ThaiPublica > คนในข่าว > “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมเช็คบิลถ้าแก้ปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นไม่คืบ

“ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมเช็คบิลถ้าแก้ปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นไม่คืบ

1 มิถุนายน 2013


นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นที่ไม่สามารถถอนเงินทั้งก้อนที่ฝากไว้กับสหกรณ์ฯ ได้ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา โดยให้ถอนแบบมีกำหนดวงเงินต่อราย ได้สร้างความเดือดร้อนมากพอสมควร

จากปมปัญหาความผิดปกติของงบการเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ที่มีการปล่อยเงินกู้ให้สมาชิกสมทบ 27 ราย วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเป็นกิจการที่อยู่ในเครือข่ายของผู้บริหารสหกรณ์ และบางส่วนไม่ได้ดำเนินธุรกิจแล้ว จนเป็นเหตุให้ผู้บริหารชุดนายมณฑล กันล้อม ได้ฟ้องร้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก หลายคดี

อย่างไรก็ตาม ปมปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นมีการรายงานสถานะความผิดปกติมานานแล้วจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งได้รายงานต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนผู้กำกับดูแล แต่ไม่มีความคืบหน้า จนนำมาสู่ความขัดแย้ง

ต่อเรื่องนี้ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ให้สัมภาษณ์กรณีปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นว่า

ไทยพับลิก้า : ทราบว่ารัฐมนตรีติดตามเรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นอยู่ ได้สั่งการอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ สหกรณ์ฯ คลองจั่น มีสมาชิกและยอดเงินฝากจำนวนมาก มีเงินที่ปล่อยกู้ทั้งหมดประมาณ 17,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเงินกู้ดังกล่าวส่วนใหญ่ปล่อยให้ผู้กู้เพียง 27 ราย และพบว่ามีบางบริษัทใน 27 ราย ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารสหกรณ์ด้วย เรื่องนี้ผมมีคำสั่งผ่านที่ประชุม คพช. ไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (สมชาย ชาญณรงค์กุล) ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ให้รีบเข้าไปดำเนินการ และภายในหนึ่งสัปดาห์จะต้องเคลียร์ปัญหาต่างๆ ให้ผู้บริหารชุดใหม่เข้าไปบริหารสหกรณ์ได้ ส่วนจะเป็นทีมของคุณมณฑล กันล้อม หรือคุณศุภชัย ศรีศุภอักษร ทางราชการก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ปรากฏว่า ภายใน 7 วัน ทางกรมส่งเสริมฯ ยังไม่ได้มีรายงานมาทางผม และเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ผมมีหนังสือไปถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯอีกครั้งให้ชี้แจงเรื่องที่สั่งให้ทำ ตอนนี้มีความคืบหน้าไปแค่ไหนแล้ว ที่ผมในฐานะรัฐมนตรีให้ชี้แจงก็คือ เหตุการณ์นี้ (ปัญหาการดำเนินงานของสหกรณ์) มันเกิดขึ้นมาตั้งหลายปีแล้ว ทำไมถึงปล่อยให้คาราคาซัง ปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อมาขนาดนี้ แล้วความเสียหายอาจจะรุนแรงมาก ให้กรมส่งเสริมฯ ชี้แจงมาว่าทำไมถึงปล่อยให้เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นมา ซึ่งสหกรณ์เครดิตยูเนียนก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2526 โดยมีคนก่อตั้ง 3 คน มี นายนิวัฒน์ พัฒนพิธี (เสียชีวิตแล้ว) นายมณฑล กันล้อม และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และจนถึงทุกวันนี้มีสมาชิกถึง 52,000 คน มีสินทรัพย์กว่า 22,000 ล้านบาท

ปัญหาทั้งหมด กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนก็รู้ปัญหามาตั้งนานแล้วตั้งแต่สมัยท่านธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยสั่งการให้เข้าไปจัดการปัญหาของสหกรณ์ฯ คลองจั่น แล้วทำไมทางกรมส่งเสริมฯ ถึงไม่ดำเนินการ วันนี้ที่สื่อมวลชน ประชาชน ทั่วไปรู้ปัญหานี้ก็เนื่องจากคุณมณฑลและ ดร.ศุภชัยทะเลาะกัน ทั้งที่จริงแล้วการตรวจบัญชีงบดุลประจำปี ก็ส่ออยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น …มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเงินเป็นหมื่นกว่าล้าน กลับปล่อยกู้ให้สมาชิกสมทบเพียง 27 ราย

“อันนี้ก็คือสิ่งที่ผมในฐานะรัฐมนตรี มีบันทึกไปถึงกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพราะเราเคยประชุม คพช. เรื่องนี้ไปถึง 2 ครั้ง ก็เชิญทั้งสองฝ่ายมาชี้แจง ดร.ศุภชัยก็เข้ามาชี้แจง ก็บอกว่า สถานการณ์ตอนนี้คือสหกรณ์ไม่มีเงินจ่ายปันผลให้กับสมาชิก ไม่ใช่เงินต้นนะ ดร.ศุภชัยก็ไปหากู้มาเพื่อที่จะเอามาจ่ายให้สมาชิกประมาณสองร้อยกว่าล้านบาทเพื่อคลี่คลายปัญหาบางส่วนให้สมาชิก ผมก็งงว่าทำไม ดร.ศุภชัยต้องไปหากู้ในนามส่วนตัวทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของสหกรณ์ ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไร”

ส่วนทางคุณมณฑล ก็เคยเชิญมาชี้แจงกับ คพช. แต่ก็ไม่มา โดยบอกว่ามีปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย(ในช่วงเดือนเมษายน มีความขัดแย้งในการจัดการประชุมเพื่อเลือกกรมการชุดใหม่) แล้วอีกทางหนึ่ง ทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ก็รายงานมาว่า มีปัญหาว่าไม่สามารถเข้าไปตรวจที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นได้ เพราะมีปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพล เขาบอกว่าเป็นเขตปลอดกรมส่งเสริมสหกรณ์ ติดป้ายไม่ต้อนรับเจ้าหน้าที่กรม ปัญหามันเกิดมานาน ทำไมปล่อยให้มีปัญหาถึงขนาดนี้ ผมก็เกรงว่าความเสียหายอาจจะรุนแรง แล้วจะกระทบกับคนจำนวนมากด้วย นี่คือสถานการณ์ในขณะนี้ แล้วถามว่าวันนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ยังไม่มีคำตอบอะไรมา

ไทยพับลิก้า : ได้เข้าไปดูงบดุล หรือบัญชีสหกรณ์ฯ คลองจั่นหรือยัง

มีรายงานจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่องงบดุลอะไรต่างๆ มาให้ผมเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะนี้ทราบว่าเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีการประชุมใหญ่สหกรณ์แล้วผลการเลือกตั้งคือทีม ดร.ศุภชัยได้รับเลือกตั้งทั้งทีม แต่เรื่องก็คงไม่จบอีก ทางคุณมณฑลมีการร้องเรียนเข้ามาอีก

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร

ไทยพับลิก้า : ร้องเรียนด้วยเหตุผลอะไร

การประชุมไม่ชอบ คือยังไม่มีอะไรเป็นทางการหรอกนะ เขาไม่ได้ติดต่อผมโดยตรง ติดต่อผ่านคนอื่น แล้วทราบว่ามีการไปร้องเรียนที่กองปราบเรื่องการฉ้อโกง ทางกองปราบทราบมาว่ากำลังดำเนินการอยู่

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้คดีที่สหกรณ์คลองจั่นฯ ฟ้องคุณศุภชัย เมื่อคุณศุภชัยได้รับเลือกตั้งทำให้ผู้บริหารสหกรณ์ในฐานะโจทก์และจำเลยเป็นคนเดียวกัน อีกทั้งก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนทนายโจทก์ด้วย

เรื่องทางคดี ตำรวจก็คงต้องว่ากันไป ที่ผมเข้าไปเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะมีคนเขียนคำร้องมาที่ผมซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วย แล้วผมในฐานะเป็นประธาน คพช. ก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ก็นำมาเข้าที่ประชุมเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อเท็จจริง อำนาจในฐานะนายทะเบียนของอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็เป็นคนที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหาตรงนี้ เราก็สั่งในที่ประชุมไป แต่ก็ยังไม่มีรายงาน ผมก็เลยต้องทำหนังสือทวงถาม เพื่อให้ตอบมาอย่างเป็นทางการ หนังสือส่งไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม

ไทยพับลิก้า : คิดว่าความเสียหายครั้งนี้จะรุนแรงหรือไม่ เพราะสถานะสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นเป็นเสมือนแบงก์ขนาดเล็กๆ รายหนึ่ง

เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในสหกรณ์ มันมีการบริหาร มีการไซฟ่อนเงินอะไรต่างๆ หรืออย่างไร คือผมเองก็ไม่ทราบว่าเขาทำกันมาอย่างไร หรือทำกันมานานแล้วหรือยัง เราทราบเพียงว่างบดุลสหกรณ์มีปัญหา แล้วไม่สามารถตรวจได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าความบกพร่องอยู่ที่หน่วยงานราชการ ซึ่งปล่อยให้มันเกิดได้อย่างไร ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ถ้าคุณมณฑลกับคุณศุภชัยไม่ได้มีปัญหาทะเลาะกันเอง ทุกคนก็ยังไม่มีใครรู้ความจริง พวกเขา(กรมส่งเสริมสหกรณ์)ควบคุมดูแลกันอย่างไร เราก็ไม่รู้ เรื่องมันก็เกิดมาตั้งนานแล้ว ก็ยังไม่มีมาตรการอะไร ที่จะมาฟันธงชี้ชัดว่าเรื่องนี้ควรมีแนวทางอย่างไร ต้องให้กรมส่งเสริมตอบมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อว่ามันเกิดอะไรขึ้นมา ผมจะได้ดำเนินการต่อไปได้

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้สมาชิกเดือดร้อนมาก เบิกเงินไม่ได้ มันเหมือนสถาบันการเงินมีปัญหาเลย

ใช่ ขณะนี้ก็เป็นอย่างนั้นแหละ แล้ววงเงินเยอะ แล้วยังเกี่ยวข้องกับสหกรณ์อื่นอีกนะ เพราะมีไปกู้สหกรณ์อื่นหลายที่ ก็ต้องให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปแก้ปัญหา รายละเอียดปัญหาก็ต้องถามอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

ไทยพับลิก้า : มีนักข่าวไปถามอธิบดีกรมส่งเสริมฯ ว่าถ้าไม่ทำอะไรก็อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่(อ่านในล้อมกรอบ)

ผมถึงต้องทำหนังสือไง ปกติแค่สั่งการในที่ประชุมก็ต้องรายงานแล้ว เพราะมีบันทึกรายงานการประชุม แต่กลับกลายเป็นว่า ผมต้องทำหนังสือทวงถามไปเพื่อให้ตอบเป็นทางการ

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไทยพับลิก้า : ถ้าสหกรณ์มีปัญหาจะทำอย่างไร เพราะลูกหนี้เงินฝากเต็มไปหมดเลย

เรียนว่าถ้าสหกรณ์มีปัญหา ก็ต้องไล่กันไปตามระบบว่าใครเป็นผู้บริหาร ใครเป็นผู้มีอำนาจในการจ่ายเงิน แล้วคุณเอาเงินออกไปอย่างไร เพราะมีระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์อยู่แล้วเรื่องการให้กู้เงิน ซึ่งก็ต้องมีคนรับผิดชอบแล้วไล่เบี้ยคนนั้นไป

ไทยพับลิก้า : การที่มีคดีฟ้องร้องกันอยู่ ระหว่างสหกรณ์กับจำเลย แต่ฝ่ายจำเลยกลับกลายมาเป็นผู้บริหารสหกรณ์ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

วันนี้ ทางคดีมี 2 ทาง คือ กองปราบซึ่งเขารับเรื่องไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งมีหน่วยตำรวจเศรษฐกิจเข้ามา ผมคิดว่าบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางก็ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ อีกทางคือฟ้องศาล นั่นก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้บริหารสหกรณ์ทะเลาะกันเอง นั่นก็ว่ากันไป แต่ทางหน่วยราชการ คือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ต้องเข้าไปกำกับ ถ้าเกิดความเสียหาย แล้วกรมส่งเสริมสหกรณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องไล่เบี้ยเจ้าหน้าที่ด้วย ว่าคุณละเลยแล้วปล่อยให้เกิดความเสียหายได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า : ทราบว่าเพราะทางอธิบดีกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์แจ้งไปยังกรมส่งเสริมฯ ตลอดหลายปีว่าบัญชีมีความผิดปกติ ต้องตั้งคณะกรรมการสอบผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ก็ต้องรอเขาชี้แจงมาก่อน ในที่ประชุมอธิบดีส่งเสริมก็รับปากว่าจะชี้แจงผมภายใน 7 วัน แต่ก็เงียบผมรอไม่ไหวก็ต้องส่งหนังสือไปทวงถาม วันนี้ต้องยอมรับว่าสหกรณ์ออมทรัพย์แต่ละแห่งมันมีขนาดหมื่นล้านทั้งนั้น ซึ่งพอมีเงินฝากมาก เขาก็ต้องหาดอกเบี้ยไปคืนให้สมาชิกที่มาฝาก แล้วเหตุผลที่คนฝากสหกรณ์เพราะดอกเบี้ยธนาคารมันต่ำ ตอนนี้เราก็ต้องสืบหาข้อเท็จจริงก่อน ส่วนการดำเนินการก็ต้องไปต่อ เงินมันออกนอกสหกรณ์ฯ มาหลายปีแล้ว ผมในฐานะประธาน คพช. ซึ่งอยู่ข้างบนอีกทีหนึ่ง ก็เลยต้องสั่งให้กรมเข้าไปแล้ว กรมก็ต้องรายงานเรามา

ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้ไหมว่า จะใช้เงินของกองทุนพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ นำมาช่วยเสริมสภาพคล่องของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ชั่วคราว

มันคงไม่พอ เพราะขนาดกองทุนก็แค่ 3,000 ล้านบาท แล้วกองทุนก็มีคนกู้รายเล็กรายย่อยคนละ 5 ล้าน 10 ล้าน แล้วจุดประสงค์กองทุนนี้ไม่ได้มีเพื่อแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินของสหกรณ์

ถ้าสหกรณ์ฯ คลองจั่นมีปัญหาจริงๆ รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ฝาก กระบวนการทางตำรวจอาจต้องขออายัดทรัพย์สิน เพื่อไม่ให้มันเสียหายทั้งหมด แต่ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้เพราะยังเข้าไปตรวจสอบขอเอกสารไม่ได้เลย

ไทยพับลิก้า : ไม่ทราบว่าจะอายัดได้อย่างไร เพราะเท่าที่ทราบมา ลูกหนี้สหกรณ์บางรายยังไม่มีสัญญาเงินกู้

ถ้ายังมีทรัพย์สินของสหกรณ์ ตรงไหนที่พอจะสืบจะตามได้ อำนาจเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ คพช. หรือรัฐมนตรี แต่อยู่ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียน คือถ้าเกิดความเสียหาย ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบ คุณปล่อยให้ปัญหามาถึงขั้นนี้ได้อย่างไร เผลอๆ ต้องไปรับผิดชอบทางแพ่งร่วมกับเขาด้วย เพราะคุณละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไทยพับลิก้า : จากกรณีสหกรณ์คลองจั่น จะนำไปสู่การปฏิรูปกรมส่งเสริมหรือไม่ เพราะบทบาทหน้าที่ของกรมส่งเสริมคล้ายกับของแบงก์ชาติที่ต้องกำกับดูแลสหกรณ์ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน

เรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการสังคยานาชุดใหญ่ว่าปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดได้อย่างไร แต่ตอนนี้ผมอยากได้เอกสารหลักฐานก่อน ผมก็ไม่อยากพูดเรื่องที่ไปไกลเกินกว่านั้น เอาเรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นก่อน

ไทยพับลิก้า : จากที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น เกิดสุญญากาศการบริหารกว่า 2 เดือน จริงๆ แล้วกรมส่งเสริมฯ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจทำอะไรหรือไม่

อำนาจนายทะเบียนมีอยู่แล้ว คุณสามารถดำเนินการจัดประชุมเองได้ตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องสุญญากาศ 2 เดือนนี้ แต่มีอำนาจตั้งแต่หลายปีที่แล้วด้วย ตั้งแต่พบปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ แล้วคุณไปตรวจหรือกำกับกันอย่างไร ถึงปล่อยให้เรื่องมาถึงทุกวันนี้

ไทยพับลิก้า : ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พระราชบัญญัติสหกรณ์ แต่อยู่ที่ผู้นำกฏหมายไปปฏิบัติ เพราะที่เคยถามเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมหลายคน แม้กระทั่งอธิบดี ยังบอกว่าสหกรณ์เป็นนิติบุคคลที่มาจดทะเบียนกับกรมเท่านั้น กรมทำหน้าที่ได้แค่เร่งรัด หรือตักเตือนเมื่อสหกรณ์ทำผิด ไม่มีอำนาจไปสั่งอะไรทั้งนั้น

ไม่ได้หรอก ถ้านายทะเบียนเห็นว่าสหกรณ์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือ พ.ร.บ.สหกรณ์ นายทะเบียนก็ต้องมีคำสั่งให้กรรมการสหกรณ์หยุดการปฏิบัติหน้าที่ สั่งการให้มีการตั้งกรรมการใหม่ หรือกรมส่งเสริมจะเข้าไปควบคุมเอง เพราะกฎหมายให้อำนาจนายทะเบียนไว้อยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : เท่าที่ทราบ กรมส่งเสริมให้เหตุผลว่า เขามีบันทึกว่าเคยตักเตือน หรือยื่นขอเอกสารกับทางสหกรณ์แล้ว ถือว่ากรมส่งเสริมปฏิบัติหน้าที่แล้ว

นั่นก็เป็นที่เขาพูด ถ้าคุณไม่ทำ แล้วทำไมกฎหมายให้อำนาจคุณไปควบคุม แต่ทำไมคุณถึงปล่อยให้มาถึงจุดนี้ แล้วยิ่งอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์บอกว่าเคยแจ้งไปหลายครั้ง มันก็จะมีเอกสาร ก็ต้องตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา

ไทยพับลิก้า : รู้สึกอย่างไรที่เรื่องบานปลายถึงขั้นนี้แล้ว

เรียนตามตรงว่า ที่ผ่านมาก็มีคนเข้ามาพบหลายคนเพื่อที่จะให้ช่วยฝั่งนั้นฝั่งนี้ แต่ผมก็ยืนหลักความถูกต้อง ผมไม่ได้เข้าข้างใคร ก็เหมือนว่าให้ทางกรมดำเนินการให้มันถูกต้อง ผิดก็ต้องว่าตามผิด

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไทยพับลิก้า : มีคนมาเข้าพบช่วงไหน

ประมาณช่วงเดือนเมษายน ส่วนใหญ่ก็เป็นฝ่าย ดร.ศุภชัย ฝ่ายคุณมณฑลจะเก็บตัว แต่เราก็อยากจะฟังความเห็นของทั้งสองฝ่าย แต่ทางคุณมณฑลก็เคยมาเข้าพบครั้งหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : ข้อบังคับต่างๆ ของสหกรณ์เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ถือว่าเข้มงวดน้อยกว่ามาก อีกทั้งไม่ค่อยจะมีบทลงโทษ พ.ร.บ.สหกรณ์ควรได้รับการปรับปรุงด้านการตรวจสอบให้เข้มขึ้นหรือไม่

พ.ร.บ.สหกรณ์ไม่ได้มีปัญหา เพราะร่างมาดีอยู่แล้วก็มีการปรับปรุงแก้ไขมาตลอด แต่วันนี้เราพบปัญหาด้านการปฏิบัติ ในการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อคุณรู้อยู่แล้ว คุณก็ควรจะเข้าไปดำเนินการตั้งแต่ต้น ถ้าเข้าไปไม่ได้คุณก็ต้องแจ้งทางตำรวจ หรือ DSI ก็ต้องทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยแบบนี้ ผมเลยต้องทำหนังสือให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ตอบมาโดยด่วน

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์”ผมต้องทำตามกฏหมายเท่านั้น”

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ก่อนการประชุมใหญ่ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นในวันที่ 28 พฤษภาคม โดยผู้สื่อข่าวได้ตั้งประเด็นคำถามดังนี้

ไทยพับลิก้า : จะดำเนินการอย่างไรกับกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

เรื่องนี้ผมได้มอบหมายให้นายโอภาส กลั่นบุศย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ หากทั้ง 2 ฝ่ายทะเลาะกันมาก ตกลงกันไม่ได้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะจัดให้มีการประชุมเอง หลักในการแก้ไขปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ผมต้องทำตามกฏหมายเท่านั้น ไม่มีเข้าข้างฝ่ายไหน ผมไม่อยากให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ซึ่งผมได้มอบหมายให้นายโอภาส เป็นผู้ดูแลอยู่

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาดูเหมือนกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร

การแก้ไขปัญหาสหกรณ์ มันมีขั้นตอนอยู่แล้ว ถ้าคุณพูดอย่างนี้ ผมไม่คุยกับคุณน่ะ คือผมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์พื้นที่ 2 เป็นผู้ดูแลอยู่ แต่การดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย ไม่ใช่ทำตามกระแส นายศุภชัยต้องการแบบหนึ่ง นายมณฑลก็จะเอาอีกแบบหนึ่ง ทางราชการทำได้อย่างเดียว คือต้องยึดกฏหมายเป็นหลัก

ไทยพับลิก้า : กรมสอบบัญชีสหกรณ์ ตรวจพบความผิดปกติในการปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ 27 ราย

กรณีนี้กรมสอบบัญชีสหกรณ์ตรวจพบมาหลายปีแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็รับทราบและติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่เราต้องดูในเรื่องข้อกฏหมายว่าทำอะไรได้บ้าง หากมีการฉ้อโกงเกิดขึ้นในสหกรณ์ ผู้เสียหายคือสหกรณ์ ดังนั้นสหกรณ์เป็นนิติบุคคลต้องเป็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย