ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิพากษ์”ลดราคาจำนำข้าว” ชาวนาเดือนร้อนมากสุด ความเสียหาย- การทุจริตยังอยู่ระดับสูง

วิพากษ์”ลดราคาจำนำข้าว” ชาวนาเดือนร้อนมากสุด ความเสียหาย- การทุจริตยังอยู่ระดับสูง

24 มิถุนายน 2013


นโยบายรับจำนำข้าว ที่เคยทำให้รัฐบาลได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่อาจสะเทือนถึงเสถียรภาพรัฐบาล แรงกดดันจากการขาดทุนจำนวนมากส่งผลให้รัฐบาลปรับลดราคารับจำนำข้าวเหลือ 12,000 บาท/ตัน และจำกัดปริมาณรับจำนำไม่เกิน 500,000 บาท/ครัวเรือน จากเดิมที่หาเสียงไว้ 15,000 บาท/ตัน และรับจำนำทุกเมล็ด

การปรับเปลี่ยนนโยบายจำนำข้าวในจังหวะที่รัฐบาลขาลง จึงทำให้ทุกภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลตั้งแต่ต้นออกมา “ตอกย้ำ” ถึงความไม่ถูกต้อง และความเสียหายของนโยบายจำนำข้าว พร้อมประเมินว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะผลกระทบตกอยู่กับ “ชาวนา” มากที่สุด คือรายได้หายไป 3,000 บาท/ตัน ซึ่งช่วยลดความเสียหายรัฐบาลได้บ้างในส่วนนี้ แต่ความเสียหายในกระบวนจำนำข้าวแทบไม่เปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ การทุจริตยังไม่ได้รับการแก้ไข

เพราะฉะนั้น แม้รัฐบาลจะปรับลดราคาจำนำข้าว และจำกัดปริมาณการรับจำนำ แต่ความเสียหายของรัฐบาลโดยรวมไม่ได้ลดลงมาก

“หม่อมอุ๋ย” แจงราคาจำนำลด แต่ยังขาดทุนกว่า 2 แสนล้าน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ “หม่อมอุ๋ย” ซึ่งให้ความสนใจและเกาะติดนโยบายจำนำข้าวมาตลอด ประเมินว่า เหตุผลที่รัฐบาลลดราคาและจำกัดปริมาณจำนำข้าว เพราะต้องการลดความเสียหาย แต่จากการคำนวณความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2555/56 พบว่า สามารถลดความเสียหายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาทเท่านั้น จากความเสียหายทั้งหมดประมาณ 230,000 ล้านบาท

คาามเสียหายจำนำข้าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรอธิบายว่า โครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2555/56 หากใช้ราคารับจำนำ 15,000 บาท/ตัน ตลอดโครงการ จะมีความเสียหายอย่างน้อยประมาณ 230,000 ล้านบาท แต่ถ้าปรับลดราคาเหลือ 12,000 บาท/ตัน ในช่วงที่เหลือของฤดูกาลผลิต 2555/56 หรืออีก 4 เดือน จะทำให้ความเสียหายของรัฐบาลลดลงประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมาจากต้นทุนรับจำนำ 18,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง 2,000 ล้านบาท

เพราะฉะนั้น ทั้งฤดูกาลผลิต 2555/56 ความเสียหายจาก 230,000 ล้านบาท จะลดลงเหลือ 210,000 ล้านบาท

“ต้นทุนรับจำนำของรัฐที่ลดลง 18,000 ล้านบาท คือส่วนที่กระทบชาวนา ทำให้ส่วนที่ชาวนาจะได้รับแบบเนื้อๆ หายไป แต่ความเสียหายโดยรวมของรัฐบาลยังสูงถึง 200,000 ล้านบาท จึงเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ส่วนตัวมีความเห็นว่าควรเลิกนโยบายจำนำข้าว และหันไปใช้นโยบายประกันรายได้ ซึ่งจ่ายเงินตรงกับชาวนาโดยไม่ผ่านกระบนการขั้นตอนการจำนำข้าว จะช่วยลดความเสียหายได้มากกว่า และชาวนาก็ได้รับเงินเนื้อๆ และครอบคลุมชาวนาทุกครัวเรือน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

โชว์สูตรคำนวณฤดูกาลผลิต 2554/55 ขาดทุนมากกว่า 1.36 แสนล้าน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงความเสียหายในปี 2554/55 ณ ม.ค. ปี 2556 ว่า หากคำนวณตามที่รัฐบาลบอก หรือตามที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวประเมินอยู่ที่ 136,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สำคัญอีก 3 รายการ คือ ภาระดอกเบี้ยจ่าย ค่าเสื่อม และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งหากรวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะทำให้รัฐบาลมีความเสียหายอย่างน้อยอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท มากกว่าที่รัฐบาลประเมินไว้

