนไซยะบุรี ลาว, โรงไฟฟ้าถ่านหินที่หงสาวดี พม่า ฯลฯ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ จะตรวจสอบผลกระทบด้านสิทธิชุมชน เช่น สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิในการทำมาหากินภาคพื้นเกษตรกรรมและการประมง สิทธิเรื่องที่ดินทำกินและวัฒนธรรมวิถีชีวิต

ทั้งนี้ แม้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นนอกประเทศ แต่ขณะนี้เราต้องยอมรับความเป็นภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนแล้วและประเทศไทยก็เข้าร่วมด้วย อีกทั้งยังมีกลไกไอชาร์ (AICHR-คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) มีตัวแทนจากรัฐบาลทุกประเทศที่ดูแลปัญหาสิทธิมนุษยชน ฉะนั้น การละเมิดประชาชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้จึงอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยด้วย ตามหลักประชาคมอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้ประชาชนให้ภูมิภาคอาเซียนถูกรังแกและได้รับความเป็นธรรมจากโครงการของภาครัฐและภาคเอกชนข้ามชาติ โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีปฏิญญาสิทธิมนุษยชนว่าด้วยอาเซียน มีบทบัญญัติว่าด้วยการเคารพสิทธิพลเมือง สิทธิจากการเมือง สิทธิจากพัฒนาของประชาชนที่มีสิทธิมีชีวิตอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบกิจการภาคการเกษตรในขนาดกลางและขนาดย่อม อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนในภูมิภาคนี้ ในขณะที่การเกษตรขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมเป็นของนายทุนนักธุรกิจ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเข้าไปปกป้องประชาชนให้มีชีวิตอยู่ได้ภายใต้อาชีพด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมของประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงเข้าไปตรวจสอบสิทธิการมีชีวิตอยู่ สิทธิการดำรงวัฒนธรรม และสิทธิการพัฒนาที่ไม่ให้รัฐบาลต่างๆ สุดโต่งในการพัฒนาด้านการลงทุนอย่างเดียว แต่ต้องให้ความเป็นธรรมด้านเกษตรกรรมและวัฒนธรรมชุมชนด้วย

สำหรับการดำเนินการต่อไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. นำเสนอข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้รับผิดชอบต่อสังคมจากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยการจ่ายค่าชดเชยเยียวยา เพราะจากการรวบรวมข้อมูลผลกระทบในช่วงปี 2553-2557 ที่บริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯ เข้าไปดำเนินการ สรุปได้ว่า สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่จริง ทั้งด้านสิทธิที่ดินทำกิน ด้านการเกษตรกรรม การประมง การทำนาเกลือ และส่งผลกระทบด้านชีวิตความเป็นอยู่ จากการสร้างถนน ถมที่ และการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ทำให้ตกอยู่ในสภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เนื่องจากไม่สามารถใช้น้ำจากลำธารเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ดังเดิม ชาวบ้านยากจนเนื่องจากไม่มีอาชีพและขาดที่ดินทำกิน

2. โครงการที่จะดำเนินการต่อหลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังประเทศพม่าและประกาศว่าจะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากจะดำเนินการต่อชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ไม่ใช่เอื้ออำนวยให้นักธุรกิจร่ำรวยแล้วประชาชนอดยาก ดังนั้น ก่อนทำโครงการต้องศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนา (SEA) รวมถึงศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อเป็นหลักประกันว่าโครงการที่จะเกิดนั้นสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์พื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่สำคัญคือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย

นายนิรันดร์กล่าวต่อว่าคณะกรรมการสิทธิฯ จะเสนอรัฐบาลให้ทำงานโดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย เนื่องจากการลงทุนร่วมกันของรัฐบาลไทยและพม่าโดยก่อตั้งเป็นนิติบุคคลเฉพาะนั้น จะต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่โดยการรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อมูลข่าวสารด้วย เนื่องจาก 4 ปีที่ผ่านมา ชาวทวายยืนยันว่าไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารและไม่มีโอกาสตัดสินใจ ทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมตัวเพื่ออนาคตและเดือดร้อนกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

