ThaiPublica > สัมมนาเด่น > นักวิชาการวิพากษ์ประชานิยม รัฐบาล “ทักษิณถึงยิ่งลักษณ์” มือเริ่มล้วงเข้ากระเป๋าคนอื่น-เสี่ยงและอันตรายมากขึ้น

นักวิชาการวิพากษ์ประชานิยม รัฐบาล “ทักษิณถึงยิ่งลักษณ์” มือเริ่มล้วงเข้ากระเป๋าคนอื่น-เสี่ยงและอันตรายมากขึ้น

4 มิถุนายน 2013


30 พ.ค. 2556 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” วิทยากร (ซ้ายไปขวา) ได้แก่ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดร. เกษียร เตชะพีระ นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (ผู้ดำเนินรายการ) ดร. อัมมาร สยามวาลา ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์
30 พ.ค. 2556 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” จากซ้ายไปขวา ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ดร.เกษียร เตชะพีระ, นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (ผู้ดำเนินรายการ), ดร. อัมมาร สยามวาลา และ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2556 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” เพื่อทบทวนชวนคิดเรื่อง “ประชานิยม” ในเศรษฐกิจการเมืองไทยว่า 12 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยในปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับประชานิยมบ้าง

โดยมีนักวิชาการ “รุ่นใหญ่” มาเป็นวิทยากรร่วมวงเสนวนาอย่างเข้มข้น ได้แก่ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ, ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดำเนินรายการโดย นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbook

ในการเสวนามีการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง ตั้งแต่ประเด็นนิยามของ “ประชานิยม” การเปรียบเทียบประชานิยมยุคพรรคไทยรักไทย หรือช่วงรัฐบาล “ทักษิณ” กับพรรคเพื่อไทย หรือในรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” และทางออกในการแก้ไขปัญหาประชานิยม นอกจากนี้อาจเป็นครั้งแรกที่มีการวิพากษ์วิจารณ์พาดพิงถึงบทบาทหน้าที่ของทีดีอาร์ไอในฐานะนักวิชาการที่เกาะติดประชานิยม แต่ละเลยเรื่องที่มาของอำนาจทางการเมือง ไม่อาจแก้ปัญหาประชานิยมได้ ซึ่งประเด็นนี้มีคำตอบจากทีดีอาร์ไอ

นิยาม “ประชานิยม” ความเห็นที่หลากหลาย

ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์

“ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” นิยามว่า ประชานิยมมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ

1. เอาใจประชาชนระดับล่าง รัฐบาลไหนก็เอาใจคนระดับล่าง เพื่อเพิ่มคะแนนเสียงเลือกตั้งก็ได้ หรือเอาใจเพื่อสนับสนุนให้ยึดอำนาจก็ได้ ฉะนั้น วิธีที่จะเอาใจก็เอาใจขวาจัดก็ได้ ซ้ายจัดก็ได้ เผด็จการก็ได้ ประชาธิปไตยก็ได้ ได้หมดทุกอย่าง ตราบที่เอาใจประชาชนเพื่อการสนับสนุน

2. มีลักษณะเป็นนโยบายกระจายทรัพยากรไปถึงประชาชนในรูปใดก็ได้ แจกแปรงสีฟันก็ได้ ทำกองทุนหมู่บ้านก็ได้ ทำ 30 บาทรักษาทุกโรคก็ได้ แต่ลักษณะคือต้องกระจายออกไปให้ถึงมือประชาชนระดับล่าง

3. มีลักษณะชาตินิยม ที่มักมาควบคุมกับลักษณะการกระจายทรัพยากร โดยลักษณะชาตินิยมจะเป็นตัวกระตุ้น เป็นตัวเร้าใจให้คนเข้าร่วมได้ง่าย ในทางกลับกัน ไม่เล่นประชานิยมก็ได้ แต่ไปเน้นประชาคมของพลเมืองก็ได้เหมือนกัน เน้นเรื่อง Common Wealth (มีความมั่งคั่งร่วมกัน)

4. ประชานิยมมีในทุกสังคมและมีตลอดมา อเมริกาก็มี อย่างเร็วๆ นี้คือ Occupy Wall Street นี่ก็ประชานิยมเหมือนกัน เป็นต้น

“ต้องเข้าใจประชานิยมในลักษณะนี้เท่านั้นถึงจะอธิบายได้ว่าประชานิยมจะส่งต่ออย่างไร และจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด” ดร.นิธิกล่าว

“ดร.อัมมาร สยามวาลา” นิยามประชานิยมในเชิงเศรษฐกิจโดยค่อนข้างเห็นด้วยกับ “ประชานิยมในแง่การกระจายทรัพยากร” แต่ที่เกิดในประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ของประชานิยมของไทยตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมาคือเป็นนโยบายประชานิยม “ระดับชาติ” ที่เอาใจประชาชน ก่อนหน้านั้นเป็นประชานิยมใน “ระดับพื้นที่” ซึ่งบรรหาร ศิลปอาชา เป็นตัวอย่างแรกของประชานิยมแบบพื้นที่

แต่ “นวัตกรรมของทักษิณ” ได้รวบรวมเอานโยบายต่างๆ มาเป็นประชานิยมระดับชาติ เป็นเรื่องที่ทำให้ประชาธิปไตยก้าวข้ามไปสู่ทางที่ดีขึ้น คือ รัฐบาลสัญญาอะไรกับประชาชน เมื่อได้รับเลือกตั้งมาจะปฏิบัติตามสัญญาไว้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง ดร.อัมมารให้เกียรติกับทักษิณมาโดยตลอดในแง่ Accountability หรือ “ความรับผิดชอบ” ต่อสัญญาที่ให้ไว้

