ThaiPublica > คนในข่าว > เสียงเพรียก “สุดา รังกุพันธ์” แนวหน้าปลดปล่อย “แดงหลังกรง”- ครูอักษรศาสตร์ ถอดความ “วาทกรรม”

เสียงเพรียก “สุดา รังกุพันธ์” แนวหน้าปลดปล่อย “แดงหลังกรง”- ครูอักษรศาสตร์ ถอดความ “วาทกรรม”

1 พฤษภาคม 2013


“ถามว่าต้องการคืนความเป็นธรรมให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไหม แน่นอน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องการ เหมือนเราคิดกลับไปกรณีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องออกไปอยู่ในต่างประเทศ ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เราก็ต้องการคืนความเป็นธรรมให้ท่าน ต้องการคืนความเป็นธรรมให้ทุกคน รวมถึงคนที่ถูกคุกคามโดยคดีความแล้วต้องออก”

นางสาวสุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางสาวสุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากความสงสัยที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ “เธอ” เดินทางไปค้นหาความจริงหน้าเวทีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

และกลายเป็นที่มาให้ “เธอ” ตัดสินใจถอด “เสื้อชมพู” แล้วสวมใส่ “เสื้อแดง”

ยามกลางวัน “เธอ” ใช้ชีวิตในรั้ว “อำมาตย์” แต่ตกเย็นเธอมักไปนอนกลางดิน-กินกลางถนนร่วมกับ “ฝูงไพร่” ที่ออกมาชุมนุมใหญ่ขับไล่ “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในปี 2553 ก่อนที่ต่างฝ่ายต่างแตกกระสานซ่านเซ็นหลัง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)” เปิด “ปฏิบัติการกระชับพื้นที่” สี่แยกราชประสงค์ เพื่อยุติเหตุชุลมุนกลางเมือง

โดยมีทั้ง “ทหาร” และ “ชาวบ้าน” บาดเจ็บ ล้มตาย กลายเป็นผู้ต้องคดี

3 ปีผ่านไป “สุดา รังกุพันธ์” อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลิกบทบาทครั้งใหญ่ จาก “อาจารย์สาว” มาเป็น “นักเคลื่อนไหว”

จาก “ผู้ฟัง” กลายเป็น “ผู้นำ” การชุมนุมของ “กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล” จัดกิจกรรมบาทวิถีเสวนาทุกวันอาทิตย์

จาก “แนวร่วม” กลายเป็น “แนวหน้า” ของ “กลุ่ม 29 มกราฯ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง”

โดยหลายเสียงจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ยืนยันว่า แรงกดของ “แดงปัญญาชน” กลุ่มนี้ คือแรงบีบให้พรรคต้องเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ในโอกาสครบรอบ 3 ปี ของเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” จึงเชิญ “สุดา” มาร่วมบันทึกส่วนต่อขยายของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในหน้าการเมืองไทยเป็นคนแรก โดยหาได้มีเจตนาอื่นแอบแฝง นอกจากชวนผู้อ่านร่วมทำความเข้าใจในชุดความคิด-ความเชื่อ-ความจริงของแต่ละฝ่ายไปพร้อมกัน ร่วมสรุปบทเรียน เพื่อไม่ให้กงล้อประวัติหมุนกลับมาสร้างความสูญเสียอีกในอนาคต

ไทยพับลิก้า :ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 อาจารย์ทำอะไร อยู่ที่ไหน

ปี 2553 เป็นช่วงภาคภาคฤดูร้อน ก็ยังมีวิชาที่สอนอยู่ด้วย แต่ช่วงเย็นจะไปร่วมชุมนุมและพักค้างคืนตามโอกาส โดยได้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่คนเสื้อแดงเริ่มเคลื่อนพลวันที่ 12 มีนาคม 2553 ก็ไปขึ้นเวทีบ้าง พูดคุยกับประชาชนบ้าง ช่วยแปลบทกวีหลายภาษาที่อ่านบนเวทีบ้าง แต่ก่อนหน้านั้นก็ไปที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่ออธิบายกับเขาว่าคนเสื้อแดงเป็นใคร มีธรรมชาติความเป็นสันติวิธีอย่างไร เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ มักมองตามภาพข่าวของสื่อกระแสหลัก และตามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เสนอให้เป็น จึงอยากให้เขาเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม

ไทยพับลิก้า : ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลุกขึ้นมาสวมเสื้อแดงแล้วออกไปร่วมชุมนุมคืออะไร

ความจริงเข้าร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 จากจุดเริ่มต้นกรณีการเสียชีวิตของนายณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง (แนวร่วม นปช. จากเหตุปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551) ที่ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ และเห็นว่าคนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวแบบพันธมิตรทำไมถึงรู้สึกสะใจ ดีใจ เป็นชัยชนะที่มีคนเสื้อแดงตาย ก็ตกใจว่าทำไมคนมันมองข้ามมนุษยธรรมไปได้เพียงเพื่อจะเอาชนะทางการเมือง จากนั้น เมื่อได้พูดคุยกับน้องๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจึงพบว่า เรามีภาพความเข้าใจเกี่ยวกับคนเสื้อแดงในทางลบ ซึ่งอาจไม่ใช่ความจริง พอหลายเหตุการณ์มาประกอบกัน ทำให้เราเริ่มค้นหาว่าคนเสื้อแดงคือใคร ก็เริ่มไปฟังปราศรัย ไปสัมผัส จนรู้สึกว่าเขาก็เป็นคนธรรมดาที่มาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเหมือนกับเรา

แต่ที่น่าตกใจคือ กรณีแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชาของคุณนพดล (ปัทมะ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น) ที่มีบทความของอาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์) เรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญเอง” รู้สึกว่าเป็นการกล่าวหา ใส่ร้าย สร้างความเสียหายให้แก่อำนาจรัฐอย่างรุนแรงมาก ขบวนการที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีอำนาจที่ทรงอิทธิพลมาก ดิฉันทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้ภาษาและความหมายของคำ พอเห็นคำว่า “อาจ” ถูกนำมาใช้ในคำวินิจฉัยศาล โดยเรากลับไปอ่านตัวบทแล้วมันไม่มีคำว่า “อาจ” ทีนี้คำว่าอาจคือ Possibility คือมีความเป็นไปได้ คุณจะมีความเป็นไปได้ 1 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ 99 เปอร์เซ็นต์ หรือมีความเป็นไปได้สูงสุด 100 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ซึ่งก็คือความจริง ความเป็นไปได้ที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ก็คือความเป็นไปได้ แต่ถ้าจะตัดสิน คุณต้อง Truth ต้องมีความจริง 100 เปอร์เซ็นต์ก่อน จะใช้ระหว่างตรงนี้ไม่ได้เลย เพราะมันไม่จริงนี่ แล้วถ้ามันเป็นส่วนของความไม่จริง อย่างนี้คนก็ถูกปรักปรำ เขาไม่ได้มีความผิดจริง แต่ต้องถูกถอดถอน ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง แล้วตามมาด้วยผลมากมายจากเหตุการณ์นั้น นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาติ

ไทยพับลิก้า : แต่บนเวทีเสื้อแดง บ่อยครั้งแกนนำก็ใช้คำว่า “อาจ” เชื่อมโยงสมมุติฐานต่างๆ เข้ากับผู้มีบารมีที่เชื่อกันว่าเป็นผู้บงการอยู่หลังฉากการเมือง เพราะหลายเรื่องมันพิสูจน์ไม่ได้ เคลียร์ข้อเท็จจริงไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ไม่นะคะ ดิฉันคิดว่าไม่มีคำว่า “อาจ” คำนี้มันมีแต่ในคำวินิจฉัยของศาล คนที่อยู่บนเวทีเขามั่นใจ ไม่มี “อาจ” หรอกค่ะ เคลียร์หมด ถามว่าฟังแล้วเรารู้สึกไม่แน่ใจหรือเปล่า ไม่ค่ะ ต้องดูว่าประเด็นมันชี้ไปที่ตัวบุคคลหรือตัวระบบ โดยส่วนตัวก่อนเข้ามาร่วมกับคนเสื้อแดงก็เห็นถึงความอยุติธรรมในสังคมก่อนแล้ว ก็รู้ว่าความเป็นระบบเป็นเครือข่ายที่มีอำนาจเหนือกฎหมายนี่มันมี คิดว่าไม่มีใครในสังคมไทยจะไม่รู้ว่ามันมีอยู่

นางสาวสุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไทยพับลิก้า : รู้ว่ามีอยู่ แต่พูดได้หรือไม่

ได้สิ ส่วนตัวไม่เคยคิดว่าเป็นคนคนเดียว มันเป็นทั้งระบบ แล้วก็มีการสร้างเครือข่ายขึ้นมา เชื่อมโยงกันด้วยผลประโยชน์หลายๆ อย่าง ตัวเงิน โอกาส สถานภาพทางสังคม ซึ่งจะไปสร้างโอกาสอื่นๆ ให้งอกเงยขึ้นมา ขอให้คุณอยู่ในเครือข่ายก็แล้วกัน

ไทยพับลิก้า :ทีนี้ ถ้าย้อนกลับมาดูเครือข่ายคนเสื้อแดง ระหว่างไปร่วมชุมนุมปี 2553 เห็นแกนนำบนเวทีพยายามทำอะไร และชาวบ้านไปทำอะไรกัน

แกนนำก็พยายามฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาของวิกฤติการเมืองหลังรัฐประหารมา 4 ปี พยายามประมวลเหตุผลต่างๆ ตั้งแต่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นความจำใจในหลายๆ ส่วน มีรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาซึ่งเป็นพรรคเดิมก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่บริหารประเทศไม่ได้ ต้องเปลี่ยนนายกฯ มีการยุบพรรค เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาลแทน เขาก็เลยเรียกร้องให้ยุบสภา ส่วนประชาชนก็ออกมาต่อสู้อย่างต่อเนื่อง เท่าที่พูดคุยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร

ไทยพับลิก้า : ไปชุมนุมทุกวัน และอยู่จนถึงวันสลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 เลยหรือเปล่า

ไม่ถึงค่ะ ออกจากพื้นที่ชุมนุมหลัง เสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก) ถูกยิง ถ้าจำไม่ผิดก็ออกวันที่ 14 หรือ 15 พฤษภาคม 2553 แต่กลับเข้าไปเกือบทุกวัน แต่ไม่ได้นอน

