ThaiPublica > คอลัมน์ > “คุณภาพต้องคับประเทศไทย”

“คุณภาพต้องคับประเทศไทย”

12 มิถุนายน 2013


ดร.วิรไท สันติประภพ
Email: [email protected]

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดูจะเป็นตัวเลขที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อใดก็ตามที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลง หรือต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ รัฐบาลจะนั่งไม่ติดที่ และต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จนกล่าวได้ว่ารัฐบาลไทยเกือบทุกรัฐบาลเสพติดการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นงานประจำ และประชาชนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่า ถ้ารัฐบาลไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเท่ากับไม่มีผลงาน

เราคงต้องตั้งคำถามว่า รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดเวลาไปทำไม ถ้าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และขยายตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นที่อยู่ในระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน ตามหลักแล้วการกระตุ้นเศรษฐกิจควรทำเฉพาะช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพมาก หรือในช่วงวิกฤติที่เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง จนเกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในช่วงที่เกิดปัญหาขึ้นกับเฉพาะบางภาคเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่ควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการมหภาค แต่ควรออกมาตรการเฉพาะด้านเพื่อดูแลภาคเศรษฐกิจนั้นๆ ให้แข่งขันและปรับตัวได้ตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

เราต้องไม่ลืมว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมีต้นทุน ทั้งต้นทุนทางตรงที่รัฐบาลต้องกู้ยืมเงินมาเพิ่มรายจ่าย หรือรายได้ของรัฐบาลหายไปจากการลดภาษี และต้นทุนทางอ้อมที่เป็นผลข้างเคียงจากมาตรการที่ทำ (เช่น หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจากนโยบายเร่งปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือนโยบายรถคันแรกทำให้รถติดและต้องนำเข้าพลังงานสูงขึ้น) แต่หลักการก็เป็นเพียงแค่หลักการ เพราะนักการเมืองไทยมักคิดถึงแต่ผลของนโยบายในช่วงสั้นๆ เพื่อรักษาฐานเสียงของตนไว้สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป และนิยมผลักภาระการเงินและผลข้างเคียงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนอื่นรับผิดชอบในอนาคต

นอกจากนี้ เรามักลืมว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเพียงตัวเลขระยะสั้นแบบปีต่อปี การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ขยายตัวสูงในปีใดปีหนึ่งไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจในปีต่อไปจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง หลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภค มักมีผลเพียงช่วงสั้นๆ และจะทำให้การบริโภคในปีต่อไปชะลอลงด้วยซ้ำ เพราะเป็นเพียงการโยกการใช้จ่ายในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า คิดง่ายๆ ว่าถ้าคนซื้อรถคันแรกวันนี้แล้ว ก็คงจะไม่ซื้อรถในปีหน้าหรือปีถัดไป การกู้เงินจำนวนมากของรัฐบาลเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจก็มีผลคล้ายกัน เพราะเป็นการเอาเงินจากอนาคตมาใช้ล่วงหน้า เป็นการเบียดเบียนทรัพยากรของคนรุ่นหลัง โดยคนรุ่นหลังไม่สามารถยับยั้งได้ แต่ต้องรับภาระชำระคืนหนี้ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของคนในอนาคตลดลง

คงต้องตั้งหลักกันว่า เราต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวไปเพื่ออะไร ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดผลทางการเมืองในระยะสั้น แต่ต้องมีเป้าหมายหลักที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และความอยู่ดีกินดีของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ และจะต้องยกระดับแบบยั่งยืนด้วย ไม่ใช่ขึ้นเร็ว ลงเร็ว หรือขาดเสถียรภาพ จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจได้ ทุกครั้งที่เศรษฐกิจหดตัว จะมีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบรุนแรง และคนเหล่านี้มักมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจไม่สูงนัก ซึ่งเมื่อถูกกระทบแล้วจะไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กลับคืนมาได้ง่าย ต่างจากนักการเมืองหรือคนรวยที่ล้มบนฟูก ซึ่งสามารถกลับมาร่ำรวยใหม่เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้อีกครั้งหนึ่ง

