ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สแกนพาสปอร์ต กมธ. (5) : จ้างบริษัทผีจัดทัวร์หรู -ไม่ส่งผลดูงาน นักวิชาการชี้ใช้เงินภาษีเหมือนเป็นสวัสดิการส่วนตัว

สแกนพาสปอร์ต กมธ. (5) : จ้างบริษัทผีจัดทัวร์หรู -ไม่ส่งผลดูงาน นักวิชาการชี้ใช้เงินภาษีเหมือนเป็นสวัสดิการส่วนตัว

14 กรกฎาคม 2013


“จองล้าง จ้องผลาญ” เป็นฉายาสภาผู้แทนราษฎรประจำปี 2555 ที่สื่อมวลชนรัฐสภาตั้งให้ตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ

“จองล้าง จ้องผลาญ” จึงเป็นการสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์ในปี 2555 ที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ได้ถูกจารึกไว้ว่า นอกจากผู้แทนของปวงชนชาวไทยจะใช้ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ “ห้ำหั่น” กันทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนแล้ว

ยังมีปมปัญหาในเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะการเดินทางศึกษาดูงานในต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะ

เงินงบประมาณที่ใช้ในการดูงานของ กมธ. นั้น มาจากการจัดสรรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 175 ล้านบาท หรือคณะละ 5 ล้านบาท ซึ่งในการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร กมธ. จะใช้ห้วงเวลานี้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาดูงาน หรือเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง

สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอซีรี่ส์ “สแกนพาสปอร์ตกมธ.”มาเป็นระยะๆ เพื่อตรวจการใช้งบประมาณว่าแท้จริงแล้วการเดินทางไปต่างประเทศของ กมธ. นั้นเป็นไปเพื่อ “ดูงาน” หรือเพื่อ “การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ” มากกว่ากัน

ยังไม่นับรวมเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ดังมาเป็นระยะๆ ว่า กมธ. มักจะพา “คนนอก” อย่าง ภรรยา ลูก หรือหัวคะแนน ติดตามไปในทริปด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการผ่อนปรนข้อกำหนดที่มีขึ้นในสมัยของนายชัย ชิดชอบ ซึ่งเปรียบเสมือน “กฎเหล็ก” ของ กมธ. ในการดูงานต่างประเทศลง

ทำให้ กมธ. ในสมัยที่มีนายสมศักดิ์ เป็นประมุขนั้น มีความเป็น “อิสระ” และความ “สะดวก” ในการเสนอโครงการเดินทางไปดูงานต่างประเทศมากขึ้น

แม้จะดูว่าเป็นงบประมาณจำนวนไม่มากหากถูกแบ่งไปตาม กมธ. แต่ละคณะ แต่นั่นก็เป็นเงินของประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีต้องควักกระเป๋าเพื่อนำไปเป็น “ต้นทุน” ในการดูงาน หากไม่ใช่เพื่อการดูงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังนั้นแล้ว…ความจำเป็นการในดูงานของ กมธ. ยังคงมีอยู่หรือไม่?

กมธ.อุตสาหกรรมทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
กมธ.อุตสาหกรรมทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

กมธ. 26 คณะ เมิน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

แม้การดูงานในต่างประเทศของ กมธ. จะเป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป

แต่ทว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณนั้นไม่มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสแต่อย่างใด รวมไปถึงการสอบถามกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสภาผู้แทนราษฎร ที่ต่างปฎิเสธการให้ข้อมูลโดยสิ้นเชิง

สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงใช้ “พ.ร.บ.ช้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540” ขอข้อมูลดังกล่าว ผ่านศูนย์ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ สำนักเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ กมธ. ทั้ง 35 คณะ ในช่วงการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัติ 2555 ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 และมี กมธ. จำนวนเพียง 9 คณะ เท่านั้น ที่ให้ความร่วมมือและส่งข้อมูลตามคำร้องขอ คือ

1. กมธ.การคมนาคม ไปประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมัน ระหว่างวันที่ 18-27 มิถุนายน 2555
2. กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ไปประเทศจีน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–4 กรกฎาคม 2555
3. กมธ.อุตสาหกรรม ไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน–7 กรกฎาคม
4. กมธ.การติดตามการบริหารงบประมาณ ด้านกระบวนการจัดทำการบริหารงบประมาณ ที่ประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี ระหว่างวันที่ 4-13 กรกฎาคม
5. กมธ.ส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม ไปประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน
6. กมธ.การสวัสดิการสังคม เรื่องการศึกษาดูงานสวัสดิการสังคม และเจรจาธุรกิจเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี ระหว่างวันที่ 3-10 กรกฎาคม ที่ประเทศออสเตรีย เช็ก สโลวัก และฮังการี
7. กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปประเทศบราซิล อาร์เจนตินา ระหว่างวันที่ 6-16 กรกฎาคม
8. กมธ.การศึกษา ไปประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม
9. กมธ.การสาธารณสุข ไปประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 17-24 กรกฎาคม

กิน-อยู่ หรู ราคาต่อหัวแพงกว่าราคาตลาดเท่าตัว

แม้ว่าจะมี กมธ. 9 คณะ ที่ส่งข้อมูลให้ตาม พ.ร.บ.ข่าวสารฯ แต่ทว่ามี กมธ. เพียง 3 คณะ เท่านั้นที่เปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณในการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งก็คือ

1.กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางไปประเทศบราซิล และสาธารณรัฐอาร์เจนตินา จำนวน 11 วัน มีผู้ร่วมเดินทาง 12 คน ใช้งบประมาณ 3,856,150 บาท หรือเฉลี่ยรายละ 321,345 บาท โดยได้ว่าจ้างบริษัท นิรมิต ฮอลิเดย์ และธุรกิจท่องเที่ยว จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดทัวร์

2.กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ เดินทางไปประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี จำนวน 10 วัน มีผู้ร่วมเดินทาง 14 คน ใช้งบประมาณ 3,006,533 บาท หรือเฉลี่ยรายละ 214,752 บาท โดยว่าจ้างให้บริษัท ฮีตัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดทัวร์

3.กมธ.การอุตสาหกรรม เดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส จำนวน 9 วัน มีผู้ร่วมเดินทาง 18 คน ใช้งบประมาณจำนวน 3,435,100 บาท หรือเฉลี่ยรายละ 190,838 บาท โดยไม่ได้ระบุผู้รับว่าจ้างให้ดำเนินการจัดทัวร์

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบราคาทัวร์ของบริษัทเอกชนรายอื่น ที่ให้บริการนำเที่ยวในกลุ่มประเทศที่ กมธ. เดินทางไปนั้น พบว่ามีราคาที่ต่ำกว่ามาก อาทิ บริษัท บีบี ทัวร์ อินเตอร์ ทราเวล เสนอขายแพคเกจการไปบราซิลและอาร์เจนตินา จำนวน 13 วัน 11 คืน ที่ราคา 269,000 บาท

ในขณะที่ กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าจ้างในราคาคนละ 321,345 บาท หรือเป็นส่วนต่างถึง 52,345 บาทต่อคน เมื่อคิดทั้งค่าใช้จ่ายทั้งหมดพบว่า อัตราการจ้างบริษัททัวร์ของ กมธ. มีราคาที่สูงกว่าบริษัททัวร์เอกชนรายอื่นถึง 628,140 บาท

ขณะที่ทัวร์ประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี ส่วนใหญ่บริษัททัวร์เอกชนจะจัดประมาณ 8 วัน ราคาเริ่มต้นที่ 59,900 บาทต่อคน ขณะที่ กมธ. ติดตามการบริหารงบประมาณว่าจ้างบริษัททัวร์ในราคาคนละ 214,752 บาทต่อการเดินทาง 10 วัน ซึ่งมีส่วนต่างของราคาบริษัททัวร์ทั่วไปและราคาที่ กมธ. ว่าจ้างเป็นจำนวนมาก

