ThaiPublica > คนในข่าว > เปิดปากคำ “ถวิล เปลี่ยนศรี” จุดเปลี่ยน “กองบัญชาการต้านม็อบแดง” สู่จุดจบ “วีรบุรุษ” เป่าคดี 91 ศพ

เปิดปากคำ “ถวิล เปลี่ยนศรี” จุดเปลี่ยน “กองบัญชาการต้านม็อบแดง” สู่จุดจบ “วีรบุรุษ” เป่าคดี 91 ศพ

31 พฤษภาคม 2013


นายถวิล เปลี่ยนศรี“เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
นายถวิล เปลี่ยนศรี “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

“…ในกลุ่มเสื้อแดงก็เชิดชูว่าเป็นวีรบุรุษ แต่คนเราเป็นวีรบุรุษพร้อมกันหลายสนามไม่ได้ ไม่รู้แก (นายธาริต เพ็งดิษฐ์) ตั้งใจอย่างไร อาจจะมั่นใจในการทำงาน มั่นใจในข้อกฎหมาย แต่ผมมั่นใจว่ากิ้งกือตกท่อ จำได้ไหมว่าคนว่ายน้ำเป็นตายเพราะจมน้ำ รถคว่ำทางเรียบ ไม่ใช่ทางชัน อันนี้ก็เหมือนกัน ที่สุดก็จะสะดุดขาตัวเอง…”

เขาเคยยืนเคียงข้างรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในนาทีเป็น-นาทีตายของประเทศไทย

เขาเคยอยู่ใน “กองบัญชาการต้านม็อบแดง” ภายในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)

เขาเคยสวมหมวก “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)” ทำหน้าที่ “เลขาธิการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)” จึงได้เห็น-ได้ยิน-ได้ฟังเรื่องราวของ “ฝ่ายถืออำนาจรัฐ” ณ ขณะนั้น

ต่อมาเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว เขารอดจากการตกเป็น “จำเลยร่วม” ในคดีการเสียชีวิตของประชาชน ตำรวจ และทหาร รวม 91 ศพ ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ทว่าไม่อาจรักษาเก้าอี้ “เบอร์ 1 สมช.” เอาไว้ได้

ปัจจุบัน “ถวิล เปลี่ยนศรี” ถูกแขวนไว้ที่ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ แม้เทียบเท่าซี 11 เหมือนเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม

ในโอกาสครบรอบ 3 ปี ของเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” จึงเชิญ “ถวิล” มาร่วมสนทนาเป็นคิวที่ 2 เขาเฉลยหลายปริศนาใน “กองบัญชาการ ศอฉ.” พร้อมเปิดข้อเท็จจริงอีกด้านที่หักล้างชุดข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ใครเป็นคนยุให้สลายการชุมนุม? ใครเป็นคนแย้งเสียงดัง? ใครทำให้ปฏิบัติการกระชับพื้นที่กินพื้นที่เกินคาด?

อะไรทำให้ “อดีตผู้ร่วมวง” หลายคนเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม และอาจถึงขั้นเปลี่ยนวิญญาณหลังเปลี่ยนนาย ทว่าเหตุใด “ถวิล” ถึงไม่ยอมเปลี่ยน?

ฤาเขาเห็นบางสิ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้…

ครบ 3 ปี เวลาก็ไม่มากเท่าไร แต่ด้วยสถานการณ์ ด้วยกรอบความคิดคน รวมถึงการให้ข้อมูลของฝ่ายต่างๆ ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน ก็รู้สึกว่าทำไมถึงเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้

ไทยพับลิก้า :หมายถึงคนเปลี่ยน หรือข้อเท็จจริงเปลี่ยน

ข้อเท็จจริงคงไม่เปลี่ยน เหตุการณ์คงไม่เปลี่ยน แต่ความคิดของคนมันเปลี่ยน ทหารหรือเจ้าหน้าที่ที่ออกมาระงับเหตุเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ออกมาด้วยความตั้งใจในการรักษาความสงบเรียบร้อย รักษาบ้านรักษาเมือง ไม่มีใครกระเหี้ยนกระหือรือจะเข้าไปทำร้ายร่างกายหรือชีวิตของประชาชน ทีนี้ เมื่อการเมืองเปลี่ยน กลุ่มคนที่ถูกกระทำกลายเป็นผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือทางมวลชนของเขา ซึ่งก็คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลับมาเป็นฝ่ายถืออำนาจรัฐ ทำให้มีการกล่าวหาย้อนกลับไปที่ฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะฝ่ายการเมืองรู้ว่าควรต้องยกเว้นคนเหล่านี้ จึงมุ่งไปที่ฝ่ายการเมืองด้วยกัน ซึ่งก็จะไปเข้ายุทธศาสตร์นิรโทษกรรม คือทำให้ทุกคนมีความผิดเพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรมเสีย แต่ขณะนี้ฝ่ายการเมืองซีกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังไม่ยอม เพราะมั่นใจในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นขณะนั้นว่าเขาไม่น่าจะมีความผิด ซึ่งผมก็ยืนยันว่ารัฐบาลในขณะนั้นทำไปด้วยความรอบคอบรัดกุมพอสมควร เหตุที่เกิดขึ้นซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติขณะนั้นก็พอจะสมเหตุสมผล เพราะการชุมนุมในปี 2552-2553 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นการชุมนุมที่มีความรุนแรงอยู่มาก