แต่ส่วนที่ “ค้านประชานิยม” มาตลอดคือ “รับผิดชอบเพียงครึ่งเดียว” เพราะว่านโยบายทุกอย่างที่รัฐบาลมีคนได้ เขาจะพูดแต่ว่าใครได้อะไร แต่ไม่มีการพูดถึงข้อเสีย และไม่แน่ใจว่าประชานิยมหมายถึงการต่อสู้เพื่อชนชั้นล่างที่ส่วนใหญ่ฐานะยากจน แต่คิดว่าต้องมีแนวนโยบายอะไรที่ชัดเจนกว่านั้น ซึ่งไม่ใช่ความผิดพรรคเพื่อไทยที่ทำให้มั่วไปหมดทุกอย่าง เพราะเขาต้องการได้คะแนนเสียงจากกลุ่มต่างๆ ที่เขาคิดว่าเขามีจุดอ่อน ผมไม่บอกว่าเขาทำสุ่มสี่สุ่มห้าเพราะเขาทำวิจัย แต่มันไม่ใช่แนวนโยบายที่ “coherent” (เชื่อมโยงกัน)

ดร. อัมมาร สยามวาลา
ดร.อัมมาร สยามวาลา

ดร.อัมมารระบุว่า ไม่ชอบประชานิยมอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ ทำให้การเมือง “ถูก” ลง ในความรู้สึกว่า “cheap” เพราะนักการเมืองทุกคนพูดกับประชาชนว่า คุณจะได้อันนี้ คุณจะได้อย่างนั้น ทุกคนจึงคิดว่า “ฉันจะได้อะไรจากรัฐบาล” ไม่ใช่ว่า “รัฐบาลจะทำอะไรเพื่อสังคมโดยรวม”

อาทิ ถ้าถามคนกรุงเทพฯ ว่าเห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าวหรือไม่ ซึ่งเขาไม่ได้ เขาก็จะไม่พูดอะไร ไม่เกี่ยวกับเขา และเขาก็คิดว่าไม่เป็นไร เพราะเขาจะได้นโยบายรถคันแรก ประชานิยมที่ฉลาดไม่ควรทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการกระจายทรัพยากรไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประชานิยมไทย เพราะมีคนถูกกระทบกระเทือน และถ้าเป็นการกระจายทรัพยากรในแง่เอาเงินอีกคนไปให้อีกคนหนึ่ง ประชานิยมไทยไม่ต้องการอย่างนั้น แต่ที่เกิดขึ้นคือ เอาเงินจากผู้เสียภาษีมาให้คนนั้นคนนี้

ปัญหาของประชานิยมคือ ความรับผิดชอบต่อต้นทุน ผลเสียต่างๆ ของนโยบายไม่อยู่ในสัญญา และไม่อยู่ในส่วนที่รัฐบาลรับผิดรับชอบ อันนี้ทำให้รัฐบาลถูกลง เพราะว่าการถกเถียงบทบาทรัฐบาลหรือรัฐในการทำนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ไปไกลเท่าที่ควร และนโยบายประชานิยมมันกลบเกลื่อนเรื่องที่ควรจะไปถึง ทุกคนมองต่างมองว่าข้าจะได้อะไรๆ มันทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปด้วย มองรัฐบาลอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นประเด็นที่ไม่เห็นด้วย

“ผมก็อยากจะให้เสื้อแดงได้สิ่งที่เขาต้องการ เพราะเป็นความต้องการจากรัฐที่เหมาะสม อาจเป็นความลำเอียงของผม แต่ผมให้ความหวังกับรัฐมาก เพราะรัฐเป็นองค์กรสาธารณะสูงสุดของประเทศ ทำอะไรเป็นสาธารณะโดยประโยชน์ทั่วไป ถ้าหากว่ารัฐบาลประชานิยมไหนๆ ก็ตามมีนโยบายชัดเจนว่า สิ่งที่ฉันทำจะพยายามเจาะจงไปที่คนยากจน คนพิการ อีกหลายๆ อย่าง เราควรจะนึกถึงนโยบายรัฐบาลที่จะให้กับคนที่อ่อนแอที่สุดในทางเศรษฐกิจ โดยพยายามให้ผลได้ต่อเขามากที่สุด และไม่มีการสูญเสียไปให้กับคนที่ฐานะดีอยู่แล้ว”

ดร.อัมมารยกตัวอย่างประชานิยมกรณีนโยบายจำนำข้าวว่า จริงๆ แล้วชาวนาที่ฐานะดีเป็นส่วนน้อยของชาวนาทั้งหมด แต่ไปได้ส่วนแบ่งส่วนใหญ่ของรัฐบาลที่โปรยไปให้ เพราะชาวนารวยผลิตข้าวได้มากกว่า แล้วรัฐบาลรับจำนำตามจำนวนตัน ชาวนารวยก็ต้องได้มากกว่าชาวนาจน ดังนั้นโครงการจำนำข้าวชาวนารวยได้ประโยชน์ แต่ชาวนาจนได้รับอานิสง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ยอดเยี่ยมมาก เพราะตามสูตรของกลไกตลาด เมื่อข้าวเปลือกแพง ข้าวสารต้องแพง แต่ข้าวสารกลับไม่แพง ที่ทำแบบนี้ได้เพราะเป็นประโยชน์ที่รัฐบาลได้ แต่กระบวนการทั้งหมดสร้างอำนาจผูกขาดให้พ่อค้ากลุ่มเดียว หรืออาจรายเดียวด้วยซ้ำไป ทำให้กลไกขายข้าวเปลี่ยนไป และตลาดส่งออกข้าวเริ่มแย่