ความเสียหายจำนำข้าวปี2554/55

“หากเปรียบเทียบทั้ง 2 ฤดูการผลิต คือ 2554/55 จะขาดทุนอย่างน้อย 200,000 ล้านบาท และฤดูการผลิต 2555/56 จะขาดทุนอย่างน้อย 230,000 ล้านบาท ในกรณีราคารับจำนำเท่าเดิม เพราะฉะนั้น รวม 2 ฤดูการผลิต จะมีความเสียหายอย่างน้อยกว่า 400,000 ล้านบาท นี่คือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลต้องปรับลดราคารับจำนำเพื่อลดภาระความเสียหาย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2556 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนาเรื่อง “ลดราคาจำนำข้าว-ขาดทุน-ป้องกันทุจริตได้จริงหรือ?” ได้เชิญผู้ที่เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าว ซึ่งฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาลเห็นสอดคล้องกันว่าชาวนาเสียหายมากสุด แต่การทุจริตยังอยู่

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา, ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ, นายรังสรรค์ กาสูลงค์ ผู้แทนชาวนาไทย ในขณะที่นายบุญทรง เตริยมภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมลักษณ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมเสวนาแทน ทั้งนี้นายเกียรติ ได้มอบหนังสือ “รู้ลึก รู้จริง โกง..จำนำข้าว” ที่พรรคประชาธิปัตย์จัดทำให้กับอธิบดีกรมการค้าภายในเพื่อส่งต่อไปยังนายบุญทรงด้วย

การเสวนาเรื่อง “ลดราคาจำนำข้าว-ขาดทุน-ป้องกันทุจริตได้จริงหรือ?” เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2556 ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร, นายสมพร อิศวิลานนท์, นายเกียรติ สิทธิอมร, น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมลักษณ์, นายรังสรรค์ กาสูลงค์  (จากซ้ายไปขาว)
การเสวนาเรื่อง “ลดราคาจำนำข้าว-ขาดทุน-ป้องกันทุจริตได้จริงหรือ?” เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2556 ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร, นายสมพร อิศวิลานนท์, นายเกียรติ สิทธิอมร, น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมลักษณ์, พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี (จากซ้ายไปขาว)

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้รัฐบาลถังแตก ลดราคาจำนำข้าว

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ว่า การลดราคาจำนำเหลือ 12,000 บาทต่อตัน เป็นการแก้ปัญหาให้มีเงินจำนำต่อ เพราะรัฐบาลไม่มีเงินแล้ว แม้จะมีเพดานวงเงินกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 5 แสนล้านบาท สำหรับ 4 ฤดู แต่ตอนนี้ใช้เงินไปกว่า 600,000 ล้านบาท แล้ว ทำให้เงินไม่พอ

อย่างไรก็ตาม ราคาจำนำที่ลดลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน จะช่วยลดการขาดทุนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เป็นการเฉือนเงินอุดหนุนชาวนา ขณะที่ไม่ได้ลดประโยชน์โรงสี โกดัง และพ่อค้าที่มีเส้นสายกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สำคัญ รัฐบาลยังไม่ได้ปรับวิธีการขายข้าวซึ่งไม่โปร่งใสและไม่เปิดข้อมูลสำคัญของการขายข้าว นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีภาระขาดทุนจากการอุดหนุนผู้บริโภคและการแอบขายข้าว

“ฉะนั้น การลดราคาจำนำอาจช่วยลดราคาขาดทุนได้บางส่วน แต่ในขณะนี้รัฐบาลไม่มีทีท่าที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตทางการค้า โดยเฉพาะการระบายข้าวที่อาศัยอำนาจระดับสูงที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ที่รัฐบาลจะต้องแถลงว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมไปถึงการทบทวนโครงการข้าวถุงราคาถูก”

รัฐบาลขาดทุนลดลงแค่ 8.7 หมื่นล้านบาท

ดร.นิพนธ์ประเมินว่า การลดราคาจำนำข้าวจะช่วยทำให้วงเงินรับจำนำลดลงประมาณ 49.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 89,000 ล้านบาท หรือมีส่วนต่างที่ลดลง 87,000 ล้านบาท โดยการคำนวณใช้ข้อมูลการจำนำนาปี 2554/55 และนาปรัง 2555 เป็นฐานการคำนวณ และมีสมมติฐาน 3 ข้อ คือ

ข้อ 1 การลดราคาลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน และลดปริมาณการจำนำสำหรับชาวนาที่มีข้าวเกิน 5 แสนบาทต่อราย ซึ่งถ้าคิดเป็นปริมาณข้าวประมาณ 41.7 ตันต่อราย โดยสมมุติว่าไม่มีเกษตรกรครัวเรือนไหนที่มีข้าวเกิน 41.7 ตัน

ข้อ 2 ถ้าสมมุติว่าราคาจำนำลดลง จำกัดปริมาณการจำนำน้อยลง และชาวนาจะเอาข้าวมาจำนำน้อยลง