ผมเคยไปให้ปากคำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พนักงานสอบสวนให้เปรียบเทียบการชุมนุมของเสื้อเหลืองในปี 2551 กับเสื้อแดงในปี 2553 มันค่อนข้างจะต่างกัน เพราะการชุมนุมของเสื้อเหลืองไม่มีอาวุธ ไม่มีกองกำลัง ไม่มีเหตุรุนแรง ไม่มีเผา ไม่มียิง ไม่มีลักษณะการใช้ความรุนแรง ความรุนแรงเป็นความรุนแรงในที คือ ดื้อ ไม่ยอม ซึ่งยังอยู่ในขอบเขตการใช้สิทธิโดยสงบ แต่แน่นอนว่าผลที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายมากพอสมควร เช่น การยึดสนามบิน แต่กรณีของเสื้อแดงเต็มไปด้วยความรุนแรง และตั้งข้อสังเกตว่าการใช้อาวุธไม่ได้กระทำต่อคนที่มาชุมนุม ซึ่งต่างจากสมัยเสื้อเหลืองที่มีบุคคลไม่หวังดีทำร้ายผู้ชุมนุม อันนี้คล้ายๆ กับว่าผู้ก่อเหตุคือเสื้อดำ หรือกลุ่มติดอาวุธ กลายเป็นเนื้อเดียวกับเสื้อแดง หรือเป็นมวลชนคู่ขนานกันไป ซึ่งก็เป็นไปตามที่แกนนำหลายๆ คน เช่น อริสมันต์ (พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำ นปช.) พูดถึงว่าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ดังนั้นก็เป็นการใช้ความรุนแรงจากผู้ชุมนุมที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อเป้าหมายของ พท. มุ่งกระทำต่อฝ่ายการเมืองด้วยกัน เหตุใดข้าราชการที่ชื่อ “ถวิล” ถึงเป็นข้อยกเว้น ต้องรับกรรมไม่ต่างจากนักการเมืองซีก ปชป.

นายถวิล เปลี่ยนศรี
นายถวิล เปลี่ยนศรี

เขาไม่เว้นผม เขาคงเว้นแต่ทหารมากกว่า เพราะทหารเป็นคนถืออาวุธ เป็นกลุ่มก้อน เขาก็เลยไม่ค่อยแตะ ส่วนดีเอสไอเขากลับ 180 องศา ก็เลยไม่โดน (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะเลขาธิการ ศอฉ. มีบทบาทใน 2 วง หรือเปล่า คือ วง ศอฉ. ใหญ่ที่มีปลัดและอธิบดี 200 คน เข้าร่วม และวงยุทธการที่ออกคำสั่งเรื่องการใช้กำลังต่างๆ ส่วนนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ บอกว่าตัวเองร่วมประชุมเฉพาะวง ศอฉ. ใหญ่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการสั่งใช้กำลัง

มันไม่มี 2 วง ที่ชัดเจนหรอก มันเป็นวงเดียวของ ศอฉ. ซึ่งมีรองนายกฯ (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นผู้อำนวยการ ส่วนนายกฯ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ก็ประชุมในฐานะนายกฯ ดังนั้นก็มีพวก ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. อธิบดี รวมทั้งธาริตและผม มันเป็นวงเดียว แต่วงนั้นคือวงที่เป็นทางการ ก็มีการประชุม รับทราบสถานการณ์ ปรึกษาหารือกัน โดยประชุมวันละ 4 รอบ คือ เช้า เที่ยง เย็น และกลางคืน แต่ตอนหลังมาปรับเหลือ 3 รอบ เมื่อสถานการณ์มันเบาลง ที่บอกว่ามีอีกวงก็คือหลังพูดคุยสถานการณ์ต่างๆ ว่า นปช. ทำอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ทำอะไรบ้าง สถานการณ์เป็นอย่างไร ซึ่งธาริตจะรายงานความคืบหน้าของคดีว่าไปจับกุมใคร ไปค้นที่ไหน ตำรวจก็มารายงานให้ฟัง เมื่อพ้นจากตรงนั้นก็จะมีการดำเนินการเพิ่มเติม รองฯ สุเทพก็จะสั่งการเพิ่มเติมว่าตำรวจไปทำอะไรตรงไหนบ้าง ทหารไปทำอะไรตรงไหนบ้าง ส่วนใหญ่เป็นการพูดกว้างๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงลงไป เพราะสถานการณ์ต่างๆ ทุกฝ่ายรู้ดีอยู่แล้ว เช่น ในช่วงที่มีการกระชับวงล้อมที่ราชประสงค์ ก็มีมาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดการสื่อสาร เราก็หารือกัน ก็เรียกไฟฟ้า ประปา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้ามา เรียกปลัดกระทรวงคมนาคมเข้ามา หลังจากนั้นผู้เกี่ยวข้องก็รับไปสั่งการต่อ ส่วนการใช้กำลังนี่ ทหารเขาก็ไปสั่งทางยุทธการ ซึ่งเป็นเรื่องของเขาอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : ไม่ต้องออกคำสั่งในวงประชุมใหญ่

