ThaiPublica > คนในข่าว > เกือบ 3 ทศวรรษ กองทุนฟื้นฟูฯ กับภารกิจอุ้มสถาบันเงิน “วิกฤติปี 40 ใช้เงินอัดฉีดมากที่สุด 2.5 ล้านล้าน”

เกือบ 3 ทศวรรษ กองทุนฟื้นฟูฯ กับภารกิจอุ้มสถาบันเงิน “วิกฤติปี 40 ใช้เงินอัดฉีดมากที่สุด 2.5 ล้านล้าน”

30 กันยายน 2013


ตลอดเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีวิกฤติสถาบันการเงินเกิดขึ้นเป็นระยะ แต่ครั้งสำคัญๆ มี 3 ช่วง ช่วงแรก วิกฤติการเงินในปี 2522 หรือที่เรียกว่าวิกฤติราชาเงินทุน ช่วงที่สอง วิกฤติการเงินในปี 2526 เป็นที่มาของโครงการทรัสท์ 4 เมษายน 2527 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และช่วงที่สาม วิกฤติการเงินในปี 2540 เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด และมีความเสียหายมากที่สุด

วิกฤติการเงินปี 2540 การเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของกองทุนฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า “อุ้ม” สถาบันการเงิน และทำความ “เสียหาย” กับประเทศถึง 1.4 ล้านล้านบาท

ตลอดระยะเวลา 16 ปี หลังวิกฤติการเงินปี 2540 เรื่องกองทุนฯ ที่เข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินถือเป็นมหากาพย์ก็ว่าได้ เพราะจนถึงปัจจุบัน หนี้ที่เกิดจากการที่กองทุนฯ เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินยังไม่จบ แต่ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ลึกๆ แล้วกองทุนฯ อุ้มสถาบันจริงหรือไม่ และความเสียหายที่จริงแล้วแค่ 1.4 ล้านล้านบาทจริงหรือ แล้วหนี้ความเสียหายจากครั้งนั้น ที่กระทรวงการคลังโอนมาให้กองทุนฯ บริหารจัดการในอนาคตจะมีปัญหาหรือไม่

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นางพวงทิพย์ ปรมาพจน์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการกองทุน ซึ่งถือเป็นลูกหม้อของกองทุนฯ ก็ว่าได้ เนื่องจากทำงานในสายงานนี้มาตลอดเกือบ 30 ปี ได้เล่าประสบการณ์คลุกวงในในการแก้ไขวิกฤติแต่ละครั้ง โดยเพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจบทบาทกองทุนฯ มากขึ้นจึงเริ่มตั้งแต่แนวคิดการจัดตั้งกองทุนฯ จนถึงทิศทางของกองทุนฯ ในอนาคต ดังนี้

การแก้ปัญหาสถาบันการเงินในยุคแรก

นางพวงทิพย์ ปรมาพจน์
นางพวงทิพย์ ปรมาพจน์

ขอเริ่มจากช่วงใกล้ๆ คือในช่วงปี 2526 เกิดวิกฤติขึ้นมารอบหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นผลจากเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ เรื่องของค่าเงินซึ่งตอนปี 2526 ค่าเงินของเราอยู่ระดับประมาณ 23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ พอปลายปี 2527 มีนโยบายปรับลดค่าลง ทำให้ตอนนั้นมีสถาบันการเงินหลายแห่งที่มีปัญหาก็มีการปิดกิจการไปประมาณ 19 แห่ง

ในช่วงนั้นสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทของครอบครัว เพราะฉะนั้น ในตอนที่ทางการจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ต้องใช้วิธีขอให้ผู้ถือหุ้นเดิมโอนหุ้นให้ทางการ เพื่อให้ทางการเข้าไปมีเสียงส่วนใหญ่ ถ้าไปดูในยุคนั้นจะเห็นว่าบางบริษัทจะเขียนป้ายไว้ว่า “กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่”

