ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อโจรสลัดสุดเนิร์ด ถล่มยักษ์ใหญ่วงการหนัง

เมื่อโจรสลัดสุดเนิร์ด ถล่มยักษ์ใหญ่วงการหนัง

22 มิถุนายน 2013


เหว่ยเฉียง

TPBAFKposter.tif

เอ็ด: “โทษทีเหอะค่ายเพลงชนะแน็ปสเตอร์ไม่ใช่หรือ?”
ฌอน: “ในศาล”
เอ็ด: “ใช่!”
ฌอน: “แล้วใครมันจะไปอยากซื้อแผ่นในทาวเวอร์เร็คคอร์ดกันอีกฮึ?”

นั่นคือบทสนทนากลางเรื่องของ The Social Newtwork (2010) ระหว่างฌอน ปาร์คเกอร์ (ผู้ร่วมก่อตั้ง Napster) และเอ็ดดัวร์โด ซาเวริน (ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook) เมื่อเอ็ดดัวร์โดแย้งกรณีที่ RIAA หรือสหพันธ์ผู้ประกอบการค่ายเพลงแห่งอเมริกา ฟ้องแน็ปสเตอร์ซึ่งเป็นเว็บแชร์ดาวน์โหลดเพลง เมื่อปลายปี 1999 จนทำให้แน็ปสเตอร์ต้องปิดตัวลงกลางปี 2001 ตามคำสั่งศาล ซึ่งฌอนก็โต้กลับว่า แต่มันก็ได้ทำลายธุรกิจวงการเพลงอย่างไม่มีทางกลับมารุ่งเหมือนเดิมได้อีก เมื่อห้างค้าปลีกอย่างทาวเวอร์เร็คคอร์ดค่อยๆ ตายไปพร้อมๆ กับจำนวนคนซื้อซีดีแผ่นแท้ที่ลดลงฮวบฮาบ ใช่! แน็ปสเตอร์แพ้ แต่ธุรกิจนี้พังยับ…ค่ายเพลงอาจชนะในการรบ แต่แน็ปสเตอร์ชนะในสงคราม!

ผ่านไปสิบกว่าปี สงครามยังไม่สิ้นสุด เมื่อนักรบหน้าใหม่ดาหน้ามาหาญต่อกรยักษ์ใหญ่ และหนึ่งในคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่ง ยากจะทัดทานคือ The Pirate Bay เมื่อยอดผู้ใช้งานพุ่งสูงมากกว่า 25 ล้าน หรือสิบเท่าของที่แน็ปสเตอร์เคยทำมา หรือห้าเท่าของจำนวนประชากรทั้งประเทศในสิงคโปร์!?

“การแชร์ไฟล์ดาวน์โหลดซึ่งไม่ได้ทำเพื่อการค้า ควรทำให้เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย ควรได้รับการคุ้มครอง เราต้องทบทวนกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งหมดกันใหม่ ลิขสิทธิ์ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ศิลปินได้เงิน แต่มันเป็นช่องทางทำเงินสำหรับพวกนายหน้า กับบริษัทจัดจำหน่ายต่างหาก” เพเตอร์ โชนเดอ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและโฆษกของ The Pirate Bay กล่าวกับสื่อ

