ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์ฯ ชี้แจงข้อมูลจีดีพี “เชื่อถือ” ได้ตามมาตรฐานสากล

สภาพัฒน์ฯ ชี้แจงข้อมูลจีดีพี “เชื่อถือ” ได้ตามมาตรฐานสากล

28 พฤษภาคม 2013


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาฯสภาพัฒน์ แถลงชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรก ปี 2556
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ แถลงชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรก ปี 2556

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลขจริงจีดีพี ไตรมาสแรก ปี 2556 ขยายตัว 5.3% เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ค่อนข้างต่ำ” กว่าตัวเลขคาดการณ์ของหลายๆ หน่วยงาน จึงทำให้เกิดความสับสนและเป็นข้อกังขาว่า ข้อมูลของสภาพัฒน์ “เชื่อถือ” ได้หรือไม่

ปัญหาดังกล่าวทำให้สภาพัฒน์ฯ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการประกาศตัวเลขจีดีพีต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องข้อมูลและเรื่องการประมวลผลจีดีพี ไตรมาสแรก ปี 2556 เพื่อสร้างเข้าใจกับสาธารณชนเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2556

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ชี้แจงว่า ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องตัวเลขจีดีพีไม่เป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์นั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนว่า สภาพัฒน์ฯ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบข้อมูลรายได้ประชาชาติ และข้อมูลจีดีพีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบรายได้ประชาชาติ วิธีการคำนวณจีดีพนั้นต้องดูทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต ด้านการบริโภคหรือด้านการใช้จ่าย และด้านรายได้ โดยทั้ง 3 ส่วนต้องสัมพันธ์กัน และต้องมีความสมดุลตามทฤษฎีและกรอบวิธีการคำนวณขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก เพราะฉะนั้น ถ้าดูด้านใดด้านหนึ่งคงไม่ถูกต้อง

“สภาพัฒน์ฯ ในฐานะหน่วยงานของประเทศซึ่งประมวลผลในเรื่องของจีดีพี ได้ทำตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ และมาตรฐานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) 2 โครงการ คือ โครงการประเมินการปฏิบัติตามมาตฐานสากลด้านการเผยแพร่ข้อมูล และโครงการเผยแพร่ข้อมูลระดับสูง”

โดยทั้งสองมาตรฐานเน้นการเผยแพร่ข้อมูลระยะสั้น กรณีไทยก็เป็นการเผยแพร่ข้อมูลจีดีพีในระดับไตรมาส สามารถเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็วภายในไม่ถึง 3 เดือน และสามารถรู้ตัวเลขจีดีพีได้ตรงเวลาและมีความโปร่งใส ที่สำคัญ ข้อมูลจีดีพีของไทยผ่านการประเมินมาตรฐานคุณภาพจากไอเอ็มเอฟตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา และสภาพัฒน์ฯ เผยแพร่ข้อมูลจีดีพีรายไตรมาสได้ภายใน 8 สัปดาห์

นายอาคมกล่าวว่า หลักในการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานไอเอ็มเอฟมี 6 ข้อ คือ 1. คุณสมบัติพื้นฐานของคุณภาพข้อมูล 2. หลักประกันความสมบูรณ์ของข้อมูล 3. เทคนิคการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล 4. ความถูกต้องแม่นยำและน่าเชื่อถือ 5. การให้บริการข้อมูล และ 6. การเข้าถึงข้อมูล นอกจากนี้ก็ยังมีหัวข้อย่อยอีก 22 หัวข้อ

“ในการทำตัวเลขจีดีพีของไทย ได้ผ่านการประเมินทุกตัวชี้วัดในระดับดีมากถึงดี ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เพราะการทำตัวเลขจีดีพีเราทำทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือด้านการผลิต อีกด้านหนึ่งคือด้านการใช้จ่าย แต่ตัวเลขทั้งปีเราจะทำด้านรายได้อีกด้านหนึ่ง หรือทำครบทั้ง 3 ด้าน เพราฉะนั้น ข้อมูลจริงสภาพัฒน์ฯ เป็นผู้เผยแพรและควบคุมมาตรฐานโดยองค์การสหประชาติและไอเอ็มเอฟ”

นายอาคมกล่าวว่า ข้อชี้แจงที่สำคัญคือ คงต้องแยกแยะ “ตัวเลขจริง” กับ ตัวเลข “ประมาณการ”

ตัวเลขจริง คือตัวเลขที่สภาพัฒน์ฯ รวบรวมข้อมูลของทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชน ที่เผยแพร่ข้อมูลตลอดเวลา และรวบรวมข้อมูลมาประมวลครบทั้งระบบ

