ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องวุ่นๆ เรื่องจำนำข้าว

เรื่องวุ่นๆ เรื่องจำนำข้าว

10 มิถุนายน 2013


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่าโครงการจำนำข้าวขาดทุน 260,000 ล้านบาท ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่าโครงการจำนำข้าวขาดทุน 260,000 ล้านบาท
ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com

กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตไปเลยครับ เมื่อ Moody’s Investor Service แอบออกมาบ่นเสียงดังๆ ว่า ไปได้ยินมาว่าโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลในปี 2555/56 อาจจะขาดทุนถึงสองแสนล้านบาท ซึ่งเยอะกว่าที่เขาคาดเอาไว้ ในขณะที่รัฐบาลยังคงยืนยันว่าการขาดทุนไม่น่าจะถึงสองแสนล้าน แต่ไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แท้จริงได้เพราะทุกอย่างดูจะลับไปเสียหมด

เรื่องจำนำข้าวนี้มันเป็นอย่างไรกันแน่ ขาดทุนสองแสนล้านเป็นไปได้หรือ และทำไมรัฐบาลถึงต้องตื่นเต้นกับ Moody’s ทั้งๆ ที่มีคนบ่นเรื่องนโยบายจำนำข้าวมาตั้งนานแล้ว? ขอชวนคุยเรื่องนี้หน่อยครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมา Moody’s Investor Service บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ ออกมา กระทุ้งรัฐบาลไทยเบาๆ โดยอ้างแหล่งข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่า ตัวเลขการขาดทุนในโครงการจำนำข้าวในปี 2555/56 ที่ประมาณการจากตัวเลขขายข้าวจริงๆ น่าจะสูงถึงสองแสนล้านบาท และยังบอกอีกว่า “การขาดทุนนี้และการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากไม่เปลี่ยนแปลง จะทำให้เป้าหมายการทำงบประมาณแบบสมดุลภายในปี 2560 ยากขึ้นเรื่อยๆ และมีผลลบต่อระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทย”

คำวิจารณ์นี้ไม่ต่างอะไรจากตัวเลขที่นักวิเคราะห์เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ แต่รัฐบาลดูจะตื่นเต้นกับบทวิเคราะห์ของ Moody’s อย่างมาก น่าจะเป็นเพราะความเสี่ยงที่ Moody’s อาจจะออกมาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลไทยสูงขึ้นได้ Moody’s ระบุอีกว่า เขาไม่สามารถยืนยันตัวเลขขาดทุนนี้กับทางรัฐบาลได้ ทำเอาผู้หลักผู้ใหญ่ของรัฐบาลออกมาประนาม Moody’s ว่า ไม่เป็นมืออาชีพ

ที่น่าสนใจคือ หลังจากมีข่าว ท่านนายกรัฐมนตรีระบุว่ายังไม่มีการรายงานตัวเลขขาดทุน และสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจง ส่วนกระทรวงพาณิชย์บอกว่า เบื้องต้นกระทรวงไม่เชื่อว่าตัวเลขขาดทุนจะถึงสองแสนล้าน “และยังมีข้าวที่ยังอยู่ในสต็อกรัฐบาลอีกจำนวนมาก ที่สามารถตีเป็นมูลค่ามหาศาล ที่ยังรอการระบาย ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าโครงการจะขาดทุนสูง”

กระทรวงการคลังบอกว่าไม่สามารถยืนยันตัวเลขได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมให้ข้อมูล

เอ่อ สรุปว่าประเทศนี้ไม่มีใครรู้เลยใช่ไหมครับ

ล่าสุด หลังจากได้ฟังแถลงข่าวเรื่องการขาดทุนจากการจำนำข้าวผมเริ่มเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้วครับ ใครยังไม่ได้ดูแนะนำเลยนะครับ เป็นหนึ่งในคลิปที่คนไทยควรดูเลยทีเดียว

กระทรวงพาณิชย์บอกว่าไม่สามารถระบุได้ว่าขาดทุนไปเท่าไร เพราะยังไม่ได้สรุปปิดบัญชี และข้าวยังไม่ได้ขาย โครงการยังไม่จบ จะมาตีว่ากำไรขาดทุนได้อย่างไร(!)