“จากข้อมูลทั้งหมดในวันนี้ จะทำเรื่องเสนอไปยังรัฐบาลภายใน 2 สัปดาห์ และจะเชิญตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการมาชี้แจงอีกครั้ง รวมทั้งบริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯ ด้วย ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะยื่นข้อเสนอให้โครงการพัฒนาครั้งต่อๆ ไปยึดหลักสิทธิมนุษยชนและมีความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ก่อผลกระทบต่อประชาชนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา” นายนิรันดร์กล่าว

ในวันเดียวกันนั้นเอง มีการแถลงข่าว (ภาคภาษาอังกฤษ) ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม สมาคมพัฒนาทวาย (DDA) กล่าวถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า หากโครงการนี้สำเร็จจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากกว่าโครงการที่มาบตาพุด ฉะนั้นต้องหยุดสิ่งที่รัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) เคยทำไว้ และขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดโครงการนี้เสียแล้วทำอะไรที่ก้าวหน้า และเชื่อว่าหากระงับโครงการนี้ รัฐประหารที่เกิดขึ้นก็จะเหลืออะไรทิ้งไว้ในประวัติศาสตร์บ้าง

“ประเทศในระบอบเผด็จการ ถ้าจะทำเพื่อประชาชนมันจะได้ผลดีกว่าประชาธิปไตย ฉะนั้นนายกฯ ต้องกล้าหาญพอที่จะตัดสายสัมพันธ์นี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพี่ชายของเธอ ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ยินดีที่จะเปลี่ยนก็จะเปลี่ยนได้มากกว่า ถ้าต้องการให้ประชาชนมีความสุขและต้องการสิทธิมนุษยชนก็ต้องทำให้สิ่งแวดล้อมสมดุลด้วย ไม่ต้องสนใจอาเซียน แต่ต้องสนใจเพื่อนบ้าน พล.อ. ประยุทธ์จะเป็นคนสำคัญขึ้นมาได้ทันที หากทำประเด็นนี้ให้สำเร็จ ทวายจะเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีความสุข ไม่ต้องมีท่าเรือใหญ่หรือถนนใหญ่ เพราะอะไรที่ใหญ่ๆ นั้นแย่หมด ตอนนี้ยังไม่สายที่จะไม่ไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ไทยและพม่าต้องไปด้วยกัน พล.อ. ประยุทธ์พูดว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนดีไซน์ความสุขได้เองด้วย” นายสุลักษณ์กล่าว

ด้านนายเดชรัต สุขกําเนิด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ในตอนนี้โครงการทวายทำเหมือนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคือ 1. มีขนาดใหญ่เหมือนกัน 2. ตำแหน่งที่ตั้งของโครงการทวาย ซึ่งตั้งบนชายหาดที่เป็นพื้นที่ราบเรียบขนาดใหญ่แห่งเดียวของชายฝั่ง แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่นี้มีภูเขาสูงล้อมรอบ ฉะนั้น หากเกิดมลพิษก็จะมีค่าสูงกว่ามาบตาพุดมาก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ยังไม่มั่นใจและยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลพม่าจะจัดการผลกระทบจากโครงการใหญ่อย่างนี้ได้อย่างไร เพราะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ก่อนที่จะเริ่มโครงการ แต่จากรายงานของชาวทวายพบว่า โครงการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ถนนและริมชายฝั่งไปมากแล้วโดยที่ยังไม่ได้ทำ EIA และ EHIA

“รายงานวิจัยของชาวทวายฉบับนี้อาจทำให้โครงการทวายยกเลิกได้ เพราะหลายๆ โครงการก็ยกเลิกหรือชะลอโครงการไปหลังจากเห็นรายงานด้านผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าหากไม่ให้ความสนใจกรณีโครงการทวายอย่างจดจ่อ ก็อาจจะเกิดขึ้นโครงการเช่นเดียวกับมาบตาพุด แล้วประเทศไทยจะเสียใจว่าในอาเซียนไม่มีการเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันเลย” นายเดชรัตกล่าว

โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ลำดับเหตุการณ์สำคัญ (พ.ศ. 2551-2556)

2551
19 พฤษภาคม 2551
รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมเพื่อการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก และเส้นทางคมนาคมเชื่อมสู่กรุงเทพฯ

19 มิถุนายน 2551
รัฐบาลพม่าลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการทวาย

2553
ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มสังเกตเห็นการก่อสร้างและชาวบ้านบางรายอ้างว่าที่ดินของตนถูกบุกรุกทำลายโดยปราศจากการให้ข้อมูลล่วงหน้าหรือความยินยอมของชาวบ้าน

2 พฤศจิกายน 2553
บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ลงนามกรอบความตกลง (Framework Agreement) กับการท่าเรือพม่า โดยบริษัทได้รับสิทธิสัมปทานเพื่อสร้าง ดำเนินการ และถ่ายโอน เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม (อันประกอบด้วยอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงถลุงเหล็ก โรงงานปุ๋ยเคมี โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ) ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งก๊าซและน้ำมัน เชื่อมระหว่างโครงการกับประเทศไทย และเขตที่อยู่อาศัยใหม่

2554
19 กรกฎาคม 2554
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู เข้าระงับการก่อสร้างถนนของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ที่เชื่อมระหว่างโครงการทวายกับประเทศไทย เนื่องจากชาวบ้านได้ร้องเรียนว่าที่ดินของพวกเขาถูกบริษัททำลายและไม่ได้รับการดูแลหรือจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ถนนสายนี้มีระยะทาง 160 กิโลเมตร ตัดผ่านชุมชนชาวกะเหรี่ยง 21 หมู่บ้าน

15 ธันวาคม 2554
สมาคมพัฒนาทวายจัดแถลงข่าวที่กรุงย่างกุ้ง โดยออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อโครงการซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวน 32,279 คน โรงเรียน 21 แห่ง และวัด 23 แห่ง จาก 19 หมู่บ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่ โดยสมาคมพัฒนาทวายเรียกร้องต่อรัฐบาลและบริษัทผู้พัฒนาโครงการดังนี้

1. ให้ยึดมั่นต่อหลักการพัฒนาสีเขียวอันยั่งยืน เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของทวาย
2. ดำเนินโครงการโดยให้ความสำคัญต่อความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่เป็นลำดับแรก
3. จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและรายงานผลกระทบด้านสังคมตามมาตรฐานสากล
4. ผลักดันการพัฒนาสีเขียวอันยั่งยืนซึ่งสนองตอบต่อความต้องการและประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น

2555
4 มกราคม 2555
สมาคมพัฒนาทวายร่วมกับชาวทวาย จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชายหาดเมามะกัน โดยเรียกร้อง “การพัฒนาสีเขียว” ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

5 มกราคม 2555
องค์กรภาคประชาชนไทย 18 องค์กร ออกแถลงการณ์กรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยถึงความเหมาะสมในการลงทุนที่ใช้เงินสาธารณะจำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท และเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางหลวงพิเศษรองรับโครงการนี้ รวมถึงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากประเทศพม่า ซึ่งจะส่งผลทำให้ไฟฟ้ามีต้นทุนที่สูงมาก และอาจกระทบต่อความมั่นคงของระบบพลังงานไทยในอนาคต และแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น

7 มกราคม 2555
สมาคมพัฒนาทวายยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีไทย ในระหว่างการจัดการประชุมร่วมทวิภาคีเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายระหว่างรัฐมนตรีของสองประเทศที่เมืองทวาย โดยได้แสดงความกังวลต่อปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการโครงการในวิถีทางซึ่งแสดงถึงความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน

9 มกราคม 2555
นาย ขิ่น หม่อง ซอ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไฟฟ้า แถลงต่อสื่อมวลชนที่กรุงย่างกุ้ง ว่าจะไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เนื่องจากจะก่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม

6 เมษายน 2555
ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านตะบิวชองในพม่า ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตัดถนนเชื่อมระหว่างนิคมอุตสาหกรรมทวายกับประเทศไทย ประท้วงและเดินออกจากห้องประชุมในขณะที่คณะนักวิชาการจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ขอชี้แจงการสำรวจข้อมูลเพื่อจะใช้ประกอบการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยชาวบ้านไม่เชื่อมั่นว่าจะเกิดความเป็นกลางในการจัดทำอีไอเอ เพราะนักวิชาการเดินทางมากับ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เจ้าของโครงการ และทางบริษัทฯ เองก็ไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนในเรื่องการชดเชยที่เกิดจากความเสียหายของการขยายถนน ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อชาวบ้าน เพราะบริษัทฯ ได้ก่อสร้างถนนรุกเข้าไปในที่ทำกิน แต่ไม่เคยดูแลหรือเยียวยา จนชาวบ้านได้ประกาศปิดถนนห้ามบริษัทเข้ามาก่อสร้าง ซึ่งบริษัทก็ได้เลี่ยงไปก่อสร้างที่อื่นก่อน และยังทิ้งปัญหาไว้

