ThaiPublica > คนในข่าว > บทเรียนจาก “ศึกตุลาการ” สู่การปฏิวัติอิยิปต์

บทเรียนจาก “ศึกตุลาการ” สู่การปฏิวัติอิยิปต์

17 กรกฎาคม 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

ที่มาภาพ : http://blog.foreignpolicy.com
ที่มาภาพ : http://blog.foreignpolicy.com

นับตั้งแต่ พล.อ.อับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีกลาโหมแห่งแดนสฟิงซ์อียิปต์นำทหารตบเท้ายึดอำนาจจากรัฐบาลประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี เมื่อต้นเดือน ก.ค. หรือเพียงวันเดียวหลังจากนายมอร์ซีเพิ่งฉลองวันครบรอบหนึ่งปีเต็มที่ชนะเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย แล้วขึ้นมาบริหารประเทศภายใต้การสนับสนุนของมุสลิมสุดโต่งอย่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิม สถานการณ์ในประเทศนี้ยังคงสับสนอลหม่าน เนื่องจากลูกหลานฟาโรห์นับล้านคนทั้งที่เป็นกลุ่มต่อต้านและสนับสนุนการปฏิวัติต่างเลอะเลือนไม่รู้ว่าใครเป็นหนูใครเป็นราชสีห์กันแน่ จึงยืนหยัดประท้วงยืดเยื้อแม้จะถูกปราบปรามอย่างหนัก จนมีผู้เสียชีวิตร่วมร้อยแล้วก็ตาม

“สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ฉันใด การปฏิวัติในอียิปต์ก็สร้างชื่อของชาย 4 คน ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในชั่วพริบตาฉันนั้น

คนแรกก็คือ อดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี หรือ “บังซี” ชนวนการปฏิวัติครั้งนี้่อันเนื่องจากหลงลืมสัญญาประชาคมที่เคยให้ไว้ในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2555 ว่า “ประชาชนอียิปต์คืออำนาจสูงสุด” และตัวเองจะไม่ยอมให้สถาบันใดมีอำนาจเหนือประชาชนหรือมาจำกัดอำนาจบริหารของตัวเองด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม แต่ไม่ทันไรกลับกลืนน้ำลายตัวเองด้วยความหลงผิดว่าจะทำอะไรก็ได้ตราบใดที่มีพลังอันแข็งแกร่งของมุสลิมเคร่งจารีตกลุ่มภราดรภาพมุสลิม หรือมุสลิม บราเธอร์ฮู้ด เป็นปราการอยู่เบื้องหลัง จึงทำเป็นหูหนวกตาบอดไม่ยอมฟังเสียงของประชาชน โดยเฉพาะการหาญกล้าประลองกำลังกับสถาบันตุลาการ ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดในประเทศนี้ ด้วยความหยิ่งทรนงว่าสามารถผนึกอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติไว้ในมือแต่ผู้เดียวได้แล้ว

ทั้ง “บังซี” และกลุ่มภราดรภาพมุสลิมต่างหวาดระแวงว่าสถาบันตุลาการเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำมาตย์หรือกลุ่มอำนาจเก่าที่ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ซึ่งถูกพลังประชาชนยึดอำนาจระหว่างที่เกิดกระแสลุกฮือ “อาหรับสปริง” เมื่อต้นปี 2554 โดยกลุ่มอำนาจเก่าได้สร้างกระแส “ตุลาการภิวัฒน์” ขึ้นเพื่อแทรกแซงการเมืองและหวังบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล เหตุนี้ การประลองกำลังยกแรกกับอำนาจตุลาการจึงเริ่มขึ้นเมื่อ “ฟาโรห์องค์ใหม่” ยืนกรานออกกฤษฎีกาในนามของประธานาธิบดี ประกาศรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือตัวเองแต่ผู้เดียว โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องการปฏิวัติ ซึ่งเท่ากับจุดชนวนศึกชิงอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด ที่มีอำนาจเหนืออำนาจใดๆ ทั้งมวลตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะกฤษฎีกาของประธานาธิดีระบุชัดว่า “คำประกาศ แถลงการณ์ รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ ที่มาจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีจะไม่สามารถเพิกถอนได้ ไม่ว่าจะด้วยอำนาจใดๆ ก็ตาม รวมทั้งอำนาจจากคณะตุลาการด้วย “

อดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี หรือ "บังซี" ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk
อดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี หรือ “บังซี” ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk

กฤษฎีกาฉบับนี้มีขึ้นเพื่อตอบโต้กรณีศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำสั่งให้ยกเลิกกฤษฎีกาฉบับแรกของ”บังซี” ว่าด้วยการเปิดประชุมสภานัดแรก โดยให้เหตุผลว่าขัดคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้พิพากษาก่อนหน้านี้่ให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ เป็นโมฆะ แต่นายมอร์ซีก็ไม่ยอมฟังเสียง ดึงดันเปิดประชุมสภาสมัยแรกจนได้ รวมทั้่งยังเปิดศึกท้าทายยกสองด้วยการออกกฤษฎีกาให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการสังหารผู้ประท้วงในช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติปี 2554 หมายจะรื้อฟื้นการไต่สวนอดีตรัฐบาลมูบารักในข้อหาสั่งฆ่าประชาชนนับร้อยศพ หลังจากศาลสั่งจำคุกนายมูบารักเพียงคนเดียว ส่วนอดีตรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกลับรอดตัวทั้งๆ ที่มีหลักฐานมัดตัวแน่นหนา ท่ามกลางข้อครหาซ้ำซากว่าฝ่ายตุลาการเต็มไปด้วยบุคคลใกล้ชิดนายมูบารักนั่นเอง

และภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่าและเพื่อให้การปฏิรูปการเมืองดำเนินไปด้วยความราบรื่นและรวดเร็ว “ฟาโรห์องค์ใหม่” จึงไฟเขียวให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะจำกัดอำนาจของตุลาการลง ด้วยการมัดมือมัดเท้าไม่ให้มีอำนาจยุบสภาที่ปรึกษา หรือสภาชูรอ หรือวุฒิสภา

นอกจากเปิดศึกกับอำนาจตุลาการ ถึงขั้นสั่งปลดอัยการและผู้พิพากษาบางคนด้วยหมายจะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” แล้ว “ฟาโรห์องค์ใหม่” ยังหาญกล้าท้าทายอำนาจของสภาทหารสูงสุดด้วย ด้วยการสั่งปลดผู้บัญชาการด้านความมั่นคงและทหาร รวมไปถึงปลดรัฐมนตรีกลาโหมและเสนาธิการทหาร ตลอดจนยกเลิกการแก้รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจทหารในการจำกัดอำนาจของประธานาธิบดี

การกระทำดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความหวาดระแวงของหลายฝ่าย รวมทั้งประเทศตะวันตกและอาหรับที่มองว่าฝ่ายบริหารที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภากำลังเพิ่มอำนาจให้กับกลุ่มมุสลิมภราดรภาพ ซึ่งเป็นอิสลามสุดโต่งเคร่งจารีต ให้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรงต่างๆ

เมื่อถูกบีบให้จนตรอกมากขึ้น สุดท้ายกองทัพใต้การนำของ พล.อ.อับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี จึงลุกขึ้นยึดอำนาจ หลังจาก “บังซี” ดื้อดึงไม่ยอมลาออกตามเส้นตาย 48 ชั่วโมง ที่ขีดไว้ และได้ควบคุมตัวนายมอร์ซีอย่างแน่นหนานับแต่นั้นเป็นต้นมา

นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไคโรเมื่อปี พ.ศ. 2518 และ 2521 ตามลำดับ จากนั้นได้บินไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2525 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทริดจ์ แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525-2528 ก่อนจะตัดสินใจเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดและได้เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยซากาซิก ระหว่างสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2555 นายมอร์ซีให้สัญญาว่าจะทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีของชาวอียิปต์ทั้งมวล ไม่ว่าจะมีความคิดทางการเมืองเช่นใด ชนชาติใด หรือนับถือศาสนาใดก็ตาม

บังซีสมรสกับนัจญ์ลาอ์ อะลี มาห์มูด ซึ่งเคร่งศาสนาเช่นกันและยืนกรานไม่ยอมให้ใครพูดถึงเธอว่าเป็น “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” แต่ให้เรียกเป็น “ผู้รับใช้หมายเลขหนึ่ง” แทน ทั้งสองมีทายาทด้วยกัน 5 คน ในจำนวนนี้ 2 คน เกิดในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นพลเมืองสหรัฐฯ โดยกำเนิด

พล.อ.อับดุล ฟัตตาห์  อัล-ซีซี หัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่มาภาพ : http://dam.alarabiya.net
พล.อ.อับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี หัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่มาภาพ : http://dam.alarabiya.net

ผู้นำคนที่ 2 ของแดนสฟิงซ์อียิปต์ที่โลกเพิ่งรู้จักก็คือ พล.อ.อับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี หัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งแม้จะมีอายุ 59 ปี แล้วแต่ก็ได้รับราชการทหารมานานถึง 36 ปี ทันทีที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหารแห่งชาติอียิปต์ เมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยตำแหน่งแรกก็คือพลทหารประจำกองพันทหารราบยานเกราะ ดูแลรถถังและปืนใหญ่ จากนั้น ได้เข้ารับการฝึกเพิ่มเติมอีกหลายหลักสูตร อาทิ หลักสูตรผู้บัญชาการกองทัพระดับพลเอก จากวิทยาลัยบัญชาการทหารแห่งอียิปต์ หลักสูตรผู้บัญชาการร่วม จากอังกฤษ หลักสูตรการรบ จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การทหารในเมืองนัสเซอร์ และหลักสูตรการรบจากวิทยาลัยการสงครามในสหรัฐฯ เมื่อปี 2549

ด้วยความที่บ้านเมืองในยุคของอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ค่อนข้างสงบสุข ปราศจากการทำสงครามกับเพื่อนบ้านเหมือนในอดีต เป็นเหตุให้ พล.อ.ซีซีไม่เคยมีประสบการณ์ในการออกรบจริงเหมือนกับนายทหารคนอื่นๆ แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนายทหารระดับสูงรุ่นใหม่ที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้รับการเลื่อนตำแหน่งระดับผู้บัญชาการในหลายสายงาน รวมถึงผู้บังคับกองพันทหารราบยานเกราะ ผู้บัญชาการทหารประจำภาคเหนือ และผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองทหาร ทั้งยังเป็นทูตทหารประจำซาอุดิอาระเบียอีกด้วย ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีกลาโหม เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555 จากการแต่งตั้งของนายมอร์ซี

ในช่วงแรก ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ซีซีดูงามพร้อม มากด้วยความสุขุม ยิ้มง่าย และมีลีลาการพูดที่ลึกซึ้งกินใจ จึงเรียกศรัทธาจากประชาชนได้มาก แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก ภาพลักษณ์นี้ก็เปลี่ยนไปจากขาวเป็นดำด้วยกรณีลุกขึ้นปกป้องการกระทำของทหารที่ยืนกรานจะตรวจพรหมจรรย์ของผู้ประท้วงหญิงที่ถูกจับกุมหลังเข้าร่วมการชุมนุมที่จัตุรัสกลางเมืองทาฮีร์ โดย พล.อ.ซีซียืนกรานว่าการกระทำซึ่งถือเป็นการข่มขู่คุกคามและละเมิดสิทธิของผู้หญิงนี้มีขึ้นเพื่อปกป้องผู้หญิงจากการถูกข่มขืนและปกป้องทหารจากข้อหาข่มขืน สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน จนต้องยกเลิกนโยบายนี้ไปในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีคนตั้งถามต่อ พล.อ.ซีซีเกี่ยวกับจุดยืนของกองทัพรวมไปถึงความสัมพันธ์กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่ง พล.อ.ซีซียืนยันว่ากองทัพไม่มีหน้าที่รับใช้การเมือง แต่มีหน้าที่ปกป้องประเทศ และจะทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงการปฏิวัติล้มรัฐบาลมอร์ซี แม้จะเป็นคนผลักดันให้ตัวเองก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพก็ตาม แต่เพื่อประชาชนแล้ว บุญคุณนี้ไม่จำเป็นต้องทดแทนแต่ประการใดทั้งสิ้น

นายอัดลี มันซูร์ วัย 67 ปี ผู้พิพากษามืออาชีพ ที่มาภาพ : http://www.aawsat.net
นายอัดลี มันซูร์ วัย 67 ปี ผู้พิพากษามืออาชีพ ที่มาภาพ : http://www.aawsat.net

“มิสเตอร์โนเนม” อีกคนหนึ่งซึ่งมีชื่อโด่งดังเป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืนก็คือ นายอัดลี มันซูร์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีทหารลากตั้ง หรืออีกนัยหนึ่งคือประธานาธิบดีคนที่ 3 ภายในช่วงปีครึ่งหลังการยึดอำนาจนายมูบารัก เมื่อปี พ.ศ. 2554 สืบต่อจากจอมพลโมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ตานตอวี ผู้บัญชาการสภาสูงสุดของกองทัพบก ซึ่งถูกบีบให้ต้องถ่ายอำนาจให้นายมอร์ซีที่ชนะเลือกตั้ง และเมื่อนายมอร์ซีถูกทหารยึดอำนาจ นายมันซูร์ก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นมาเป็นรักษาการประธานาธิบดี

นายอัดลี มันซูร์ วัย 67 ปี ผู้พิพากษามืออาชีพ ถือเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดและรับใช้รัฐบาลมา 2 รัฐบาล ได้แก่ รัฐบาลมูบารักและรัฐบาลมอร์ซี เคยเป็นผู้พิพากษาศาลแพ่งและศาลอาญา ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นรองประธานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2535 ควบคู่ไปกับการเป็นผู้สังเกตการณ์ในศาลศาสนาของรัฐอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ตลอดช่วงที่ผานมาได้รับคำชมว่าเป็นคนรักความเป็นธรรม ตรงไปตรงมา และเชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเข้าใจความรู้สึกของประชาชน หลังการยึดอำนาจรัฐบาลมูบารัก นายมันซูร์จึงได้เป็นหนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ระบุชัดห้ามคณะกรรมการเลือกตั้งเข้าไปรั้งตำแหน่งรัฐมนตรี รวมทั้งให้กำหนดช่วงเวลาหาเสียงอย่างเป็นทางการ ทำให้นายมอร์ซีชนะเลือกตั้งในเวลาต่อไป

ก่อนหน้าจะถูกยึดอำนาจเพียงไม่กี่วัน นายมอร์ซีได้แต่งตั้งนายมันซูร์ขึ้นเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด แต่ยังไม่ทันจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งซึ่งกำหนดมีขึ้นในวันที่ 4 ก.ค. ทหารก็ตบเท้ายึดอำนาจเสียก่อน แถมยังให้นายมันซูร์สวมหมวกใบที่ 2 โดยไม่มีปัญหาขัดข้องใดๆ นายมันซูร์จึงได้ทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดควบคู่ไปกับการสาบานตนเป็นรักษาการประธานาธิบดี โดยให้สัตย์สาบานว่าจะปกป้องรัฐบาลด้วยความซื่อสัตย์ เคารพรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม พร้อมจะดูแลผลประโยชน์ของประชาชนตลอดจนปกป้องเอกราชของประเทศชาติและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระและเสรี

ผู้พิพากษาคนเดียวที่เป็นทั้งประมุขฝ่ายบริหารและประมุขฝ่ายตุลาการผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2488 ที่กรุงไคโร สำเร็จการศึกษาคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไคโรเมื่อปี 2510 จากนั้นได้เรียนต่อด้านนิติศาสตร์และการบริหารจัดการที่มหาวิทยาลัยเดียวกันจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในอีก 2-3 ปีต่อมา เริ่มรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยอัยการ ก่อนจะค่อยๆ ไต่เต้าตำแหน่งสูงขึ้นอย่างช้าๆ ระหว่างนั้นได้ทุนเรียนดีไปศึกษาต่อที่กรุงปารีส ตลอดจนได้เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับกระทรวงพาณิชย์ของซาอุดีอาระเบีย

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่สุขุม รอบคอบ และเงียบขรึม อาจจะทำให้คุณพ่อลูก 3 ผู้นี้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและตอบสนองความต้องการของชาวอียิปต์ได้

นายโมฮัมเหม็ด เอลบาราดี วัย 71 ปี รักษาการนายกรัฐมนตรีคนใหม่  ที่มาภาพ : http://previous.presstv.ir
นายโมฮัมเหม็ด เอลบาราดี วัย 71 ปี รักษาการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่มาภาพ : http://previous.presstv.ir

สำหรับผู้นำคนสุดท้ายนี้ ออกจะต่างจากผู้นำหลังการปฏิวัติคนอื่นๆ เพราะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกมานานหลายสิบปี ทั้งในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ใต้สังกัดขององค์การสหประชาชาติ ผู้มีผลงานลือชื่อ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี พ.ศ. 2548 ก่อนจะเดินทางกลับมาเล่นการเมืองในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนด้วยการตั้งพรรคเนชันแนล ซัลเวชัน ฟรอนต์ หรือพรรคแนวร่วมกู้ชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านสายเสรีนิยมฝ่ายซ้าย ผู้ซึ่งมีความใกล้ชิดกับกลุ่มเคลื่อนไหวที่เป็นหัวหอกในการโค่นล้มรัฐบาลมูบารักที่ปกครองประเทศด้วยกำปั้นเหล็กมายาวนานถึง 30 ปี และเป็นคนแรกที่ประกาศสนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้ คนผู้นี้ก็คือนายโมฮัมเหม็ด เอลบาราดี วัย 71 ปี รักษาการนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพันธมิตรที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาลนายมอร์ซี โดยเฉพาะจากพรรคซาลาฟิสต์ นูร์ ที่เป็นพรรคมุสลิมหัวอนุรักษ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ตอกย้ำถึงรอยร้าวในหมู่คณะผู้ก่อการระหว่างกลุ่มนักการเมืองสายเสรีนิยมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันว่าฝ่ายใดกันแน่ที่ควรขึ้นมีอำนาจในการบริหารประเทศ แต่สุดท้าย คณะปฎิวัติตัดสินใจเดินหน้าตั้งนายเอลบาราดีเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลที่ทหารหนุนหลังและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศจะมีความมั่นคงมากกว่ารัฐบาลที่เป็นมุสลิมเคร่งจารีต