การให้เหตุผลแบบนี้ น่าสนใจมากครับ เพราะตามหลักการบัญชีแล้ว การตีมูลค่าสินค้าในสต็อก (และกำไรขาดทุนจากการเพิ่มหรือลดมูลค่าของสินค้าในสต็อก) เป็นหลักการเบื้องต้นของการคำนวณกำไรขาดทุน บริษัททั่วไปก็มีการซื้อขายของ และมีการเก็บของเข้าสต็อกและระบายออก แต่ทำไมบริษัททั่วไปจึงสามารถคำนวณกำไร ขาดทุน และเปิดเผยได้เป็นรายไตรมาส หรือถ้าเจ้าของบริษัทอยากรู้ กำไรขาดทุนรายวันก็สามารถจะคำนวณหามาให้ได้

และกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งดูแลเรื่องมาตรฐานบัญชีด้วย มันแปลกไหมละครับ

นี่เรากำลังพูดถึงโครงการที่ใช้เงินของรัฐไปแล้วกว่า “หกแสนล้านบาท” หรือประมาณสักหนึ่งในสามของงบประมาณรายจ่ายประจำปี การถามหาตัวเลขง่ายๆ เช่นว่ากำไรขาดทุนเท่าไร มีของอยู่ในสต็อกเท่าไร ใช้เงินไปแล้วเท่าไร ประเทศนี้หาคนมาตอบไม่ได้จริงๆ หรือครับ

ที่น่าสนใจอีกอันคือ ทางกระทรวงพาณิชย์ยืนยันได้เพียงว่าส่งมอบเงินจากการขายข้าวไปแล้ว “หนึ่งแสนสองหมื่นล้าน” แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ ว่าเงินจำนวนนี้มาจากการขายข้าวปริมาณเท่าไร ราคาเฉลี่ยของการขายคือเท่าไร (ไม่ต้องบอกหรอกครับว่าแต่ละล็อตที่ขายไปขายที่ราคาเท่าไร) แล้วข้าวเหลือในสต็อกเท่าไร ตัวเลขง่ายๆ แบบนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นคนคงครหากันได้ต่อไป ว่าทำไมถึงเปิดเผยไม่ได้ มีอะไรกับปริมาณข้าวในสต็อกหรือไม่

ฟังดูแล้วผมไม่แปลกใจเลย ว่าทำไม Moody’s ถึงมาวิจารณ์ประเทศไทยเรื่องการขาดทุนจากการจำนำข้าว ถ้าฟังการแถลงข่าวแบบนี้แล้วไม่ออกมาแสดงความกังวลนี่สิครับแปลก อย่าแปลกใจนะครับถ้าจะได้ยินข่าวว่า S&P กับ Fitch บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออีกสองแห่ง จะออกมาแสดงความห่วงใยกับเรื่องโครงการจำนำข้าวด้วย

ในเมื่อรัฐบาลบอกว่าไม่สามารถยืนยันตัวเลขขาดทุนได้ ผมจะขอลองคิดตัวเลขดูคร่าวๆดูนะครับ

ผมเข้าใจว่าโครงการรับจำนำข้าวตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ถ้าเราคุมปริมาณการส่งออกไว้ได้ ราคาข้าวในตลาดโลกก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลเลยตั้งหน้าตั้งตาซื้อข้าวทุกเมล็ดแล้วเก็บเอาไว้ไม่ส่งออก โดยหวังว่าราคาข้าวจะสูงขึ้น และการขาดทุนจากการขายข้าวน่าจะลดลง

แต่ปัญหาคือว่า แม้เราจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่หนึ่งในสามของโลก แต่เราไม่ได้ใหญ่เลยครับ เมื่อเทียบกับการผลิตข้าวในโลก (เพราะคนอื่นผลิตและบริโภคในประเทศเป็นส่วนใหญ่) และข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่ใช้เวลาผลิตเพียงแค่สามถึงสี่เดือน การตอบสนองต่อราคามีค่อนข้างสูง

