สหกรณ์ถือว่าเป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญไม่ต่างจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ อาจจะกล่าวได้ว่าสหกรณ์เป็นธนาคารคนจนหรือไมโครไฟแนนซ์ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น สหกรณ์จึงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้กลไกระบบเศรษฐกิจรากหญ้าได้พึ่งพิง แต่ด้วยสหกรณ์มีหลายประเภทหลายขนาดและมีจำนวนมาก ทำให้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง ปัญหาสหกรณ์ล้มก็มีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับระบบสหกรณ์และสมาชิกที่เป็นทั้งรากหญ้าและไม่ใช่รากหญ้า โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากอดีตผู้บริหารที่ถูกข้อกล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์ประมาณ 16,000 ล้านบาทซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ 97 ปีตั้งแต่มีสหกรณ์ในประเทศไทย
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้มีโอกาสสัมภาษณ์พันตำรวจเอก นายแพทย์ดนุกฤต กลัมพากร อดีตประธานดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจหลายสมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานฯ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จ สามารถจ่ายปันผลในอัตราสูงสุดเท่าที่กฎหมายอนุญาต (10%) มาโดยตลอด และสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจเป็นสหกรณ์รายแรกที่มีการประเมินเครดิตเรตติ้งโดยบริษัท ทริสเรตติ้ง จำกัด อยู่ในระดับ BBB+
นายแพทย์ดนุกฤตกล่าวว่าหลักการสหกรณ์คือการทำหน้าที่ไมโครไฟแนนซ์ เพราะจุดแข็งของสหกรณ์คือเรารู้จักสมาชิกของเรา และสมาชิกก็รู้จักกันเอง เป็นการให้กู้กับคนที่มีหลักทรัพย์หรือการคํ้าประกันที่ดูด้อยกว่าผู้กู้ทั่วไป ไม่มั่นคง แต่คนกลุ่มนี้หนี้เสียจะตํ่ากว่าผู้กู้อื่นๆ
ถามว่าทำไมสหกรณ์ถึงไม่พุ่งไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าผู้บริหารสหกรณ์มองบางอย่างที่ข้ามไป ในวงการสหกรณ์มักจะถกเถียงกันสองเรื่อง คือเรื่องของธุรกิจ ฟากหนึ่งคิดว่าสหกรณ์ต้องทำธุรกิจและได้กำไร อีกฟากหนึ่งบอกว่าเราเป็นสหกรณ์ต้องไม่หวังผลกำไร ทำแค่พอเหมาะพอดี แต่ทั้งคู่ก็ไม่มีใครบอกว่าสหกรณ์จะต้องปกป้องเงินของสมาชิก
ในฐานะที่ผมทำสหกรณ์มาสิบปี ผมเห็นว่าจุดนี้สำคัญที่สุด สมาชิกสหกรณ์มาคุยกับผมว่าเขาอยากฝากเงิน อยากออมเงิน แต่เขาก็สงสัยว่าระบบสหกรณ์เสี่ยงหรือไม่ แรกๆ ผมก็ตอบด้วยความมั่นใจว่าไม่เสี่ยง แต่จากนั้นผมก็กลับมาคิดว่าเราประเมินตัวเอง มันคงไม่พอ สิ่งที่เราคิดว่าทำดีแล้ว แต่ในความเป็นจริงมันอาจไม่ดีอย่างที่คิดก็ได้ ผมก็เลยพยายามหาว่าใครจะมาช่วยบ่งชี้ว่าเราดีจริง
เริ่มต้นผมลองดูมาตรฐานที่วงการสหกรณ์ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ดีเด่นหรือรางวัลนักสหกรณ์แห่งชาติ ในทางทฤษฎีมันควรจะใช่ เมื่อราชการบอกว่าสหกรณ์ไหนดีก็น่าจะพอยอมรับได้ แต่ในทางปฏิบัติ การควบคุมหรือประเมินไม่ได้เข้มงวดขนาดนั้น สมมติว่าผมรู้จักกับเจ้าหน้าที่ประเมินรางวัล ก็อาจขอให้ช่วยประเมินสูงๆ ในฐานะคนคุ้นเคย เรื่องนี้ไม่ได้ผิดถึงขั้นโกงเงิน แต่ความที่มาตรฐานมันไม่คงที่ ทำให้เวลาจะประกาศรางวัลสหกรณ์ดีเด่นหรือสหกรณ์ที่ได้มาตรฐาน พอมีส่วนน้อยที่ไม่ได้ก็เริ่มโวยวายว่าทำไมสหกรณ์ฉันถึงไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องยอมให้ทุกแห่งได้มาตรฐานทั้งหมด
ดังนั้นการให้รางวัลกลายเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าจะเป็นเรื่องระหว่างองค์กร มาตรฐานที่ใช้ไม่สามารถการันตีได้ว่าผู้บริหารสหกรณ์ตั้งใจที่จะบริหารเงินให้มั่นคงมากพอสำหรับสมาชิก
เมื่อมาตรฐานในวงการสหกรณ์ไม่คงที่ ผมจึงเริ่มมองหามาตรฐานของวงการที่ใกล้เคียงกัน ลักษณะของสหกรณ์ออมทรัพย์คือสถาบันการเงิน มีตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ดังนั้นคู่เทียบของสหกรณ์คือธนาคารพาณิชย์ ถามว่าธนาคารใช้อะไรควบคุมการบริหาร ส่วนหนึ่งคือหน่วยตรวจสอบภายใน และก็มีนายทะเบียนควบคุม มีธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติคอยคุมอีกชั้นหนึ่ง และอีกหน่วยที่มีความสำคัญคือ การจ้างผู้เชี่ยวชาญคนนอกให้การรับรองโดยสมัครใจ เช่น บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือที่เรียกว่าบริษัทเครดิตเรตติ้ง
หัวใจของสหกรณ์คือเอาเงินชาวบ้านที่เป็นสมาชิกมาบริหาร ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีคนนอกช่วยคุมและคอยตรวจสอบเราอีกทีหนึ่ง ก็เลยลองขอเครดิตเรตติ้งดู มันก็ตอบโจทย์ที่ผมตั้งอันหนึ่งว่าเวลาเราอยากตอบคำถามสมาชิก แสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจจะทำให้เงินของสมาชิกมั่นคง ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจริงๆ มาตรวจสอบ ดูตั้งแต่สถานะทางการเงิน กฎระเบียบ การปฏิบัติงาน ธรรมาภิบาลในองค์กร ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบที่นำมาคิดหมด ก็เลยเริ่มทำเมื่อ 4 ปีก่อน กับบริษัททริสเรตติ้ง