ผมเชื่อว่าเราต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพื่อให้คนไทยโดยรวมมีระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้นในระยะยาว การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะต้องเป็นไปเพื่อคนไทย และเอาคนไทยโดยรวมเป็นที่ตั้ง ถ้าดูแนวโน้มโครงสร้างประชากรของไทยในอีกสิบห้าปีข้างหน้าแล้ว ยิ่งทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าเราต้องการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงๆ ในระยะสั้นไปเพื่ออะไร อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องหยุดเสพติดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทบทวนทิศทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจสำหรับช่วงต่อไป

ผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แสดงให้เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่สำคัญอย่างน้อยสองประการ ประการแรก จำนวนคนไทยจะขึ้นไปสูงสุดที่ 75 ล้านคน ในอีกประมาณสิบห้าปีข้างหน้า และจำนวนคนไทยจะเริ่มลดลงหลังจากนั้น ประการที่สอง สัดส่วนของคนสูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 12 ของประชากรไทยในขณะนี้ไปเป็นประมาณร้อยละ 18 ในปี 2573 และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้คนไทยวัยทำงานมีภาระที่จะต้องเลี้ยงดูคนไทยสูงอายุมากขึ้น

เมื่อประเทศไทยในอนาคตจะมีจำนวนประชากรลดลง และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เราจึงไม่มีแรงกดดันที่จะต้องสร้างงานจำนวนมากเตรียมไว้ให้คนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต (ต่างจากหลายประเทศในยุโรปที่ยังมีคนว่างงานในระดับที่สูงมาก) ไม่จำเป็นต้องเร่งเพิ่มจำนวนโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องเร่งตัดถนนเพิ่มเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล เพราะจะมีคนใช้ประโยชน์น้อยลง แต่เราจะต้องยกระดับศักยภาพและคุณภาพของคนไทย โดยเฉพาะคนไทยวัยเด็กและวัยทำงาน เพราะคนไทยกลุ่มนี้มีภาระที่จะต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงดูผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งผู้สูงอายุในครอบครัวตนเอง และผู้สูงอายุอื่นๆ ในประเทศ ด้วยการจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาล รายจ่ายของรัฐบาลเพื่อดูแลผู้สูงอายุในอนาคตจะเพิ่มขึ้นมากอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ การกำหนดเป้าหมายการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศควรเปลี่ยนจากการเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีต่อปี ไปเป็นการเพิ่มศักยภาพและคุณภาพในระยะยาวให้แก่คนไทย เป้าหมายด้านคุณภาพควรเป็นเป้าหมายหลักของการกำหนดนโยบายของภาครัฐทุกหน่วยงาน เพราะเมื่อคนไทยวัยทำงานจะมีจำนวนน้อยลง แต่ต้องการรายได้สูงขึ้น คนไทยต้องมีคุณภาพสูงขึ้น