ตอนนั้น ในการดำเนินการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน หากต้องปิดกิจการจะต้องจ่ายคืนเงินให้กับผู้ฝาก ทางการต้องอาศัยบริษัทเงินทุนอื่นที่อยู่ในระบบเป็นคนทำ แล้วทางด้านการถือหุ้นก็จะเป็นธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการ ในช่วงนั้นเรื่องของสภาพคล่องจะมีการตั้ง “กองทุนเสริมสร้างสภาพคล่อง” ขึ้นมาปลายปี 2526 โดยให้แบงก์พาณิชย์ลงขัน แล้วผู้บริหารจัดการคือธนาคารกรุงไทย

จวบจนเดือนเมษายน 2527 มี “โครงการ 4 เมษายน 2527” ขึ้นมา โดยสถาบันการเงินที่มีปัญหาประมาณ 25 แห่ง เข้าไปอยู่ในโครงการฯ แต่ช่วงหลังจากนั้นประมาณปลายปี 2527 ก็เกิดเหตุการณ์กับธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัด ประสบปัญหาขาดทุนจากการปริวรรตเงินตรา แล้วก็มีเรื่องฐานะเข้าไปด้วย ทำให้ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ กับกระทรวงการคลัง ก็เลยตราพระราชกำหนดขึ้นมาเพื่อจัดตั้งกองทุนฯ

“ในวัตถุประสงค์บอกว่า เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถจะดำเนินมาตรการในการให้ความช่วยเหลือกรณีที่สถาบันการเงินเกิดวิกฤติอย่างร้ายแรง” เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนจริงๆ ก็คือ เป็น “กลไก” หนึ่งให้กับทางการที่จะดำเนินการ

เมื่อตั้งกองทุนฯ จุดแรกที่เกิดขึ้นก็คือ กองทุนฯ ต้องไปถือหุ้นใน “ธนาคารเอเชียทรัสท์” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารสยาม” ในช่วงนั้นมีคณะกรรมการซึ่งทางการแต่งตั้งเข้าไป

ในส่วนของกองทุนฯ อยากจะเล่าให้ฟังเรื่องสถานะของกองทุนฯ คือ ตามกฎหมายบอกว่าเป็นกองทุนฯ หนึ่งในแบงก์ชาติ แต่เวลาพูดถึงอำนาจตามนิติบุคคลจะแยกต่างหากจากธุรกรรมของแบงก์ชาติโดยสิ้นเชิง มีกรรมการของตัวเอง แต่สิ่งที่แปลกกว่าหน่วยงานหรือองค์กรอื่นก็คือ “ไม่มีทุน”

ปกติการตั้งองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจจะต้องมีทุนประเดิม เช่น ตอนปี 2544 ที่ตั้ง บสท. (บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) เขาก็มีทุนประเดิม โดยให้กองทุนฯ ไปใส่เงินเข้าไป 1,000 ล้านบาท แต่กองทุนฯ ตั้งขึ้นไม่มีเงินกองทุน

ในช่วงแรกเราได้เงินทดรองจากแบงก์ชาติเป็นเงินยืม ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเรื่องเงินของธนาคารกลางเป็น high power money เพราะฉะนั้น กองทุนฯ พยายามที่จะไม่เอาเงินกู้ยืมจากแบงก์ชาติออกสู่ระบบ เมื่อได้เงินมาก็ต้องไปลงทุนหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มาใช้จ่าย วิธีลงทุนก็คือไปซื้อตั๋วเงินคลัง

“ตอนนั้นรายได้ที่ได้จากตั๋วเงินคลังให้เรามา 500 ล้านบาท ก็เพียงพอ และมีรายได้จากเงินส่งของสถาบันการเงิน ตอนนั้นกฎหมายกำหนดให้เก็บ 0.5% ของเงินฝาก แต่คณะรัฐมนตรีขณะนั้นอนุมัติไว้นิดเดียวที่ 0.1% ซึ่งเราเรียกเก็บงวดแรกคือกรกฎาคม 2529 และเงินก้อนแรกที่สถาบันการเงินส่งประมาณ 600 ล้านบาท”

เพราะฉะนั้น ถ้าดูกลไกของเงินก็เท่ากับไม่ได้ออกสู่ตลาดเงินเลย หลังจากนั้นการที่กองทุนฯ ไปถือหุ้นธนาคารสยามเราก็อาศัยเงินทดรองจากแบงก์ชาติเข้ามา แล้วก็เริ่มมีการเข้าไปฟื้นฟู นั่นคือจุดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ตอนที่ตั้งกองทุนฯ​มา สิ่งที่เราต้องทำคือทำตามนโยบายที่ได้รับมาเป็นเรื่องๆ ไป เช่น จากธนาคารสยามต่อมาก็ให้ไปถือหุ้นในโครงการ 4 เมษายน 2527 แทนกรุงไทย

ฐานะ 10 ปีแรก เงินกองทุนบวก 4 หมื่นล้านบาท

ถามว่าฐานะกองทุนฯ เป็นอย่างไร ช่วงแรกต้องบอกว่า สถาบันการเงินในไทยจริงๆ มีกระตุกบ้างเป็นบางครั้งแต่ไม่แรงและไม่มากเหมือนตอนปี 2540 เพราะฉะนั้นในช่วงระหว่างทางจากช่วงสิบปีแรก คือ จากปี 2529 ไปถึงปี 2538 ตรงจุดนั้น กองทุนฯ เข้าไปถือหุ้นแบงก์หลายแบงก์ แต่ถือในสัดส่วนที่น้อย ไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ สาเหตุที่ไปถือเพราะว่าอาจจะเป็นประเด็นเรื่องผู้ถือหุ้นเขาร้าวฉานกัน เราก็เข้าไปแทรกหน่อย เพื่อให้การเพิ่มทุนสำเร็จแล้วก็เข้าไปเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจเท่านั้นเอง

ดังนั้น ช่วงสิ้นปี 2538 กองทุนมีเงินกองทุนเกือบ 40,000 ล้านบาท สินทรัพย์ก็ใกล้เคียงประมาณ 40,000 ล้านบาท เพราะว่าส่วนที่ถือหุ้น ถือนิดเดียว ส่วนที่ต้องช่วยผู้ฝากไม่มี หรือมีก็นิดหน่อย เนื่องจากปิดบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เล็กๆ ไป 3 แห่ง เรื่องช่วยให้สินเชื่อก็แทบไม่มี

แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กองทุนฯ ไปช่วยบริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัดหรือเอฟซีไอ ก็ซื้อสินทรัพย์เสียหายออกมา ซึ่งในช่วงนั้นทำให้กองทุนฯ มีอสังหาริมทรัพย์ในมือค่อนข้างมาก ถ้าดูฐานะก็จะเห็นว่าปี 2538 ฐานะของกองทุนฯ ยังดี

การช่วยเหลือสภาพคล่องช่วงวิกฤติปี’40

“ถ้าเราดูงบปี 2538 จะเห็นว่าเรามีเงินอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ถ้าเราไม่ต้องตามดำเนินนโยบาย เงิน 4 หมื่นล้านเราก็ไม่เสียนะ เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่ากองทุนฯ ทำเองนะ ต้องบอกว่า ตอนหลังไม่มีกองทุนฯ ทำเอง เพราะว่าทั้งหมดคือสิ่งที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากว่าในระหว่างทางที่เกิดวิกฤติ ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่เขาพิจารณาแก้ไขว่าจะควบรวมกิจการไหม จะหาผู้ร่วมทุนไหม จะทำอะไร ก็ต้องบอกแบบนี้ และเป็นกองทุนด้วยซ้ำที่เอาเงินตัวเองใส่ลงไปด้วย คือทำมาหาได้ 10 ปีนี่หมดเลย หมดเกลี้ยงเลย”

ตอนปี 2539 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในช่วงของพฤษภาคม ที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านเกี่ยวกับธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ (บีบีซี) ซึ่งมีผลทำให้บีบีซีถูกถอนเงิน ก็ต้องบอกว่ากองทุนฯ เข้าไปมีบทบาทเยอะ เริ่มจากจุดนั้น ประกอบกับถ้าเราหันกลับไปดูสถานการณ์ตอนนั้น จะมีประเด็นเรื่องค่าเงินซึ่งมีการถูกโจมตีอยู่หลายรอบ แล้วก็เกิดกรณีของวิกฤติเม็กซิโก ทำให้มีกระแสคิดไปว่าประเทศไทยก็ประมาณนั้น ทำให้ค่าเงินมีความผันผวน ส่วนอัตราดอกเบี้ยในตลาดช่วงนั้นก็ถือว่าสูง

