ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > 5 เดือน ทุกข์ชาวบ้านร้องคสช. กว่า 8 หมื่นเรื่อง ปัญหา “หนี้นอกระบบ-ยาเสพติด-บ่อน-ทุจริตตำรวจ” เยอะสุด

5 เดือน ทุกข์ชาวบ้านร้องคสช. กว่า 8 หมื่นเรื่อง ปัญหา “หนี้นอกระบบ-ยาเสพติด-บ่อน-ทุจริตตำรวจ” เยอะสุด

27 ตุลาคม 2014


หลังจากที่มีรายงานข่าวโดยไทยรัฐออนไลน์พาดหัวข่าวว่า “สาวใหญ่ร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. ตรงข้ามทำเนียบฯ ก่อนราดน้ำมัน จุดไฟเผาตัวเอง บาดเจ็บ นำตัวส่งวชิรพยาบาล แพทย์เตรียมแถลงอาการ” ตัวอย่างข้างต้นเป็นหนึ่งในเรื่องราวร้องทุกข์ ณ ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนจำนวนปัญหาภายในสังคมไทย รวมไปถึงความสามารถแก้ไขเรื่องปากท้องของประชาชน หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยรายงานก่อนหน้านี้ ชี้ให้เห็นว่า หลัง คสช. เข้าบริหารประเทศ จำนวนเรื่องร้องเรียนต่อสัปดาห์ได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 3 เท่า ซึ่งวัดจากจำนวนเรื่องร้องเรียนในช่วงสัปดาห์ที่ 7-13 กรกฎาคม 2557 เทียบกับจำนวนเรื่องร้องเรียนเฉลี่ย 3 ปีก่อนหน้านั้น

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีคำสั่งให้จัดผู้แทนกระทรวงต่างๆ รวมทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 20 กระทรวง มาประจำอยู่ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ลดขั้นตอนในแบบ one stop services จากเดิมที่ศูนย์บริการประชาชนทำได้เพียงรับเรื่องร้องทุกข์ไว้ และส่งต่อให้กระทรวงต้นสังกัดแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า

“การเอาผู้แทนของแต่ละกระทรวงมานั่งอยู่ ทำให้เรื่องที่เขามาร้องเรียน เสร็จสิ้นโดยเร็ว ที่ผ่านมาเวลามีพี่น้องประชาชนเข้ามาร้องเรียน ศูนย์จะรับเรื่องเอาไว้แล้วส่งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องบางเรื่องมันมีความเกี่ยวพันกับหลายกระทรวง พอส่งเรื่องไปให้กระทรวงที่เป็นเจ้าภาพหลักแล้ว การติดต่อประสานงานระหว่างกระทรวงที่เป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเรื่องไปยังกระทรวงอื่นๆมันก็มีความยากลำบากอยู่พอสมควร” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

สำหรับเรื่องร้องทุกข์ที่มีความซับซ้อนในแง่กฎหมายและข้อปฏิบัติ ไม่สามารถให้คำแนะนำหรือแก้ไขปัญหาได้ทันที ศูนย์บริการประชาชนยังต้องรับเรื่องไว้และค่อยส่งต่อให้กระทรวงต้นสังกัด รับไปแก้ไข แต่การมีเจ้าหน้าที่กระทรวงประจำอยู่ก็จะช่วยให้ประสานงานได้สะดวกมากขึ้น ต่างจากเดิมที่มักมีอุปสรรคในการประสานงานระหว่างกระทรวง

