ThaiPublica > เกาะกระแส > แถลงการณ์เกษตรกรชาวไร่อ้อยจ.สระแก้ว ขอตั้งโรงงานน้ำตาลสีเขียว พร้อมเปิดโปงข้าราชการ-นักการเมืองฉ้อฉล หยุดขบวนการผูกขาด

แถลงการณ์เกษตรกรชาวไร่อ้อยจ.สระแก้ว ขอตั้งโรงงานน้ำตาลสีเขียว พร้อมเปิดโปงข้าราชการ-นักการเมืองฉ้อฉล หยุดขบวนการผูกขาด

4 มีนาคม 2014


ชาวไร่อ้อยสระแก้วประท้วงขอตั้งโรงงาน

วันนี้ (3 มีนาคม 2557) เครือข่ายเกษตรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้วประมาณ 100 คนนำโดยนายกิติศักดิ์ พรพรหมวินิจ เลขาสมาคมเกษตรชายแดนบูรพา, นายแกะ รัตนะ เกษตรกรไร่อ้อยรายย่อยปราจีนบุรี, นายสมนึก สโมสร รองประธานสภาเกษตรกรสระแก้ว, นางเภา ด่านพินิจ เกษตรกรไร่อ้อยรายย่อยสระแก้ว, ร้อยเอกทองทศ มากสาคร สมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) อำเภอคลองหาด, นายไชโย ขนบบวรกุล ส.จ.อรัญประเทศ และนายรัตนฤทธิ์ โชตินิติบัณฑิต ส.จ.อรัญประเทศ เดินทางจากจังหวัดสระแก้วเข้ากรุงเทพฯ มาปิดล้อมอาคารพญาไทพลาซ่าเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. เพื่อกดดันที่ประชุมไตรภาคีของสมาคมโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยและสำนักงานอ้อยและน้ำตาล ที่มีนายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นประธาน ให้มารับฟังข้อเรียกร้องและตอบคำถามของเกษตรกรชาวไร่อ้อย

หลังจากที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยสระแก้วเรียกร้องให้มีโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ขึ้นในจังหวัดสระแก้วมาตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี และฉะเชิงเทรา มีโรงงานน้ำตาลเพียงแห่งเดียวคือ โรงงานอ้อยและน้ำตาลตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว แต่ก็ถูกภาครัฐเพิกเฉยตลอดมา ต่อมาเมื่อจะมีโรงงานแห่งใหม่มาก่อตั้งก็ต้องอยู่ห่างจากโรงงานเดิมอย่างน้อย 80 กิโลเมตรตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม นั่นคือโรงงานแห่งใหม่ต้องตั้งอยู่ในอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นเขตที่แห้งแล้งที่สุดของจังหวัด และกรมชลประทานบอกว่าไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ เพราะจะแย่งน้ำจากภาคเกษตรกรรม

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมก็ยังไม่เปลี่ยนหลักเกณฑ์ระยะห่างระหว่างโรงงาน โดยอ้างว่าจะเกิดการแย่งผลผลิตอ้อยกัน จนกระทั่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว 735 คนยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมจากกรณีดังกล่าวต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ซึ่งศาลปกครองรับฟ้องคดีและตอนนี้อยู่ในระหว่างการสืบพยานหลักฐาน

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมรับปากว่า จะอนุมัติโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกจำหน่ายผลผลิตให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมภายใน 30 ตุลาคม 2556 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสระแก้วประมาณ 100 คนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันนี้เพื่อมาปิดล้อมที่ประชุมไตรภาคีเพื่อสอบถามถึงสัญญาที่เคยให้ไว้ พร้อมออกแถลงการณ์

ชาวไร่อ้อยสระแก้ว

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงอุตสาหกรรมรับจะนำเรื่องนี้ไปสรุปใหม่ โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้เวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเสนอเรื่องต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติเปลี่ยนแปลงที่ตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ให้อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิมได้ 20 กิโลเมตร แต่ถ้าหากกระทรวงอุตสาหกรรมเงียบเฉยอีก เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะนำมวลชนมาเรียกร้องเรื่องนี้อีก