“ประเทศไทยถ้าไม่ส่งออกข้าว ชาวนาอยู่ไม่ได้ เพราะตลาดข้าวครึ่งหนึ่งเป็นตลาดส่งออก ตอนนี้ข้าวผลิตขึ้นมาเพื่อให้เน่าในโกดัง รัฐบาลไม่คิดที่จะแก้ตั้งแต่ต้น และไม่เคยแก้ตลาดมา มันเป็นสร้างล็อบบี้ทางการเมืองที่ทรงพลังมากอยู่ในใจกลางของรัฐบาล และจะอยู่ไปอีกนาน” ดร.อัมมารกล่าว

เมื่อพาดพิงถึงโครงการจำนำข้าว ดร.นิธิ ซึ่งเคยเขียนบทความเห็นต่างกับทีดีอาร์ไอเรื่องโครงการจำนำข้าว แสดงความเห็นต่อสิ่งที่ ดร.อัมมารอธิบายว่า “ผมไม่ได้คิดว่าการกระทำรัฐบาลดีทั้งหมด” แต่มองว่านโยบายจำนำข้าวทำก็ได้ ถ้ามีระบบที่ระมัดระวัง โรงสีไม่โกง และพูดกลับกันได้ว่าโครงการจำนำข้าวตั้งใจให้ชาวนาจนได้ประโยชน์ และชาวนารวยเป็นผลพลอยได้ก็ได้

นอกจากนี้ เวลาพูดว่ารัฐบาลถูกลง ดร.นิธิตั้งข้อสังเกตว่าอาจมี “อคติ” บางอย่างอยู่ในใจ อาทิ ถ้าประชาชนอยากได้รถคันแรก ราคาลดไปแสนหนึ่ง ก็บอกว่าเป็นคนไม่ค่อยดี แต่อยากได้เขาพระวิหารคืน ก็ดูเป็นคนดีขึ้น หรืออยากได้ความยุติธรรมอย่างเช่นที่พวกเสื้อแดงเลือกรัฐบาลชุดนี้มา ซึ่งคืออะไรก็ไม่รู้เขาละ แต่ฟังดูก็จะบอกว่าพวกนี้เกือบๆ จะเป็นน้องๆ เทวดาแล้ว

“เพราะฉะนั้นเรื่อง cheap หรือไม่ cheap ระวังอคติเราเอง เมื่อไรเป็นวัตถุ เรารวยแล้วก็ค่อนข้างจะ cheap แต่พอเป็นอุดมคติ เป็นเขาพระวิหาร พวกนี้ก็น่ารักขึ้นมา เพราะฉะนั้นต้องระวังเรื่องนี้ด้วย” ดร.นิธิกล่าว

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

“ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ขอจำกัดมุมมอง “ประชานิยม” เฉพาะในด้านเศรษฐกิจ โดยเห็นด้วยว่า ประชานิยมมีมติของการหาเสียงทางการเมือง ในเวลาเดียวกันก็เป็นการโอนเงินจากกระเป๋าคนหนึ่งไปหาคนอีกคนหนึ่ง

แต่อีกมิติหนึ่งคือนโยบายที่เราวิพากษ์วิจารณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสำคัญและแตกต่างจากอดีตมากๆ คือ นโยบายเศรษฐกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ไปช่วยสร้างความเข้มแข็งของประชาชนหรือภาคธุรกิจเลย โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมรุ่นที่สอง หรือสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์รุ่นแรกๆ สมัยทักษิณยังพอมีสีสัน เช่นเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค และโอทอป เป็นต้น ที่พยายามสร้างขีดความสามารถและสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน

“ประชานิยมในช่วงแรก (ทักษิณ) เป็นนโยบายประชานิยมที่ฐานกว้าง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม แต่ประชานิยมในช่วงสอง (ยิ่งลักษณ์) เริ่มแบ่งเป็นแต่ละกลุ่ม เช่น เรื่องรถ เรื่องข้าว เรื่องแรงงาน แบ่งเป็นทีละกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็มีกลุ่มผลประโยชน์ในแต่ละเรื่องๆ และลักษณะการแบ่งที่ผลประโยชน์แคบลงๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นโยบายประชานิยมช่วงหลังคุณภาพด้อยคุณภาพลง และเป็นปัญหามากขึ้นไปด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าว

“ดร.เกษียร เตชะพีระ” มีความเห็นว่ามีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับประชานิยม 4 เรื่อง

1. นโยบายประชานิยมเป็นกระแสหลักของการเมืองในระดับโลกและในประเทศไทย ในระดับโลกเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเป็นผลจากการแพร่ขยายแนวทางเสรีนิยมใหม่ ซึ่งทำให้ไปเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรในส่วนรวม ดังนั้น ท่าทีแบบประชานิยมด้านหนึ่งเดินทางเสรีนิยมที่แย่งชิงทรัพยากรจากส่วนรวม ด้านหนึ่งตอบแทนให้คนตัวเล็กๆ สามารถอยู่ได้ แต่ในประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะของตัว

ประชานิยมแบบนี้ทำมานานท่ามกลางความเป็นประชาธิปไตย อำนาจทางการเมืองหลุดจากมือชนชั้นนำหรืออำมาตย์ ซึ่งหลายคนไม่ชอบคำนี้ ก็ขอให้อีกคำคือ non-majoritarian institution ไปสู่สถาบันที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น คือขยับจาก ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องคมนตรี ไปอยู่กับประชาชนมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีประชานิยม เพราะฐานส่วนใหญ่มาจากประชาชน

“ผมไม่อยากให้มองว่าผู้เลือกตั้งในทางบวก เพราะเขาตื่นตัวกว่านั้น ภาพที่เรามีอยู่ในประชานิยมคือ มีคนหนึ่งคิดอยู่บนหอคอยเสร็จแล้วโยนลงไป แล้วชาวบ้านก็แบมือรับ แต่ผมคิดว่ามันมีปฏิสัมพันธ์มากไปกว่านั้นในกระบวนการนโยบาย”

