ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ข้อถกเถียงนายแบงก์-นักวิชาการ”บัณฑูร – สมเกียรติ “กรณีธุรกรรมธนาคารพาณิชย์กับการเติบโตที่ยั่งยืนเศรษฐกิจไทย

ข้อถกเถียงนายแบงก์-นักวิชาการ”บัณฑูร – สมเกียรติ “กรณีธุรกรรมธนาคารพาณิชย์กับการเติบโตที่ยั่งยืนเศรษฐกิจไทย

20 ตุลาคม 2014


เสวนา “ภาคการเงินกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” โดยได้ผู้ร่วมเสวนาที่มีบทบาทในภาคการเงิน ทั้งในแง่ของนักวิชาการ ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ร่วมให้ความคิดเห็น ได้แก่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) โดยมีดร.รุ่ง  มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
เสวนา “ภาคการเงินกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่(ภาพซ้ายไปขวา) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) โดยมีดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน เป็นผู้ดำเนินรายการ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ภายใต้หัวข้อ “มิติใหม่ของภาคการเงินเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน” เพื่อทบทวนบทบาทของภาคการเงินไทยในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจนในทศวรรษที่ผ่านมา ว่าทำได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดเสวนา “ภาคการเงินกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) โดยมีดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน เป็นผู้ดำเนินรายการ

“สมเกียรติ” ชี้ธนาคารไทยต้องหนุนธุรกิจฐานราก-ไม่มุ่งแต่กำไร

ดร.สมเกียรติมองว่า การเติบโตของประเทศไทยต้องอาศัยภาคธุรกิจ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัจจัยทุนและแรงงานเป็นหลัก โดยละเลยปัจจัยผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตตามหลักเศรษฐศาสตร์ และภาคการเงินยังมีช่องว่างในการเข้ามาสนับสนุนอย่างน้อย 3 ส่วน คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี, ผู้ประกอบการเกิดใหม่ หรือ start-up, และผู้ประกอบการในครัวเรือน

“เพราะฉะนั้นประเด็นว่าประเทศไทยจะโตไปได้อย่างไร เราต้องทำให้ผู้ประกอบการไทยประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงนี้เองเป็นจุดเชื่อมต่อภาคเศรษฐกิจจริงกับภาคของการเงิน เพราะว่ายังมีช่องว่างในการเข้าถึงเงินทุนอย่างน้อยสามส่วน และปัญหาแต่ละส่วนไม่เหมือนกัน” ดร.สมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ปัญหาเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากส่วนใหญ่ขาดข้อมูลทางการเงินที่ดีพอในการตัดสินใจสำหรับผู้ปล่อยกู้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้พยายามแก้ไขมาตลอด เช่น ดูบันทึกกระแสเงินในอดีต ดูหลักประกัน และดูแผนธุรกิจ ประกอบกัน แต่ก็ยังมีธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงเงินทุน ดังนั้นจึงต้องสร้างฐานข้อมูลระหว่างธุรกิจเอสเอ็มอี, บริษัทขนาดใหญ่ และสถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง

ตัวอย่างที่สำคัญก็คือระบบการเงินห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains Finance) ซึ่งเชื่อมโยงธุรกิจเอสเอ็มอีและสถาบันการเงิน ผ่านคำสั่งซื้อของบริษัทขนาดใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงิน ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีกำลังชำระหนี้คืนได้ ปัจจุบันมีตลาดของการเงินห่วงโซ่อุปทานอยู่ประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่สามารถโตได้อีก 3-4 เท่า

“สาเหตุที่ส่วนนี้ยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควรก็เพราะว่า ธนาคารพาณิชย์ได้กำไรดีมากอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมาทำแบบนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำให้ธนาคารมีการแข่งขันมากขึ้น โอกาสที่จะขยายการเงินไปสู่ธุรกิจเอสเอ็มอีกก็จะมากขึ้น” ดร.สมเกียรติกล่าว

ขณะที่ธุรกิจประเภท star-up นั้น ต้องอาศัยนวัตกรรมชั้นสูง ธุรกิจประเภทนี้มักจะล้มละลายจำนวนมาก ทางออกจึงควรสนับสนุนผ่านการลงทุนร่วมระหว่างเอกชน หรือ venture capital เพราะการให้สินเชื่อจะมีความเสี่ยงเกินกว่าที่ธนาคารจะรับไหว