มันไม่ต้องมานั่งดู มันดูรู้เรื่องหรือคำสั่งทางยุทธการนี่ มันก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี เพียงแต่ให้กรอบกว้างๆ ทหารรู้ดีอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร แต่อาจจะมีคำสั่งที่ชัดเจน เช่น ที่ราชประสงค์ ทหารต้องไปจุกช่องเอาไว้ เพราะเรามีนโยบายบีบวงล้อมเข้าไป ก็จะพูดกันในที่ประชุมว่าทหารต้องไปวางกำลังทั้ง 4 จุด ทหารเขาก็มารายงานให้ฟังว่าพอไปตั้งแล้วกลางคืนโดนอะไรบ้าง พวกนั้นเอารถปิ๊กอัพและรถมอเตอร์ไซด์มาก่อกวนอย่างไรบ้าง ต้องอยู่ในที่ตั้ง เคลื่อนไหวไปไหนไม่ได้ ไอ้ตรงนั้นก็รู้กัน มีคำสั่งชัดเจนว่าห้ามขยับเข้าไปนะ แค่ปิดกั้นไม่ให้มีการส่งเสบียง เอาไม้เอายางไปเสริมค่ายคูประตูกลเท่านั้นเอง

ไทยพับลิก้า : สรุปคือการออกคำสั่งยุทธการเป็นเรื่องที่ทหารจัดการหมด แต่หลังทำแล้วก็กลับมารายงานในที่ประชุม ศอฉ. ใหญ่ที่มีนายกฯ ร่วมรับฟังด้วย

ใช่ๆ เขาก็มารายงาน ช่วงกระชับวงล้อมซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา วันรุ่งขึ้นก็มารายงานแล้วว่าไม่ได้ไปไหน ไอ้พวกนั้นขนาบผมมา ไอ้ที่อยู่ข้างในก็จะดันออก ไอ้ที่อยู่ข้างนอกก็พยายามจะเข้าไป มันก็มีการปะทะประปรายอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าช่วงนั้นก็มีการเสียชีวิตแถวราชปรารภ ดินแดง บ่อนไก่ สวนลุมพินี

ไทยพับลิก้า : ในฐานะที่นั่งอยู่ในราบ 11 ตลอด คิดว่าทั้ง ศอฉ. และ นปช. เริ่มเข้าสู่เรดโซนสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายในช่วงไหน และเห็นกรรมการใน ศอฉ. คนไหนพยายามทัดทานการใช้กำลังตามที่นายธาริตกล่าวอ้างหรือไม่ และสามารถทำได้หรือไม่

คัดค้านหรือ ไม่มีล่ะ ต้องเข้าใจว่าช่วงนั้นกระแสสังคมคล้ายๆ มันเอือม เพราะมันต่อเนื่องมาตั้งแต่มีนาคม-พฤษภาคม ไปไหนมาไหนที นปช. ก็เคลื่อนพลไปปิดที่โน่นไปล้อมที่นี่ตลอด ดังนั้นกระแสสังคมจะออกมาในลักษณะว่ารัฐบาลอ่อนแอ ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่กล้า ไม่รักษากฎหมาย ปล่อยได้อย่างไรคนละเมิดกฎหมายขนาดนี้ ทีนี้ก็ต้องเห็นใจว่าขณะนั้นรัฐบาลจะหันไปใช้ตำรวจมันก็นะ… ตำรวจไม่มีบทบาทอะไรเพราะยังติดกับดักเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 อยู่ ก็เลยต้องใช้ทหาร แต่เวลาให้ทหารออกไปทำงานก็ไม่มีคำสั่งให้ไปสลายการชุมนุมนะ คำสั่งสลายการชุมนุมไม่เคยเกิดขึ้นเลย หรือหารือว่าควรมีการสลายการชุมนุมไหม ไม่เคย

มีอยู่ครั้งเดียวที่จำได้ คือ ตอนนั้นอยู่ที่ราบ 11 มีเสียงกดดันรัฐบาลและ ศอฉ. ว่าทำไมไม่สลายการชุมนุม ในการประชุม ครม. บรรดารัฐมนตรีจากพรรคร่วม จากพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคอะไร ก็ตั้งคำถามกับนายกฯ และ รมว.กลาโหม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ว่าทำไมถึงไม่ปราบ ทำไมไม่เข้าไปสลายการชุมนุม เพราะมันทำให้เกิดความเสียหาย ผมจำได้ว่าท่านประวิตรพูดมาอยู่คำหนึ่งว่า “การสลายการชุมนุมมันก็ไม่ยากอะไรหรอก แต่รับกันได้ไหมว่าทหารลุกขึ้นมาแล้วลุยเข้าไปพรืดเดียว 500 คน นี่รับได้ไหม แล้ว 500 คน ที่ตายนี่ก็ไม่ใช่แกนนำเสื้อแดง หรือกลุ่มผู้ชายที่มีกำลังเข้มแข็ง มีแต่กลุ่มยายแก่ที่รำป้อๆ อยู่หน้าเวทีทั้งนั้น รับได้ไหม” แล้วก็เงียบกันไป มันทำไม่ได้หรอกอย่างนั้น ดังนั้นเรื่องการสลายการชุมนุมนี่ไม่เกิดขึ้น