ข้อ 3 ในการคำนวณของทีดีอาร์ไอแตกต่างจากรายงานของกระทรวงการคลัง โดยทีดีอาร์ไอคิดต้นทุนดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี และค่าเสื่อมข้าวเป็นเวลา 2 ปี ทั้ง 2 ส่วนนี้สำหรับข้าวที่ยังไม่ได้ขายออก และสมมุติว่ารัฐบาลขายข้าวหมดภายในสิ้นปี 2556 ในราคาตลาด และไม่มีการทุจริต

ขาดทุนจำนำข้าว

เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ปริมาณการจำนำนาปีจะลดลง 21.5 เปอร์เซ็นต์ นาปรังลดลง 23-24 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณรวมของข้าวที่เข้าร่วมโครงการจะลดลง 17.2 เปอร์เซ็นต์ และชาวนาได้ผลกระทบจากการปรับนโยบายลดราคาจำนำข้าว 81,000 คน จึงทำให้รัฐบาลใช้วงเงินรับจำนำลดลง 49.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 87,000 ล้านบาท

รายได้ชาวนาหด 1.1 แสนล้าน

ดร.นิพนธ์ระบุว่า ขณะที่การลดราคาจำนำมีผลกระทบทำให้รายได้ชาวนาลดลงประมาณ 76,500-110,000 ล้านบาท ซึ่งชาวนารายใหญ่จะได้รับผลกระทบมากกว่าชาวนารายเล็ก แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สำคัญก็คือโรงสี ค่าจ้างโรงสี ค่าเช่าโกดัง จะลดลงเล็กน้อยเพียง 7,400 ล้านบาท หรือลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ส่วนเงินกู้ที่จ่ายให้ชาวนาจะลดลงจากเดิม 300,000 ล้านบาท เหลือเพียง 250,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลดจาก 41,000 ล้านบาท เหลือ 39,000 ล้านบาท ลดลงไปเล็กน้อย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่รวมดอกเบี้ย 2,300 ล้านบาท

ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการจำนำคราวลดลงน้อยมาก คร่าวๆ คือประมาณ 83,494 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ชาวนาที่หายไป 76,500-110,000 ล้านบาท

โกงอุดหนุนข้าวถุง คาดบิ๊กรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง

สำหรับประเด็นรัฐบาลขาดทุนจากการขายข้าวถุงเพื่ออุดหนุนผู้บริโภค และมีข่าวการทุจริตระดับสูง ดร.นิพนธ์กล่าวว่า การขาดทุนมี 4 ส่วน คือ การอุดหนุนชาวนา การอุดหนุนผู้บริโภค ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และเงินใต้โต๊ะ

จากการประเมินของทีดีอาร์ไอพบว่า รัฐบาลขาดทุนจากการอุดหนุนชาวนา 8.6 บาทต่อกิโลกรัม และขาดทุนจากการขายข้าวถุงเพื่ออุดหนุนผู้บริโภค 7.5 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่การขายข้าวถุงผ่านองค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือพรรคพวกโดยการเปาเกาจะกินมีส่วนต่าง 6.87 บาทต่อกิโลกรัม ก็เอาจำนวนข้าวคูณเข้าไปก็จะรู้ว่าขายไปเท่าไหร่

“ข่าวทุจริตถ้าเป็นเปาเกาที่เราได้ยินกันคือรัฐบาลขายข้าวให้พ่อค้าพรรคพวกในราคา 10 บาท เป็นราคาต่ำมากถ้าประมูลโปร่งใส่ต้องได้ราคา 14-15 บาทตามราคาตลาด ส่วนต่างประมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัม ตกในมือของใคร หรือกรณีเปาเกา โดยพรรคพวกแอบนำข้าวเปลือกไปขายก่อน อาจมีช่องเกิดการทุจริต” ดร.นิพนธ์กล่าว

ดร.นิพนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีตัวช่วยที่ทำให้มีข้าวพวกนี้ออกไปขายรวมทั้งการแอบขาย เอาข้าวเปลือกไปขายและไม่สามารถปิดบัญชีการจำนำข้าวนาปี 2555/2556 ได้ 2.5 ล้านตันเพราะคณะอนุกรรมการกำกับดูแลได้เปลี่ยนกติกาให้โรงสีที่มีข้าวเปลือกจำนวนมากไม่ต้องสีแปรใน 7 วัน และการที่อนุมัติให้มีการนำเข้าข้าวสารราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่มีการจำนำ เอื้อต่อการที่จะทำให้คนมีอำนาจบางคนแอบเอาข้าวสารคุณภาพดีจากโครงการไปขายให้พรรคพวก และเอาข้าวสารราคาถูกจากกัมพูชามาส่งให้โกดังกลาง “อันนี้รัฐทำเอง” เป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย หรือบางส่วนไม่ได้เอาข้าวที่สวมสิทธิเข้าไปใส่แทนในโกดังด้วยซ้ำ

“วันใดก็ตามที่มีการตรวจสอบเรื่องนี้พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับต้องรับผิดชอบ นี่คือกระบวนการทุจริตระดับสูงซึ่งถ้าไม่มีผู้มีอำนาจระดับสูงรู้เห็นทำอย่างนี้ไม่ได้โดยเด็ดขาด” ดร.นิพนธ์กล่าว

