ThaiPublica > สัมมนาเด่น > โครงสร้างประชากร: “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ” โจทย์ใหญ่ของประเทศ

โครงสร้างประชากร: “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ” โจทย์ใหญ่ของประเทศ

11 กรกฎาคม 2013


เสวนา “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ อนาคตประเทศไทยไปทางไหน?” โดยมีวิทยากรได้แก่ นายมีชัย วีระไวทยะ (ขวาสุด) นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ (ที่ 3 จากขวา) และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ที่2จากขวา) และ ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
เสวนา “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ อนาคตประเทศไทยไปทางไหน?” โดยมีวิทยากรได้แก่ นายมีชัย วีระไวทยะ (ขวาสุด) นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ (ที่ 3 จากขวา) และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ที่2จากขวา) และ ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน เป็นผู้ดำเนินรายการ

วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็น “วันประชากรโลก” ซึ่งปีนี้เป็นปีแห่ง “การรณรงค์เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในหมู่วัยรุ่น” เพื่อป้องการการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม

วัยรุ่นหญิงประมาณ 16 ล้านคนต่อปี ให้กำเนิดบุตร

นายแพทย์บาบาทุนเด้ โอทิเมฮิน ผู้อำนวยการบริหารกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ระบุว่า ในแต่ละปีมีหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จำนวนประมาณ 16 ล้านคน ที่ให้กำเนิดบุตร และอาการแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของหญิงวัยรุ่นในช่วงอายุดังกล่าว โดยเฉพาะหญิงวัยรุ่นที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหญิงวัยรุ่นจำนวนมากกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก และมากกว่า 500 ล้านคนของหญิงวัยรุ่นเหล่านี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นไม่ใช่เป็นเพียงประเด็นสุขภาพ แต่เป็นประเด็นเรื่องการพัฒนา ซึ่งหยั่งรากลึกอยู่กับปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ความรุนแรง การถูกบังคับให้แต่งงานและการแต่งงานในวันเด็ก ความไม่สมดุลทางอำนาจระหว่างหญิงวัยรุ่นกับคู่ครอง การขาดโอกาสทางการศึกษา และความล้มเหลวของระบบและสถาบันต่างๆ ที่มีหน้าที่ปกป้องรักษาสิทธิของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์

“เพื่อให้ทั่วโลกให้ความสนใจกับประเด็นเหล่านี้ วันประชากรโลกปีนี้จึงเป็นปีของการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA กล่าว

ดังนั้น เนื่องในโอกาส “วันประชากรโลก ปี 2013” UNFPA ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ อนาคตประเทศไทยไปทางไหน?” ในวันที่ 10 ก.ค. 2556 โดยมีวิทยากรได้แก่ นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและแผนประชาการ สศช. และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา และ ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน เป็นผู้ดำเนินรายการ

ประชากรเปลี่ยนจาก “ปัจจัย” สนับสนุน กลายเป็น “โจทย์” ที่ต้องแก้

โดยเมื่อประชากรมีการเกิดน้อยติดต่อกันเป็นเวลานาน นายโฆสิตกล่าวว่า ประชากรวัยเด็กจะมีสัดส่วนน้อยลง แต่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเกิดน้อยคือ คนอายุยืนมากขึ้น หรือ “ตายยาก” โดยปัจจุบันคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนประมาณ 10% ของประชากรทั้งหมด และต่อไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด หรือ 1 ใน 4 ของประชากรจะมีอายุเกิน 65 ปี

“คนที่เป็นเด็กมีสัดส่วนน้อยลง แต่คนที่เป็นผู้ใหญ่มีสัดส่วนสูงขึ้น ส่วนคนตรงกลางก็มีสัดส่วนน้อยลง โครงสร้างแบบนี้เป็นประเด็นขึ้นมา” นายโฆสิตกล่าวและบอกต่อไปว่า

เนื่องจากที่ผ่านมาประชากรถือเป็น “ปัจจัย” ที่เราสามารถทำการอะไรในสิ่งที่อยากทำสำหรับการพัฒนาประเทศ แต่ตอนนี้ประชากรกลายเป็น “โจทย์” ที่ต้องช่วยกันตอบ โดยทุกภาคส่วนของสังคมต้องมีส่วนร่วมช่วยกันตอบ เช่น จะจัดการอย่างไรให้ทุกช่วงอายุของคนมีคุณภาพ โจทย์เหล่านี้เป็นประเด็น เพราะถ้าจะอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ ให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก จะเห็นว่าโครงสร้างดังกล่าวต้องใช้คนมาก แต่มองไปข้างหน้าแล้วเราไม่มีกำลังแรงงานเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการออม และการพัฒนาประเทศไทยต่อไปจะเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น ภายใต้โครงสร้างประชากรที่ลักษณะคนทำงานมีสัดส่วนน้อยลง จะมองว่าไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกต่อไปไม่ได้ จำเป็นต้องรีบเร่งปรับโครงสร้างการผลิต ให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคบริการ เพื่อให้เศรษฐกิจพัฒนาต่อไปได้