“สรุปผลประเมินก็น่าพอใจ เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจได้เรตติ้ง BBB+ ซึ่งถ้ามองในฐานะสถาบันการเงินด้วยกัน ธนาคารที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ A- เราได้ต่ำกว่าเขาแค่ขั้นเดียว ยิ่งกว่านั้นถ้าเทียบว่าธนาคารมีคนทำงานเป็นร้อย แต่สหกรณ์ฯ โรงพยาบาลตำรวจมีคนทำงานแค่สิบกว่าคน ผมก็พอใจแล้ว เพราะเรตติ้งทำให้ผมสามารถตอบสมาชิกได้เต็มปากเต็มคำว่าความเสี่ยงของกิจการมันมากหรือน้อย มันถูกกำกับว่าถ้าคุณเริ่มขอประเมินเครดิตเรตติ้งแล้ว ถ้าปีหน้าประเมินใหม่แล้วเรตติ้งคุณตก แสดงว่าคุณมีบางอย่างที่มีปัญหา การบริหารก็จะเป็นไปอย่างระวังตัวมากขึ้น”
ยิ่งกว่านั้น ถ้าทิ้งการประเมิน สมาชิกก็ยิ่งมีคำถามถึงความไม่โปร่งใส ซึ่งผมเชื่อว่าสำหรับสหกรณ์ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ ปีนี้ได้คะแนนเท่านี้ ปีหน้าต้องได้ไม่น้อยกว่าเดิม ถ้าผู้บริหารจะทำอะไรที่หวือหวาพิสดาร ต้องคิดดีๆ ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อเรตติ้งไหม
ข้อดีอีกอย่างคือบริษัทประเมินเรตติ้งจะมีรายงาน บอกเหตุผลที่ให้คะแนนเท่านี้ แจงว่าข้อดีข้อเสียคืออะไรรวมทั้งแนวทางปรับปรุง แม้บางอย่างอาจต้องใช้เวลาปรับเป็นสิบปี จากรายงานเครดิตเรตติ้งทำให้ผมพยายามสร้างองค์ความรู้ให้กับกรรมการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ หาผู้เชี่ยวชาญมาจัดอบรม หรือส่งคนไปอบรมข้างนอก เพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่และกรรมการ ดังนั้นรายงานจะเป็นตัวชี้นำว่าทำอย่างไรเราจะลดความเสี่ยงในระยะยาวได้ผมพยายามเสนอแนวคิดนี้กับวงการสหกรณ์ เพราะสหกรณ์อยู่ได้ด้วยความเชื่อถือ เวลาเกิดวิกฤติมันมีผลเสียมากกว่าที่หลายคนคิด สหกรณ์หลายแห่งอาจบอกว่าเป็นแค่สหกรณ์เล็กๆ มีสมาชิกไม่ถึงพันคน ทำธุรกรรมแค่ภายในไม่ได้ยุ่งกับใคร แต่เดี๋ยวนี้เวลามันเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียมันมีผลเยอะ ดังนั้นส่งผลกระทบมากแน่นอน
โมเดลที่ผมพยายามเสนอก็มีคำถามว่า มีค่าใช้จ่ายสูง แล้วมีความยุ่งยากซับซ้อน สหกรณ์เล็กๆ อาจไม่สะดวก แต่จากโมเดลนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์น่าจะนำไปพัฒนา จากเดิมที่บอกว่าสหกรณ์นี้มีหรือไม่มีมาตรฐาน กรมอาจเปลี่ยนเป็นแบ่งชั้นให้ย่อยกว่านี้ อาจให้เกรด เอ บี ซี ดี ก็ได้ และกรมต้องตัดเกณฑ์ให้คะแนนออกจากความสัมพันธ์ส่วนตัว ดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็ว่าไปตามเนื้อผ้า สหกรณ์จะโวยอย่างไรก็ต้องรักษามาตรฐานให้ได้
ถ้ากรมส่งเสริมสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์เป็นตัวกลาง และสามารถรักษากติกาได้อย่างเข้มงวด ก็สบายหน่อยเพราะไม่ต้องเสียเงินให้คนนอก แต่ตัวองค์กรนั้นต้องมีความน่าเชื่อถือในตนเอง มันอาจไม่ดีเท่าบริษัทประเมินเรตติ้งระดับสากล แต่ก็เป็นก้าวแรกที่จะพัฒนาระบบสหกรณ์ขึ้นไป ทั้งป้องกันความเสี่ยงให้กับสมาชิก สร้างความโปร่งใสและเปิดทางให้สหกรณ์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
มาตรฐานที่มีอยู่ตอนนี้น่าจะพัฒนาให้ดีขึ้น ผู้ควบคุมต้องกลับมาดู ผมคิดว่ามันมีจุดอ่อนบางอย่าง ถ้าช่วยกันปรับให้ดีขึ้น ถ้าปัญหามันใหญ่มากก็ต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานสากล แต่ถ้าเป็นสหกรณ์เล็กๆ มีสมาชิกสัก 500 คนเงินสัก 200 ล้าน กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำให้ดี ทำให้สมาชิกเชื่อมั่น ทำแล้วสหกรณ์รู้ว่าตัวเองต้องเร่งอะไร ผมคิดว่าไปต่อได้ พัฒนาเกณฑ์ให้ชัดเจน ผมว่าระบบสหกรณ์ไปต่อได้
ตอนที่ผมนำสหกรณ์โรงพยาบาลตำรวจไปประเมินเรตติ้ง มีแต่คนมาบอกว่าทำไปทำไม ไม่มีประโยชน์ แต่พอเกิดเรื่องที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สหกรณ์ผมได้รับผลบวกจากเรตติ้ง ผลกระทบจากสหกรณ์ฯ คลองจั่นทำให้มีคนโทรศัพท์มาที่เข้าสหกรณ์แล้วถามว่าปล่อยกู้ที่นั่นที่นี่ไหม มีปัญหาไหม ผมเชื่อว่าสหกรณ์แทบทุกที่โดนหมด แค่มีคำว่าสหกรณ์ มีคำว่าเสียหายหรือทุจริต สหกรณ์ทุกแห่งถูกตั้งคำถามจากสมาชิกเหมือนกันหมด
นอกจากคำตอบว่าเราไม่มีธุรกรรมกับทางสหกรณ์ฯ คลองจั่น คือเรามีคนนอกช่วยตรวจสอบเรามาโดยตลอด แล้วเขาก็ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าสหกรณ์เรามีปัญหา ยอดการถอนเงินตอนที่มีข่าวสหกรณ์ฯ คลองจั่นก็มีคนถอนออกบ้าง แต่พอดูในภาพรวมทั้งเดือนและเดือนต่อมาเงินฝากไม่ลดลง คือมีคนที่ถอนเพราะกลัวจริงๆ ส่วนหนึ่ง แต่ภาพรวมมันไม่สะเทือน ดังนั้นผมคิดว่านี่เป็นข้อดีของการทำเรตติ้ง ทำให้สมาชิกเชื่อใจได้มากขึ้น
ลองย้อนกลับไปมองที่ตัวต้นเหตุวิกฤติ สหกรณ์ฯ คลองจั่นได้รับรางวัลเยอะมากมาตลอด ทั้งส่วนผู้บริหารและตัวสหกรณ์เอง แสดงว่าสิ่งที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำมามันไม่เข้มแข็งพอที่จะการันตีให้สมาชิกของเขามั่นใจได้ สมาชิกถึงโวยว่าสหกรณ์ฯ คลองจั่นมีภาพที่ดีมาตลอด ตึกสำนักงานก็สวย รางวัลก็ได้เยอะ ทำไมเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ผู้ควบคุมทำอะไรกันอยู่ หมายความว่าเรามีปัญหาการสร้างมาตรฐาน ผมคิดว่าบทเรียนครั้งนี้น่าจะนำมาปรับ ทั้งตัวสหกรณ์เอง ทั้งตัวผู้ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หรือภาคสหกรณ์ด้วยกันอย่างชุมนุมสหกรณ์ต่างๆ น่าจะมีมุมมองเรื่องการบริหารความเสี่ยง และการควบคุมซึ่งกันและกันให้ดีขึ้น