“ประเทศไทยขาดระบบนี้อย่างมาก ทั้งด้านอุปสงค์คือไม่มีบริษัทที่มีนวัตกรรมชั้นสูงเพียงพอ และด้านอุปทานคือไม่มีบริษัทสนใจให้เงินทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง กลุ่มนี้สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมาก แต่น่าสงสารที่สุดและควรให้เกิดขึ้นในประเทศไทย” ดร.สมเกียรติกล่าว

ด้านครัวเรือน ดร.สมเกียรติระบุว่า ต้องแก้ปัญหาด้วยระบบการเงินรากฐาน หรือ Micro Finance แต่ที่ผ่านมายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในโลก ทั้งนี้ ธปท. เคยพยายามสนับสนุนในปี 2554 ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อประมาณ 2 แสนบาทต่อราย แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งควรสนับสนุนผ่านองค์กรไม่แสวงหากำไรมากกว่า

“เราคาดหวังว่าองค์กรที่จะจัดสรรเงินสำหรับ Micro Finance ควรจะเป็นกลุ่มองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ โดยที่ไม่พยายามไปกำกับดูแล ปล่อยให้เติบโตก่อน เราก็เห็นจากต่างประเทศ ว่าจะทำให้องค์กรเหล่านี้พัฒนาเป็นธนาคารพาณิชย์ในท้ายที่สุด” ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

“บัณฑูร” แบงก์ไม่ใช่โรงรับจำนำและไม่เกี่ยวกำไรเยอะ

นายบัณฑูรระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ระดับ 4-5% เรียกได้ว่าเหมาะสมแล้ว เนื่องจากเป็นประเทศขนาดปานกลาง จึงไม่สามารถเติบโปได้มากกว่านี้นัก ขณะที่การเติบโตด้วยอัตราที่สูงกว่านี้ จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยขาด

“การทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นั่นคือความหมายที่แท้จริงของการเป็นบริษัท หรือเป็นเอสเอ็มอี เอสเอ็มอีไม่ใช่เพราะว่าฉันเล็ก เล็กมันก็เท่านั้นแหละ เล็กแต่ไม่ได้มีความคิดใหม่ ก็ไม่ได้แปลว่าจะช่วยกระตุ้นอะไร ในการที่จะสร้างแรงผลักดันใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ ซึ่งประเทศไทยมีน้อยมาก เราก็อยู่แบบกลางๆ เรายอมรับในรูปแบบที่มีกันอยู่ มันก็โตแบบกลางๆ เหมือนถูกกำหนดให้หยุดอยู่แค่นี้ จนกว่าเราจะไปแก้โครงสร้างพื้นฐานของสังคม” นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่าการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีน้อย ไม่ได้เกิดจากที่ธนาคารพาณฺชย์มีกำไรมากเพียงพอแล้ว แต่เกิดจากธนาคารพาณิชย์ “อ่านไม่ออก” และไม่เข้าใจกระบวนการดำเนินกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งๆ ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่มีส่วนต่างกำไรหรือมาร์จินสูงมาก ทำให้ไม่สามารถคำนวณผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสมได้ ขณะเดียวกัน ธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีนวัตกรรมในระดับที่เหนือกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ที่จำเป็นต่อความแข็งแกร่งของธุรกิจในอนาคต ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีข้อจำกัดที่จะปล่อยสินเชื่อ

“คำถามคือ เราอ่านกระแสเงินของธุรกิจออกหรือไม่ ถึงจุดหนึ่งมันอ่านไม่ออก ไม่แน่ใจว่าบริษัทนี้อีกปีหนึ่งจะอยู่รอดหรือไม่ เป็นความหมายจริงๆ ของเอสเอ็มอีไทยอย่างแท้จริง คือ อาจจะอยู่ไม่รอด (Survival May End) ดังนั้นแล้วทุกธุรกิจไม่ควรมีประเด็นเรื่องเข้าไม่ถึงเงินทุน ถ้าธุรกิจนั้นในตัวมันเองตอนจบเบ็ดเสร็จแล้วมันรอด แต่ไม่ใช่ ธุรกิจมันเป็นแบบนั้น รวมทั้ง Micro-finance ด้วย ตัวอย่างเช่น บางธุรกรรม ตั้งแต่ต้น ซื้อเมล็ดพืช ปลูก ขาย จนจบ มันติดลบ แล้วใครมันจะกล้าปล่อยกู้ แต่ถ้าธุรกิจนั้น เบ็ดเสร็จ จบแล้วคำนวณด้วยคณิตศาสตร์แล้วเป็นบวก ยังไงก็มีคนที่จะปล่อยกู้มาทำความเข้าใจกระบวนการธุรกิจและปล่อยกู้ให้ ทำให้มันครบวงจรต่อไป” นายบัณฑูรกล่าว