ไทยพับลิก้า : ผ่านมา 3 ปี เห็นความพยายามของแกนนำในการช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีต่างๆ มากน้อยแค่ไหน

ถามว่าแกนนำ นปช. ได้แสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนที่มาร่วมกับขบวนซึ่งนำโดย นปช. มากพอหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่มากพอ แต่จะบอกว่าไม่พยายามก็คงไม่ใช่ ก็มีความพยายามในระดับหนึ่ง แต่อันนี้มันโยงกับอำนาจในสังคมไทย การต่อสู้ในกระบวนการทางศาล ประชาชนมีความเสียเปรียบมาก สิ่งที่เราเรียกว่านักสู้นิรนาม-นักสู้ธุลีดินนี่ไม่มีใครรู้จักเขา เขาไปถูกจับที่ไหน โดนข้อหาอะไร ไม่มีใครรู้ ในภาวะที่มีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทุกคนที่เป็นระดับนำก็ถูกหมายหัวและถูกไล่ล่า ดังนั้นมันมีอยู่ 2 อย่าง คือ มอบตัวสู้คดี หรือหลบหนีเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองก่อน ดังนั้น โอกาสเข้าไปดูแลประชาชนตอนนั้นเชื่อว่ามีน้อยมาก

ทีนี้ เมื่อมันล่วงเลยมาจนสถานการณ์คลี่คลายไปบ้าง เริ่มมีข้อมูลว่าประชาชนถูกจับตรงไหน ก็เริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่จำนวนมากถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิพลเมืองไปแล้ว เช่น ถูกบังคับให้เซ็นรับสารภาพ ถูกซ้อมทรมาน ซึ่งไม่ค่อยเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือทางคดีในการต่อสู้ตามปกติ ดังนั้น ความช่วยเหลือจึงไม่ใช่แค่จัดหาทนายไปช่วยว่าความ แต่ต้องเข้าไปดูแลเพื่อค้นหาปมปัญหาแต่ละคดี แต่ความพยายามหลายอย่างไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาเผยแพร่ในวงกว้าง

ไทยพับลิก้า : คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยคาดหวังให้รัฐบาล 300 เสียงช่วยออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ผ่านมา 1 ปีครึ่งกลับไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม งานนี้มวลชนถูกหลอกหรือเปล่า

ไม่คิดว่าเป็นเรื่องการถูกหลอก อย่าลืมว่าการเมืองไม่ได้มีเราคนเดียวนะ มันคือการบริหารอำนาจต่างๆ ในสังคม ขณะนี้เป้าหมายของเราคือทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ทำเอาไว้มากมาย ซึ่งปัญหาตกค้างอันหนึ่งคือนักโทษการเมือง การแก้ปัญหาตรงนี้เป็นเรื่องยากที่สุด เพราะปัญหาทั้งหมดมาจากการจับกุมคุมขัง การสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้วส่งฟ้อง การพิจารณาคดีในชั้นศาล ในขั้นตอนทั้งหมดนี้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการได้รับความช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่องทนายความ ทำให้การต่อสู้คดีส่วนใหญ่เสียเปรียบ แพ้ในทางคดี พอแพ้ก็เท่ากับเป็นคนผิด นี่คือภารกิจตกค้างที่เกิดจากความเสียหายโดยรัฐไทย โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

เมื่อสถานการณ์ล่วงเลยไปเป็นเรื่องการต่อสู้ทางคดีมากแล้ว จะถอยกลับไปที่การปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขก็ไม่ได้แล้ว เพราะตอนจับตัวมันปี 2553 กว่าจะยุบสภาปี 2554 มันคือ 1 ปีนะ ช่วงนั้นหลายคดี โดยเฉพาะคดีเผาในต่างจังหวัดที่ตัดสินเร็วมากและไม่เป็นธรรม มาถึงจุดนี้จะถอยกลับไปก็ไม่ได้ ปล่อยทันทีก็ไม่ได้เพราะเป็นความผิดทางอาญา ไปผูกไว้ตรงนั้นแล้ว จึงมาถึงจุดที่ว่าต้องมีการนิรโทษกรรม แม้ในมุมมองประชาชน การนิรโทษกรรมจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เพราะเราต้องการเป็นผู้บริสุทธิ์ คืนความเป็นธรรม ไม่ใช่บอกว่าให้อภัยในความผิด เพราะมันไม่มีใครมีความผิด แต่เมื่อมาถึงจุดที่อาจต้องเลือกแนวทางปฏิบัตินิยม มุ่งบรรลุเป้าหมายมากกว่าไปคิดถึงวิธีการได้มา เพราะเราต้องรักษาชีวิตคน ดังนั้นจึงต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ทีนี้ การออกกฎหมายก็มีหลายรูปแบบ เป็น พ.ร.ก. ออกโดยรัฐบาล เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกโดยสภา หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่คณะนิติราษฎร์เสนอ ถามว่าในภาวะที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ความพยายามจะเอากฎหมายปรองดองเข้าสภาเมื่อปี 2555 ซึ่งเกิดเหตุวุ่นวายในสภา และนอกสภาก็มีพันธมิตรมาชุมนุม จนต้องยุติการประชุมสภา กฎหมายปรองดองฉบับนั้นจริงๆ ไม่เป็นที่ยอมรับของใครทั้งสิ้น ยกเว้นคนที่อยู่ในสภาไม่กี่คน เพราะคนเสื้อแดงไม่ต้องการเห็นการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่ใช่จงเกลียดจงชังคลั่งแค้นอะไร แต่ชัดเจนว่าการกระทำผิดที่เกิดกับประชาชน ทำให้มีการเสียชีวิตเป็นร้อยคน จนบัดนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวน ยังไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีเลย หากกระบวนการนี้ยังไม่เกิดขึ้นแล้วมีการนิรโทษกรรม ก็ไม่ทำให้สังคมได้เรียนรู้อะไร คนที่ฆ่าประชาชนไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไรเลย ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาโดยรัฐบาลที่เป็นศัตรูกับเขา ใส่ร้ายว่าเป็นคนเผาบ้านเผาเมือง คนล้มเจ้า ผู้ก่อการร้าย ไอ้กระบวนการใส่ร้ายตรงนั้นเกิดขึ้นไปแล้ว จองจำเขาไปแล้ว ทำให้เขาเสียชีวิตในเรือนจำไปแล้ว 2 คน จนถึงปัจจุบันก็มีผู้ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว นี่ต่างหากที่เราต้องการให้สังคมเห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เขาผ่านกระบวนการทั้งหมดมาแล้ว เราไม่ต้องการให้ไปเหมารวมกับกลุ่มที่ไม่เคยผ่านอะไรมากเลย ตรงนี้จึงต้องแยกออกมา นิรโทษกรรมเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม

ไทยพับลิก้า : ไม่เกี่ยวกับแกนนำ

ถ้าถามว่าในความเป็นธรรม แกนนำเขาก็ไม่ต่างอะไร เขาก็ถูกกระทำ ถูกกล่าวหาใส่ร้ายเหมือนกัน แต่เขายังมีศักยภาพในการเข้าถึงความช่วยเหลือทางคดีมากพอ ในเมื่อแกนนำแสดงสปิริตออกมาว่าจะลดความหวาดระแวงทางสังคมในการเข้าไปรับประโยชน์ เพราะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันด้วย ก็มีความชัดเจนว่าจะสามารถให้ความเป็นธรรมกับประชาชนเป็นกลุ่มแรกก่อน

นางสาวสุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไทยพับลิก้า : ถ้าไม่มีชื่อแกนนำ โดยเฉพาะชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โอกาสผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมน่าจะง่ายขึ้น

ใช่ค่ะ หวังว่านะ แต่ขณะเดียวกัน ที่มันจะไม่ง่าย เราเห็นจากการอภิปรายเมื่อวันที่ 18 เมษายน เห็นการตั้งป้อมของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่พยายามตอกย้ำตราบาปที่ตัวเองยัดเยียดข้อกล่าวหาเอาไว้ โดยไม่สนใจว่าคนเหล่านั้นยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด พยายามบอกให้นักโทษการเมืองต้องสารภาพว่ามีความผิดก่อนถึงจะได้รับการนิรโทษกรรม ถ้าเขาสารภาพ คุณก็จะบอกว่านี่ไงเป็นคนผิด จะไปยกโทษให้คนผิดได้อย่างไร เป็นการบีบให้ประชาชนอยู่ในภาวะทางตัน สรุปจะไม่ให้ทางออกกับเขาเลยใช่ไหม ถามว่าทำไม ปชป. ต้องทำแบบนี้ เพราะยังมีคดีสั่งยิงประชาชน คุณก็ต้องหาเหตุหาความชอบธรรมในการยิง ซึ่งการยิงจะชอบธรรมได้ก็เพราะผู้ชุมนุมมีอาวุธ

ไทยพับลิก้า : นอกจากการตั้งป้อมเรื่องคดี ปชป. ยังเชื่อว่าเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมอำพรางเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ โดยที่สังคมก็รู้ว่าภารกิจสำคัญของ พท. คือการพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน มากกว่าเอาเสื้อแดงออกจากคุก สุดท้ายคิดว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะไปได้แค่ไหน

อยู่ที่พี่น้องประชาชน เพราะขณะนี้ประชาชนชัดเจนมาก ถามว่าต้องการคืนความเป็นธรรมให้อดีตนายกฯ ทักษิณไหม แน่นอน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องการ เหมือนเราคิดกลับไปกรณีอาจารย์ปรีดี (พนมยงค์ อดีตนายกฯ) ที่ต้องออกไปอยู่ในต่างประเทศ ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เราก็ต้องการคืนความเป็นธรรมให้ท่าน ต้องการคืนความเป็นธรรมให้ทุกคน รวมถึงคนที่ถูกคุกคามโดยคดีความแล้วต้องออกไปอยู่ต่างประเทศ แต่เราไม่สามารถทำให้ทุกอย่างถูกพิจารณาแบบเหมารวมได้ เหมือนกับว่าลืมๆ กันไป เราไม่ต้องการเห็นแบบนั้น เพราะต้องการยุติความรุนแรงที่รัฐไทยกระทำกับประชาชน จึงเป็นที่มาที่เราต้องการให้ช่วยคนกลุ่มไหนก่อน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนยากจน คนด้อยโอกาส และเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมในสังคมไทย การดำเนินคดีกับเขาคือการกระทำต่อเหยื่อโดยชัดเจน หากตรงนี้สำเร็จก็จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในสังคมไทยว่าสิ่งที่คนเสื้อแดงเรียกร้องตรงไปตรงมา เราขอหลักมนุษยธรรมให้คนกลุ่มนี้ ไม่มีการอำพราง สังคมก็จะเชื่อใจ เมื่อไรถึงจุดที่สังคมสามารถมาพูดคุยกัน ค่อยๆ ถอยกลับไปดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีความไม่เป็นธรรมกับคนกลุ่มไหนบ้าง ก็ค่อยๆ คืนความเป็นธรรมให้เขา

ไทยพับลิก้า : อาจารย์บอกว่าเรื่องนี้อยู่ที่ประชาชน หมายความว่าประชาชนต้องกดไปที่ศาล รัฐบาล หรือสภา ถึงจะทำให้เกิดน้ำหนักมากพอ

อ๋อ…ไม่ใช่ค่ะ เราไม่ได้ไปเรียกร้องอะไรที่ศาล เรายังคงเรียกร้องปกติคือการปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับทุกคนที่ต้องการต่อสู้ทางคดี เพราะเห็นแล้วว่าการใช้ดุลพินิจของศาลเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจส่วนบุคคล เราเรียกร้องหลักความยุติธรรม แต่ในที่สุดแล้วจิตสำนึกของผู้พิพากษาอาจจะเกิดขึ้นทีละคน ไม่ได้ถ้วนทั่ว จนบัดนี้ก็ไม่มีอธิบดีศาลจะออกมาตรการควบคุมผู้พิพากษาด้วยกันเอง ไม่ได้เห็นภาพนั้น เราจึงหวังไม่ได้เพราะมันไม่มีกลไก แต่กลไกที่เกิดขึ้นได้คือในรัฐสภา เพราะเขาเป็นตัวแทนประชาชน เราจึงเรียกร้องจากการออกกฎหมายในสภา หากมีการสอดไส้ อำพราง หรืออะไรก็ตามที่จะทำให้เกิดความหวาดระแวงหรือเสียหายต่อแนวทางการนิรโทษกรรมให้ประชาชน เชื่อว่าประชาชนจะไม่ยอม

ตอนนี้เราไม่ค่อยกังวลใจ เพราะมติ พท. ออกมาชัดเจนว่าสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ 40 ส.ส. นำโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นการสนับสนุนฉบับเดียว และได้เสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล จนได้รับการเลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกแล้ว แม้กลุ่ม 29 มกราฯ ปลดปล่อยนักโทษการเมืองจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมของเราเองก็ตาม ซึ่งขณะนี้ก็ค้างอยู่ที่ชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา เราก็เชื่อตามนั้นนะ ถ้ามีความไม่สำเร็จใดๆ เกิดขึ้นระหว่างทางของกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ 40 ส.ส. เราก็พร้อมจะกลับมา ก็ลองมันทุกๆ แนวทาง หากแนวทางนี้ไปไม่ถึง ก็ลองแนวทางอื่นๆ เพราะไม่รู้จะไปตกม้าตายตรงไหน ซึ่งแกนนำ พท. ได้ฉายภาพให้เห็นขั้นตอนในการพิจารณาว่าจะเสร็จสิ้นภายในการประชุมสภาสมัยหน้า หรือราวเดือนพฤศจิกายน ถ้าไม่มีความพยายามขัดขวางอย่างจงใจ ดึงเรื่อง หรือเล่นเกมมากเกินไป

ไทยพับลิก้า :หากจะมีใครดึงเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คิดว่าเป็นมือของฝ่ายค้าน วุฒิสภา หรือคนใน พท. เองที่แปรญัตติแยงวาระ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามา

เขาทำได้ยากมาก เพราะสายตาประชาชนจับจ้องอยู่ วันนี้ทุกคนมีเป้าหมายที่ตรงกันแล้ว เราไม่ได้ขัดแย้งกันที่สาระ แต่อาจเห็นต่างในเรื่องเนื้อหา อย่างกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่ออกมาแถลงข่าวตัดหน้าในวันที่เขาเลื่อนวาระกัน ว่าจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมของตนเองเข้าสภา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยพูดมาบ้าง แต่ไม่มีผลอะไร ไม่มีประชาชนที่ไหนไปสนับสนุน

ไทยพับลิก้า :แต่ไปเพิ่มความหวาดระแวงหรือเปล่า

เราไม่สามารถไปควบคุม ส.ส. ทุกคน แต่ประชาชนไม่สนับสนุนแนวทางแบบนั้น เมื่อใดที่มีการขยับจนเกิดรูปธรรมขึ้นมา เราอาจต้องแถลงคัดค้านการกระทำที่จะทำให้เกิดความหวาดระแวงขึ้นใหม่ในสังคม ก็เป็นสิทธิของ ส.ส. ที่จะเสนอ แต่เมื่อทดสอบน้ำแล้วไม่เห็นมีใครเอาด้วย เสียงก็เงียบไป ประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับความแตกต่าง แต่เราต้องยึดหลักของเราให้มั่น

ไทยพับลิก้า : แตกต่างถึงขั้นไหนที่จะไม่เป็นการขัดขวาง-ขัดขากันเอง เพราะปีก่อนความไม่เป็นขบวนใน พท. ทำให้ล้มเหลวทั้งการผลักดันกฎหมายปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สุดา รังกุพันธ์

(พยักหน้ารับ) อืมๆ ขณะนี้ภาพการทำงานของพรรคแกนนำซึ่งเป็นที่คาดหวังของประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นในปีครึ่งที่ผ่านมา ประชาชนก็ให้เวลาให้โอกาส สิ่งที่ไม่ถูกใจเยอะมากนะ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ท่าทีของ พท. ก็ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนกว่าเดิมมาก ตอน พ.ร.บ.ปรองดองอาจยังไม่ทันตั้งตัว ประชาชนเป็นคนนำ ออกมาเรียกร้องการปล่อยนักโทษการเมือง จากนั้นจึงมีข้อเสนอจาก ส.ส. นำเข้าสู่ที่ประชุมพรรค แล้วเกิดมติขึ้นมา ก็ถือเป็นทิศทางเดียวกัน เราจึงไม่ค่อยกังวลใจแล้ว แต่ถ้าเมื่อใดที่พรรคมีมติอื่นแล้วก่อให้เกิดปัญหา เชื่อว่าประชาชนจะไม่ยอม

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้ภาพชัดเจนขึ้นว่าคนเสื้อแดงนำพรรค นั่นหมายความว่าหากเกิดเรื่อง ประชาชนแถวหน้าก็ต้องรับก่อน

มันคงไม่เหมือนกับปี 2553 เพราะการขับเคลื่อนของประชาชนขณะนี้ใช้กลไกตามกฎหมาย ในปี 2552-2553 เป็นการใช้สิทธิในการชุมนุม แต่ขณะนี้เป็นสิทธิตามกฎหมาย เป็นการชุมนุมเรียกร้องให้แก้กฎหมาย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา ต้องการความอดทนมาก เรามาเป็นหมื่นคนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง เพื่อแสดงตนให้เท่ากับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่ลำพังการเข้าชื่อมันไม่สามารถผลักดันไปได้หากปราศจากการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา เราจึงต้องออกมายืนยันด้วยตัวเอง ทำให้เป็นเสียงที่หนักแน่น ทำให้รัฐบาลพิจารณา เพราะเราเลือกรัฐบาลนี้ให้ได้อยู่ในอำนาจรัฐ และช่องทางที่เราใช้คือการเสนอกฎหมาย เราคิดว่ามันยังไปต่อได้

ไทยพับลิก้า : มีการตั้งข้อสังเกตว่าแนวทางมันย้อนแย้งกันหรือไม่ เพราะคนเสื้อแดงบางส่วนเคลื่อนไหวปฏิเสธการใช้อำนาจของตุลาการ แต่กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลกลับโดดลงมาเล่นเกมแก้กฎหมาย

จริงๆ ศาลเป็นเพียงผู้ดำเนินกลไกตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายนะ ประชาชนมีอำนาจในการออกกฎหมายผ่านสภา ศาลเป็นเทคนิเชียน (ช่างเทคนิค) แต่คนออกนโยบายอะไรต่างๆ คือประชาชน เทคนิเชียนกลุ่มนี้ก็ควรทำตามหลักกฎหมายที่ประชาชนเป็นคนร่าง ซึ่งหลักอันนั้นต้องเป็นหลักเดียวกับสิทธิมนุษยชน ตอนนี้เราไม่พอใจเพราะบางครั้งการทำงานของศาลขึ้นกับดุลพินิจ ถ้าผู้พิพากษาบางคนหลักดีก็ดีไป ผู้พิพากษาบางคนไม่อยู่บนหลัก แต่ใช้อำนาจตามนั้น ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล วันนี้เมื่อทุกคนเห็นว่าทำให้เกิดปัญหา สุดท้ายก็ต้องนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายให้ศาลมาจากอำนาจของประชาชนโดยช่องทางใดช่องทางหนึ่ง อันนี้เกิดขึ้นแน่นอน สุดแต่ว่าจะช้าหรือเร็ว หากจะช้าก็เพราะมีการปฏิรูปตัวเองของศาลก่อน แต่ถ้าศาลไม่ปรับเปลี่ยน มีผู้พิพากษาลุแก่อำนาจอย่างเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ความยอมรับในการรอให้ศาลปฏิรูปตนเองคงไม่เกิดขึ้น ก็คงมีความพยายามแก้กฎหมายเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจศาล

ไทยพับลิก้า : ตราบที่กฎหมายยังไม่ถูกแก้ แต่กลุ่มของอาจารย์ออกมาวิพากษ์ศาลอยู่เนืองๆ เคยรู้สึกสักครั้งไหมว่า “ฉันอาจติดคุก”

โอ้…แน่นอน ตลอดเวลา (หัวเราะ) ความกลัวก็ฝังอยู่กับเรานั่นแหละ แต่เราชั่งน้ำหนักระหว่างความกลัวกับความอยากเห็นความยุติธรรม สิ่งที่อยู่ข้างหลังเราตลอดเวลาและตอนนี้ก็อยู่บนบ่าเราคือภาพของประชาชนหลังลูกกรง เราทำงานมา เรากลัว แต่ก็ยังมีอิสรภาพในการเดินเหิน จนกว่าจะถูกจับไปอยู่ข้างหลัง มันก็จบหน้าที่ของเรา แต่คนที่อยู่ข้างหลังลูกกรงเขาไม่มีโอกาส เรามีโอกาสอยู่ก็ต้องใช้อย่างถึงที่สุด แต่การคุกคามมันก็มีตลอด ผ่านการให้สัมภาษณ์บ้าง หรือผ่านช่องทางอื่นๆ บ้าง เพื่อให้เราลดบทบาทการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ศาล หรือกรณีการยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. อันนี้ก็เป็นการปิดปากทุกคนที่จะวิพากษ์ศาล ขนาดคนที่มีอำนาจรัฐ มีประชาชนสนับสนุนขนาดนี้ ยังสามารถถูกจำกัดสิทธิได้ขนาดนี้ คนเล็กๆ อย่างเราก็ถูกคุกคามโดยความรู้สึกนั้นอยู่แล้ว แล้วเราเป็นใครล่ะ เราก็สามารถถูกทำให้เป็นแบบนั้นได้เช่นกัน

ไทยพับลิก้า :หากจะมีเหตุให้เลิกเคลื่อนไหวร่วมกับ พท. จะมาจากอะไร

ถ้ารุนแรงที่สุดก็คือสั่งสลายประชาชนโดยใช้ความรุนแรง หรือการสังหารโหดแบบที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จุดนี้จะเป็นจุดแตกหัก ก็จบที่ตรงนั้น

“ครูอักษรศาสตร์” ถอดความ “วาทกรรม”

นางสาวสุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพราะ “วาทกรรม” ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ทางการเมือง

บางฝ่ายประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์-ลัทธิความเชื่อของตน

บางฝ่ายบัญญัติความหมาย-ใส่ข้อเท็จจริงลงไป เพราะหมายทำลายศัตรูคู่แค้น

“สุดา รังกุพันธ์” อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า “วาทกรรม” ของฝ่ายที่อยากเห็นประชาธิปไตยแท้จริง กับฝ่ายประชาธิปไตยภายใต้กรอบอนุรักษนิยม จะออกฤทธิ์-ทรงประสิทธิภาพในการสื่อสาร ก็ต่อเมื่อสอดคล้องกับความเป็นจริง

ทว่า วิธีเข้าถึงความจริงของ “คนชั้นกลาง” กับ “คนรากหญ้า” ก็แตกต่างกัน

“ถามว่าวาทกรรม “ฤาเลือดไพร่มันไร้ค่า” ที่คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดมา ทำไมมันถึงโดน เพราะมันช่างจริงเหลือเกินในประสบการณ์ของเรา มันมีคนแค่ส่วนหนึ่งที่รับรู้ความเป็นจริงผ่านการอ่าน ผ่านการถ่ายทอดของคนอีกกลุ่ม ซึ่งคุณอยู่ในห้องทำงานติดแอร์เย็น รับรู้ความจริงจากสังคมวงเล็กๆ ที่คุณมีอยู่ คุณหล่อหลอมและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยมแบบสังคมไทย ถ้าคุณปรับตัวเข้าสู่เครือข่ายแบบนั้นได้ คุณก็ได้รับประโยชน์ ก็ยอมจำนนกับระบบนั้น ขณะที่คนอีกกลุ่มไม่มีโอกาสแบบนั้น เขาต้องหาโอกาสอื่นๆ เมื่อมีรัฐบาลที่สร้างโอกาสจากกองทุนหมู่บ้าน ลดภาระในรักษาพยาบาล ให้โอกาสเข้าถึงการศึกษา ซึ่งคิดว่าคนเสื้อแดงจำนวนมากคือคนที่ได้รับโอกาส และได้พัฒนาจากโอกาสเหล่านี้ มันจึงโดนใจ”

“สุดา” วิเคราะห์ตัวตนคนเสื้อแดงจากการใช้ภาษา โดยเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่าง เพราะการใช้ภาษาไม่ได้อยู่ในแวดวงการศึกษาในระบบของสังคมไทย ทว่าฐานะทางเศรษฐกิจคนเหล่านี้กลับจัดอยู่ในระดับคนชั้นกลาง ทำให้เกิดช่องว่างและไม่กลมกลืนกับ “ชนชั้นกลางในเมือง”

แต่ที่แปลกคือ ในเมื่อม็อบแต่ละสีแอบ-อ้าง “ความจริงคนละชุด” เหตุใดวาทกรรมที่ต่างฝ่ายต่างบัญญัติจึงเป็นที่ “เข้าใจร่วมกัน” ของทุกฝ่ายในสังคม?

“เราเข้าใจผ่านการรับรู้ข้อมูล เช่น คำว่า “ทุนสามานย์” กับ “ทุนผูกขาด” แต่ละคนเลือกชุดความเชื่อได้ สามานย์-แต่เป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ ผูกขาด-แต่เป็นประโยชน์แก่คนส่วนน้อย คนมันชั่งความดีน่ะ มันไม่ได้มีอะไรที่เป็นชุดความดีหรือคุณค่าที่ตายตัว คุณค่ามันสัมพัทธ์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าทุนสามานย์หรือทุนผูกขาดมันก็เลวร้ายทั้งคู่ ถ้าใครสัมผัสประสบการณ์แบบไหนเขาก็รู้สึกแบบนั้น แต่สุดท้ายมันจะเกิดข้อยุติจากคนส่วนใหญ่ว่าต้องการระบบแบบไหน เขาต้องการทุนที่เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใหญ่ มากกว่ายอมรับทุนผูกขาดจากคนไม่กี่กลุ่ม แล้วกระจายประโยชน์มาให้บ้างตามแต่ที่จะอยากกระจาย ซึ่งเขาตัดสินใจมาแล้วตั้งแต่พรรคไทยรักไทย มาพรรคพลังประชาชน มาพรรคเพื่อไทย แม้จะมีทุนนิยมสามานย์ก็ตาม”

เมื่อย้อนกลับมาถามถึง “วาทกรรมลือลั่น” อย่าง “ไพร่-อำมาตย์” ที่แกนนำเสื้อแดงประสบความสำเร็จในการบัญญัติขึ้นมา และสถาปนาตนเป็น “หัวขบวนไพร่” แต่วันนี้เมื่อสถานะของเขาเปลี่ยนไป กลายเป็น “เสนาบดี” ในรัฐบาลปัจจุบัน จึงน่าสนใจนิยามใหม่ของ “วาทกรรมเก่า”

ตกลง “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รมช.พาณิชย์ ยังเป็น “หัวขบวนไพร่” ในความหมายเดิมได้หรือไม่?

ครูอักษรศาสตร์ตอบว่า คำว่า “อำมาตย์” หรือ “ไพร่” อาจตัดสินที่สถานะและองค์ประกอบปัจจัยทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง อย่างที่บอกว่าคนเสื้อแดงไม่ได้จน แต่สถานภาพทางสังคมไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกับคนในเมือง ระบบอำมาตย์เนส (ความเป็นระบบอำมาตย์) ไม่รู้อยู่ตรงไหน ดิฉันอยู่ในจุฬาฯ ก็อำมาตย์มาก ถ้าดูจากการแต่งกายในวันศุกร์ก็สวมชุดดูไหมๆ หน่อย ดังนั้นคงตัดสินไม่ได้ว่าดิฉันเป็นอำมาตย์หรือไพร่ มันไม่เพียงพอที่จะตัดสินเช่นนั้น ก็ต้องอยู่ที่พฤติกรรม การใช้ชีวิต การแสดงออก

“ขบวนการคนเสื้อแดงที่เข้าไปสู่ตำแหน่งทางการเมือง โดยฟอร์มมันปฏิเสธไม่ได้ว่าในที่สุดเขาก็ต้องไปแต่งชุดขาว เข้าสู่กระบวนการซึ่งเป็นเปลือกของอำมาตย์ นี่เป็นเรื่องเข้าสู่กระบวนการที่ไม่ใช่สาระของการมุ่งเปลี่ยนแปลง บางคนอาจคิดว่าเปลี่ยนที่เปลือกจะไปช่วยแก่นได้ เช่น นโยบายเลิกให้นักเรียนตัดผมเกรียน เลิกแต่งเครื่องแบบ แล้วทำให้สิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในสังคมดีขึ้น อาจมีคนคิดอย่างนี้ซึ่งไม่ผิด ก็เป็นไปได้ เช่น ทฤษฎีโฆษณาที่ใช้ภาษาย้อมความเชื่อ ในที่สุดคนก็จะเปลี่ยนไปตามคำพูดได้ ส่วนคนเสื้อแดงที่ไปรับตำแหน่ง ถ้าเขาประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเดิม มันก็จะคงความศรัทธาไว้ได้ แต่ถ้ารับตำแหน่งแล้วไปซึมซับอำมาตย์ มีท่าทีห่างเหินประชาชน ประชาชนก็จะตัดสินเองว่าคนเหล่านี้ควรทำงานการเมือง หรือควรเป็นผู้นำประชาชน ถ้ายังเป็นขบวนประชาชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมไทย ก็คงไม่ต้อนรับ ไม่ให้ความศรัทธากับบุคคลนี้ในการเป็นผู้นำประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ควรทำหน้าที่ทางการเมือง มันต้องแยกแยะ”

หากผู้นำประชาชนถูกประชาชนทิ้ง จะสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างไร?

“ก่อนหน้านี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้ทำตัวคลุกคลีกับประชาชนนี่” เธอแย้ง

แต่ความต่างคือ “ณัฐวุฒิ” ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเพราะบทบาทผู้นำม็อบ-เพราะมีต้นทุนสำคัญคือคนเสื้อแดง ทำให้

“สุดา” โต้แทนอีกครั้งว่า “เราไปหักออกจากความสามารถในการเป็นผู้บริหารทั้งหมดของเขาไม่ได้ การเป็นผู้นำของประชาชน ถ้าเขากลับเข้ามาสู่ขบวนประชาชน เขาก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง”

หมายถึงต้องนับหนึ่งใหม่?

“ถ้าเขาสูญเสียความศรัทธานะ แต่ถ้าความศรัทธาเขายังต่อเนื่อง ถ้ายังมีขบวนการตรงนั้นที่ต้องการผู้นำแบบนั้น เขาก็มาได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่ได้” เธอกล่าวทิ้งท้าย