“การใช้คำว่าประชากรเป็นโจทย์มีความหมายมาก ต้องสร้างความตระหนัก โดยทำอย่างไรให้ทุกคนและทุกภาคส่วนของสังคมมองภาพแบบนี้ตรงกัน แล้วปรับตัวรองรับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป” นายโฆสิตกล่าว

ห่วงไทยเจอปัญหาประชากรเร็วกว่าประเทศอื่น

ขณะที่ ดร.เศรษฐพุฒิมีความเห็นว่า เรื่องประชาชากรมีความสำคัญมากกว่าเรื่องจีดีพีปีนี้จะโตเท่าไร โดยแนวโน้มประชากรที่จะมากระทบภาคเศรษฐกิจได้แก่ 1. ประชากรวัยทำงานมีการเติบโตชะลอลง และในที่สุดจะติดลบ 2. โครงสร้างครัวเรือนที่กำลังเปลี่ยนค่อนข้างเยอะจาก “ครัวเรือนแบบ classic” หรือครอบครัวแบบพ่อ แม่ ลูก เปลี่ยนมาเป็น “ครอบครัวแบบใหม่” คือครอบแต่งงานกันแต่ไม่มีลูก หย่าร้างกัน ครอบครัวที่ญาติพี่น้องมาอาศัยร่วมกัน และครอบครัวที่ส่งหลานไปอยู่กับปู่กับย่า

และ 3. อัตราการเติบโตของสังคมเมืองต่ำและชะงัก เริ่มไม่โต โดยมีสัดส่วนประชากรไทยที่อยู่ในเมืองประมาณ 30% ของประชากร ซึ่งประชากรส่วนใหญ่อัดอยู่ในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก แต่หัวเมืองใหญ่ข้างนอกไม่ค่อยมี ต่างจากมาเลเซีย จีน หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ประชากรจะกระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ และชนชั้นกลางในเมืองจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

“แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชากรมีอัตราการเกิดชะลอลง ปกติจะเกิดตอนที่มีรายได้สูง คนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองเยอะ แต่ปัญหาของเราเกิดตอนที่การพัฒนายังไม่สูง ระดับรายได้ก็ยังไม่สูง สังคมเมืองก็เติบโตต่ำ ทำให้เราเจอปัญหาประชากรเร็วกว่าประเทศอื่น ซึ่งจะมีผลกระทบเยอะมาก” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

เสวนาเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ-1

ประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำเป็นรองบ๊วยฟิลิปินส์

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า แนวโน้มระยะยาวของการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอลง เพราะแรงงานลดลง ถ้าจะให้เศรษฐกิจโตได้ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพแรงงานให้สูงขึ้น แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิภาพแรงงานของไทยต่ำมากเป็นรองบ๊วยแค่ฟิลิปินส์ สาเหตุเพราะการลงทุนยังไม่ฟื้น และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการจัดการด้านประสิทธิภาพไม่ง่าย

จากข้อมูล แรงงานในตลาดแรงงานไทยปัจจุบันมีจำนวน 38 ล้านคน ในสัดส่วนดังกล่าว 21 ล้านคน เป็นผู้ทำงานอิสระ เช่น ชาวนา พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย และอีก 17 ล้านคน เป็นวัยแรงงานรับเงินเดือนประจำ หรือมนุษย์เงินเดือน แต่เกือบครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของ 17 ล้านคน เป็นแรงงานรับค่าจ้างรายวัน

“การมีลูกจ้างรายวัน ทำให้นายจ้างไม่ยอมลงทุนฝึกฝนและพัฒนาคุณภาพแรงงาน เป็นที่มาของปัญหาประสิทธิภาพแรงงาน ดังนั้น เมื่อคนทำงานน้อย บวกกับไม่มีประสิทธิภาพ ผลคือเศรษฐกิจไม่โตหรือชะลอลง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

เกิดน้อยไม่สำคัญเท่าพัฒนาคนให้มีคุณภาพ

นายมีชัยกล่าวว่า ในปี 2517 หนึ่งครอบครัวจะมีลูก 7 คน หรือมีอัตราประชากรเพิ่ม 3.3% ซึ่งสูงมากเท่ากับฟิลิปปินส์ จึงมีแนวคิดให้คุมกำเนิดเพื่อลดอัตราการเกิด เช่น โครงการศูนย์วางแผนครอบครัวหมู่บ้าน การชักจูงผู้ชายทำหมัน การจัดแคมเปญ “ทำหมันเงินล้าน” คือ ทำหมันแล้วให้ลอตเตอรี 1 ใบ การทำ “หมันทัวร์” คือให้ตั๋วขึ้นรถทัวร์ปรับอากาศฟรี เป็นต้น