ไทยพับลิก้า : ในวงการสหกรณ์คุยกันเรื่องการบริหารความเสี่ยงอย่างที่คุณหมอเสนอไหม
ผมพยายามเสนอเวลาไปประชุม บางคนก็รับ อย่างสหกรณ์ใหญ่ๆ เช่น สหกรณ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะสนใจ แต่สหกรณ์เล็กๆ ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว
ไทยพับลิก้า : เริ่มมีการลงมือปฏิบัติจากภาคราชการหรือไม่
ภาคราชการแทบจะไม่มีเลย ราชการยังใช้มุมมองเหมือนเดิม มองแค่ว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว อนาคตจะไม่มีอีก ราชการมองว่าวิธีแก้ปัญหาพวกนี้ที่ดีคืออย่าทำให้สหกรณ์มันโต ในขณะที่สหกรณ์ในประเทศเกาหลีใหญ่มาก ทรัพย์สินหรือเงินฝากของชุมนุมสหกรณ์เกาหลีพอๆ กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เลย ซึ่งเขาก็โตโดยที่เขาควบคุมได้ดี แต่ส่วนราชการไทยไม่มั่นใจว่าคุมได้ ก็เลยพยายามไม่ให้สหกรณ์โต ปัญหาจะได้เล็กตามไป ผมมองว่าคิดอย่างนี้มันไม่ถูก ทำไมสหกรณ์ประเทศอื่นโตได้เท่ากับแบงก์พาณิชย์ โดยที่ยังยึดหลักสหกรณ์ แต่ของเมืองไทยทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ระดับอธิบดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปดูงานเกาหลีกันเกือบทุกคนแล้ว ถามว่าทำไมสหกรณ์เกาหลีไม่เล็ก แต่คุมได้
ไทยพับลิก้า : การกำกับดูแลของสหกรณ์เกาหลีเขาทำอย่างไร
ชุมนุมสหกรณ์ของเกาหลีมีบทบาทมากกว่าของไทย เขามีอำนาจตรวจแต่ละที่ มีอำนาจถึงขนาดสั่งให้หยุดการกระทำหรือลงโทษผู้บริหาร คือมีอำนาจเหมือนนายทะเบียนทุกอย่าง แต่อำนาจนั้นถูกยกไปให้ชุมนุมสหกรณ์ ซึ่งมาจากสหกรณ์เลือกตั้งกันเอง และเขามีการประเมินเรตติ้งแบบที่ผมทำ การประเมินเรตติ้งภายในทำกันเอง สหกรณ์ไหนที่ดูว่าจะมีปัญหาเยอะเขาคุมได้เลย แก้ปัญหาได้ทันที
ย้อนกลับมาของไทย ถามว่าเราต้องให้อำนาจชุมนุมเหมือนที่เกาหลีไหม ผมคิดว่าไม่จำเป็น แต่นายทะเบียนต้องกล้ากว่านี้ เทียบกับแบงก์ถ้าผู้บริหารทุจริตต้องติดคุก ระบุในกฎหมายสถาบันการเงินอยู่แล้ว แต่กฎหมายสหกรณ์ไม่ได้พูดอย่างนั้นโดยตรง คือต้องฟ้องร้องอีกที แต่อำนาจนายทะเบียนสามารถคุมการบริหารจัดการได้ นายทะเบียนต้องมองว่าถ้าสหกรณ์นั้นเริ่มจะทำกิจกรรมสีเทา มีอันตรายต่อประชาชน นายทะเบียนต้องเทคโอเวอร์กิจการ คุณอาจจะไม่เก่งเพราะมาจากสายเกษตร แต่ไม่เป็นไร คุณหาที่ปรึกษาจาก กลต. (สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์) หรือแบงก์ชาติมาช่วยได้ แต่ปัจจุบันดูเหมือนกรมส่งเสริมสหกรณ์พยายามทำให้สหกรณ์มีขนาดเล็กที่สุด มันเลยเป็นที่มาว่า คุณจะนำสหกรณ์อย่างไร ไปทางไหน กรมส่งเสริมฯ บอกว่ามีวาระสหกรณ์แห่งชาติ สอนนักเรียนทุกคนทั้งประเทศให้รู้จักหลักสหกรณ์ ผลที่ได้คือคนทั้งประเทศรู้จักสหกรณ์ แต่เรื่องของคุณภาพกลับไม่ก้าวหน้ากันเลย
ข้อเสนอส่วนตัวผม อย่างเรื่องเครดิตเรตติ้ง ผมคิดว่าสหกรณ์ใหญ่ที่มีสินทรัพย์ สมมติว่าสองหมื่นล้านบาทขึ้นไป ควรได้รับการประเมินเครดิตเรตติ้งโดยเรตติ้งเอเจนซีระดับชาติ สหกรณ์ที่เล็กกว่านั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องวางระบบใหม่ กรมฯ อาจดูงานของบริษัทประเมินเรตติ้ง ดูว่าเขาตรวจอะไรกันแล้วค่อยประยุกต์การกำหนดเกณฑ์ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายกับสหกรณ์ อีกทั้งสร้างความน่าเชื่อถือกับวงการสหกรณ์อีกมาก แต่ถ้าสหกรณ์ใหญ่มากต้องผ่านเรตติ้งเอเจนซี คนที่ฝากเงินในสหกรณ์สองหมื่นล้านจะได้มั่นใจว่าได้รับการดูแลเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน
ไทยพับลิก้า : นอกจากต้องทำเครดิตเรตติ้ง ส่วนราชการต้องกำกับดูแลโดยตรงอย่างไร
ถ้าใหญ่มากมันซับซ้อน กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำไม่ไหว แต่ถ้าสหกรณ์เล็กๆ กรมคุมได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมประเมินว่ามีมาตรฐานกับไม่มีมาตรฐาน เปลี่ยนเป็นจัดลำดับชั้น เดิมได้เกรดซีเขาก็อยากยกระดับเป็นเกรดบี มันเกิดความรู้สึกว่าอยากทำให้ดีขึ้น
อีกเรื่องที่ต้องเปลี่ยนคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกรมส่งเสริมฯ กับสหกรณ์ แต่ผมเชื่อว่าการพูดคุยเพื่อเสนอความคิดให้วงการพัฒนาไปข้างหน้ามันน้อยกว่าที่ควร กรมยังมีมุมมองของกรม สหกรณ์ก็มีมุมมองที่ต่างออกไป ไม่มีเวทีสำหรับร่วมมือกันเพื่อผลักดันวงการไปข้างหน้า กรมยังทำหน้าที่แค่ควบคุมอย่างห่างๆ แค่นั้น ไม่ได้รู้สึกว่าต้องพัฒนาไปข้างหน้า กรมไปเน้นเรื่องของปริมาณ อยากให้คนเข้ามาอยู่ในวงการสหกรณ์มากๆ แต่ไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพสหกรณ์ว่าแค่ไหนคือดี
ไทยพับลิก้า : กฎหมายที่มีอยู่เพียงพอต่อการกำกับดูแลหรือไม่
เพียงพอ ต้องอย่าลืมว่าถ้ากรมต้องดำเนินการกับสหกรณ์ใดที่ทำไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน จะมาอ้างไม่ได้ว่าสหกรณ์ต้องดูแลตัวเอง กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่มีอำนาจ เพราะว่าความเสียหายมันเกิดขึ้นกับคนหมู่มากเป็นร้อยเป็นพันคน ผมคิดว่ากรมมีอำนาจเพียงพอ กฎหมายระบุไว้ชัด แต่กรมอาจกลัวว่าถ้าออกคำสั่งไปอาจถูกฟ้องศาลปกครอง จริงๆ ถ้าเขาจะฟ้องกรม เพราะเป็นหน้าที่ของกรมต้องป้องกันความเสียหายให้ประชาชน ถ้าคุณกลัวการฟ้องถามว่าใครจะเป็นคนดูแลสหกรณ์ หน่วยงานอื่นๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย เขากล้าฟันสถาบันการเงินเต็มที่ เพราะเขารู้ว่าเมื่อใดก็ตามที่ธนาคารพาณิชย์ที่เขาดูแลอยู่มันเสียหายตัวเขาเองก็ไปไม่รอด