ไทยพับลิก้า : แล้วปฏิบัติการของทหารในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นมาอย่างไร

จุดมุ่งหมายจริงๆ ของช่วงก่อนวันที่ 19 คือความพยายามจะบีบให้ฝ่อ ให้ออก ไม่ให้คนเข้า เช้าๆ เรามอนิเตอร์ซีซีทีวี เห็นคนหลบแดดอยู่ในอาคารและเต็นท์ต่างๆ มีคนไม่กี่พัน น่าจะ 1,000-2,000 คนนอนอยู่ข้างๆ ฟุตบาธ พอตกตอนเย็นมันระดมกันมาได้เป็นหลายพันเป็นหมื่น ทุกครั้งเป็นอย่างนี้ ก็แสดงว่ามีมวลชนจากทางบ่อนไก่ รวมถึงจากต่างจังหวัดมาหมุนเวียนเป็นประจำ พอสายนั้นไปสายนี้ก็มา เข้าใจว่าเป็นเครือข่าย ส.ส. ที่ระดมคนเข้ามา เพราะขณะนั้นโดยขีดความสามารถของเสื้อแดงเองไม่สามารถระดมคนได้ ต้องอาศัยความสามารถของ ส.ส. ในพื้นที่ ก็เลยมีมาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดรถเรือ

จนกระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งมีการเคลื่อนกำลังไปที่สวนลุมฯ อันนี้ก็ไม่ได้หารือกันในที่ประชุม ศอฉ. นะว่าจะมีการเคลื่อนย้ายกำลังไป แต่พวกเรารู้กันอยู่ว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นจุดที่มีการตอบโต้มากที่สุด ทั้งตอนไปค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ ตอนระดมยิงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสีลม ก็ยิงจากจุดนั้น ตามสายรายงานของตำรวจของสายข่าวระบุว่าจุดนั้นมีการส่องสุมกำลังพวกเสื้อดำ พวกติดอาวุธทั้งหลาย มีอาวุธเอ็ม 79 โดยเฉพาะตรงลานรัชกาลที่ 6 ดังนั้น ในวันที่ 19 เราก็รู้ว่าจะมีการกระชับวงล้อมเข้าไปที่จุดนั้นจุดเดียว จุดอื่นไม่เกี่ยว โดยเหตุผลสำคัญคือมันมีความสูญเสียเกิดขึ้นที่จุดนั้นบ่อยมาก ทั้งประชาชน ทหาร ตำรวจ และผู้ชุมนุมเอง มีการยิงกันอยู่ตลอด เลยคิดว่าต้องเอาทหารไปควบคุมพื้นที่ตรงนั้นให้ได้ ผมคิดว่าในวันนั้นยังไม่ได้มีความคิดที่จะบีบเข้าไปจนกระทั่งให้เลิกการชุมนุม เพียงแต่ความคิดที่คุยกันใน ศอฉ. คือ ถ้าควบคุมตรงนั้นได้ เหตุรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้น พอตรงนี้ไม่มีกำลัง อีกไม่กี่วันก็คงจะเลิกเอง แต่ปรากฏว่าในวันที่ 19 มันได้ผลเกินความคาดหมาย แกนนำเสื้อแดงเองก็ถอดใจ หลังไปยุติฝั่งนี้ได้ สักเวลา 11.00 น. แกนนำทั้งณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ประกาศยุติการชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ทำไม่ถูก คำสั่งที่ออกมาวันนั้นคืออย่าเพิ่งเข้าไปในพื้นที่ราชประสงค์ส่วนอื่นเพราะใกล้จะมืดแล้ว เดี๋ยวจะเกิดความชุลมุนขึ้นมาเพราะยังมีมวลชนอยู่ โดยให้มวลชนออกไปทางด้านสนามกีฬาสนามศุภชลาศัยซึ่งมีการจัดรถไว้แล้ว

นายถวิล เปลี่ยนศรี “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
นายถวิล เปลี่ยนศรี“เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

