ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. นัดพิเศษ ประเมิน “เงินบาทแข็ง” มาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจดี ไม่ใช่ดอกเบี้ย

กนง. นัดพิเศษ ประเมิน “เงินบาทแข็ง” มาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจดี ไม่ใช่ดอกเบี้ย

1 พฤษภาคม 2013


วันที่ 30 เม.ย. 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประชุมเพื่อรับฟังการรายงานภาวะเศรษฐกิจประจําเดือนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดำเนินการเป็นปกติ แต่ครั้งนี้มีการประชุมร่วมหารือต่อถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปกติจะพิจารณาในการประชุม กนง. โดยการประชุม กนง. ครั้งต่อไปกำหนดไว้วันที่ 29 พ.ค. 2556

หลัง กนง. ประชุมหารือฯ ได้แถลงข่าวออกเป็น “ข่าว ธปท.” เรื่อง “คณะกรรมการนโยบายการเงินเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน” โดยมีประเด็นสําคัญคือ

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีสาเหตุสําคัญจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และแม้การแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลกระทบต่อการส่งออก แต่เศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวได้ และถ้าจำเป็นก็พร้อมจะดำเนินมาตรการ รวมถึงผสมผสานมาตรการและการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผลการชุมของคณะกรรมการฯ เป็นการตอกย้ำจุดยืนเดิมว่า “ดอกเบี้ย” ไม่ใช่สาเหตุหลักในการแข็งค่าของเงินบาทในระยะที่ผ่านมา และไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังขยายตัวได้

ทั้งนี้ กนง. มีการประชุมช่วงบ่ายในเวลาประมาณ 15.00 น. หลังจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าพบ ดร.ประสาร ไตรรัตรน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เพื่อยื่นข้อเสนอแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่ากระทบส่งออก 5 ข้อ ให้ ธปท. พิจารณาดังนี้

1. ให้ ธปท. ใช้มาตรการบริหารจัดการค่าเงินบาทในภาวะวิกฤติ

2. ให้ ธปท. ปรับเปลี่ยนนโยบายจากการดูแลเงินเฟ้อมาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนแทน

3. ให้กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียว 1% แทนที่จะทยอยปรับลดครั้งละ 0.25%

4. ให้มีมาตรการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้น ให้ห้ามนำเงินออกนอกประเทศเป็นเวลา 3 เดือน หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ให้เพิ่มเวลาเป็น 6 เดือน

5. ให้ปรับนโยบายการออกพันธบัตร

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ให้สัมภาษณ์หลังยื่น 5 ข้อเสนอกับธปท.
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ให้สัมภาษณ์หลังยื่น 5 ข้อเสนอกับ ธปท.

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการหารือกับ ธปท. ว่า ผู้ว่าการ ธปท. ได้บรรยายเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และการดูแลอัตราดอกเบี้ย โดยอธิบายว่าทั้ง 3 เรื่องไม่สามารถทำพร้อมกันได้ และการดำเนินการต้องพิจารณาหลายปัจจัยอย่างรอบด้าน ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

“พอใจในการหารือครั้งนี้ และมีความเข้าใจตรงกันคือ ธปท. ยอมรับว่าเงินบาทแข็งที่ค่าขึ้น 6-7% เป็นการแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ และบอกว่าจะใช้มาตรการแบบผสมผสานดูทั้งเงินทุนไหลเข้า อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย หลังจากนี้คงรอดูอีกระยะหนึ่ง โดยถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 28.30 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะมาขอพบกับ ธปท. อีก” นายพยุงศักดิ์กล่าว

ด้าน นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. ซึ่งเข้าพบผู้ว่าการ ธปท. ด้วย ได้แสดงความพอใจในการหารือกับ ธปท. เนื่องจาก ธปท. บอกว่าจะประสานเรื่องมาตรการกับกระทรวงการคลังอย่างแน่นแฟ้น ไม่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา

“ผมดีใจที่ 2 หน่วยงานเข้าคุยกันแล้ว” นายวัลลภกล่าว

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน (30 เม.ย.) ธปท. ได้แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือน มี.ค. 2556 และไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ซึ่งรายงานว่า ภาวะค่าเงินบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ปิดตลาดที่ 29.29 บาท/เหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 4.31% จากสิ้นไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ปี 2556 มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 4,775 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการไหลเข้าตลาดพันธบัตร 5,997 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนตลาดหลักทรัพย์มเงินไหลเข้าเพียง 305 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และธนาคารพาณิชย์กู้ยืมระยะสั้นจากต่างประเทศเพื่อบริหารสภาพคล่อง 3,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนเงินไหลออกส่วนใหญ่คือ คนไทยไปลงทุนโดยตรงต่างประเทศ 1,644 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคนไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหุ้นและตราสารหนี้จำนวน 1,492 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายเมธี สุภาพงษ์
นายเมธี สุภาพงษ์

ส่วนภาวะเศรษฐกิจเดือน มี.ค. 2556 และไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ธปท. สรุปว่า เศรษฐกิจเดือน มี.ค. ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าตามการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนที่หดตัวลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และรายได้เกษตรกรหดตัว 0.2% จากเดือนก่อนหน้า

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจเดือน มี.ค. แม้จะชะลอลงแต่ไม่ถือว่าเป็นการชะลอลงรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และคิดว่าเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ต้องต้องติดตามว่าการชะลอตัวลงจะยืดเยื้อยาวนานหรือไม่ และที่สังเกตคือ รายได้เกษตรไม่ค่อยดีขึ้นอย่างที่ ธปท. คาด

นอกจากนี้ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์เอกชนในเดือน มี.ค. 2556 เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อนก็ชะลอลงขยายตัวอยู่ที่ 13.9% จาก 14.9% ในเดือนก่อนหน้า เป็นการชะลอตัวลงทั้งสินเชื่อภาคเอกชนและสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยสินเชื่อครัวเรือนขยายตัว 14.8% ชะลอลงจาก 16.2% ในเดือนก่อนหน้า และสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 12.8% ชะลอลงจาก 13.2% ในเดือนก่อนหน้า

นายเมธีกล่าวว่า การชะลอตัวขอสินชื่อเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ และเริ่มระมัดระวังในการให้สินเชื่อทั้งแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อสินเชื่อเร่งตัวขึ้นค่อนข้างมาก ธนาคารพาณิชย์ก็จะดูแลคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น

“ต้องติดตามต่อไปว่าการชะลอของสินเชื่อเป็นเรื่องชั่วคราวหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องความระมัดระวังก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าชะลอลงเพราะดีมานด์หายไปก็ต้องติดตามดูต่อไป” นายเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2556 นายเมธีสรุปว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีมาก และการส่งออกค่อยๆ ฟื้นตัว

“ธปท. คาดว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกจะขยายตัวกว่า 7% แต่เป็นการดูจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจ ต้องรอดูตัวเลขจริงที่สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ที่จะแถลงในวันที่ 20 พ.ค. นี้” นายเมธีกล่าว

จากท่าทีของ ธปท. และ กนง. ที่กล่าวมาข้างต้น อาจคาดการณ์ได้ว่า ในการประชุม กนง. ครั้้งต่อไปในวันที่ 29 พ.ค. นี้ หากยังสามารถประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป หรือไม่ทะลุระดับ 28 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และข้อมูลเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ ธปท. ประเมินไว้

ทิศทาง “ดอกเบี้ยนโยบาย” ก็ไม่น่าเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.75%

เอกสารเพิ่มเติม: แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน มี.ค. 2556 และ ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ของ ธปท.