“เคสนี้ก็เหมือนกัน ต่อให้คุณอ้างว่าผมไม่มีอำนาจแต่พอเป็นข้อกฎหมายมันระบุไว้ชัด ต่อไปกรมต้องทบทวนบทบาทตัวเอง ว่าหลังเคสสหกรณ์ฯ คลองจั่นกรมต้องปรับตัว ไม่ใช่ทำแบบเดิมๆ เคยมีการพูดถึงโมเดลว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งทำกิจกรรมเรื่องเงินเป็นหลัก จะย้ายไปสังกัดกระทรวงการคลังหรือสังกัดแบงก์ชาติ อันนี้ก็แล้วแต่นโยบายข้างบน แต่ถ้าอยู่คู่กับกระทรวงเกษตรฯ ต่อ กรมก็ต้องเพิ่มศักยภาพ ถ้าโอนไปอยู่กับคลังหรือแบงก์ชาติสหกรณ์ก็ต้องปรับตัว ถามว่าปรับตัวอย่างไร สิ่งที่ผมทำคือการเตรียมปรับตัวถึงย้ายไปอยู่กับแบงก์ชาติผมไม่กลัวอะไรเลย ผมมีระบบป้องกันความเสี่ยงไม่ต่างกับแบงก์ ผมใช้เบเซิลทู ผมใช้เรตติ้ง ซึ่งเป็นระบบที่ธนาคารทั่วไปเขาก็ทำ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรผมก็รับได้ แต่ถ้าอยู่กับกรมต่อผมก็แฮปปี้อยู่ดี”
อีกประเด็นคือ สหกรณ์ออมทรัพย์มีขนาดธุรกิจใหญ่มาก รวมกันน่าจะมีขนาดถึง 1.8 ล้านล้านบาท ปัญหาคือเมื่อระดมเงินมาไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก หรือหุ้น รับมาแล้วไปไหนต่อ นอกจากให้สมาชิกในกลุ่มกู้ก็ไปลงทุน แต่เงินสดเกือบทั้งหมดลงทุนนอกระบบสหกรณ์ เพราะว่าไม่กล้าลงทุนในกลุ่มสหกรณ์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์การเกษตร หรือสหกรณ์อาชีพต่างๆ ล้วนแต่ขาดเงิน กลุ่มนี้ก็ต้องไปกู้แบงก์ ขณะที่สหกรณ์ที่มีเงินเอาเงินไปเข้าแบงก์ ไปซื้อหุ้นกู้ แล้วแบงก์ค่อยปล่อยกู้กับสหกรณ์ที่ไม่มีเงินอีกทอดหนึ่ง จะเห็นว่ามันไม่เกิดการเชื่อมต่อโดยตรง ต้องผ่านตัวกลางที่ไม่จำเป็น ทั้งที่เป็นสหกรณ์เหมือนกัน สาเหตุเพราะสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่รู้จักสหกรณ์การเกษตรว่าน่าเชื่อถือขนาดไหน ทำไมกรมส่งเสริมไม่ตั้งบรรทัดฐานว่าผมมีสหกรณ์การเกษตรชั้นดีนะ มีความแข็งแกร่งฐานะการเงินดี ไม่เคยเบี้ยวหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์สนใจจะให้กู้ไหม ถ้าได้แบบนี้ดอกเบี้ยไม่ต้องเยอะสัก 6% ผมก็ให้แล้ว
ถ้ากรมสร้างระบบความน่าเชื่อถือให้กับสหกรณ์เล็กๆ ไม่ต้องเลียนแบบเรตติ้งทั้งหมด แค่ให้รู้ว่านี่เป็นกลุ่มสหกรณ์ชั้นนำ แล้วกลุ่มออมทรัพย์ยอมให้กู้ได้ ผมเชื่อว่าเงินจะวิ่งมาทางนี้ มันจะช่วยสหกรณ์ทุกประเภทให้เติบโตเร็วขึ้น ทุกวันนี้กลายเป็นต่างคนต่างทำ สหกรณ์เกษตรไปเรื่องหนึ่ง ออมทรัพย์ไปเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ใช้ชื่อสหกรณ์เหมือนกันเท่านั้น ผมคิดว่านี่เป็นจุดอ่อนที่สามารถพัฒนาได้
เป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยง เงินมีแต่ไม่ใช่เงินสหกรณ์ เป็นเงินของสมาชิก เราในฐานะกรรมการก็ต้องดูว่าเงินนั้นปลอดภัยหรือไม่ นี่พูดกันตามหลักการ ถ้าเราเอาเงินไปช่วยใครสักคนแล้วเกิดความเสียหาย ความเสียหายนั้นเกิดกับเงินสมาชิก ดังนั้นหลักการคือถ้าจะช่วยต้องทำให้มั่นใจว่าช่วยแล้วไม่มีปัญหา ถ้าใช้โมเดลว่าสหกรณ์ต้องช่วยชาวนานะ ชาวนาก็ต้องมีต้นสังกัดคือสหกรณ์การเกษตร แล้วสหกรณ์เกษตรต้องมั่นคงในระดับหนึ่งแล้วเงินก็อาจวิ่งผ่านช่องทางนี้ได้ นี่เป็นโมเดลที่ผมยอมรับได้
ไทยพับลิก้า : การพัฒนาศักยภาพของกรมส่งเสริมสำหรับการกำกับดูแลให้ดีขึ้นต้องทำอะไรบ้าง
ต้องยอมรับก่อนว่าสหกรณ์จะต้องโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่คิดแต่ว่าสหกรณ์จะต้องเล็ก ปัจจุบันสหกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมีขนาดราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์ของธนาคาร ดังนั้นกรมต้องพยายามวิ่งไล่ให้ทัน พัฒนาความรู้เกี่ยวกับการเงิน การควบคุมความเสี่ยง ปัจจุบันกรมมีความรู้สึกว่าเขามีหน้าที่หลักคือดูแลสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นส่วนที่เขาพยายามเข้าไปน้อยที่สุด กรมต้องหาคนนอกมาเป็นที่ปรึกษาถ้ายังไม่เชื่อใจสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วยกัน ถ้าเป็นไปได้ทั้งกรมและสหกรณ์ควรคุยกัน อภิปรายกันว่าตรงไหนที่สหกรณ์ออมทรัพย์ควรทำ ตรงไหนไม่ควร ความเสี่ยงแค่ไหนที่ยอมรับได้ เราสร้างกรอบขึ้นมาที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย
ขณะที่ปัจจุบันกรอบที่มีมาจากภาครัฐวาดขึ้นมา ภาคเอกชนมีส่วนน้อยมาก ดังนั้นมุมมองคนละมุมกัน ฝ่ายสหกรณ์มองว่ากรอบที่มีมันล้าสมัย ไม่ทันต่อเหตุการณ์ แต่ภาครัฐบอกว่ากรอบนี้กรมจะคุมได้ดี ถ้ามีโอกาสคุยกันเรื่องกฎกติกาได้ ตกลงกัน ผมคิดว่าจะมีประโยชน์มาก
ไทยพับลิก้า : ในวงการสหกรณ์มีคนที่มีแนวความคิดแบบนี้เยอะไหม