จุดสำคัญอีกจุดคือที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งได้รับรายงานตลอดว่าเป็นทางเสือผ่าน หมายความว่าผู้ติดอาวุธ พูดง่ายๆ ว่า เสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก) ก็ใช้ช่องทางนั้นน่ะ ก็รู้กันมาตลอด วัดเป็นเขตอภัยทานก็จริง แต่ก็มีบางคนไปใช้เป็นช่องทางเข้าออก มีการถ่ายเทอาวุธ โดยที่เจ้าหน้าที่เราเข้าไปไม่ได้ วันนั้นเลยกลายเป็นว่าเมื่อมีเหตุแทรกซ้อนเข้ามาหลังแกนนำมอบตัว เจ้าหน้าที่เลยลังเลในเรื่องของเพลิงไหม้ ฝ่ายทหารรายงานในที่ประชุมว่ามีการร้องขอให้ทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ เพราะรถดับเพลิงของ กทม. โดนสกัด โดนทำร้าย ไม่สามารถเข้าในพื้นที่ได้ ดังนั้นโดยเหตุที่เราไม่ต้องการให้เกิดความชุลมุน ทหารเข้าไปได้ แต่ก็ไม่กล้าเข้า นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมมันถึงเกิดความรุนแรงขึ้น ทำไมไฟถึงไหม้แบบกรุงศรีอยุธยา เพราะคำสั่งคือเข้าไม่ได้ ถ้าเข้าไปเดี๋ยวจะถูกสวมรอย วุ่นวายกันไปหมด ที่กลัวมากคือเข้าไปติดกับดัก สถานการณ์วันนั้นทหารก็ยุติลง

ต่อมาคณะค้นหาความจริงหลายคณะก็เริ่มเปิดเผยว่า ทั้งเหตุการณ์ 10 เมษายน หรือตายที่บ่อนไก่ สวนลุมพินี ราชปรารภ มีหลายเหตุที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่าทหารไปเข่นฆ่าประชาชน เพราะอย่าง 10 เมษายน นี่ชัดเจนว่าทหารเป็นผู้สูญเสีย เมื่อพิสูจน์วิถีกระสุนที่ทหารยิงช่วงถอยร่นก็ยิงแบบมีวินัย ขนาดโดนเอ็ม 79 จากอีกฝ่ายนะ กระสุนไม่ได้ยิงสะเปะสะปะ แต่ยิงขึ้นฟ้า คือไม่ได้หมายให้คนตายจริงๆ ถ้าจำไม่ผิด เหตุการณ์เดียวมีทหารบาดเจ็บร่วมๆ 300-400 คน โดนแบบเต็มๆ เลย และเข้าใจว่าผู้ชุมนุมไม่สามารถทำความเสียหายให้ทหารได้มากขนาดนั้น เพราะผู้ชุมนุมอย่างเก่งก็เอาด้ามธงไล่ตีไล่แทง แต่เพราะมันมีกลุ่มใช้อาวุธ และกลุ่มเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนมา จู่ๆ ให้ไปยิงเอ็ม 79 หยิบยังไม่กล้าหยิบเลยเพราะกลัวมันระเบิดใส่ นี่คือกลุ่มที่เราได้ข่าวมาตลอดว่ามีการฝึกอาวุธฝึกการ์ด โดยฝ่ายที่ใกล้ชิดก็เห็นว่ามาจากแหล่งเดียวกัน นายทหารพรานที่ปลดประจำการแล้ว สายไหนสายไหนมันพอมองออก ดังนั้นมันเป็นเรื่องกลุ่มใช้อาวุธที่กระทำการต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ใช่เรื่องกลุ่มประชาชน จึงสรุปได้ว่า 10 เมษายน ต่อให้ทหารถูกยำจนละลายมา แต่ด้วยความมีวินัย หรืออาจด้วยจิตใจที่ไม่ได้ตั้งใจจะออกไปฆ่า มันก็เลยแค่ป้องกันตัว แต่อาจมีบ้างที่ฉุกละหุกขึ้นมา ต้องยิงต่อสู้ แต่เขาก็ระงับยับยั้งพอสมควร มันถึงมีวิถีกระสุนที่ยิงขึ้นไป 180 องศา มากกว่ากระสุนที่วิ่งไปในแนวราบ

ไทยพับลิก้า : แม้ทหารไม่เจตนาฆ่าประชาชน แต่มันมีคนตายถึง 91 ศพ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีตำรวจและทหารติดคุกสักราย แต่คนเสื้อแดงติดคุกไปเยอะแล้ว เลยถูกมองว่ารัฐยังไม่ได้รับผิดชอบอะไรหรือเปล่า

ใช่ๆ ก็อาจจะมองอย่างนั้นได้ แต่อย่าลืมว่าทหารเขาไปด้วยคำสั่ง เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกไปรักษาความสงบเรียบร้อย

ไทยพับลิก้า : คนเสื้อแดงเลยยิ่งบอกว่าทหารไม่ได้คิดทำเอง แต่มีคนสั่งให้ไปฆ่า

เรื่องคำสั่งมีแน่นอน แต่สั่งให้ไปฆ่าคงไม่มีล่ะ คำสั่งให้เขาไปปฏิบัติ เขาก็ต้องไปปฏิบัติ และเวลาปฏิบัติเขาก็มีกฎของเขา กฎการยิง กฎการใช้อาวุธก็มีอยู่ บางครั้งเขาต้องป้องกันตัว เขาก็ต้องทำ ทีนี้จะบอกว่าเขาไม่ได้ติดคุก ก็เขาไม่ได้มาชุมนุมเหมือนที่เสื้อแดงมานี่ แต่ทหารมาเพราะได้รับคำสั่ง เหมือนที่คุณนิชา (หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภริยา พล.อ. ร่มเกล้าซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553) เขาบอก ไม่เช่นนั้นทหารก็นอนอยู่บ้าน อยู่ในกรม ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมไปด้วยความสมัครใจ ส่วนกลุ่มผู้ใช้อาวุธก็ไม่สมควรได้รับการยกเว้น เพราะไม่มีหน้าที่ ไม่มีสิทธิใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่

