ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปปง.-ดีเอสไอ ยึดและอายัดทรัพย์ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก” ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯคลองจั่น 12,000 ล้าน

ปปง.-ดีเอสไอ ยึดและอายัดทรัพย์ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก” ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯคลองจั่น 12,000 ล้าน

11 กรกฎาคม 2013


เจ้าหน้าที่ปปง.และดีเอสไอ ตรวจสอบห้องทำงาน นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อาคาร u-tower ที่มาภาพ : facebook เกลียวเชือก
เจ้าหน้าที่ปปง.และดีเอสไอ ตรวจสอบห้องทำงาน นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อาคาร u-tower ที่มาภาพ : facebook เกลียวเชือก

ตามที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้ เกาะติดความเคลื่อนไหวของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มาอย่างต่อเนื่องถึงความผิดปกติทางฐานะการเงินและความผิดปกติในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกสมทบ 27 ราย เป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาทนั้น

ล่าสุดวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) นำเจ้าหน้าที่เข้ายึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหา 4 คน ได้แก่ 1. นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น 2. นางสาวศรันยา มานหมัด อดีตรองผู้จัดการสหกรณ์ฝ่ายการเงิน 3. นายลภัส โสมคำ กรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น 4. นายกฤษฎา มีบุญมาก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น ภายใต้ความผิดฐานผู้ต้องหาร่วมกันยักยอกเงินของสหกรณ์ฯ ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 12,402 ล้านบาท

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. แถลงกล่าวว่า จากการตรวจสอบฯ ในเบื้องต้น พบว่านายศุภชัยกับพวกมีการทำธุรกรรมทางการเงินและทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยจำนวนมาก โดยนายศุภชัยกับพวกอาจได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว โดยเงินบางส่วนถูกนำไปซื้อทรัพย์สิน ที่ดิน และลงทุนในธุรกิจจำนวนมาก

พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวอีกว่า ปปง. ได้รับร้องเรียนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ วันที่ 4 เมษายน 2556 และ ปปง. มีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 336 รายการ ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน เพื่อดำเนินการตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพย์สินดังกล่าวต่อไป และให้นายศุภชัยกับพวก เข้ามาชี้แจงการได้มาของทรัพย์สินดังกล่าว

ปปง.แถลงข่าวการยึดทรัพย์นายศูภชัย ศรีศุภอักษรและพวกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556
พ.ต.อ สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.(ซ้าย)และนายกิตติก้อง คุณาจันทร์ ผอ.สำนักป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน DSI แถลงข่าวกรณี ปฏิบัติการยึดและอายัดทรัพย์สินนายศุภชัยกับพวกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556

สำหรับทรัพย์สินที่ได้มีการยึดและอายัดดังกล่าวนั้น เป็นที่ดินในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ปทุมธานี พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครราชสีมา เชียงราย และกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 391 แปลง เนื้อที่กว่า 6,000 ไร่ มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรถยนต์จำนวน 8 คัน และเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวน 9 บัญชี มียอดเงินรวมประมาณ 1 ล้านบาท โดยการที่ยอดเงินฝากค่อนข้างต่ำนั้นทำให้คาดว่าทั้ง 9 บัญชี เป็นแค่บัญชีทางผ่านที่นายศุภชัยกับพวกถ่ายโอนเงินไปยังบัญชีที่แท้จริง โดยส่วนหนึ่งใช้ชื่อบุคคลอื่น ซึ่ง ปปง. และดีเอสไอจะติดตามยึดทรัพย์เพิ่มเติมในครั้งต่อไป

โดย ปปง. และดีเอสไอเข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับนายศุภชัยและพวก เพื่อยึดและอายัดทรัพย์โดยไม่แจ้งกับทางสหกรณ์ฯ ล่วงหน้าทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ บ้านเลขที่ 118/23-24 บ้านสวยริมธาร แขวงสะพานสูง กรุงเทพฯ 2. ห้องทำงานของนายศุภชัย ที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น 3. อาคาร U-TOWER ถนนศรีนครินทร์ 4. แฟลตการเคหะคลองจั่น หลังที่ 4 เลขที่ 33 ซึ่งนายศุภชัยเป็นเจ้าของ 5. แฟลตการเคหะหลังที่ 7 เลขที่ 612 ซึ่งนางสาวศรันยา มานหมัด เป็นเจ้าของ 6.บ้านเลขที่ 90/30 หมู่บ้านทาวน์พลัส ซ.โพธิ์แก้ว 2 แขวงคลองจั่น กรุงเทพฯ มีนายลภัส โสมคำ เป็นเจ้าของ และ 7.บ้านเลขที่ 753 หมู่บ้านสินธร ถนนแฮบปี้แลนด์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ มีนายกฤษฎา มีบุญมาก เป็นเจ้าของ