เป็นที่น่าเสียดายว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในวันนี้ยังให้ความสำคัญกับมิติด้านคุณภาพน้อยกว่าด้านปริมาณ รัฐบาลกำหนดเป้าหมายอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่ท้าทายในแต่ละปี และกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่อาจเกิดขึ้นต่อหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน รัฐบาลต้องการให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อน และจะทำให้ปริมาณการส่งออกได้ตามเป้า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อฐานการออมของประเทศ และโอกาสที่จะเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ รัฐบาลเร่งที่จะกู้เงินสามแสนห้าหมื่นล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำให้ทันตามกำหนดเวลาโดยที่รัฐบาลไม่ทราบว่าควรทำโครงการลักษณะใดบ้าง ปล่อยให้ผู้ยื่นประมูลเป็นผู้เสนอโครงการ รัฐบาลเร่งที่จะกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสองล้านล้านบาท โดยที่ประมาณสามในสี่ของโครงการที่เสนอยังไม่มีการศึกษาถึงความคุ้มทุน และผลกระทบในด้านต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากการให้ความสำคัญกับมิติด้านปริมาณมากกว่าคุณภาพจะเกิดขึ้นในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแล้ว ยังเกิดขึ้นในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจจุลภาคอีกหลายเรื่อง ที่ชัดเจนที่สุดคงจะเป็นนโยบายรับจำนำข้าว ที่ตั้งราคารับจำนำไว้สูงโดยไม่ได้คัดแยกคุณภาพข้าวเหมือนอย่างที่อุตสาหกรรมข้าวทำมาในอดีต ส่งผลให้ชาวนาปลูกแต่ข้าวเบา เก็บเกี่ยวได้เร็ว เพื่อที่จะปลูกข้าวขายรัฐบาลได้หลายรอบในแต่ละปี จนวันนี้คุณภาพข้าวไทยตกต่ำลงมาก ขัดกับทิศทางที่ควรจะส่งเสริมให้ชาวนา (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ) ทำงานน้อยลง แต่ได้รายได้ดีต่อเนื่องในระยะยาว ด้วยการปลูกข้าวคุณภาพสูง

การมุ่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพเท่าที่ควร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะสร้างปัญหาในระยะยาว จนอาจทำลายศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศ ปีนี้เราตื่นเต้นกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะสูงถึง 24 ล้านคน (จนทำให้สนามบินนานาชาติหลายแห่งแออัด) แต่นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีนที่มีปัญหาด้านคุณภาพ จนรัฐบาลจีนต้องออกมาประกาศตำหนิความประพฤติของคนชาติตัวเองเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรู้ดีว่า ที่ไหนรับทัวร์จีนราคาถูก นักท่องเที่ยวชาติอื่นจะหนีหมด เพราะทำลายทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและบรรยากาศการท่องเที่ยว ใครไม่เชื่อ ผมแนะนำให้แวะไปกราบพระแก้วมรกตดูสักวันหนึ่ง จะเข้าใจว่านักท่องเที่ยวคุณภาพต่ำทำลายบรรยากาศของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของประเทศไทยได้อย่างไร ไม่ต้องคิดถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ ที่ขาดกติกาและผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

นอกจากเรื่องคุณภาพข้าวและคุณภาพนักท่องเที่ยวแล้ว เรามีปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาที่เด็กไทยสอบข้อสอบมาตรฐานระดับโลกได้คะแนนต่ำอยู่ในกลุ่มรั้งท้าย ทั้งคะแนนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรามีปัญหาเรื่องคุณภาพของมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่ และคุณภาพของบัณฑิตปริญญาตรีที่เน้นปริมาณแต่คุณภาพไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เรามีปัญหาเรื่องคุณภาพของสื่อที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง มีสถานีโทรทัศน์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพของสติปัญญาให้เด็กไทย เราสงสัยคุณภาพของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล (ซึ่งปีที่แล้วมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์) ว่าเป็นโครงการที่จะยกระดับศักยภาพของคนไทย และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมากน้อยเพียงใด โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตลอดไปจนถึงคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐที่ยังมีประสิทธิภาพต่ำ แม้ว่าข้าราชการระดับล่างได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นคุณภาพจะทำยากกว่า และต้องอดทนกว่าการบริหารที่เน้นด้านปริมาณมาก จนนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะทำ แต่การพัฒนาให้คุณภาพคับประเทศไทยเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ มิฉะนั้นแล้ว เราคงต้องเกษียณช้าลง และกลับมาทำงานหนักอีกครั้งเมื่อแก่ (และเสื่อมคุณภาพแล้ว) ได้แต่หวังว่าต่อจากนี้ไปรัฐบาลที่มีความมั่นคงทางการเมือง จะให้ความสำคัญกับมิติด้านคุณภาพมากขึ้นในการกำหนดนโยบาย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเพทธุรกิจ 12 มิถุนายน 2556