ไทยพับลิก้า : ถ้าเช่นนั้นคนที่ต้องรับผิดชอบแทนทหารทุกกรณีก็คือคนออกคำสั่ง ณ ขณะนั้น

ว่ากันตามจริง ถ้าพูดว่าทหารไปโดยคำสั่งที่ชอบโดยกฎหมาย ดังนั้นผู้ออกคำสั่งต้องรับผิดชอบ แต่โดยตัวของผู้ปฏิบัติ อย่างผมสั่งเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำตามกรอบอำนาจที่ตัวเองทำได้ ถ้าทำเกินกรอบก็ไม่ได้ เช่น ไปจ่อยิงเขา ไปกระทืบเขา มันไม่ได้ ดังนั้นโดยตัวบุคคลก็ต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่พอมีคำสั่งแล้วไล่ฆ่าได้หมด มันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องไม่เกินกว่าเหตุ หรือเพื่อป้องกันเหตุ ป้องกันอันตรายที่มาแก่ตัวเอง มันก็เหมือนวิสามัญฆาตกรรม ไม่ใช่ว่าพอเป็นโจรแล้วยิงได้หมด ดังนั้นเมื่อคำสั่งออกไป ผู้มีคำสั่งก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ว่าผู้มีคำสั่งมองไม่เห็นตัวนี่ จะไปติดตามตลอดว่าคนนั้นทำอย่างนี้ มันก็ไม่ได้ ดังนั้นคนทำงานก็ต้องรับผิดชอบว่าต้องทำไปตามระเบียบวิธีที่กำหนดไว้ด้วย

นายถวิล เปลี่ยนศรี“เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
นายถวิล เปลี่ยนศรี “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

ทีนี้ ที่ถามว่าพวกนั้นติดคุก ทำไมตำรวจและทหารไม่ติดคุกบ้าง มันคนละเรื่องกัน เพราะเขาไม่ได้สมัครใจออกไปนี่ เขาออกไปเพื่อระงับเหตุ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุ มันก็ติดคุกได้ ไม่ว่าจะประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กี่ฉบับก็ตาม ผมเคยถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา การคุ้มครองมันมี แต่ต้องพอสมควรแก่เหตุ ไม่ใช่ทำทุกอย่างได้ ประกาศเสร็จมีใบอนุญาตฆ่าคนได้ ไม่ใช่อย่างนั้น

ไทยพับลิก้า : วันนี้ดีเอสไอเป็นคนทำคดี 91 ศพ แต่ ณ วันนั้นเคยอยู่ใน ศอฉ. มาก่อน ย่อมต้องรู้ว่าวิธีเป่าคดีช่วยทหาร แล้วเอาผิดเฉพาะฝ่ายการเมือง ถ้าดูจากรูปคดีที่ผ่านมา คิดว่ามีธงเช่นนั้นหรือไม่

มันไม่ใช่มีธงอย่างนั้น สังเกตไหมว่าก่อนหน้านั้นรองฯ เฉลิม อยู่บำรุง ก็บอกว่าทหารไปปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่เอา ซึ่งความจริงมันเอาไม่เอาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ รองนายกฯ มันพูดไม่ได้หรอก ต้องเป็นไปตามกฎหมาย จะผิดไม่ผิดอยู่ที่พฤติการณ์ ที่บอกว่าดีเอสไอเป็นคนทำคดี จะกันใครไว้บ้าง ผมว่าดีเอสไอถ้าไปทำนอกเหนือกฎเกณฑ์กติกานั้น…

ไทยพับลิก้า : เชื่อว่าดีเอสไอจะไม่ทำ

เอ่อ…ในทางพฤตินัยอาจจะมี แต่ในทางกฎหมายมันทำไม่ได้ แต่เนื่องจากรัฐมนตรีเขาสั่งมาอย่างนั้น แต่สั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ธาริตทำได้หรือ แต่โดยทางปฏิบัติอาจไปทำให้รูปคดีออกมาอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็อยู่ที่คนทำน่ะนะ สำนวนจะอ่อนไม่อ่อนมันก็อยู่ที่พนักงานสอบสวนทั้งนั้น พูดง่ายๆ ว่าทำได้ก็แล้วกัน จะเอาใคร จะฟ้องใครให้ติดคุกไม่ติดคุก

ไทยพับลิก้า : ตอนไปให้การในฐานะพยานที่ดีเอสไอ คุณถวิลบอกว่าต้องการให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ในทางการเมืองผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติ และตอนนี้ประวัติศาสตร์ทำท่าว่ากำลังจะถูกเขียนใหม่