ประเด็นต่อมา นอกจากธนาคารจะมีปัญหาแล้ว บริษัทเงินทุนในช่วงนั้นก็เริ่มมีปัญหาเช่นกัน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ยที่กู้ยืมจากต่างประเทศกับดอกเบี้ยในประเทศค่อนข้างสูง มีสถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่ไปกู้ต่างประเทศแล้วก็มากินส่วนต่างในประเทศ และนำไปกู้อสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีการเก็งกำไร ก็เป็นจุดที่ทำให้เกิดฟองสบู่

ตัวของบริษัทเงินทุนต้องเรียนว่าเริ่มมีปัญหาจริงๆ ประมาณต้นกันยายน ปี 2539 คือ ตอนนั้นต้องบอกว่าภาคทางการเอง ไม่ได้มีการแถลงข่าว ปัจจุบันเรายังมีการแถลงข่าวเป็นระยะว่าสถาบันการเงินเป็นอะไร อย่างไร สมัยก่อนจะไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้น ตัวที่เป็นข่าวก็จะกลายเป็นตัวที่สร้างกระแสได้เยอะ ตอนนั้น ต้นเดือนกันยายนปี 2539 มีข่าวเลยว่าบริษัทเงินทุนประมาณ 5 แห่ง ที่มีฐานะไม่ดีและอยู่ในขั้นล้มละลาย จากข่าวดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความไม่เชื่อมั่นของประชาชาชน มีการถอนเงิน กองทุนฯ เข้าไปช่วยในเรื่องสภาพคล่อง

แต่ในช่วงที่ไปช่วยสภาพคล่องตอนนั้นต้องบอกว่า บางส่วนเกิดจากทางแบงก์ชาติขอความร่วมมือ และบางส่วนเกิดจากกรรมการกองทุนฯ เองที่มองไปว่าเราเก็บเงินนำส่งสถาบันการเงินมา เวลาที่เขามีปัญหาก็ควรจะช่วยเขาบ้าง ซึ่งเรามองว่าปัญหาสภาพคล่องจริงๆ เป็นปัญหาระยะสั้น คือ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เราสามารถจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน ทุกอย่างก็จะหยุด

นางพวงทิพย์ ปรมาพจน์

“ในช่วงนั้นก็มีการช่วยสภาพคล่องไปบ้าง เพราะเราเคยเห็นช่วงปี 2536 เราเคยช่วยไป เช่น บง. เฟิสท์ ซิตี้ อินเวนเม้นท์ และ บงล. ไอทีเอฟ เสร็จแล้วทุกคนก็กลับสู่สภาพได้ เพราะฉะนั้น ในช่วงกันยายน ปี 2539 ถือเป็นช่วงที่เราเข้าไปช่วย แต่ไม่มากนัก และจำนวนก็ไม่เยอะ”

แต่หลังจากนั้นก็มีกระแสมากขึ้น จนต้นปี 2540 มาเริ่มที่ “เอกธนกิจ” ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น มีการกู้ยืมจากต่างประเทศเยอะ แล้วก็ยังมีข่าวที่จะควบรวมกับธนาคารไทยทนุ เพราะฉะนั้น ความหวั่นไหวเยอะมากขึ้น แล้วก็ระบาดไปทั่ว อีกอย่างหนึ่งในช่วงนั้นเป็นภาวะที่ดอกเบี้ยสูง ผู้ฝากเองก็รู้ว่าเป็นช่วงของการต่อรอง

เพราะฉะนั้นมีการเจรจาต่อรองดอกเบี้ย ดอกเบี้ยนี่ขยับตลอดแล้ว การเคลื่อนไหวของเงินจะออกจากบริษัทเงินทุนเล็กไปหาใหญ่ จากใหญ่ไปเล็กบ้างในบางที บางทีก็กลับไปหาแบงก์พาณิชย์ ขณะเดียวกันในสถาบันการเงินด้วยกันเองในช่วงนั้นก็มีการระมัดระวัง เพราะฉะนั้น จำนวนเงินที่เคยให้กู้กันระหว่างวันมันก็จะหด เพราะเริ่มไม่กล้าและมีข่าวไม่ดีเยอะ การให้กู้ก็จะน้อยลง ส่วนใหญ่ทุกคนก็จะเข้าตลาดอาร์พี(ตลาดรับซื้อคืนพันธบัตร) เพราะถือว่าความปลอดภัยสูงสุด และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตอนนั้นก็ยังถือว่าใช้ได้