ส่วนกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่กำลังผลักดันออกมาอาจจะมีส่วนช่วยได้ แต่ไม่มาก เพราะธนาคารไม่ต้องการสินทรัพย์มาค้ำประกัน แต่ต้องการวิเคราะห์ฐานะของธุรกิจและสามารถให้การสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ แต่ปัจจุบันธนาคารยังไม่สามารถวิเคราะห์ธุรกิจเอสเอ็มอีได้

“เราไม่ได้มีหน้าที่เป็นโรงรับจำนำ เราควรทำหน้าที่อ่านความเป็นจริงในธุรกิจนั้นๆ ให้ออก คือธุรกิจนั้นควรมีอนาคตในตัวมันเอง แล้วให้ความสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงด้านอื่นๆ ด้วยให้มากที่สุดเท่าที่เป็นได้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นไม่ไปสะดุด เพราะขาดการสนับสนุนทางการเงิน จะได้ประสบความสำเร็จเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเศรษฐกิจไทย หลักการของระบบธนาคารพาณิชย์ควรจะเป็นแบบนั้น ไม่ใช่ตั้งตัวเป็นโรงรับจำนำขนาดใหญ่ ค้ำประกันมาก็ให้กู้ ไม่ค้ำก็ไม่ให้กู้ ตอนจบธนาคารมีแค่คอกช้างคอกม้าเต็มไปหมดสิ” นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาของธุรกิจเอสเอ็มอี รัฐบาลอาจจะทำการออกกฎหมายบังคับได้ แต่จะส่งผลให้ตลาดทุนมองว่ารัฐบาลไทยเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด แต่ถ้าปล่อยเป็นกลไกตลาดเมื่อถึงจุดหนึ่งย่อมจะรับความเสี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน กำไรธนาคารพาณิชย์ที่ถูกสังคมมองว่ามากเกินไป รัฐก็สามารถ “ริบ” เงินไปบางส่วนได้

“ทีนี้ ถ้าจะบอกว่ากำไรมากเกินไป ก็มีวิธีแก้อีกคือ ‘ริบ’ ไปบางส่วน ก็ทำได้ ถ้าให้เกิดความเป็นธรรม เพราะถ้าปล่อยแบงก์ไปทำเอง ก็จะเป็นแบบนี้ เพราะทุกคนก็มีความกดดันที่จะต้องทำกำไร มาปรับอัตราตรงนั้นทีตรงนี้ที ไล่กันไม่จนหรอก มันมีวิธีของแบงก์ ปรับเล็กปรับน้อยก็กำไรแบบนี้อยู่ดี ตลาดทุนต้องการแบบนี้ เป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่ต้องคิด” นายบัณฑูรกล่าว

“สมเกียรติ” หนุนเพิ่มการแข่งขันในภาคการเงินแทนการ “ริบ” เงิน

ดร.สมเกียรติเสนอเพิ่มเติมว่า นอกจากจะ “ริบ” เงินจากธนาคารพาณิชย์แล้ว การเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรมธนาคารจะสามารถลดกำไรที่ถูกมองว่ามากเกินไปของธนาคารพาณิชย์ได้ โดยเฉพาะในบางส่วนที่มีไม่เพียงพอ ได้แก่ 1) ออกกฎให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนต้องคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสัญญาเงินกู้แต่ละประเภท เพื่อให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบสัญญาแต่ละรูปแบบ รวมไปถึงแต่ละธนาคารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และ 2) ส่วนระบบชำระเงิน โอนเงินต่างๆ ที่แต่ละธนาคารกำหนดราคาตรงกันหมด ส่งผลให้ไม่เกิดการแข่งขันที่เพียงพอ