ต่อมาในช่วงบ่าย เกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้วเดินทางไปยังศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นเอกสารและหลักฐานเพิ่มเติม พร้อมทั้งให้ศาลช่วยเร่งรัดคดีให้เร็วขึ้น

ด้านนายสมิทธิ์ เย็นสบาย คณะกรรมการศูนย์ประสานงานสุขภาพภาคประชาชนจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการปิดล้อมที่ประชุมครั้งนี้ เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกหลักเกณฑ์การสร้างโรงงานที่ระบุว่าต้องอยู่ห่างกันอย่างน้อย 80 กิโลเมตร เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม อีกทั้งเรียกร้องให้มีโรงงานแปรรูปอ้อยที่เป็น Zero Waste ครบวงจรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นต้นแบบของประเทศ คือ โรงงานน้ำตาล โรงงานเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขระบบสัญญาทาสและปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียนด้วย

ทั้งนี้ พื้นที่กว่าร้อยละ 70 ของจังหวัดสระแก้วเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ข้าว ดังนั้น อุตสาหกรรมที่เข้ามาในพื้นที่จึงควรเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางกลุ่มกำลังผลักดันให้กลายเป็นนโยบายของจังหวัดโดยจะจัดการประชุมเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียวโดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ข้าราชการหลายฝ่ายในจังหวัดเพื่อยกระดับการต่อสู้ในรูปแบบท้องถิ่นจัดการตนเอง มิฉะนั้นพื้นที่เกษตรกรรมก็จะกลายเป็นที่ทิ้งขยะเช่นเดียวกับหนองแหน จังหวัดฉะเชิงเทรา ดังนั้นตอนนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียวได้จริง

“จากปัญหาโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลก็ให้งบสนับสนุน 60 ล้านบาทเพื่อให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อยแทน เพราะสระแก้วเป็นพื้นที่ที่ปลูกอ้อยได้ดีที่สุดในประเทศ แต่เมื่อเปลี่ยนจากชาวนามาเป็นชาวไร่อ้อย ชาวบ้านก็ต้องเจ๊งอีก เพราะโรงงานหีบอ้อยไม่ทัน ทำให้ชาวบ้านขายอ้อยไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องขนส่งไปขายโรงงานอื่นๆ ในต่างจังหวัด ทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสะสมขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จะให้หันไปอาชีพอื่นก็ยาก” นายสมิทธิ์กล่าว

ขณะที่นายสมนึก จงมีวศิน นักวิจัยชุมชนและเครือข่ายเพื่อนตะวันออก,วาระเปลี่ยนตะวันออกกล่าวว่า จากต้นแบบธรรมนูญของอ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี ที่ทำให้ชุมชนเกิด 4 รู้ คือ 1. รู้ตัวตน เช่น ประวัติ อาชีพ และอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงพัฒนาการทางสังคมของพื้นที่ 2. รู้มรดกหรือฐานทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟต้นไม้ คลอง วัฒนธรรม 3. รู้ปัญหา ผลกระทบ ข้อดี ข้อด้อยของพื้นที่ และรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จะมาทำลายมูลค่าหรือคุณค่าของตัวตนหรือมรดก และ 4. รู้อนาคต คือการออกแบบและแก้ไขปัญหา

กลายเป็นต้นแบบการปกป้องและพัฒนาชุมชนของหลายๆ จังหวัด เช่น อยุธยา ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราและสระแก้ว โดยที่จังหวัดสระแก้วได้นำต้นแบบธรรมนูญจากอ่าวอุดมมาทำเรื่อง คุณค่า มูลค่า เกษตรพันธสัญญาทาสของชาวไร่อ้อย เพราะต้องการให้มีระบบอุตสาหกรรมแปรรูปที่ยั่งยืน ซึ่งชาวสระแก้วได้เรียนรู้ความเจ็บปวดมาจากชาวชลบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา แล้วก็ไปพัฒนาเป็นระบบของเขา โดยการก่อตั้งเบญจภาคีขึ้นมาขับเคลื่อนโครงการ และมีผู้ช่วยสนับสนุนวิชาการ นอกจากนี้ก็มีนักการเมืองท้องถิ่นและทีมผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

