ThaiPublica > เกาะกระแส > เจรจา “บีอาร์เอ็น” แสวงหาสันติ–ยุติความรุนแรง 3 จชต. จับตาหารือครั้งที่ 3 เดินหน้าหรือล้มโต๊ะ

เจรจา “บีอาร์เอ็น” แสวงหาสันติ–ยุติความรุนแรง 3 จชต. จับตาหารือครั้งที่ 3 เดินหน้าหรือล้มโต๊ะ

12 มิถุนายน 2013


พล.ต.ท.สฤษดิ์ชัย อเนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล, พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ,อาวัง ยาบะ แกนนำบีอาร์เอ็น, ฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
จากซ้ายไปขวา : พล.ต.ท.สฤษดิ์ชัย อเนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล, พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ,อาวัง ยาบะ แกนนำบีอาร์เอ็น, ฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

การเจรจาเพื่อความสันติ และลดความรุนแรง กับ “บีอาร์เอ็น” เพื่อนำความสงบกลับคืนสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ กลายเป็นของร้อนของ “รัฐบาล” ที่ถูกตั้งคำถามว่า แนวทางนี้ถูกต้องหรือไม่ ?

หากแนวทางนี้ถูกต้อง เหตุใดความรุนแรงและการก่อเหตุในพื้นที่จึงมิได้ลดลง แต่กลับสวนทางด้วยการก่อเหตุที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถี่มากขึ้น แม้แต่ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ก็ยอมรับว่า เพิ่มขึ้นจริงๆ หลังการทีมงานเจรจาที่นำโดย “บิ๊กแมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคณะ อาทิ “บิ๊กวี” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม “บิ๊กโก้” พล.ต.ท.สฤษดิ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล “บิ๊กบอล” พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ฯลฯ เปิดฉากเจรจาครั้งแรกกับ “บีอาร์เอ็น” โดยเฉพาะ “ฮัสซัน ตอยิบ” หนึ่งในแกนนำ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556 ที่ผ่านมา

แต่แทนที่หนทางเจรจาจะไปเป็นด้วยความราบรื่น ก็ต้องสะดุดจนได้ เพราะก่อนเจรจาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มี.ค. จะเปิดฉากขึ้น “บีอาร์เอ็น” ชิงลงมือยึดพื้นที่สื่อ ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ ได้แก่ 1. นักล่าอาณานิคมสยามต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความสะดวก (facilitator) 2. การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาว (bangsa) ปัตตานี ที่นำโดยบีอาร์เอ็น กับนักล่าอาณานิคมสยาม 3. ในการพูดคุย จำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์กร โอไอซี และเอ็นจีโอ 4. นักล่าอาณานิคมสยามต้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมด (ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง) โดยไม่มีเงื่อนไข 5. นักล่าอาณานิคมสยามต้องยอมรับว่า องค์กรบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการปลดปล่อยชาว (bangsa) ปัตตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ข้อเรียกร้องนี้ถูกนำมาถกบนโต๊ะเจรจาครั้งที่ 2 ทำให้การเจรจาพูดคุยระหว่าง “ทีมเจรจา–บีอาร์เอ็น” ในวันนั้นมีบรรยากาศอึมครึม ตรึงเครียด จนในที่สุดการเจรจาวันนั้นก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ต่างฝ่ายต่างตกลงที่จะพักการเจรจาและจะพบกันใหม่ 13 มิ.ย. นี้

แต่ที่แน่ๆ ข้อเรียกร้องดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจต่อ “กองทัพ” อย่างแน่นอน เพียงแต่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ เพราะต้องยึดตามนโยบายของรัฐบาล

ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หรือ “บิ๊กแขก” พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ต้องรับผิดชอบดูแลในพื้นที่ ไม่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อะไร นอกจากบอกเพียงแต่ว่าแนวทางต่างๆ ต้องยึดตามกฎหมายของไทย

“แนวทางการพูดคุย คือ แนวทางที่ดีที่สุดแบบสันติวิธี หากใครไม่เลือกทางนี้ แสดงว่าเลือกความรุนแรง โดยแนวทางนี้ระบุอยู่ในเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมของแผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2555 ในข้อที่ 8 คือ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ ซึ่งผ่านการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ดังนั้น สิ่งที่เราทำเป็นนโยบายที่ถูกต้องตามกฎหมาย 100%” หนึ่งในทีมงานเจรจาจาก สมช. ยืนยัน

พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

โดยทาง “บิ๊กเหล่ง” พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย (ตท.13) ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นายทหารจากหน่วยรบพิเศษที่เคยทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดแดนภาคใต้หลายปี เชื่อว่า แนวทางการพูดคุยระหว่าง สมช. กับ บีอาร์เอ็น น่าจะส่งผลดีต่อสถานการณ์ในภาคใต้ แต่สำหรับการเคลื่อนไหวของขบวนการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 3 โดยมีกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มหลักที่พัฒนารูปแบบการต่อสู้มานานหลายปี ซึ่งการเปิดตัวพูดคุยก็น่าจะมาจากแรงกดดันจากประเทศมาเลเซีย โดยน่าที่จะมีความเชื่อมโยงกับการเมืองภายในมาเลเซีย และยังมีบีอาร์เอ็นที่ต่อต้านการพูดคุย และผู้ที่มีบทบาทในกลุ่มบางคนยังไม่ยอมเปิดเผยตัวพูดคุย

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมาใช่ว่า การเจรจาระหว่าง “รัฐบาล – ทหาร” กับ “ผู้ก่อความไม่สงบ” จะไม่เคยเกิดขึ้น แต่การเจรจานั้นจะเป็นไปในทางลับกว่าครั้งนี้ อาทิ “บิ๊กเหวียง” พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร อดีต ผบ.ทบ. , พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ แม่ทัพภาคที่ 4 , พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ทั้งหมดใช้ระดับแค่ “ผู้พัน” เป็นตัวแทนเจรจาเท่านั้น

แตกต่างจากครั้งนี้ ที่การเจรจาเป็นการเปิดเผยต่อสาธารณะ และผู้ที่ร่วมเจรจาถือเป็นระดับ “บิ๊กรัฐบาล – ทหาร – บีอาร์เอ็น”

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ที่นำมาเปิดเผยให้ “พล.อ.อ.สุกำพล” และคณะ ที่ลงไปติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา มีการเปิดแผนปฏิบัติการขบวนการ และโครงสร้าง “บีอาร์เอ็น” โดยมีการฝึกเปอร์มูดอ พร้อมทั้งการปฏิบัติการทางทหารของอาร์เคเค ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

โครงสร้าง “บีอาร์เอ็น” ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ 1. สภาองค์กรนำ (ดีพีพี) มีนายสะแปอิง บาซอ เป็นเลขาธิการใหญ่ ทำหน้าที่ควบคุมสภาทางการทหารและกองกำลัง นายฮาซัน ตอยิบ เป็นรองเลขาธิการใหญ่ ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมสภาทางการเมือง และต่างประเทศ

2. คณะผู้บริหาร (ดีเคพี) กลุ่มนักจัดตั้งที่มีความรู้และอุดมการณ์สูง ที่มีการแบ่งคณะผู้บริหารออกเป็น 7 ฝ่าย คือ 1. เยาวชน 2. กองกำลัง 3. อูลามา 4. เศรษฐกิจ 5. ปฏิวัติ 6. ปกครอง 7. ต่างประเทศ

3. กลุ่มที่ถูกจัดตั้งให้ก่อเหตุรุนแรง และเป็นสมาชิกชั่วคราว โดยถูกปลูกฝังให้ทำ “จิฮัด” โดยการบิดเบือนความเชื่อทางศาสนา มีผู้ร่วมขบวนการคือ 1. เขตงานเยาวชน หรือเปอร์มูดอ จำนวน 30,000 คน 2. งานกองกำลัง (อาร์เคเค) จำนวน 30,000 คน และ 3. งานปกครอง (มาซา) จำนวน 300,000 คน โดยกระจายปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงสร้างแกนนำ “บีอาร์เอ็น”
โครงสร้างแกนนำ “บีอาร์เอ็น”

อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลนี้ถูกต้อง ก็นับได้ว่า ผู้ก่อความไม่สงบมีการวางแผน วางโครงสร้าง อย่างเป็นระบบ นับเป็นข้อมูลที่สำคัญ แต่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตัดไฟแต่ต้นลม หรือหยุดยั้งการก่อเหตุได้หรือไม่ สถานการณ์เหตุร้ายรายวันคงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

แต่ทว่า ในห้วงเวลาที่เกิดการเจรจาระหว่าง “สมช.” กับ “บีอาร์เอ็น” นั้น หน่วยงานความมั่นคงได้จับ “คนร้าย” ที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจากข้อมูลการสอบสวนพบว่า “ลูกชาย” ของ “ฮัสซัน ตอยิบ” เป็นผู้สั่งการผู้ร่วมขบวนการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อเหตุ 5 จุด

จากข้อมูลนี้ ทำให้ “บิ๊กทหาร” มองว่า “บีอาร์เอ็น” ไม่จริงใจในการเจรจา เพื่อแสวงหาทางออกโดยสันติ และอยู่ร่วมกันด้วยความสงบ

จนทำให้ “รัฐบาล” และ “ทหาร” เริ่มทบทวนการเจรจากัน จนมีข่าวลือมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า หากการเจรจายังไม่คืบหน้า ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ต่อไปอาจล้มโต๊ะการเจรจาเลยก็ว่าได้

ดังนั้น การเจรจารอบ 3 ในวันที่ 13 มิ.ย. นี้ “ทีมเจรจา” เตรียมยืนข้อเรียกร้องเพื่อพิสูจน์ความจริงใจต่อ “ฮัสซัน ตอยิบ” ให้ผู้ก่อความไม่สงบทั้งหมดหยุดก่อเหตุในช่วง “รอมฎอน” คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินอิสลามที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน รวมถึงนำผลสรุปการเสวนารับฟังความเห็น 13 องค์กรใต้ที่ยืนยันว่าไม่ต้องการความรุนแรงในพื้นที่ ไปยื่นต่อ “ฮัสซัน ตอยิบ”

งานนี้ “สมช. – กองทัพ” ต้องการพิสูจน์ว่า “ฮัสซัน ตอยิบ” สามารถสั่งการคุม “บีอาร์เอ็น” ให้หยุดก่อเหตุได้จริง หรือเป็นแค่ของปลอม ที่ต้องการเจรจาเปิดตัวเพื่อเรียกราคาและหวังผลยกระดับตัวเอง

ดังนั้นการเจรจาครั้งที่ 3 นี้จะมีหนทางก้าวเดินเพื่อความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ หรือจะถูก “ฮัสซัน ตอยิบ” และ “บีอาร์เอ็น” สอนมวยกลับมาอีกครั้ง