The Data Centre
The Data Centre

The Pirate Bay เป็นเว็บไซต์สัญชาติสวีดิชที่ให้บริการบิททอร์เรนต์ ซึ่งเป็นระเบียบวิธีส่งข้อมูล (โปรโตคอล) รูปแบบหนึ่งที่เรียกกันว่า peer-to-peer (P2P หรือที่บ้านเรานิยมเรียกว่า “โหลดบิท”) หรือก็คือระบบที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนไฟล์ระหว่างกัน หรือใช้ทรัพยากรร่วมกันผ่านระบบเครือข่าย โดยเป็นระบบการสื่อสารจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งโดยตรง ซึ่งแต่เดิมนั้นเมื่อเราต้องการดาวน์โหลดไฟล์จากแม่ข่าย หากมีผู้ที่ต้องการไฟล์เดียวกับเรา 500 คน แห่มาดาวน์โหลดบนแม่ข่ายเดียวกันพร้อมๆ กัน โดยแต่ละคนมีแบนด์วิดท์ (Bandwidth-ค่าความเร็ว) คนละ 256 kbps ถ้าจะให้ทุกคนได้ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด ตัวแม่ข่ายจะต้องมีแบนด์วิดท์เท่ากับ 256kbps X 500 หรือ 125 mbit เลยทีเดียว ซึ่งไม่เพียงแต่จะเปลืองแบนด์วิดท์เท่านั้น แต่ยังจะต้องใช้แม่ข่ายที่มีความเร็วในการประมวลผลสูง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากปัญหาดังกล่าวนี้เอง ทำให้โปรแกรมแชร์ไฟล์ P2P ถูกพัฒนาขึ้นมารองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยใช้ทรัพยากรของแม่ข่ายให้น้อยลง และทำให้สามารถหาไฟล์ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น The Pirate Bay เป็นเว็บแรกๆ ที่ให้บริการ P2P มาตั้งแต่พฤศจิกายน 2003 โดยเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรต่อต้านกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เรียกว่าพีโรทบีโรน (Piratbyrån) หรือสำนักของเถื่อน (Piracy Bureau นัยว่าล้อเลียนสำนักทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้แคมเปญ ‘สิทธิในการก็อปปี้อยู่เหนือลิขสิทธิ์’) องค์กรสัญชาติสวีดิชที่สนับสนุนการแชร์ข้อมูล วัฒนธรรม และทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเสรี ซึ่งThe Pirate Bay เข้าอยู่ภายใต้องค์กรนี้ในเดือนตุลาคม 2004 และอันที่จริง แอดมินบางคนก็ทำงานให้องค์กรนี้มาแต่แรกแล้ว

gottfried svartholm warg (ซ้าย)และ (ขวา) peter sunde
gottfried svartholm warg (ซ้าย)และ (ขวา) peter sunde

The Pirate Bay ก่อตั้งโดย “ก็อตฟริด สวอร์ธอล์ม” และ “เฟรดริก เนยจ์” ภายใต้ชื่อแอดมิน “Anakata” และ “TiAMO” มีโฆษกออกสื่อคือ “เพเตอร์ โชนเดอ” พวกเขาถูกฟ้องร้องโดยสหภาพภาพยนตร์แห่งอเมริกา (MMPA) โดยตำรวจได้บุกยึดเซิร์ฟเวอร์ของเว็บซึ่งตั้งอยู่ในสตอกโฮล์ม เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2006 แต่เพียง 3 วันให้หลัง เว็บก็กลับมาให้บริการอีก กระทั่ง 17 เมษายน 2009 สามคนนี้ก็ถูกตัดสินให้มีความผิดในข้อหากระทำการอันละเมิดลิขสิทธิ์

TPB AFK: The Pirate Bay Away From Keyboard (2013) เป็นสารคดีตามติดกรณีที่ The Pirate Bay ถูกฟ้องร้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์ กำกับโดย “ซีโมน โคลเซอ” (Simon Klose) โดยระดมทุนจาก http://www.kickstarter.com เว็บไซต์ระดมทุนสำหรับหนังอิสระ ซึ่งเปิดให้มีการนำเสนอโครงการบนหน้าเว็บ แต่ละโปรเจ็คจะเข้าไประบุจำนวนทุนที่ต้องการ ซึ่งเดิมทีเขาประกาศไว้ที่ 25,000 เหรียญ แต่ปรากฏว่ามีผู้สนับสนุนสูงจนยอดพุ่งไปที่ 51,424 เหรียญ! ปัจจุบันหนังเรื่องนี้นอกจากจะดูฟรีทางยูทูบ หรือดาวน์โหลดได้จากบิททอร์เรนต์ และ http://www.tpbafk.tv หรือรวมถึงมีขายในรูปแบบดีวีดี ซึ่งภายในจะมีแถมสเปเชียลฟีเจอร์ เป็นคลิปที่ไม่ได้ถูกตัดมาใช้ในหนัง และภาพการเดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังต่างๆ เช่น เทศกาลหนังเบอร์ลิน ในเยอรมัน, เทศกาลหนัง SXSW ในอเมริกา, เทศกาลหนังบัวโนสไอเรส ในอาร์เจนตินา ฯลฯ

