ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สถานการณ์ “ขยะ” ของไทย

สถานการณ์ “ขยะ” ของไทย

21 พฤษภาคม 2013


สถานการณ์ขยะของไทยตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยขยะมูลฝอยเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุดของประเทศไทย โดยปี 2555 มีขยะมูลฝอยประมาณ 16 ล้านตัน ซึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ร้อยละ 22 หรือเฉลี่ย 9,800 ตันต่อวัน สำหรับขยะกลุ่มนี้กำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการเพียง 5.8 ล้านตัน (ร้อยละ 36) ที่เหลืออีกกว่า 10 ล้านตัน กำจัดโดยการเผาทิ้ง กองทิ้งในบ่อดินเก่าหรือพื้นที่รกร้าง

ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศ

ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นเทียบกับปริมาณที่กำจัดได้

ทั้งนี้ มีการนำขยะมูลฝอยบางส่วนทั้งที่มาจากชุมชนและภาคอุตสาหกรรมมาคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือกระดาษ ก็นำไปรีไซเคิล ส่วนขยะจากชุมชนส่วนอื่นๆ เช่น ขยะอินทรีย์ก็ทำเป็นปุ๋ยหรือผลิตก๊าซชีวภาพ และนำไปผลิตพลังงานทดแทน

ด้านของเสียอันตรายก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม ที่เหลือคือของเสียอันตรายจากชุมชน รวมถึงซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และขยะมูลฝอยติดเชื้อ ทั้งนี้ ขยะกว่าร้อยละ 70 มาจากอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น และสามารถกำจัดได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการในโรงงานที่รับกำจัดของเสียอันตรายที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

ปริมาณของเสียอุตสาหกรรม

ปริมาณของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม

ปริมาณของเสียอันตราจากชุมชน

ประเทศไทยมีโรงงานทั่วประเทศจำนวน 135,942 แห่ง แบ่งเป็น 3 ประเภท โดยโรงงานประเภท 1 ที่สามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก กรอ. มีจำนวน 42,528 แห่ง โรงงานประเภท 2 คือ ต้องมาแจ้ง กรอ. ก่อนประกอบกิจการโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตมีจำนวน 17,557 แห่ง และโรงงานประเภท 3 คือ โรงงานที่ต้องขอใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือใบ รง.4 มีจำนวน 75,867 แห่ง

สำหรับศักยภาพในการบำบัดกากของเสียอุตสาหกรรม มีโรงงานรับบำบัดที่ได้รับใบอนุญาตจาก กรอ. ทั่วประเทศจำนวน 1,789 แห่ง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. โรงงานประเภท 101 เป็นโรงบำบัดของเสียรวม เช่น เตาเผาขยะในโรงงานปูนซีเมนต์ หรือระบบบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรม มีจำนวนทั้งสิ้น 141 แห่ง 2. โรงงานบำบัดกากของเสียประเภท 105 จะเป็นบ่อฝังกลบและเป็นโรงงานคัดแยก มีจำนวน 1,225 แห่ง และ 3. โรงงานบำบัดกากของเสียประเภท 106 เป็นโรงงานรีไซเคิล มีจำนวน 423 แห่ง

เฉพาะกากของเสียอันตรายจากโรงงานประเภทที่ 3 พบโรงงานที่มีของเสียอันตรายอยู่ราว 1.6 หมื่นแห่ง โดยช่วงเดือนมีนาคม 2555 ถึงเดือนมีนาคม 2556 พบใบแจ้งขนของเสียอันตรายออกจากโรงงานรวม 2.75 ล้านตัน แต่กลับพบว่ามีการนำไปบำบัดเพียง 9 แสนตัน นั่นหมายความว่า มีกากของเสียอันตรายหายไปจากระบบ 1.85 ล้านตัน

ส่วนโรงงานอื่นที่มีกากของเสียไม่อันตราย มีจำนวน 1.2 หมื่นแห่ง มีใบแจ้งขนขยะออกจากโรงงาน 41.5 ล้านตัน แต่ขนย้ายจริงเพียง 12 ล้านตัน นั่นคือหายไปจากระบบ 29.5 ล้านตัน รวมแล้วปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีกากขยะอุตสาหกรรมทั้งที่อันตรายและไม่อันตรายหายไปจากระบบ 31.35 ล้านตัน

ในปี 2554 มีกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมรวม 3.95 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 84 ของปริมาณของเสียอันตรายทั้งหมด โดยมีโรงงานรับกำจัดของเสียเหล่านี้ทั่วประเทศกว่า 300 แห่ง ซึ่งรองรับของเสียอันตรายได้กว่า 10 ล้านตัน แต่ก็ยังพบปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตรายในพื้นที่รกร้าง รวมถึงผู้ประกอบการบางรายกำจัดของเสียอันตรายไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่รายงานข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรมให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบ โดยร้อยละ 70 ของปริมาณขยะอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่ภาคตะวันออกกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนมีประมาณ 7 แสนตัน โดยเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.6 แสนตัน และกลุ่มขยะแบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี 3.54 แสนตัน และมีขยะมูลฝอยติดเชื้อประมาณ 43,000 ตัน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมขยะมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลทุกประเภทและทุกขนาด โดยในปี 2550 ขยะกลุ่มนี้ร้อยละ 65 จะเผาในเตาเผาขยะของโรงพยาบาล ร้อยละ 17 กำจัดโดยบริษัทเอกชน และร้อยละ 28 กำจัดโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งส่วนนี้ท้องถิ่นกำจัดถูกวิธีเพียงร้อยละ 10 ที่เหลือเผารวมกับขยะทั่วไปและลักลอบทิ้งในที่รกร้าง

ด้านการนำเข้าของเสียเคมี

ช่วงก่อนปี 2529 ประเทศพัฒนาแล้วเข้มงวดเรื่องการกำจัดของเสียอันตรายในประเทศมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการกำจัดสูง ประกอบกับการค้าระหว่างประเทศทำได้ง่าย จึงมีการส่งของเสียไปกำจัดในประเทศอื่น ต่อมาของเสียดังกล่าวมีผลกระทบต่อประเทศผู้รับกำจัดมาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติจึงจัดประชุมนานาชาติในเดือนมีนาคม 2532 ณ นครบาเซล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อร่าง “อนุสัญญาบาเซล” ขึ้นมาควบคุมการนำเข้าและส่งออกของเสียอันตรายข้ามแดน โดยให้ประเทศต่างๆ ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2533 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 มีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาบาเซลรวม 178 ประเทศ โดยประเทศไทยให้สัตยาบันไว้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นมา มีกรมควบคุมมลพิษเป็นศูนย์ประสานงานและมีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจ

การควบคุมของเสียตามอนุสัญญาฯ กำหนดบัญชีรายชื่อไว้ 2 กลุ่ม คือ บัญชี A จะกำหนดของเสียอันตรายที่ห้ามเคลื่อนย้ายออกจากประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีทั้งหมด 61 ชนิด 4 กลุ่ม คือ 1. ของเสียประเภทโลหะ 19 ชนิด เช่น สารหนู ปรอท ตะกั่ว 2. ของเสียประเภทอนินทรียสาร 6 ชนิด เช่น สารเร่งปฏิกิริยาฟลูออลีน ฯลฯ 3. ของเสียประเภทอินทรียสาร 20 ชนิด เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันเตา และ 4. ของเสียประเภทอินทรียสารและอนินทรียสาร 16 ชนิด เช่น ของเสียจากโรงพยาบาล วัตถุระเบิด ส่วนบัญชี B เป็นของเสียไม่อันตรายที่ยกเว้นให้เคลื่อนย้ายเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น เศษเหล็ก ทองแดง พลาสติก ฯลฯ

ต่อมาในปี 2550 ประเทศไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนจำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนครัวไทยสู่โลก ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมรถยนต์ การอนุรักษ์พลังงาน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เศรษฐกิจสร้างมูลค่า และหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน ซึ่งขยะอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นก็ถือเป็นสินค้านำเข้าอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาของเสียเคมีนำเข้าของไทยเกือบทั้งหมดมาจากญี่ปุ่น

แนวคิดวงจรหมุนเวียนขยะของญี่ปุ่น

ระบบการหมุนเวียนขยะในเอเชีย

ปริมาณการนำเข้าของเสียเคมีของไทย

ข้อมูลปริมาณการนำเข้าของเสียเคมีของกรมศุลกากร ช่วงปี 2550-2554 มีพิกัดศุลกากร 4 หลัก ที่ใช้พิจารณาการนำเข้าของเสียเคมีทั้งหมด 8 กลุ่ม

เม็ดขี้เร่

ภาพนิ่ง11 (1)