แอบระบายข้าว 1.9 ล้านตัน ทำปิดบัญชีไม่ได้

นายนิพนธ์กล่าวว่า รัฐบาลควรเริ่มจากการยกเลิกกติกาการสีแปรสภาพ 7 วัน ซึ่งขณะนี้ประเมินได้ว่าข้าวในประเทศมีมากผิดปกติประมาณ 3 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีการอ้างว่ายังไม่ได้ส่งมอบเข้าโกดังกลางประมาณ 2 ล้านตัน ขณะที่ข้าว 1 ล้านตัน ไม่สามารถบอกที่มาได้ เนื่องจากข้าว 3 ฤดูกาล ได้แก่ นาปี 2554/55, นาปรัง 2555 และนาปี 2555/56 จะมีปริมาณรวม 40 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งอยู่ในโครงการฯ ยังมีปริมาณจากการบริโภคภายใน 18 เดือน รวม 26.1 ล้านตันข้าวสาร และที่มีการผ่านตลาดทั่วไป 8.9 ล้านตัน เมื่อรวมกับที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แจ้งต่อสภาว่าได้ระบายข้าว 7 ล้านตันข้าวสาร ทำให้มีข้าวเกินอยู่ในระบบ

ข้าวเปลือกแพง ข้าวสารถูก

ปริมาณข้าวที่เกินมาทำให้ราคาข้าวสารรัฐบาลนี้ถูกว่ายุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าระบายแค่ 7 ล้านตัน จริง ราคาข้าวสารในตลาดต้องแพงขึ้น แสดงว่าต้องมีการระบายส่วนต่างประมาณ 1.9 ล้านตัน ถูกกระบายออกมา และเมื่อรวมกับข้าวในมือเอกชน ต้องมีสต็อกอีกประมาณ 2 ล้านตัน รวม 3.9 ล้านตัน นี่เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมรัฐบาลปิดบัญชี 55/56 ไม่ได้ เนื่องจากมีจำนวนข้าวมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะมีข้าวเปลือกไม่ลงบัญชี 2.5ล้านตัน ซึ่งส่วนหนึ่งประมาณ 1 ล้านตัน น่าจะเป็นข้าวที่มาจากกัมพูชา และเข้ามาในโครงการโดยโรงสีที่ใช้ช่องกำหนดเวลาสีแปรสภาพ 7 วัน เป็นช่องทางให้นำข้าวมาสวมสิทธิ์

“การที่รัฐบาลลดราคาครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาเพียงส่วนเดียว คือลดภาระรัฐขาดทุน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอีก 2 ส่วนคือ รายได้เกษตรกรและการทุจริต” ดร.นิพนธ์กล่าว

ราคาจำนำลด แต่ต้นทุนเพิ่ม

นายรังสรรค์ กาสูลงค์ ผู้แทนชาวนาไทย กล่าวว่า การลดจำนวนเงินรับจำนำและปริมาณการรับจำ คนที่เสียหายมากที่สุดคือชาวนา คือเสียไปเกวียนละ 3,000 บาท ซึ่งผลผลิต 1 ไร่ ได้ข้าว 35 เกวียน และการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปช่วยด้านเงินกู้ และหาปุ๋ยราคาถูกให้ ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรแต่เป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกร ดังนั้น การลดราคาและปริมาณจำนำข้าวไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด และอ้างว่าเพื่อลดขาดทุน

“พวกเราไม่ได้เรียกร้องจะเอา 15,000 บาท เอามายัดเยียดและเพิ่มต้นทุนให้ วันนี้ต้นทุนเดินมา 15,000 แล้ว ราคาค่าเช่านาไร่ละ 500-700 บาทต่อปี แต่ตอนนี้ปรับขึ้นเป็น 1000-1500 ต่อไป ที่หนักที่สุดคิดเป็นครอปการผลิต ไม่ใช่ต่อปี ต้นทุนอย่างนี้แม้ว่ารัฐบาลจะลดราคาจำนำ แต่พวกนี้เขาจะลดไหม โครงการนี้จะขาดทุนไม่มีวันจบสิ้น อย่าบอกว่าเป็นการขาดทุนเพื่อเสียให้เกษตรกรเลย” นายรังสรรค์กล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ นายรังสรรค์ระบุว่า จะเดินทางพร้อมมวลชนไปยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะชาวนาไม่ยอมรับการปรับลดราคาเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท แต่เห็นด้วยการกำหนดเพดานรายละไม่เกิน 5 แสนบาท เพราะเป็นชาวนาส่วนใหญ่ที่จะได้ประโยชน์