2. ปัญหาแท้จริงไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่คือการเมืองแบบประชานิยม แบบอำนาจนิยม คือนโยบายมากมายที่ผิดทาง ติดสินบน เอาใจชาวบ้านผู้เลือกตั้ง ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ถ้ากระบวนการกำหนดนโยบายเปิดให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม หรือเปิดกว้างรับกลุ่มพลังต่างๆ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม แต่ปัญหาคือ การเมืองแบบประชานิยมที่ผ่านมาเป็นกระบวนการแบบปิดแคบ และอำนาจนิยม

วิธีคิดแบบการเมืองประชานิยมคือ ขีดเส้นจำกัดมากแล้วบอกว่านี่คือ ประชาชน ส่วนพวกข้างนอกเป็น “เอเลี่ยน” ไม่ใช่ประชาชน และไม่เห็นว่าเป็นคนที่มีส่วนรวมในกระบวนการดำเนินนโยบาย ทำให้ไม่สามารถมีกระบวนตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ

เพราะฉะนั้น เวลาขีดเส้นว่านี่คือประชาชน ก็จะคิดถึงประชาชนราวกับเป็นองคาพยพ เป็นอวัยวะก้อนเดียว หรือคิดเป็นเหมือนร่างกายหนึ่ง “มือห้ามทะเลาะกับตีนฉันใด ประชาชนที่อยู่ภายใต้ก้อนการเมืองประชานิยมก็ห้ามทะเลาะกันฉันนั้น” มีเจตจำนงเดียว อาจมาจากดูไบก็ได้ อาจมาจากที่อื่นก็ได้ การผลักดันนโยบายก็เป็นไปตามเจตจำนงนั้น ใครที่คิดต่างถือว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน

ดร. เกษียร เตชะพีระ
ดร.เกษียร เตชะพีระ

“ในระบบวิธีคิดแบบการเมืองประชานิยมแบบนี้ ไม่มีพื้นที่ให้ทะเลาะกันในเชิงนโยบาย เห็นประชาชนเป็นก้อนเดียว ไม่ควรทะเลาะกัน ไม่ควรเห็นต่างกัน ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหานโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนำข้าว เรื่องรถคันแรก และนโยบายประชานิยมอื่นๆ ไม่ใช่ไปนั่งทะเลาะกันทีละนโยบาย แต่ต้องฟันลงไปที่การเมืองแบบประชานิยม ถ้าเราไม่เปลี่ยนตรงนี้ จะไม่สามารถเปิดกระบวนนโยบายออกแล้วให้กลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมถกเถียงพูดกันกันได้”

3. การเมืองแบบเทคโนแครต ไม่อาจคัดค้านทัดทานการเมืองแบบประชานิยมได้ หรือ “ไม่มีน้ำยา” เพราะวิธีคิดการเมืองแบบเทคโนแครตละเลยปัญหาที่มาของอำนาจ “ดูเบา” ปัญหาความชอบธรรมของที่มาของอำนาจ “ทีดีอาร์ไอ” ดูเบาเรื่องนี้หลังจากเกิดรัฐประหาร ดังนั้น ถึงแม้ว่าที่มาของอำนาจไม่ชอบธรรม แต่ถ้าอำนาจนั้นสามารถเอาปัญญาทางวิชาการไปประกอบแล้วผลักดันให้ใช้นโยบายถูกหลักวิชาเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ก็ทำ

“ผมคิดว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่เวิร์ค เหมือนกับเพียงแต่ขยับกระบี่ แล้วคุณปฏิเสธปัญหาเรื่องความชอบธรรมที่มาของอำนาจ คุณกลายเป็นผู้ที่ถูกกันออก (disenfranchise) จากวงการถกเถียงในหมู่ประชาธิปไตยได้ง่ายๆ”

4. ถ้าจะแก้ ฝ่ายต่างๆ ต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองของตัวเองใหม่ (repositioning ) กล่าวคือ ไม่ได้คิดว่าการเมืองเสื้อสีจบพรุ่งนี้ แต่ยิ่งปล่อยให้เป็นแบบนี้จะทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายที่วางอยู่ในเหตุผลขยับออกจากเสื้อสีได้ยาก โดยอุปสรรคอย่างหนึ่งคือ การเมืองมันแยกพวก แม้ระวังตัวอย่างไรก็จะถูกแขวนป้าย ทันที่ที่ถูกแขวนเสื้อก็ไม่มีใครฟังกัน ทุกวันนี้คำถามแรกที่เกิดขึ้นในแวดวงการถกเถียงคือ “พวกนี้เสื้อแดงหรือเปล่า” ถ้ายังอยู่ในกรอบแบบนี้ไม่มีทางสร้างฝ่ายค้านที่มีน้ำยาในระบบประชาธิปไตยเพื่อจะทัดทานพรรครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็งได้

“ด้วยความเคารพพรรคฝ่ายค้านคือประชาธิปัตย์ก็ถูกคุณชวนตรึงเอาไว้ ขยับไม่ได้ และถูกนั่งทับจากแกนนำในพรรคปัจจุบันที่มีคดีเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นปฏิรูปก็ไม่ได้ และถูกตรึงถูกทับจมลงเรื่อยๆ ดังนั้นโหมดการต่อสู้หลักของพรรคประชาธิปัตย์คือฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ตราบที่เรามีพรรคฝ่ายค้านแบบนี้เราจะไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพเลย”

