ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “สศช.” มองเศรษฐกิจแย่เกินไป หรือ “ธปท.” ประมาณการดีเกินจริง

“สศช.” มองเศรษฐกิจแย่เกินไป หรือ “ธปท.” ประมาณการดีเกินจริง

23 พฤษภาคม 2013


ตัวเลขจริงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรก ปี 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ ประกาศเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2556 ปรากฏว่า ตัวเลขออกมา “ต่ำกว่า” การคาดการณ์ของหลายองค์กร โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” ที่ตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับตัวเลขการบริโภครวมว่า “ต่ำค่อนข้างมาก “

ข้อมูลของสองหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจ ที่ปรากฏว่าข้อมูลจริงของ สศช. กับข้อมูลประมาณการของ ธปท. ออกมาต่างกันมาก ทำให้เกิด “ความรู้สึก” ที่แบ่งออกเป็น 2 ข้าง ข้างหนึ่งรู้สึกว่าตัวเลขของ สศช. เป็นการทำตัวเลขเอาใจนักการเมือง เพื่อบีบให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยลงในการประชุมในวันที่ 29 พ.ค. นี้หรือไม่ จนเดือนร้อนถึงนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกัน ขณะที่อีกข้างหนึ่งรู้สึกว่า ธปท. มองโลกในแง่ดีเกินไป หรือประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจดีเกินไปหรือไม่

ทั้งนี้ การดูข้อมูลอาจต้องแบ่งตัวเลขเป็น 2 ชุด คือ ข้อมูลจริงของไตรแรก ปี 2556 กับ ข้อมูลประมาณการทั้งปี 2556 โดยต้องยอมรับว่า สศช. คือหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดเก็บตัวเลข การประมวลผล และประกาศตัวเลขจริงจีดีพี ซึ่งเป็น “ตัวเลขทางการ” ที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศใช้อ้างอิงได้ ส่วนการประมาณการนั้นจีดีพีอาจแตกต่างและถกเถียงกันได้ ขึ้นอยู่กับสมมติฐาน และใครจะแม่นยำกว่ากันนั้นขึ้นอยู่กับฝีมือ อย่างไรก็ตาม ในการแสดงความเห็นของทั้งสองข้าง ต้องฟังท้ังสองข้าง ว่าใครน่าเชื่อถือกว่ากัน

โดยตัวเลขจริงจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2556 ขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน และหดตัว 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555

ที่มา : สศช.
ที่มา: สศช.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้ที่ขยายตัว 5.3% ว่ามาจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคครัวเรือนกับภาคการท่องเที่ยว โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (การบริโภคภาคเอกชน) ขยายตัว 4.2% แต่หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ที่ขยายตัว 12.4%

“การใช้จ่ายภาคครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มจากสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์คันแรก ที่จะส่งมอบในปีนี้ 500,000 คัน เพราะฉะนั้นจะมีแรงส่งจากนโยบายรถยนต์คันแรกค่อนข้างมาก” นายอาคมกล่าว

ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี จำนวนนักท่องเที่ยวสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 18.9% จากระยะเดียวกันในปีก่อน นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 5 ไตรมาส จนมาอยู่ที่ระดับ 73.8 จาก 96.4

ขณะที่การลงทุนโดยรวมในไตรมาสแรกโต 6% เร่งตัวขึ้นจาก 5.2% ในไตรมาสแรกปีที่แล้ว แต่ถ้าเปรียบเทียบจาก 22.9% ในไตรมาสก่อนหน้าถือว่าต่ำกว่าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1% ชะลอลงเมื่อเทียบกับ 9.2% ระยะเดียวกันในปีก่อน และชะลอลงจาก 20.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัว 18.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 31.1% โดยการลงทุนภาครัฐรวมการนำเข้าเครื่องบินของการบินไทย 2 ลำ มูลค่า 11,943 ล้านบาท

“ตัวเลขการลงทุนถือว่าเป็นอัตราที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงเป็นไปตามการชะลอตัวของการลงทุนในเครื่องจักรและการก่อสร้าง” นายอาคมกล่าว

ด้านการส่งออก ไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 4.5% ดีกว่าเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อนที่หดตัว 1.4% เนื่องจากเพิ่งฟื้นตัวจากน้ำท่วม และไตรมาสสุดท้ายปี 2555 การส่งออกขยายตัว 18.2%

“อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวส่งออก 4.5% นั้น สภาพัฒน์ฯ มีความเห็นว่าค่อนข้างต่ำมากกว่าเป้าหมายที่กระทรวงตั้งเป้าไว้ 9% หรือที่สภาพัฒน์ฯ ตั้งเป้าไว้ 11% ซึ่งจะทำให้ความเป็นไปได้ในการที่ส่งออกจะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ลดน้อยลง” นายอาคมกล่าว

สำหรับภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 4.8% เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2555 ที่หดตัว 4.3% โดยอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออก 30-60% ขยายตัวสูง 26.6% ตามการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกต่ำกว่า 30% หดตัว 0.8% ตามการชะลอตัวขอการใช้จ่ายครัวเรือนในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้าคงทน ส่วนอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 60% หดตัว 5.4% สอดคล้องกับการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์

“ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.8% ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าส่งออกขยายตัวได้มากกว่า 4.5% ภาคอุตสาหกรรมก็จะโตได้มากกว่า 4.8% ซึ่งมีข้อน่าสังเกตคือ กลุ่มที่ส่งออกมากกว่า 60% ค่อนข้างผกผันกับการส่งออก” เลขาธิการ สศช. กล่าว

ขณะที่ภาคเกษตร ขยายตัว 0.5% ชะลอลงจากไตรมาสแรกปี 2555 ที่ขยายตัว 3.4% และ 3.1% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 เนื่องจากเป็นไปตามภาวะฝนแล้ง

“แต่จีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 หดตัว 2.2% แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มรายได้ของเราลดลง” นายอาคมกล่าว

นั่นคือคำอธิบายข้อมูลจีดีพีไตรมาสแรก ปี 2556 ของเลขาธิการ สศช. ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ฐานตัวเลขจีดีพีไตรมาสสุดท้าย ปี 2555 ขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ คือ 19.1% (ตัวเลขจริงปรับขึ้นจากที่แถลงตอนนั้น 18.9% ) ซึ่งมีสาเหตมาุจากฐานที่ต่ำในไตรมาสสุดท้าย ปี 2554 ที่จีดีพีหดตัว 10.7% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรก ปี 2556 จึงหดตัว 2.2%

กราฟเปรียบเทียบไตรมาส1-2556

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตรน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเห็นเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ผ่านมาว่า ดูตัวเลขเบื้องต้นแล้ว ตัวเลขจีดีพี 5.3% ไม่เหนือความคาดหมาย ธปท. คาดการณ์ไว้ว่าปีนี้การเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ โน้มเข้าหาแนวโน้มปกติ แต่ตอนนี้กำลังให้ทีมวิเคราะห์ของ ธปท. ศึกษาในรายละเอียด ซึ่งมีข้อสังเกตคือ ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าที่สภาพัฒน์ฯ แถลงใกล้เคียงกันมากกับที่ ธปท. คาดการณ์ ส่วนตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนของสภาพัฒน์ฯ ต่ำกว่าตัวเลขการคาดการณ์ของ ธปท. ค่อนข้างมาก แต่พอเข้าใจได้ว่าภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกชะลอการลงทุนไปบ้าง

แต่มีข้อที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ ในส่วนของตัวเลขอุปสงค์ในประเทศ ตัวเลขสภาพัฒน์ฯ ต่ำกว่า ธปท. ค่อนข้างมาก โดยตัวเลขสภาพัฒน์ฯ ขยายตัว 3.9% แต่ตัวเลขประมาณของ ธปท. อยู่ที่ 7.1% และที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (ครัวเรือน) ต่ำเป็นพิเศษ ขยายตัว 4.2% ส่วนตัวเลขของ ธปท. คาดการณ์ไว้ที่ 5.8% จึงให้ทีมงาน ธปท. ไปเจาะดูรายละเอียดว่ามาจากสาเหตุใด

“เรื่องไส้ในการอุปโภคบริโภค ทีมกำลังดูอยู่ โดยปัจจัยที่มีน้ำหนักค่อนข้างสูงคือประเภทของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เราใช้ จะเห็นว่าในระยะที่ผ่านมามีนโยบายประเภทน้ำมันที่ต่างกัน เช่น น้ำมันบินซิน 91 มีการยกเลิกไปแล้ว ดังนั้นอาจมีผลให้ต้องดูเรื่องของฐานด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเอาตัวเลขมาเรียงกันแล้วตีความ อาจทำให้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง” ดร.ประสารกล่าว

นอกจากนี้ ดร.ประสารตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาด้านการจ้างาน กับการปรับรายได้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ผสมกับการก่อหนี้เพิ่ม ถ้ารวมปัจจัยเหล่านี้ การอุปโภคบริโภคควรสูงขึ้น เพราะค่าจ้างเพิ่มเป็น 300 บาท ทำให้เงินในกระเป๋ามากขึ้น และถ้ามีการก่อหนี้เพิ่มอีก ยิ่งทำให้การอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงต้องดูข้อมูลความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายตัวของสินเชื่อ ดังนั้น ต้องเอาข้อมูลหลายๆ ด้านมาประกอบกัน ซึ่งคาดว่าประมาณต้นสัปดาห์หน้าจะได้รายละเอียดส่งให้ กนง. พิจารณาก่อนการประชุมในวันที่ 29 พ.ค. นี้