ส่วนประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส จำนวน 9 วัน ของบริษัท ทัวร์เอ็กซ์เพรส เซ็นเตอร์ จำกัด มีราคาตั้งแต่ 72,900-94,900 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการเดินทาง ส่วน กมธ.อุตสาหกรรม ว่าจ้างบริษัททัวร์ด้วยงบประมาณคนละ 190,838 บาท ส่วนต่างของอัตราทัวร์อยู่ที่ 95,938-117,938 บาท เมื่อรวมทั้งคณะ เกิดส่วนต่างที่มากสุดถึง 2,122,884 บาท

ทั้งนี้ ราคาการจัดทัวร์ของแต่ละบริษัทขึ้นอยู่กับประเภทของสายการบิน ระดับชั้นที่นั่ง โรงแรม และอาหารที่เลี้ยงรับรอง ซึ่งโรงแรมที่พักของ กมธ. ส่วนใหญ่จะเป็นเครือโรงแรมชั้นนำของโลกในระดับ 5 ดาว

กมธ.สวัสดิการสังคม รับประทานอาหารร่วมกัน
กมธ.สวัสดิการสังคม รับประทานอาหารร่วมกัน

บริษัทผี โผล่รับงาน กมธ.

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวได้ทำการสืบค้นในเชิงลึกเกี่ยวกับที่มาของบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจาก กมธ. ให้ดำเนินการจัดทัวร์เพื่อพา กมธ. เดินทางไปดูงานยังต่างประเทศที่มีเพียง กมธ. 2 คณะ ที่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลการว่าจ้าง ซึ่งก็คือ กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ว่าจ้างบริษัท นิรมิต ฮอลิเดย์ และธุรกิจท่องเที่ยว จำกัด และ กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ ที่ว่าจ้างบริษัท ฮีตัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดทัวร์

ตามฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ฮีตัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณว่าจ้างให้พาไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี จำนวน 10 วัน วงเงินงบประมาณ 3,006,533 บาท นั้น เป็นบริษัทที่ได้เลิกกิจการไปแล้วในวันที่ 27 ธันวาคม 2550 และเสร็จการชำระบัญชีในวันที่ 3 มีนาคม 2551 แต่ปรากฎว่าบริษัทฮีตัน ฯ ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลได้มารับจ้าง กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณพาไปศึกษาดูงานในวันที่ 4-13 กรกฎาคม 2555 หลังจากการเลิกกิจการไปแล้วเกือบ 5 ปี

ทั้งนี้ บริษัทฮีตันฯ ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 เพื่อให้บริการทัวร์ โดยมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีกรรมการ 3 คน ประกอบไปด้วย 1. นายธงชัย แก้วทิพรัตน์ เป็นกรรมการบริษัทผู้ซึ่งมีอำนาจทำการ 2. น.ส.พวงทิพย์ แก้วทิพรัตน์ และ 3. นายสืบวงศ์ แก้วทิพรัตน์ โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ 90/399 อาคารบัวสุวรรณพลาซ่า ซอยวิภาวดี 20 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขต จตุจักร กรุงเทพฯ

โดยจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทฮีตันฯ ไม่ได้เช่าพื้นที่ในอาคารบัวสุรรณพลาซ่า ซึ่งเป็นที่อยู่ตามที่ได้แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของอาคารรายหนึ่ง ที่ระบุว่าตั้งแต่เข้าทำงานมา 3 ปี ไม่เคยเห็นบริษัทดังกล่าวในอาคารบัวสุวรรณพลาซ่าแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปยังเบอร์โทรที่บริษัทฮีตันฯ ได้แจ้งไว้ และพบว่าปัจจุบันเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวเป็นของผู้เช่าสัญญาณรายอื่นไปแล้ว

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากรรมการบริษัทฮีตันฯ ทั้ง 3 คน ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมการในบริษัทอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกันอีก 5 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัทพระ-นาง จำกัด 2. บริษัท ดรีม โปรเจ็ค จำกัด 3. บริษัท ทเว็นตี้โฟร์ แอนด์ เธอตี้วัน ออนสเตจ จำกัด 4. บริษัท แอด อเวนิว จำกัด และ 5. บริษัท ฮีตัน ทราเวล จำกัด

ในจำนวนนี้มีเพียง 3 บริษัท ที่ยังคงเปิดดำเนินกิจการอยู่ คือ บริษัทพระ-นาง จำกัด (ประกอบกิจการโฆษณา) บริษัท แอด อเวนิว จำกัด (รับทำโฆษณาและจัดแฟชั่นโชว์) และบริษัท ฮีตัน ทราเวล จำกัด (บริการจัดกรุ๊ปทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ นายหน้าขายตั๋วเดินทางทั้งในและต่างประเทศ) ส่วนอีก 2 บริษัท ได้เลิกกิจการไปแล้ว

ทั้งนี้ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2552 ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ การจ้าง และการจ้างที่ปรึกษา ของหน่วยงานราชการนั้น ได้ระบุว่า การจ้างเป็นการจ้างจากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ดังนั้น การที่บริษัทฮีตันฯ ไม่มีตัวตน คือไม่ได้มีสถานะเป็นสภาพนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา จะถือว่าขาดคุณสมบัติการรับงานจากหน่วยงานของรัฐหรือไม่

รายงานข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า เงินงบประมาณที่ กมธ. นำไปใช้ในการดูงานต่างประเทศนั้น เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งการเบิกจ่ายจะต้องใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุเป็น กรอบในการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ ซึ่งตามระเบียบชัดเจนว่าผู้ที่จะมารับงานของหน่วยงานรัฐจะต้องเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลอย่างชัดเจน เพราะการเบิกจ่ายจะเกี่ยวโยงกับการแจ้งภาษีด้วย นอกจากนี้ ตามปกติแล้วการจัดซื้อจัดจ้างถ้าเกิน 2 ล้านบาท จะต้องใช้วิธีการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า ตามปกติแล้วผู้ให้งานจะต้องตรวจสอบประวัติของบริษัทผู้มารับจ้าง อย่างน้อยในการว่าจ้างแต่ละครั้งจะต้องดูที่มาที่ไป ทุนจดทะเบียน ของบริษัทผู้รับจ้างว่าจะมีความสามารถในการดำเนินการได้หรือไม่ผ่านใบบริคณห์สนธิ ซึ่งในกรณีนี้หากบริษัทฮีตันฯ ไม่มีตัวตนอยู่จริงในระหว่างที่มารับงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นจะมีความผิด ซึ่งจะต้องไปดูงานบุคคลใดเป็นผู้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างว่าเป็นบุคคลใด

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในส่วนของ สตง. ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องนี้ และหากพิสูจน์ว่ามีเจตนาในการทุจริตจริง สตง. จะต้องส่งเรื่องไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้ดำเนินการต่อไป แต่ในขณะนี้ สตง. มีเรื่องการตรวจสอบที่ค้างอยู่ในการดำเนินการกว่า 50,000 รายการ ดังนั้น หากไม่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาโดยตรง สตง. คงจะไม่เข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้

กมธ.สวัสดิการสังคม พบชาวไทยที่ร้านอาหารไทย กรุงบูดาเปส สาธารณรัฐฮังการี
กมธ.สวัสดิการสังคม พบชาวไทยที่ร้านอาหารไทย กรุงบูดาเปส สาธารณรัฐฮังการี

แกะรอยเส้นทางทัวร์ ดูงานหรือท่องเที่ยว

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 135 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 86 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ. สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพื่อกระทำกิจการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาแล้วรายงานต่อสภานั้น

การเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของ กมธ. ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องนำผลการศึกษาดูงานมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของคณะ กมธ. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมไปถึงการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยต่อไป

แต่ภายใต้หลักการและเหตุผลที่สวยหรูในโครงการที่ กมธ. ได้เสนอเพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติโครงการศึกษาดูงานและงบประมาณนั้น ในทางปฏิบัติสามารถทำได้จริงหรือไม่?

นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในการเดินทางแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ กำหนดการเดินทางของ กมธ. แต่ละคณะ ว่าได้เดินทางไปดูงานในหน่วยงานที่ใดบ้าง

เนื่องจากกำหนดการดังกล่าวจะเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า กมธ. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนใช้งบประมาณเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ หรือเป็นไปเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในห้วงปิดสมัยประชุม

สำหรับกำหนดการดูงานของ กมธ. จำนวน 9 คณะ นอกจากจะศึกษาดูงานกับหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับภาระกิจของ กมธ. แต่ละคณะแล้ว ยังมีการไปทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองนั้นๆ ตามโปรแกรมที่ผู้จัดต้องการโดยมีบริษัททัวร์ดำเนินการให้

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวนั้น จะระบุในกำหนดการว่าเป็นการดูงานแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม หรือศึกษาดูงานระบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายสินค้าในเมืองต่างๆ ทั้งนี้การดูงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. ทั้ง 9 คณะ อยู่ระหว่าง 1-5 แห่งต่อทริป อาทิ

1.กมธ.การคมนาคม ดูงานระหว่างวันที่ 18-27 มิถุนายน 2555 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมัน โดยดูงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. จำนวน 5 แห่ง คือ การบริหารจัดการท่าเรือ Port of Rotterdam, การเยี่ยมชมระบบป้องกันน้ำท่วม ที่ Maeslant storm surge barrier Rotterdam, เยี่ยมชมการจัดการระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ICE, ศึกษาดูงานการบริหารจัดการระบบขนส่งทางน้ำ ท่าเรือ Boppard, เยี่ยมชมการจัดการระบบขนส่งมวลชนระบบไฟฟ้าเมืองแฟรงก์เฟิร์ต

2.กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ดูงานที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–4 กรกฎาคม 2555 ได้ดูงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. จำนวน 5 แห่ง คือ เยี่ยมชมตลาดค้าส่งผลิตผลทางการเกษตรของเซี่ยงไฮ้, เยี่ยมชมเขื่อนซานเสียต้าป้า, เยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ปลา, เยี่ยมชมตลาดขายส่งผลไม้ของนครกวางเจา, เยี่ยมสถานกงสุลไทย ณ นครกวางเจา

3.กมธ.การศึกษา ดูงานที่ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม โดยดูงานตามภารกิจของ กมธ. จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทย ประจำฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษา, ศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิค และพบผู้แทนนักศึกษาไทย, เยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหราชอาณาจักร เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการศึกษา, เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด, ศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และพบผู้แทนนักศึกษาไทย, เยี่ยมชมโรงเรียนอีตัน

4.กมธ.อุตสาหกรรม ดูงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน–7 กรกฎาคม ใช้งบประมาณจำนวน 3,435,100 บาท โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า กมธ. ชุดดังกล่าว นอกจากศึกษาทัศนียภาพเมืองต่างๆ แล้ว พบว่าได้ไปดูงานเพียง 1 แห่ง คือ การผลิตน้ำหอมของบริษัท FRAGONARD PARFUMEUR ที่กรุงปารีส ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลา 9.00-12.00 น. หรือใช้ระยะเวลาในการดูงานเพียง 3 ชั่วโมง เท่านั้น

กมธ.อุตสาหกรรม ดูงานที่สมาพันธรัฐสวิส และ สาธารณรัฐฝรั่งเศส
กมธ.อุตสาหกรรม ดูงานที่สมาพันธรัฐสวิส และ สาธารณรัฐฝรั่งเศส

รอง ปธ.สภาเบิกจ่ายงบอย่างเข้มงวด

นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งยกเว้นหลักเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นในสมัยของนายชัยว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องการสนับสนุนส่งเสริมการดูงานในต่างประเทศ ซึ่งในภายหลังมองว่าคนเป็นประธานสภาไม่ควรที่จะไปคิดแทน กมธ. ซึ่งจะกลายเป็นอำมาตย์ที่แท้จริง ดังนั้นจึงให้สิทธิกับ กมธ. ในการคัดเลือกประเทศที่จะเดินทางไปดูงานอย่างเต็มที่ภายใต้งบประมาณที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดสรรให้ ซึ่งระเบียบของสภาผู้แทนราษฎรมีความเข้มงวดมากอยู่แล้ว และเชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่มีความเข้มงวดในการเบิกจ่ายงบประมาณมากที่สุดด้วยซ้ำ