สิ่งที่สระแก้วต้องการมากที่สุดคือก่อสร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่ม แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็มีโรงงานกลุ่มที่จะมาก่อตั้งคือ โรงงานเคเอสเอล ซึ่งซื้อที่ดิน มีใบอนุญาตทำประชาพิจารณ์แล้ว แต่สร้างไม่ได้เพราะติดกฎหมายกระทรวงอุตสาหกรรมที่โรงงานแต่ละแห่งต้องมีระยะห่างอย่างน้อย 80 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ทางทีมเบญจภาคีได้ศึกษาและไปดูงานที่โรงงานเคเอสเอลที่กาญจนบุรีว่าเป็นโรงงานสะอาดอย่างไรบ้าง ก็ได้เห็นว่ามีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ไม่ใช่ถ่านหิน มีกระบวนการเผาไหม้แบบจบหมด ส่วนน้ำเสียจากกากอ้อยก็นำไปดูดกลิ่นเหม็นออกและทำเป็นหัวน้ำหอม ฉะนั้นที่โรงงานแห่งนี้จึงไม่มีกลิ่นเหม็นเลย แต่ว่าไม่สามารถมาก่อตั้งที่สระแก้วได้ เพราะว่ามีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่แล้ว

ชาวไร่อ้อยสระแก้ว-1

แถลงการณ์ชาวไร่อ้อยพร้อมเปิดโปงข้าราชการ-นักการเมืองฉ้อฉล

สืบเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายประเสริฐ บุญชัยสุข ได้มอบหมายให้นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมเดินทางไปประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายภัครธรณ์ เทียนไชย และพี่น้องเกษตรกรจำนวนมากเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 โดยรับปากว่า จะอนุมัติโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เพื่อให้เกษตรกรได้มีทางเลือกจำหน่ายผลผลิตให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมภายใน 30 ตุลาคม 2556 อย่างแน่นอน

ต่อมาทราบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยอ้างว่ารัฐบาลประกาศยุบสภา กระทรวงฯ ไม่มีอำนาจในการอนุมัติต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งเป็นการบิดเบือนและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ผลกระทบที่เกิดขึ้น

1. ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว สนับสนุนงบประมาณหลายสิบล้านบาทขยายพื้นที่ปลูกอ้อย เพื่อแก้ไขปัญหาโครงการรับจำนำข้าว สร้างทางเลือกให้กับชาวนาโดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำนา ยังไม่นับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยตามการสนับสนุนของภาครัฐอีกจำนวนมาก

คำถามคือ กระทรวงอุตสาหกรรมจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรจากภาวะอ้อยล้นตลาดอย่างไร

2. จังหวัดสระแก้วและจังหวัดใกล้เคียง มีโรงงานน้ำตาลผูกขาดการรับซื้อผลผลิตอ้อยเพียงรายเดียว ได้ประกาศว่า สามารถรับซื้อผลผลิตอ้อยจากเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 4 ล้านตัน ราคาตันละ 1,200 บาท ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุมัติอย่างถูกต้องจากกระทรวงอุตสาหกรรม

คำถามคือ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับโรงงานภาคเอกชนทำให้เกิดระบบผูกขาดหรือได้รับผลประโยชน์รายเดียวหรือไม่

3. เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายย่อยจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้วและผู้นำชุมชนท้องถิ่นประมาณ 700 คน ได้ร่วมกันฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมในประเด็นดังกล่าวข้างต้น และเดินทางไปติดตามการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางในวันที่ 3 มีนาคม 2557 นี้

ในนามของเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายย่อยจังหวัดสระแก้วและจังหวัดใกล้เคียงทุกคน พวกเราทุกคนจะเดินหน้าเปิดโปงพฤติการณ์อันฉ้อฉลของข้าราชการโดยเฉพาะนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังอย่างถึงที่สุด และถือเป็นวาระในการปฏิรูปพลังงานและระบบอุตสาหกรรมสีเขียว ตามที่พี่น้องประชาชนได้เรียกร้องอยู่ในขณะนี้

กลั่นจากใจของพวกเรา
เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคน

“หยุดผูกขาด ต้องแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ปฏิรูปพลังงานและระบบอุตสาหกรรมสีเขียว”