ต่อมา เดือนมีนาคมปี 2540 มีประกาศจะปิดไฟแนนซ์ 10 แห่ง กระบวนการตอนนั้นก็ยังมีสถาบันการเงินที่ต้องมาขอกู้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วมาเยอะสุดหลังจากปิด 16 ไฟแนนซ์ หลังจากนั้นก็มาปิดสถาบันการเงินอีก 42 แห่งในช่วงเดือนสิงหาคม รวมปิดไฟแนนซ์ทั้งหมด 56 แห่ง ในช่วงนั้นกองทุนฯ ปล่อยสภาพคล่องประมาณสัก 200,000 ล้านบาท เวลาเราช่วยสภาพคล่องสูงสุดนี่เคยเจอวันหนึ่งประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ช่วงปี 2541 กองทุนฯ เคยมียอดหนี้เงินกู้จากตลาดอาร์พีสูงถึง 900,000 ล้านบาท

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นภาระมากที่สุดคือการปิด 56 ไฟแนนซ์ เพราะหลังจากนั้น ทางการเข้าไปแลกเปลี่ยนตั๋วก็คือเข้าไปช่วยผู้ฝากทั้งหมด ซึ่งเราไม่จ่าย ถ้าดูตั๋วเงินที่เราต้องรับผู้ฝากเกือบทั้งหมดของ 56 ไฟแนนซ์ก็เกือบ 700,000 ล้านบาท

“เงินที่ช่วยเหลือสภาพคล่องยังไม่เท่าไหร่ แต่ว่าที่เยอะก็คือแลกเปลี่ยนตั๋ว เพราะเท่ากับว่าผู้ฝากทั้งหมดได้รับการดูแลทั้งหมด”

หลายคนตั้งคำถามว่า “ช่วยสภาพคล่อง” ของกองทุนคืออะไร เรานิยามกันชัดเจนว่า คือเงินที่ให้เพื่อไปจ่ายคืนผู้ฝากสถานเดียว ไม่ใช่ให้เพื่อไปปล่อยกู้ เพราะฉะนั้น ในช่วงที่เขาจะขอสภาพคล่องจะต้องแจ้งมาว่าวันนี้เขาถูกใครถอนเงินบ้าง ถ้ามีเรื่องปล่อยสินเชื่อเข้ามาเราจะหักออกก่อน

“ปี 2540 เป็นปีที่ลำบากเยอะ เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยในช่วงนั้นทะยานสูงมาก ต้นทุนเฉลี่ยของกองทุนฯ จะอยู่ที่ 21-22% บางวันกู้ตลาดอาร์พีสูงถึง 25%”

การที่กองทุนฯ เข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินในช่วงวิกฤติ “เราไม่ได้เข้าไปเพราะว่ากองทุนฯ ตัดสินใจจะเข้าเอง แต่เป็นการทำตามนโยบายของทางการ”

“การที่กองทุนเข้าไปเราเป็นแค่กลไกที่ไปดำเนินการทำให้กระบวนการในการที่ทางการจะเข้าไปแก้ไขสถาบันการเงินสามารถจะดำเนินการได้”

ปี 2540 กองทุนฯ ใช้เงินอุ้มสถาบันการเงิน 2.5 ล้านล้านบาท

ตัวเลขความเสียหายของกองทุนฯ ที่เข้าไปดูแลแก้ปัญหาสถาบันการเงินช่วงวิกฤติปี 2540 ซึ่งประเมินไว้ที่ 1.4 ล้านล้านบาท หลายคนจะถามว่าตกลงจ่ายเงินไปถึง 1.4 ล้านล้านบาทไหม

“ต้องบอกว่าจริงๆ ไม่ใช่คะ จ่ายไปเยอะกว่านั้น คือ 2.5 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขจริงที่คิดจาก out flow ทั้งหมดที่กองทุนฯ ดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินช่วงวิกฤติตั้งแต่วันแรกจนถึงปี 2545 ที่มีข้อตกลงร่วมกับกระทรวงการคลังเรื่องการชดเชยความเสียหาย”