นายเจริญกล่าวว่า ส่วนการทำสัญญากับบริษัททัวร์นั้นจะต้องทำอย่างถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่แล้วบริษัททัวร์จะสำรองเงินจ่ายไปก่อนและมาทำเรื่องเบิกในภายหลัง ทั้งนี้ ประโยชน์ในการดูงานต่างประเทศนั้นได้อย่างมหาศาลมาก ซึ่งสามารถเชื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศได้ทั้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การค้า เมื่อไปดูงานกลับมาได้มีการเสนอปัญหาและช่องทางต่างๆ ไปยังฝ่ายบริหาร เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการไปเจรจานำไปสู่การซื้อขายต่างๆ การเปิดสถานทูต การใช้แรงงาน การบริการการแพทย์ต่างๆ ซึ่งใน 1 ปี มีรายได้เข้าประเทศไทยจำนวนมาก

“ผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้มากมายมหาศาล แต่คนไปมองว่า กมธ. ไปเที่ยว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นการไปศึกษาเศรษฐกิจ สังคม หรือการบริหารประเทศต่างๆ ซึ่งถ้า ส.ส. ไม่มีความรู้เหล่านี้จะมีความรู้ในการพิจารณากฎหมายได้อย่างไร” นายเจริญกล่าว

ด้านนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ในฐานะประธาน กมธ.กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา กล่าวว่า กมธ. ควรที่จะศึกษาดูงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. ชุดนั้นๆ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญเพราะหาก กมธ. ไปดูงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับ กมธ. เลย ก็จะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่สูญเสียไป ดังนั้น การเดินทางของ กมธ. ควรที่จะคำนึงถึงความคุ้มค่าให้มากที่สุด อย่างน้อยเมื่อกลับมาควรที่จะมีรายงานผลการดูงานเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ซึ่งจะถือเป็นประโยชน์ และในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทเอกชนในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางนั้น ควรที่จะมีการสอบราคา 2-3 บริษัท เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมที่สุด

“การใช้งบประมาณของ กมธ. จะต้องคิดว่าเราเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่ายังไม่มีกระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณภายในอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของดุลยพินิจของประธาน กมธ. ในแต่ละคณะ ดังนั้น เห็นว่าประธาน กมธ. แต่ละคณะควรที่จะมาประชุมหารือกัน เพื่อตั้งเป้าหมายในการดูงาน หรือวางกฎ กติกา ให้มากกว่านี้ เพื่อไม่ให้มีข้อครหาเกิดขึ้น” นายจิตติพจน์กล่าว

นักวิชาการซัด ใช้ภาษีเหมือนเป็นสวัสดิการส่วนตัว

นายจรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายจรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายจรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า รัฐสภาในประเทศอื่นๆ ที่เจริญมากกว่า ไม่ใช้เงินงบประมาณไปดูงานต่างประเทศจำนวนมากขนาดนี้ แต่รัฐสภาต่างประเทศได้ทุ่มเงินงบประมาณไปกับการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาและยกร่างกฎหมาย ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล รวมทั้งใช้จ่ายไปในเรื่องการประมวลรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินการคลัง การตรวจสอบต้นทุนการจัดบริการสาธารณะ และตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหาร เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนอย่างจริงจัง ในขณะที่รัฐสภาไทยเราแทบจะไม่ได้ใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด

นายจรัสกล่าวว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐสภาไทยจะไม่ประสบผลสำเร็จในการทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และกฎหมายของไทยล้าหลัง การพิจารณาร่างกฎหมายล่าช้า มีร่างกฎหมายค้างสภาจำนวนมากมาย และต้องตกไปเมื่อหมดวาระของรัฐสภาเสมอมา นอกจากนี้ การตรวจสอบรัฐบาลก็ไม่ได้ทำจริงจัง ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ก็ไม่มี ข้อมูลที่นำมาใช้ในการตรวจสอบรัฐบาลก็ไม่เป็นกลาง เชื่อถือไม่ได้ แต่รัฐสภาก็ไม่ได้ปรับปรุงการทำหน้าที่หลักของตนเองให้ดีขึ้นอย่างจริงจังแต่อย่างใด