ผมยังยืนยันนะว่าถ้าผิดมันก็ต้องผิด กรรมการ ศอฉ. ก็ต้องโดนหมดทุกคนน่ะ

ไทยพับลิก้า : รวมถึงนายธาริตด้วย

ด้วย เป็นไปตามโทษานุโทษ แต่ธาริตเขาออกมาในลักษณะว่ามี 2 วง เขาไม่ได้อยู่ในส่วนการตัดสินใจ ไอ้อย่างนั้นมันก็เกินไปนิดหนึ่ง ความจริงกรรมการที่แอคทีฟมากๆ คือธาริต ผมไม่ได้พูดคนเดียวนะ หลายคนพูดอย่างนี้ และเป็นธรรมดาที่เขาจะแอคทีฟ เพราะเขาอยู่ในกรรมการคดีพิเศษ สามารถวางรูปคดีวางอะไรได้ ดังนั้นก็จะมีแง่มุมที่เขาแนะนำว่าเอาอย่างนี้สิ เอาเป็นว่าหลายเรื่องที่รองฯ สุเทพไปแถลง ธาริตเขียนทั้งนั้นแหล่ะ มีพฤติการณ์เข้าข่ายก่อการร้าย ใช้อาวุธ ประทุษร้าย (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า : รัฐบาลชุดนี้ เลยให้นายธาริตเป็นคนแก้

หนามยอกเอาหนามบ่ง

ไทยพับลิก้า : ซึ่งก็น่าจะแก้ได้ เพราะในเมื่อเป็นคนวางกับดัก ก็น่าจะถอดสลักได้

ถึงบอกว่าคนที่ใช้ธาริตทำงานนี้ใจดำจริงๆ อำมหิตมากเลย โทษทีนะ ขยับซ้ายก็โดนอีกฝ่ายด่า ขยับขวาก็โดนอีกฝ่ายด่า ถ้าผมเป็นธาริตนะ ผมไม่ทำคดีนี้ล่ะ ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ลาออก ย้ายไปที่อื่น ไปเป็นผู้ตรวจ เป็นรองปลัด ไม่เอาแล้วอธิบดีดีเอสไอ คือมัน…มนุษย์มันไม่ได้น่ะ มันเดินหน้าแล้วถอยหลัง เดินหน้าแล้วถอยหลัง แล้วต่อไปข้างหน้าแกก็จะถูกข้อหาว่าเป็นมนุษย์หรือเปล่า มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ นี่ไม่ได้รังเกียจธาริตเลยนะ จริงๆ ผมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธาริต เห็นอกเห็นใจมากด้วย ยังคิดเลยว่าถ้าธาริตไม่มาช่วยเอาไว้อย่างนั้นคงยังต้องเหนื่อยกันอีกเยอะ ยังเคยคุยกับบรรดาแม่ทัพนายกองว่านี่ถ้าเราไม่ได้ธาริต เรายังต้องเหนื่อยสะเปะสะปะกันอีกเยอะ

ไทยพับลิก้า : แล้วตอนนี้คุยกับแม่ทัพนายกองว่าถ้าวันนั้นนายธาริตไม่ยุ่ง วันนี้จะเป็นอย่างไร

คงไม่ยุ่งขนาดนี้ (หัวเราะ) ทีนี้เลยสงสารแก เพราะเขาไปดึงแกมา อ้าวเอ็งผูกไว้ เอ็งมาแก้ คนเราจะเดินหน้าพร้อมถอยหลังได้อย่างไรล่ะ เมื่อวานยังเดินหน้า วันนี้มาถอยหลัง มันก็เท่ากับให้แกไปสวนกับความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์โดยทั่วไปไม่ใช่อย่างนี้ พอเขาบอกให้ถอยหลัง ก็เลยเอามือเดินต่างเท้าไป มันทำให้แกดูตลก ดังนั้นคนที่ทำอย่างนี้ ไม่รู้ใครล่ะ ใจดำมาก พูดจริงๆ ว่าผมสงสารแก ในกลุ่มเสื้อแดงก็เชิดชูว่าเป็นวีรบุรุษ แต่คนเราเป็นวีรบุรุษพร้อมกันหลายสนามไม่ได้หรอก ไม่รู้แกตั้งใจอย่างไร อาจจะมั่นใจในการทำงาน มั่นใจในข้อกฎหมาย แต่ผมมั่นใจว่ากิ้งกือตกท่อ จำได้ไหมว่าคนว่ายน้ำเป็นตายเพราะจมน้ำ รถคว่ำทางเลียบ ไม่ใช่ทางชัน อันนี้ก็เหมือนกัน ที่สุดก็จะสะดุดขาตัวเอง สะดุดวิชาชีพตัวเอง อาจต้องเสียท่าในแง่มุมของกฎหมายซึ่งถือเป็นจุดเด่นของแกในการทำงาน เมื่อเดินสวนไปสวนมาอย่างนี้ มันก็มีสักวันที่พลาด แล้วคนก็จะบอกว่านี่เป็นเพราะเวรกรรม