ไล่ “บุญทรง” พ้นตำแหน่ง

นายรังสรรค์กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนนี้ไม่สมควรที่จะอยู่ใน ครม. ชุดนี้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องข้าวเลย ออกมาบอกว่าชาวนาไม่สามารถขายข้าวได้เต็มราคาเพราะรีบเก็บเกี่ยวข้าว พวกเราใจร้อน ทำให้เห็นว่าชาวนาไม่มีความรู้เรื่องข้าว มาย่ำยีว่าชาวนาเซ่อ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการส่งมอบข้าวสาร หรือเปาเกา คือโรงสีรับข้าวไว้แล้วไม่สีแปรแต่ซื้อข้าวสารไปส่งมอบแทน ซึ่งอาจเป็นการไปซื้อจากโกดังหนึ่งไปอีกโกดังหนึ่ง และประเด็นข้าวสารในโกดังที่รัฐบาลไม่สามารถบอกได้ว่าขายไปเท่าใด ปริมาณเท่าใด เมื่อบอกไม่ได้ทำให้สงสัยว่ามีการทุจริตหรือไม่ ดังนั้นการลดราคาจึงมีส่วนเล็กน้อยที่จะลดการทุจริต

“ปชป.” จี้ ป.ป.ช. เอาผิดคนโกง

นายเกียรติกล่าวว่า แนวคิดของการรับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาด ที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา มีสมมุติฐานประการแรกในตอนนั้นคือต้องการยกราคาตลาดของทั้งโลกให้ขยับขึ้น แต่ตนได้เตือนว่าทั่วโลกปลูกข้าว 700 กว่าล้านตัน ที่ซื้อขายระหว่างประเทศแค่ 30 ล้านตัน ที่ประเทศไทยเป็นแชมป์อันดับ 1 คือการส่งออก 10 ล้านตัน บวกลบ

“เราเตือนว่าไม่มีทางเกิดขึ้น ซึ่งถึงวันนี้พิสูจน์แล้วว่าราคาตลาดโลกไม่ปรับสูงขึ้น” นายเกียรติกล่าว

ประการที่สอง ต้องการให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี หมายความว่าเกษตรกรต้องมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่รายได้ที่กระทรวงเกษตรบอกว่าราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเฉลี่ยต่อปีทั้งในส่วนของข้าวหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้า ชัดเจนว่าตั้งแต่จำนำมาราคาข้าวขยับนิดเดียว หลักพัน หลักร้อย ฉะนั้น ตัวเลขที่รัฐบาลประกาศว่าเกษตรกรได้ส่วนต่าง 4,000-5,000 บาท ในความเป็นจริงตัวเลขของรัฐบาลเองบอกว่าไม่ใช่ และไม่มีใครเคยตอบประเด็นนี้แม้แต่ครั้งเดียว

สมาคมนักข่าวจัดเสวนาจำนำข้าว

นายเกียรติกล่าวว่า วันนี้ใช้เงินไป 6 แสนล้าน ขาดทุนไป 2.2 แสนล้าน ไม่รวมดอกเบี้ย ถ้าคำนวณรวมออกมาตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปิดบัญชีในเดือนมกราคม 2556 จะอยู่ที่ 2.4-2.6 แสนล้าน วันนี้เราชี้ตัวแล้วว่าผู้ร้ายอยู่ตรงไหน ต้องเร่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าดำเนินการถึงไหน เพราะข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่ส่งให้ ป.ป.ช. หมดแล้ว

“ระบบนี้มีการทุจริตค่อนข้างเยอะ เมื่อราคาสูงกว่าตลาด จะมีการสวมสิทธิเอาข้าวต่างประเทศเข้ามาด้วย ประเทศไทยปลูกข้าวได้ปีละ 33 ล้านตันข้าวเปลือก แต่พอรับจำนำตัวเลขของทางการเองบอกไปถึง 37 ล้านตัน ทั้งๆ ที่ตอนน้ำท่วมมีนาข้าวเสียหายไปกว่า 8 ล้านไร่ โผล่มาจากไหนไม่รู้ เรื่องพวกนี้ไม่มีรัฐมนตรีคนใดหรือนายกรัฐมนตรีออกมาอธิบาย” นายเกียรติกล่าว

ลดราคาจำนำ ชาวนาเสียหายหนัก

สำหรับการลดราคาจำนำข้าวเหลือ 12,000 บาท นายเกียรติฟังธงว่า “เสียหายคนเดียวเลย คือเกษตรกรเท่านั้น” เพราะราคาที่ขายโดนทอนลดลง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตขึ้นมาตั้งแต่มีการประกาศรับจำนำ 15,000-20,000 บาทแล้ว และรัฐบาลไม่มีมาตรการอื่นๆ มาดูแลเลย แล้วบอกจะช่วยชาวนา แต่ยอมรับว่าความเสียหายของประเทศในภาพรวมอาจจะลดลงบ้าง เพราะเงินที่ใช้ลดลง

นายเกียรติกล่าวว่า เรื่องที่สำคัญมากตอนนี้สต็อกล้นอยู่แล้ว ส่งออกส่งไม่ได้ เรามาเป็นอันดับ 3 จนถึงเดือนเมษายนส่งออกไปเพียง 1.99 ล้านตัน ต่ำมาก ด้วยนโยบายที่รับซื้อทุกเม็ดเมื่อไม่มีที่เก็บก็สั่งสีเลย แต่ข้าวบางประเด็นเมื่อสีเร็วก็เจ๊ง เช่น ข้าวหอมมะลิ เก็บไว้ 3-4 เดือน ก็ไม่หอมแล้ว ขายเป็นข้าวเก่าอย่างเดียว

