ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 7 บริษัทคว้าข้าวถุงธงฟ้า-ร้านถูกใจ มติ กขช. เปิดทาง 2.5 ล้านตัน หั่นราคา 50% – ร้านค้าโวยไม่เคยได้รับ!

7 บริษัทคว้าข้าวถุงธงฟ้า-ร้านถูกใจ มติ กขช. เปิดทาง 2.5 ล้านตัน หั่นราคา 50% – ร้านค้าโวยไม่เคยได้รับ!

26 มิถุนายน 2013


การ”ปรับลด” ราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าเหลือตันละ 12,000 บาท ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2556 อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความ “ล้มเหลว” ในการดำเนินการตามนโยบายรับซื้อทุกเมล็ดตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 (อ่าน..วิพากษ์”ลดราคาจำนำข้าว” ชาวนาเดือนร้อนมากสุด ความเสียหาย- การทุจริตยังอยู่ระดับสูง)

ต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดทุนถูกโยงใยกับการทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ โรงสีแต่งบัญชี สต็อกลม เวียนเทียนข้าว และระบายข้าวออกจากโกดังไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง

ล่าสุด รัฐบาลยังถูกเปิด “แผลใหม่” ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย นั่นคือ “โครงการผลิตข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อประชาชน” ซึ่งถูกตรวจสอบแบบถึงลูกถึงคน โดยคณะอนุกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ได้ปรากฏร่องรอยของตัวละครใหม่ๆ ที่เป็นบริษัทเอกชน เชื่อมโยงกับการทำงานขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ขาดความโปร่งใส สุดท้ายมีการประเมินว่า โครงการข้าวถุงอาจมีข้าวสูญหาย แอบไปขายทำกำไรในตลาดกว่า 1.1 ล้านตัน

โครงการนี้เริ่มต้นโดยใช้ชื่อว่า โครงการจำหน่ายข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมและพี่น้องมุสลิมภาคใต้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 จำนวนประมาณ 2.25 ล้านตัน โดยให้สำรวจข้าวเก่าที่ค้างในโกดังตั้งแต่ปี 2542-2552 ซึ่งพบว่ามีจำนวน 2.189 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำไปแจกจ่ายผู้ประสบภัย และข้าวที่จัดให้กับพี่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้ อีกประมาณ 6 หมื่นตัน มอบให้องค์การคลังสินค้าและองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ดำเนินการจัดส่งรายละ 3 หมื่นตัน

อย่างไรก็ตาม การส่งมอบข้าวไปยังภาคใต้กลับไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังตามมติ กขช. เมื่อปลายปี 2554 เพราะเมื่อมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่ามีการนำส่งข้าวถุงไปจำหน่ายประมาณ 8,000-10,000 ตัน เท่านั้น จึงยังคงมีข้าวเหลือค้างในมือ อคส. และ อตก. ที่ยังไม่ได้จัดส่งจำนวนมาก

ต่อมาได้มีมติ กขช. ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 อนุมัติให้มีการเปลี่ยนคุณสมบัติของข้าวที่นำไปช่วยเหลือประชาชน จากเดิมกำหนดให้ใช้ข้าวสต็อกเก่า คือข้าวนาปรังของปี 2552 ไปเป็นสต็อกใหม่ คือข้าวนาปีที่รับจำนำปี 2554/55

ข้าวถุงธงฟ้า ร้านถูกใจ
ข้าวถุงธงฟ้า ร้านถูกใจ

หลังจากนั้นอีกเพียง 3 เดือนเศษ ในการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2555 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ได้อนุมัติให้ อคส. นำข้าวสาร 5% จำนวน 1 แสนตัน ซึ่ง อคส. อ้างว่าได้จัดจ้างผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว การบรรจุข้าว และกระจายสินค้าไว้แล้ว เพื่อให้มาจัดทำข้าวถุงธงฟ้าราคาประหยัด จำนวน 50,000 ตัน คิดราคาเนื้อข้าวในราคา 38.125 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม จำหน่ายในราคาปลายทางไม่เกินถุงละ 70 บาท เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปซื้อในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ลดค่าครองชีพของประชาชน ตามโครงการธงฟ้าของกรมการค้าภายใน

เมื่อมีการ “ขยายวง” มติ กขช. จากที่ให้นำข้าวลงไปช่วยพี่น้องมุสลิมภาคใต้ ไปสู่การลดราคาขายข้าวในสต็อกของรัฐเหลือ 50% เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ก็ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ “ดึงดูด” ให้มีผู้สนใจเข้ามาร่วมการขับเคลื่อนโครงการขายข้าวถุงอีกเพียบ เพราะถ้าบริษัทใดมีสายสัมพันธ์กันก็จะซื้อได้ในราคาถูกกว่าในท้องตลาด จากราคาขายส่งข้าวสาร 5% ของกรมการค้าภายในและสมาคมโรงสีข้าวไทยเฉลี่ย ณ วันที่ 9 ก.พ. 2555 ตันละ 15,250 บาท คำนวณเป็นราคาเนื้อข้าว ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 76.25 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม แต่การที่รัฐบาลลดราคาครึ่งหนึ่ง เท่ากับต้นทุนอยู่ที่ 38.125 บาท ต่อถุง ดังนั้น ถ้าซิกแซกไม่นำข้าวที่ซื้อจาก อคส. ในราคาถูกนี้เข้าสู่ตลาดจริงๆ ย่อมสร้างกำไรได้ถึงถุงละ 31.875 บาท

กขช. ได้จัดโครงการข้าวถุงธงฟ้าและข้าวถุงร้านถูกใจเบ็ดเสร็จอีก 5 แสนตัน ตามมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยระบุว่า “อนุมัติให้นำข้าวสารขาว 5% จำนวน 4 แสนตัน และข้าวเหนียวขาว 10% เมล็ดยาวอีก 1 แสนตัน จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล จำหน่ายให้ อคส. เพื่อนำไปบรรจุถุง โดยถุง 1 กิโลกรัม ในราคาไม่เกิน ถุงละ 15 บาท และถุงละ 5 กิโลกรัม ราคาไม่เกินถุงละ 70 บาท จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน โดยคิดราคาเนื้อข้าวทั้ง 2 ชนิด ในราคาเดียวกันที่ราคา 7.625 บาทต่อถุง 1 กิโลกรัม และราคา 38.125 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ กขช. ได้เคยอนุมัติไว้ โดยให้ อคส. เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพการบรรจุถุง และกระจายสินค้าจนถึงปลายทางตามช่องทางการตลาดทั่วไปและโครงการธงฟ้าราคาประหยัดและร้านถูกใจ”

โครงการนี้มีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้ปรับปรุงข้าวขาว 5% ได้แก่ บริษัทเจียเม้ง จำนวน 50,000 ตัน, บริษัทนครสวรรค์ค้าข้าว 50,000 ตัน, บริษัทโชควรลักษณ์ 1.25 แสนตัน และบริษัทสิงห์โตทอง อีก 1.25 แสนตัน เป็นต้น โดยทาง กขช. ได้ให้ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพข้าว ส่วนกระบวนการแจกจ่ายไปยังร้านถูกใจทั่วประเทศ มอบให้บริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ และการจำหน่ายไปยังร้านค้าทั่วไปให้บริษัทสยามรักษ์เป็นผู้ดำเนินการจัดส่ง

ต่อมาในช่วงปลายปี 2555 ก็มีมติ กขช. ออกมาอีกครั้ง อนุมัติให้นำข้าวในสต็อกออกมาจำนวน 1.8 ล้านตัน โดยอ้างโครงการธงฟ้า การลดค่าครองชีพ และร้านถูกใจ มีการเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนเข้ามารับดำเนินการไปเป็นลอตๆ คราวละ 3 แสนตัน มีบริษัทที่ได้เข้าไปดำเนินการแปรสภาพเพื่อจัดจำหน่าย ไฮไลต์อยู่ที่กลุ่ม 5 เสือในวงการค้าข้าว อาทิ บริษัทเจียเม้ง, บริษัทพงษ์ลาภ, บริษัทนครหลวงค้าข้าว บวกด้วยเจ้าของฉายาเสือตัวใหม่อีก 2 เจ้าในวงการค้าข้าว คือ บริษัทโชควรลักษณ์ และบริษัทสิงห์โตทอง ที่ครองส่วนแบ่งโควตาข้าวในโครงการของกระทรวงพาณิชย์ได้ตลอด

ข้าวลอตใหญ่ดังกล่าวยังคงเปิดให้ระบายผ่าน 2 ระบบ เช่นเดิม คือ ถ้าจัดส่งไปขายที่ร้านถูกใจ ต้องผ่านกระบวนการขนส่งสินค้าของบริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง แต่ถ้าเป็นข้าวถุง อคส. ที่จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป อคส. อนุมัติการจัดจำหน่ายผ่าน 3 บริษัท คือ บริษัทสยามรักษ์ บริษัทคอนไรซ์เทรดดิ้ง และบริษัท ร่มทอง จำกัด

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวว่า โครงการระบายข้าวของรัฐบาลเพื่อขายให้แก่ประชาชนในโครงการธงฟ้าและร้านถูกใจ ได้เปิดช่องให้ อคส. ระบายข้าวได้ในราคาต่ำเพียง 50% ของราคาตลาด จำนวนประมาณ 2.5 ล้านตัน หากคิดเป็นปริมาณข้าวถุงขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม จะมากถึง 500 ล้านถุง ปรากฏหลักฐานว่า อคส. อนุมัติการส่งมอบข้าวให้เอกชนรับไปดำเนินการปรับปรุงสภาพ บรรจุถุง และจำหน่ายแล้ว 1.1 ล้านตัน แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่าข้าวถุงธงฟ้า ไม่ว่าจะผ่านร้านถูกใจหรือขายตามร้านค้าทั่วไป กลับไม่ปรากฏในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการตรวจสอบเชิงลึกก็พบว่า ข้าวสารเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งไปจำหน่ายให้กับประชาชนตามวัตถุประสงค์

“การส่งข้าวไปยังร้านถูกใจเป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น จริงๆ แล้วตั้งแต่เริ่มโครงการนี้มีข้าวไปถึงมือประชาชนโดยผ่านร้านถูกใจน้อยมากแค่ 56,235 ตัน ทั้งๆ ที่กระทรวงพาณิชย์เคยขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการร้านถูกใจถึง 10,000 แห่ง ใช้เงินไป 1,320 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้มีการจัดส่งข้าวราคาถูกไปถึงมือประชาชนอย่างจริงจัง จึงไม่ทราบว่าข้าวที่ออกจากโกดังราคาลด 50% จำนวนมากหายไปไหนหมด” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ เมื่อหักปริมาณข้าวที่จัดส่งไปให้ร้านถูกใจจำนวน 56,235 ตัน แล้ว จะเหลือปริมาณข้าวที่ อคส. อนุมัติระบายออกไปอีก 1-1.1 ล้านตัน ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีการจำหน่ายให้กับประชาชนตาม “ร้านค้าทั่วไป” ในโครงการข้าวธงฟ้าราคาประหยัดเช่นกัน ตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่บอกว่าไม่เคยได้รับข้าวในโครงการของรัฐดังกล่าว

แผนการตลาดสยามรักษ์ (1)

ในการจัดจำหน่ายข้าวถุงธงฟ้าให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วไปนั้น อคส. ได้มอบให้ 3 บริษัท เป็นผู้ดำเนินการแทน โดยจะต้องส่งแผนงานด้านการตลาดมาให้ อคส. ตรวจสอบก่อน ว่าเมื่อรับข้าวสารไปบรรจุถุงแล้วจะมีร้านค้าย่อยมารับสินค้าไปจำหน่ายให้ถึงมือประชาชนอีกทอดหนึ่ง อาทิ บริษัทสยามรักษ์ ได้ส่งแผนการตลาดให้ อคส. ว่ามีร้านค้าส่งขนาดใหญ่เป็นเครือข่ายกระจายสินค้าขนาดใหญ่และขนาดปานกลางในต่างจังหวัด 280 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอีก 1,140 แห่ง รวมเป็น 1,420 แห่ง เป็นต้น แต่ อคส. ก็ไม่เคยไปตรวจสอบว่าร้านค้าย่อยๆ เหล่านี้เคยได้รับข้าวราคาถูกไปขายหรือไม่

“จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการฯ พบว่า ร้านค้าที่บริษัทสยามรักษ์หยิบยกขึ้นมาในแผนการตลาดส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้รับข้าวถุงธงฟ้ามาจำหน่าย และบางส่วนเคยได้รับข้าวแต่ก็ไม่ได้ขายในราคา 70 บาทต่อถุง เพราะต้นทุนที่ซื้อมาสูงกว่าที่กำหนดไว้ และก็ไม่ได้จ่ายเงินตรงให้แก่ 3 บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ อคส. แต่ถูกบังคับให้ต้องโอนเงินไปยังอีกบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว และต้องไปรับข้าวเองที่จังหวัดอยุธยา จึงเกิดคำถามตามมาถึงกระบวนการครั้งนี้ว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นหรือไม่” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่อนุกรรมาธิการเกษตรฯ ได้รับมาและข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่สำรวจตลาด พบว่ามีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขบวนการ “โยก” ข้าวถุงราคาถูกจากโกดัง อคส. ไปขายในตลาดทั่วไปหรือขายให้กับพ่อค้า แทนที่จะบรรจุถุงขายให้แก่ประชาชน ตามที่ กขช. กำหนดราคาขายไม่เกิน 70 บาทต่อถุง ซึ่งคนที่ดำเนินการย่อมได้รับส่วนต่างก้อนมหาศาล เมื่อซื้อข้าวมาในราคาลด 50% แต่ขายไปในราคาตลาด

อีกสมมติฐานหนึ่งที่คณะอนุกรรมาธิการเกษตรฯ คาดไว้ก็คือ มีการนำข้าวไปแปรเป็นข้าวถุงจริงๆ แต่ตีตราแบรนด์อื่นที่ไม่ใช่ข้าวถุงธงฟ้าแล้วจำหน่ายในราคาเกินกว่า 100 บาทต่อถุง เมื่อคำนวณดูแล้ว การที่มีข้าวออกจากโกดัง อคส. ไปถึง 1.1 ล้านตัน แปรสภาพเป็นข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัม ได้ประมาณ 220 ล้านถุง ถ้านำไปขายในราคาตลาด นั่นก็คือส่วนต่างกำไรมากกว่าถุงละ 60 บาท เท่ากับมูลค่าเงินที่จะได้รับไปสูงถึง 13,200 ล้านบาท