ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. ประเมินเศรษฐกิจชะลอ คงดอกเบี้ย 2.5% ไม่จำเป็นต้องใช้ยาโดป

กนง. ประเมินเศรษฐกิจชะลอ คงดอกเบี้ย 2.5% ไม่จำเป็นต้องใช้ยาโดป

10 กรกฎาคม 2013


นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน

กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ย 2.5% หลังประเมินเศรษฐกิจโลกแย่ลงกว่าที่คาดไว้ครั้งก่อน และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงทั้งปีโตต่ำกว่า 5% แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาโดป ขณะที่ “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาไร้น้ำยา ต้องทบทวนหาทางปรับปรุงก่อนออกมาตรการเพิ่มเติม

กนง. คงดอกเบี้ย ดูแลอุปสงค์ในประเทศ

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9-10 ก.ค. 2556 เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาดคือ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี

เนื่องจากประเมินว่า อุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพักฐานหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้าจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ จึงน่าจะกลับมาขยายตัวได้ระดับปกติในระยะต่อไป เพราะปัจจัยพื้นฐานในประเทศ เช่น การจ้างงาน และรายได้ของประชาชนยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ประกอบกับนโยบายการเงินการคลังที่ยังผ่อนคลาย สะท้อนจากการขยายตัวของสินเชื่อและการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

ดังนั้น แม้เมื่อประเมินแล้วเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะขยายตัวต่ำกว่าการประเมินครั้งก่อนเนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชีย และเศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงทั้งจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและนโยบายกระตุ้นของภาครัฐที่ทยอยหมดลง รวมถึงการส่งออกชะลอลงจากทั้งปัญหาด้านอุปทานภายในประเทศและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้การลงทุนเอกชนบางส่วนล่าช้าออกไป

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อต่ำลงจากอุปสงค์ในประเทศและต้นทุนการผลิตที่ลดลง แต่ กนง. ไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพราะคาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะทยอยปรับฐานสู่ระดับปกติในไตรมาส 3 และ 4 รวมถึงการส่งออกที่น่าจะปรับตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้งปีนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอ็ฟ) ประมาณการล่าสุดขยายตัวเพียง 3.1% แต่ปีหน้าจะขยายตัวสูงขึ้น

ธปท. เล็งปรับลดประมาณการจีดีพี-ส่งออก

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ในการประชุม กนง. ครั้งนี้ มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งคาดว่าจะขายตัวต่ำกว่า 5% และการส่งออกปรับให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

ทั้งนี้ ในรายงานนโยบายการเงิน เดือน เม.ย. 2556 ธปท. ประมาณการจีดีพีขยายตัว 5.1% และมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 7.5%

โดยการประมาณการเศรษฐกิจได้นำผลกระทบจากการชะลอลงทุนของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ที่ล่าช้าเข้าไปพิจารณาแล้ว ซึ่ง ธปท. จะประกาศรายละเอียดการปรับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในรายงานนโยบายการเงิน เดือน ก.ค. 2556 ในวันที่ 19 ก.ค. นี้

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการลงทุนภาครัฐบางโครงการอาจล่าช้า เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ แต่ กนง. ไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทดแทนการลงทุนภาครัฐที่ชะลอ เนื่องจาก กนง. มองเห็นการชะลอตัวของเศรฐกิจลงตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้ว

นายไพบูลย์กล่าวว่า นั่นคือเหตุผลที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้วครั้งหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ อัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบัน 2.5% ถือเป็นระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว และเป็นระดับที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ค่อยข้างดี จึงถือว่า กนง. ได้ดำเนินโยบายผ่อนคลายและกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง และคิดว่าระดับนี้ ด้วยข้อมูลขณะนี้ ถือว่าระดับนี้เป็นระดับที่เหมาะสม

“เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ แม้ไม่สูงถึง 5%” นายไพบูลย์กล่าว

เศรษฐกิจไทยไม่ต้องการยาโดประยะสั้น

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอาจออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดก่อน ซึ่งในที่ประชุม กนง. ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจระยะข้างหน้า ซึ่งเห็นตรงกันว่า จะมองแต่ด้านอุปสงค์หรือดีมานด์อย่างเดียวไม่ได้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าที่สำคัญต้องดูแลเรื่องอุปทาน หรือด้านซัพพลาย ทั้งด้านปัจจัยการผลิต และปัญหาโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านแรงงาน เรื่องการลงทุนในสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน เรื่องเอกชน เรื่องการปรับปรุงผลิตภาพการผลิต เรื่องคุณภาพแรงงาน ที่อาจเป็นตัวทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจโตไม่สูงเท่าที่ควร

ดังนั้นจำเป็นต้องมองถึงระยะยาว คือปัญหาข้อจำกัดเชิงโครงสร้างด้านซัพพลายของเศรษฐกิจด้วย การกระตุ้นด้านการใช้จ่าย หรือด้านดีมานด์ เป็นนโยบายที่มีเหตุมีผลในบางช่วงจังหวะที่ไม่มีความเชื่อมั่น หรืออุปสงค์ในประเทศบกพร่องขาดไป ก็มีมาตรการกระตุ้น แต่ต้องยอมรับว่า มาตรการกระตุ้นด้านบริโภคจะได้ผลระยะสั้นๆ และมีต้นทุน คือภาระหนี้สินของทั้งเอกชนและภาครัฐ ดังนั้น ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

เพราะฉะนั้น การจัดการปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้านการผลิต ด้านซัพพลาย ซึ่งจะเป็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาวมากกว่าการกระตุ้นการใช้จ่ายอุปสงค์ในระยะสั้น

“ถ้าเราอ่อนแอ เราจะอาศัยแต่ยาโดป ถ้ายาโดปหมดเราก็อ่อนแอ ถ้าเราอยากแข็งแรง เราต้องเข้าโรงยิม ไม่ใช่พึ่งแต่ยาโดป ถ้ายาหมดเราก็อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ซึ่งนโยบายของเราตอนนี้ก็ช่วยเหลือผ่อนคลายมาตลอด เป็นยาโดปอ่อนๆ อยู่แล้ว ดังนั้น มาตรการภาครัฐ คิดว่าต้องดูลักษณะของมาตรการว่าจะเป็นผลระยะสั้น มีผลชั่วคราวหมดแล้วหมดเลย หรือมีผลระยะยาวช่วยให้ศักยภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าเป็นอย่างหลังก็น่าจะดีกว่า” นายไพบูลย์กล่าว

ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์1

“โฆสิต” แนะรัฐทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) มีความเห็นว่า ในช่วงที่เหลือของปี หากรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ควรกลับไปทบทวนมาตรการที่ทำมาในช่วง 12 เดือน ว่าทำไมไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ เศรษฐกิจไม่ขยายตัวสูงอย่างที่เคยคาดการณ์ คือต่ำกว่า 5% ถ้าตอบตรงนั้นไม่ได้ ก็คงยากที่จะทำมาตรการเพิ่มแล้วจะได้ผลอย่างที่คาด

“ที่ทำมาเยอะแล้ว ต้องตอบโจทย์ว่าทำแล้วทำไมได้ผลแค่นี้ ทั้งที่ตอนนั้นรัฐบาลออกมาตรการ เช่น รถคันแรก จำนำข้าว ก็คาดหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวสูง แต่ผลออกมาเศรษฐกิจกลับแย่กว่าที่คาด คือ เศรษฐกิจโตต่ำ 5% ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำไมเป็นเช่นนั้น จะได้ปรับแก้แล้วทำให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจทั้งปีนี้จะขยายประมาณ 4% แต่ส่วนตัวถือว่าเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่พอสมควร ” ดร.โฆสิตกล่าว

นโยบายการเงินไม่ใช่คำตอบ “โจทย์” เศรษฐกิจไทย

ขณะที่เรื่องของการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่เศรษฐกิจโดยรวม นายไพบูลย์ระบุว่า นโยบายการเงินจะมีผลต่อเศรษฐกิจต้องส่งผ่านหลายข้อต่อ และระยะเวลาไม่แน่นอน เพราะต้องพึ่งพากลไกของตลาดและของสถาบันการเงิน ในแง่ตลาดนั้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับลงไปแล้ว ส่วนสถาบันการเงินต้องเป็นไปตามภาวะ คงคาดการณ์ไม่ได้ว่าเมื่อไรสถาบันการเงินจะปรับดอกเบี้ยลงตามที่ กนง. ต้องการ เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

โดยหากสถาบันการเงินมองว่า ความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่มาก และยังมีข้อกังวลว่าในอนาคตจะมีความต้องการสภาพคล่อง ไม่ว่าจะมาจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อาจส่งผลต่อสภาพคล่อง หรือแม้แต่การแข่งขันระดมเงินฝากกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน เพราะฉะนั้น อย่าหวังพึ่งพานโยบายการเงินมากเกินไป

“นโยยายการเงินมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพ แต่นโยบายการเงินอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบของโจทย์เศรษฐกิจไทย เศรฐกิจไทยยังมีประเด็นเดรื่องภาคการผลิต ข้อจำกัดโครงสร้างต่างๆ ด้านซัพพลายไซด์ที่ต้องดูแลควบคู่กันไป” นายไพบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธปท. ก็ต้องติดตามพิจารณาดูว่า การส่งต่อนโยบายที่ยังไปไม่ถึงสถาบันการเงินเกิดจากปัจจัยอะไร ถ้าถึงขนาดที่มีปัญหาต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ก็คงต้องมีมาตรการที่จะดำเนินการให้นโยบายการเงินมีผลมากกว่านี้

“แม้ธนาคารส่วนใหญ่ไม่ลดดอกเบี้ย และมีความระมัดระวังเรื่องการปล่อยสินเชื่อ แต่สินเชื่อยังขยายตัวระดับสูง หมายถึงว่า นโยบายการเงินผ่อนคลายมาตลอด คราวที่แล้วผ่อนคลายเพิ่มเติม สินเชื่อก็ยังขยายตัวที่สูง และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และจากการประเมินของ กนง. ถึงผลการลดดอกเบี้ยครั้งก่อนถือว่าได้ผลพอสควร เพราะหาก กนง. ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งก่อน สินเชื่อก็อาจไม่ขยายตัวเท่านี้” นายไพบูลย์กล่าว

หนี้ครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น ไม่เสี่ยงวิกฤติ

ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือน นายไพบูลย์มีความเห็นว่า ระดับหนี้ครัวเรือนปัจจุบันยังไม่ถึงระดับที่จะนำไปสู่วิกฤติ และขณะนี้มีสัญญาณว่า สินเชื่อที่เร่งตัวมากช่วงที่ผ่านมาเริ่มทรงตัวและขยายตัวต่ำลง แม้จะยังอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินเริ่มมีความระมัดระวังในเรื่องมาตรฐานคุณภาพสินเชื่อ เพราะฉะนั้น ในแง่หนี้สินครัวเรือนต้องติดตาม แต่ดูจากทิศทางแนวโน้มแล้วน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

“สินเชื่อของระบบการเงินขณะนี้เริ่มทรงตัว ไม่ได้เร่งตัวขึ้นเหมือนก่อน การปรับตัวดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่มีสัญญาณในด้านคุณภาพสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่จะบ่งชี้ว่าขณะนี้มีกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่ผิดปกติ หรือในระดับที่น่าเป็นห่วง” นายไพบูลย์กล่าว

ขณะที่ นายโฆสิตระบุว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนน่าจะลดความเป็นห่วงลงได้บ้าง เพราะมี ธปท. ดูแลอย่างใกล้ชิด และรู้ข้อมูลดีที่สุด

“หนี้ไม่ว่าเป็นของใคร หากไปถึงจุดที่เกินความพอดีจะเป็นตัวดึงให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตกลง อย่างตอนต้มยำกุ้ง เรามีปัญหาหนี้ภาคเอกชน ขณะที่ตอนนี้หลายประเทศมีปัญหาหนี้ภาครัฐ และอเมริกาที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก็มาจากหนี้ครัวเรือน ส่วนหนี้ครัวเรือน ธปท. ออกมาให้ความเห็นเป็นระยะๆ น่าจะกังวลน้อยลง แต่ก็ต้องติดตามดูต่อไป”

อ่านเพิ่มเติม รายงานวิเคราะห์นโยบายดอกเบี้ยกนง.ฝ่ายวิจัย ธนาคารไทยพาณิชย์