“นายกฯ พูดในรายการนายกฯ พบประชาชนว่าทุกอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ไม่ให้ข้อมูลเลย ในการประชุมคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เรียกข้าราชการมาชี้แจงไม่รู้กี่ครั้ง แต่ไม่เคยมาร่วมประชุมเลย อคส. ทำหนังสือชี้แจงว่าไม่มาถึง 6 ครั้ง การขายแบบจีทูจีไม่ให้ตัวเลขบอกเป็นความลับ สมมุติฐานเดียวที่ยังลับอยู่คือว่าไม่มีตัวเลขจริง” นายเกียรติกล่าว

นักวิชาการซัด บริหารแบบราคาคุย

ด้านนายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า เราไม่มีอำนาจไปชี้นำตลาด ตอนนี้ตลาดกำลังสั่งสอน กระทรวงพาณิชย์ทำรายงานว่ามีสัญญาส่งออกต่างประเทศ 7 ล้านตัน มีเอ็มโอยูกับประเทศต่างๆ อีก 8 ล้านตัน แต่เมื่อเอาเอ็มโอยูมากางด ูฟิลิปปินส์บอก 1 ล้านตันในราคาตลาด เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย แต่ปีก่อนฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวไทยแค่ 3 แสนตัน บังกลาเทศที่เราไปทำข้อตกลงไว้นำเข้า 57 ตัน เท่านั้น จึงเป็นราคาคุยมากกว่าที่จะบริหารภายใต้ข้อเท็จจริง

นายสมพรกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ทำงานได้ด้านเดียวคือการรับจำนำอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงของโครงการ ตามความต้องการของรัฐบาลได้อย่างดีเยี่ยม เกรดเอ แต่พอถึงด้านระบายข้าวเกือบจะไม่ได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้องเลย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อมีการลดราคาจำนำแล้วจะทำให้กลไกในประเทศเป็นตามราคาตลาดมากขึ้น เอกชนจะแข่งกับรัฐบาลได้ในแง่การซื้อเก็บและส่งออกไปทำตลาดได้ ขณะที่รัฐขายของจะทำแบบคละไปหมด ทำให้อุตสาหกรรมเสียหาย วันนี้รัฐบาลยอมแพ้กลไกตลาดแล้ว พยายามให้ตลาดเอกชนทำงาน และช่วยลดงบประมาณรัฐที่ไม่ต้องแบกภาระ ซึ่งในระยะยาวทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทยยังสามารถแข่งขันได้

“สิ่งที่รัฐบาลทำ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ตอนแรกเอาท็อฟฟี่ไปให้เขา อยู่ๆ ก็เอาท็อฟฟี่ออกจากปากเขา และให้เขากินนิดหน่อย เกษตรกรต้องเป็นผู้ร้องเรียนแน่ๆ คนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือชาวนาในเขตชลประทาน ใครจะเป็นผู้ก้าวเข้ามารับผิดชอบจากการบริหารนโยบายข้าวที่ผิดพลาดนี้” นายสมพรกล่าว

ส.ว. แฉ ข้าว อคส. หาย รัฐสูญกว่า 2 หมื่นล้าน

พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จากการที่คณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการระบายข้าวรัฐบาล ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่มีตนเป็นประธานได้ดำเนินการตรวจสอบการระบายข้าวถุงนั้น ค่อนข้างที่จะมีปัญหามากพอสมควร

ข้าวถุงที่มีการอนุมัติโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ซึ่งมีการอนุมัติหลายครั้ง แต่ละครั้งมีการเชื่อมโยงกันอย่างมีข้อสงสัย เพราะมีการเอื้อในการทำการที่ไม่โปร่งใส ข้าวที่มีการอนุมัติจำนวน 2.5 ล้านตัน หากนำมาเป็นข้าวถุงได้ประมาณ 500 ล้านถุง ผ่านช่องทางการระบาย 3 ช่องทาง คือ 1. ระบายโดยร้านถูกใจที่กระทรวงพาณิชย์เป็นคนตั้งขึ้น โดยขายราคาถุงละ 70 บาทต่อ 5 กิโลกรัม 2. ร้านธงฟ้า และ 3.เอาข้าว 2 ล้านกว่าตัน ไประบายให้กับร้านค้าทั่วไป