กองทุนฯ เริ่มนับวันแรกของการใช้เงินเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินช่วงวิกฤติ 2540 ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมปี 2539 เพราะเรื่องแรกที่เข้าช่วยเหลือคือกรณีธนาคารบีบีซี (ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ) ความจริงก่อนหน้านี้ก็มียอดคงค้างจากการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินช่วง 2528 แต่ไม่ทำให้กองทุนฯเสียหายก็เลยเริ่มจาก ธนาคารบีบีซีเป็นหลัก

ต้องบอกแบบนี้ ตอนที่เราจัดทำตัวเลข 1.4 ล้านล้านบาท เราเอาตัวเลขที่เป็นเงินสดที่เป็น out flow ทั้งหมดซึ่งจริงๆไม่ใช่ 1.4 ล้านล้านบาท แต่เป็นประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท เพียงแต่ว่าตอนที่จะคิดว่าเสียหายจริงเท่าไร เราจะคำนึงถึงหลักประกัน หรือสินทรัพย์ที่เราจะต้องได้มา หรือส่วนที่จะติดตามเงินกลับมา เพราะว่าเวลาที่ให้ความช่วยเหลือไปกองทนุฯจะได้สิทธิในการดำเนินการนั้นๆ มาด้วย

ตัวอย่างเช่น กองทุนฯ ไปช่วยผู้ฝากเงิน เราก็รับโอนสิทธิผู้มา แล้วก็ต้องไปเคลมต่อ อย่างตอนนั้นเราจะคาดการณ์เลยว่ากรณีช่วยเหลือ 56 ไฟแนนซ์ กองทนุฯ ใช้เงินไป ประมาณ 700,000 ล้านบาท เราจะคาดการณ์ และคำนวณว่าจะเคลมกลับมาได้เท่าไหร่ ซึ่งตอนนั้นคาดว่าจะได้กลับมาประมาณ 500,000 ล้านบาท

“เรากำลังจะบอกว่าทุกรายการที่เราให้การช่วยเหลือแก่สถาบันการเงิน จะมีการคาดการณ์ต่อไปอีกนิดว่าจะสามารถเคลมกับคืนมาได้เท่าไร เพราะว่าในช่วงนั้นมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 เราต้องไปช่วยสถาบันการเงิน ไปฟื้นฟูฐานะสถาบันการเงิน ก็มีตัวเลขหลายตัวที่เรามีภาระผูกพันต้องทำตามมาตรการที่ประกาศไว้ แต่สิ่งที่กองทุนฯ ไม่ได้คำนึงเลยคือ ดอกเบี้ย”

ดังนั้น จากเงินสดที่กองทุนฯ ช่วยเหลือสถาบันการเงินไปประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท เราคิดคำนวณว่าเราจะตามเก็บได้เงินกลับคืนมาได้ทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น ความเสียหายสุทธิคือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“อย่างไรก็ตาม ในตอนที่กองทุนฯดำเนินการ เราก็ใช้คำว่าความเสียหายทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท”

เพราะฉะนั้น ตัวเลขความเสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท คือตัวเลขที่กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนฯ แต่สุดท้ายกองทุนฯ ขอให้ออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายไม่เต็มวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ในส่วนของพันธบัตรกระทรวงการคลัง ( FIDF3)

พันธบัตรชดเชยความเสี่ยหายให้กองทุนฯ มี 3 ส่วน ส่วนแรก พันธบัตรกระทรวงการคลัง (FIDF1) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ได้มาครบวงเงินพร้อมพรีเมียมเป็นจำนวนเงิน 512,824 ล้านบาท ส่วนที่สอง พันธบัตรกองทุนฯ ออกแต่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 112,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ได้เงินครบ และะชำระไถ่ถอนหมดแล้ว และส่วนที่สาม พันธบัตรกระทรวงการคลัง (FIDF3 ) วงเงิน780,000 ล้านบาท กองทุนฯ ได้มา 690,000 ล้านบาท