“จากข้อมูล กมธ. เหล่านี้ไปดูงานด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว แต่แทบจะไม่มีการไปดูงานด้านการพัฒนากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย หรือการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันให้เห็น ซึ่งถ้าเป็นเช่นว่านี้จริง ก็น่าจะสรุปการไปดูงานของบรรดา กมธ. ทั้งหลายเช่นว่านี้ว่าไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐสภาหรือของ ส.ส. และ ส.ว. แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ผ่านสถานทูต สำนักทูตด้านการค้า การลงทุน การเกษตร การทหาร ซึ่งมีความรู้ความชำนาญมากว่าท่าน ส.ส. ทั้งหลายที่ไปดูงานแบบฉาบฉวยเท่านั้น ดังนั้น ถ้ารัฐสภาอยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับประเทศไหน ลึกซึ้งแค่ไหน ก็สามารถขอให้ฝ่ายบริหารและกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องเขามาชี้แจง หรือให้ทำรายงานมาให้ดูก็ย่อมได้” นายจรัสกล่าว

นายจรัสกล่าวว่า จากคำชี้แจงของบรรดาผู้รับผิดชอบของรัฐสภาชวนให้เข้าใจได้ว่า การให้ กมธ. ไปดูงานต่างประเทศที่ทำกันมาตลอดนั้น เป็นการให้รางวัลบรรดา ส.ส. และ ส.ว. รวมทั้งสมัครพรรคที่เป็น กมธ. และพวกผู้ติดตามทั้งหลาย ได้ไปเปิดหูเปิดตาโดยใช้เงินภาษีของประชาชน เสมือนเป็นสวัสดิการของคนเหล่านี้

“ประเทศไทยเราไม่ได้ร่ำรวยเหลือเฟือขนาดเอาเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายฟุ่มเฟือยแบบนั้น ถ้าประเทศไทยเรารวยจริง รัฐบาลก็คงไม่ต้องไปกู้เงินปีละเป็นแสนๆ ล้านบาท และยังจะกู้อีกเป็นล้านล้านบาทในขณะนี้ เราคนไทยอยากให้รัฐสภาไทยทำหน้าที่และใช้จ่ายเงินภาษีของเราให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อประโยชน์และความสุขสบายของบรรดา ส.ส., ส.ว. และ กมธ.” นายจรัสกล่าว

นายจรัสยังระบุถึงกรณี กมธ. จำนวน 26 คณะ ที่ไม่มอบข้อมูลการดูงานตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการว่า เป็นเรื่องที่แปลกอย่างยิ่งสำหรับประเทศประชาธิปไตย ที่สถาบันรัฐสภาไม่ยอมเปิดเผยเรื่องการไปดูงานต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องลับหรือเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ถ้าสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบรัฐสภา ส.ส. ส.ว. ได้ ก็จะไม่มีใครตรวจสอบได้ เพราะ ส.ส. ส.ว. ไม่ตรวจสอบกันเอง ยิ่งเมื่อทราบว่าประธานรัฐสภาคนปัจจุบันได้ยกเลิกมาตรการควบคุมตรวจสอบที่มีอยู่แต่เดิม ปล่อยให้ กมธ. ดำเนินการในเรื่องนี้โดยอิสระ หรือเป็นรัฐสภาประชานิยมไปเรียบร้อยแล้ว ก็ยิ่งหมดหวัง

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ด้วยวิธีการและระเบียบในการเบิกจ่ายที่เป็นไปอย่างอิสระ ปราศจากการตรวจสอบที่เข้มแข็งของหน่วยงานที่กำกับดูแล ทำให้การใช้งบประมาณของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 175 ล้านบาทต่อปี เพื่อการศึกษาดูงานของ กมธ. สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ หากใช้ผลการศึกษาดูงานเป็นตัวประเมินความสำเร็จในเรื่องการนำองค์ความรู้จากการดูงานมาพัฒนาประเทศนั้นยังถือว่าไม่เกิดผลตามที่ควรจะเป็น จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าการดูงานในต่างประเทศของ กมธ. ด้วยงบประมาณ 175 ล้านบาท ยังมีควรจะมีอยู่อีกหรือไม่