สหกรณ์ใหญ่หลายที่เห็นด้วย ที่เขามองภาพกว้าง สาเหตุที่ยังไม่ทำเพราะเกรงว่าทำแล้วเรตติ้งออกมาไม่ดี อย่างที่สอง ค่าใช้จ่ายในการทำเรตติ้งค่อนข้างเยอะและแปรผันตามขนาดธุรกิจ เป็นประเด็นที่กรรมการสหกรณ์หลายแห่งไม่กล้าเริ่ม หลายที่บอกว่าสหกรณ์ของฉันดี เก่ง มั่นคง แต่พอถึงเวลาจะไปขอประเมินกลับไม่กล้า ถ้าผลออกมามันดีเราก็พอใจ แต่ถ้าออกมาไม่ดีเราจะยอมรับได้ไหม คือถ้าขอแล้วไม่ดีเราไม่ต้องเปิดเผยก็ได้ สหกรณ์อื่นๆ อาจกลัวหลายเรื่องอย่างที่บอกไปข้างต้น แต่สหกรณ์โรงพยาบาลตำรวจก็ทำเป็นตัวอย่าง ผมพยายามให้กำลังใจหลายที่ว่าผมมีคนทำงานแค่ 10 คนผมยังได้ตั้ง BBB+ เลย แต่ที่อื่นมีคนเป็นร้อยน่าจะได้ A- หรือ A เป็นเกียรติแก่วงการสหกรณ์ ก็พยายามโน้มน้าวสหกรณ์ใหญ่ให้ลองดู โดยเฉพาะชุมนุมน่าจะเป็นที่แรกที่น่าจะทำ
ไทยพับลิก้า : ก่อนจะให้บริษัทเครดิตเรตติ้งประเมิน สหกรณ์ก็ปรับตัวก่อน
ก่อนเอาบริษัทเข้ามาประเมิน ผมเอาเอกสารมาศึกษาก่อนถึงหนึ่งปี มาดูว่าการประเมินเขาใช้หลักอะไรบ้าง เขาดูเรื่องหนี้สินต่อทุน เขาดูเรื่องการบริหารจัดการ เราก็มาดูว่าของเราเข้าเกณฑ์หรือยัง มีอะไรที่ปรับปรุงแก้ไขได้ ผมผ่านมาแล้ว สมัยก่อนรายละเอียดมีแค่กระดาษสี่แผ่น ถ้าสหกรณ์อื่นอยากทำผมให้สัญญาว่าจะช่วยแนะนำให้เต็มที่ ท่านก็จะเห็นภาพว่าเขาดูละเอียด เขาขอรายงานการประชุมทุกครั้ง เขาขอรายงานผู้สอบบัญชีทุกครั้ง ดูเสร็จก็นัดสัมภาษณ์เรา ให้เราพรีเซนต์หัวข้อที่เขาสงสัยอยากรู้ ถ้าสหกรณ์อื่นทำผมคิดว่าสามารถถ่ายทอดได้ว่าเราเจอกับอะไรมาบ้าง บอกได้ว่าจุดนี้ควรระวัง ไม่ควรจะทำ แต่ไม่ได้ชี้จุดให้ทำแบบผักชีโรยหน้า อันไหนไม่ดีก็บอกตรงๆ ว่าอย่าไปทำเลย
ไทยพับลิก้า : วันนี้สหกรณ์ปล่อยกู้ได้สมบทบาทเป็นไมโครไฟแนนซ์หรือยัง
มันทำได้มาก ยกตัวอย่างผมเป็นตำรวจ มีเงินเดือนเท่านี้ เวลาจะกู้เงินจากธนาคาร เจ้าหน้าที่ก็จะคิดตามทฤษฎีความเสี่ยง ตั้งแต่ดูเงินเดือน ดูความเสี่ยงมากน้อยอาชีพ สุดท้ายกู้ได้แค่นิดเดียว แต่สหกรณ์ยกระดับเครดิตให้เงินกู้ได้มากกว่า เพราะหลักการคือเขาเป็นคนที่อยู่ในองค์กรเดียวกัน เรารู้จักดี นิสัยเป็นอย่างนี้ไม่เคยเบี้ยวอะไร เพื่อนซึ่งเป็นคนในองค์กรก็ช่วยค้ำประกัน สหกรณ์ของภาครัฐยังไม่เท่าไร แต่เครดิตยูเนี่ยนจะชัดเจนกว่า เพราะสมาชิกเป็นใครก็ได้ ทำอาชีพอะไรก็ได้ ขอแค่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน อาจเป็นแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ พอพวกเขาเข้าสหกรณ์ เริ่มชำระค่าหุ้น มีวินัยการเงินในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้แบงก์ไม่นับว่าเป็นคนดี แต่ไมโครไฟแนนซ์หรือสหกรณ์นับว่าเขาเป็นคนที่ตั้งใจแล้วอยากจะทำให้ดี เพราะฉะนั้นสหกรณ์มันเปิดโอกาสให้คนพวกนี้ ดีกว่าโมเดลธนาคารคนจนที่พูดๆ กันอีก อันนี้ดีกว่าเยอะเพราะคนในพื้นที่รู้จักกัน ผมเชื่อว่าสหกรณ์เป็นคำตอบของไมโครไฟแนนซ์ในประเทศไทย ไม่ต้องไปเซ็ตระบบใหม่ ของที่มีอยู่มันดี แต่ต้องปรับบางอย่างให้เหมาะสม
ผมขอแบ่งสหกรณ์เป็นสองส่วน ประเภทแรก คือ ทำเท่าที่จำเป็น คือสมาชิกมีความต้องการกู้เท่านี้ ก็แค่หาเงินมาให้เขากู้ถือว่าจบ ประเภทที่สอง เป็นสหกรณ์เงินฝาก พยายามจูงใจให้สมาชิกฝากเงินมากๆ พอมีเงินฝากหักจากที่ปล่อยให้สมาชิกกู้จะเหลือ ก็ต้องนำไปลงทุน
ประเด็นคือ ถ้าเราไปดูเรื่องการบริหารเงินส่วนบุคคล หลักการคือออมก่อนรวยกว่า ดังนั้นหน้าที่สำคัญของสหกรณ์คือการออมไม่ใช่การให้กู้ ถ้าคุณทำให้คนในองค์กรคุณมีการออมได้ เขาจะมั่นคงในช่วงสูงอายุ คำถามต่อมาสำหรับผู้บริหารสหกรณ์เงินฝากคือว่า ถ้าคุณทำให้เขาออมได้แล้วเงินที่ได้มาจะเอาไปทำอะไรต่อ สหกรณ์ที่ให้สมาชิกกู้อย่างเดียวก็มีคำถามว่า ให้เขากู้แล้วสมาชิกมีฐานะดีขึ้นไหม เพราะว่ามันเป็นการสร้างหนี้ในอนาคต ส่วนหนึ่งของเงินเดือนก็ต้องมาจ่ายเป็นดอกเบี้ย ถึงแม้มันจะน้อยก็เป็นดอกเบี้ย ลองคิดดูว่าถ้าเงินหนึ่งล้านบาท ผ่อนหนึ่งร้อยงวด คุณเสียดอกเบี้ยเดือนละสี่ถึงห้าพันบาท มันทำให้สมาชิกไม่สามารถออมเงินได้
ดังนั้นผมยังมองว่าสหกรณ์มีหน้าที่หลักคือออมทรัพย์ หน้าที่คือทำอย่างไรจะทำให้สมาชิกออม ขณะที่คนอยากกู้ก็ต้องยอมเพราะเขาเดือดร้อน แต่คนที่ฐานะกลางๆ จากเดิมที่เขาคิดว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์เอาไว้แค่เผื่อกู้เงิน ต้องดึงเขาให้มีความอยากจะออม เมื่อมีเงินออมเข้ามาสหกรณ์ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับเงินก้อนนั้น ถ้าคุณไม่ชำนาญเรื่องเงินก็อาจเอามาฝากต่อที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งมีบุคลากรที่พร้อมกว่าทำได้ดีกว่า ที่เกาหลีก็เหมือนกันคือสหกรณ์ย่อยๆ เขาก็ระดมเงินออมแล้วส่งต่อให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ บริหารต่อ ชุมนุมเกาหลีมีบุคลากรระดับผู้จัดการกองทุนรวมหลายคนจัดการเรื่องการลงทุนโดยเฉพาะ
ดังนั้นพอหัว (ชุมนุม) เข้มแข็ง ตัวท้ายๆ ก็มั่นใจในการระดมเงินมากขึ้น เพราะรู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไรได้ แต่ของเมืองไทยไม่ชัดเจน สหกรณ์เล็กๆ อยากจะสร้างนิสัยการออมให้กับสมาชิก แต่พอหาเงินได้ก็ไม่รู้จะไปไว้ที่ไหนต่อ ก็มีความเสี่ยงตรงนี้ เป็นส่วนที่ขาดของวงการสหกรณ์ไทย
ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะว่าศักยภาพของคนในวงการสหกรณ์เองหรือเปล่า