ไทยส่งออกข้าวประมาณร้อยละ 20-25 ของการส่งออกข้าวของโลก แต่ประเทศไทยเป็นแค่ประมาณร้อยละ 4 ของการผลิตข้าวทั่วโลก

ที่มา:USDA
ที่มา: USDA

พอมีสัญญาณว่าไทยจะลดการส่งออกข้าวลง และต้นทุนข้าวไทยสูงขึ้น ประเทศอย่างเวียดนามและอินเดียก็ไม่รอช้า เร่งการผลิตและส่งออกจนแซงหน้าไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งไปเรียบร้อย หลังจากที่ไทยครองแชมป์มานาน และเริ่มมีประเทศเพื่อนบ้านส่งออกข้าวเปลือกมาให้ไทยสีเข้าโครงการด้วยครับ และราคาข้าวในตลาดโลกก็ไม่กระเตื้องขึ้นเลย

ราคาข้าวไทย (เส้นสีแดง) มีแนวโน้มลดลง ต่ำกว่าตอนเริ่มโครงการจำนำข้าว และสูงกว่าราคาข้าวเวียดนามค่อนข้างมาก

ที่มา : USDA
ที่มา: USDA

จากตัวเลขที่ได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ วงเงินในการรับจำนำข้าวที่ผ่านมามีประมาณ 500,000 ล้านบาท (เงินที่กระทรวงการคลังจัดหาให้ ธ.ก.ส. ประมาณ 410,000 ล้านบาท และสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. เองประมาณ 90,000 ล้านบาท มีเงินกระทรวงพาณิชย์ส่งคืนมาให้ประมาณ 120,000 ล้านบาท (ที่ไม่รู้ว่าขายไปกี่ตันนั่นแหละครับ) รวมเป็นเงินที่ใช้ในโครงการไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท

ข้าวเปลือกหนึ่งตัน สีเป็นข้าวสาร 5% ได้ประมาณ 450 กิโลกรัม เป็นปลายข้าวประมาณ 200 กิโลกรัม และรำข้าวอีกประมาณ 100 กิโลกรัม ตามอัตราการส่งมอบของกระทรวงพาณิชย์อัตราการส่งมอบของกระทรวงพาณิชย์ที่หักค่าสีข้าวตันละ 500 บาทจากมูลค่าปลายข้าวและรำข้าว รัฐบาลน่าจะได้ข้าวสารประมาณ 550-650 กิโลกรัมจากข้าวเปลือกหนึ่งตัน

ราคาข้าวสาร 5% ในประเทศปัจจุบันประมาณตันละ 15,300 บาท ส่วนราคาตลาดโลกประมาณ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันหรือประมาณ 16,500 บาท (ซึ่งอาจจะไม่ใช่ราคาที่แท้จริง เพราะมีการซื้อขายจริงน้อยลงมาก)

แปลว่า ทุกๆ หนึ่งตันข้าวเปลือก รัฐบาลน่าจะได้ข้าวสารมูลค่าประมาณ 8,500-10,000 บาท ที่ราคาตลาด ในขณะที่ต้นทุนการจำนำประมาณ 15,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก ดังนั้น ทุกๆ ตันข้าวเปลือกที่ซื้อมา รัฐบาลจะขาดทุนจากผลต่างราคาประมาณ 4,500-6,500 บาท ขึ้นอยู่กับความชนิด คุณภาพ และประเภทของข้าวเปลือกที่รับซื้อ

นี่ยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ เช่น ต้นทุนทางการเงิน (ประมาณร้อยละสามต่อปี หรือประมาณปีละ 15,000 ล้านบาท) ต้นทุนการบริหารจัดการโครงการ ต้นทุนการจัดเก็บข้าว (มีคนประมาณไว้ว่าประมาณตันละร้อยบาทต่อเดือน ถ้าเราเก็บสต็อกประมาณ 15 ล้านตันต่อปี ก็ตกประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี) ค่าเสื่อมคุณภาพของข้าว (ข้าวยิ่งเก็บนานยิ่งเสื่อม ราคายิ่งตก เผลอๆ มอด นก หนูกินหมด) และต้นทุนจากการคอร์รัปชัน (เช่น เวียนเทียนข้าว สลับข้าว ลักลอบขายข้าว ระบายข้าวให้แก่พวกพ้อง แลกข้าวกับสินค้าอื่นโดยไม่ระบุราคา ฯลฯ)

เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่ามีข้าวสารเหลือในสต็อกเท่าไร ผมตีเอาแบบนี้แล้วกันครับ โครงการรับจำนำข้าว ซื้อข้าวประมาณปีละประมาณ 22 ล้านตันข้าวเปลือก ที่ผ่านมาซื้อข้าวมาแล้วประมาณ 40 ล้านตันข้าวเปลือก (ตามที่ท่านรัฐมนตรีท่านว่าไว้) แค่ส่วนต่างจากราคาทุนกับราคาตลาด ก็ไม่แปลกใจแล้วครับว่าตัวเลขสองแสนกว่าล้านมาจากไหน นี่ยังไม่นับต้นทุนอื่นๆ ที่ผมว่าไว้นะครับ

บางคนบอกว่าเป็นโครงการที่ดี ชาวนาได้ประโยชน์ (ผมขอไม่พูดถึงประเด็นว่าใครได้ประโยชน์นะครับ หรือมันทำลายธุรกิจและระบบการค้าข้าวไปอย่างไร มีคนพูดถึงเยอะแล้ว) แต่การทำโครงการโดยไม่ต้องพิจารณาว่า ต้นทุนโครงการเป็นเท่าไร คงไม่ใช่การบริหารจัดการภาครัฐที่เหมาะสม ความ “คุ้มค่า” คืออะไร อยู่ตรงไหน

ถ้าตัวเลขสองแสนล้านเป็นเลขจริง มันเยอะขนาดไหนกัน? งบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทยอยู่ที่ประมาณสองล้านล้านบาท สองแสนล้านก็คือ ประมาณร้อยละ 10 ของงบประมาณรวม ที่มีสัดส่วนร้อยละ 80 เป็นรายจ่ายประจำ เหลือให้รัฐบาลใช้จ่ายในโครงการลงทุนไม่เท่าไร เรากำลังแลกเงินจำนวนนี้กับอะไร? โครงการชลประทาน? รถไฟรางคู่? ถนนชนบท? อะไรมีความเหมาะสมกว่ากัน เราไม่ต้องคิดกันเลยหรือครับ?

ถ้าทำโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ ขนาดของโครงการจะเป็นเท่าไร?

ขาดทุนจะเพิ่มเป็นเท่าไร?

การเอาเงินภาษีประชาชนไปเสี่ยงกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรขนาดนี้มันคุ้มหรือไม่?

การบริหารจัดการความเสี่ยงเงินของภาครัฐเหมาะสมหรือไม่?

โครงการใหญ่ขนาดนี้ ประเทศนี้ไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แท้จริงเลยหรือ?

จะเกิดอะไรขึ้นกับราคาข้าวในตลาดโลก ถ้าไทยต้องระบายข้าวในสต็อกอย่างรวดเร็วเพราะสต็อกส่วนใหญ่กำลังเสื่อมคุณภาพ?

การสร้างภาระการคลังแบบปลายเปิดแบบนี้เป็นการใช้นโยบายการคลังแบบมีความรับผิดชอบหรือไม่

มีใครตอบคำถามเหล่านี้ได้บ้างไหมครับ อนุกรรมการปิดบัญชีฯ พยายามออกมาพูดประเด็นพวกนี้ แล้วก็เห็นว่าแล้วเกิดอะไรขึ้นกับท่านรองปลัดกระทรวงการคลัง

เลิกพูดเถอะครับ ว่ายังไม่ขาย เลยยังไม่นับว่าขาดทุน โลกนี้มีคนซื้อของแพงกว่าราคาตลาดไม่เยอะหรอกครับ