ดังนั้น ภาวะแบบนี้จำเป็นต้องมีพลังฝ่ายค้านที่เข้มแข็งในสังคม เป็นคู่คุยกับรัฐบาลที่รัฐบาลต้องฟัง และบทสนทนาจะเริ่มขึ้นได้บ้างต้องออกห่างจากการเมืองเสื้อสี อันนี้ข้อเสนอว่า ทำไมต้องมีการ repositioning และอยากเสนอให้กลุ่มประชาชนกลุ่มต่างๆ กลุ่มอาชีพ กลุ่มนักวิชาการ ที่ไม่ทะเลาะกันเรื่องสีแล้วสร้างบทสนทนากับรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งได้ เพราะสภาก็ไม่สามารถพูดแทนปัญหาจำนวนมากได้

“การจะให้ประชาธิปไตยแข็งแรงจำเป็นต้องการบทสนทนาที่แข็งแรงและหลากหลายจากทุกกลุ่มในสังคม” ดร.เกษียรกล่าว

วิพากษ์ประชานิยม “ยุคทักษิณถึงยุคยิ่งลักษณ์” เสี่ยงและอันตรายมากขึ้น

ประเด็นประชานิยมจาก “ยุคทักษิณถึงยุคยิ่งลักษณ์” ทำให้ดีกรีของการเสวนาเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ดังนี้

ดร.นิธิมีความเห็นว่า ประชานิยมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีเงื่อนไขที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเมืองประชาชนนิยมในประเทศไทย คือ เกิดขึ้นในสังคมสองอย่างด้วยกันที่อยู่ด้วยกัน อันแรก สังคมที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อขาย ไม่ใช่สังคมเกษตร อันที่สอง มีความเหลื่อมล้ำสูง เมื่อสองอย่างอยู่ด้วยกันจะเกิดประชานิยม “แบบอันตราย”

ประชานิยมเกิดทุกแห่งทั่วโลก แต่จะเกิดแบบไม่เป็นอันตรายจะต้องเกิดในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำไม่สูงเท่านี้ และคนได้เข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจผลิตสินค้าและบริการเพื่อขายมาเป็นนานพอสมควร

สาเหตุที่สังคมการผลิตสินค้าและบริการเพื่อขายทำให้ประชานิยมเกิดขึ้นได้ค่อนข้างดี ดร.นิธิวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะที่พึ่งของคนในสังคมหายไป คือ ความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมประเพณีในการกำหนดให้เราเกิดความมั่นคงสำหรับคนเล็กๆ หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น หลังรัฐธรรมนูญ 40 เมื่อการเมืองแบบเลือกตั้งในไทยดูท่าทีมั่นคง นักการเมืองที่ฉลาดและเข้ามาใหม่ ไม่ถูกสกัดจุดอย่างคุณทักษิณมองเห็นทันทีว่าต้องเล่นเรื่องประชานิยมจึงประสบความสำเร็จตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเป็นต้นมา

ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์
ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประเด็นต่อมา ดร.นิธิมีข้อสังเกตว่า กรณีประชานิยมของประเทศไทยกับละตินอเมริกาคล้ายกันมาก คือหลายประเทศในละตินอเมริกากำลังเปลี่ยนจากผลิตเกษตรยังชีพมาสู่สังคมผลิตสินค้าและบริการในเวลาใกล้เคียงกับไทย และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจมากคือ เมื่อเกิดความจำเป็นที่กลุ่มอำมาตย์ไม่ยอมกระจายทรัพยากรลงไปข้างล่าง และเกิดผู้นำกลุ่มประชานิยมประสบความสำเร็จจากการเลือกตั้ง หรือแม้แต่รัฐประหารก็ตาม แม้อำมาตย์จะเกลียด “ฮูโก ชาเวซ “ อย่างมากๆ แต่อย่างน้อยที่สุด ฮูโก ชาเวซ ก็ไม่ทำให้เกิดการปฏิวัติมวลชน ทำให้การต่อสู้ทางชนชั้นหายไป และผู้นำประชานิยมคือตัวกลางระหว่างกลุ่มอำมาตย์กับมวลชชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจแต่ประชานิยมทำให้การปฏิวัติทางชนชั้นยุติลง

“กลับมาคิดถึงทักษิณ ผมว่าแกทำอย่างเดียวกัน คือถ้าสมมติเรายังอยู่ในการเมืองแบบเก่า ที่ไม่คิดถึงการกระจายทรัพยากรที่กว้างขวางเพียงพอแก่มวลชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ผมคิดว่าคิดว่าความตึงเครียดของสังคมไทยจะสูงมากขึ้นกว่านี้ แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ และคุณทักษิณเองก็น่าประหลาดมาก ความจริงตัวแกไม่เกี่ยวข้องกับมวลชนที่อยู่ข้างล่าง และผลประโยชน์ของแก่ก็อยู่ข้างบนทั้งหมด แล้วแกก็ทำนโยบายต่างๆ เหล่านี้ ทักษิณเหมือนตัวกลาง คล้าย ฮูโก ชาเวซ หรือเกือบจะไม่ต่างกัน ฮูโก ชาเวซ ต่างกว่าหน่อยที่ด่าอเมริกัน แต่ก็ค้าขายน้ำมันส่วนใหญ่กับอเมริกา”