ส่วนของ FIDF3 ณ จุดสุดท้ายแล้วเราไม่ได้เบิกต่อ ไม่ได้ขอเต็มวงเงินที่กำหนดไว้ เราหยุดเรื่องการเบิก แต่เรายังมีหนี้ค้างเหลืออยูในงบของกองทุนฯ อีกประมาณ 230,000 กว่าล้านบาท เป็นหนี้ที่ต่อเนื่องกันมา เพราะว่าหลังจากเงินที่กระทรวงการคลังออกพันธบัตรฯ ตามกฎหมายปี 2545 แล้วยังมีภาระบางอย่าง เช่น เราต้องจ่าย lost sharing ให้กับแบงก์ไทย (ธนาคารซีไอเอ็มบี ในปัจจุบัน) และมีบางแห่งที่กระทรวงสั่งปิดหลังจากปี 2545 อีก ซึ่งในส่วนหลังนี้ไม่ได้วางบิลเลย คือไม่ได้ขอชดเชยความเสียหายจากกระทรวงการคลังเหมือนช่วงแรก

“จริงๆ ที่ขอชดเชยกับกระทรวงการคลังช่วงนั้นเมื่อได้เงินมาเราก็เอาไปลดหนี้ เป็นการลดภาระต้นทุนของทางการมากกว่า ตอนนี้แม้กองทุนฯ จะมีหนี้เหลืออยู่ประมาณ 230,000 ล้านบาท แต่กองทนุฯมีทรัพย์สินเหลือประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท เราสามารถที่จะหารายได้สินทรัพย์พวกนี้ได้ เพราะฉะนั้ค่อนข้างที่จะคอนเฟิร์มชัดเจนว่าไม่ขอให้กระทรวงคลังออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายให้อีกแล้ว”

สำรองเงิน 2 ปี จ่ายดอกเบี้ยหนี้กองทุนฯ 1.1 ล้านล้าน

สำหรับหนี้พันธบัตรกระทรวงการคลังที่ออกชดเชยความเสียหายกองทุนฯ วงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งโอนมาให้กองทุนฯ บริหารจัดการ เราพยายามดูแล้วจะก็ไม่เกิดปัญหาชำระดอกเบี้ยไม่ได้ โดยกันสำรองเผื่อไว้ 2 ปี ถ้าเกิดสถานการณ์ไม่แน่นอน ก็จะยังมีเงินจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้ปีหนึ่งมีภาระจ่ายดอกเบี้ยประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท

“จะปล่อยให้เกิดปัญหาไม่ได้ เราบอกเลยค่ะว่า ตัวเงินที่ได้มาต้องเพียงพอชำระดอกเบี้ยเป็นอันดับแรก ตัวหนี้เงินต้นยังยืดระยะเวลา “roll over” ได้”

ตอนนี้กองทุนฯ เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ เพราะฉะนั้น ถ้ากู้เราต้องมีแผนการกู้ยืมเงิน เมื่อกู้แล้วต้องดูวัตถุประสงค์ด้วยว่ากู้เพื่อไปทำอะไร ถ้าเพื่อไปจ่ายดอกเบี้ย คงไม่ได้เสีย “governance” หมด เพียงแต่ถ้าจะเกิดกรณีที่ไม่คาดคิดก็น่าจะมีกรณีเดียว คือ ทั้งระบบสถาบันการเงินมีประเด็น เพราะว่าตอนนี้เงินก้อนใหญ่ที่กองทุนฯ ได้มาจากเงินนำส่งของสถาบันการเงินปีละกว่า 10,000 ล้านบาท และรายได้จากการเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท เงินปันผลจากบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิิชย์ จำกัด (บสก.) และจากเงินปันผลที่ถือหุ้นในธนาคารกรุงไทย รวมถึงการจัดการสินทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่อีกประมาณ 200,000 ล้านบาท

“คาดว่าจะชำระหนี้หมดภายใน 23 ปี โดยการประมาณการนี้ไม่ได้รวมกำไรจากบัญชีผลประโยชน์ของแบงก์ชาติ แต่เงินนำส่งจากสถาบันการเงินยังต้องอยู่ ถ้าเผื่อว่าเรายังรักษาเงินพวกนี้ คือถ้ามีเงินสดเข้ามาที่กองทุนฯ ประมาณปีละ 2 หมื่นล้านบาท เป้าหมาย 23 ปีน่าจะทำได้”

หนี้กองทุนฯ ลดลงเหลือเพียง 68 ล้านบาท

แม้กองทุนฯ จะมีภาระในการบริหารหนี้พันธบัตรกระทรวงการคลังที่ชดเชยความเสียหายให้กองทุนฯ วงเงิน 1.1 ล้านบาท แต่ฐานะการเงินของกองทุนฯ ล่าสุดจากที่เคยมีหนี้สินสูงเกือบ 1 ล้านล้านบาท ลดลงเหลือประมาณ 68 ล้านบาท

ปัจจัยที่ทำให้การบริหารจัดการหนี้สินของกองทุนฯ ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจ คือ ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นลูกหนี้ก็มีโอกาสมากขึ้น และหลายรายอย่างที่เราไปเจรจาประนอมหนี้ที่ได้จากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) มากว่า 70,000 ล้านบาท ก็ต้องไปตามหนี้ ไปยึดเขาบ้าง จากการบังคับคดีบ้าง แล้วก็เจรจา ซึ่งบางอย่างที่ทำดีอาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจดี

“ส่วนของ จพท. กองทุนฯ ไปติดตามได้มา ตอนนี้มีประมาณ 70,000 กว่าล้านบาท จากตอนนั้นมูลค่ารวมตามยอดหนี้น่าจะประมาณ 100,000 กว่าล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของ 56 ไฟแนนซ์ แต่ว่าต้องใช้เวลากว่าสิบกว่าปีในการติดตามหนี้”

ส่วนอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะที่ดินซึ่งกองทุนฯ ได้มาตั้งแต่เข้าช่วยแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงช่วงวิกฤติ 2540 ถ้านับเป็นโฉนดซอยเล็กซอยน้อยจะมีประมาณ 800-900 โฉนด ซึ่งขายออกไปเกือบทั้งหมดแล้วได้กำไรโดยรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท ตอนนี้เหลือที่ดินอยู่แห่งเดียวที่สุราษฎร์ธานี มูลค่าไม่มาก ประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น อยู่ระหว่างดำเนินการขายออก

นอกจากนี้ กองทุนฯ ได้เงินจากกองสินทรัพย์ที่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ประมูลขาย ในส่วนที่กองทุนฯ มีสิทธิได้รับเฉลี่ยทรัพย์มาประมาณ 190,000 ล้านบาท

ส่วนหุ้นที่กองทุนฯ เข้าไปถือเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงิน ซึ่งบอกว่าเสียหายประมาณ 160,000 ล้านบาท ขณะนี้ที่ขายไปแล้วได้กำไร คือตัวหลักๆ ที่ขาย ก็จะมีธนาคารนครหลวง ธนาคารกรุงไทย และธนาคารนครธนที่ขายให้สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด แล้วก็ขายธนาคารยูโอบี

“พวกนี้ขายแล้วได้กำไร แต่มาโผล่ขาดทุนที่เอ็นพีแอล เกิดจากกระบวนการของการดำเนินการ”

คือ ในช่วงที่วิกฤติตอนนั้น โดยเฉพาะช่วงปี 2541 สิ่งที่เกิดในระบบคือ มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เยอะมาก ถ้าเราขายหุ้นโดยมีเอ็นพีแอลติดอยู่ นอกจากราคาไม่ดีแล้วโอกาสการฟื้นก็ไม่มี เพราะฉะนั้น การแก้ไขในช่วง 2541 คือเราเอาเอ็นพีแอลออก เมื่อขายหุ้นก็เป็นบวก แต่เอ็นพีแอลยังเป็นลบอยู่

“ที่สามารถติดตามหนี้ และบริหารจัดการหนี้ให้ได้เงินกลับคืนมา เศรษฐกิจมีส่วนสำคัญมาก เพราะฉะนั้น ปัจจัยภายนอกช่วยเยอะ ส่วนภายในไม่ต้องทำอะไรเท่าไหร่”

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง รู้จักกองทุนฟื้นฟูฯ จากทรัสต์ “4 เม.ย. 27” ถึงแก้หนี้ 1,14 ล้านล้านบาท ,แกะรอยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 10 ปี ดอกเบี้ยท่วม 6.78 แสนล้านบาท , หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1,14 ล้านล้านบาท วิบากกรรมธปท. ปมร้อนยิ่งแตะยิ่งร้อน