2 สิงหาคม 2555
ชาวบ้านกาโลนท่าไม่พอใจกับแผนโยกย้ายของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนเพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตอุตสาหกรรมจะทำให้น้ำท่วมหมู่บ้านและที่ทำกินของพวกเขาทั้งหมด ชาวบ้านบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการย้ายไปอยู่ที่อื่น

18 สิงหาคม 2555
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมเป็นวิทยากรในการแถลงข่าว “หยุดอุ้มโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ” ตั้งคำถามต่อจริยธรรมและธรรมาภิบาลในโครงการ และแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยเข้าสนับสนุนโครงการนี้โดยใช้เงินแผ่นดิน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะ ยังเป็นการอุ้มเอกชนให้ลงทุนในประเทศที่ไม่มีความพร้อมในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และมาตรการป้องกันผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยมีองค์กรภาคประชาสังคม 42 องค์กร ร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้ด้วย

กันยายน 2555
รายงานวิจัยขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ชื่อ Transnational Institute (TNI) ซึ่งร่วมกับกลุ่มท้องถิ่น ระบุชัดเจนว่าในพื้นที่โครงการทวายนั้นมีการเข้ายึดที่ดินของชาวบ้าน การชดเชยความเสียหายที่ไม่เป็นธรรม และการบังคับขู่เข็ญให้ชาวบ้านโยกย้ายถิ่นฐาน และได้ประเมินตัวเลขของผู้ที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาการยึดที่ดินขนานใหญ่ในพื้นที่ทวายว่าอาจสูงถึงกว่า 500,000 คน

20 กันยายน 2555
ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อต่อต้านโครงการที่พวกเขาบอกว่าเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านในหมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเพื่อนำน้ำมาใช้ในโครงการ ได้ทวงถามถึงบัญญัติหลัก 4 ข้อเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติที่ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง เคยดำริไว้ นั่นคือ 1) ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนพม่า 2) ปกป้องศักดิ์ศรีแห่งรัฐ 3) ปกป้องอธิปไตยของชาติ และ 4) การลงทุนของต่างชาติต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างถนนยังได้ติดตั้งป้ายคัดค้านโครงการที่มีใจความว่า “หยุดสร้างมาบตาพุดอีกแห่งในทวาย”

4 ตุลาคม 2555
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นาย เซ็ทซึโอะ อิอูจิ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำประเทศไทย ซึ่งยืนยันจะร่วมมือพัฒนาพื้นที่ทวายในรูปแบบไตรภาคี คือ ไทย พม่า และญี่ปุ่น โดยเผยว่าญี่ปุ่นยินดีจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแก่โครงการต่าง ๆ

28 ตุลาคม 2555
ชาวบ้านในพื้นที่นาบูเล ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย บอกว่าโครงการนี้ทำให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ไม่สามารถปลูกพืชผลได้ตามฤดูกาล กลุ่มท้องถิ่นในทวายที่ชื่อ Tavoyan Voice ยังได้กล่าวว่า โครงการทวายสร้างประโยชน์เฉพาะนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่เท่านั้น ในขณะที่ชาวบ้านท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้รับเคราะห์กรรมในเรื่องผลกระทบ

15 พฤศจิกายน 2555
แผนการสร้างเขื่อนที่หมู่บ้านกาโลนท่าเพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายถูกประท้วงต่อต้านจากชาวบ้าน เนื่องจากทั้งหมู่บ้าน 182 หลังคาเรือน จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และชาวบ้านกว่า 1.000 คน ต้องย้ายออกจากพื้นที่ ชาวบ้านกล่าวว่า บริษัทขอนัดพบเพื่อเจรจาเพราะการคัดค้านของชาวบ้านทำให้โครงการทวายต้องล่าช้าออกไป แต่ในวันที่เจ้าหน้าที่ทางการและ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เดินทางไปที่หมู่บ้านเพื่อพูดคุยถึงแผนการโยกย้าย ชาวบ้านต้อนรับด้วยป้ายที่เขียนว่า “ไม่เอาเขื่อน” และ “ไม่ย้าย”

