ThaiPublica > คอลัมน์ > คิดให้ดีก่อนยกเลิกระเบียบอนุรักษ์

คิดให้ดีก่อนยกเลิกระเบียบอนุรักษ์

17 พฤษภาคม 2013


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

ป่าพรุควน  ที่มาภาพ : http://chm-thai.onep.go.th
ป่าพรุควน ที่มาภาพ : http://chm-thai.onep.go.th

สายด่วนเมื่อตะกี้โทรเข้ามาเรียกประชุมอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำทุกคณะ ว่าด้วยเรื่องรัฐบาลแสดงเจตจำนงต้องการให้ยกเลิกสถานะความเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ของระบบนิเวศแม่น้ำและปากแม่น้ำ

คาดว่าน่าจะเป็นการเคลียร์ทางเพื่อก่อสร้างอภิมหาโครงสร้างกีดกันการทำงานของระบบนิเวศธรรมชาติ เพื่อควบคุมมวลน้ำทั้งจืดทั้งเค็มได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบของมนุษย์

ผู้เขียนเห็นด้วยว่าปัญหาน้ำท่วมและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในอนาคตอันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเป็นเรื่องใหญ่มากและสำคัญมาก เราจึงต้องวางแผนปรับตัวให้รับมือกับสถานการณ์

แต่อย่าลืมว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวงที่เราประสบกันในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เกิดจากวิธีการพัฒนาที่ไปทำลายระบบนิเวศธรรมชาติ ทางออกจึงต้องใช้วิธีคิดใหม่ ไม่ใช่มุ่งทุ่มสุดตัวไปกับวิธีเดิมๆ ที่สร้างปัญหาเหล่านั้นขึ้นมา

ดังที่ไอสไตน์บอกว่า “เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบเดียวกับที่เราสร้างปัญหานั้นขึ้นมา”

ณ วันนี้ คนทั่วโลกที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงรับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมทำลายทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า หลักการที่ต้องใช้กำกับแนวทางการจัดการหรือแนวทางคิดค้นเทคโนโลยี/มาตรการพัฒนา คือต้องไม่ไปทำลายโครงสร้างของระบบนิเวศ

นั่นหมายถึงลักษณะทางกายภาพที่เกื้อหนุนให้กลไกของระบบนิเวศต่างๆ ดำเนินงานไปได้ ชีวิตอื่นๆ ปรับตัวอยู่กับโครงสร้างเหล่านี้ พวกมันเป็นอาหารเรา และทำงานร่วมกับวัฎจักรในธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ จนมนุษย์สามารถมีคุณภาพชีวิตดีๆ อาทิ น้ำไหลอย่าไปกั้นไปขวาง อย่าไปอาจหาญรู้ดีกว่าธรรมชาติ

นี่เป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายวิศวกรรุ่นใหม่ จะออกแบบโครงสร้างอะไรไม่ใช่แค่ออกแบบให้ใช้งานได้ไม่พัง แต่ยังต้องออกแบบให้ลื่นไหลกับระบบธรรมชาติ ไม่ไปขัดขวางทำลายโครงสร้างธรรมชาติ เช่น จะดึงพลังงานจากน้ำไหลมาใช้ ก็ต้องหาวิธีไม่ไปกีดกั้นลำน้ำ

เป็นโจทย์น่าสนุก จนบางครั้งชักรู้สึกเสียดายตะหงิดๆ ที่ไม่ได้เรียนวิศวะอย่างที่พ่ออยากให้เรียน

ผู้เขียนเคยเขียนถึงพื้นที่ชายฝั่งไว้ในหนังสือคู่มือ “นักสืบชายหาด” ของมูลนิธิโลกสีเขียวว่า

“ชายฝั่งเป็นแดนด่านสุดท้ายของแผ่นดินที่บรรจบพบกับทะเล จึงเป็นพื้นที่ที่ปั่นป่วนที่สุด เสมือนอยู่ในแนวรบตลอดเวลา เพราะเป็นแนวปะทะระหว่างสองโลก คือ โลกของบกและโลกของทะเล ซึ่งผลัดกันรุกผลัดกันถอย บางครั้งทะเลกัดเซาะแผ่นดินชายฝั่งออกไป บางครั้งตะกอนก็เคลื่อนเข้ามาทับถมเพิ่มพื้นที่แผ่นดินให้งอกยื่นออกไปในทะเล

แต่แม้ว่าพื้นที่ชายฝั่งจะเป็นที่ที่แปรปรวนที่สุด มันก็เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดด้วย เพราะน้ำได้ชะและนำพาสสารและตะกอนจากทั่วแผ่นดิน ไหลหลากจากขุนเขา ไร่นา และบ้านเมือง มากองสะสมที่บริเวณปากน้ำและชายฝั่ง ตะกอนและสสารเหล่านี้เป็นอาหารพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต เป็นปุ๋ยสำหรับพืช และเป็นอาหารแก่สัตว์ที่กินสารอินทรีย์ในตะกอน ในขณะเดียวกัน ในช่วงน้ำขึ้นคลื่นก็จะซัดพาเอาพืชและสัตว์ขนาดจิ๋วที่ลอยไปมาในทะเลจำนวนมากมาย ที่เราเรียกว่าแพลงก์ตอน เข้ามาสู่พื้นที่ชายฝั่ง เป็นอาหารให้แก่สัตว์อื่นๆ อีก

ยิ่งกว่านั้น เมื่อน้ำจืดและน้ำเค็มเคลื่อนเข้ามารวมกัน จะเกิดปฎิกิริยาระหว่างขั้วประจุไฟฟ้าบวกลบจากน้ำเค็มและน้ำจืด ทำให้สสารธาตุอาหารต่างๆ จากน้ำทั้งสองติดกับไหลวนอยู่ในแนวปะทะนี้ กลายเป็นยอดน้ำแกงสูตรพิเศษที่ทำให้บริเวณชายฝั่งมีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์กว่าในทะเลเปิดหลายเท่า โดยเฉพาะในบริเวณใกล้ปากน้ำอาจสูงกว่าถึง 30 เท่า นี่คือสินสมรสจากแม่น้ำและพ่อสมุทร

การดูแลรักษาพื้นที่ชายฝั่งจึงเป็นการดูแลรักษาขุมทรัพย์คลังอาหารที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของเรา เพราะมันเป็นแหล่งหากินและที่สำหรับอยู่อาศัย หลบภัย เลี้ยงลูกอ่อนของสัตว์จำนวนมาก โดยมีแนวหาดเป็นตะเข็บชายแดนโอบรอบผืนแผ่นดิน และเชื่อมต่อกับผืนทะเลชายฝั่ง”

ระบบนิเวศชายฝั่ง ทั้งจืดและเค็ม ที่ที่ระดับน้ำขึ้นๆ ลงๆ ทุกวันบ้าง เดือนละครั้งสองครั้งบ้าง หรือบางฤดูบ้าง จึงเป็นรั้วบ้านมีชีวิตที่กุมกุญแจความมั่นคงของชีวิตเรา มันควรได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติพื้นที่ชุ่มน้ำ

ดังนั้น ในการปรับตัวรับมือกับอนาคต อันดับแรก ธรรมชาติที่ยังคงอยู่ต้องปกป้อง ถัดมา จุดยุทธศาสตร์ทางธรรมชาติที่พังไปต้องฟื้นฟู การก่อสร้างที่ตามมาในอันดับต่อไปต้องล้อลูกกับระบบนิเวศ

เลิกแก้ปัญหาแบบทำลายล้างธรรมชาติได้แล้ว มันเก่า มันเชย มันเป็นปัญหา