สหกรณ์ออมทรัพย์ไทยมีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ผู้บริหารคือคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งสมาชิก สมาชิกมาจากหน่วยงานที่สหกรณ์สังกัด ถ้าคุณมาจากสหกรณ์ครู คณะกรรมการทุกคนก็คือครูหมด สหกรณ์โรงพยาบาลก็เป็นหมอหรือพยาบาลกันหมด ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ดังนั้นเราควรเปลี่ยนวิธีคิดการพัฒนาตัวบุคลากรประจำ เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ บทบาทการบริหารต้องโยนให้ฝ่ายจัดการมากขึ้น กรรมการจัดการด้านนโยบายเท่านั้น ถ้าจะพึ่งพาแต่กรรมการ 15 คนให้บริหารสหกรณ์มันไม่มีทางเจริญได้ เพราะเขาไม่ได้ชำนาญด้านการเงิน มีแค่บางที่ทำได้ อย่างเช่น สหกรณ์ประจำธนาคาร
อีกเรื่องหนึ่งคือ ชุมนุมสหกรณ์เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ถ้าเราบอกว่าจะออมเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้สมาชิกเงินก็ต้องมีที่ไป โมเดลปัจจุบันคือไปฝากที่ชุมนุม ชุมนุมต้องบริหารเงินเป็น ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้คนฝากมีความมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารเงินดังนั้นชุมนุมต้องลงทุนด้านการบริหาร ต้องหามือเทพจริงๆ มาจัดการ อาจดึงตัวจากแบงก์หรือไฟแนนซ์มาทำงานประจำก็ต้องทำ จ่ายเงินเดือนสูงๆ ก็ต้องทำ แต่ปัจจุบันนี้เป้าของชุมนุมยังไม่ชัดเจน นี่เป็นโมเดลที่ผมคิดว่าสหกรณ์จะไปรอด ต้องมีมืออาชีพช่วยทำ ไม่ใช่ทำกันเอง
ไทยพับลิก้า : ทุกวันนี้เหมือนสหกรณ์โตไปตามยถากรรม
มันโตเองได้แค่ส่วนหนึ่ง พอเงินเยอะก็อาจเกิดปัญหาอย่างที่เจอกัน
ไทยพับลิก้า : โอกาสพัฒนาตามความคิดของคุณหมอเป็นไปได้หรือไม่
เป็นไปได้ครับ แต่ว่ากี่ปีผมก็ไม่แน่ใจ จะเป็นไปได้เร็วหรือช้า บทเรียนจะสอนเรา เมื่อก่อนเราไม่เคยเจอผู้จัดการธนาคารผันมาเป็นผู้จัดการสหกรณ์ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีหลายคนซึ่งผมว่าเป็นแนวทางที่ดี เมื่อก่อนเราขี้เหนียวเรื่องการจ้างเจ้าหน้าที่มาก พูดกันว่าเจ้าหน้าที่ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย คนนี้รับเงินอีกคนจ่ายเงินใครก็ทำได้ เอาเจ้าหน้าที่การเงินมาทำก็ได้ แต่สหกรณ์หลายแห่งในต่างจังหวัดใช้พนักงานประจำที่มีความสามารถ แต่เขาอาจไม่ได้ทำด้านลงทุนอย่างเดียว ต้องทำด้านบริหารองค์กรด้วย แสดงให้เห็นว่าเขายอมที่จะจ่ายเงินตรงนี้ เพื่อหาคนที่มีประสิทธิภาพมาทำ กรรมการดูแค่นโยบายเท่านั้น
ไทยพับลิก้า : ช่วงวิกฤติปี 2540 (ต้มยำกุ้ง) คนของธนาคารก็ตกงานออกมาเยอะ มีเข้ามาทำสหกรณ์บ้างไหม
มีเยอะครับ หลายคนที่ผมรู้จักก็เป็นผู้จัดการแบงก์เก่า แต่ต้องยอมรับว่าคนสายการเงินมาทำสหกรณ์ความก้าวหน้ามันไม่เยอะ ต่อให้คุณเสนอให้เงินเดือนสูง เขาก็อาจรู้สึกว่ามันไม่มั่นคง ถ้ากรรมการเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน บอกว่าไม่เอาแล้วเรื่องลงทุน ไม่เอาแล้วความเป็นมืออาชีพ เอาแค่พอเพียง ผู้จัดการก็แย่ ไม่รู้จะถูกให้ออกเมื่อไร ไม่เหมือนกับแบงก์ที่สับเปลี่ยนที่ทำงานได้ถ้ามีความสามารถ ก็เป็นข้อเสียของสหกรณ์อย่างหนึ่งคือโตได้ไม่มาก ถ้าให้เงินเดือนเยอะเดี๋ยวสมาชิกก็ต้องมาโวยว่าทำไมต้องเยอะ มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่เหมือนองค์กรมืออาชีพ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาแก้ไขกันต่อไป
เป็นเพราะว่าสมาชิกมีความเข้าใจเรื่องสหกรณ์แค่ว่า เป็นการลงทุนแล้วรอเอาปันผลอย่างเดียว
สมาชิกอาจเข้าใจบทบาทของตัวเองได้ไม่ดี บางคนคิดแต่เรื่องผลตอบแทนอย่างเดียว ขณะที่บางคนเข้าใจว่าสหกรณ์คือการพึ่งพาช่วยเหลือกันเอง อีกส่วนคือการลงทุน บอกว่าถ้าฉันซื้อหุ้น ฉันก็ต้องได้เงินคืน ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องใช้โมเดลธุรกิจคือกรรมการมีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้ให้สหกรณ์ได้ผลกำไรสูงสุด
ถ้าเขาจะเอาเงินไปพัฒนาแล้วต้องรอให้ผลย้อนกลับสมาชิกในอนาคตก็ต้องยอม ไม่ใช่ต้องคืนเงินทุกบาททุกสตางค์ให้สมาชิกหมด ถ้ายังอยากเติบโตในระยะยาว คุณต้องสร้างระบบ ต้องสร้างอะไรที่สร้างความเข้มแข็งในอนาคต ปีนี้กรรมการอาจจะเก่ง แต่ไม่มีอะไรการันตีว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะเก่งเหมือนกัน ถ้าสหกรณ์ลงทุนในอะไรก็ตามที่การเปลี่ยนกรรมการไม่ส่งผลกระทบ ดังนั้นสมาชิกควรจะยอมให้มีการลงทุนระยะยาว เหมือนธุรกิจทั่วไปที่มีการลงทุนเพื่ออนาคตผู้ถือหุ้นเขายอม
ไทยพับลิก้า : กลไกการกำกับดูแลของสหกรณ์ อย่างเช่น การตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ
โดยหลักการองค์กรจะต้องมี แต่อย่างที่บอก เมืองไทยพึ่งพาความสัมพันธ์ส่วนตัวมาก บางทีมีอะไรที่ผิดพลาดก็อาจไม่ลงรายละเอียด ปิดตาข้างหนึ่งยอมปล่อยให้ผ่านไปได้ ถ้าทุกคนทำหน้าที่เต็มที่ กรรมการก็บริหารเต็มที่ ผู้ตรวจสอบก็ตรวจสอบเต็มที่ ระบบก็ไม่เกิดปัญหา ศักยภาพของผู้ตรวจสอบก็มีความสำคัญ ทุกวันนี้ก็มีการอบรมผู้ตรวจสอบกิจการให้เก่งขึ้น แต่สิ่งที่เจอคือเมื่อตรวจสอบพบแล้ว ความสัมพันธ์ส่วนตัวทำให้การตรวจสอบมันไม่เข้มงวดพอ
ไทยพับลิก้า : ลักษณะการลงทุนของสหกรณ์ส่วนใหญ่ในไทย มีความเสี่ยงสูงไหม
ปัจจุบันตั้งแต่มีเรื่องแชร์ล็อตเตอรี่แดงขึ้นมา ผมคิดว่าการลงทุนแปลกๆ มันเบาลงเยอะ แชร์ล็อตเตอรี่เป็นกรณีศึกษาที่ดีว่า ทำไมกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่ทำอะไรเลยหรือ พอเกิดเหตุว่าสหกรณ์นำเงินสมาชิกไปซื้อล็อตเตอรี่เป็นร้อยล้าน พันล้าน มันไม่ใช่กิจการหลักของสหกรณ์แน่นอน จะบอกว่าเป็นการลงทุนมันก็ไม่มีความชัดเจน ผู้ควบคุมกลับปล่อยปละทำให้เกิดความเสียหาย เคสนี้ทำให้สหกรณ์หลายที่ระมัดระวังขึ้น เพราะมันมีผลกระทบตามมา มีการฟ้องร้องกันหลายที่ สหกรณ์ที่เหลือก็ไม่กล้าลงทุนหวือหวาเหมือนเมื่อก่อน เคสคลองจั่นเป็นสเตปที่สอง พอคุณไม่กล้าหวือหวาเท่านั้นแหละ เขายังมองหาสิ่งที่ได้ผลตอบแทนดี
ในอดีตสหกรณ์หลายแห่งกล้าฝากเงินที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น หนึ่งคือเขาเห็นว่าเป็นสหกรณ์ด้วยกัน สองคือได้รับการการันตีจากคนรอบข้าง ทั้งกรมส่งเสริมฯ ทั้งสหกรณ์ด้วยกัน ได้รางวัลทั้งสหกรณ์ดีเด่น ขนาดผู้บริหารได้ถึงนักสหกรณ์แห่งชาติ ดังนั้นสหกรณ์ปลายทางจึงเชื่อมั่น จึงเกิดคำถามว่าเมื่อบอกว่าสหกรณ์นี้ดี คุณมั่นใจไหม คุณมีระบบตรวจสอบที่ดีพอไหม เพราะคนปลายทางเขาเชื่อมาตรฐานพวกนี้ ถ้ากรมบอกว่าดีมันก็ต้องดี ก็เหมือนกับเครดิตเรตติ้งบริษัทตรวจบอกว่าดีก็เชื่อว่ามันควรจะดี แต่ต่างที่เครดิตเรตติ้งมันตรวจสอบตลอด สหกรณ์ดีเด่นมันไม่ได้ตรวจตลอด อย่างได้รางวัลตอนปี 2550 แล้วปี 2551 ก็ไม่มีใครรู้ว่ายังดีอยู่ไหม ขณะที่เครดิตเรตติ้งต้องทำทุกปี คุณอาจเว้นปีไหนก็ได้ แต่ก็อาจมีคนถามว่าทำไมไม่ทำ มีปัญหาหรือเปล่า ความดีต้องทันสมัยเสมอ ไม่ใช่ว่าเมื่อห้าปีก่อนที่นี่คือสุดยอดของสหกรณ์ประเทศไทย แต่อีกห้าปีหลัง กรรมการก็อาจเปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยน อะไรก็เกิดขึ้นได้
ไทยพับลิก้า : ดูแล้วสหกรณ์ต้องปรับตัวอีก
ต้องค่อยๆ ทำ ถ้าไม่เกิดวิกฤติเราก็ไม่รู้ว่าเราต้องปรับ เราคิดว่าเราทำกันดีแล้ว พอเกิดเรื่องค่อยรู้กัน ความดีของสหกรณ์มีอยู่เยอะ ผมยังเชื่อว่าประเทศจะเจริญได้คนต้องออม วิธีการออมที่ดีอยู่ที่ตรงนี้ ถ้ามันไม่ดีคุณไม่ต้องห่วงเลย สหกรณ์เจ๊งเองแน่ คนไปออมตามระบบปกติแทน แต่ถ้ามันดีคนก็จะออมกับสหกรณ์ เราหวังปลายทางว่าคนในประเทศมีการออมเงิน อันนี้เป็นเรื่องหลักที่ต้องทำก่อน ที่เหลือสำคัญรองลงมา
ไทยพับลิก้า : กรณีสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในวงการสหกรณ์
ใช่ครับ เราเคยมีความเสียหายเกี่ยวกับเรื่องทุจริต อย่างเรื่องแชร์ล็อตเตอรี่ก็เสียหายเป็นหลักพันล้านแน่ๆ แต่ถ้าเป็นสหกรณ์แห่งเดียวที่มีเจ้าหน้าที่ร่วมมือกันทุจริต น่าจะเสียหายแค่หลักร้อยล้าน ซึ่งสามารถใช้เงินในวงสหกรณ์แก้กันได้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่พอเป็นหลักพันล้านหรือหมื่นล้านมันกระทบหนัก มีคนเกี่ยวข้องเยอะ เกิดคำถามมากมาย มันหนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่มองในแง่ดีคือเราเริ่มรู้ว่าเราขาดอะไรอีกเยอะ แล้วถ้าคุณอยากจะให้มีสหกรณ์อยู่ในประเทศต่อ คุณไม่มีสิทธิที่จะบอกว่าเรื่องคลองจั่นมันเกิดครั้งเดียว จะไม่เกิดอีกแล้ว
ต้องถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใครก่อน กรมรู้แล้วไม่ทำอะไรหรือไม่ กรมต้องตอบคำถาม สหกรณ์ต่างๆ ที่เอาเงินไปฝากถ้าคุณมองความเสี่ยงของสมาชิกเป็นหลัก คุณต้องวิเคราะห์ให้ขาด ผมรู้จักสหกรณ์ฯ คลองจั่นมาตั้งแต่ปี 2550 ช่วงที่เขาระดมเงินฝากหนักๆ ผมเอางบการเงินมาอ่าน พยายามศึกษาธุรกิจ หาคำตอบว่าทำไมถึงได้ผลตอบแทนที่ดี พยายามแคะงบจนมาถึงจุดที่ว่า มันมีข้อสงสัยบางอย่างที่เราหาคำตอบไม่ได้ เราก็บอกว่าเราไม่ฝากดีกว่า คือตอนนั้นผมเป็นผู้จัดการสหกรณ์อยู่ ผมก็เสนอกรรมการว่ามีสหกรณ์แห่งหนึ่งให้ดอกเบี้ยดีมาก 6-7% แต่ผมประเมินแล้วคิดว่ายังมีบางคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ ผมขออนุญาตไม่ฝาก
คำถามคือ กระบวนการประเมินความเสี่ยงของการลงทุน ทุกสหกรณ์มีหมดทุกที่แต่ไม่เท่ากัน บางที่อาจมองง่ายๆ ว่า หนึ่ง คลองจั่นเป็นสหกรณ์ที่ดี สอง เขาได้รับรางวัล สาม ให้ผลตอบแทนดี ก็โอเค เอาเงินมาฝาก ถือว่าช่วยเหลือสหกรณ์ด้วยกัน แต่ว่าไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดจริงๆ ดังนั้นเหตุผลที่แต่ละแห่งนำเงินมาฝากไม่เหมือนกัน
ไทยพับลิก้า : สหกรณ์หลายแห่งมีเงิน แต่คนที่คุมเงินอาจจะบริหารไม่เป็น
แต่ละที่มีกรอบการตัดสินใจที่ไม่เหมือนกัน เรื่องกรอบการตัดสินใจผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันได้ สมมติว่าจะลงทุนอะไรสักอย่าง เราสร้างกรอบขึ้นมาว่าต้องดูปัจจัยประกอบอะไรบ้าง ถ้าทุกคนใช้กรอบที่มีมาตรฐานเดียวกันคุณภาพมันดีขึ้นอยู่แล้ว แต่คนที่ใช้กรอบการลงทุนว่าเป็นเพื่อนร่วมวงการสหกรณ์มันก็ไม่ผิด เพราะเขามองในมุมว่าสหกรณ์ต้องช่วยเหลือกันเอง แต่เขาอาจลืมคิดว่าเงินที่รับผิดชอบอยู่มันเป็นเงินสมาชิก ไม่ใช่เงินส่วนตัว
ไทยพับลิก้า : คุณหมอทำสหกรณ์มานาน ช่วยเล่าการทำงานที่ผ่านมา
เริ่มเข้าบริหารที่สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจประมาณ 10 ปี ทำหลายส่วนตั้งแต่กรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา ประธาน ส่วนปีนี้เป็นรองประธาน เริ่มต้นที่จบการเงิน จบ MBA Finance ก็อยากลองเอามาใช้งานจริง คือมุมมองผมจะต่างกับคนที่ทำงานสหกรณ์โดยตรง
คนสหกรณ์เก่าๆ จะมีกรอบว่า ทำสหกรณ์ให้สมาชิกกู้ มีเงินเฉลี่ยคืน มีเงินปันผล แต่ผมพยายามใช้มุมมองด้านการเงินที่เรียนมาช่วยปรับ ถ้าเรามองในเชิงธุรกิจ อันนี้เราเอา อันนี้เราไม่เอา ช่วงแรกจะคิดไม่เหมือนคนอื่นๆ เยอะ อย่างเช่นแนวคิดเรื่องช่วยสหกรณ์ด้วยกัน คนสหกรณ์จะเห็นว่าถ้าเขาลำบากเราก็ต้องช่วย แต่มุมมองผมคือ ถ้าเขาเอาเงินมาช่วยจริงแล้วคุณมั่นใจหรือไม่ว่าเงินชาวบ้านที่คุณเอามาช่วยมันปลอดภัยในฐานะผู้บริหารองค์กร
ไทยพับลิก้า : คุณหมอมองว่าหน้าที่หลักที่สุดคือปกป้องเงินสมาชิก
อันนี้เป็นหลักการเงินทั่วไป แต่หลายๆ คนไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น ทุกคนไม่คิดว่าเรื่องสหกรณ์ฯ คลองจั่นจะส่งผลกระทบร้ายแรงขนาดนี้ ทุกคนไม่คิดว่าเรื่องใหญ่ อาจคิดว่าเงินส่วนหนึ่งสักสิบเปอร์เซ็นต์ของสหกรณ์ฉันฝากที่นี่ แต่ไม่ได้คิดผลกระทบด้านชื่อเสียง คือแม้ แต่ว่ามีชื่อออกมาว่าเงินไปฝากก็เสียหายแล้ว ไม่ต้องคิดถึงจำนวนเงินเลย เขาอาจคิดว่าเงินที่อาจมีปัญหามันน้อยเกินกว่า จะก่อให้เกิดปัญหาทางบัญชีกับสหกรณ์ตัวเอง ถามว่าไม่ได้เงินก้อนนั้นคืนก็ไม่เจ๊ง แต่ชื่อเสียงที่โดนสั่นคลอนมันเยอะมาก ราคามันเทียบกันไม่ได้ ทุกคนคิดว่าถ้าย้อนกลับไปฉันขอไม่มีส่วนร่วมฝากด้วยดีกว่า มันกลับไปที่บทเรียนสำหรับทุกสหกรณ์ว่า ต่อไปนี้จะทำอะไรต้องประเมินหลายอย่าง ไม่ใช่เรื่องของผลตอบแทนอย่างเดียว ต้องมีเหตุผลในการลงทุน
หลายๆ ที่ยังไปได้อยู่ แต่ว่ามันบาดเจ็บ เช่น เงินปันผลก็ได้น้อย เหลือแค่ 1-2% ไม่ใช่ 5-6% อย่างที่เคย สภาพคล่องไม่มีก็ไม่ให้กู้ มันยังรอดแต่ว่าบาดเจ็บ จะใช้เวลาฟื้นฟูห้าปีสิบปี ขึ้นอยู่กับแผลมันใหญ่ไหม อย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยโสธร โดนทั้งแชร์ล็อตเตอรี่ โดนทั้งสหกรณ์ฯ คลองจั่น คือผู้บริหารปัจจุบันไม่เกี่ยวข้องเลย เป็นการตัดสินใจของกรรมการชุดก่อนๆ ทั้งนั้นที่โดนไล่ไปหมดแล้ว มีหลายแห่งมาขอกู้ผม แต่ผมคิดดูแล้วคงให้ไม่ได้ เพราะผมตอบเจ้าของเงินไม่ได้ว่าให้ไปแล้วจะได้คืนไหม มันไม่ใช่เงินของผม ผมมีหน้าที่ต้องดูแลเงินตามความไว้วางใจ ก็ต้องทำให้เต็มที่
ไทยพับลิก้า : รอบนี้สหกรณ์อื่นๆ ไม่ได้ล้มตามสหกรณ์ฯคลองจั่นไปด้วยใช่ไหม
ไม่มีล้มตาม
ผมคิดว่าสหกรณ์ยังมีอะไรที่น่าสนใจ เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับทั้งประเทศ อาจจะตอบโจทย์อะไรบางอย่าง แต่ด้วยความที่เราไม่ได้มองในมุมใหม่ๆ หรือนอกกรอบ ผมยกตัวอย่าง สหกรณ์ถูกตอนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่ให้โตขึ้น พออยากจะทำอะไรที่ดีๆ ขึ้นมาก็จะโดนคำถามว่า เพราะสหกรณ์ไม่ได้เสียภาษี มีแต้มต่อการทำธุรกิจ แต่ถ้าถามผม ผมไม่สนเรื่องภาษี ยกตัวอย่างสหกรณ์ผมปันผล 10% ถ้าหักภาษีผม 30% ผมก็จ่ายให้สมาชิกได้แค่ 7% แต่สมาชิกขอคืนภาษีได้ เหมือนเราซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าคุณเป็นพนักงานเปลจนๆ คุณขอคืนภาษีได้ทั้งหมด ก็ได้ปันผล 10% เหมือนเดิม แต่ถ้าคุณมีเงินสองพันล้าน คุณขอคืนภาษีไม่ได้ ก็รับปันผลไปแค่ 7% เราให้คนตามความร่ำรวย ถ้ายกเว้นภาษีเหมือนทุกวันนี้ เศรษฐีหรือคนงานก็ได้ 10% เท่ากับไม่แฟร์ด้วยซ้ำ ถ้าจะคิดภาษีผมก็ไม่แคร์หรอก ที่เกาหลีเขาใช้หลักประนีประนอม คือ ถ้าสหกรณ์คุณไม่ใหญ่มากก็เสียภาษีน้อยหรือไม่เสีย แต่ถ้าสหกรณ์ใหญ่ๆ ก็เสียภาษีเหมือนองค์กรธุรกิจทั่วไป ซึ่งผมคิดว่าแฟร์กว่า
อีกเรื่องที่คนชอบมองว่าสหกรณ์เล็กๆ ไม่เสี่ยง ใหญ่คือเสี่ยง ผมมองในมุมกลับเรื่องการกระจายความเสี่ยง ดังนั้นยิ่งใหญ่ยิ่งดี ถ้าเล็กๆ ทุกอย่างอยู่ในที่เดียวกันเหมือนตะกร้าไข่ แตกฟองเดียวคือครึ่งตะกร้า แต่ถ้าสหกรณ์ใหญ่มี 20 ฟองแยกตะกร้าแตกหนึ่งฟองก็แค่ 5% เรื่องแบบนี้มองคนละมุมตลอด ผู้ควบคุม (กรม) พยายามทำให้เล็ก ขอเล็กๆ เป็นแค่สหกรณ์หมู่บ้าน จะมีจำนวนหมื่นสองหมื่นแห่งก็ได้ยิ่งชอบมาก แต่ถ้าเป็นสหกรณ์ใหญ่ๆ มีเงินสักแสนล้านเขาเริ่มเครียดละ แต่ผมกลับมองว่าแสนล้านทำอะไรได้เยอะมาก มันมากพอจะขับเคลื่อนประเทศชาติได้ ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมได้ แล้วพอมันมารวมที่เดียวกัน คุณจะจ้างคนเก่งๆ หรือสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ระบบข้อมูลที่เจ๋งๆ มันทำได้ แต่ถ้าคุณเป็นสหกรณ์จิ๋วๆ มีสมาชิกแค่สองร้อยคนมันทำอะไรไม่ได้เลย เป็นสิ่งที่มองคนละมุมตลอด
ความจริงสหกรณ์น่าจะเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำได้ดีมาก เป็นธนาคารคนจนที่จะปล่อยกู้ให้รายเล็กรายน้อย
แม้แต่สหกรณ์การเกษตร ผมก็เชื่อว่ามันมีพลังพอที่จะไปสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติได้ แต่อย่างที่บอก ระบบของเราไม่เชื่อมกัน เงินออมทรัพย์ตั้งเยอะ ถ้าทุนไหลไปยังสหกรณ์เกษตร แล้วเขาทำได้ดี ผมเชื่อว่าสู้กับธุรกิจข้ามชาติได้ แต่เราไม่ใช้จุดแข็งของเรา กรมส่งเสริมฯ บอกมีเมืองไทยสมาชิกสหกรณ์กว่าสิบล้านคน แต่เป็นสิบล้านที่ไม่มีความสัมพันธ์กันเลย มันไม่มีประโยชน์ สิ่งที่เป็นจุดร่วมก็แค่คำนำหน้าว่า “สหกรณ์”