ตัวเลขประมาณการ หรือที่เรียกว่า “พยากรณ์” คือการคาดการณ์โดยที่มีสมมติฐานต่างๆ

“แต่ตัวเลขจริงอาจไม่เป็นไปตามตัวเลขคาดกรณ์ ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นจริงว่าเกิดขึ้นอย่างไร เพราะฉะนั้น ความแตกต่างของตัวจริงกับตัวเลขพยากรณ์มีมาตลอด”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ

“ข้อมูลสถิติรายได้ระชาชาตินั้นเป็นข้อมูลที่มีมาตรฐาน เราได้รับการยอมรับและตรวจสอบจากองค์กรระหว่างประเทศ อยากให้แยกแยะข้อมูลจริงกับความคิดซึ่งแตกต่างกันได้ตามสมมติฐาน ถ้าเอามาปนกันเมื่อไรจะสับสน ถ้าความคิดตรงนี้ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ก็มาถกเถียงกัน ถ้าเป็นจริงก็ปรับปรุงได้”

นายอาคมกล่าวว่า ตัวเลขจริงจีดีพีไตรมาสแรกโต 5.3% ความจริงน่าจะโตมากกว่านี้ เพราะไตรมาสแรกปีที่แล้วค่อนข้างต่ำ ซึ่งสภาพัฒน์ฯ ก็คาดการณ์ว่าจีดีพีจะสูงกว่านี้ แต่ตัวเลขจริงไม่สูง สาเหตุมาจากหลายเรื่อง ประเด็นแรก คือ ภาคการส่งออกค่อนข้างต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก คือโตเพียง 4.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายมาก โดยในภาวะปกติส่งออกก็จะโตได้ประมาณ 10%

ประเด็นที่สอง การบริโภคมีลักษณะอ่อนตัวลงไปบ้าง เพราะผลภายนอกประเทศกระทบส่งออก และเงินบาทแข็งค่าขึ้นในไตรมาสที่ 1 ทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะฉะนั้น รายได้ที่ได้จากการส่งออกเมื่อแปลงเป็นเงินบาทก็น้อย และต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นด้วยหลายๆ เหตุผล อาทิ การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ก็เป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้น มาร์จินหรือกำไรของผู้ประกอบการจึงไม่สูงอย่างที่คิด ซึ่งกำไรคือตัวคำนวณจีดีพี

ต่อประเด็นการบริโภคที่ ธปท. ตั้งข้อสังเกตว่าขยายตัวต่ำ นายอาคมกล่าวว่า ความจริงถ้าดูข้อมูล 3 ประเภท คือ ข้อมูลประมาณการ ข้อมูลเก็บตัวอย่าง และข้อมูลจริง ขอเรียนว่าในเรื่องความ “น่าเชื่อถือ” นั้นข้อมูลประมาณการจะน่าจะมีน้อยที่สุด เพราะใช้แบบจำลองเป็นพื้นฐาน ถ้าแบบจำลองดีจะก็สามารถพยากรณ์ได้แม่นยำขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์มักจะมีข้อสังเกตและข้อสมมติฐาน ก็ต้องไปดูตรงนั้น

ส่วนข้อมูลการเก็บตัวอย่างจากการสำรวจ การทำดัชนีต่างๆ ความน่าเชื่อถือจะอยู่ระดับปานกลาง และข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุดคือข้อมูลจริงที่ประมวลครบทั้งระบบ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทาง ธปท. ประมาณการการบริโภคภาคเอกชนโต 5.8% เป็นการคาดการณ์ แต่ถ้าไปดูดัชนีการบริโภคของ ธปท. ที่ประกาศเมื่อ 1 พ.ค. 2556 ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนของ ธปท. โตแค่ 3.7% ในขณะที่ข้อมูลจริงที่สภาพัฒน์ฯ ประกาศเมื่อ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีการบริโภคโต 4.2% จะสังเกตุว่าตัวเลขประมาณการของ ธปท. ต่ำกว่าตัวเลขจริง

“ถ้า ธปท. คิดว่าการเก็บข้อมูลตัวอย่างหรือการทำดัชนีมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ก็ขอเรียนว่าข้อมูลที่ครบทั้งระบบนั้นสูงกว่าข้อมูล ธปท.”