22 พฤศจิกายน 2555
Tavoyan Voice ออกมาตอบโต้ข่าวที่ทาง บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ระบุกับสื่อว่า ได้โยกย้ายชาวบ้านส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ไปแล้ว โดยทาง Tavoyan Voice ระบุว่ายังไม่มีชาวบ้านคนใดย้ายออกจากพื้นที่

28 พฤศจิกายน 2555
สื่อระบุว่า รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2556 ในขณะที่ชาวบ้านมีข้อกังขาว่า โครงการได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 แต่ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เพิ่งจะว่าจ้างให้ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment) ในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย, พื้นที่สร้างเขื่อนที่หมู่บ้านกาโลนท่า และพื้นที่ก่อสร้างถนนเชื่อมต่อมายังประเทศไทย ตามลำดับ ซึ่งการศึกษาเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2554 และจนถึงบัดนี้ ยังไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินสิ่งแวดล้อมใด ๆ แก่ชาวบ้าน

2556
17 มกราคม 2556
นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้พูดคุยกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้รายงานว่า ญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในพม่า

19 มกราคม 2556
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวอย่างมั่นใจว่าประเทศญี่ปุ่นสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการทวาย โดยกล่าวเพิ่มเติมว่าการขยายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของโครงการนี้จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องจากว่าเงินกู้ดังกล่าวจะช่วยลดภาระทางดอกเบี้ยในช่วงเริ่มต้นโครงการ

25 มกราคม 2556
นักปั่นจักรยานและนักกิจกรรมในพม่าเริ่มจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน 10 วัน จากย่างกุ้งสู่พื้นที่ก่อสร้างโครงการทวาย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้

5 มีนาคม 2556
สมาคมพัฒนาทวายยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย ระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในโครงการทวาย โดยกล่าวว่าบริษัทของไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น การละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองและชนเผ่า การไม่มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูล และไม่ปรึกษาหารือชนพื้นเมืองและชนเผ่าอย่างเหมาะสม รวมถึงกรณีชาวบ้านในพื้นที่กว่า 32,000 คน ต้องถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานโดยไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายอย่างเป็นธรรม

28 มีนาคม 2556
ชาวบ้าน 30 คน จากหมู่บ้านชาคานในชุมชนเท็นจี ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกดดันให้ย้ายออกจากหมู่บ้านเพื่อเปิดทางให้มีการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ชาวบ้านปฏิเสธการโยกย้ายเนื่องจากพวกเขาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มาหลายทศวรรษ และหาเลี้ยงชีพด้วยการทำประมงและนาเกลือมาหลายชั่วอายุคน

12 พฤษภาคม 2556
ชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างถนนที่เชื่อมระหว่างโครงการทวายถึงชายแดนไทยพม่า ปฏิเสธที่การเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความเห็นสาธารณะ ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการว่าจ้างจาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ให้จัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านกล่าวหาว่าทีมงานที่จัดทำรายงานศึกษาฯ ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอและไม่สามารถชี้แจงประเด็นที่สำคัญ เช่น การชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อที่ดินและผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น และได้วิจารณ์ว่า บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และทีมผู้วิจัยจากจุฬาฯ เพิ่งเริ่มทำการศึกษาหลังจากการก่อสร้างถนนและทรัพย์สินชาวบ้านได้ถูกทำลายไปแล้ว ซึ่งแสดงถึงความไร้จริยธรรมในการทำการศึกษาอย่างชัดเจน