“การเอาคนทุกหน่วยงานมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะทำให้ทุกฝ่ายได้ระดมความคิด ระดมความเกี่ยวข้องของกระทรวงตนเองลงไปแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น ดีกว่ารับเรื่องเขามาแล้วก็ส่งกลับไปที่กระทรวงเจ้าภาพ นอกจากนี้ การรับเรื่องแบบนี้เป็นการรับเรื่องที่มีความหวังแก่ประชาชนมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ได้รับคำแนะนำจากผู้แทนของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ว่าในขั้นต้นประมาณไหน ติดขัดอะไรบ้าง มีอะไรที่ต้องหาเพิ่มเติม” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จำนวนเรื่องร้องเรียนจากประชาชนโดยตรงและเรื่องที่ คสช. ส่งให้ศูนย์บริการประชาชนดำเนินการ ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 – 19 ตุลาคม 2557 หรือเกือบ 5 เดือน รวมทั้งสิ้น 81,855 เรื่อง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 4,092.75 เรื่อง มีการดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว 71,752 คิดเป็น 87.66% ของจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด และยังดำเนินการอยู่ 10,103 คิดเป็น 12.34% แบ่งเป็นด้านสังคมและสวัสดิการมากที่สุด 4,261 เรื่อง รองลงมาเป็นเศรษฐกิจ 1,982 เรื่อง, การเมือง-การปกครอง 1,405 เรื่อง, กฎหมาย 1,051 เรื่อง, กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ 979 เรื่อง และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 425 เรื่อง

จำนวนเรื่องร้องทุกข์

จำนวนเรื่องร้อมทุกข์ที่ได้ดำเนินการอยู่

ถ้าดูจากข้อมูลพบว่าเกินครึ่งหนึ่งของเรื่องร้องเรียนเป็นปัญหาด้านสังคมและสวัสดิการ 44,105 เรื่อง โดยเฉพาะปัญหาสร้างความเดือดร้อนรำคาญ, ยาเสพติด และบ่อนการพนัน ซึ่งคิดเป็น 40% ของเรื่องร้องเรียนด้านนี้

ขณะที่ปัญหาด้านเศรษฐกิจ มีจำนวนเรื่องร้องเรียน 11,299 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ปัญหาพืชผล และปัญหาค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือน รวม 7,103 เรื่อง คิดเป็น 63% ของเรื่องร้องเรียนด้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้นอกระบบที่มีการร้องเรียนสูงถึง 4,740 เรื่อง หรือคิดเป็น 43 % ของปัญหาด้านเศรษฐกิจ

จำนวนเรื่องร้องทุกข์

เรื่องร้องเรียนด้านเศรษฐกิจ

ด้านปัญหาการกล่าวโทษเจ้าที่ของรัฐ 11,070 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนปัญหาการให้บริการ การประพฤติตน และทุจริต ของเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กระทรวง รวม 9,226 เรื่อง คิดเป็น 83.3% ของเรื่องร้องเรียนด้านนี้ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกร้องเรียนมากที่สุด 3,329 เรื่อง (30.07%) รองลงมาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นและข้าราชการกระทรวง จำนวน 2,975 เรื่อง (26.87%) และ 2,922 เรื่อง (26.40 %) ตามลำดับ

เรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ

ขณะที่เรื่องร้องเรียนด้านที่เหลือ ที่มีจำนวนเรื่องร้องเรียนสูง 3 อับดับแรก ได้แก่

1) ด้านการเมืองการปกครอง เรื่องผลกระทบจากนโยบายและโครงการของรัฐ 1,803 เรื่อง, การปฏิรูป 1,450 เรื่อง, การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย เจ้าหน้าที่รัฐ 1,429 เรื่อง

2) ด้านกฎหมาย เรื่องการกระทำความผิดคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ จำนวน 686 เรื่อง, การเสนอแนะและตรากฎหมาย 635 เรื่อง, การกระทำความผิดคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน 635 เรื่อง

3) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการตัดไม้ทำลายป่า 528 เรื่อง, วิกฤติน้ำท่วมและน้ำแล้ง 394 เรื่อง, การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน 391 เรื่อง

ความคืบหน้าการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน

นอกจากนี้ยังพบว่าเรื่องร้องเรียนด้านกฎหมายแก้ปัญหาได้น้อยที่สุด โดยดำเนินการได้ข้อยุติเพียง 73% ของเรื่องร้องเรียนด้านนี้ทั้งหมด ขณะที่ปัญหาการกล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการได้มากที่สุด 91% ของเรื่องร้องเรียนด้านนี้ทั้งหมด