พล.ต.ท.ยุทธนากล่าวว่า กมธ. ได้ติดตามว่าการระบายผ่านทางร้านถูกใจมีจำนวนเท่าไหร่ โดยบริษัทที่มีหน้าที่ส่งข้าวให้กับร้านถูกใจได้ให้ข้อมูลกับ กมธ. ว่า กรมการค้าภายในบังคับให้เขาส่งแค่ 10,000 ตันต่อเดือน โดยแบ่งเป็น 2,500 ตันต่อสัปดาห์ ซึ่งกรมการค้าภายในได้ระบุกับบริษัทว่าที่ต้องทำเช่นนี้เพราะร้านถูกใจไปผ่าถุงและขายเกินราคา ซึ่ง กมธ. ได้ทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในเพื่อขอตัวเลขแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงได้ใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียก เรียกข้อมูลจากร้านโดยตรง จึงได้รู้ความจริงว่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ถึงปัจจุบันส่งข้าวได้แค่ 56,235 ตัน เท่านั้น จึงมีการตั้งสมมุติฐานว่าข้าวที่เหลือมีการระบายไปยังช่องทางอื่น ซึ่งจากการตรวจสอบในทุกจังหวัดพบว่าไม่มีทั้งประเทศ ฉะนั้นข้าวหายไปไหน

“แต่ อคส. ยังบอกว่ามีการระบายออกล้านกว่าตัน และล้านกว่าตันนั้นหายไปไหนอีก กมธ. เลยไปดูสัญญาการส่งข้าวให้กับทั่วไปเลยเจอว่าเป็นใครบ้าง ถามที่ร้านว่าเขาส่งไหมร้านค้าพวกนั้นบอกไม่เคยส่ง ไม่เคยรู้จักเลย เพิ่งมีการส่งเมื่อ 2 เที่ยวที่แล้วที่ จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.นครราชสีมา ข้าวหาย หายไปไหน เบิกข้าวมา 1.1 ล้านตัน จำหน่ายจริง 5 หมื่นกว่าตัน แล้วที่เหลือหายไปไหน” พล.ต.ท.ยุทธนากล่าว

พล.ต.ท.ยุทธนากล่าวว่า เท่าที่รู้มามีการขายข้าวเป็นโกดัง 13,500 บาท ให้กับบริษัทเอกชน 3 บริษัท ที่เข้ามารับซื้อนำไปขายในตลาดต่อ ซึ่งข้าว 2.5 ล้านตัน จ่ายเงินให้กับ อคส. เรียบร้อยแล้ว แสดงว่าข้าวจำนวนนี้มีการซื้อขายหมดแล้ว นี่คือคำตอบของ 3 บริษัท ที่ตอบมายัง กมธ. และระบุว่าเขาไม่มีหน้าที่ขายให้กับร้านถูกใจ แต่จะขายราคาไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องราคา 70 บาท เป็น 80 หรือ 90 บาท ก็ได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่โกงกันจนข้าวถุงหายไปล้านๆ ตัน เรื่องเหล่านี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เอาข้าวเหล่านี้มาคืนประชาชนที่อยากกินข้าวราคาถูกบ้าง โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณีของข้าวถุงประเมินว่ารัฐเสียหายมากกว่า 20,000 ล้านบาท

“ที่น่าเสียใจ มีการขายข้าวในราคาครึ่งหนึ่งจากราคาตลาด คือ 7,625 บาท จาก 15,000 บาท โดยอ้างว่าจะนำข้าวช่วยชาวใต้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีคนกลางนำไปส่งขายให้ที่อื่นในราคาถุงละ 95 บาท” พล.ต.ท.ยุทธนากล่าว

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมลักษณ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมลักษณ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

อธิบดีกรมการค้าภายในอ้าง ระบบมีปัญหา

ด้าน น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมลักษณ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการระบายข้าว มีการระบายข้าว 3-4 กรณี คือ กรณีที่เกิดภัยพิบัติ ที่เราให้ความช่วยเหลือเป็นข้าวบริจาค ซึ่งจะไม่มีเงินเข้ามา ในจำนวนนี้ 5,000 ตัน ส่วนที่ 2 ระบายให้องค์กร หรือหน่วยงานของรัฐที่ขอซื้อข้าวมา เช่น กรมราชฑัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการระบายข้าวในอัตราที่ต่ำ ที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาชดเชยโครงการ นอกจากนี้ยังมีการบริจาคให้กับภัยพิบัติผ่านโควตา ส.ส. และโควตาจังหวัด ถุงละ 10 กิโลกรัม จำนวนไม่เกิน 2,000 ถุง ต่อส.ส. 1 คน ซึ่งมีบัญชีที่ระบุชัดเจน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า ในส่วนของการระบายผ่านโครงการที่ช่วยค่าครองชีพของประชาชนนั้น คณะอนุฯ มีกรอบอนุมัติ 2.53 ล้านตัน แต่การดำเนินการมีการนำข้าวออกไปแล้ว 5.58 แสนตัน ผ่านโควตาของ อคส. ผ่าน 3 ส่วน คือ ข้าวถูกใจ ซึ่งจะส่งเฉพาะในโครงการข้าวถูกใจถึงวันที่ 31 มีนาคม จะส่งให้ร้านถูกใจโดยตรง โดยเป็นข้าวขาว 4 แสนถุง และข้าวเหนียว 1 แสนถุง รวมเป็น 5 แสนถุงต่อสัปดาห์ ก่อนหน้านั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการจึงไม่ถึงยอดนี้ แต่รวมๆ แล้วที่เข้าโครงการถูกใจอยู่ที่ประมาณ 40,000 ตัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถึงวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมาเท่านั้น เพราะโครงการสิ้นสุด