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นโยบายในการกระจายทรัพยากร (Redistributive Policy) ของคุณทักษิณกระทบต่อผลประโยชน์ของอำมาตย์น้อย คือเป็นการนำเอาทรัพยากรกลาง ที่จะเรียกว่า “ภาษี” ไปทำ 30 บาทรักษาทุกโรค หรืออะไรก็แล้วแต่ ถือว่ากระทบอำมาตย์น้อย แต่การกระจายทรัพยากรโดยไม่กระทบคนอื่นเป็นไปไม่ได้ เพราะทรัพยากรในโลกมีจำกัด ใช้ไปเดี๋ยวก็เข้าไปล้วงใน “กระเป๋า” คนอื่นจนได้ และลักษณะขยายไปสู่เข้ากระเป๋าคนอื่น ไม่ว่าเป็นรัฐบาลที่ดี หรือรัฐบาลที่เลว หลีกหนีไม่พ้นเหมือนกัน

สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำ ไม่ว่าจะค่าแรง 300 บาท หรือจำนำข้าวก็ตามแต่ เริ่มล้วงเข้ามาในกระเป๋าคนอื่นแล้ว อย่างค่าแรง 300 บาท ล้วงกระเป๋านายจ้างที่ต้องควักเงินออกมาจ่ายให้แรงงาน นโยบายดีไม่ดียังไม่เถียงกันวันนี้ เอาแต่เพียงว่าหลีกหนีไม่พ้น

“สมมติว่า ถ้าอาจารย์อัมมารเป็นนายกฯ วันนี้ และต้องการทำนโยบายกระจายทรัพยากรเพื่อให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น ดูแลตัวเองให้ดีขึ้น ก็หนีไม่พ้นเอามือไปล้วงในกระเป๋าคนอื่นจนได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม”

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง “คุณทักษิณกับคุณยิ่งลักษณ์” ในมุมมองของ ดร.นิธิ คือ “มือเริ่มล้วงเข้ากระเป๋าคนอื่นมากขึ้น” และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าจำเป็นต้องสร้างพลังที่จะกำกับมือนั้นให้ดีขึ้น หรือสอนให้มือนั้นล้วงได้ถูกต้องได้ดีขึ้น และล้วงเอาไปใช้ให้เข้มแข็งขึ้น และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนดีขึ้น

ดร.นิธิคิดว่านโยบายประชานิยมเหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นได้ ถ้าไปไล่ดูระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะเห็นว่ามีช่วงหรือขณะหนึ่งของของการใช้การกระจายทรัพยากรหรือฝันว่าจะใช้นโยบายกระจายทรัพยากร อย่างก่อนหน้าที่ฮิตเลอร์จะเข้ามาก็คิดอะไรแบบนี้

“นโยบายประชานิยมทุกประเภท ไม่ว่าขวา ไม่ว่าซ้าย หรือกลาง มันมีเชื้อที่จะนำเราไปสู่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ และด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเราไม่เอาใจใส่เรื่อง (ที่อาจารย์เกษียรพูด) ความเป็นธรรมที่มาของอำนาจ ความถูกต้อง ความชอบธรรมของอำนาจ ผมคิดว่าราจะเปิดโอกาสให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จได้” ดร.นิธิกล่าว

ขณะที่ ดร.อัมมารบอกว่า ไม่มีข้อกังขาในหลายเรื่องที่ อาจารย์เกษียรกับอาจารย์นิธิพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่าในที่สุดต้อง “ล้วงกระเป๋า” ใครคนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็ล้วงกระเป๋าแล้ว เพียงแต่จะล้วงกระเป๋าในอนาคตหรือล้วงกระเป๋าในปัจจุบันเท่านั้น

“เป็นที่ทราบกันดีว่าคติพจน์ ประจำของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกคือ No free lunch มันไม่มีอะไรที่ฟรี (โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี) ช่วงที่ฟรีคือช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ คือในช่วง Great Depression ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่”

โดยนโยบายอย่าง 300 บาท ชัดเจนว่า ล้วงกระเป๋าคนอื่น แต่ ดร.อัมมารประกาศสนับสนุนนโยบายนี้อย่างมาก เพราะเป็นการทำให้นายทุนเพิ่มประสิทธิภาพด้วยวิธีการที่ดีกว่าการนั่งบ่นว่าหาคนไม่ได้แต่ไม่ปรับขึ้นเงินเดือน และกลไกการทำงานของตลาดแรงงานจะปล่อยเสรีไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้เสรีเมื่อขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงก็ไม่ปรับขึ้น จึงจำเป็นต้องมีแรงกระตุ้นจากรัฐบาลแต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในเรื่องนี้

งานเสวนาประชานิยมทีดีอาร์ไอ

ดร.อัมมารตั้งข้อสังเกตหนึ่งของ “ความไม่เอาไหน” ของระบบประชานิยม คือ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในร้อยประเทศที่ไม่มีดัชนีค่าจ้างแรงงาน ไม่มีใครสนใจ ถ้าขาดแคลนแรงงานก็เอาพม่ามา เขมรมา ตรงนี้ตนเป็นชาตินิยม ไม่อยากให้พวกนี้เข้ามา เพราะเป็นทางออกที่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว แทนที่จะเพิ่มค่าแรงและปรับปรุงตัวเอง นี่คือสิ่งที่อยากเห็นจากการเมืองไทย

ทีดีอาร์ไอเสนอตั้งกติกาวินัยการคลัง คุมรัฐใช้เงินประชานิยม

ดร.สมเกียรติคาดว่า ถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป เชื่อว่าจะมีการแข่งขันชูนโยบายประชานิยมเพื่อให้คะแนนเสียงชนะเลือกตั้ง นี่เป็นอาการน่ากลัวขอการแข่งขันกันเพื่อให้ได้อำนาจทางการเมืองแล้วทั้งสองฝ่ายจะต้องมุ่งสู่ประชานิยม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกรณีประเทศไทยก็ลามจากการเมืองระดับชาติไปสู่การเมืองท้องถิ่น เช่นการเลือกตั้ง กทม. รอบที่แล้ว จะเห็นว่าใช้ประชานิยมทั้งสองกลุ่มและจะเป็นกระแสต่อไป

การที่เราจะทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่แข่งขันกันจนทำลายตัวเอง หรือทำลายระบบเศรษฐกิจจนเกิดวิกฤติ จำเป็นต้องกำหนดกฎกติกาบางอย่าง อาจต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ คือ แก้ให้มีวินัยการคลังที่มีข้อจำกัดในการใช้เงิน ไม่ใช่ว่าจะใช้ให้ขาดดุลการคลังต่อเนื่องมาเท่าไรก็ได้ ตั้งแต่เกิดวิกฤติ 40 จนถึงปัจจุบัน ไทยขาดดุลการคลังทุกปี ยกเว้น ปี 2548 ปีเดียว และขาดดุลมาตลอด หากการเมืองแข่งขันชูประชานิยมก็คงจะขาดดุลมากขึ้น

แม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไม่สูง อยู่ที่ระดับ 44% ของจีดีพี แต่มันกระโดดขึ้นได้ถ้าเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เกิดแรงกระทบจากภายนอก เช่น วิกฤติในปี 2540 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 16% กระโดดขึ้นเป็น 66% ในเวลาเพียง 2-3 ปี ดังนั้น หนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 44% ก็กระโดดขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่เกิดมา และถ้าเศรษฐกิจเดินไปไม่ได้ ความเดือดร้อนจะเกิดต่อประชาชนทุกกลุ่ม

“นี่คือเกมที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องช่วยกันกำหนดกติกาให้การแข่งขันทางการเมืองไม่นำไปสู่การทำลายตัวเองของระบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจ กลไกวินัยการคลังเป็นกลไกที่ควรตระหนักมาก โดยรัฐธรรมนูญควรปล่อยให้พรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้ง โฆษณาชวนเชื่อได้ในขอบเขตที่วินัยทางการคลังอนุญาตให้ทำ ใครจะไปคิดนโยบายอะไรมาก็แล้วแต่ แต่ห้ามขาดดุลการคลังในภาวะปกติไม่ควรจะเกิน 2% และหน่วยงานทำวิชาการและประชาสังคมควรช่วยกันเรียกร้อง วิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่จะผูกพันชั่วลูกชั่วหลาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมามาก” ดร.สมเกียรติกล่าว

ขณะที่ ดร.อัมมารเสนอว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ ที่รัฐบาลใช้อำนาจรัฐใช้จ่ายออกไป จะต้องอยู่ในงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร โดยเท่าที่อ่านประวัติศาสตร์เมืองนอกประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพราะข้อถกเถียงเรื่องการใช้เงินรัฐและการเก็บภาษีจากประชาชน นี่คือสิ่งแรกที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยด้วย

“รัฐบาลจะขาดดุล 2% 5% 10% ก็ถกเถียงกันได้ต่อไป ตราบใดที่รัฐสภาตัดสินใจ ต้องการตรงนี้มากกว่า เวลานี้เงินจำนำข้าวเสียหายตั้งกี่แสนล้านบาท รัฐสภาไม่มีส่วนรับรู้ ยกเว้นตอนเลือกตั้งเข้ามาแล้วฝ่ายบริหารชี้แจง ของแบบนี้ถ้าไปดูงบประมาณแผ่นดินสมัยทักษิณ 1 การขาดดุลงบประมาณน้อย สามารถควบคุมงบประมาณแผ่นดินได้มากขึ้น แต่เงินกองทุนหมู่บ้าน 70,000 กว่าล้านบาท มาจากเงินยืมของรัฐบาลและธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณ” ดร.อัมมารกล่าว

“อัมมาร-สมเกียรติ” แจงบทบาทและแนวคิดที่มาของอำนาจ

ต่อกรณีที่ “ดร.เกษียร” มองว่า วิธีคิดการเมืองแบบเทคโนแครตละเลยปัญหาที่มาของอำนาจ “ดูเบา” ปัญหาความชอบธรรมของที่มาของอำนาจและ “ทีดีอาร์ไอ” ก็ดูเบาเรื่องที่มาของอำนาจ

ดร.อัมมารยอมรับว่า ทีดีอาร์ไอมีกลิ่นอายของ “เทคโนแครต” จากอดีต เพราะผู้ก่อตั้งก็เป็นเทคโนแครต และภูมิใจที่เป็นเทคโนแครต และมีจิตวิญญาณบางอย่างของเทคโนแครต และคิดว่าอย่างน้อยคนรุ่นต่อๆ มาเขาเข้าใจดีว่ายุคของเทคโนแครตมันหมดไปแล้ว แต่ทีดีอาร์ไออยากให้มีบางส่วนของจิตวิญญาณนั้นเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากประชานิยม ไม่ใช่จะลบล้างทั้งหมด อย่างนโยบาย 30 บาทฯ ผมเชียร์เต็มที่และจะเชียร์ต่อไป เพราะเป็นนโยบายที่ดีที่สุดที่ผมเห็น นี่คือตัวอย่างที่งานเราอยากทำ

“โดยส่วนตัว ผมอยากจะให้ประชาชนเห็นและเข้าใจว่าทีดีอาร์ไรเห็นว่ามีปัญหาอะไร เราไม่ได้ค้านนโยบายทั้งหมด จริงๆ ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ ให้เขาตัดสิน แต่ที่ผ่านมาประชาชนอาจเห็นภาพไม่หมด และไม่เห็นว่ามีทางเลือกอื่นใดที่เหมาะสมกว่าหรือไม่ ผมอยากเห็นทีดีอาร์ไอปรับบทบาทว่า เราดูทุกนโยบายของรัฐบาลและระหว่างเรื่องตั้งก็ต้องดูนโยบายทั้งสองข้างด้วย แต่ปัญหาการเลือกตั้งครั้งที่แล้วคือ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอนโยบายประชานิยมทั้งคู่”

ต่อกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีน้ำยา ดร.อัมมารบอกว่า ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีน้ำยาจริงๆ อีกส่วนหนึ่งเพราะรัฐธรรมนูญไม่ให้น้ำยาฝ่ายค้าน เขาเลยไม่มีอะไรทำเลยค้านแหลก

ส่วนเรื่องที่มาของอำนาจ ดร.อัมมารยอมรับว่า “จากการร่วมมือกับรัฐบาลที่ได้มาจากการปฏิวัติ ซึ่งเป็นการตัดสินใจของหลายคนรวมถึงผมด้วยที่ไปร่วมใน สนช. คงต้องทบทวน ยุคทหารครองเมืองจากการปฏิวัติมันหมดแล้ว และมันสร้างพิษในระบบการเมืองของเราจนถึงทุกวันนี้ หวังว่ามันค่อยๆ จางลงไปแล้ว”

ดร. อัมมาร สยามวาลา (ซ้าย) ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์  (ขาว)
ดร.อัมมาร สยามวาลา (ซ้าย) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ (ขวา)

ด้าน ดร.สมเกียรติเปรียบเปรยว่า หากในสวนสัตว์มีสัตว์หลายชนิดมาก ถ้าพูดในวงการการเมือง ก็มีพรรคการเมือง นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักวิชาการที่บทบาทการเมืองอาจไม่ชัดเท่า 2-3 กลุ่มแรก แต่อยากเห็นทีดีอาร์ไอและนักวิชาการทั่วไปเป็นนักวิชาการที่ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง ไม่ได้เป็นนักการเมือง การที่ประเทศไทยมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่ค่อยเข้มแข็งนัก ไม่ควรเป็นเหตุให้สถาบันทางวิชาการไปทำหน้าที่แทนพรรคฝ่ายค้าน

ทีดีอาร์ไอยังอยากจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเป็นชิ้นๆ ไปมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ตัวระบบการเมือง เพราะเสี่ยงและหลีกเลี่ยงได้ยากมากที่จะพัวพันกับเสื้อสีต่างๆ แต่การวิพากษ์วิจารณ์เชิงนโยบายซึ่งเป็นการกระทำของรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลไหนมีโอกาสเจอนโยบายที่ดีและไม่ดีผสมผสานกันไป โดยใช้ความรู้บอกได้ว่านโยบายไหนดี หรือมีข้อบกพร่องต้องปรับปรุง

“ถ้าสวนสัตว์มีหลายชนิดเราก็อยากเป็นชนิดที่เป็นวิชาการแบบที่เป็นอยู่ แต่แน่นอนว่าต้องทำอย่างไรให้ไม่ตกยุค แต่การไม่ตกยุคคือเราจะไปเปลี่ยนระบอบการเมือง หรือสิ่งแวดล้อมทางการเมืองที่ไกลเกินไป และเป็นเรื่องใหญ่ไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าไปทำ”

ต่อกรณีเรื่องที่มาของอำนาจนั้น ดร.สมเกียรติบอกว่า ทีดีอาร์ไอเคยคุยกันหลังจากที่มีนักวิชาการของทีดีอาร์ไอไปเข้าอยู่ในรัฐบาลหนึ่ง ซึ่งสรุปว่า “เราไม่ควรเดินในเส้นทางแบบนั้นอีก” และอยากเห็นการเมืองในเส้นทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น เป็นการเมืองที่นอกจากจะเป็นตัวแทนเสียงข้างมากในสังคมปัจจุบัน คุ้มครองเสียงข้างน้อยในปัจจุบัน คุ้มครองความแตกต่างความหลากหลายทางการเมืองแล้ว อยากมองให้ไกลไปคุ้มครองคนที่ไม่มีปากมีเสียงในวันนี้ แต่จะเกิดมาในอนาคตด้วย

ด้วยแง่มุมนี้ ทีดีอาร์ไอจึงวิตกทุกข์ร้อนกับนโยบายประชานิยม เพราะเห็นว่าถ้าปล่อยให้ดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างนี้ต่อไป อย่างที่อาจารย์นิธิบอกว่าไทยคล้ายละตินอเมริกา เราจะวิ่งไปสู่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน และคนที่รับภาระคือคนที่เกิดในวันนี้และยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งด้วยซ้ำ คือลูก คือหลาน คือคนทั่วไปที่ยังไม่มีปากมีเสียงในวันนี้

“ดังนั้น ในฐานะที่เป็นภาควิชาการ ทีดีอาร์ไอต้องการมีส่วนช่วยทำให้ระบบการเมืองใหม่ ระบบรัฐสภา มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยมีโครงการตั้งหน่วยวิเคราะห์งบประมาณรัฐสภา เพื่อช่วยให้รัฐสภาซึ่งเป็นตัวของประชาชนมีข้อมูลวิเคราะห์ดีขึ้น พรรคฝ่ายค้านไร้น้ำยาน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการเมืองโดยตรง” ดร.สมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ การเสวนา “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสวนาสาธารณะ “เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้” (Economy of Tomorrow) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทีดีอาร์ไอ กับมูนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) โดยเป็นกิจกรรมพัฒนาความรู้และแลกเปลี่ยนทางปัญญาในหมู่นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย และภาคประชาสังคม เกี่ยวกับการร่วมออกแบบ “เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้” ที่มีความเป็นธรรมทางสังคม ยั่งยืน และมีพลวัต ผ่านเวทีระดมสมอง เสวนาสาธารณะ และการค้นคว้าวิจัย