ThaiPublica > คอลัมน์ > กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ

15 กรกฎาคม 2013


หางกระดิกหมา

เริ่มมีข่าวแว่วๆ มาอีกแล้ว สำหรับความพยายามจะรื้อฟื้นจัดตั้ง “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” หรือ Sovereign Wealth Fund (SWF) เพื่อเปิดผนึกให้รัฐเอาเงินสำรองของประเทศไปลงทุนได้

นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะรัฐไทยก็เหมือนคนทั่วไป พอมีเงินเก็บมากๆเข้าก็จะไม่อยากทิ้งเงินไว้กินในธนาคารเฉยๆ เสียแล้ว เป็นต้องเริ่มฮึกเหิมอยากลงทุนที่มันได้ผลตอบแทนมากๆ เพื่อจะรวยให้ไวขึ้น โดยถ้าเป็นคนธรรมดาก็อาจจะถอนเงินฝากไปซื้อหุ้น แต่ในเมื่อเป็นรัฐก็เลยต้องทำโดยการกันเอาเงินสำรองมาตั้งเป็น “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” นี่เอง

ทั้งนี้ เมื่อตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งฯ แล้ว รัฐย่อมจะสามารถใช้เงินนั้นลงทุนต่อไปได้อย่างอิสระแบบเดียวกับกองทุนเอกชน คือจะลงทุนในหรือนอกประเทศก็ได้ และจะลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอะไรก็ได้อีก ตั้งแต่ของเย็นๆ อย่างพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ ไปจนถึงของร้อนลวกมือ อย่างเช่นทอง หุ้น อสังหาริมทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงปรี๊ดอื่นๆก็ยังได้ โดยตามทฤษฎีบอกว่าการเอาเงินสำรองมาลงทุนนี้ไม่เพียงเปิดโอกาสให้รัฐทำกำไรได้มากกว่าการปล่อยให้แบงค์ชาติกอดเงินเอาไว้เฉยๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยระบายไม่ให้เงินสำรองสะสมจนล้นคลังและสร้างปัญหาบาทแข็งเกินไปอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น การที่รัฐลงทุนในสินทรัพย์ในหลายประเภท และหลายประเทศย่อมเป็นการกระจายรายได้ให้มาจากหลายๆ แหล่ง ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มผลกำไรให้กับรัฐได้มากขึ้น

ฟังอย่างนี้แล้ว อาจชวนให้เคลิ้มไปได้ว่าประเทศที่เกินดุลการค้าทั้งหลาย คงต้องมีกองทุนความมั่งคั่งฯ ด้วยกันทั้งนั้น เพราะดูไม่มีข้อเสียที่ตรงไหน ออกจะเป็นเรื่องจำเป็นเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาข้อมูลจาก SWF Institute จะเห็นได้เลยว่า ทั้งๆที่กองทุนความมั่งคั่งฯ มีข้อดีตามทฤษฎีนานาประการอย่างนี้ เอาเข้าจริงแล้ว ทั่วโลกมีกองทุนความมั่งคั่งฯอยู่เพียงยี่สิบกว่าประเทศเท่านั้น เช่นนอร์เวย์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย จีน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น (ทั้งนี้ ไม่นับประเทศที่ “สักแต่ว่ามี” กองทุนฯ แต่เข้าไปดูแล้วมีสินทรัพย์เล็กน้อยไม่ถึงหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อย่างพวกปาปัวนิวกินี กานา กอบอง มองโกเลีย)

อย่างไรก็ตาม ถ้าประเทศไทยจะศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งของเราเองจริง ในพวกยี่สิบกว่าประเทศที่เรานับ ก็ยังไม่ใช่ว่าเราจะเอาตามอย่างได้ทั้งหมด กล่าวคือเราต้องตัดประเทศที่ร่ำรวยมาจากการขายน้ำมัน อย่างเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ ฯลฯ ทิ้งไปอีก เพราะสำหรับประเทศพวกนี้ เขามีความจำเป็น จะไม่ตั้งกองทุนฯก็แทบไม่ได้ เพราะรายได้ของประเทศเกือบจะมาจาก “บุญเก่า” กล่าวคือการขุดทรัพยากรมาขายล้วนๆ ซึ่งรายได้อย่างนี้วันใดวันหนึ่งก็จะต้องหมดลง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องกระจายแหล่งที่มาของรายได้ให้มันหลากหลายยิ่งขึ้นโดยผ่านกองทุนฯ ไม่เหมือนประเทศไทยซึ่งรายได้หลากหลายอยู่แล้ว ทำนาไม่ได้ก็ไปทำไร่ ทำไร่ไม่ได้ก็เข้าโรงงาน โรงงานปิดก็ยังมีโรงแรมให้ไปได้อีก ไม่ค่อยอับจนง่ายๆ