"ซีโมน โคลเซอ" (Simon Klose)
“ซีโมน โคลเซอ” (Simon Klose)

ในหนังได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำเว็บวิกิลีกส์ โดยเฉพาะกับกรณีโด่งดังของ พลทหารแบรดลีย์ แมนนิง วัย 22 ปี หนึ่งในหน่วยข่าวกรองฐานทัพอเมริกา ซึ่งปล่อยรั่วคลิปจากแบกแดด ที่วิกิลีกส์แฉภาพทหารสหรัฐฯ บนเฮลิคอปเตอร์อาปาเชยิงถล่มผู้สื่อข่าวรอยเตอร์และประชาชนละแวกนั้นจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายนับสิบราย แม้ว่ารอยเตอร์จะเรียกร้องให้สหรัฐฯ สืบสวนเหตุดังกล่าว แต่ทางกองทัพกลับกล่าวหาว่าพลทหารแบรดลีย์ต้องโทษฐานเผยความลับแก่ศัตรู และด้วยเหตุที่ The Pirate Bay ช่วยเหลือวิกิลีกส์ในคราวนั้น ทำให้พรรคไพเรทอาสาช่วยเก็บเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไว้ที่พิโอเนน (Pionen) คลังฐานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตอันเป็นแหล่งเก็บและเผยแพร่ข้อมูลของวิกิลีกส์ด้วยเช่นกัน ซึ่งอยู่ภายในภูเขาแห่งหนึ่งในสตอกโฮล์ม

Pirate Party เป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศต่างๆ พรรคไพเรทสนับสนุนสิทธิทางสังคม ประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อม ปฎิรูปลิขสิทธิ์และกฎสิทธิบัตร การให้ความรู้โดยการแชร์ข้อมูลอย่างเสรี เสรีภาพทางการศึกษาและสุขภาพ ซึ่งเริ่มก่อตั้งในสวีเดนเมื่อ 1 มกราคม 2006 (อันเป็นชนวนเหตุที่ทำให้อเมริกาตามไล่กวาดล้างกลุ่มละเมิดลิขสิทธิ์รายย่อยอื่นๆ) หลังจากนั้นก็เริ่มลุกลามไปยังประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี อังกฤษ สาธารณเช็ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ แคนนาดา สวิตเซอร์แลนด์ สเปน นิวซีแลนด์ กรีซ ฝรั่งเศส อิสราเอล โครเอเชีย และไอซ์แลนด์ โดยบรรดาพรรคเหล่านี้ได้ใช้สิทธิ์ของตนในการลงสมัครเลือกตั้งภายในประเทศตัวเองด้วย

อีกกรณีหนึ่งซึ่งน่าสนใจ และพาดพันกับเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารและความรู้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในหนังเรื่องนี้ คือ กรณีฆ่าตัวตายของ “อารอน สวาร์ตซ์” เมื่อวันที่ 11 มกราคม ปีนี้ อารอนเป็นโปรแกรมเมอร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตชาวอเมริกัน เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสังคมออนไลน์ “เรดดิต” และช่วยพัฒนาระบบฟีดอาร์เอสเอส (RSS หรือ Really Simple Syndication ระบบติดตามฟีดของเว็บไซต์ต่างๆ ในกรณีที่มีการอัพเดทข่าวสาร ผู้ติดตามจะทราบได้ในทันทีจากฟีดข่าว) สวาร์ตซ์ถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาในปี 2011 ว่าเจาะระบบเครือข่าวคอมพิวเตอร์ MIT เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลทางวิชาการที่มีลิขสิทธิ์นับล้านจากห้องสมุดดิจิทัลเจอร์นัล สตอเรจ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปแจกจ่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิด และอาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุดถึง 35 ปี และปรับอีก 1 ล้านเหรียญ