นายอาคมอธิบายว่า สาเหตุที่ ธปท. พยากรณ์ว่าการบริโภคน่าจะโต 5.8% เป็นเพราะ ธปท. คิดว่า จีดีพีจะโต 6-8% ในไตรมาสแรก ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นมีเพียง 50% ส่วนที่สูงกว่านี้มีเพียง 30% เพราะฉะนั้น ธปท. มองจีดีพีสูงด้วยสมมติฐานต่างๆ

การประมาณการตัวเลขจีดีพี 6-8% นั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ​ไม่ได้ปฏิเสธ โดยให้ความเห็นว่า ความจริงศักยภาพเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ระดับนั้น แต่ที่โตไม่ได้เพราะว่าการบริโภคครัวเรือนโต 4.2% ต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ และ ธปท. ไม่ได้ดูว่าตัวเลขส่งออกที่โต 4.5% นั้นต่ำมาก ถ้าหากหักต้นทุนออกไปแล้วมาร์จินก็แคบลง ตรงนี้ทำให้จีดีพีไม่สูงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

“อย่างไรก็ตาม การทำแบบจำลองทั้งหลาย เมื่อตัวเลขจริงประกาศออกมาแล้ว เขาจะปรับฐานตัวเลขแล้วคำนวณแบบจำลองกันใหม่ ค่าจริงกับค่าประมาณการในอดีตจะไม่ทาบกันแนบอยู่แล้ว”

เลขาสภาพัฒน์ฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องการบริโภคภาคเอกชนตั้งแต่ปี 2549 การใช้จ่ายของประชาชนโดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 4% ซึ่งถ้าเกิน 4% ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะมีมาตรการหรือนโยบายของรัฐเข้ามากระทบ และก็เป็นที่ทราบดีว่า เมื่อราคาสินค้าเกษตรในตลาดดี การใช้จ่ายของประชาชนก็จะสูงตามไปด้วย อาทิ ราคายางดี ราคาข้าวดี การใช้จ่ายยอดซื้อรถปิคอัพจะสูงขึ้น โดยไม่ต้องรอมาตรการของรัฐ

เพราะฉะนั้น ถ้าการบริโภคจะสูงกว่าเกณฑ์ปกติ 4% ก็จะมาจากราคาสินค้าเกษตรราคาดี ถ้าดูจากตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา จะเห็นว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรดิ่งลงมาตลอด และปีนี้สภาพัฒน์ฯ ก็คาดว่า ราคาสินเค้าเกษตรอาจไม่ดี เพราะฉะนั้น กำลังซื้อในประเทศจะไม่ค่อยดีด้วย

เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ประมาณการว่า แรงส่งการใช้จ่ายภาคครวเรือนในปี 2556 จะแผ่วลงเมื่อเทียบกับปี 2555 ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

1. การซ่อมแซมบ้านและการซื้อสินค้าหลังน้ำท่วมเริ่มน้อยลง

2. รายจ่ายเยียวยาฟื้นฟูผลกระทบที่รัฐบาลจ่ายชดเชยให้กับบ้านที่เสียหาย และผลผลิตไร่นาที่เสียหาย ก็จ่ายกันไปหมดแล้วในปี 2555 ดังนั้นกำลังซื้อตรงนี้อ่อนลงไปแล้ว

3. นโยบายรถยนต์คันแรกรัฐบาลเป็นแรงส่งชั่วคราว โดยมียอดจองรถร่วมโครงการ 1.2 ล้านคัน ส่วนใหญ่ส่งมอบไปปีที่แล้ว ที่เหลือปีนี้อีกประมาณ 530,000 แสนคัน แต่ถ้าหักยอดที่มีการยกเลิกไปบ้าง ก็คงเหลือประมาณ 500,000 คัน ดังนั้น ยอดรับรถไตรมาสที่ 1 ปีนี้จะต่ำกว่าไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว และจะต่ำลงไปเรื่อยๆ โดยคาดว่าแรงส่งตรงนี้ก็จะแผ่วลงไปเรื่อยๆ และจะหมดลงในปลายไตรมาส 3

และ 4. เรื่องของมาตรการของรัฐในการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ถ้าไม่นับโครงการรับจำนำ ซึ่งให้หลักประกันข้าวตันละ 15,000 บาท แก่เกษตรกร ราคาตรงนี้ไม่เปลี่ยนแปลงก็ยังเป็นกำลังซื้อเดิม แต่ราคาตลาดโลกยังต่ำ เพราะฉะนั้นกำลังซื้อสินค้าเกษตรไม่ได้เพิ่มขึ้น