นายถวิล เปลี่ยนศรี
นายถวิล เปลี่ยนศรี

ไทยพับลิก้า : เลวร้ายที่สุดสำหรับนายธาริตคืออะไร

แกก็โดนหลายคดีนะ แกก็ยังมาบ่นอยู่ว่าทำไม ปชป. ฟ้องแกทุกเรื่อง อ้าวไม่ฟ้องได้อย่างไร ก็เล่นแกล้งเขาทุกเรื่อง เรื่องไม่เป็นเรื่องก็ยังเอา อย่างคดีบริจาคเงิน ดีเอสไอมาทำคดีอย่างนี้ได้อย่างไร แกก็ว่าคณะกรรมการคดีพิเศษลงมติว่าเป็นคดีพิเศษ ต่อไปคดีเด็กกระโดดกัดใบหูก็เป็นคดีพิเศษสิ มันไม่ใช่อย่างนั้น

ไทยพับลิก้า : 3 ปีผ่านไป สรุปบทเรียนความผิดพลาดของ ศอฉ. อย่างไร

จะเรียกว่าผิดพลาดคงไม่ได้ แต่ผมเสียดาย สถานการณ์ไม่ว่าใครจะใช้อาวุธ ติดอาวุธ แล้วเจ้าหน้าที่ปล่อยให้เข้าไปหรืออะไร แต่ถ้าความต่อเนื่องทางการเมืองมี ไม่ต่อสู้เพื่อเอาชนะทางการเมือง โดยใช้กรณีพวกนี้เป็นเครื่องมือเอาแพ้เอาชนะ ปล่อยให้กระบวนการตามกฎหมายจัดการอย่างตรงไปตรงมา มันจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอย เสื้อเหลืองก็เริ่มจะขึ้นศาล เสื้อแดงที่ไปปิดล้อม เผาศาลากลาง ยิงที่ต่างๆ ก็เริ่มติดคุก และจะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลนี้ด้วย เพราะตอนปี 2551 เสื้อเหลืองทำได้ มาปี 2552 เสื้อแดงก็เลยทำบ้าง เขาก็เรียนรู้จากเสื้อเหลือง แต่ยกระดับขึ้นมา พอมาปี 2553 เริ่มมีกองกำลังเข้ามาเลย มันเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ สมมุติถ้ามันไม่ยุติเมื่อปี 2553 ปีต่อๆ ไป อีกฝ่ายที่แพ้ก็จะเอาวิธีเดียวกับเสื้อแดง ไปจัดตั้งมวลชน ตั้งสถานีดาวเทียม สร้างกองกำลัง แต่เอาให้แรงกว่านั้นอีก ถ้าทุกคนยุติที่ปี 2553 ใครทำอะไรไว้ก็รับโทษไป ไอ้ที่จะต่อไปรุนแรงกว่านั้นก็จะไม่กล้าแล้วไง ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่อคติ ไม่คำนึงถึงการเมืองมากเกินไป ก็จะไม่มีใครกล้ามาท้าทายรัฐบาลชุดนี้ แต่เสียดายตอนนี้มันหยุด ที่จะปรองดอง หรือนิรโทษกรรม พยายามจะช่วยเสื้อแดง พอช่วยเสื้อแดง มันก็ต้องเผื่อแผ่ไปที่เสื้อเหลืองอีก ทุกคนก็ไม่ได้รับบทเรียน ไม่เจ็บ ไม่จำ ทำอะไรก็ได้ ต่อไปมันก็มาอีก ก็เริ่มวงจรใหม่

ไทยพับลิก้า : ถ้ารัฐบาลเพื่อไทย ไม่ช่วยมวลชน ก็เท่ากับเป็นการสาปส่งตัวเอง

มันก็เป็นอย่างนี้ เพราะเขาเติบโตบนมวลชนของเขา ก็เลยเป็นฝั่งเป็นฝา ต้องช่วย ต้องเยียวยาเสื้อแดง มันเลยไม่จบ ความจริงกฎหมายมันควรจะใช้บังคับอย่างสม่ำเสมอ ปล่อยให้ทุกอย่างเดินไป ก่อแก้ว พิกุลทอง เป็น ส.ส. ก็มีสิทธิเข้าคุกได้ ต่อไปกฎหมายก็เป็นกฎหมาย คนก็กลัว ไม่กล้าทำผิด

ไทยพับลิก้า : หากจะเกิดม็อบรอบใหม่ คิดว่ากลุ่มไหนจะมีศักยภาพในการจัดการ เพราะขณะนี้แกนนำทุกสีล้วนบาดเจ็บและมีคดีติดตัว

ก็ถึงบอกไง ถ้าไม่ไปยุติตรงนี้ ให้คนที่บาดเจ็บเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายให้หมด มันก็ไม่เกิดอีก แต่ถ้าไปตัดตอน ไม่มีใครผิดเลย นิรโทษกรรมกันหมด มันก็จะมีกลุ่มเสื้อสีอะไรไม่รู้มาทำอย่างนี้อีก