จากการรณรงค์ดังกล่าว ทำให้ในปี 2543 หนึ่งครอบครัวมีลูกลดลงเหลือ 3.3% และอัตราประชากรเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% คือทำให้อัตราการเกิดน้อยลง แต่คุณภาพคนไทยต่ำลง สะท้อนได้จากข่าวต่างๆ อาทิ ข่าวฉาวในวงการสงฆ์ ข่าวคอร์รัปชันของนักการเมือง นอกจากนี้ยังสะท้อนได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของเอแบคโพล ที่พบว่า ประชากรเกิดครึ่งหนึ่งรับได้หากรัฐคอร์รัปชันแต่ตัวเองได้ประโยชน์ โดยในมุมมองข้าราชการ ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันได้ 58% พนักงานเอกชน 65.3% พ่อค้า 65% ขณะที่ด้านการศึกษาไทย มีงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวใน 8 ปี แต่ผลคะแนนสอบโอเน็ตของชั้น ม.6 กลับอยู่ในระดับสอบตกเกือบทุกวิชา เป็นต้น

“เพราะฉะนั้น ถ้าจะเพิ่มต้องเพิ่มคุณภาพ เรื่องให้เกิดไม่ยาก และอย่าเพิ่งไปคิดให้มีแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ต้องดูคุณภาพด้วย” นายมีชัยกล่าว

นอกจากนี้ นายมีชัยระบุว่า ตอนนี้คนเก่งและโกงมีพอแล้ว ไม่ต้องเพิ่ม แต่เศรษฐกิจไทยต้องการคนที่มีลักษณะดังนี้ คือ ซื่อสัตย์ มีวินัย รู้จักแบ่งปัน มีความสุข มีความคิดริเริ่ม และสามารถแสวงหาคำตอบ มีความรู้ในด้านการจัดการ การทำธุรกิจ เคารพสิทธิ์ของคนอื่น ส่งเสริมความเสมอภาคชายหญิง และสุดท้ายต้องสร้างคนดี

การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายมีชัยเสนอว่า ต้องเปลี่ยนระบบการศึกษา คือ ต้องสอนให้คิดเป็น มีความเป็นผู้นำ ไม่ใช่ท่องจำ และต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของโรงเรียนมาเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย

โจทย์ประชากร อย่าพึ่งรัฐบาล

การแก้ปัญหาโจทย์ประชากร ทุกคนเห็นตรงกันว่า อย่าฝากความหวังไว้กับรัฐบาล โดยนายโฆสิตกล่าวว่า จำเป็นต้องเข้าใจว่า ประชากรเป็นโจทย์ของทุกคน ทุกอายุ และเป็นต้องโจทย์ที่ต้องคิดระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่พูดแค่ปีละครั้ง

“เชื่อว่าถ้าสังคมสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทิศทางจะเปลี่ยนไปในทางดีรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้ารัฐบาลรับโจทย์นี้ไป และสนับสนุนให้คนพึ่งพารัฐบาล แทนที่จะสนับสนุนให้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น โจทย์นี้จะได้คำตอบที่ผิด และไม่สำเร็จ” นายโฆสิตกล่าว

ขณะที่นายมีชัยกล่าวว่า ทางออกในการเพิ่มคุณภาพคนโดยการปรับปรุงระบบการศึกษา ต้องให้เอกชนเข้ามามีส่วนรวม อย่าปล่อยทิ้งให้กับรัฐบาลเพียงผู้เดียว

“เราประชาชนเป็นเจ้าของบ้าน รัฐบาลเป็นเพียงผู้เช่าบ้าน อยู่แค่ 4 ปี ก็ไปแล้ว” นายมีชัยกล่าว

ด้าน ดร.เศรษฐพุฒิมีความเห็นว่า ถ้าคิดว่าปัญหาประชากรเป็นปัญหาของรัฐบาล แล้วรัฐบาลรับไป สูตรนี้ประเทศจะเจ๊ง เพราะประเทศที่มีปัญหาวิกฤตส่วนใหญ่มาจากเรื่องการให้สวัสดิการสังคมดูแลเรื่องหลังเกษียณ โดยให้ประโยชน์สูงเกินไป

“ดังนั้น ถ้าเราไปพึ่งรัฐบาลทุกอย่าง ด้วยระบบการบริหารขณะนี้เชื่อว่าเราจะเจ๊ง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว