ThaiPublica > คนในข่าว > “เบญจา หลุยเจริญ” รมช.คลัง ครม.ปู 5 “แทงเต็ง ไม่มีแทงกั๊ก” – มือปัดกวาดประจำกระทรวงคลัง

“เบญจา หลุยเจริญ” รมช.คลัง ครม.ปู 5 “แทงเต็ง ไม่มีแทงกั๊ก” – มือปัดกวาดประจำกระทรวงคลัง

1 กรกฎาคม 2013


เป็นที่ฮือฮาทั้งกระทรวงการคลัง ในเช้าวันที่ 26 มิถุนายน 2556 เมื่อมีกระแสข่าวว่า “เบญจา หลุยเจริญ” สละเก้าอี้อธิบดีกรมศุลกากรก่อนเกษียณอายุราชการไม่กี่เดือน จนตกช่วงบ่ายทุกอย่างจึงเริ่มกระจ่าง “เบญจา” ไปยื่นใบลาออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรกับนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง จากนั้นก็ทยอยยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง อาทิ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), กรรมการบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) และในวันรุ่งขึ้นชื่อ “เบญจา” ก็อยู่ในโผ “ครม.ปู 5” ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งซี 10 ของกระทรวงการคลัง มักมีชื่อ “เบญจา” นั่งคุมกรมสำคัญเสมอ บางครั้งกระแสข่าวไปจนถึงขั้นที่ว่าจะให้ “เบญจา” ไปนั่งเป็นปลัดกระทรวงการคลังแทนนายอารีพงศ์ และถึงแม้ “เบญจา” ไม่ได้เป็นปลัดกระทรวงการคลัง แต่ก็มีบารมีไม่แพ้ปลัดกระทรวงการคลัง

“เบญจา” ได้รับการยอมรับและความเกรงใจจากผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลัง ขนาดนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังเอ่ยปากชมว่า “เก่ง” แต่เนื่องจาก “เบญจา” มีสายสัมพันธ์กับครอบครัวชินวัตรมาอย่างยาวนาน พอในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล “เบญจา” จึงไม่ได้รับการโปรโมทใดๆ ซึ่ง “เบญจา” เอง ก็ยอมรับสภาพ เพราะนี่คือวิถีชีวิตของข้าราชการ

ก๊วน 2 กุมภาพันธ์ 2549

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา “เบญจา” ยึดมั่นในหลักการและจุดยืนตนเองอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ชนิดที่เรียกว่า “แทงเต็ง ไม่มีแทงกั๊ก” ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกรัฐประหารจนต้องหนีออกนอกประเทศ และ “เบญจา” ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เรียกมาสอบสวนกี่ครั้งก็ตาม เธอก็ยังยืนยันว่า “การซื้อ-ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นของครอบครัวชินวัตร ทั้งกรณีซุกหุ้นชินฯ 1 และซุกหุ้นชินฯ 2 วินิจฉัยอย่างไรก็ไม่ต้องเสียภาษี” สุดท้ายกรมสรรพากรจึงต้องยุติการดำเนินคดีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ทุกกรณี เป็นอันปิดตำนานหุ้นชินคอร์ปฯ

ผลงานของ “เบญจา” ไม่ได้หยุดลงอยู่แค่ตรงนี้ หลังจาก ครม.ปู1 จัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย ปลายปี 2554 “เบญจา” ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต ในระหว่างที่ “เบญจา” กำลังเคลียร์ปัญหารถยนต์จดประกอบและรถยนต์หรูอยู่นั้น ปรากฏว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำโควตาสลากฯ 4 ล้านฉบับ มูลค่าหลายพันล้านบาท ไปทำสัญญาขายล่วงหน้ากับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ภาคเหนือเป็นเวลา 2 ปี โดยที่ไม่มีผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยทราบเรื่องนี้มาก่อน

“เบญจา” ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงต้องลงมาเคลียร์เรื่องนี้ สอบไปสอบมา “เบญจา” ถูกเด้งออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดสลากฯ เรื่องนี้จึงร้อนไปถึงคนที่ดูไบ ผลคือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน

แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังก็ไม่สามารถเรียกโควตาสลากฯ 4 ล้านฉบับ กลับคืนมาได้ เพราะสำนักงานสลากฯ ไปทำสัญญาผูกพันกับบริษัทเอกชนเรียบร้อยแล้ว หากไปบอกเลิกสัญญา สำนักงานสลากฯ จะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย สุดท้าย นายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงต้องกลายเป็นแพะ ถูกกระทรวงการคลังเลิกจ้างในข้อหาขาดภาวะความเป็นผู้นำ

นางเบญจา หลุยเจริญ ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นางเบญจา หลุยเจริญ ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

หลังจาก “เบญจา” เคลียร์ปัญหารถยนต์จดประกอบเสร็จเรียบร้อย โดยการยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์จดประกอบ วันที่ 1 ตุลาคม 2555 “เบญจา” ถูกแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อเคลียร์ปัญหาผู้นำเข้ารถยนต์หรูสำแดงราคานำเข้าต่ำผิดปกติ ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก จนประเด็นรถหรูถูกดำเนินการไป

จากนั้น ระหว่างที่ “เบญจา” นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมศุลกากร ได้รับรายงานจากลูกน้องเก่าที่กรมสรรพากร ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นเงินสดให้กลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็ก 10 บริษัท มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท จึงทำเรื่องเสนอกรมสรรพากรในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2556 ปรากฏว่าถูกผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรสั่งให้หยุดตรวจ โดยอ้างเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ที่กำลังดำเนินการตรวจสอบผู้ส่งออกกลุ่มนี้อยู่ แต่แทนที่กรมสรรพากรจะสั่งให้สรรพากรพื้นที่หยุดคืน VAT และส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ กลับเร่งคืน VAT ให้กับผู้ส่งออกกลุ่มนี้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,600 ล้านบาท

ประเด็นนี้จึงกระเด็นกระดอนไปถึงดูไบอีก ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2556 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าพนักงานกรมสรรพากรลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีอำนาจเจาะข้อมูลผู้ส่งออกกลุ่มนี้ส่งให้กรมสืบสวนคดีพิเศษขยายผลการสอบสวน พร้อมกับสั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคืน VAT ให้กับผู้ส่งออกกลุ่มนี้

งานนี้ถือเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่งของว่าที่ รมช.คลังคนใหม่ที่ชื่อ “เบญจา” มือขวา ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้รับสมญานามว่าเป็นมือปราบโกง VAT จะต้องเข้ามาสะสาง

นี่คือผลงานชิ้นโบว์ดำของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลูกหม้อที่ “รุ่ง” ที่สุดในยุคนี้ อย่างยากที่ใครจะเทียบบารมีได้