“กนง. พยายามดูการเติบโตของเศรษฐกิจว่าเป็นไปตามศักยภาพหรือไม่ ถ้าไม่เต็มตามศักยภาพก็สามารถประคับประคองได้อยู่แล้ว โดยการดูดอกเบี้ยก็จะดูว่า ถ้าเศรษฐกิจผ่อนลง แรงส่งน้อย ก็สามารถที่จะผ่อนคลายดอกเบี้ยเพื่อทำให้แรงส่งเป็นไปตามศักยภาพของเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่ก่อนที่ กนง. จะตัดสินใจ ก็เป็นหน้าที่ของทีมงาน ธปท. ที่จะนำข้อมูลต่างๆ ที่อัพเดทที่สุดมาศึกษาและวิเคราะห์ให้รอบด้าน สอดคล้องกับระบบความเป็นจริงในระบบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ กนง. พิจารณาประกอบการตัดสินใจ” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล  ที่มา : http://news.thaipbs.or.th/sites/default/files/prasaar.jpg
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่มา: http://news.thaipbs.or.th/sites/default/files/prasaar.jpg

ดร.ประสารอธิบายย้ำว่า การเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจเป็นสถิติมาทีละหน ไตรมาสละหน บางครั้งไตรมาสที่แล้วกระโดดขึ้น ไตรมาสก่อนกระโดดลง นี่คือ “จุดอ่อน” ของตัวเลขหรือสถิติ การวิเคราะห์ต้องนำตัวเลขเหล่านี้มาดูว่ามีที่มาอย่างไร และถ้าปรับให้สมเหตุสมผลกับเศรษฐกิจที่เป็นจริงจะออกมาหน้าตาอย่างไร เพื่อตีความว่า แรงส่ง (Momentum) ของเศรษฐกิจเป็นอย่างไร

“ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรก 5.3% ถือว่าชะลอไปหน่อย เพราะฐานปีที่แล้วไม่สูงนัก ความจริงถ้าเราอยากให้ทั้งปีโตได้ประมาณ 5% ไตรมาสแรกก็น่าจะสูงกว่า 5.3% ซึ่งต่ำกว่าที่เราคาดไว้มากคือ 7.1% และมีตัวเลขที่ลดลงอย่างน่าสังเกตเป็นพิเศษ คือ การอุปโภคบริโภคในประเทศ ส่วนส่งออก-นำเข้าไม่ใช่ประเด็น เพราะแนวโน้มตัวเลขใกล้เคียงกับที่เราคาดการณ์” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ต่อเรื่องการส่งออก-นำเข้า ที่สภาพัฒน์ฯ เห็นว่า เมื่อเงินบาทแข็งขึ้น 2 บาท จะทำให้ส่งออกสุทธิหายหรือรายได้จากการส่งออกหายไปประมาณ 180,000 ล้านบาท แต่ทาง ธปท. กลับไม่เห็นเป็นประเด็น ในเรื่องนี้ ดร.ประสารอธิบายว่า ที่ไม่เป็นประเด็นเพราะใช้หลักว่า ธปท. ทำประมาณการสำหรับแนวโน้มปีนี้ ซึ่งตัวเลขจริงไตรมาส 1 กับตัวเลขประมาณการ คือ 8.4% ทำให้ประมาณการไม่เคลื่อน ส่วนการนำเข้า ตัวเลข ธปท. 7.8% ตัวเลขสภาพัฒน์ฯ 8.2% ก็ใกล้เคียง ทำให้ประมาณการปีนี้ไม่ขยับเขยื้อนไป

นอกจากนี้ แม้ส่งออกทั้งหมดเป็น 70% ของจีดีพี แต่ก็ใช่ว่าส่งออกจะผลักดันจีดีพีทั้ง 70% เพราะการนำเข้าก็เกือบ 70% ของจีดีพี ดังนั้น ปกติต้องใช้ตัวเลข “ส่งออกสุทธิ” ก็คือ เอาส่งออกลบนำเข้า แต่การนำเข้ามีส่วนสำหรับการบริโภคในประเทศ และส่วนหนึ่งเพื่อผลิตส่งออก เพราะฉะนั้น จะเอานำเข้ามาหักออกทั้งหมดก็ไม่ยุติธรรม