หรือกรณีที่หนังเปรียบเปรยว่า “นี่มันไม่ได้ต่างกับกรณีสิทธิบัตรยาในแอฟริกาใต้” ซึ่งอเมริกาได้กดดันประเทศต่างๆ ให้จัดการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ ที่หนึ่งในมาตรการกดดันคือ การขู่ตัดสิทธิพิเศษทางการค้า หรือ GSP ที่ทำให้ผู้ถือสิทธิ์ขายยาในราคาแพง ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาเหล่านั้นได้ กรณีของไทยได้เริ่มใช้มาตรการตามคำสั่งของอเมริกาในสมัยพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ โดยเริ่มประกาศใช้กับยารักษามะเร็งและเอดส์ กระทั่งในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้ทำการยกเลิกการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรในตัวยารักษามะเร็ง

TPB AFK

the-pirate-bay-away-keyboard

ในชื่อเรื่อง AFK เกิดจากการทุ่มเถียงในศาล เมื่อถูกไต่สวนว่า “ตอนไหนหรือที่พวกคุณมาเจอกันใน IRL” พวกเขาถามผู้พิพากษาว่า “IRL ของคุณน่ะคืออะไรหรือ” ผู้พิพากษาตอบว่า “ในชีวิตจริง (in real life)” พวกเขาเลยโต้ว่า “สำหรับพวกเรา เราเรียกว่า AFK ไปให้พ้นจากคีย์บอร์ด (away from keyboard) เพราะพวกเราเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตก็เป็นชีวิตจริงด้วย” ขณะที่ในตอนท้ายๆ เมื่อพวกเขาไปที่ชุมนุมของบรรดาแฮคเกอร์ เขากระซิบกับกล้องว่า “ชีวิตจริงน่ะมันเจ๋งกว่าในอินเทอร์เน็ตเยอะเลย…แต่นั่นอาจฟังเป็นเรื่องหัวรุนแรงสำหรับพวกแฮคเกอร์แถวนี้นะ” ใช่ ชีวิตมันเจ๋งมาก และไม่มีใครอยากมีชีวิตโดยถูกจำกัดเสรีภาพ ไม่ว่าร่างกายหรือความคิด สำหรับคนอื่น อินเทอร์เน็ตอาจไม่สำคัญอะไร แต่สำหรับพวกเขา ‘อินเทอร์เน็ต’ คือ ‘ชีวิต’

“การพิจารณาคดีในวันพรุ่งนี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่มันเป็นการเมือง…กว่าครึ่งของคนที่ใช้บิททอร์เรนท์ ก็เพราะไพเรทเบย์…มันเป็นจำนวนที่เยอะจนน่าตกใจเลยล่ะ” ประโยคนี้ทำให้นึกย้อนไปถึงหนังเรื่อง The Social Network อีกครั้ง เมื่อมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก พูดว่า “พวกเขาไม่ได้ฟ้องผมเพราะการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พวกเขาฟ้องผมเพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตพวกเขา ที่หลายๆ สิ่งไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคาดหมายไว้” ภาพสุดท้ายในตอนจบ แม้จะไม่มีคำพูดใด เซิร์ฟเวอร์ยังคงทำงาน ยังมีผู้ใช้บริการอย่างคึกคัก…ศึกครั้งนี้ยังอีกยาวไกลนัก