ยิ่งกว่านั้นประเทศค้าน้ำมันเหล่านี้ บางประเทศยังปกครองอยู่ด้วยระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ซึ่งเจ้านครเป็นเจ้าของทรัพยากรทุกอย่าง ดังนั้นความมั่งคั่งของรัฐจึงไม่ใช่ของรัฐจริง แต่เป็นความมั่งคั่งของชีค และในเมื่อเป็นความมั่งคั่งของชีคเสียแล้ว กองทุนฯจะดีไม่ดีก็ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะทำอะไรได้ จีนซึ่งรัฐเป็นเจ้าของหรือควบคุมปัจจัยส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจก็อยู่ในข้อยกเว้นเดียวกันนี้ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยซึ่งความมั่งคั่งยังมาจากภาษีของประชาชนจะคิดอย่างนี้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะได้พากันเจ๊งหรือ “ชีคหาย” กันทั้งประเทศ

แต่ข่าวร้ายที่สุดคือ แม้เราจะอยากเอาตามประเทศที่เหลือ กล่าวคือเอาตามนอร์เวย์ ออสเตรเลีย หรือสิงคโปร์ ก็ไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะประเทศเหล่านี้มีสิ่งที่เราไม่มี 3 ประการ คือ

ประการแรก ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯล้วนแล้วแต่มีความลึกทางการเงิน (Financial Depth) ตลอดจนมีพัฒนาการของตลาดการเงินอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งนี่ทำให้ตลาดการเงินของเขามี “ระบบ” กล่าวคือองคาพยพ กระบวนการ และกลไกต่างๆ อันจำเป็นต่อการบังคับให้กองทุนฯ ดำเนินงานไปได้โดยมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และได้มาตรฐานอยู่อย่างครบถ้วน

ประการที่สอง ประชากรของประเทศข้างต้น ล้วนแล้วแต่มีความรู้ในทางการเงิน (Financial Literacy) ดี ดังนั้นนอกจากกองทุนฯ จะอยู่ภายใต้การตรวจสอบติดตามของ “ระบบ” อย่างที่กล่าวแล้ว กองทุนฯ ยังจะต้องถูกตรวจสอบติดตามโดย “คน” ซึ่งรู้และเข้าใจพฤติกรรมตลอดจนนัยยะต่างๆของกองทุนฯ เป็นอย่างดีอีกด้วย นี่จึงเป็นการจับตาสองชั้นที่ทำให้กองทุนฯห่วยหรือโกงได้ยาก

ประการสุดท้าย คือ ประเทศข้างต้น ล้วนแล้วแต่มีคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันเกิน 7 คะแนนทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเครื่องประกันว่านอกจากจะมีระบบดี คนดีแล้ว ประเทศเหล่านี้ยังไม่ค่อยมีคอร์รัปชันเข้ามาแทรกแซงทำให้ระบบหรือคนรวนเรไป กลไกต่างๆ จึงดำเนินไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ในทางตรงกันข้าม หากประเทศเราดันทุรังจะตั้งกองทุนฯ โดยปราศจากปัจจัย 3 ประการดังที่กล่าวมานี้ ก็รับรองได้ว่าเมื่อตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาแล้ว เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ากองทุนฯเอาเงินสำรองของประเทศไปลงทุนที่ไหน ด้วยเหตุผลอะไร มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และได้ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ ซ้ำร้าย ในเมื่อกระเป๋าของกองทุนฯนั้นลึกและไร้คนตรวจสอบ กองทุนฯ จึงอาจลงทุนส่งเดชได้ทีละมากและนาน จะซื้อแพงขายถูกอย่างไรคนก็ไม่มีวันรู้ รู้ก็อ้างว่าเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนได้อีก

ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเหมาะสำหรับคอร์รัปชันให้สะใจได้เท่ากับกองทุนฯ หน้าตาอย่างนี้อีกแล้ว

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์”โกงกินสิ้นชาติ” โดยหางกระดิกหมา น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2556

อ่านเพิ่มเติม ซีรีส์กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