อีกทั้ง ปปง. และดีเอสไอยังนำเอกสารจำนวนมากจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น และอาคาร U-TOWER ไปตรวจสอบความผิดปกติทางบัญชี โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะเป็นผู้ร่วมตรวจสอบด้วย

ทั้งนี้ ความเสียหายกว่า 12,000 ล้านบาท มาจากการกระทำผิด 2 ส่วน ได้แก่ 1. จัดทำเอกสารเท็จ ออกใบทดรองสั่งจ่าย หรือออกเอกสารต่างๆ ที่อ้างว่ามีการจ่ายเงินแต่ไม่ได้มีการจ่ายจริงทั้งหมดประมาณ 1,900 ล้านบาท 2. ผู้ต้องหานำเช็คของสหกรณ์ไปเบิกเงินสด เป็นเงินประมาณ 10,500 ล้านบาท

ส่วนข้อสงสัยเรื่องการดำเนินกิจการของสหกรณ์ในอนาคต เช่น นายศุภชัยจะยังดำรงตำแหน่งผู้บริหารต่อได้หรือไม่นั้น ต้องประสานกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้คำตอบ ในฐานะของนายทะเบียนสหกรณ์

ขณะที่การดำเนินการกับทรัพย์สินที่ยึดและอายัดมานั้น หากผู้ต้องหาไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ ปปง. จะฟ้องศาลให้ยึดทรัพย์ถาวร และขายทอดตลาดเพื่อนำไปเฉลี่ยทรัพย์ให้ผู้เสียหายต่อไป โดยผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น ต้องยื่นหนังสือขอคุ้มครองสิทธิที่ดีเอสไอตามขั้นตอน

รถยนต์ที่ถูกยึด
รถยนต์ที่ถูกยึด

ด้านนายกิตติก้อง คุณาจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าชุดทำงานคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่นของดีเอสไอกล่าวว่า ดีเอสไอรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน จากการที่มีสมาชิกสหกรณ์ฯ จำนวนหนึ่งร้องเรียนว่านายศุภชัยและพวก มีพฤติกรรมยักยอกทรัพย์สหกรณ์และฉ้อโกงประชาชน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ซึ่งเรื่องนี้ดีเอสไอจะดำเนินการเฉพาะคดีอาญา ในส่วนเฉพาะการปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกสมทบจำนวน 27 ราย แต่มียอดปล่อยกู้ถึง 12,000 ล้านบาท และมีการทำบัญชีกู้เท็จ ซึ่งจากการสอบสวนและมีหลักฐานเชื่อว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทำความผิดยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้งพบว่ามีการกระทำที่เป็นปกติธุระ คือทำธุรกรรมแบบเดียวกันเป็นจำนวนหลายร้อยครั้ง

นายกิตติก้องกล่าวอีกว่า คดีนี้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความสำคัญมาก เพราะเกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป จะทำความเสียหายให้กับสหกรณ์และต่อเนื่องมายังสมาชิกสหกรณ์ประมาณ 50,000 ราย สำหรับดีเอสไอนั้น แม้จะเพิ่งรับเป็นคดีพิเศษ แต่มีการสืบสวนมาตลอด และร่วมมือกับ ปปง. ซึ่งรับผิดชอบเฉพาะคดีแพ่งที่ทำงานมาก่อนในการตรวจสอบทรัพย์สิน ขณะนี้ดีเอสไอกำลังรีบรวบรวมพยานและหลักฐานเพื่อดำเนินการแจ้งข้อหากับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีอาญาต่อไป ด้วยปัจจุบันยังไม่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาเพราะเป็นการดำเนินการแค่ตามคดีแพ่ง ส่วนดีอาญายังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ด้านนายศุภชัยก็ให้ความร่วมมือในการเข้าตรวจค้นทรัพย์สิน และยังแจ้งความจำนงขอเข้าชี้แจงกับ ปปง. ในวันสองวันนี้ด้วย

เอกสารที่เจ้าหน้าที่รวบรวมหลังเข้ายึดทรัพย์สหกรรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
เอกสารที่เจ้าหน้าที่รวบรวมหลังเข้ายึดทรัพย์สหกรรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

นายกิตติก้องกล่าวปิดท้ายว่า นอกจากจะเป็นการดำเนินคดีเรื่องยักยอกทรัพย์ ยังมีเรื่องฟอกเงินเกี่ยวข้องด้วย เพราะฉะนั้น หากมีผู้ใด นิติบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใด ช่วยเหลือผู้กระทำความผิด หรือช่วยเหลือในการจำหน่ายถ่ายโอนทรัพย์สิน ดีเอสไอจะดำเนินคดีอาญาผู้นั้นในฐานฟอกเงินด้วย และที่ผ่านมามีการข่มขู่พยานที่เป็นอดีตผู้บริหารสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง จึงขอเตือนไปยังผู้ที่มีพฤติการณ์ข่มขู่พยานว่า ดีเอสไอได้คุ้มครองพยานสำคัญบางปากไว้แล้ว การข่มขู่คุกคามพยานในคดีจะถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด

นายนพดล อุเทน ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการงานคดี 1 ปปง. ในฐานะหัวหน้าชุดทำงานคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่นของ ปปง. กล่าวว่า ทรัพย์สินที่ยึดและอายัดในครั้งนี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเท่านั้น ยังมีอีกหลายรายการทั้งบัญชีเงินฝาก และอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผู้อื่นถือครองแทน หรือที่เรียกว่านอมินี ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ที่ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหรือทำการยึดทรัพย์ เพราะต้องตรวจสอบหลักฐานให้ชัดเจนก่อน

อย่างไรก็ตามนายศุภชัยกล่าวในคลิป บนเว็บไซด์ยูทูป ซึ่งอัพโหลดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 หลังปฏิบัติการของ ปปง. และ DSI จบลง ว่าเหตุการณ์วันดังกล่าวมาจากมีผู้ร้องเรียนไป เพื่อสกัดกั้นไม่ให้การแก้ปัญหาของสหกรณ์ดำเนินไปตามปกติ ก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายตรงข้ามยังไม่ยอมเลิกรา ส่วนเอกสารหลักฐานที่เขาเอาไปก็เพื่อดูว่ามีมูลตามข้อกล่าวหาหรือไม่และให้นายศุภชัยไปชี้แจง

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า”เรื่องทั้งหมดยังเป็นแค่ข้อกล่าวหา ซึ่งกล่าวหากันมานานแล้ว ก็ต้องรอการพิสูจน์ความจริงตามเอกสารหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จึงขอให้สมาชิกสหกรณ์ฯคลองจั่นทำใจนิ่งๆ อย่าตกใจ เพราะฝ่ายตรงข้ามไม่อยากให้วันที่ 16 กรกฎาคมเป็นจริง(นายศุภชัยประกาศว่าจะให้สมาชิกมาทำธุรกรรมการเงินได้ตามปกติ)จึงเกิดเหตการณ์วันนี้ขึ้นมา สหกรณ์ตั้งมานาน”เรื่องจริง”ก็อาจจะพิสูจน์ช้าหน่อย การตรวจสอบวันนี้เพื่อให้ทีมปฏิบัติการมีผลงาน และเพื่อให้ขายข่าวได้”

เปิดคดีฟ้องร้อง”ศุภชัยและพวก”

ปฏิบัติการยึดและอายัดทรัพย์สินของนายศุภชัยและพวก ของ ปปง. และ DSI เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสมาชิกสหกรณ์ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการเรื่องมาก่อนแล้ว โดยวันที่ 21 มิถุนายน ที่ประชุมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีมติรับคดีที่สมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น กล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ขณะดำรงตำแหน่งประธานเมื่อ ปี 2552-2554 มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท

นายกิตติก้อง คุณาจันทร์ เจ้าหน้าที่ DSI ที่รับผิดชอบคดีนี้กล่าวว่า DSI รับเป็นคดีพิเศษเฉพาะเรื่องที่นายศุภชัย อนุมัติสินเชื่อลูกหนี้สมาชิกสมทบ 27 ราย ที่มีการจัดทำบัญชีกู้เท็จ รวมมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ามีโจทก์อื่นๆ ฟ้องในคดียักยอกทรัพย์เช่นเดียวกัน คดีจะถูกโอนมาให้ DSI สอบสวนแทนส่วนขั้นตอนต่อจากนี้จะเร่งเรียกฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงและแสดงหลักฐานแก้ต่าง

นายกิตติก้องกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กรรมการสหกรณ์ชุดที่ 28ฟ้องร้องคดีที่นายศุภชัยและพรรคพวก ยักยอกทรัพย์ส่วนเงินทดรองจ่าย 3,000 ล้านบาทและคดีความผิดเกี่ยวกับเช็ค ซึ่งศาลรับคำร้องและนัดไต่สวนไปแล้ว DSI ยังไม่รับดำเนินการเพราะหาก DSI ทำสำนวนยื่นให้อัยการฟ้องต่อจะเป็นการฟ้องร้องซ้ำซ้อน แต่หากคดีมีการถอนฟ้องสมาชิกสหกรณ์สามารถยื่นคำร้องแทนให้ DSI รับเป็นคดีพิเศษได้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบที่ศาลแพ่ง และศาลอาญารัชดาพบว่า คดีต่างๆ ที่ฟ้องในสมัยคณะกรรมการชุดที่ 28 ซึ่งมีนายมณฑล กันล้อม อดีตประธานคณะดำเนินการสหกรณ์คลองจั่น ซึ่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นโจทก์ และมีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นจำเลย ปรากฏว่าโจทก์(นายศุภชัย)ได้ทำการถอนฟ้องคดีไปเกือบทั้งหมดตามมติคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่นชุดที่ 29 ซึ่งนายศุภชัย ดำรงตำแหน่งประธาน ทำให้โจทก์และจำเลยเป็นคนเดียวกัน ซึ่งถอนฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2556 และทั้งศาลอาญา แพ่ง อนุญาตให้มีการถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกสารบบความ โดยให้เหตุผลว่าคดียังไม่มีการเริ่มไต่สวนทั้งโจทก์และจำเลย

สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมคดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ที่โจทก์ถอนฟ้องไปแล้วได้แก่

1.คดีอาญา จำเลยทำการยักยอกทรัพย์มูลค่า 1,921.74 ล้านบาท ขณะดำรงตำแหน่งบริหารสหกรณ์ ตั้งแต่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง 24 เมษายน 2555 หมายเลขดำ 1240/2556 แดง อ.2034/2556 ฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556
โจทก์ สหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยนายอารีย์ แย้มบุญยิ่ง อดีตผู้จัดการสหกรณ์เป็นผู้รับมอบอำนาจ
จำเลย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร และนางสาวศรันยา มานหมัด

2.คดีอาญา จำเลยทำการยักยอกทรัพย์มูลค่า 10,481.16 ล้านบาท ขณะดำรงตำแหน่งบริหารสหกรณ์ ตั้งแต่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง 4 พฤษภาคม 2555 หมายเลขดำ 1241/2556 ฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556
โจทก์ สหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยนายอารีย์ แย้มบุญยิ่ง อดีตผู้จัดการสหกรณ์เป็นผู้รับมอบอำนาจ
จำเลย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร และนางสาวศรันยา มานหมัด

3.คดีแพ่ง จำเลยทำการยักยอกทรัพย์มูลค่า 12,696 ล้านบาท
หมาย เลขดำ 1260/56 (1) แดง 2626/2556 ฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556
โจทก์ มี 2 ราย ได้แก่ 1. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 2. ธนาคารออมสิน
จำเลย มี 4 รายได้แก่1. นายศุภชัย ศรีศุภอักษร 2.นางสาวศรันยา มานหมัด 3.รต.สุนทร วารี 4.นางสุภาพร วารี หรือนางศรีสินี ศรีพสุมาวีดี

ขณะเดียวกันก็ยังมีอีก 2 คดีที่ฟ้องโดยสหกรณ์ฯ คลองจั่น และมีจำเลยคือนายศุภชัย ซึ่งโจทก์โดยนายศุภชัย มีการยื่นขอถอนฟ้องเช่นกันเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 แต่ศาลยังไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง เนื่องจากมีผู้แย้งต่อศาลว่า โจทก์ที่ขอถอนฟ้อง ดำเนินการโดยกรรมการคนละชุดกับโจทก์ที่เป็นผู้ฟ้อง อีกทั้งผู้บริหารโจทก์ยังเป็นจำเลยในคดีอีกด้วย

1.คดีแพ่ง เรียกทรัพย์คืนจากจำเลย 391.4 ล้านบาท คดีดำ 728/2556 ฟ้องเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์2556
โจทก์ คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
จำเลย มี 3 รายได้แก่ 1.นายศุภชัย ศรีศุภอักษร 2. บริษัท เอ็มโฮมเอสพีวี 2 3.นายบรรลือ กองไชย
โดยคดีดังกล่าวจะมีการไต่สวนในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ห้องพิจารณาคดี 501 เวลา 9.00 น

2. คดีอาญา ฉ้อโกง, ยักยอกทรัพย์ จำนวน 391.4ล้านบาท คดีดำ อ.1880/2556ฟ้องเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556
โจทก์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
จำเลย มี 3 รายได้แก่ 1.นายศุภชัย ศรีศุภอักษร 2. บริษัท เอ็มโฮมเอสพีวี 2 3.นายบรรลือ กองไชย
คดีดังกล่าวจะมีการไต่สวนในวันที่ 17 สิงหาคม 2556

นอกจากนี้ยังมีคดีแพ่งที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นจำเลย ประมาณ 10 กว่าคดี โจทก์คือสมาชิกสหกรณ์รายบุคคล ฟ้องในข้อหาสหกรณ์ฯ คลองจั่นผิดสัญญาเงินฝากอีกด้วย

อนึ่งก่อน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2556 นายศุภชัย เคยประกาศในงานสัมมนาฝ่าวิกฤตสหกรณ์ฯคลองจั่นว่า ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมจะอนุญาตให้สมาชิกเบิกถอน กู้และลาออกได้ตามความพอใจ ไม่จำกัดจำนวนเงิน โดยระบุว่าจะมีเงินเข้าสหกรณ์มาตั้งแต่ต้นเดือนประมาณ 4,000 ล้านบาท