ส่วนเวลาพูดถึงว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะกระทบส่งออกและนำเข้า แน่นอน เมื่อเงินบาทแข็ง ถ้าพูดเป็นจำนวนบาท รายได้ข้างส่งออกจะน้อยลง แต่ด้านนำเข้าก็ลดลงด้วย แต่เมื่อนำตัวเลขส่งออกและนำเข้ามาบวกกันแล้วไม่ได้หายไปไหน รวมกันแล้ว “เจ๊า” กัน หรือ “เสมอตัว” ดังนั้น ในแง่เศรษฐกิจมหภาคจึงไม่มีปัญหาอะไร

“ส่งออกสุทธิของเราค่อนข้างสมดุล พูดถึงการขับเคลื่อนจีดีพีก็ไม่ค่อยมีผลเท่าไร เวลาทำข่าวพวกเราต้องระวัง คนพูดไม่ได้พูดเท็จ แต่เลือกพูด เวลาพูดก็พูดไม่ครบ ดังนั้นที่ต้องระวังตอนนี้คือเวลาที่คนพูดเลือกพูด” ดร.ประสารกล่าว

จากความคิดเห็นของทั้งเลขาธิการ สศช. กับ ผู้ว่าการ ธปท. แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองข้างมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจต่างกัน ซึ่งสะท้อนได้จากการ “ประมาณการ” จีดีพีทั้งปี 2556 โดย สศช. ปรับลดประมาณการจีดีพีทั้งปี 2556 เป็น 4.2-5.2% จากประมาณการเดิม 4.5-5.5% ส่วน ธปท. เพิ่งปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีทั้งปี 2556 เป็น 5.1% จากประมาณการเดิม 4.9% เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2556

ทั้งนี้ ในรายละเอียดการประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งปี 2556 ของทั้งสององค์กร พบว่า มีการประมาณการที่แตกต่างกันเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นเรื่องการส่งออก-นำเข้า ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน

กราฟเปรียบเทียบจีดีพีปี 56

นายอาคมกล่าวว่า เหตุผลที่ปรับประมาณการจีดีพีทั้งปี 2556 ลง คือ ผลจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 5.3% แม้ในแง่การขยายตัวถือว่าขยายตัวได้ แต่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ หรือ “ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น” และมีความเสี่ยงที่สำคัญคือ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ จึงได้ปรับลดจีดีพีเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกลดลง รวมถึงปรับลดเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าลงด้วย ดังนั้น ภาคต่างประเทศด้านการส่งออกจึงน่าเป็นห่วง และการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องยังส่งผลกระทบต่อรายรับของผู้ส่งออก

ทั้งนี้ สศช. ได้ประเมินผลกระทบของการแข็งค่าเงินบาทภายใต้สมติฐานว่า ค่าเงินบาทเฉลี่ยในปี 2556 อยู่ที่ 29 บาทต่อดอลลารสห์รัฐฯ เทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่าจะส่งผลให้รายรับในรูปเงินบาทของการส่งออกลดลงประมาณ 561,000 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้าลดลงประมาณ 379,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น มูลค่าส่งออกสุทธิจะหายไปประมาณ 181,000 ล้านบาท

“ผลกระทบจากเงินบาทแข็งขึ้น 2 บาท จะทำให้รายได้จากการส่งออกหายไป 180,000 ล้านบาท และการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพี เพราะฉะนั้น ถ้าส่งออกไม่ดี จีดีพีโตไม่ได้ตามเป้าหมาย” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ สศช. ประเมินว่า มาตรการรถคันแรกที่เป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา แรงส่งนั้นจะหมดในไตรมาส 3 และ 4 จึงเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลง ขณะที่การลงทุนภาครัฐ แม้จะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แต่คาดการณ์ว่าเม็ดเงินลงทุนจริงในปีนี้มีไม่มาก ส่วนการลงทุนภาคเอกชน แม้ตัวเลขส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 2555 จะมีจำนวน 983,900 ล้านบาท แต่กว่าจะลงทุนจริงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน เพราะฉะนั้น ด้านการลงทุนอาจไม่สามารถสนับสนุนการเติบโตชดเชยการบริโภคภาคครัวเรือนและภาคการส่งออกที่ “อาการ” ไม่ค่อยดี

“ถ้าดูตัวเลขจะเห็นว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลง ดังนั้นนโยบายการเงินต้องดูแลให้สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ หรือให้น้ำหนักภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มอยู่ในอาการชะลอให้มากหน่อย” เลขา สศช. กล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  ที่มา :  http://images.voicecdn.net/contents/640/330/horizontal/70335.jpg
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ที่มา: http://images.voicecdn.net/contents/640/330/horizontal/70335.jpg

นอกจากนี้ นายอาคมตอกย้ำว่า การแถลงจีดีพีเมื่อครั้งก่อน ถ้าเห็นอาการเศรษฐกิจชะลอ แล้วการประชุม กนง. งวดก่อนลดดอกเบี้ยลง จะทำให้การบริโภคยังมีน้ำหนักช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และปัญหาเงินทุนไหลเข้า กระทบเงินบาทแข็ง ก็จะไม่ผันผวนรุนแรงมากเกินไป

เลขา สศช. เปรียบเปรยนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นเหมือน “วาล์ว” ปิดเปิดท่อน้ำ ถ้าเห็นกระแสน้ำไหลเข้ามาแรงก็อยู่ที่ว่าจะปิดเปิดวาล์วอย่างไร แต่ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการเงินก็ยังไม่แสดงให้เห็นว่ามีการดูแลค่าเงินบาท ดังนั้น สศช. มองว่านโยบายการเงินอยากเห็นเงินบาทแข็ง จึงปรับสมมติฐานค่าเงินบาทเป็น 28.8-29.8 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิม 29-30 บาทต่อดอลลาร์

“แรงกดดันเงินเฟ้อปี ‘56 น่าจะทำให้เงินเฟ้อขยายตัวประมาณ 3% ซึ่งเป็นระดับที่รับได้ ดังนั้น ประเด็นด้านราคาหรือเงินเฟ้อน่าจะเป็นประเด็นรอง หรือพิจารณาเรื่องผลกระทบของสงครามค่าเงินเยนและเงินดอลลาร์ที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยก่อน โดยอย่างน้อยแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นหมูที่จะเข้ามาฉวยโอกาสตอนนี้ แต่ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ก็เป็นหมูแน่นอน” นายอาคมกล่าว

ขณะที่เหตุผลที่ ธปท. ปรับประมาณการจีดีพีเพิ่มจาก 4.9% เป็น 5.1% เมื่อ 12 เม.ย. 2556 มีปัจจัยหลักมาจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายปี 2555 ที่ขยายตัวสูงเกิดคาด รวมถึงแรงกระตุ้นจากภาครัฐและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ กนง. ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นก่อนตัวเลขจริงเศรษฐกิจไตรมาสแรกจะประกาศออกมา

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก กนง. เปิดเผยว่า ในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2556 มีกรรมการบางคนเสนอว่า ควรชะลอการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจออกไปก่อน เพราะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจเร่ิมชะลอตัวตั้งแต่เดือน พ.ย. และ ธ.ค. ปีที่แล้ว และช่วงต้นปีก็มีสัญญาณการชะลอตัว ดังนั้น ควรรอดูข้อมูลให้ชัดเจนอีกระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยทบทวนประมาณการเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ แต่ ธปท. ซึ่งเป็นเลขา กนง. นำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจมีแนวโน้มค่อนข้างดี และผู้ว่าการ ธปท. เห็นว่าการประชุมครั้งนั้นเป็นจังหวะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว จึงมีการปรับจีดีพีในครั้งนั้น

“ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกที่สภาพัฒน์ฯ ประกาศล่าสุุด เป็นตัวเลขทางการที่ต้องยึดถือและวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอมาจากปัจจัยใด และการชะลอตัวจะต่อเนื่องหรือไม่ หรือจะชะลอตัวไปถึงจุดไหน เพื่อใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ย แต่ที่สำคัญคือต้องรู้ว่า ณ ขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่จุดไหน หรือ เรายืน ณ จุดใด เพราะถ้าไม่รู้ก็จะทำนโยบายผิดๆ ถูกๆ” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

เพราะฉะนั้น ไม่ว่า “สศช. จะมองเศรษฐกิจแย่เกินไป หรือ ธปท. จะประมาณการเศรษฐกิจดีเกินจริง” หรือใครจะ “เลือกพูด” แต่การประชุม กนง. ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ คนในวงการเงินส่วนใหญ่เริ่มเก็งว่า “ดอกเบี้ยจะลง” แต่จะลดลงถึง 1% อย่างที่รัฐบาลต้องการคง “ยาก”

สำหรับ กนง. ผู้ทำหน้าที่ตัดสินนโยบายดอกเบี้ย ต้องบอกว่าการตัดสินใจรอบนี้ “ไม่ง่าย” และที่ท้าทายคือ ไม่ว่าผลการตัดสินดอกเบี้ยจะออกมา “ลด” หรือ “คงที่” สิ่งสำคัญก็คือต้องอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล

ไม่เช่นนั้น ความ “ขลัง” ของนโยบายจะหมดลง