25 พฤษภาคม 2556
นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางเยือนพม่า ขณะเดียวกัน ทางสมาคมพัฒนาทวายได้ยื่นจดหมายร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น รวมถึงผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) และประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอันเนื่องมาจากโครงการทวาย โดยระบุว่าประเทศญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบในปัญหาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมหากว่าญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามในโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหรือการให้เงินกู้ จดหมายดังกล่าวยังได้เน้นย้ำหน้าที่สำคัญ เช่น การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักสากล โดยเฉพาะการเคารพสิทธิชนพื้นเมืองในหลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ’ (Free, Prior and Informed Consent); การเปิดเผยข้อมูลภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ในการวางแผน การดำเนินงาน และการตรวจสอบแผนปฏิบัติการในการย้ายถิ่นฐาน รวมถึงกระบวนการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ต้องไม่มีการบังคับหรือข่มขู่ชาวบ้านและชุมชนในกระบวนการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่สมัครใจ หลีกเลี่ยงการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่สมัครใจหากเป็นไปได้ ต้องไม่มีการทุจริต และต้องเคารพสิทธิมนุษยชนในทุกกิจกรรมของการดำเนินโครงการ

24 มิถุนายน 2556
กลุ่มทวายวอทช์ (Dawei Watch) ระบุว่า ประชาชนในเมืองทวายวางแผนดำเนินการฟ้องร้อง บมจ.อิตาเลียนไทยฯ จากกรณีสูญเสียที่ดินเนื่องจากบริษัทสร้างถนนบนที่ดินชาวบ้านในเมืองเยบิว นอกจากนี้เจ้าของไร่ในเขตตะลายยาร์ 14 ราย ยังได้ยื่นรายงานต่อศาลพิเศษ คัดค้านไม่เห็นด้วยกับเงินเยียวยาที่บริษัทเสนอชดใช้ให้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เพาะปลูกและวิถีชีวิต

29 กรกฎาคม 2556
นาย ตูรา เตา ลวิน ประธานคณะกรรมการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายประกาศถึงความพยายามในการดึงประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในโครงการทวายว่า เพื่อนำเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า และกล่าวว่าทั้งรัฐมนตรีพม่าและไทยได้ร่วมลงนามในจดหมายเชิญถึงญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 เพื่อสนับสนุนญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมลงทุน

4 สิงหาคม 2556
เจ้าหน้าที่ของพม่ากล่าวว่า พวกเขายังคงมั่นใจว่าญี่ปุ่นจะเข้ามามีบทบาทหลักในการพัฒนาโครงการทวาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นยังได้กล่าวกับสื่อด้วยว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาแนวทางเลือกต่างๆ ในการเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ นายมาซากิ ทากาฮาระ กรรมการผู้จัดการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร-JETRO) ประจำย่างกุ้ง กล่าวว่า ญี่ปุ่นสามารถใช้ความชำนาญที่มีในการวางแผนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และขณะเดียวกันก็ยังอาจพิจารณาการให้เงินกู้แก่โครงการด้วย โดยระบุว่า “การสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างกันและการพัฒนาภูมิภาคนี้ถือเป็นภารกิจของญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค”

9 กันยายน 2556
ชาวบ้านร่วมกันปิดถนนในหมู่บ้านตะบิวชองเพื่อประท้วง บมจ.อิตาเลียนไทยฯ โดยระบุว่าบริษัทไม่ทำตามสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการก่อสร้างถนนเส้นใหม่ในโครงการทวาย กลุ่มชาวบ้านยังได้ออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์บริษัทว่า “การชดเชยนั้นไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส”

29 กันยายน 2556
ชาวบ้านทวายเรียกร้องให้หยุดดำเนินการโครงการทวาย โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายตามที่เคยสัญญาไว้ ทั้งนี้ ความไม่พอใจของชาวบ้านเริ่มก่อตัวมากขึ้นจากการที่เรือกสวนไร่นาของพวกเขาถูกทำลายไปจากการก่อสร้างของโครงการ โดยที่ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น

16 ตุลาคม 2556
สื่อพม่า Eleven Media รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นกล่าวในที่ประชุมร่วมระหว่างพม่า-ญี่ปุ่น-ไทย ว่าญี่ปุ่นกำลังพิจารณาการเข้าร่วมโครงการทวายอีกครั้ง โดยนาย ฮัน เส่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของพม่า ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กล่าวว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นมีความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ หากรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการลงทุนในโครงการก็จำเป็นต้องใช้เงินสาธารณะ ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นผู้อธิบายถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่แสดงความสนใจ”

21 พฤศจิกายน 2556
คณะกรรมการประสานงานร่วมไทย-พม่า จัดการประชุมในกรุงเทพฯ และเห็นชอบข้อตกลงกรอบการทำงานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายฉบับใหม่ พร้อมทั้งลงนามในบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ โดยฉบับที่หนึ่งเป็นสัญญาระหว่างองค์การเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone Authority) และ บริษัท ดีเอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนต์ (DSEZ Development) ซึ่งถูกตั้งขึ้นเป็นบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle-SPV) โดยถือหุ้นร่วมกันระหว่างไทยและพม่า 50 ต่อ 50 โดยบริษัทจะทำหน้าที่หานักลงทุนสำหรับโครงการ ฉบับที่สอง เป็นข้อตกลงสามฝ่ายระหว่าง บมจ.อิตาเลียนไทยฯ, องค์การเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และ บริษัท ดีเอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนต์ เพื่อรับทราบและยืนยันสิทธิในการดำเนินโครงการที่เหลืออยู่ของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ก่อนการถ่ายโอนสิทธิทั้งหมดไปยังบริษัทย่อยเฉพาะกิจ และฉบับที่สาม เป็นข้อตกลงยุติสัญญาสัมปทานของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ในการก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการทวาย โดยสิทธิรับสัมปทานนี้จะถูกโอนไปยัง บริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบในการประมูลงานต่อไป

นาย เซ็ต อ่อง รองผู้ว่าการธนาคารกลางพม่า กล่าวว่า ผู้แทนจากญี่ปุ่นได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ด้วย และทางคณะกรรมการบริหารโครงการยังได้เชิญชวนนักลงทุนจากญี่ปุ่นจัดทำข้อเสนอทางธุรกิจเพื่อการพัฒนาโครงการทวายในเฟสแรกด้วย

21 พฤศจิกายน 2556
ชาวบ้านทวายปิดถนนระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 37–38 และยึดยานพาหนะของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ จำนวน 3 คัน โดยระบุว่าบริษัทไม่เคยชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือกสวนไร่นาอันเนื่องมาจากการก่อสร้างถนนตั้งแต่ปี 2554

22 พฤศจิกายน 2556
บริษัท มิตซูบิชิ ประกาศว่าจะร่วมกับ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในทวายขนาด 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 7 โรง โดยมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30, 50 และ 20 ตามลำดับ โรงไฟฟ้าย่อยโรงแรกจะสามารถเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2558 โดยมีแผนผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโครงการทวาย 3,000 เมกะวัตต์ และขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ 4,000 เมกะวัตต์ให้แก่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโครงการนี้

25 พฤศจิกายน 2556
สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานเอกชนกำลังเริ่มให้ความสนใจโครงการทวายอีกครั้งหลังจากที่เคยแสดงทีท่าเมินเฉยมาก่อนหน้านี้ โดยนายทาดาชิ มาเอดะ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) กล่าวในงานสัมมนาด้านธุรกิจซึ่งจัดโดยสำนักข่าวนิเคอิของญี่ปุ่น ที่กรุงย่างกุ้งว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างสูงต่อภูมิภาค”

4 ธันวาคม 2556
โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถูกระงับชั่วคราว โดยคนงานไทยและพม่าต้องถูกให้ออกจากงาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสวัสดิการสังคม การบรรเทาทุกข์ และการโยกย้ายถิ่นฐาน ของพม่า กล่าวกับสำนักข่าวอิระวดีว่า ชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้านซึ่งจะต้องถูกโยกย้ายยังคงไม่ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย และเขาเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินชดเชยที่ค้างอยู่

11 ธันวาคม 2556
สมาคมพัฒนาทวายออกใบแถลงข่าวก่อนหน้าการประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-อาเซียน เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น องค์กรด้านการพัฒนา และนักลงทุนต่างๆ ละเว้นการลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจนกว่าหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดตามมาตรฐานสากลจะถูกนำมาใช้ และเรียกร้องนักลงทุนญี่ปุ่นไม่ให้ลงทุนในอุตสาหกรรมสกปรกซึ่งจะก่อผลร้ายต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

13-15 ธันวาคม 2556
การประชุมสุดยอดผู้นำในวาระครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว โดยมีการคาดหมายกันว่า ญี่ปุ่นจะประกาศแผนการเข้าลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายภายในการประชุมนี้ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นพูดคุยในการประชุมนี้แต่อย่างใด