“ผมทำวิจัยเรื่องโทรคมนาคมมา จริงๆ แล้วโครงสร้างสองอย่างนี้มีส่วนคล้ายกัน แต่เราไม่เห็นปรากฏการณ์ว่า AIS DTAC TRUE เก็บราคากับผู้บริโภคเหมือนกันเลย เหมือนกับที่เกิดขึ้นในการโอนเงินของธนาคาร ส่วนนี้เป็นส่วนที่การแข่งขันยังมีไม่น่าจะเพียงพอ เพราะว่าการกำกับดูแลด้านราคา ให้สมาคมธนาคารไปประสานงานแต่ละธนาคาร ภาษาชาวบ้านๆ ก็คือการสบคบราคากัน” ดร.สมเกียรติกล่าว

“บัณฑูร” แย้งธนาคารไม่แข่งกันจนตาย

นายบัณฑูรมีความเห็นว่า ตลาดไม่สามารถปรับตัวได้ในลักษณะนั้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะไม่แข่งขันจนไม่มีกำไรเลย แต่จะค่อยๆ ปรับตัวให้ได้กำไรที่รับได้ ณ ความเสี่ยงหนึ่ง ขณะที่รายใดแข่งขันต่อไป ก็จะพบว่าแบกรับความเสี่ยงมากเกินไปและขาดทุนในที่สุด ดังนั้นต้องให้ ธปท. สั่งถึงจะทำได้ แต่ต้องรับความเสี่ยงจากตลาดทุนที่มองว่า ธปท. มาแทรกแซงตลาดอีก

“ที่อาจารย์สมเกียรติบอกว่าให้ไปปรับเรื่องการแข่งขันแล้วสู้กัน ผมบอกให้ว่า มันมีความอืดอยู่ในระบบ พอต้องไปสร้างความสมดุลระหว่างราคา ระบบธนาคารพาณิชย์ก็จะมีวิธีหาความสมดุลที่ยังทำกำไรได้ มันไม่แข่งกันจนตายหรอก ไม่มีใครแข่งขันจนเหลือศูนย์หมด มันไม่มีใครทำแบบนั้น ดังนั้นพอถึงจุดหนึ่งธนาคารจะรับได้ว่ากำไรแค่นี้ สำหรับความเสี่ยงเท่านี้พอแล้ว ฉันไปไม่ไหว แล้วคนที่บ้าระห่ำไป สักพักก็จะรู้ตัวว่า จะไปเจอความเสียหายที่ไม่คุ้มทุน ผมจึงบอกแบงก์ชาติสั่งให้ดึงกำไรออกมาเลย ทุกคนโดนหมด เพราะถ้าปล่อยไปยังไงมันก็ออกมาแบบนี้ แข่งกันยังไงก็ออกมาได้แบบนี้ จะคุยไม่คุย ธนาคารไม่แข่งกันจนตาย จะให้ต่างไปมันต้องมีคนที่รู้ดีกว่ากลไกที่เกิดขึ้น แล้วบอกยึดเลย 5% แบบนี้ได้” นายบัณฑูรกล่าว

อดีต รมว.คลัง เน้นกำกับดูแลแบงก์รัฐ-เพิ่มจำนวนแบงก์

ด้านนายธีระชัยกล่าวว่า สถาบันการเงินของรัฐถูกตั้งขึ้นมาในอดีตเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่สามารถให้บริการได้ แต่ปัจจุบันต้องทบทวนถึงบทบาทของสถาบันการเงินเหล่านี้ใหม่ เพราะสังคมและปัจจัยแวดล้อมได้เปลี่ยนไป ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทมากขึ้นในการให้บริการลูกค้าเหล่านี้ ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินของรัฐมีขนาดใหญ่มากและเริ่มพยายามแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ ทั้งที่ตนเองไม่มีประสิทธิภาพและขาดการกำกับดูแลสูงเท่าธนาคารพาณิชย์ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหานักการเมืองเข้าแทรกแซง ทำให้หนี้เสียของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มสูงมาก สร้างปัญหาแก่รัฐอยู่ตลอดเวลา

นายธีระชัยเสนอทางออกว่า ควรจะมีการกำกับดูแลมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ต้องแก้ไขกฎหมายสถาบันการเงินของรัฐให้ชัดเจน ไม่สามารถดำเนินการออกนอกเป้าหมายได้, ให้ ธปท. กำกับดูแลและออกคำสั่งได้เหมือนกรณีของธนาคารพาณิชย์, ก่อนเพิ่มทุนต้องมีการตรวจสอบจากบริษัทสอบบัญชีภายนอกที่น่าเชื่อถือ, ต้องเปิดฐานะการเงินไม่ด้อยไปกว่าของตลาดหลักทรัพย์, ควรแก้การวัดผลจากการทำกำไร เป็นการบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจของสถาบันได้หรือไม่, ต้องขายหุ้นออกจากธุรกิจเอกชนเพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน, ห้ามข้าราชการมาเป็นคณะกรรมการบริหาร นอกจากนี้ ธปท. ต้องอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศได้ เพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจธนาคาร

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชี้แบงก์เพิ่มขึ้นไม่มีผลต่อการแข่งขัน

ขณะที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า การเพิ่มจำนวนธนาคารไม่น่าจะเพิ่มการแข่งขันมากนัก ถ้าธนาคารที่เพิ่มเข้ามามีขนาดเล็ก จะไม่สามารถแข่งขันกับธนาคารรายเดิมที่มีขนาดใหญ่กว่า เหมือนเป็นการเพิ่ม “นักชกรุ่น fly weight ไปชกกับ heavy weight” ขณะเดียวกัน แนวโน้มในโลกปัจจุบัน ต่างพยายามผลักดันให้มีธนาคารจำนวนน้อยลงและใหญ่มากขึ้นมาแข่งขันกัน แทนที่จะเป็นธนาคารเล็กๆ หลายๆ แห่ง แข่งขันกัน เพื่อลดความเสี่ยงกรณีที่ธุรกิจธนาคารล้มละลาย เนื่องจากส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

“ระบบแบงก์ไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ ตรงที่ว่า แบงก์มีสิทธิยืมเงินคนอื่นได้สูง เช่น มีเงินเจ้าของ 1 บาท ยืมเงินคนอื่นได้อีก 10 บาท คือเงินฝาก เวลาแบงก์ล้ม มันไม่ได้ไปเฉยๆ มันสร้างแรงกระเพื่อมให้กับระบบ หลายประเทศจึงนิยมระบบแบงก์ที่จำนวนไม่เยอะแต่ว่าแข่งหนัก อย่างออสเตรเลีย 4 แบงก์ใหญ่ อเมริกา 6 แห่ง มาเลเซียก็ไปในทางนี้ เพราะฉะนั้น ธุรกิจแบงก์มันมีประเด็นที่อาจจะต่างจากธุรกิจอื่น” ดร.ประสารกล่าว

ดร.ประสารยังกล่าวอีกว่า ค่าบริการของธนาคาร ไม่น่าจะเกิดจากการสมคบราคากันตามที่ ดร.สมเกียรติกล่าว เนื่องจากราคานี้อาจจะเกิดจากกระบวนการตั้งราคาแต่ละแห่ง จนเริ่มเข้าสู่สมดุลแล้ว ขณะเดียวกัน ราคาในปัจจุบันถือว่าไม่สูงกว่าประเทศกลุ่มอาเซียน แต่การที่ถูกมองว่าแพง จากข้อมูลต้นทุนการทำธุรกรรมต่อหน่วยที่ต่ำ ความจริงแล้วจำเป็นต้องรวมต้นทุนในการสร้างระบบธนาคาร เช่น สาขา เพื่ออำนวยความสะดวกและจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการ ซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก

“เรื่องตัวราคา กระบวนการมันอาจจะบอกว่า แบงก์ ก ตั้งอันหนึ่ง แบงก์ ข ตั้งต่างกัน แบงก์ ค อีกอัน แล้วมันจะขยับไปขยับมา พอขยับไปขยับมา และถึงจุดหนึ่งซึ่งเริ่มได้ดุลยภาพ เขาก็อาจจะบอกว่าประมาณนี้แหละ มันก็ไม่ได้แพงไป เช่น 10 บาท เขาคงรับได้ เปรียบเทียบกับค่าโสหุ้ยคงประมาณนี้ นอกจากนี้ ธุรกิจแบงก์ ต้นทุนคือการไปเปิดสาขาหลายๆ สาขา การลงระบบไอที การมีเครือข่ายสาขาเยอะๆ มันเป็นตัวที่ทำให้คนอยากฝาก เพราะมันสะดวก ซึ่งเป็นการลงทุนที่เป็นก้อน เพื่อสร้างโครงสร้าง แล้วต่อมาให้บริการ จริงๆ บริการต่อธุรกรรมต้นทุนมันน้อยจริง แต่โครงสร้างพวกนี้มันลงทุนไปเยอะนะ” ดร.ประสารกล่าว