นายเอลบาราดีเองได้แสดงท่าทีว่าพร้อมยิ่งกว่าพร้อมเสียอีกที่จะสวมหัวโขนนี้ หลังจากเคยอกหักมาแล้วคราวถูกกองทัพมองข้ามไม่เลือกให้เป็นรักษาการประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่อดีตผู้อำนวยการไอเออีเอผู้นี้เป็นนักการเมืองคนแรกที่ออกมาสนับสนุนการยึดอำนาจและแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติของกองทัพ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ที่นั่งอยู่เบื้องหลังคณะนายทหารและผู้นำศาสนาช่วงที่นายพลอัล ซิซี หัวหน้าคณะปฏิวัติประกาศปลดนายมอร์ซีออกจากตำแหน่ง

นายเอลบาราดี รักษาการนายกรัฐมนตรีอียิปต์เกิดเมื่อปี 2485 ที่กรุงไคโร เป็นบุตรชายของนายมอสตาฟา เอลบาราดี ทนายความและอดีตประธานสมาคมทนายความอียิปต์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไคโรในปี 2505 ก่อนจะเรียนต่อจนกระทั่งได้รับปริญญาเอกด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในปี 2517

เริ่มงานแรกที่กระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ในปี พ.ศ. 2507 กระทั่งได้เป็นคณะทูตถาวรอียิปต์ ประจำสหประชาชาติ ทั้งในนิวยอร์กและเจนีวาในปี พ.ศ. 2523 รับผิดชอบปัญหาด้านกฎหมาย การเมือง และการเจรจาควบคุมอาวุธยุทธศาสตร์ นอกเหนือจากเข้าร่วมกิจกรรมและร่วมการประชุมระหว่างประเทศมากมาย อาทิ เข้าร่วมการประชุมลดอาวุธยุทธศาสตร์ การประชุมว่าด้วยกฎหมายทะเลแห่งสหประชาชาติ การประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ การประชุมองค์การอนามัยโลก การประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน การประชุมองค์การสามัคคีแห่งทวีปแอฟริกา และการประชุมสันนิบาติอาหรับ เป็นต้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้อำลางานในวงการทูตเพื่อไปร่วมงานกับองค์การสหประชาชาติ เริ่มจากการเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของโครงการกฎหมายระหว่างประเทศ ที่สถาบันวิจัยและฝึกอบรมระหว่างประเทศ แล้วค่อยๆ ไต่เต้าเรื่อยมาจนได้เป็นผู้อำนวยการไอเออีเอต่อจากนายฮันส์ บลิกซ์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 เป็นที่รู้จักในฐานะนักการทูตผู้ยึดมั่นในแนวทางการเจรจา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ อันเป็นผลงานที่สร้างชื่อไปทั่ว ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับไอเออีเอในปี พ.ศ. 2548 จากผลงานที่ “พยายามจะป้องกันไม่ให้นำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ในกิจการทหารและเพื่อประกันว่าจะนำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ในทางสันติและด้วยวิธีการที่ปลอดภัย”

ช่วงที่กระแสปฏิวัติประชาชน “อาหรับสปริง” เริ่มก่อหวอดในตะวันออกกลาง นายเอลบาราดีได้เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดเมืองนอนเมื่อปี 2553 และได้กลายเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของฝ่ายค้านอียิปต์ที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีมูบารัก

สมรสกับไอดา เอลคาเชฟ ครูโรงเรียนประถม มีบุตรสาวคนหนึ่งเป็นทนายความและขณะนี้พำนักอยู่ที่กรุงลอนดอนพร้อมกับสามีที่เป็นวานิชธนกร ส่วนบุตรชายเป็นผู้จัดการบริษัทด้านไอทีในกรุงไคโร