ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ลำดับเหตุการณ์ 13 วัน รัฐบาลพลิกนโยบายจำนำข้าว

ลำดับเหตุการณ์ 13 วัน รัฐบาลพลิกนโยบายจำนำข้าว

3 กรกฎาคม 2013


ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com
ที่มาภาพ: http://www.bangkokbiznews.com

นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องข้าว ที่รัฐบาลประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายรับจำนำข้าวกลับไปกลับมาภายในเวลาเพียง 13 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก โดยช่วงเวลาดังกล่าวมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นดังนี้

19 มิ.ย. 2556 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตาม “กขช.” ปรับราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จากราคา 15,000 บาท/ตัน เป็น 12,000 บาท/ตัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2556 เป็นต้นไป และจากเดิมที่รับจำนำทุกเมล็ดไม่จำกัดวงเงิน ปรับเป็นจำกัดวงเงินไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาทต่อปี โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2556 เป็นต้นไป

22 มิ.ย. 2556 “ยิ่งลักษณ์-กิตติรัตน์-บุญทรง-วรเทพ” ออกรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ชี้แจงการปรับลดราคาจำนำข้าวและจำกัดวงเงินรับจำนำ ว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรักษาวินัยการคลัง

24 มิ.ย. 2556 ทีดีอาร์ไอประเมิน-ลดราคาจำนำข้าวเหลือ 12,000 บาท/ตัน กระทบชาวนารายได้หาย 76,500-11,000 ล้านบาท

25 มิ.ย. 2556 ชาวนาบุกทำเนียบยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้คงราคารับจำนำไว้ที่ 15,000 บาท/ตัน

26 มิ.ย. 2556 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล “หยุดโกง” จำนำข้าว

27 มิ.ย. 2556 บอร์ด ธ.ก.ส. จัดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และออกมาตรการเพื่อช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงื่อนไขและการลดราคารับจำนำข้าว

28 มิ.ย. 2556 ทีดีอาร์ไอ เสนอ กขช. เร่งพิจารณา 3 ข้อ 1. ลดภาระขาดทุนจากการจำนำข้าว 2. แก้ปัญหาการทุจริตในการระบายข้าว และ 3. หามาตรการรองรับผลกระทบลดราคาจำนำข้าว

30 มิ.ย. 2556 ปรับ ครม. ยิ่งลักษณ์ 5 เด้ง “บุญทรง เตริยาภิรมณ์” พ้นเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กรณีพิษจำนำข้าวทำเสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน และแต่งตั้ง “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” นั่งแทน

1 ก.ค. 2556 “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แถลงมติ กขช. ให้กลับไปคงราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ที่ 15,000 บาท/ตัน และข้าวชนิดอื่นๆ กลับมาที่ราคาเดิมเช่นกัน โดยจะรับจำนำเฉพาะปริมาณไม่เกินตามที่ได้ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น และวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือน ตามมติ กขช. (18 มิ.ย.56) จนถึงสิ้นสุดโครงการ 15 กันยายน 2556 โดยพื้นที่ภาคใต้รับจำนำจนถึง 30 พฤศจิกายน 2556

1 ก.ค. 2556 ธ.ก.ส. ยกเลิกแนวทางช่วยเหลือชาวนาที่จะได้รับความเดือดร้อนจากการลดราคาจำนำเหลือ 12,000 บาท/ตัน อัตโนมัติ หลัง กขช. มีมติกลับไปใช้ราคาจำนำข้าวเหมือนเดิม

2 ก.ค. 2556 ครม. มีมติตาม “กขช.” ปรับราคารับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ให้คงเดิม 15,000 บาท/ตัน แต่ยังคงจำกัดวงเงินรับจำนำ 500,000 บาท/ครัวเรือน โดยมีผลถึงสิ้นสุดโครงการ 15 ก.ย.56 และภาคใต้รับจำนำถึง 30 พ.ย. 56

จากลำดับเหตุการณ์การกลับไปกลับมาของโครงการรับจำนำข้าว สะท้อนว่า รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาการเมืองมากกว่าจะแก้ปัญหาชาวนาอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ในมุมการเมือง รัฐบาลอาจเอาตัวรอดเฉพาะหน้าไปได้ แต่ปัญหาที่แท้จริงของโครงการรับจำนำข้าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ดังนั้น ความเสี่ยงของรัฐบาลยังคงอยู่ ทั้งด้านเสถียรภาพทางการเมือง และเสถียรภาพทางการคลัง จากปัญหาขาดทุนจำนำข้าว ปัญหาการทุจริตในทุกขึ้นตอน และการถูกจับตามองจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อาทิ มูดีส์ ที่จ้องจะหั่นเครดิตประเทศ เป็นต้น

หากรัฐบาลโปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็ตอบคำถามได้

เอาแค่หลักการเบื้องต้น ถ้ากระทรวงพาณิชย์ยังไม่สามารถลงบัญชีให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีแล้ว

มหากาพย์การเมืองเรื่องข้าว จึงยังไม่จบ!