นายอาคมอธิบายการเก็บรายจ่ายภาคครัวเรือนของสภาพัฒน์ฯ ว่า เก็บตั้งแต่สินค้าหมวดอาหาร สินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหาร ซึ่งสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารแบ่งเป็นสินค้าไม่คงทนถาวร สินค้ากึ่งคงทนถาวร สินค้าถาวร และสินค้าบริการ ซึ่งสินค้าถาวรอย่างยอดขายรถยนต์ก็สูง สภาพัฒน์ฯ ก็ให้น้ำหนักการใช้จ่ายครัวเรือนสูงเหมือนกัน แต่ตัวที่จะดึงคือหมวดอื่น ๆ มากกว่า

“ถ้าจะไปดูดัชนีการบริโภคของ ธปท. ต้องดูว่าคำนวณครบทุกประเภทหรือไม่ ที่คิดว่าอาจขาดไปคือหมวดบริการ อาทิ รายการใช้จ่ายทานข้าวนอกบ้าน ไปตัดผม ไปดูหนัง เลี้ยงสังสรรค์ รายจ่ายด้านการศึกษา ซื้อสมุด หนังสือ ค่ารักษาพยาบาล แม้กระทั่งรายจ่ายภาคคนรับใช้ หรือคนใช้ ตรงนี้เป็นเศรษฐกิจนอกระบบ เพราะเป็นการจ้างงานนอกระบบ รวมถึงเรื่องค่าส่งไปรษณีย์ อินเทอร์เน็ต ค่ามือถือ เป็นสิ่งที่สภาพัฒน์ฯ คำนวณไว้ในรายจ่ายภาคครัวเรือนทั้งหมด ต้องถามว่า ดัชนีของ ธปท. คำนวณพวกนี้ไว้หรือไม่”

นอกจากนี้ ตัวเลขการใช้น้ำมัน ถ้าไปดูยอดรวมการใช้น้ำมันอย่างเดียวแล้วบอกเป็นการบริโภคครัวเรือนก็คงไม่ได้ การใช้น้ำมันรวมของประเทศ ส่งไป 3 ส่วน 1. หมวดที่ผู้บริโภคใช้ (เติมน้ำมันในรถ) ส่วนที่ 2 หมวดขนส่งกับคมนาคม และส่วนที่ 3 ภาคอุตสาหกรรม

“เราจะต้องแยกแยะพวกนี้ ไม่ใช่เหมารวมว่าต้องใช้สูงแล้วทำไมต่ำ ยังไม่นับรวมว่าน้ำมันที่เติมในรถของราชการด้วย ก็อยากจะเรียนว่าต้องดูรายละเอียด”

ค่าแรงขั้นต่ำ และการขยายตัวของสินเชื่อ  ที่มา : สภาพัฒน์
ค่าแรงขั้นต่ำและการขยายตัวของสินเชื่อ ที่มา: สภาพัฒน์ฯ

สำหรับประเด็น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ในไตรมาสกแรก นายอาคมอธิบายว่า แม้ค่าแรงจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 58,838 ล้านบาท ในไตรมาสแรก แต่รายได้สินค้าเกษตรลดลงไป 16,684 ล้านบาท ขณะที่หนี้ครัวเรือนหรือสินเชื่อครัวเรือนลดลง 105,000 บาท ถ้าหากรวม 3 ปัจจัย ตรงนี้จะทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนลดลงเมื่อเที่ยบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ สินเชื่อครัวเรือนต้องแยกแยะให้ดี โดยตัวเลขที่พูดกันมักเป็นตัวเลขสินเชื่อในระบบ ซึ่งยอดคงค้างในไตรมาสแรก ปี 2556 อยู่ที่ 7.87 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อภาคครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ 2.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 37% ของสินเชื่อครัวเรือนทั้งระบบ ในส่วนอีก 63% ที่ต้องดูเป็นสินเชื่อของสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเอสเอ็มอี กลุ่มสหกรณ์ เครดิตยูเนียน ให้ทั้งสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่ออุปโภค

นายอาคมกล่าวว่า ถ้าดูตัวเลขสินเชื่อคงค้างไตรมาส 1 ปี 2556 หรือ ณ 31 มี.ค. 2556 เทียบกับสิ้น ธ.ค. 2555 จะเห็นว่าสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 124,104 ล้านบาท สินเชื่อคงค้างที่เพิ่มขึ้นใหม่อาจมาจากสินเชื่อใหม่จริงๆ การขอกู้เพิ่ม หรืออาจเป็นหนี้รีไฟแนนซ์ หรือทิ้งหนี้เก่าไปก่อหนี้ใหม่

แต่ในปีที่แล้วช่วงเดียวกัน 31 มี.ค. 2555 เทียบกับ 31 ธ.ค. 2554 สินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 229,399 ล้านบาท ตรงนี้ไม่แปลกใจ เพราะน้ำท่วมจึงมีการกู้ยืมซ่อมแซมบ้าน เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าเม็ดเงินใหม่สินเชื่อครัวเรือนไตรมาสแรกปีนี้กับไตรมาสแรกปีที่แล้ว ลดลงไป 105,295 ล้านบาท

“ชี้ให้เห็นว่า เวลาดูตัวเลขสินเชื่อ (ครัวเรือน) ของทั้งระบบการเงิน ต้องแยกแยะว่าเป็นของธนาคารพาณิชย์ หรือของทั้งระบบซึ่งรวมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์”

สำหรับข้อมูลอีกชุดที่เลขาสภาพัฒน์ฯ ระบุว่าต้องดูคือ “สต็อก” สินค้า โดยในตอนต้นระบบการทำข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ คือดูทั้งด้านการผลิตและการใช้จ่าย ดังนั้น เมื่อส่งออกไม่ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ สินค้าก็เก็บไว้ที่สต็อก หรือสินค้าผลิตออกมาขายไม่หมดก็ต้องเก็บไว้ที่สต็อก เพราะฉะนั้นต้องดูสต็อกด้วย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบในการสำรวจสต็อกสินค้าอุสาหกรรม ซึ่งจำนวนการสุ่มตัวอย่างจะมากกว่าในอดีต เพราะฉะนั้น ด้วยความครอบคลุมก็จะน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม เวลาดูสต็อกสินค้าต้องดูสต็อกสินค้าเกษตรด้วย ซึ่งไม่มีหน่ยงานไหนรับผิดชอบ ต้องดูข้อมูลระหว่างผลผลิตกระทรวงเกษตร ข้อมูลการขายของกระทรวงพาณิชย์ แล้วนำมากระทบยอดกันถึงจะรู้ว่าสินค้ามีคงค้างเท่าไร อย่างรับจำนำเข้ามาเท่าไร และระบายออกเท่าไร ก็จะรู้สต็อกเหลือเท่าไร แต่ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในระยะ 10 ปีทีผ่านมา ตัวที่จะมีผลต่อสิค้าคงคลังมากคือ “ทอง” ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง

“เพราะฉะนั้น ตัวสต็อกสินค้านั้นในแง่ของประเทศไม่มีหน่วยงานจัดเก็บครบถ้วน แต่สภาพัฒน์ฯ จะรวบรวมและกระทบยอดดู”

สุดท้าย นายอาคมกล่าวว่า โดยปกติที่ผ่านมาก็มีการหารือระหว่างทีมเทคนิคของ ธปท. กับสภาพัฒน์ฯ ตลอดเวลา โดยจะตรวจเช็คตรวจสอบก่อน ธปท. จะไปจัดทำรายงาน และบ่ายวันนี้ (27 พ.ค.) ก็จะหารือกัน ในอดีต ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของ ธปท. มีตัวเลขแตกต่างกับตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ เมื่อตรวจสอบหารือกันแล้วพบว่า การนับรวมสินค้ารายการลงทุนสภาพัฒน์ฯ ครอบคลุมอย่างไร หลังจากนั้น ธปท. ก็ไปปรับปรุงครั้งใหญ่ ทำให้วันนี้ตัวเลขดัชนีการลงทุนของ ธปท. กับสภาพัฒน์ฯ ตรงกัน”

“ที่ชี้แจงไม่ได้เป็นการตอบโต้ แต่เป็นการชี้แจงตามหลักวิชาการ เพื่อให้ความมั่นใจกับสาธารณะว่า การทำตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ อยู่บนพื้นฐานที่ได้ข้อมูลครบถ้วนทุกแหล่ง”

ขณะที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานข้อมูลเจาะลึกที่ให้ทีมวิเคราะห์ของ ธปท. ไปศึกษาดูในรายละเอียดเกี่่ยวกับตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน (ครัวเรือน) และเมื่อบ่ายวันนี้(27 พ.ค.)ทีมวิเคราะห์ของ ธปท. จะหารือกับสภาพัฒน์ฯ

ดังนั้น ต้องรอผลการหารือก่อน ซึ่งคงมีการรายงานข้อมูลผลการหารือกับสภาพัฒน์ฯ ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทราบในการประชุม 29 พ.ค. นี้ และน่าจะชี้แจงให้ทราบได้ในการแถลงข่าวผลการประชุม กนง.

“ไม่ว่าผลการตัดสินของ กนง. จะออกมาอย่างไร ต้องอธิบายเหตุผลได้ชัดเจน เรื่องนี้ถือว่าสำคัญ” ดร.ประสารกล่าว