“อุปสรรค์คือการขนส่งข้าว ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระจายข้าวถุงออกไปยังร้านค้าถูกใจ จึงมีความคิดที่ให้ร้านค้ามารับข้าวจากศูนย์กระจายสินค้าของเราและไปจำหน่าย โดยมีเงื่อนไขคือให้จำหน่ายในราคา 70 บาทต่อถุง ซึ่งเริ่มได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ผู้ขายค่อนข้างลำบาก เพราะต้องมารับเอง และได้ส่วนต่างแค่ 3.50 บาทต่อถุง มีข้าวออกไปประมาณ 20,000 ถุง ยังไม่มากมาย ดังนั้น สิ่งที่ท่านยืนยันว่าข้าวไม่มีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้ามีจะมีปัญหา เพราะหยุดโครงการตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม รอให้เราจัดระบบได้ และให้มีร้านถูกใจที่เข้มแข็ง” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว

สำหรับข้าวที่ อคส. รับไปดำเนินการเอง น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ระบุว่า จะต้องไปตรวจสอบข้อมูลจากตัวเลข 5 แสนตัน โดยเงื่อนไขที่อนุกรรมการอนุมัติมาจะต้องขายในราคา 70 บาท ถ้าเกินกว่า 70 บาท ณ ขณะนี้ กรมการค้าภายในได้รับการร้องเรียนว่ามีการขายข้าวถูกใจในร้านค้าทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกถูกใจ ซึ่งมีการจับกุมกันมาแล้ว

อธิบดีกรมการค้าภายในยัน ตรวจเข้มทุจริต

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า ไม่ว่าราคารับจำนำจะอยู่ที่เท่าใด การดำเนินโครงการก็ไม่ได้ละเลยการดูแลไม่ให้เกิดการทุจริต มีการตั้งคณะกรรมการและดำเนินคดีจริงๆ ทั้งเรื่องการสวมสิทธิ์ เกษตรกร ศาลตัดสิน ไม่รอลงอาญา เช่น กรณีที่นครนายก กรณีโรงสีรับใบเกษตรกรและสวมสิทธิ์ซึ่งดำเนินคดีทั้งโรงสีไม่ให้ร่วมโครงการ และหากดำเนินคดีถึงที่สุดจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการอีกเลย ชาวนาด้วย เรื่องคลังสินค้าก็มีการดำเนินคดี คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ตรวจสอบทุกเดือน และยังมีสายด่วนส่วนกลางไปลุ่มตรวจ

“ทั้งนี้การลดราคาจะช่วยการทุจริตลดลงได้หรือไม่ มีประเด็นส่วนต่างราคาจำนำอาจจะมีแรงจูงใจลดลง แต่มาตรการการปราบทุจริตจะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม” อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าว

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า สำหรับวิธีการคำนวณผลการดำเนินโครงการ โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการฯ ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่เคยเห็นและนำมาใช้ในโครงการดูแลสินค้าเกษตรของรัฐบาลมาก่อน เพราะใช้วิธีคำนวณแบบธุรกิจที่นำต้นทุนที่สูงสุดมาคำนวณ ขณะที่การคำนวณที่เคยทำมาจะกำหนดว่ามีเงินต้องใช้สำหรับดำเนินโครงการต่อขาดเหลือเท่าใด เพื่อตั้งงบประมาณเพิ่มเติม เพราะโครงการลักษณะนี้จะไม่คิดเรื่องกำไรขาดทุนอยู่แล้ว

“การที่ กขช. รับรอง ตัวเลขอนุฯ ไปแล้ว แต่ยังคงเหลือตัวเลขของโครงการปี 55/56 ที่ยังลงข้อมูลที่ผิด โดยช่องทางควรให้กรรมการ กขช. ได้ดูก่อน แต่ไม่ได้มีการผ่านช่องทางนี้ ทำให้ไม่มีการนำตัวเลขข้าวที่ยังไม่ส่งมอบโกดังกลางมาคำนวณ อีกทั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) และ อคส. ก็ไม่ได้ส่งตัวเลขให้อนุฯ ด ูทำให้ยังเป็นข้อผิดพลาด” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า ภาครัฐมีแผนการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เป็นแผนที่ดำเนินการสำหรับโครงการถัดไปอยู่แล้ว เรื่องราคารับจำนำต้องสะท้อนราคาตลาดโลกและราคาภายในประเทศให้มากขึ้น และให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวปีละครั้ง ลดความเหลื่อมล้ำลง ซึ่งกรอบใหม่เป็นการคำนวณแบบใหม่ สำหรับฤดูกาลใหม่

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเสียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งจากการปรับเปลี่ยนนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล

แต่เสียงสะท้อนจากรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามต่อไป